การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อแก้ปัญหาขยะจากเปลือกหอยแมลงภู่ ชุมชนบางจะเกร็ง จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 3

ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะพ่อแม่ ครู หรืออื่นใด สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ได้ เพียงแค่ต้องเปิดพื้นที่และเชิญชวนเด็กให้มองปัญหารอบตัว แล้วหยิบจับบางสิ่งขึ้นมาเป็นโจทย์ตามศักยภาพของตัวเด็กเอง การเรียนรู้ก็เริ่มต้นแล้วนับตั้งแต่วินาทีนั้น

จักรวาลการเรียนรู้ในเปลือกหอย

ปัจจุบันมีกระบวนการ วิธีการ และเครื่องมือทางการศึกษามากมายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้เด็กเยาวชน หนึ่งในวิธีการที่ถูกพูดถึงคือ PBL หรือ Project-Based Learning ที่เน้นให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ซึ่งจะช่วยสร้างทั้งความรู้ ทักษะ และนิสัย ดังเช่นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนวัดศรัทธาธรรมกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วย มะเหมี่ยว-พิมพ์ชนก อินทร์ณรงค์ เปิ้ล-ศรีเสาวลักษณ์ จอมมาก มี่-นวรัตน์ เมยยะ เก้า-สุนันทา เทศทอง และแอน จันดี ที่ได้ลงมือทำโครงการจากโจทย์ปัญหาในชุมชน (Community Project) ในรูปแบบ PBL ผ่านโครงการผู้สร้างประโยชน์จากเปลือกหอยแมลงภู่ จนทำให้พวกเธอได้เปิดโลกการเรียนรู้ที่มากกว่าในหนังสือ และค้นพบแง่มุมที่ดีขึ้นของตัวเอง

จุดเริ่มต้นการทำโครงการของทีมงาน เกิดจากการชักชวนของครูรุ้ง-สิริลักษณ์ อินทรบุตร ที่ปรึกษาโครงการที่สนใจเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกเป็นปีที่ 2 จากปีแรกที่เป็นที่ปรึกษาให้เด็กๆ เพียง 1 โครงการ ปีนี้ครูรุ้งตัดสินใจชักชวนทีมงานมาเพิ่มอีกทีม เพราะเห็นว่านี่เป็นโอกาสดีๆ ที่นักเรียนของเธอจะได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ทีมงานที่สนใจการทำโครงการอยู่แล้ว เพราะเห็นและได้ฟังรุ่นพี่เล่าประสบการณ์ดีๆ จึงตอบตกลงอย่างไม่ลังเล

มองปัญหาให้รอบตัว

ก้าวแรกของทีมงานคือการระดมความคิดเกี่ยวกับโจทย์ที่อยากหยิบยกมาทำโครงการ จนได้ข้อสรุปว่าพวกเธออยากศึกษาการละเล่นหัวโตที่เคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่พูดถึงว่า สมัยก่อนเวลามีงานบวชจะมีหัวโตมารำหน้าขบวนแห่นาค แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เพราะการทำหัวโตค่อนข้างยาก ทำให้หาคนสืบทอดยาก

แต่แล้วสิ่งที่ตั้งใจก็ถูกเบรกกะทันหัน เมื่อพี่อ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ โคชโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ตั้งคำถามเรื่องการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับหัวโต โดยเปรียบเทียบกับการไปตกปลาในบ่อที่ไม่มีปลาว่า จะทำอย่างไรให้ได้ปลา ทีมงานจึงเห็นภาพว่า สิ่งที่พวกเขากำลังทำแทบไม่มีข้อมูลหลงเหลืออยู่ในชุมชนแล้ว หากดันทุรังทำต่อก็อาจเจอทางตันที่ไม่สามารถทำให้โครงการไปถึงปลายทางได้

“เรายังไม่รู้เลยหัวโตที่มีอยู่ถูกเก็บไว้ที่ไหน คนเก็บก็เสียชีวิตไปแล้ว อีกอย่างการทำหัวโตขึ้นใหม่ก็ค่อนข้างยาก ต้องใช้ดินเหนียวขึ้นรูป เอากระดาษแปะ และเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมด้วย เพราะคนที่ครอบครองต้องมีการครอบครู เลยคุยกันว่าลองเปลี่ยนประเด็นดูไหม เพราะถ้าทำต่อแล้วเก็บข้อมูลได้ก็ไม่รู้อีกว่าข้อมูลนั้นจริงหรือไม่จริง เอาเรื่องที่ทำง่าย เป็นปัญหารอบตัวเรา ให้ได้ข้อมูลจริงดีกว่า”

