การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาวงจรชีวิตของหอยแครงและระบบนิเวศที่เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงหอยแครง ชุมชนคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 3

หากในทางทฤษฎี challenge situation & complex planning คือความต้องการที่ ยกระดับความรู้ และความสามารถของตัวเอง บนพื้นฐานของความมุ่งมั่นตั้งใจ ประสบการณ์ที่ทีมงานได้รับ แม้จะยังไม่บรรลุเป้าหมาย คือ การทำให้หอยแครงของชาวบ้านตายน้อยที่สุด แต่ในแง่ของกระบวนเรียนรู้ พวกเขาได้รับมากกว่านั้น ทั้งในเรื่องของการทำงานกับทีมผู้ใหญ่ ที่ต้องวางแผนการทำงานให้รัดกุมมากกว่าเดิม และยิ่งต้องมีการปฏิสัมพันธุ์กับทั้งศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยบูรพา ความรับผิดชอบในหน้าที่และงานที่ได้รับมอบหมายจึงต้องสูงกว่าปกติ

ท้าทายตัวเองด้วยการทำงานที่ยากขึ้น

การทำโครงการปีแรก ติน-ธนวัฒน์ บัวทอง และ แคท-บุษกร จันทร์สว่าง ร่วมกับเพื่อนๆ เข้าไปศึกษาเพื่อค้นหาคุณค่าและประโยชน์ของมะพร้าว ซึ่งโครงการดังกล่าวทำให้พวกเขารู้ว่า มะพร้าวสามารถนำไปทำอะไรได้มากกว่าการทำน้ำกะทิ หรือ ขนม และทักษะที่ได้ติดตัวมาทำให้เขาอยากทำเรื่องที่ “ยกระดับ” ความรู้ และความสามารถกว่าเดิม (challenge situation & complex planning)

ความท้าทายนี้เกิดจากการติดตามข่าวสารเรื่องแพลงตอนบลูม และส่งผลกระทบรุนแรงต่อคอกหอยแครงของชาวบ้าน และเมื่อสืบค้นไปเรื่อย ๆ ก็พบว่า ความเสียหายไมได้เกิดขึ้นเฉพาะละแวกบ้าน ชุมชนเลี้ยงหอยแครงในตำบลอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

“ถ้าจำไม่ผิดเสียหายไม่ตำกว่า 5 พันล้านบาท มูลค่ารวมๆ ทั้งหมดของแม่กลองที่เสียหายไป ผมก็ลองไปสืบค้นดู บางแหล่งบอกว่าเป็นพวกปรสิต บางแหล่งก็บอกว่าเป็นเพราะแพลงตอนบลูม แต่ไม่ว่าอะไรจะเป็นต้นเหตุ ที่แน่ๆ คือ หอยแครงตายเยอะมาก” ติน เล่าข้อมูล

ด้วยเหตุนี้เขาจึงท้าทายตัวเองและทีมงาน ด้วยการทำโครงการในประเด็นแปลกใหม่ที่เป็นเรื่องไกลตัว เพื่อยกระดับความรู้ของตนเองไปสู่เรื่องอื่นๆ บ้าง โดยไม่หยุดทำเรื่องมะพร้าว เพราะยังต้องช่วยที่บ้านทำอาชีพนี้อยู่

อยากทำ...ต้องได้ทำ

เพราะเป็นโจทย์ใหม่และสเกลการทำงานค่อนใหญ่ นั่นคือ คลี่คลายปัญหาเรื่องการตายของหอยแครง เมื่อทีมงานนำข้อมูลทั้งหมดไปพูดคุยกับอาธเนศ-ชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โดยอาธเนศตั้งคำถามให้ทีมคิดต่อว่า เรื่องที่ทำมันใหญ่เกินกำลังที่จะแก้ปัญหานี้หรือไม่ พวกเรามีศักยภาพมากพอหรือไม่ พร้อมกับเสนอแนะให้ลองศึกษาระบบนิเวศของหอยแครงก่อน

เมื่อสเกลงานและเป้าหมายถูกทำให้เล็กลง ตินและแคทก็เห็นพ้องต้องกันว่า อาจต้องทำจากเล็กไปหาใหญ่จึงนำไอเดียของอาธเนศมาคิดต่อด้วยการค้นคว้าเพิ่มเติมว่า วงจรชีวิตหอยแครงขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง เช่น กินอะไร โตในน้ำแบบไหน เมื่อได้ข้อมูลจึงนำมาเขียนเป็นข้อเสนอโครงการระบบนิเวศมหัศจรรย์หอยแครง พร้อมกับชวนเพื่อนๆ คือ วุฒิ- ทรงยศ แสงบรรจง นัด-เอกรินทร์ เลิศนันทวัฒน์ และ เอ็ก-กรกนก บุญช่วย เข้าร่วมภารกิจสำคัญนี้

