การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงไก่แบบปลอดยาปฏิชีวนะในชุมชนหนองหญ้าปล้อง จังหวัดกาญจนบุรี ปี 3

การมีโคชดีที่ช่วยกระตุ้นหนุนเสริมพลังเชิงบวกให้นักศึกษา บวกกับประสบการณ์นอกห้องเรียน ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เผชิญปัญหา คิด ทำ ทบทวน ประเมิน และปรับปรุงตนเองจนรู้จริง คือสนามทดสอบย่อยๆ ที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้เห็นคุณค่าของตนเอง และเข้าใจเรื่องธุรกิจที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเมื่อจบการศึกษา

สร้างคุณค่าตน...จากการทำงาน

องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิตเน้นด้านทักษะในศตวรรษที่ 21 คือครูหรือโคชได้ช่วยให้ศิษย์เผชิญ คิด ทำ ทบทวน ประเมิน ปรับปรุงตนจนรู้จริง ที่ไม่ใช่รู้จำ ดังเช่น นักศึกษาสาขาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี ที่มีอาจารย์สำราญ พลอยประดับ ที่ปรึกษาโครงการ และทีมโคชโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกช่วยนักศึกษาให้นำความรู้จากห้องเรียนไปขยายผลสู่ชุมชน มีทักษะเรื่องการเป็นผู้ประกอบการ และทำให้สถาบันการศึกษากลายเป็นที่พึ่งของชุมชนได้อย่างแท้จริง

เรียนรู้จากไก่

การได้ทำงานคลุกคลีอยู่กับทีมโคชในโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกมาหลายปี ทำให้รู้ว่ากระบวนการเรียนรู้จากการทำโครงการจะช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารให้นักศึกษามีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถทำงานร่วมกับคนอื่น และเห็นคุณค่าของการทำงานเพื่อสังคม อาจารย์สำราญจึงชักชวนให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการนี้ทุกปี เพราะรู้ดีว่าบทสรุปการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่การเรียนเพื่อทำคะแนนให้ได้เกรดสูงหรือได้เกียรตินิยมอันดับต้นๆ เท่านั้น แต่การเรียนรู้ระหว่างทางต่างหากที่เป็นทุนให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตในสังคมต่อไปได้ ทีมเสรีไก่ขาว มีสมาชิกจำนวน 5 คน ประกอบด้วย ธร-คณินทรา พัฒนามาศ เปีย-ธิดาพร ต๊ะวิชัย มอส-ธีรศักดิ์ คำชู ขนุน-อภิวัลย์ จูจ้อย และวิน (ไม่มีนามสกุล) ที่เห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่ปีที่แล้ว จึงรวมทีมระดมความคิดหาโจทย์โครงการ เห็นว่าทุกคนมีความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่แบบปลอดยาปฏิชีวนะ น่าจะนำมาใช้เป็นฐานในการทำโครงการโก่ปลอดยาปฏิชีวนะเพื่อผู้บริโภค เนื่องจากในปัจจุบันการเลี้ยงไก่ส่วนใหญ่ใช้ยาปฏิชีวนะ ทำให้มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยนำถ่านไบโอชาร์มาผสมกับน้ำสัมควันไม้และอาหารไก่เพื่อให้ได้สูตรอาหารไก่ที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค

กระบวนการเรียนรู้ของทีมเริ่มต้นด้วยการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ ในชุมชนหนองหญ้าปล้อง อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี อาทิ ข้อมูลวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาชีพ และการเลี้ยงไก่พันธุ์ต่างๆ โดยเบื้องต้นพบว่า มีเกษตรกรที่เลี้ยงไก่เนื้อ และไก่พื้นเมืองเพิ่มขึ้นจากในอดีต ตั้งแต่การเลี้ยงในระดับครัวเรือนไปถึงการทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จำนวนกว่า 15 ฟาร์ม ซึ่งที่ผ่านมาการเลี้ยงไก่ของเกษตรกรจะใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้เนื้อไก่มีสารปนเปื้อนตกค้างที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้น ทีมงานได้ร่วมกันวางแผนการทำงานและแผนการตลาด เริ่มจากการทดลองเลี้ยงไก่เนื้อและไก่พื้นเมือง ตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบ โดยวันที่ 1-20 เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดตามปกติ วันที่ 21-35 ระยะที่ไก่เริ่มโตแบ่งไก่ออกเป็น 2 เล้า โดยเล้าที่ 1 เลี้ยงด้วยถ่านไบโอชาผสมน้ำส้มควันไม้และอาหารไก่ ส่วนเล้าที่ 2 เลี้ยงโดยอาหารปกติทั่วไป จนถึงวันที่ 36 จึงชำแหละขาย

