การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อปลูกสำนึกความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับเยาวชนและคนในชุมชนเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี ปี 3

ปัจจุบันงานวิจัยต่างๆ ยืนยันแน่ชัดแล้วว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาสมองให้มีศักยภาพมากขึ้นได้ แต่เด็กบางคนอาจยังติดกรอบว่า “เป็นไปไม่ได้”เพราะ “ความเชื่อ”ของตัวเอง ผู้ใหญ่รอบตัวเด็กจึงมีส่วนที่จะช่วยเปลี่ยนมุมมองดังกล่าวด้วยการสร้างแรงส่งให้เด็กมั่นใจว่า ไม่ใช่เขาทำไม่ได้เลย แต่แค่ “ยังทำไม่ได้”เขาสามารถเก่งขึ้นได้ด้วยความมานะพยายาม ส่วนความล้มเหลวเป็นเพียงความท้าทายในการพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จ

ทำไม่ได้ หรือแค่ “ยัง” ทำไม่ได้

หลายคนคงเคยรู้สึกท้อถอยกับการทำอะไรบางอย่าง จนถึงขั้นถอดใจ ล้มเลิกสิ่งที่ทำลงกลางคัน เพราะมองว่าถึงทำต่อก็ไม่มีทางสำเร็จ แน่นอนว่าความสามารถของเราอาจไปไม่ถึงการทำงานบางอย่าง ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายอย่างที่เราสามารถไปถึงเป้าหมายได้ เพียงแค่ใส่ความพยายามลงไปอีกนิด และไม่ตัดสินตัวเองไปเสียก่อนว่า “ทำไม่ได้”

ผู้คนสมัยก่อนเคยเชื่อกันว่า “สมองดี” เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ปัจจุบันงานวิจัยต่างๆ ยืนยันแน่ชัดแล้วว่า สมองของคนเราพัฒนาได้ ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาสมองให้มีศักยภาพมากขึ้น แต่คนส่วนหนึ่งกลับยังติดกรอบความคิดคำว่า “เป็นไปไม่ได้” เพราะ “ความเชื่อ” ของตัวเอง คล้ายกับเยาวชนกลุ่มหนึ่งจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ราชบุรี ที่รวมตัวกันในนาม “ทีม Road Safety”ก็เคยมองว่าตัวเองไม่เก่ง และถูกสังคมตีตราว่าเป็นเด็กท้ายแถวในระบบการศึกษา จึงไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น กระทั่งพวกเขามีโอกาสเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของคำว่า “ทำไม่ได้” เป็น “ทำได้”

โจทย์ที่อยากทำและไม่เกินกำลัง

การรวมตัวของทีมงานมีที่มาจากหลายทาง บางคนเคยมีประสบการณ์การทำโครงการร่วมกับรุ่นพี่ในปีที่ผ่านมาอย่าง ดาวเรือง-อิศรา เอี่ยมสง่า หนึ่ง-นพดล แตงรอด ส่วนคนอื่นๆ ที่เหลือ คือ ฝ้าย-นลินรัตน์ สืบสรวง ปิ่น-อุรชา สวัสดิ์พิพัฒน์พงศ์ โก๊ะ-อนันตเทพ บุญชู เอ้-สุบรรณ จันทร สะเดา-กัญญาณัฐ สีหะอำไพ และแอร์-อังคณา หนูวัฒนา บางคนเคยเข้าร่วมมหกรรมพลังเด็กและเยาวชน บางคนมาจากการชักชวนของเพื่อนหรือที่ปรึกษาโครงการ แต่สิ่งที่ทุกคนมีพื้นฐานมาเหมือนกันคือ อยากเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง สิ่งแรกที่ทีมงานต้องทำคือการคิดโจทย์โครงการ ทีมงานได้เลือกการนำเศษใบไม้ภายในวิทยาลัยมาทำเป็นปุ๋ย โดยหวังว่าจะช่วยให้วิทยาลัยดูสะอาดตาขึ้น ทว่าก็ต้องถูกเบรกกะทันหัน เมื่อถูกตั้งคำถามจาก พี่อ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ โคชโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ว่า จะเก็บใบไม้ทั้งมหาวิทยาลัยได้ไหม ทำให้ทีมทบทวนความคิดจนพบว่า ยากเกินกำลัง เพราะพื้นที่วิทยาลัยใหญ่มากจึงต้องเปลี่ยนโครงการใหม่ พี่อ้วน บอกว่าสาเหตุที่ต้องถาม เพราะมองเห็นว่าโจทย์โครงการที่ทีมงานเลือกทำมาจากคนเพียงไม่กี่คนในกลุ่ม ส่วนคนอื่นเป็นผู้ตามที่เพื่อนว่าอย่างไรก็ว่าตาม จึงใช้การชวนคิดชวนคุย เพื่อหาโจทย์ใหม่ที่ทีมงานอยากทำและมีศักยภาพพอจะทำได้

