การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อลดปัญหาการทิ้งซากจักรยาน โดยการเป็นสื่อกลางส่งต่อจักรยานจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องใน ม.ศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ปี 3

กุญแจสำคัญของการสร้าง “ทักษะชีวิตและการทำงาน” อันเป็นทักษะย่อยหนึ่งของทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่มีความจำเป็นสำหรับคนทำงานในสังคมข้างหน้า ซึ่งประกอบด้วย วามรับผิดชอบ ความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การกล้าแสดงความคิดเห็น และความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น คือ “การมีพื้นที่” ให้เด็กเยาวชนได้แสดงความแตกต่างในสิ่งที่ถนัด สิ่งที่เป็น และ “ให้โอกาส” ได้ลองทำสิ่งที่ไม่กล้า ไม่ถนัดไปพร้อมกัน

เรียนรู้ทักษะชีวิตผ่าน Active learning

สังคมยุคปัจจุบันได้กลายเป็นสังคมแห่ง Technology และ Innovation อย่างเต็มตัว เพราะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของคนทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่เด็กเยาวชน ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ความเปลี่ยนแปลงรอบตัวมากกว่าที่เคยเป็นมา

สิ่งหนึ่งที่จะมาช่วยให้เด็กเยาวชนรับมือความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วได้ดีขึ้นคือการพัฒนา 21st Century Skills หรือทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กเยาวชนยืนหยัดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้ หนึ่งในทักษะย่อยที่น่าสนใจคือ “ทักษะชีวิตและการทำงาน” ซึ่งจะทำให้คนรุ่นใหม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง รู้จักยืดหยุ่นและปรับตัวเพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าในการทำงาน วางแผนเป็น ที่สำคัญคือสามารถทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่หลากหลาย อันจะทำให้เกิดการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ที่น่าจะสร้างประโยชน์ต่อรวมได้

นักศึกษากลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ประกอบด้วย ออมสิน-อภิชญา บุญค้ำชู เจน-รุ่งวิไล ชื่นสกุล และ น้ำ-สุภาวรรณ ลิ้มวิไลกุล ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะดังกล่าวผ่านการทำโครงการดอยจั๊กมาปั่นฟรี ที่ต้องการลดปริมาณซากจักรยาน ด้วยการเป็นสื่อกลางให้รุ่นพี่ที่กำลังจะจบการศึกษาส่งต่อจักรยานแก่รุ่นน้องแทนที่จะนำไปกองทิ้งไว้จนกลายเป็นขยะ ทำให้พวกเธอได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองผ่านกระบวนการ Active Learning ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พวกเธอได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

เพราะไม่อาจนิ่งดูดายต่อปัญหา

มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี มีนโยบายเป็น Green Campus ที่ห้ามนักศึกษาขับขี่รถจักรยานยนต์ก่อนเวลา 16.00 น. เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น นอกจากรถราง และรถยนต์แล้ว นักศึกษาส่วนใหญ่จำต้องพึ่งพา “จักรยาน” หรือ “จั๊ก” คำสั้นๆ ที่นักศึกษานิยมเรียก เป็นพาหนะสำคัญในการเดินทาง แต่จักรยานจำนวนมากก็กลายเป็นปัญหาให้มหาวิทยาลัยหลังนักศึกษาเรียนจบแล้วต้องย้ายออกจากหอพัก และทิ้งจักรยานไว้ตามจุดต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยจนกลายเป็นภูเขาซากจักรยาน

“ตอนนั้นพี่ๆ ตั้งคำถามว่าอยากแก้ปัญหาอะไรมากที่สุดในมหาวิทยาลัย ทุกคนคิดเหมือนกันว่าเรื่องจักรยาน เพราะทุกคนที่นี่มีจักรยานเป็นพาหนะหลักในชีวิต แต่ปัญหาคือพอไม่ใช้แล้วก็ทิ้งๆๆ คนในมหาวิทยาลัยก็พูดกันว่าอยากให้นำจักรยานเหล่านี้ไปทำอะไรที่จะมีประโยชน์ขึ้นมา แต่ไม่เคยทำสำเร็จสักรุ่น เราจึงอยากลองแก้ปัญหานี้ดู เผื่อจะสำเร็จ”

ทีมงานเริ่มต้นเล่าถึงที่มาที่ไปของโจทย์ที่พวกเธอเลือก แต่ก่อนที่โครงการจะเริ่มก็ต้องเจอกับจุดสะดุด เมื่อสมาชิกชุดเดิมถอนตัวออกหมดจนเหลือออมสินแค่คนเดียว เธอเล่าว่า