ทีมงานนับหนึ่งใหม่อีกครั้งกับการหาโจทย์ปัญหา โดยครั้งนี้พยายามเน้นหา “ปัญหารอบตัว” ที่เกิดขึ้นภายในชุมชน พบว่า มีปัญหาเด็กเรียนไม่จบ ยาเสพติด ขยะตามแม่น้ำลำคลอง แต่ดูเหมือนว่าทุกปัญหาค่อนข้างใหญ่และเกินกว่ากำลังที่พวกเธอจะหาวิธีแก้ไขได้ ทีมงานจึงลองระดมความคิดจากสิ่งที่เห็นให้ใกล้ตัวมากขึ้น และสังเกตเห็นว่าครอบครัวของสมาชิกในทีมหลายคนมีอาชีพแกะหอย บริเวณจุดต่างๆ ภายในชุมชนก็เต็มไปด้วยเปลือกหอยที่ชาวบ้านไปกองทิ้งไว้ บ่อน้ำเก่าในชุมชนที่ไม่ได้ใช้แล้วก็ถูกชาวบ้านนำเปลือกหอยไปถมเต็มบ่อจนส่งกลิ่นเหม็น ทีมงานบางคนยังเคยเห็นชาวบ้านทะเลาะกันเพื่อแย่งที่ทิ้งเปลือกหอยด้วย

“เรื่องเปลือกหอยเป็นปัญหาที่เห็นได้ชัดมาก คนที่ทำอาชีพแกะหอยขายจะนำเปลือกไปทิ้งตามที่สาธารณะในชุมชน เพราะไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร จนสุดท้ายก็เป็นปัญหาสกปรกและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วชุมชน พวกเราเลยคิดว่าปัญหาเรื่องหอยเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราที่สุด เป็นปัญหาเล็กๆ แต่ต้องรีบแก้ไข แล้วถ้าเราเริ่มจากการแก้ปัญหาเล็กๆ ให้ได้ก่อน ต่อไปเราก็จะสามารถจะแก้ปัญหาใหญ่กว่านี้ได้” มี่ บอกเล่าจุดเริ่มต้นของการทำโครงการ

ทดลองทำซ้ำจนได้ดินเปลือกหอยที่ดีที่สุด

เป้าหมายแรกของการแก้ปัญหาเปลือกหอยคือ การนำมาทำโมบายจากเปลือยหอย แต่เมื่อได้รับการตั้งคำถามจากอาธเนศ-ชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ว่า นอกจากประดิษฐ์เป็นโมบายแล้ว เปลือยหอยสามารถทำอะไรได้บ้าง

ทีมงานระดมคิดหัวข้อที่จะถาม แล้วแบ่งหน้าที่กันว่าใครถาม ใครจด โดยได้ไปสอบถามข้อมูลจากผู้เฒ่าผู้แก่ เกี่ยวกับประวัติชุมชนทำให้ทีมงานได้ความรู้เกี่ยวกับชุมชน ที่พวกเธอยอมรับว่าไม่เคยรู้มาก่อน แม้จะอยู่มาตั้งแต่เกิด และพูดคุยถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่คนสมัยก่อนมักมีอาชีพทำสวนและทำประมง ซึ่งได้ผลผลิตค่อนข้างดี ต่างจากปัจจุบันที่ทรัพยากรลดจำนวนลง บวกกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แม้กระทั่งหอยที่เคยตัวใหญ่เกือบเท่าฝ่ามือก็ลดขนาดลงไปมาก

จากนั้นได้พูดคุยสอบถามกับชาวบ้านว่า สามารถนำเปลือกหอยไปทำอะไรได้บ้าง ชาวบ้านบางคนแนะนำว่าสามารถทำเป็นดินได้ และเคยมีคนทำแล้วด้วย ทำให้ทีมงานได้พบกับป้ารัชนีและลุงสมหมาย เปรุนาวิน สองสามีภรรยาที่เคยทำดินเปลือกหอยจำหน่าย แต่เพราะขาดทุนทำต่อจึงล้มเลิกโครงการไป