แต่เพราะเป็นช่วงแรกของการทำโครงการ ทีมงานที่ยังไม่สนิทสนมกับพี่อ้วนมากพอ และกลัวว่าจะตอบผิด จึงนิ่งเฉยเวลาถูกชวนคุย พี่อ้วนจึงปรับเปลี่ยนกระบวนการใหม่ ด้วยการให้ทีมงานลองไปสอบถามจากนักศึกษาคนอื่นในวิทยาลัยว่า บริเวณรอบวิทยาลัยมีปัญหาอะไรบ้าง คำตอบที่ได้มีทั้งการเข้าแถว การแต่งกาย การไม่สวมหมวกกันน็อก และการเข้าออกหอพัก

ทีมงานตัดสินใจเลือกประเด็นหมวกกันน็อก โดยให้เหตุผลว่า คนส่วนใหญ่ในวิทยาลัยใช้รถจักรยานยนต์ในการเดินทาง แต่กลับไม่ค่อยสวมหมวกกันน็อก ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ขณะที่ชุมชนใกล้วิทยาลัยก็มีรถบรรทุกอ้อยสัญจรผ่านตลอด มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง บางครั้งผู้ประสบเหตุก็เป็นนักศึกษาของวิทยาลัย เหตุผลทั้งหมดจึงน่าจะโน้มน้าวให้นักศึกษาและชาวบ้านเห็นความสำคัญของการสวมหมวกกันน็อกได้ไม่ยาก และจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง จึงเกิดเป็น โครงการปลูกจิตสำนึกความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับเยาวชนและคนในชุมชน ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

เงื่อนไขการค้นหาโจทย์โครงการที่พี่อ้วนให้ทีมงานไปสอบถามคนอื่น ส่วนหนึ่งได้ช่วยแก้ปัญหาระหว่างเด็กกับโคช ที่เด็กกลัวการตอบผิด พูดผิด และยังไม่คุ้นเคยกับโคชนัก อีกส่วนหนึ่งคือทำให้ทีมได้ข้อมูลจริงที่เป็นความเดือดร้อนของคนส่วนใหญ่ และสร้างความมั่นใจเบื้องต้นให้ทีมงานที่สามารถทำตามโจทย์ของโคชได้สำเร็จ

