การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ป่าต้นลาน ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ปี 3

การตั้งคำถามสำคัญอย่างไรกับการเรียนรู้ และคำพูดที่ว่า “คำถามที่ดี...สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเราได้” เป็นจริงหรือไม่จากคำถามเดียวของครูประไพที่ “ให้นักเรียนระบุชื่อพืชที่นำมาจักสานได้ 1 ชนิด” คือการเปิดโลกใหม่ของการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่ห้องเรียนและข้อมูลสำเร็จรูปบนอินเทอร์เน็ต แต่เป็นข้อมูลจากชีวิตจริงที่อิงอยู่บนวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว

คำถามสร้างการเรียนรู้

คำถามในวิชาการงานของครูประไพ ไม้แก้ว ครูโรงเรียนบ้านหนองโรง ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ที่ถามว่า “ให้นักเรียนระบุชื่อของพืชที่นำมาจักสานได้ 1 ชนิด” คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ พิ้งค์-วริษา พราหมณี ปูเป้-นภาพร ทองคำ วัน-กัลยากร สารเห็ด และ นพ-นพรุจ สุขดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ลุกขึ้นมาค้นหาคำตอบเรื่องต้นลาน ด้วยการทำโครงการ “รักษ์” ต้นลานบ้านเรา เนื่องจากคำตอบที่ครูประไพได้รับมีเพียง มะพร้าว กก หรือหวาย แม้ต้นลานจะเป็นพืชท้องถิ่นที่พบอยู่ทั่วไป และกลายมาเป็นชื่อของหมู่บ้านป่าลาน

ไม่รู้ก็ต้องค้นหาความรู้

ความอยากรู้จึงนำไปสู่การค้นหาคำตอบ โดยทีมงานเริ่มต้นสืบค้นข้อมูลของต้นลานจากอินเทอร์เน็ต พบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับต้นลานมากมาย แต่ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลชุดเดียวกัน คือ ใบต้นลานสามารถนำมาทำคัมภีร์ใบลานและจักสานได้ ประโยชน์อื่นๆ ไม่ได้บอกไว้ ทีมจึงตัดสินใจลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลในชุมชนเพื่อทำให้พวกเขารู้จักพืชชนิดนี้มากยิ่งขึ้น โดยพิงค์กับปูเป้มีหน้าที่สัมภาษณ์ วันกับนพจดบันทึก มีการเตรียมคำถามไว้ เช่น ชื่อสกุล อายุเท่าไหร่ อาศัยอยู่ที่นี่มากี่ปีแล้ว รู้จักต้นลานไหม เมื่อก่อนมีต้นลานมากน้อยเพียงใด ทำให้รู้ว่าสมัยก่อนที่แห่งนี้เคยมีต้นลานอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันถูกไถทิ้งไป เนื่องจากคนไม่นิยมใช้ภาชนะจักสานเหมือนในอดีตส่วนคุณประโยชน์อื่นๆ ของต้นลานคือ นำหน่อลานมาทำอาหาร หรือขนม แต่น่าเสียดายที่คนที่รู้สูตรเสียชีวิตไปแล้ว นอกจากข้อมูลต้นลานแล้ว ทีมงานยังสืบค้นข้อมูลประวัติชุมชน และประวัติของโรงเรียน เพื่อนำมาทำไทม์ไลน์ที่ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงของชุมชน จากอดีตจนถึงปัจจุบันที่สัมพันธ์กับการมีอยู่ของต้นลาน โดยมีเป้าหมายคือให้คนในชุมชนหันกลับมาให้ความสนใจและอนุรักษ์พืชชนิดนี้ไว้

แต่เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมในเวทีนับ 2 ข้อมูลที่คิดว่าหามาดีแล้ว แน่นแล้ว ก็ฝ่อไปทันที เมื่อทีมโคชถามว่า ตอนนี้ต้นลานเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน และมีอยู่ที่ไหนบ้าง พวกเราเคยเห็นต้นลานกันหรือไม่ ทำให้ทีมงานต้องกลับมาทบทวนความรู้ของตนเอง จนรู้ว่า ทีมงานหลายคนยังไม่เคยเห็นต้นลานมาก่อน จึงขออนุญาตผู้ปกครองและครูประไพไปดูต้นลานที่เขากระปุก ซึ่งเป็นแหล่งป่าลานเก่าแก่ของชุมชน โดยครูประไพประสานงานกับอดีตผู้ใหญ่บ้านที่มีความรู้เกี่ยวกับต้นลานมาให้ความรู้

ความกังวลเริ่มมาเยือน เมื่อต้องไปพูดคุยกับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ทีมงานจึงนำเทคนิคการพูดคุยจากเวทีนับ 1 นับ 2 มาใช้ เข้าหาผู้ใหญ่ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน จนการพูดคุยผ่านไปด้วยดี จากนั้นผู้ใหญ่จึงลงพื้นที่ดูต้นลานที่เหลือเพียงต้นเล็กๆ เพราะต้นใหญ่ถูกโค่นไปหมดแล้ว ผลจากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ใหญ่ในชุมชนและผู้รู้ ทำให้ทีมงานค้นพบว่า จริงๆ แล้วคนในชุมชนแห่งนี้มีความรู้เรื่องต้นลานเป็นอย่างดี เช่น ชอบขึ้นในดินแบบไหน ต้องการน้ำมากหรือน้อย อายุเท่าไรจึงจะออกลูก ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต้นลานลดจำนวนลงน่าจะมาจาก 2 ประการคือ 1.เมื่อต้นลานออกลูกแล้วต้นจะตาย 2. มีการตัดใบลานไม่ถูกวิธี เนื่องจากในอดีตคนนิยมใช้ประโยชน์จากต้นลานมาก ทั้งนำมาจักสาน หมวก ตาลปัตร และทำเชือกเพราะมีความเหนียว