แต่เนื่องจากมีคนใหม่เข้ามาเสริมทีม ตินนำประสบการณ์การทำงานจากปีที่แล้วมาใช้ นั่นคือ สร้างเป้าหมายร่วมกันระหว่างทีมทำงาน เช่น เป้าหมายโครงการ แนวคิดและขั้นตอนการทำงาน การแบ่งบทบาทหน้าที่ โดยใช้พื้นที่ ตำบลคลองโคน ที่มีการเพาะเลี้ยงหอยแครงมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ

จะเห็นได้ว่าการประคับประคองการเรียนรู้ของโคชคือจิ๊กซอว์หนึ่งที่ทำให้เด็กได้ประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำ เมื่อโคชเห็นว่าเรื่องที่ทีมงานคิดทำใหญ่เกินไป หากปล่อยให้ทำพวกเขาจะต้องประสบกับความล้มเหลวแน่ๆ จึงแนะให้ลดสเกลงานให้เล็กลง ให้ทีมงานพบความสำเร็จเล็กๆ จากการทำโครงการ เพื่อที่พวกเขาจะได้เกิดความภาคภูมิใจอยากทำสิ่งดีๆ ที่ยากๆ ต่อไป

โลกของหอยแครง...โลกใหม่ของการยกระดับการเรียนรู้

จากโครงการมะพร้าว มาสู่การทำความเข้าใจระบบนิเวศหอยแครง แม้ว่าประเด็นจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ประสบการณ์จากการทำโครงการในปีแรก ทำให้ ตินและแคท สามารถออกแบบการเก็บข้อมูลโครงการของตัวเองได้ไม่ยาก วิธีง่ายๆ คือ คิดว่า พวกเขาอยากรู้อะไรก็เขียนประเด็นไว้

ติน บอกว่า เรื่องแรกที่ต้องรู้ก่อนคือ ต้องศึกษาให้รู้แน่ชัดว่า หอยแครงเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมแบบไหน จึงนำไปสู่การค้นคว้าด้วยตัวเองในอินเทอร์เน็ต ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยบูรพา และชาวบ้านผู้เพาะเลี้ยงหอย ได้ข้อมูลว่า หอยแครงจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อม 4 แบบ คือ มีอาหารการกินสมบูรณ์ (แพลงก์ตอน) น้ำต้องสะอาดคือมีค่าออกซิเจนที่เหมาะสม ดินใต้น้ำต้องไม่มีสารตกค้าง และปรสิตในตัวหอยที่ไม่เป็นอันตราย

เมื่อเข้าใจว่าหอยแครงเติบโตดีในสภาพแวดล้อมแบบไหน ประเด็นถัดมาที่พวกเขาบอกว่าต้องรู้และทำความเข้าใจคือการเปลียนแปลงสภาพแวดล้อมในอดีต

“น้ำ ดิน อากาศ บ้านเรือน ร้านอาหาร ป่าชายเลน เราก็ดูหมด เราต้องการรู้ประวัติความเปลี่ยนแปลงก่อนว่าในอดีตพื้นที่แถวนี้เป็นยังไง แล้วตอนนี้เป็นยังไง มีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างที่เกิดขึ้น เราอยากศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก่อน” ติน อธิบายการทำงาน