สวมหมวกกันน็อก เปิดประสบการณ์

แม้จะได้โจทย์ในการทำโครงการแล้ว แต่ทีมงานยังติดปัญหาเรื่องการวางแผนโครงการ ทุกครั้งที่พี่อ้วนเริ่มชวนคุยเรื่องงาน พวกเขาจะนิ่งเงียบ ไม่พูด ไม่ตอบอีกเช่นเคยพี่อ้วนตัดสินใจเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่จากการตั้งวงคุยอย่างจริงจัง มาเป็นการนัดทีมงานกินข้าวและพูดคุยในบรรยากาศผ่อนคลาย เมื่อยกความกดดันออกไปทีมงานแต่ละคนจึงค่อยๆ เปิดใจ เล่าเรื่อง และแสดงความเห็นของตนเองออกมา ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างทีมงานกับโคชก็ค่อยๆ ขยับเข้าหากันมากขึ้น กิจกรรมแรกที่ทีมงานเลือกทำคือ การสำรวจจำนวนนักศึกษาที่สวมหมวกกันน็อกโดยการสอบถามพูดคุย จากนั้นไปสำรวจจุดเสี่ยงในชุมชนโดยใช้วิธีสังเกตและจดบันทึกแบบสำรวจรายบุคคล เพื่อให้ง่ายต่อการสรุปผล แล้วไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมทางหลวง สถานีตำรวจในพื้นที่ และสถานีอนามัย ผลการเก็บข้อมูลพบว่า คนส่วนใหญ่ขับรถเร็ว ไม่ค่อยให้เกียรติกัน และไม่ค่อยสวมหมวกกันน็อก ทีมงานจึงเลือกจะรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องขับขี่ปลอดภัยและการสวมหมวกกันน็อก จากนั้นจึงไปเติมความรู้ที่โรงเรียนสอนขับรถยนต์ ทั้งการฝึกหัดขับรถยนต์ที่ถูกต้อง กฎจราจร และป้ายจราจร หลังจากมีข้อมูลเชิงปริมาณมากมาย ทีมงานก็เกิดอาการ “ชะงัก” เพราะไม่รู้ว่าจะนำข้อมูลทั้งหมดไปทำอะไรต่อ พี่อ้วนที่เห็นสถานการณ์ดังกล่าวจึงเข้ามาช่วยคลี่คลาย ใช้เกมจำลองสถานการณ์ให้ทีมงานเห็นว่า ข้อมูลที่มีอยู่มากมาย ถูกวางกองโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะไม่ได้กลับมาดูแผนการทำงานที่วางไว้ร่วมกัน ทำให้ทีมงานตระหนักถึงความสำคัญของแผนงาน และรู้ว่าการทำงานเป็นทีมที่ดีทุกคนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันมองให้มากกว่านี้ ทีมงานจึงคิดร่วมกันว่า พวกเขายังขาดความรู้เรื่องถนน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงปรึกษากับพี่อ้วนให้ช่วยประสานวิทยากรมาอบรมให้ความรู้แก่พวกเขาในเรื่องจุดเสี่ยง-จุดเสียว นอกจากการหนุนเสริมของโคชแล้ว ด้านพี่เลี้ยงของทีมอย่าง ครูเร-เรณุกา หนูวัฒนา และครูเอ็ม-ธนพล อ่อนพุก ก็ช่วย “เปิดพื้นที่” ด้วยการชักชวนลูกศิษย์มาล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ติดตามความคืบหน้าในการทำงาน เอาปัญหาหน้างานมาช่วยกันคิด ช่วยกันปรับแผนงานใหม่

หลังเติมความรู้ให้ตัวเองรอบด้านแล้ว ทีมงานคิดว่าถึงเวลาที่พวกเขาต้องถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นออกไป ด้วยการจัดอบรมให้น้องๆ ชั้นประถมศึกษา โรงเรียนวัดเขาส้ม เพราะมองว่าเป็นวัยที่เริ่มขับขี่รถจักรยานยนต์ จึงควรได้รับการปลูกฝังให้ปรับพฤติกรรมตั้งแต่เบื้องต้น และเด็กอาจนำไปบอกต่อแก่ผู้ปกครองด้วย อีกอย่างพวกเขาน่าจะทำให้เด็กสนใจได้มากกว่าการจัดกิจกรรมกับผู้ใหญ่

เมื่อวันทำกิจกรรมมาถึง ทีมงานถือโอกาสสอดแทรกกิจกรรมรณรงค์สวมหมวกกันน็อก ในระหว่างการเดินทางจากวิทยาลัยไปโรงเรียน ด้วยการชักชวนเพื่อนๆ ในวิทยาลัยขับขี่จักรยานยนต์สวมหมวกกันน็อกไปเป็นขบวนคาราวานเกือบ 30 คัน และชูป้ายรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางท้องถนนเพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของการสวมหมวกกันน็อก

สำหรับการทำกิจกรรมที่โรงเรียน ทีมงานได้แบ่งน้องออกเป็นทีมเพื่อเวียนฐานทำกิจกรรม 3 ฐาน ได้แก่ ฐานทายป้ายจราจร จับคู่ป้ายจราจร และฐานวาดภาพถนนที่อยากให้เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อชวนน้องคิดว่าถ้าอยากให้ชุมชนเป็นชุมชนที่สวยงามอย่างที่วาดจะช่วยกันอย่างไร ก่อนปิดท้ายกิจกรรมด้วยการให้น้องเขียนสะท้อนความรู้สึก ซึ่งผลตอบรับก็สร้างความปลาบปลื้มแก่ทีมงาน เพราะน้องๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สนุกและอยากให้มาทำกิจกรรมอีก

