การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรในการเลี้ยงหมูจากถ่านใบโอชาและน้ำส้มควันไม้ ชุมชนหนองหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี ปี 3

การมี “คุณอำนวย” หรือ Facilitator ที่ดีคอยตั้งคำถามที่เหมาะสมให้กับเยาวชนหรือนักเรียนได้ไตร่ตรอง สะท้อนคิด ทั้งความคิดทางวิชาการและคำตอบทางใจ เพื่อให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้หลากหลายมิติ เป็นตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยยกระดับจิตใจของเยาวชนเหล่านี้ได้ ซึ่งกระบวนการที่จะสามารถยกระดับจิตใจ และพัฒนาความรู้ทักษะเหล่านั้นได้คือการชวนเขาให้ลุกออกมาทำงานสร้างสรรค์และการทำงานเพื่อรับใช้ผู้อื่น

สนามฝึกประสบการณ์ตรง

เพราะเห็นว่าช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยแห่งโอกาส ที่จะสามารถพัฒนาการเรียนรู้ และต่อยอดทักษะของเยาวชนได้ทำให้อาจารย์สำราญเลือกที่จะชวนให้เด็กกลุ่มนี้เข้าร่วมกิจกรรม ที่จะช่วยวางระบบให้วัยรุ่นสามารถใช้ Brain Plasticity ไปในทางสร้างสรรค์ ลดปัญหาที่เกิดจากความหุนหันพลันแล่นที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวัยนี้

คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้อาจารย์สำราญ พลอยประดับ คณะสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกมา ที่เน้นให้นักศึกษานำความรู้จากห้องเรียนไปช่วยเหลือชุมชน กระบวนการทำงานยังฝึกให้นักศึกษามีความกล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ และกล้าแสดงออก ฝึกการเข้าสังคม ซึ่งเป็นบททดสอบให้นักศึกษาได้ทดลองทำงานก่อนที่จะจบการศึกษา โดยปีนี้นักศึกษาที่อาจารย์สำราญชักชวนนักศึกษาสาขาสัตวศาสตร์ คือ สร้อย–สุรีพร ใจทะเล แค็ท-ขนิษฐา ศิลปะกาลจนมาลัย ตุ๊-สุเมธ ศรีพนมวรรณ์ และป๊อบ-ธนาพร ใจหาญ ทำโครงการเพิ่มมูลค่าของหมูที่เลี้ยงจากถ่านไบโอชาและน้ำส้มควันไม้ นำความรู้ที่มีอยู่ไปเผยแพร่ให้กับเกษตรกรที่สนใจ

สร้างความเชื่อมั่น...ด้วยข้อมูล

แม้จะเคยทำการทดลองเรื่องการเลี้ยงหมู่ด้วยถ่านไบโอชาร์และน้ำส้มควันไว้มาก่อนหน้า แต่เป็นการเลี้ยงในวิทยาลัย เมื่อต้องถ่ายทอดความรู้ ทีมงานจึงต้องหาข้อมูลเพิ่ม เพื่อให้คนในชุมชนเกิดความเชื่อมันและยอมรับผลงาน โดยข้อมูลที่ทีมสืบค้นเพิ่มคือ คุณสมบัติของถ่านไบโอชาร์ คุณสมบัติของน้ำส้มควันไม้ วิธีการปรับปรุงคุณภาพซาก คุณสมบัติของเนื้อหมูที่ดี เมื่อได้ข้อมูลทีมงานทำการทดลองอีกครั้ง เพื่อหาสูตรอาหารที่เหมาะกับการเลี้ยงหมูมากที่สุด จำนวน 3 สูตร นำผงถ่านไบโอชาร์ร่อนให้ละเอียด 8 กิโลกรัม ผสมกับน้ำส้มควันไม้ 2 ลิตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำมาชั่งแบ่งเป็น 1 ขีด 2 ขีด และ 3 ขีด แยกถุงไว้ เพื่อรอผสมกับอาหารสำเร็จรูปหนึ่งกระสอบ โดยทำการทดลองกับหมูที่มีน้ำหนัก 20-30 กิโลกรัม โดยคอกที่ 1 เป็นหมูที่ไม่กินอาหารสำเร็จรูปปกติ คอกที่ 2 กินอาหารสำเร็จรูป 1 กระสอบผสมกับถ่าน 1 ขีด 2 และ 3 ขีดตามลำดับ เป็นระยะเวลา 45 วัน พบว่าคอกที่ได้ผลดีที่สุด คือ คอกที่ผสมถ่าน 2 ขีดและ 3 ขีด เมื่อทำการชำแหละและแบ่งขายทีมงานมีการติดตามผลความพึงพอใจจากผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้พวกเธอยังทำแบบสอบถามผู้บริโภคอีกครั้ง เพื่อสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภคหลังจากรับประทานหมูที่เลี้ยงด้วยถ่านไบโอชาร์ ซึ่งผลตอบรับส่วนใหญ่พบว่ามันหมูน้อยลง กลิ่นสาบลดลง มีไขมันแทรกระหว่างเนื้อหมูให้ทำเนื้อหมูนุ่มอร่อย หากเปรียบเทียบกับหมูตลาดจะพบว่าเนื้อหมูมีสีซีด มีกลิ่นสาบ เนื้อแข็งหยาบ เวลาแช่น้ำมีสีซีดเขียว นอกจากนี้เพื่อสร้างความมั่นใจอีกระดับทีมงานยังส่งเนื้อหมูเพื่อตรวจสอบคุณภาพที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