เมื่อได้ฟังทีมงานบอกเล่าความตั้งใจที่อยากแก้ปัญหาเปลือยหอยในชุมชน ป้ารัชนีและลุงสมหมายจึงถ่ายทอดสูตรการทำดินเปลือยหอยให้ฟัง พร้อมทั้งส่งมอบเครื่องบดเปลือกหอยให้ด้วย ทีมงานกลับมาลองทำตามสูตรของป้ารัชนีที่โรงเรียน แล้ววัดค่าดินโดยใช้กระดาษลิตมัส เพื่อดูว่ามีความเป็นกรด-เบสสูงแค่ไหน เพราะดินที่เหมาะสมต่อการปลูกพืชผักสำหรับรับประทานต้องมีค่าเป็นกลาง และมีแคลเซียมในดินสูง ปรากฏว่าดินมีค่าเป็นเบส แต่เพื่อความแน่ใจทีมงานจึงทดลองใช้ดินดังกล่าวปลูกต้นเบี้ยทะเลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่ได้จากการลงไปเก็บข้อมูลในชุมชน ทีมงานอธิบายว่า ต้นเบี้ยทะเลจะเติบโดตได้ดีในดินที่เค็ม ซึ่งพอทดลองปลูกแล้วก็งอกงามดี เด็ดใบมาชิมพบว่าเค็มมาก ดังนั้น สูตรดินที่เราได้มาน่าจะเป็นดินเค็ม

หลังจากนั้นทีมงานจึงลองวัดความเค็มในส่วนผสมต่างๆ ของดินเพื่อหาว่ามีสาเหตุจากอะไร หนึ่งในตัวแปรสำคัญคือน้ำหมักจุลินทรีย์หรือ น้ำ EM ที่ทำจากก้างปลาและเศษสัตว์ทะเล เลยลองปรับสูตรด้วยการนำ EM ที่น้องๆ ในโรงเรียนทำจากเศษผักและผลไม้ที่มีความเป็นกรดมาใส่เพิ่ม และลดปริมาณ EM สูตรเดิมลง แต่ปรากฏว่าดินสูตรที่ 2 นี้ยังมีความเค็มอยู่ หลังจากนั้นครูรุ้งได้ชักชวนทีมงานไปพูดคุยกับสำนักงานเกษตรที่มาออกบูธในตลาด จนได้รับคำแนะนำให้ไปดูการสาธิตการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่ตำบลบ้านปรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ทีมงานตกลง เพราะหวังว่าอาจจะเป็นทางออกใหม่สำหรับการนำมาเป็นส่วนผสมในการทำดินเปลือกหอย

ที่บ้านปรก ทีมงานเรียนรู้ประโยชน์เบื้องต้นของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงว่า สามารถช่วยเพิ่มไนโตรเจนในดิน ซึ่งจะทำให้พืชมีใบสีเขียว ไม่เหี่ยวง่าย และได้เห็นตัวอย่างที่บ้านปรกผสมดินกับขี้วัวด้วย มีขุยมะพร้าว มะพร้าวสับ เปลือกข้าว น้ำซาวข้าว แกลบดำ และน้ำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง จึงนำสูตรผสมดินจากบ้านปรกกลับมาปรับปรุงใหม่ ด้วยการใส่ขี้วัว น้ำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง และมะพร้าวสับเพิ่มไปในดินสูตรเดิม ใช้ EM จากเศษผักผลไม้เพียงอย่างเดียว ผลจากปรับปรุงสูตรครั้งที่ 3 ทำให้ดินเค็มน้อยลง

ทีมงานยังทดลองปรับสูตรอีกครั้งด้วยการเพิ่มขี้ไก่ลงไป เนื่องจากขี้ของสัตว์ปีกมีความเป็นกรด จึงคิดว่าอาจช่วยลดความเค็มได้อีก แต่หลังจากเชิญกรมพัฒนาที่ดินมาวัดค่าธาตุอาหารในดิน กลับพบว่าดินสูตรที่ 3 มีแร่ธาตุดีที่สุด ทั้งไนโตรเจนที่ทำให้พืชเขียว โพแทสเซียมทำให้รากแข็งแรง ฟอสฟอรัสทำให้ออกผลดี ความชื้นในดิน และอากาศในดิน

ทว่าการทดลองของทีมงานยังไม่สิ้นสุด แม้จะมีการวัดค่าแล้วก็ต้องลองปลูกพืชด้วยสูตรดินดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อยืนยันผล โดยทีมงานได้ทำแปลงทดลองขึ้นที่หลังโรงเรียน โดยใช้ดินทุกสูตรที่มีทดลองปลูกพืช 3 ชนิด ได้แก่ คุณนายตื่นสาย วอเตอร์เครส และว่านกาบหอย เพื่อดูว่าพืชแต่ละชนิดเจริญเติบโตได้ดีในดินสูตรไหน และไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรืออื่นๆ เพิ่ม