ดาวเรือง เล่าว่า ตอนที่เขาจะขี่จักรยานยนต์ออกจากโรงเรียนหลังอบรมเสร็จ เขาแกล้งลืมใส่หมวกกันน็อก น้องหลายคนก็ทักเขาว่า “พี่ลืมใส่หมวกกันน็อก” ทำให้เห็นว่าน้องๆ เริ่ม “ซึมซับ” สิ่งที่ได้เรียนรู้จากพวกเขาแล้ว

กิจกรรมต่อมาคือการคืนข้อมูลให้ชุมชน ด้วยการเปิดแสดงดนตรีในตลาดนัดประจำชุมชน แล้วแจกแผ่นพับ และพูดคุยชาวบ้าน ซึ่งแตกต่างจากเวทีคืนข้อมูลอื่นๆ เพราะทีมงานคิดว่าถ้าไปพูดเฉยๆ ชาวบ้านคงเบื่อและไม่อยากฟัง ชาวบ้านก็ให้การตอบรับด้วยการเข้ามาพูดคุยให้ข้อมูลเรื่องอุบัติเหตุที่พบเจอในชุมชน

กิจกรรมสุดท้ายของโครงการคือ การจัดอบรมให้เพื่อนร่วมวิทยาลัย เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัยทางท้องถนน ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากเพื่อนเกินคาด เพราะตอนแรกมีคนตอบรับไม่ถึง 10 คน แต่เมื่อถึงวันจัดกิจกรรมจริงกลับมากันแน่นกว่า 30 คน

ทีมงานประเมินผลการอบรมว่าเกินกว่าที่หวังทั้งจากจำนวนผู้เข้าร่วม และความร่วมมือของผู้เข้าร่วมตลอดการทำกิจกรรม ส่วนข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากแบบสอบถาม พวกเขาได้สรุปเป็นรูปเล่มเพื่อให้ง่ายต่อการดึงไปใช้ต่อไป

พลาดซ้ำจนจดจำและเรียนรู้

นอกจากการเจอปัญหาในช่วงแรกๆ ของการขึ้นโจทย์โครงการและดำเนินงานตามแผนโครงการแล้ว ทีมงานยังพบเจอปัญหาจากกระบวนการทำงานของตัวเองที่วางไว้แบบ “ช่วยกันทำ” ซึ่งอาจดีในช่วงที่ทุกคนมีเวลา เพราะไม่มีใครต้องเหนื่อยเกินไป แต่ปัญหาเริ่มเกิดเมื่อทุกคน “ไม่มีเวลาคุยกัน” เนื่องจากสมาชิกแต่ละคนต่างเรียนคนละสาขา คนละชั้นปี จึงว่างไม่ตรงกัน ปิ่นที่เป็นน้องเล็กของกลุ่ม ซึ่งมีเวลาเรียนน้อยที่สุด จึงมีเวลาว่างมากที่สุด ต้องเข้ามาเป็นคนประสานงานกับพี่อ้วน ครูเร และครูเอ็ม แล้วนำไปถ่ายทอดต่อแก่สมาชิกคนอื่นในทีมปัญหาแรกของการไม่พูดคุยกันจบไป แต่ยังไม่คลี่คลายอย่างถาวร เพราะทุกคนยังไม่ตระหนักร่วมกัน ทำให้ปัญหาที่ 2 ที่มีสาเหตุจากการไม่คุยกันเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงที่มีเวทีอบรมการทำสื่อวิดีโอของโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ แป้ง-ศิริพร บุญมาก พี่ใหญ่ของกลุ่มที่มีประสบการณ์ทำโครงการมา 2 ก่อน และปีนี้ขยับขึ้นมาเป็นผู้ช่วยพี่เลี้ยง เห็นสถานการณ์ของน้องๆ ที่ไม่ค่อยคุยกันในช่วงดังกล่าว มองว่านี่เป็นโอกาสที่จะวางเงื่อนไขให้น้องๆ รู้จักพูดคุยกันก่อนลงมือทำงาน จึงแบ่งหน้าที่การทำสื่อให้แต่ละคนรับผิดชอบ ซึ่งทุกหน้าที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องถาม ต้องคุยกับคนอื่น เพื่อให้ได้ข้อมูลไปทำงาน เช่น คนที่ต้องไปถ่ายคนที่เกิดอุบัติเหตุในวิทยาลัยต้องคุยกับคนที่รับผิดชอบการลำดับเรื่อง เพื่อให้คนลำดับเรื่องรู้ว่าได้พล็อตเรื่องแบบไหนมา “ช่วงนั้นแต่ละคนมีกิจกรรมเยอะ เรารู้ว่าเขาคุยกันน้อยมาก ทั้งที่ใกล้ถึงเวลาถ่ายทำแล้ว เลยต้องมอบหมายงานที่บังคับให้เขาได้คุยกัน โดยไม่บอกตรงๆ เพราะบอกไปก็ได้แบบเดิม” ทว่าอุบายที่แป้งวางไว้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อสมาชิกในทีมต่างคนต่างทำงาน จึงทำให้หนึ่งที่รับหน้าที่ตัดต่อวิดีโอ ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำภายใน 2 วัน เพื่อให้ทันการนำเสนอ ปัญหาครั้งนี้ทำให้ทีมงานทุกคนตระหนักมากขึ้นว่า “การคุยกัน” คือหัวใจสำคัญของการทำงานเป็นทีมที่มีความหลากหลาย เพื่อไม่ให้งานไปกองที่คนใดคนหนึ่ง และเห็นภาพร่วมกันว่าแต่ละคนต้องทำอะไรเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสุดท้ายของทีม