สำหรับเหตุผลที่เลือกใช้ถ่านไบโอชาร์และน้ำส้มควันไม่มาไเป็นส่วนผสมอาหารไก่ เพราะคุณสมบัติเด่นๆ ของถ่านไบโอชาร์คือช่วยปรับปรุงคุณภาพของเนื้อไก่ ช่วยในกระบวนการจัดการของเสีย และดูดซับความชื้น ส่วนน้ำส้มควันไม้มีฤทธิ์เป็นกรดสามารถกำจัดกลิ่นเหม็นจากในเล้าและบำรุงสุขภาพไก่ได้ เมื่อครบระยะทดลองเลี้ยง ทีมงานชำแหละไก่เพื่อสังเกตสีและกลิ่นของทั้งสองเล้า พบว่า ไก่ที่กินอาหารที่ผสมถ่านไบโอชาร์และน้ำสัมควันไม้หนังจะมีสีเหลืองอ่อน เนื้อแน่น และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น รวมทั้งไม่ค่อยเป็นโรค ทำให้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างฟาร์มเลี้ยงทั่วไป ส่วนแผนการตลาดที่ทีมวางไว้คือ นำไก่ที่ชำแหละแล้วขายส่งให้กับอาจารย์ ร้านค้าทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในราคากิโลกรัมละ 80 บาท โดยหลังจบการทดลองเลี้ยงทั้งระบบ โดยทีมงานมีแผนจัดการคืนข้อมูลแก่เกษตรผู้เลี้ยงไก่เพื่อนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางในการเลี้ยงต่อไป

กล่าวได้ว่าโครงการนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทบทวนความรู้เรื่องการบริหารจัดการฟาร์มไก่ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงเรื่องการวางแผนการตลาด ที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดเป็นผู้ประกอบการได้หลังจบการศึกษา

กระบวนการฝึกตนเอง

การทำโครงการนอกจากจะทำให้ทีมงานได้ฝึกประสบการณ์จริงเรื่องการเลี้ยงไก่ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคแล้ว กระบวนการทำงานยังทำให้ทีมงานได้ฝึกทักษะหลายอย่าง โดยเฉพาะทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ การพูด การถาม การประสานงาน การวางแผน และที่สำคัญคือ ความรับผิดชอบ

ทีมงาน บอกว่า ทุกกระบวนการในโครงการคือการเรียนรู้ทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่เวทีนับ 1 ที่ทีมได้เรียนรู้เรื่องความเชื่อมโยงของระบบนิเวศของภูมิสังคมภาคตะวันตก การทำงานเป็นทีมผ่านกิจกรรมเดินเท้าชิด และเครื่องมือวิเคราะห์ชุมชน เวทีนับ 2 เรื่องการบริหารจัดการโครงการ เวทีนับ 3 เรื่องสิทธิความเป็นพลเมืองจิตอาสา เวทีนับ 4 เรื่องการคิดวิเคราะห์แผนการทำงาน ทักษะการสื่อสาร เวทีนับ 5 การมองโลกเชิงระบบ โดยทุกเวทีทีมโคชจะออกแบบให้ทุกคนได้ฝึกการคิดวิเคราะห์แผนการทำงาน การฟัง การถาม การพูด การเขียน และการทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะกระบวนการคิด และการเรียงลำดับความสำคัญที่ทีมสามารถนำมาปรับใช้ในห้องเรียนจนเข้าใจสิ่งที่อาจารย์สอนได้มากขึ้น ทำให้เกรดเฉลี่ยของพวกเขาดีขึ้นตามไปด้วย

“ขอบคุณโครงการที่ทำให้เราเป็นคนรู้จักคิดมากขึ้น ทำให้เราสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวหลายๆ อย่างให้เป็นชิ้นเป็นอัน เวลามีเวทีแต่ละครั้งเราต้องคิดตามตลอดเวลาว่าในสิ่งที่พี่ๆเค้าชวนคิดชวนคุยเป็นอย่างไร ต้องตอบอย่างไร เพราะโครงการเราจะยากขึ้นเรื่อยๆ เราต้องมีกระบวนการคิดเป็นลำดับเป็นขั้นเป็นตอน ต้องขอบคุณพี่ๆ โคชที่คอยดูแลและให้แนะนำต่างๆจนกระทั่งโครงการสำเร็จ” เปีย บอกความในใจ

ขณะที่การลงพื้นที่ชนก็ช่วยฝึกทักษะการสื่อสาร การประสานงาน การสัมภาษณ์ การทำงานกับคนที่หลากหลายวัย โดยก่อนลงพื้นที่ทีมจะต้องวางแผนการทำงานว่าใครจะทำอะไร เช่น ใครจะพูดก่อนพูดหลัง และพูดเรื่องอะไรบ้าง เมื่อทำงานก็จะมาพูดคุยเพื่อสรุปสิ่งที่ได้ทำ ข้อดี และข้อผิดพลาด เพื่อให้การทำงานครั้งต่อไปดียิ่งขึ้น