ได้ทำ...จึงได้รับ

ความรู้ที่ทีมงานสืบค้นถูกนำมาขยายผลการเรียนรู้ให้กับน้องๆ ในโรงเรียนบ้านหนองโรงก่อนที่จะขยายไปสู่ชุมชน โดยนำเสนอผ่านคลิปวิดีโอและชุดนิทรรศการ เพื่อให้สามารถสื่อสารได้ทั้งในโรงเรียนและในชุมชน ซึ่งการจัดนิทรรศการในโรงเรียนนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกว่าจะเชิญนักเรียนโรงเรียนอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงเข้าร่วมด้วย และในอนาคตทีมงานมีแผนที่จะจัดตั้งเป็นกลุ่มหรือชมรม พานักเรียนและคนในชุมชนไปเรียนรู้ต้นลานพืชสำคัญของบ้านเขากระปุก แม้ประโยชน์กับชุมชนจะยังไม่เกิดอย่างชัดเจนตามที่ทีมงานตั้งเป้าหมายไว้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือความเปลี่ยนแปลงของทีมงานทั้งเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิต

วัน บอกว่า เมื่อก่อนเวลาคุณครูให้งาน เธอจะนั่งเครียดและคิดว่า ฉันทำไมได้ ฉันทำไม่ได้ ก็เปลี่ยนมาเป็นฉันต้องทำได้ ฉันต้องทำได้ เพราะไม่มีอะไรที่ยากเกินไป

ส่วนนพ ที่เคยบอกกับแม่ว่าจะขอเรียนแค่ ม.3 แต่เมื่อพบว่าตนเองสามารถทำเรื่องที่ยากกว่าการเรียนในห้องเรียนได้ จึงตั้งใจเรียนมากขึ้น และคิดเรียนต่อที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เกี่ยวกับการซ่อมรถ

ปูเป้ บอกว่า ตอนแรกที่ตัดสินใจทำโครงการ ไม่คิดว่าจะยากและเหนื่อยขนาดนี้ ยิ่งในเวทีนับ 3 ที่ทีมโคชมีหัวข้อที่ต้องทำเยอะมาก พวกเราก็มองหน้ากัน เพื่อนบางคนก็น้ำตาแตก เพราะต้องใช้ความคิดหนักมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เธอก็ได้รู้ว่าโครงการนี้ให้อะไรหลายอย่างที่ต่างจากในห้องเรียน

“การเรียนในห้องเรียน ถึงเวลาครูก็เข้ามาให้ความรู้เรา หรืออาจไปหาเพิ่มเติมจากหนังสือหรืออินเทอร์เน็ต แต่โครงการนี้ทำให้เราได้เข้าไปคุยกับคนในชุมชน ได้รู้จักผู้ใหญ่หลายๆ คนที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขาเก่ง และมีความรู้มากมาย ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของคนบ้านเขากระปุกจริงๆ เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก”

วัน เสริมว่า จากคำถามของพี่คนหนึ่งในเวทีนับ 3 ว่า “ทำไมเราอยากรู้จักชุมชน” ทำให้เธอรู้ว่า ในอนาคตหากคิดจะทำอะไร ต้องคิดต่อยอดให้ถึงที่สุด และไม่ทำแบบผ่านๆ ไป

“งานนี้มีคนที่คอยเอาใจช่วยพวกเราเยอะมาก ทั้งคุณครู และผู้ใหญ่ในชุมชน ทำให้เราทิ้งมันไปไม่ได้ ต้องทำให้เสร็จ โครงการนี้สอนให้พวกเรามีความรับผิดชอบ และกล้ามากกว่าเดิม เมื่อก่อนพอเจอปัญหาที่แก้ไม่ได้ก็จะร้องไห้ แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าทุกปัญหาก็มีทางออก เพียงแต่เราต้องไปค้นหา แล้วลงมือทำ พอได้ทำก็จะมั่นใจว่าเราก็ทำได้ ทำให้ตอนนี้ไม่รู้สึกว่าตัวเองอ่อนแออีกแล้วค่ะ”

จากคำถามเดียวของครูประไพได้นำพาทีมงานให้ได้เข้าไปสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่ ที่แตกต่างการเรียนแบบเดิม ที่นำพาให้ทีมงานได้ครุ่นคิด ตั้งคำถาม จดบันทึก วิเคราะห์ข้อมูล รู้จักวางแผนการทำงาน เรียนรู้การทำงานเป็นทีม เรียนรู้วิธีสืบค้นข้อมูลความรู้รูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ข้อมูลสำเร็จรูปบนอินเทอร์เน็ต แต่เป็นข้อมูลจากชีวิตคนจริงๆ ที่อิงอยู่บนวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว


โครงการ “รักษ์” ต้นลานบ้านเรา

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • ประไพ ไม้แก้ว

ทีมทำงาน :

  • วริษา พราหมณี 
  • นภาพร ทองคำ
  • กัลยากร สารเห็ด 
  • นพรุจ สุขดี
  • กิตติภพ ศรีสวัสด์ 
  • สิทธิพล พรมโสภา
  • สุเมธ สังฤทธิ์