พรแสวงของเด็กหลังห้อง

การทำงานคลุกคลีกับข้อมูลเชิงวิชาการ การต้องทำงานร่วมกับเพื่อน ร่วมกับชุมชนภายนอก และการได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องความปลอดภัยทางท้องถนนแก่ผู้อื่นหลายครั้งค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเด็กที่กลัวการทำงานวิชาการ ไม่กล้าแสดงออก กลัวทำผิด ตอบผิด ให้มีความมั่นใจ และเติบโตอย่างงดงามในด้านความคิด ทักษะ นิสัย

ปิ่นที่ต้องเป็นผู้นำอย่างจำใจ ยอมรับว่า “ตอนแรกเราไม่เข้าใจสักนิดว่าทำไมต้องทำ แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ กลับพบว่า เราก็มีความสามารถในการเป็นผู้นำอยู่ และค่อยๆ ใจเย็นขึ้น รู้สึกดีขึ้นตอนที่คิดได้ว่ากำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ทำให้เรากลายเป็นคนที่อยากทำเพื่อคนอื่นมากขึ้น”

หนึ่ง เสริมว่า การนำความรู้เรื่องการขับขี่ปลอดภัยไปบอกคนอื่นก็เหมือนได้ช่วยชีวิตเขาไปแล้วส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นการย้ำเตือนตัวเองด้วยว่าต้องใส่หมวกกันน็อกให้มากขึ้น

ขณะที่ แอร์ ยอมรับว่า เคยเกือบเลิกทำโครงการ เพราะนิสัยไม่ค่อยสวมหมวกกันน็อกของตัวเอง

“ช่วงหนึ่งเราคิดว่าจะไม่ทำแล้ว เพราะตัวเองก็ไม่ค่อยใส่หมวกกันน็อก ขับรถเร็วด้วยบางครั้ง กระทั่งพี่เอ้มาพูดให้เราคิดได้ว่า “การที่เราทำโครงการไม่ใช่แค่การเตือนคนอื่น แต่เป็นการเตือนตัวเราด้วย” จึงรู้สึกว่าการทำโครงการนี้มันเป็นการท้าทายให้ตัวเราเองเปลี่ยนพฤติกรรม และถ้าสามารถเผยแพร่ให้คนอื่นรับรู้และทำตาม ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเขาด้วย เลยตัดสินใจทำต่อ “

ฟาก โก๊ะกับฝ้าย บอกว่าตัวเองรู้จักรับฟังคนอื่นมากขึ้น จากเดิมที่ติดเล่น และมักจะเถียงไว้ก่อน ซึ่งตรงข้ามกับสะเดาที่เมื่อก่อนขี้อายมาก ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เพราะกลัวพูดผิด แต่การทำโครงการนี้ฝึกให้เธอต้องเสนอความคิดเห็น ขณะเดียวกันเพื่อนกับพี่เลี้ยงก็รับฟังสิ่งที่เธอพูด แล้วนำไปปรับใช้กับโครงการ ทำให้เธอรู้สึกว่า ความคิดของเธอมีความสำคัญ จนเธออยากแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