“เราพบว่าดินสูตร 3 ทำให้พืชงอกงามดีที่สุด และดีเป็นพิเศษกับต้นวอเตอร์เครส นอกจากนั้นเรายังลองนำดินไปปลูกพืชที่บ้าน อย่างบ้านเปิ้ลที่ใช้ดินสูตร 3 ก็งอกงามดี ส่วนบ้านที่นำดินสูตรอื่นไป บางบ้านก็ได้ผลดี บางบ้านพืชก็ตาย”

กว่าจะได้ดินเปลือกหอยที่มีแร่ธาตุสมบูรณ์พร้อมต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ ทีมงานต้องทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาของดิน นี่จึงทำให้ทีมงานได้พัฒนา “ทักษะการหาความรู้รอบตัว” ในการหาข้อมูลจากพี่เลี้ยง และผู้รู้เพื่อนำมาปรับสูตรดิน และ “ทักษะการริเริ่มสิ่งใหม่” ที่กล้าทำกล้าเสี่ยงกับส่วนผสมใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้ เพื่อหาสูตรดินที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึง “ความรับผิดชอบต่อหน้าที่” ที่กำลังงอกงามขึ้นภายในตัวของทีมงานแต่ละคนนั่นเอง

เปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม

กว่าจะได้สูตรดินที่สมบูรณ์ ทีมงานยอมรับว่า พวกเขาเองก็เคยท้อ จนอยากเลิกทำเหมือนกัน

พวกเธอบอกว่า กว่าจะได้ดินก็มีท้อบ้างโดยเฉพาะช่วงที่ทำอยู่แล้วคิดไม่ออกว่าจะไปต่อกันอย่างไร เพราะแก้ปัญหาดินเค็มไม่ได้ บวกกับการบ้านเยอะ แต่พยายามคิดว่าพวกเราเดินมาไกลแล้ว จะหยุดหรอ เราก็ช่วยกัน จับมือข้ามอุปสรรคไปด้วยกัน

นอกจากความท้อที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งแล้ว ทีมงานบอกว่า พวกเธอแทบไม่เจอปัญหาอื่น อาจมีบ้างที่เพื่อนบางคนต้องรีบกลับบ้าน อย่างเหมี่ยวที่ต้องรีบกลับบ้านไปดูแลปู่ที่ไม่สบาย จะอยู่ทำงานช่วงเย็นด้วยไม่ได้ แต่เพื่อนๆ ก็เข้าใจความจำเป็นของเหมี่ยว

การร่วมใจฝ่าฟันความท้อถอยและเข้าอกเข้าใจกัน ทำให้ทีมงานเกิดการเรียนรู้ “ทักษะการทำงานเป็นทีม” ที่เป็นสิ่งจำเป็นในการจะทำงานร่วมกับผู้อื่นให้สำเร็จทั้งตอนนี้ และอนาคตข้างหน้าที่พวกเขาจะออกไปใช้ชีวิตในสังคมแล้ว นอกจากนี้ยังพบอีกว่าตัวเองเรียนรู้บางอย่าง ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทีมงานส่วนใหญ่บอกตรงกันว่า การเข้ามาทำโครงการนี้ทำให้พวกเธอมีพื้นที่ฝึกความกล้าแสดงออกมากขึ้น

แอน บอกว่า เธอเข้าสังคมมากขึ้น และกล้าเข้าหาผู้ใหญ่มากขึ้น ซึ่งทำให้เธอมีที่ปรึกษาเรื่องต่างๆ มากขึ้นด้วย

ขณะที่มะเหมี่ยว เล่าว่า เมื่อก่อนเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ขี้อายไปหมด พอเริ่มทำโครงการ แล้วต้องลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้านทำให้เริ่มกล้าแสดงออก อีกอย่างคือการได้พรีเซนต์ในเวที ตอนพูดแรกๆ ตื่นเต้นมาก หลังๆ ค่อยๆ พูดได้ดีขึ้น จนครูมอบหมายให้ทำหน้าที่พิธีกรของโรงเรียน