การสืบค้นข้อมูล การทดลองทำซ้ำ ยิ่งทำให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงหมูด้วยถ่านไบโอชาร์และน้ำส้มควันไม้ของทีมงานแน่นยิ่งขึ้น แล้วยังสร้างความมั่นใจให้ทีมงานสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรได้อย่างมั่นใจ

ฝึกทักษะจำเป็นสำหรับอนาคต

กล่าวได้ว่า การเรียนรู้จากการลงมือทำที่อาจารย์สำราญต้องการให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากโครงการนี้มี 2 ส่วนคือ 1.การนำความรู้จากห้องเรียนไปใช้ทำงานจริง 2.การฝึกทักษะในศตวรรษที่ 21 จากทีมโคช ผ่านเวทีนับ 1-5

มีพี่อ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ โคชโครงการฯ คอยตั้งคำถามชวนคิด ฝึกให้นำเสนอโครงการ ฝึกให้รู้จักรับฟังผู้อื่น และทักษะการสื่อสาร ที่ต้องทำซ้ำทุกครั้งเวลาเข้าร่วมเวที

สร้อย ยืนยันว่า นอกจากความรู้เฉพาะทางเรื่องการเลี้ยงหมูที่เธอรู้ลึกและรู้จริงมากขึ้นแล้ว ทักษะเรื่องการสื่อสารของเธอก็เปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่เธอเป็นคนเข้าใจอะไรยาก ขี้อาย เป็นนักทำมากกว่านักพูด เวลาสื่อสารกับคนอื่นมักเข้าใจไม่ตรงกัน แต่กระบวนการจากเวทีนับ 1-5 ที่ทีมโคชออกแบบให้มีการแลกเปลี่ยนรู้กับเพื่อนต่างโครงการ เธอจึงต้องตั้งรับกับคำถามจากพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่มักจะชวนพูดคุยเพื่อทบทวนการทำโครงการทุกครั้ง ทำให้เธอกลายเป็นคนกล้าพูดไปโดยปริยาย

“เมื่อก่อนเวลานำเสนองานเราใช้การท่องจำมากกว่าการทำความเข้าใจ บางครั้งก็ถือกระดาษไปยืนอ่านหน้าชั้น แต่ทุกวันนี้เพราะมีโอกาสได้ลงมือทำจริง ทดลองจริง ทำให้เธอมีความมั่นใจในความรู้ของตนเอง ทำให้กล้าพูด กล้าอธิบายมากขึ้น”

ส่วนแค็ท บอกว่า เธอก็เป็นคนหนึ่งที่ขี้อายมาก แต่เพราะมีโอกาสเข้าร่วมเวทีกับทีมงานบ่อยๆ ทำให้เธอมองเห็นว่าตัวเองเริ่มเปลี่ยนไป ช่วงแรกๆ ที่เข้าเวทีเธอมักจะหลบสายตาพี่อ้วน เพราะไม่ต้องการจับไมค์ แต่สุดท้ายก็หนีไมค์ไม่พ้น จนกล้าจับไมค์พูด

ด้านป๊อบ บอกว่า เธอชอบการเรียนรู้จากการลงมือทำมาก ได้ทั้งความสนุกและความรู้ ไม่รู้สึกอึดอัดขัดใจเพราะต้องท่องจำแต่ทฤษฎี การได้ลงมือทำยิ่งทำให้เธอเข้าใจสิ่งที่เรียนมากขึ้น จนสามารถเขียนอธิบายได้ดีกว่าเดิม

“ถ้าเราเรียนแต่ในห้องเรียน เราจะท่องจำแค่ว่าเนื้อหมูที่ดีต้องมีเนื้ออมชมพู แต่เราไม่เคยเห็นภาพจริงว่าเนื้อหมูอมชมพูเหมือนที่หนังสือเขียนเป็นแบบไหน แต่พอเราได้ทำโครงการนี้ทำให้เราเข้าใจความหมายของความเนื้อหมูที่ดีมากขึ้น เพราะเรามีโอกาสได้เห็นและได้สัมผัสจริง”

กระบวนการเรียนรู้เช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มี “คุณอำนวย” หรือ Facilitator ที่คอยกระตุ้น ชวนวิเคราะห์ไตร่ตรองสะท้อนคิด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้หลากหลายมิติ ยกระดับจิตใจของเยาวชน ให้เขาได้คิดเป็น อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ในสังคม สิ่งสำคัญที่สุดคือการอำนวยให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้รับรู้และเข้าใจการทำงานเพื่อสังคมสู่การเป็นพลเมืองที่สังคมต้องการในแบบฉบับที่เด็กสายอาชีพพึงมี


โครงการเพิ่มมูลค่าของหมูที่เลี้ยงจากถ่านไบโอชาร์และน้ำส้มควันไม้

ที่ปรึกษาโครงการ : สำราญ พลอยประดับ

ทีมงาน :

  • สุรีพร ใจทะเลขนิษฐา
  • ศิลปะกาล จนมาลัย
  • สุเมธ ศรีพนมวรรณ์ 
  • ธนาพร ใจหาญ