“ตอนแรกในกลุ่มมี 5 คน แต่พอโครงการอนุมัติ เพื่อนคนอื่นกลับถอนตัวหมด อาจเพราะเราเพิ่งเจอกันตอนเรียนซัมเมอร์ จึงยังไม่สนิทกันมากนัก พอมีงานเยอะเขาเลยตัดสินใจออกอย่างง่ายดาย”

ส่วนที่ออมสินให้เหตุผลว่าที่เธอไม่ถอนตัว เพราะไม่อยากทิ้งโครงการที่เธอมีส่วนทำให้เกิดขึ้น แต่เนื่องจากการทำโครงการนี้มีเงื่อนไขให้ต้องมีทีมทำงาน และด้วยขนาดของโครงการที่ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ออมสินจึงไปชักชวนเจนและน้ำ เข้ามาร่วมทีมด้วย

การยืนหยัดรับผิดชอบต่อหน้าที่และพยายามแก้ไขสถานการณ์ให้ผ่านไปของออมสิน แสดงถึง “สำนึกความรับผิดชอบ” และ “ทักษะความยืดหยุ่น” ที่แม้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แต่ก็เป็นปัจจัยเงื่อนไขที่ดีที่ทำให้เธอได้พยายามหาทางออก เพื่อให้โครงการไปต่อได้

เจน อธิบายเหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมว่า เธอเห็นว่าเป็นไอเดียที่ดี น่าทำ แต่เธอไม่รู้จะทำอย่างไร เมื่อเพื่อนมาชวนและเห็นความมุ่งมั่นของออมสิน จึงตัดสินใจทำเผื่อจะสำเร็จ และอยากช่วยเพื่อนด้วย

หลังได้สมาชิกเพิ่ม ทีมงานจึงลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ซากจักรยานภายในมหาวิทยาลัยเป็นลำดับแรก พบว่า มีจักรยานจำนวนมากกว่า 200 คัน บางส่วนถูกนำมากองรวมกัน บางส่วนยังอยู่ในที่จอด แต่สภาพทรุดโทรมและจอดอยู่ในจุดเดิมตลอด จนพอมองออกว่าน่าจะถูกทิ้งแล้ว

วิธีแก้ปัญหาที่ทีมงานเลือกคือ การส่งต่อจักรยานจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เพราะพวกเธอมองว่าลึกๆ แล้วนักศึกษาส่วนใหญ่น่าจะแอบเสียดายที่ต้องทิ้งจักรยานที่ตัวเองใช้มาถึง 4 ปี จนเปรียบเสมือนเพื่อน แต่จำเป็นต้องทิ้งไว้ เนื่องจากเป็นสัมภาระชิ้นใหญ่ ยากจะขนกลับ หากมีโครงการส่งต่อ ทุกคนก็น่าจะอยากเข้ามาส่งต่อจักรยานของตัวเอง

กระบวนการทำงานทั้งหมดของทีมงานจึงเน้นที่ การประชาสัมพันธ์ถ่ายทำหนังสั้นและทำโปสเตอร์ ให้โครงการดอยจั๊กมาปั่นฟรีเป็นที่รู้จักภายในมหาวิทยาลัย เพื่อเชิญชวนนักศึกษามาเข้าร่วมโครงการ จากนั้นจะทำ Line Official ของโครงการ เพื่อเป็นสื่อกลางให้พี่ที่อยากส่งต่อจักรยาน และน้องที่อยากรับจักรยานต่อแสดงความจำนงเข้ามาในโครงการ โดยมีทีมงานเป็นผู้ประสานงานให้ทั้งสองฝ่ายได้มาพูดคุยกันก่อนส่งมอบจักรยาน เพื่อให้เจ้าของจักรยานได้ดูท่าทีคนที่จะมารับต่อว่าจะสามารถดูแลจักรยานที่เปรียบเสมือนเพื่อนคนหนึ่งนี้ได้ดีไหม หากเจ้าของจักรยานตกลงก็สามารถฝากฝังจักรยานให้เจ้าของใหม่ดูแล

ประสานพลังจากคนที่หลากหลาย

ทีมงานที่มีกันอยู่เพียง 3 คนได้ช่วยกันคิดและเขียนบทหนังสั้นจนเสร็จสมบูรณ์ กระทั่งเข้าสู่ขั้นตอนการถ่ายทำ จึงไปประสานขอความช่วยเหลือจากรุ่นพี่ รุ่นน้องมาช่วยแสดง ถ่ายทำ และตัดต่อ แต่ก่อนถ่ายทำจริง ทีมงานก็ทำการบ้านกันล่วงหน้าด้วยการเปิดดูมิวสิควิดีโอและคลิปต่างๆ เพื่อวางมุมกล้องในฉากต่างๆ