การศึกษาเรื่องราวของชุมชนเล็กๆ ที่ไม่เคยมีการจดบันทึก พวกเข้าใช้วิธีการลงไปที่ชุมชน แนะนำตัวเองว่าเป็นใคร มาจากไหน และมาทำอะไร มีวัตถุประสงค์อะไร ด้วยท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้พวกเขาทำงานได้สะดวกและง่ายขึ้น แต่ผลลัพธ์ที่ดีกว่านั้นคือ พวกเขาได้เข้าไปร่วมเป็น “ทีมวิจัยเยาวชน” ของทีมวิจัยชาวบ้านที่คลองโคน โดยเข้าไปร่วมกับกลุ่มลุงเหลิม-เฉลิมเกียรติ ไกรจิตต์ นักวิจัยชาวบ้าน ไปลงเรือเก็บสภาพน้ำ สภาพดิน ตอนเย็นก็นำไปส่งที่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา และการลงเรือไปเก็บสภาพน้ำและดินร่วมกับทีมวิจัยชาวบ้าน ทำให้ทีมงานเห็นความเชื่อมโยงของระบบนิเวศ รู้ว่าปัญหาเริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นน้ำ ไล่ลงมาจนถึงปลายน้ำ ดังนั้นทีมจึงต้องเก็บรวบรวมข้อมูลให้รอบด้าน เช่น ข้อมูลการปล่อยน้ำจากฝั่ง ข้อมูลสภาพภูมิอากาศ ค่าปริมาณแพลงก์ตอนว่าปริมาณมากน้อยเพียงใด จนรู้ว่ามีการปล่อยน้ำเสียมาจากต้นน้ำหลายแหล่ง ทั้งจากโรงงาน น้ำจากฟาร์มหมู น้ำเสียจากครัวเรือน ที่ไหลลงสู่น้ำล้วนทำให้เกิดสารพิษทั้งสิ้น

นอกจากรู้ต้นเหตุของปัญหาแล้ว ผลของการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ยังทำให้ทีมงานรู้ว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เหมาะกับการเจริญเติบของหอยแครงคือหน้าฝนกับหน้าหนาว เพราะอุณภูมิไม่สูงเกินไป หากเป็นหน้าร้อนที่มีอุณหภูมิสูงเกินไปจะทำให้ออกซิเจนลดลง แพลงก์ตอนที่เจริญเติบโตได้ดีในช่วงนี้จะมาแย่งออกซิเจน ทำให้หอยตาย

แต่กว่าจะได้ข้อมูลเช่นนี้ พวกเขาต้องสุ่มเก็บน้ำทั้งหมด 13 จุด เก็บน้ำลึก น้ำตื้น และบริเวณน้ำขึ้นน้ำลง กระจายเป็นวงกว้างประมาณ 3-5 กิโลเมตร ลงเก็บเดือนละ 1 ครั้ง 2 เดือน

การที่ทีมมีเป้าหมายว่าต้องการยกระดับความรู้ของตนเอง ทีมงานใช้ความพยายามสืบค้นข้อมูลรอบด้าน ทั้งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ข้อทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม สิ่งไหนไม่รู้ก็สอบถามผู้รู้ เรื่องไหนที่เกินความสามารถ เช่น การตรวจวัดสภาพน้ำ สภาพดินก็ส่งให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบ จากเป้าหมายเริ่มแรกที่ต้องการยกระดับความรู้ สิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นคือ การยกระดับการทำงานของทีมที่ขยายวงกว้างไปกว่าเดิม

ก้าวไปสู่โลกของการเรียนรู้

หากในทางทฤษฎี challenge situation & complex planning คือความต้องการที่ ยกระดับความรู้ และความสามารถของตัวเอง บนพื้นฐานของความมุ่งมั่นตั้งใจ ประสบการณ์ที่ทีมงานได้รับ แม้จะยังไม่บรรลุเป้าหมาย คือ การทำให้หอยแครงของชาวบ้านตายน้อยที่สุด แต่ในแง่ของกระบวนเรียนรู้ พวกเขาได้รับมากกว่านั้น ทั้งในเรื่องของการทำงานกับทีมผู้ใหญ่ ที่ทีมต้องวางแผนการทำงานให้รัดกุมมากกว่าเดิม และยิ่งต้องมีการปฏิสัมพันธุ์กับทั้งศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยบูรพา ความรับผิดชอบในหน้าที่และงานที่ได้รับมอบหมายจึงต้องสูงกว่าปกติ

โดยเฉพาะนัด ที่เพื่อนๆ เรียกว่า มนุษย์กลางคืนเพราะตกดึกนั่งเฝ้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกม การเข้าร่วมโครงการกับเพื่อนๆ ในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการเปิดประตูบานแรกให้เขาได้ออกไปสัมผัสโลกภายนอก จากที่เคยนอนตี 2 ตี 3 ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองให้นอนไวขึ้น ไม่เก็บตัวเล่นเกมอยู่บ้านเหมือนที่ผ่านมา กล้าพูดคุยกับคนอื่น ที่สำคัญคือมาตรงเวลา ไม่สายเหมือนเมื่อก่อน