ส่วนการทำงานก็ได้ฝึกความอดทนและความรับผิดชอบ โดย ธร บอกว่า กรรมวิธีการเลี้ยงไม่ยากเพียงแต่ทุกคนในทีมต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย นั่นคือ การแบ่งเวรกันไปให้อาหารไก่ เช้าและเย็น เนื่องจากไก่จะตื่นเช้าและกินอาหารเป็นเวลา รวมทั้งการทำความสะอาดบริเวณเล้าไก่เพื่อลดกลิ่นเหม็นรบกวน

เช่นเดียวกับขนุน วิน และมอส ที่ยืนยันว่า โครงการนี้ทำให้พวกเขาเข้าใจถึงความเป็นเพื่อน เห็นถึงความสามารถของเพื่อนๆ แต่ละคนที่มีดีแตกต่างกันไป รวมทั้งขอบคุณอาจารย์สำราญที่แนะนำให้ทำโครงการนี้และอยู่เคียงข้างเสมอมา

จะเห็นได้ว่าทีมงานได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมจากการลงมือปฏิบัติจริง ทำให้ได้ประสบการณ์ตรง ได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้ฝึกความรับผิดชอบ ได้เผชิญทั้งความล้มเหลวและความยากลำบากในการทำงาน ได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง

ป๋าดัน...

“ป๋า”คือฉายาที่เด็กๆ เรียกอาจารย์สำราญด้วยความไว้วางใจ เมื่อเห็นว่านักศึกษาทำผิดก็ห้ามเตือน โดยไม่ถือเป็นความผิด เพราะเข้าใจวัยรุ่นดีว่า ต้องมีผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา

“เด็กของผมจะมีปัญหาเยอะมาก ทั้งก้าวร้าว ออกนอกลู่นอกทาง ผิดระเบียบ วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือ นักศึกษาคนไหนทำผิดมากๆ ก็จะดึงมาช่วยทำงาน อาทิ งานในโครงการนี้เป็นต้น เพราะนอกจากจะดึงเด็กให้ออกจากสิ่งเร้ารอบตัวแล้ว ยังฝึกประสบการณ์นอกห้องเรียน เป็นสนามทดสอบย่อยๆ ก่อนจบการศึกษา และยังช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ในห้องเรียนให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการคิด วิธีการทำงานกับเพื่อนกับชุมชน ทำให้เขาได้เรียนรู้และแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยมีผมและทีมโคชคอยหนุนเสริม

อาจารย์สำราญย้ำถึงบทบาทของตนว่า เน้นไปที่การพูดคุยทำความเข้าใจ และสนับสนุนการทำงานของนักศึกษาให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องภายใต้ความรับผิดชอบและการมีกฎกติการ่วมกัน

“บทบาทของผมบางทีก็เป็นครู บางครั้งก็เป็นเพื่อน ไปกันสนุกสนานเหมือนว่าเป็นเพื่อนกันชวนกันไปทำงาน ส่วนเรื่องความรับผิดชอบที่เด็กวัยนี้เป็นวัยเที่ยว เขายังมีหลงทางบ้าง แต่ในกระบวนการเลี้ยงไก่ต้องเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง เพราะไก่กินอาหาร 35 วัน หยุดให้อาหารไม่ได้ ไก่จะกินอาหารเป็นเวลาตามที่เราเซตไว้ เด็กต้องมีความรับผิดชอบสูง ถ้าใครมาไม่ได้ต้องให้คนอื่นในทีมมาดูแลแทน เพราะนี่คือการทดลอง ถ้าไม่ให้ผลการทดลองจะคลาดเคลื่อน ไก่ไม่โตจะมีปัญหาตามมา ผมว่าการสอนเด็กนั้น หากให้เขาคิด เขาคิดได้ ให้ทำเขาทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาการทำงานร่วมกันด้วย”

แม้ภาพรวมของการทำโครงการในวันนี้ ยังไม่ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรมากนัก แต่สิ่งสำคัญที่ทีมงานสะท้อนออกมากลับมีคุณค่าต่อพวกเขาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประสบการณ์นอกห้องเรียนที่สอนให้พวกเขาเรียนรู้และเข้าใจเรื่องธุรกิจที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเมื่อจบการศึกษา


โครงการไก่ปลอดยาปฏิชีวนะเพื่อผู้บริโภค

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • สำราญ พลอยประดับ

ทีมงาน :

  • คณินทรา พัฒนามาศ 
  • ธิดาพร ต๊ะวิชัย
  • ธีรศักดิ์ คำชู 
  • วิน (ไม่มีนามสกุล)
  • อภิวัลย์ จูจ้อย