เมื่อวันถ่ายทำมาถึง ทีมงานก็ต้องเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่าง คนที่เดินผ่านไปมา และเสียงรบกวน นอกจากนั้นยังมีเรื่องเวลาเข้าเรียนของนักแสดงแต่ละคนที่บางคนอยู่ฉากเดียวกัน แต่เรียนคนละเวลา ต้องรอให้ว่างพร้อมกัน ทีมงานจึงต้องบริหารจัดการทั้งนักแสดงและสถานที่ ทำให้หลายฉากถูกตัดออกไป

หลังใช้เวลาถ่ายทำอยู่ 2 วัน หนังสั้นของพวกเธอจึงพร้อมเข้าสู่กระบวนการตัดต่อ ซึ่งต้องยืมมือรุ่นพี่คนเดิมที่ช่วยถ่ายทำมาช่วยตัดต่อที่พวกเธอไม่ชำนาญ การถ่ายทำหนังสั้นนี้จึงกลายมาเป็นสิ่งสะท้อน ทักษะการประสานความร่วมมือของทีมงาน ที่สามารถประสานงานคนหลายกลุ่มเข้ามาร่วมทำงาน และบริหารจัดการจนงานบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนที่ต้องทำงานในสิ่งที่ไม่ถนัดว่า ไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกอย่าง แต่ต้องรู้ว่าจะดึงใครเข้ามาช่วยทำให้งานสำเร็จลุล่วง

ระหว่างที่ประชาสัมพันธ์โครงการภายในมหาวิทยาลัย ทีมงานยังได้วางแผนเตรียมหารุ่นน้องเข้ามารับช่วงต่อ เพื่อให้โครงการเดินต่อไปได้ หลังจากพวกเธอจบการศึกษาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

นอกจากเรียนรู้การทำงานกับคนนอกที่หลากหลายแล้ว ทีมงานยังต้องเรียนรู้ความแตกต่างของนิสัยเพื่อนร่วมทีม ซึ่งเป็นปัญหาที่มักเกิดกับการทำงานเป็นทีมนั่นคือ “ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน”

เวลาเถียงกัน พวกเธอจะถกเถียงจนกว่าจะได้ข้อสรุป เหมือนลงสนามรบแล้วต้องรบจนกว่าสงครามจะสิ้นสุด แต่ต้องรบให้เร็วที่สุด สรุปจบให้ไว เพื่อให้งานเดินต่อได้ และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็คือจบ เป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม ไม่เก็บไปคิดต่อ และไม่กลับมาเถียงกันเรื่องเดิมอีก

ออมสิน บอกว่า นิสัยของเธอกับน้ำค่อนข้างคล้ายกัน ทำให้เวลาคุยงานจึงมีเรื่องขัดกันตลอด โดยมีเจนรับบทคนกลาง ที่คอยรับฟัง และประสานความคิดเห็นของเพื่อนเข้าด้วยกัน

แต่แม้จะจริงจังกับการแสดงความคิดเห็นในการทำงานกันแค่ไหน พวกเธอก็ยังแคร์ความรู้สึกของกันและกัน อย่างออมสินก็จะคอยจับสังเกตอาการความรู้สึกของเจน เพราะเธอรู้ว่าถึงเพื่อนจะเป็นคนประนีประนอมในกลุ่ม แต่คงมีบางช่วงเวลาที่เจนจะรู้สึกไม่สบายใจ

การคอยสังเกตกันนี่เองที่ทำให้พวกเธอค้นพบข้อดีของกันและกัน ออมสินบอกว่า เจนเป็นคนที่เอาใจใส่เพื่อนและผู้ร่วมงานดีมาก คอยหาข้าว หาน้ำให้กินตลอด ด้านเจนก็สะท้อนว่า ได้เห็นออสินในมุมที่เอาจริงเอาจังกับการทำโครงการอย่างที่เธอไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนน้ำเป็นคนที่มีความละเอียดสูง คิดเป็นขั้นตอน ซึ่งมาช่วยอุดรอยรั่วความไม่สมบูรณ์ของเธอ

คำสะท้อนจากเพื่อนช่วยเติมเต็มกำลังใจให้พวกเธอแต่ละคนมองเห็นข้อดีในตัวเองชัดขึ้น และเป็นบทเรียนที่สามสาวเห็นพ้องกันว่า การร่วมทีมกับคนที่แตกต่างช่วยเติมเต็มให้การทำงานออกมาสมบูรณ์มากขึ้น

เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

การเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ภายใต้โครงการดอยจั๊กมาปั่นฟรีของสามสาว อาจไม่ใช่กิจกรรมนอกห้องเรียนกิจกรรมแรกที่พวกเธอทำ แต่เป็นกิจกรรมแรกที่พวกเธอรู้สึกแตกต่าง เพราะเข้าใจความหมายของสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเรียนรู้

ออมสิน เล่าว่า เธอเคยทำกิจกรรมสมัยเรียนปี 1 แต่รู้สึกไม่มีความสุขจึงเลิกทำ แล้วใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับการเรียน ดูซีรี่ย์ เล่นเกม แล้วนอน

ขณะที่เจน บอกว่า เธอเคยมีประสบการณ์การทำงานฝ่ายพยาบาลในกิจกรรมรับน้อง แล้วต้องตื่นแต่เช้ามาวิ่งออกกำลังกาย ซึ่งเธอไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำ จึงหันไปทำกิจกรรมแนวศิลปะ เช่น ช่วยเพื่อนทาสีป้าย กระทั่งเริ่มโตขึ้นถึงเข้าใจว่าที่ฝ่ายพยาบาลต้องวิ่งก็เพื่อให้แข็งแรงพอจะเดินตามน้องในกิจกรรมรับน้องและอุ้มน้องที่เป็นลมได้

พวกเธอ บอกว่า ตอนแรกที่ต้องมาทำกิจกรรมเล่นเกม และกิจกรรมสันทนาการในเวทีกิจกรรมนับ 4 ของโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่าจะทำไปทำไม ออมสินยอมรับว่าแอบบ่นในใจด้วยซ้ำว่าทำให้มีเวลาเล่นเกมน้อยลง แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ แล้วได้เห็นน้องตัวเล็กๆ มีความสุข แววตาเป็นประกายเวลาเล่าถึงโครงการ ทำให้พวกเธอเข้าใจว่า แท้จริงแล้วผลตอบแทนของการทำโครงการนี้คือความสุขที่ได้ทำอะไรสักอย่าง เพื่อใครสักคนนั่นเอง

เมื่อประตูใจเริ่มเปิดจากการสัมผัสถึงมวลความสุขรอบตัว ทีมงานจึงค่อยๆ ค้นพบ ความหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้แบบ Active learning

“เราไม่เคยเข้าใจเลยว่าการเรียนรู้แบบไม่มีกรอบเป็นอย่างไร ทั้งที่ทำกิจกรรมแบบนี้ (Active learning) มาหลายรอบ เล่นเกมการเรียนรู้มาก็เยอะแล้ว เคยไปช่วยคนอื่นคิดกิจกรรมด้วย จนมาทำกิจกรรมกับที่นี่ (โครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ) เราถึงเข้าใจจริงๆ ว่าทุกอย่างคือการเรียน ทุกที่คือห้องเรียน จากการที่พี่ๆ ตั้งคำถามว่าเราได้เรียนรู้อะไร” เจน เล่า

คำถามที่ทีมงานพูดถึงคือ คำถามสำหรับการ “ถอดบทเรียน” เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้สะท้อนคิดว่า ทำแล้วได้เรียนรู้อะไร เกิดประโยชน์อย่างไร และช่วยขมวดให้กลายเป็นบทเรียนที่สามารถนำไปใช้ได้ ทีมงานบอกว่าแม้ครั้งแรกๆ ยังคิดไม่ออก แต่เมื่อได้ฟังเพื่อนคนอื่นแลกเปลี่ยนแล้วคิดตามก็พบว่าตัวเองได้เรียนรู้เหมือนกันกับเพื่อน จึงค่อยๆ เปิดใจมองหาการเรียนรู้ของตัวเอง จนพูดออกมาได้มากขึ้น

การได้พูดสิ่งที่เรียนรู้ในเวทีนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นให้ทีมงานปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการทำงานร่วมกับผู้อื่นของทีมงานไปอย่างสิ้นเชิง

เจน เล่าว่า เธอเคยทำโครงการระยะยาวกับเพื่อนกลุ่มอื่นครั้งหนึ่ง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะเธอเป็นคนเงียบๆ เพื่อนคิดว่าเธอคงไม่มีความเห็นอะไร จึงไม่ได้ถามความเห็นของเธอ จนเธอรู้สึกน้อยใจ เมื่อมาทำโครงการนี้ และได้เข้าร่วมเวทีกิจกรรมนับ 4 จึงทำให้รู้สึกว่า สิ่งที่เธอพูดมีคนฟัง และเปลี่ยนมุมมองว่า สิ่งแรกที่สำคัญในการทำงานกับคนอื่นคือขอแค่พูดออกมา เธอจึงปรับตัวใหม่ด้วยการพยายามแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