ส่วนแคทแม้ไม่ได้เรียนสายวิทยาศาสตร์โดยตรง แต่ประสบการณ์ตลอดการทำงานกว่า 4 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เธอเข้าใจวิธีการเก็บข้อมูลที่ละเอียด ซับซ้อน ถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ทำครั้งเดียวไม่ได้ ต้องมีการพิสูจน์ซ้ำ เพื่อให้เกิดผลเชิงประจักษ์ ยิ่งเป็นเรื่องระบบนิเวศที่มีฤดูกาลเข้าเกี่ยวข้อง ยิ่งต้องทำซ้ำหลายๆ ครั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งตอนทำโครงการมะพร้าวในปีแรกก็ไม่ได้ละเอียดขนาดนี้

การได้ลงมือเก็บข้อมูลด้วยตนเอง ทำให้แคทมีความมั่นใจ จนกลายเป็นคนกล้าคิด กล้าถาม กล้าพูด กล้านำเสนอข้อมูล ซึ่งต่างจากปีที่แล้วที่เธอจะอยู่หลังตินตลอด นอกจากนี้ยังรับฟังเพื่อนมากขึ้น

“ปีที่แล้วพวกเราทะเลาะกัน ไม่ฟังกัน หน้าที่ใครหน้าที่มัน ไม่มีการประสานงานพูดคุยกันเลย พอได้ข้อมูลไม่ครบก็มาถกเถียงกัน ถามหาแต่คนผิด งานจึงไม่เดิน ปีนี้พวกเราเลยปรับการทำงานใหม่ให้ทุกคนรับรู้เท่ากัน พูดคุยกันมากขึ้น การทำงานจึงเดินหน้าไปได้ด้วยดี”

สำหรับติน ที่ปีนี้ยกระดับการทำงานของตัวเองมาเป็นหัวหน้าทีม ได้นำข้อผิดพลาดจากที่แล้วมาเป็นบทเรียน

“ปีที่แล้วผมพลาดมาหลายจุด เช่น ไม่มีการวางแผนการทำงาน ไม่มีการตั้งคำถามเตรียมไว้ นัดเวลาไม่ตรงกัน พอปีนี้จึงเรียกประชุมทีมก่อนลงพื้นที่ 1 วัน คุยกันเรื่องวัตถุประสงค์ครั้งนี้เราจะทำอะไร ต้องการอะไร จะถามใคร ถามยังไง”

โดยติน ยืนยันว่า ปีนี้เขาทำงานเป็นระบบระเบียบ วางแผนคุยกับเพื่อนมากขึ้น ปกติเมื่อก่อนกว่าจะเริ่มทำงานได้นั่งเล่นอยู่นาน เดี๋ยวนี้ต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าเพื่อนมาครบแล้วจะทำก่อนหลังบ้าง เวลาเรียนก็ใส่ใจจดจ่อกับการเรียนมากขึ้น

“เกรดผมดีขึ้นนะ ตอน ม.4 เทอม 1 ได้ 3.2 เทอม 2 ขึ้นมาเป็น 3.3. ม. 5 เทอม 1 ได้ 3.4 พอเทอม 2 ผมขึ้นมาอยู่ที่ 3.5 ได้เป็นที่ 1 ของห้อง”

ติน สะท้อนว่า เหตุผลที่ทำให้ผลการเรียนดีขึ้น มาจากกระบวนการทำงานในโครงการที่ต้องมีการเตรียมพร้อม มีการวางแผน จัดลำดับความสำคัญของงาน กำหนดเรื่องที่จะทำ (plan and organize) ซึ่งเขานำวิธีการแบบนี้ไปปรับใช้กับการเรียน เช่น เวลาอาจารย์ให้การบ้าน เขาจะต้องมานั่งวางแผนก่อนว่า ควรทำอะไรก่อนอะไรหลัง งานจึงเสร็จทันเวลา

วันนี้แม้การทำโครงการจะยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ การทำให้หอยแครงของชาวบ้านตายน้อยที่สุด แต่ในแง่ของกระบวนเรียนรู้ พวกเขาได้รับมากกว่านั้น ทั้งทักษะวิชาการ ทักษะการทำงาน รวมถึงพฤติกรรม และนิสัยที่เปลี่ยนไป กลายเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น รู้จักวางแผนการทำงาน กล้าคิด กล้าพูด กล้านำเสนอ รับฟังผู้อื่น ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21


โครงการระบบนิเวศมหัศจรรย์หอยแครง

ที่ปรึกษาโครงการ :  อัครยา วงศร

ทีมงาน :

  • ธนวัฒน์ บัวทอง 
  • แคท-บุษกร จันทร์สว่าง
  • ทรงยศ แสงบรรจง 
  • เอกรินทร์ เลิศนันทวัฒน์
  • กรกนก บุญช่วย