ด้านมี่ บอกว่า การเข้าร่วมโครงการเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเธอในหลายเรื่อง เธอบอกคล้ายเพื่อนว่าเรื่องแรกคือ “การกล้าแสดงความคิดเห็น”

“ปกติก่อนทำโครงการ หนูไม่เคยจับไมค์เลย หรือเมื่อก่อนเวลาเข้าร่วมกลุ่ม หนูจะเฉยๆ ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น แต่ในเวทีกิจกรรม พี่ๆ จะพยายามให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นทุกคน หนูก็ค่อยๆ ปรับตัวได้ กล้าจับไมค์ กล้าพูด กล้าคิดมากขึ้น เหมือนกับว่าหนูมีความกล้าของเราอยู่แล้ว แค่ไม่เคยแสดงความกล้านั้นออกมา จนได้มาทำโครงการนี้”

เรื่องต่อมาคือ “การแบ่งเวลา” เพราะเธอเป็นนักกีฬาโรงเรียน และต้องช่วยงานที่บ้านอยู่แล้ว เมื่อมีหน้าที่การทำโครงการเพิ่มเข้ามา มี่จึงได้ฝึก “ทักษะการวางแผน” เพื่อแบ่งเวลาทำแต่ละหน้าที่ไม่ให้บกพร่อง และเรื่องสุดท้ายคือ การปรับเปลี่ยนนิสัย จากมี่คนเดิมที่เป็นคนหัวร้อนง่าย ไม่ชอบให้ใครมายุ่ง จุ้นจ้านมาก ใครมาวุ่นวายก็จะอาละวาด มีเก็บกดบ้าง หมกมุ่นกับกีฬามากเกิน ตั้งใจซ้อมเต็มที่แม้จะเจ็บก็ซ้อม

“โครงการนี้ทำให้เราปรับอารมณ์ตัวเองได้ง่ายมากขึ้น ใจเย็นขึ้น เพราะเป็นโครงการที่ให้เวลาทำไปเรื่อยๆ ตรงข้ามกับตัวเราเมื่อก่อนที่ชอบทำอะไรให้จบรวดเดียว ไม่พอใจเราก็จะเลิกทำไปเลย แต่โครงการนี้เลิกไม่ได้ เพราะเราเห็นเพื่อนเหนื่อย เราก็ต้องช่วยเพื่อน”

ครูรุ้ง ที่ปรึกษาที่คอยอยู่เคียงข้างมาตลอดบอกว่า นอกจากทดลองทำจนรู้แล้ว ทีมงานยังถ่ายทอดความรู้ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนเกี่ยวกับการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง จนพวกเขารู้สึกภาคภูมิใจมาก ซึ่งทำให้ครูรุ้งมองเห็นความสำเร็จของโครงการที่นอกเหนือจากความสำเร็จเชิงรูปธรรม

“การที่เด็กได้ทำได้คิดเองก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของการทำโครงการแล้ว เราไม่ได้หวังหรอกว่าเขาต้องได้ดิน หรือต้องได้อะไรขึ้นมา แม้บางทีอาจไม่ได้อะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่แค่เด็กได้มีพื้นที่ลองคิด แล้วได้ลองทำ นั่นก็ดีมากแล้ว”

เพราะบทเรียนของการได้คิด ได้ทำ ได้เปลี่ยนแปลงลูกศิษย์ของครูรุ้งให้พบกับทักษะ นิสัย และความคิด นี่จึงอาจเป็นบทพิสูจน์หนึ่งของกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ที่สามารถสร้างคุณลักษณะที่ยากให้เกิดขึ้นโดยง่าย แล้วผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเด็กทุกคนก็สามารถทำได้ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะพ่อแม่ ครู หรืออื่นใด เพียงแค่ต้องเปิดพื้นที่และเชิญชวนเด็กให้มองปัญหารอบตัว แล้วหยิบจับบางสิ่งขึ้นมาเป็นโจทย์ตามศักยภาพของตัวเด็กเอง การเรียนรู้ก็เริ่มต้นแล้วนับตั้งแต่วินาทีนั้น


โครงการผู้สร้างประโยชน์จากเปลือกหอยแมลงภู่

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • สิริลักษณ์ อินทรบุตร ครูโรงเรียนวัดศรัทธาธรรม

ทีมงาน :

  • พิมพ์ชนก อินทร์ณรงค์
  • ศรีเสาวลักษณ์ จอมมาก
  • นวรัตน์ เมยยะ
  • สุนันทา เทศทอง
  • แอน จันดี