ด้านออมสิน บอกว่า จริงๆ แล้วเธอเป็นคนพูดเก่ง แต่เมื่ออยู่ในห้องเรียนกลับเลือกที่จะไม่พูด เพราะรู้สึกว่าพูดไปก็ไม่มีใครฟัง กระทั่งกิจกรรมเวทีนับ 4 ที่ต้องทำกิจกรรมที่มีการพูดคุยกับเพื่อนโครงการอื่น จนต้องพยายามที่จะปรับตัวเองให้พูดช้าลง หาถ้อยคำที่จะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจ กระทั่งพบว่าตัวเองเปิดใจจะคุยกับคนอื่นมากขึ้น เธอจึงเปลี่ยนมุมมองต่อการพูดกับคนไม่คุ้นเคย และการพูดในที่สาธารณะไปในทางที่ดีขึ้น นอกจากการพูดกับเพื่อนๆ ในโครงการแล้ว ออมสินยังปรับเปลี่ยนตัวเองในห้องเรียนจากที่เคยเป็นคนอะไรก็ได้ กลายเป็นคนแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงต่อมาคือ การปรับเปลี่ยนความคิดในการทำงานกับคนต่างวัย เนื่องจากเด็กเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ จะมีตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมต้นจนถึงอุดมศึกษา ออมสินและเจนที่เป็นหนึ่งในทีมพี่ใหญ่ จึงได้รู้จักการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่น้อง และช่วยแลกเปลี่ยนความรู้ให้น้องได้เรียนรู้ในฐานะที่พวกเธอมีประสบการณ์มากกว่า

อีกความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือ การที่พวกเธอสามารถจัดระบบความคิดของตัวเองได้ดีขึ้น และกล้าลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่คิดมาตลอดแต่ไม่เคยกล้าทำ เพราะกลัวว่าทำแล้วจะไม่สำเร็จ

“อยากทำลูกตาลกับผ้ามัดย้อมขายมานานแล้ว วันนั้นอยู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาโทรสั่งลูกตาล สั่งทำแพ็กเกจ โทรหาแม่ให้ไปรับของแล้วฝากวางที่ร้านค้า พอกลับไปบ้านก็ทำผ้ามัดย้อม จัดแจงซื้อผ้ามาตัด ตั้งหม้อต้ม แล้วลองย้อม รู้สึกว่าตัวเองกล้าขึ้นมากๆ”

การก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) ไปยืนอยู่บนขอบของความไม่รู้ หรือสิ่งที่ไม่คุ้นเคย อาจเป็นทำให้บุคคลรู้สึกหวาดกลัว แต่หากเขาตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคยก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นทันที แล้วถ้าได้มีโอกาสเรียนรู้ซ้ำก็จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ดังเช่นทีมงานที่ไม่ชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ไม่ชอบคุย ไม่ชอบแสดงความคิดเห็น แต่กลับได้มาเรียนรู้จนเปลี่ยนแปลงตัวเองทั้งความคิด ทักษะ และนิสัย ผ่านการทำโครงการนั่นเอง

“ตั้งแต่วันที่เราตัดสินใจเลือกทำโครงการนี้ก็เหมือนก้าวข้าม Safe Zone ของตัวเองไปขั้นหนึ่งแล้ว”ทีมงานกล่าว

ทักษะที่เกิดขึ้นกับทีมงานไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบ ความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การกล้าแสดงความคิดเห็น และความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ล้วนเป็นทักษะจำเป็นสำหรับคนทำงานในสังคมข้างหน้า ซึ่งกุญแจสำคัญของการสร้างทักษะดังกล่าวคือ “การมีพื้นที่” ให้พวกเธอได้แสดงความแตกต่างในสิ่งที่ถนัด สิ่งที่เป็น และ “ให้โอกาส” ได้ลองทำสิ่งที่ไม่กล้า ไม่ถนัดไปพร้อมกัน

เพราะกระบวนการเติบโตของมนุษย์ต้องการกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดกว้างและหลากหลายให้เด็กเยาวชนแต่ละคนได้มีโอกาสเลือกหาสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง อันจะนำไปสู่วิถีทางเติบโตที่ประกอบจากทักษะที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นทุกวัน


โครงการดอยจั๊กมาปั่นฟรี

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • กันทากร จรัสมาธุสร

ทีมงาน :

  • อภิชญา บุญค้ำชู 
  • รุ่งวิไล ชื่นสกุล
  • สุภาวรรณ ลิ้ววิไลกุล