เอ้ อธิบายข้อดีของการทำงานเป็นทีมเพิ่มว่าการทำงานร่วมกัดีกว่าการทำคนเดียวตรงที่มีคนช่วยกันคิด เพราะไม่มีความคิดของใครที่ดีที่สุด ต้องช่วยกันเสริมบ้าง ขัดบ้าง จึงจะได้แนวทางที่ดีที่สุดของทีม

สำหรับ ดาวเรือง ที่นอกจากการทำโครงการแล้ว ยังต้องรับภาระช่วยเหลืองานที่บ้านจนต้องแบ่งเวลาอย่างชัดเจนว่า วันธรรมดาจะทำทั้งงานโครงการ และกิจกรรมของวิทยาลัย ส่วนเสาร์-อาทิตย์จะยกให้ที่บ้านทั้งหมด การทำโครงการนี้จึงทำให้เขาแบ่งเวลาได้ดีขึ้น และเข้าใจความหมายของคำว่าอุปสรรคเปลี่ยนไป

“ตอนแรกที่ทำโครงการแล้วเจออุปสรรคเข้ามาเยอะ เราก็เกิดอาการท้อไปพักหนึ่ง เริ่มไม่อยากทำแล้ว แต่วูบหนึ่งคิดขึ้นได้ว่า การเจออุปสรรคก็เหมือนเจอแรงผลักดันให้เราสู้ ถึงตอนนี้ยังทำได้ไม่ดี แต่ต่อไปต้องดีขึ้นแน่นอน”

มุมมองที่เห็นว่าตัวเองสามารถเก่งขึ้นได้ด้วยความมานะพยายาม มองความล้มเหลวเป็นความท้าทายที่เป็นโอกาสในการพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับทีม Road Safety นี้เรียกว่า“Growth Mindsetหรือ “พรแสวง” ซึ่ง Prof. Carol S. Dweck เคยขยายความไว้ว่าปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กมีมุมมองนี้คือการที่ผู้ใหญ่รอบตัวเด็กช่วยสร้างแรงส่งให้เด็กมั่นใจว่า ไม่ใช่เขาทำไม่ได้เลย แต่แค่ “ยังทำไม่ได้” จะทำให้เขาพยายามพัฒนาตัวเองและหาทางออกเวลาเจอปัญหา

ดังเช่นสิ่งที่พี่อ้วน ครูเร ครูเอ็ม และแป้ง พยายามเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ สร้างเงื่อนไข และสนับสนุนให้ทีม Road Safety ค่อยๆ เรียนรู้การทำงานและข้ามผ่านอุปสรรคไปทีละขั้น จนตัวเองเกิดความเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีในที่สุด และนอกจากจะก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองแล้วยังกระตุ้นจิตใจที่ดีงาม อยากทำเพื่อผู้อื่นให้งอกเงยขึ้นด้วย

เพราะเมื่อเด็กได้ลองทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย เซลล์ประสาทในสมองของเขาจะสร้างการเชื่อมโยงใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม และหากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้เด็กมีสมองที่ดีขึ้น และมีมุมมองต่อการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งจะเป็นรากฐานให้ชีวิตสามารถก้าวสู่ความสำเร็จในวันข้างหน้า


โครงการปลูกจิตสำนึกความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับเยาวชนและคนในชุมชน

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • อาจารย์ธนพล อ่อนพุก
  • อาจารย์เรณุกา หนูวัฒนา

ทีมงาน :

  • อิศรา เอี่ยมสง่า ปวช. 3 สัตวศาสตร์
  • สุบรรณ จันทร ปวส. 1 พืชศาสตร์
  • นลินรัตน์ สืบสรวง ปวช. 3 สัตวศาสตร์
  • ศิริพร บุญมาก ปวส. 2 พืชศาสตร์
  • กัญญาณัฐ สีหะอำไพ ปวส. 1 สัตวรักษ์
  • นพพล แตงรอด ปวช. 3 พืชศาสตร์
  • อังคณา หนูวัฒนา ปวส. 1 สัตวรักษ์
  • อุรชา สวัสดิ์พิพัฒน์พงศ์ ปวช. 2 พืชศาสตร์
  • อนันตเทพ บุญชู ปวช. 1 พืชศาสตร์