การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสร้างความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนด้วยการจัดระบบการสัญจรภายในมหาวิทยาลัย

วิถีวัยรุ่นที่มีโลกส่วนตัวสูง เหวี่ยง วีน ไม่สน ไม่แคร์สิ่งใด แก้ได้ด้วยการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลงมือทำงานเพื่อสังคม ร่วมเผชิญปัญหา และค้นพบทางออกด้วยตัวเอง จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรม ที่จะเป็นต้นทุนชีวิตที่ดีของพวกเขาต่อไปในอนาค

มากกว่าพอร์ตคือประสบการณ์

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการได้เกรด A ในวิชาการสื่อสารและการตลาดเพื่อการจัดการ อะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้สาวๆ ทั้ง 5 คนคือ แองจี้-เพียงอัมพร เลิศเผ่าปัญญา ฟ้า-กมลักษณ์ สาระชาติ ฮอลล์-เบญจมาศ สะอาดเอี่ยม อุ้ม-ศิริลักษณ์ กาหลง โย-ญาตาวี พวงดอกไม้ ยังคงมุ่งมั่นทำโครงการขับขี่ปลอดภัยใส่ใจชาวศิลปากรต่อ แม้จะได้เกรด A มาแล้ว ก็ไม่ยอมเทโครงการทิ้งเหมือนเพื่อนคนอื่น ทั้งๆ ที่แต่ละคนมีภาระการเรียนให้รับผิดชอบมากมาย

คำตอบที่ได้รับมีหลากหลาย บางคนบอกว่า อยากได้พอร์ตโฟลิโอไว้ใช้สมัครงาน ขณะที่บางคนบอกว่า รับงานมาแล้วก็ต้องทำให้เสร็จ บางคนบอกว่า เป็นเพราะเพื่อน อยากรักษาความเป็นเพื่อนที่ดีไว้ แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม การทำโครงการนี้ก็สร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดีให้กับพวกเธอไม่น้อย...

เปิดโลกใบใหม่ที่ไกลกว่าห้องเรียน

กระบวนการทำงานของพวกเธอเริ่มต้นจากการค้นหา “ทีม” ดึงเพื่อนที่รู้จักกันมาก่อน เพื่อให้ทุกคนมีเวลาว่างตรงกัน และสื่อสารกันได้เข้าใจ โดยแองจี้ ฟ้า ฮอลล์ อุ้ม เรียนสาขาการตลาด ส่วนโยชิเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ ในช่วงนำเสนอโจทย์โครงการที่ทีมต้องพบกับพี่ๆ ทีมโคชเป็นครั้งแรก ทีมงานแสดงความใส่ใจด้วยการชวนเพื่อนทั้งทีมเข้าร่วมเวที เตรียมความพร้อมของทีมด้วยการศึกษาข้อมูลการทำงานของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า หากพี่โคชมีคำถาม ใครตอบได้ก็ตอบไปเลย

ทีมงาน เล่าว่า ตอนนั้นรู้สึกกดดันมาก เพราะเพื่อนทีมก่อนหน้านี้ตอบคำถามไม่ได้ พอทีมเราตอบได้ ก็รู้สึกโล่งใจ ตอนเรียนยังไม่กดดันขนาดนี้ เพราะในห้องเรียนเรารู้จักอาจารย์อยู่แล้ว แต่นี่เราไม่รู้จักใครเลย จึงค่อนข้างกดดัน พอโครงการผ่านก็มาคุยกันว่า จะทำไหม ทุกคนลงความเห็นตรงกันว่า “ทำ” โดยมีเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ คือ เกรดและพอร์ตโฟลิโอ ที่จะเป็นใบเบิกทางสำหรับการทำงานในอนาคต

“จริงๆ แล้วหนูเป็นเด็กกิจกรรม มีพอร์ทเยอะอยู่แล้ว แต่เพราะรู้ว่าทุกกิจกรรมให้ประสบการณ์ต่างกัน การได้พบเจอคนใหม่ๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้ ทำให้ความคิดหนูเติบโต หนูเรียนไม่เก่ง แต่หนูมักได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าเสนอ ซึ่งน่าจะมาจากการพูดที่มีหลักการ สามารถสื่อสารกับเพื่อนได้ดี มีไอเดีย ใส่ใจและแคร์ความรู้สึกเพื่อน ซึ่งการที่เธอสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ เมื่อเรียนจบโอกาสในการทำงานน่าจะมีสูงกว่าคนอื่น” แองจี้ เล่า

­

เรียนรู้การจัดงานและเวลา

จักรยาน หมา และถนนหลังมอ คือ 3 ปัญหาใหญ่ของมหาวิทยาลัยที่ทีมงานค้นพบ เรื่องถนนหลังมอมีเพื่อนทีมอื่นทำไปแล้ว เหลือ 2 เรื่องจึงใช้วิธีโหวตลงคะแนนจนได้ข้อสรุปว่าจะทำเรื่องจักรยาน เนื่องจากในมหาวิทยาลัยมีนักศึกษากว่า 5,000 คน และส่วนใหญ่นิยมใช้จักรยานเป็นพาหนะ โดยนำคำว่า “จุดเสี่ยง” และ “จุดเสียว” ที่พี่ทีมโคชตั้งคำถามมาใช้เป็นจุดขาย ในการรณรงค์ให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของการขับขี่ปลอดภัย รวมถึงความรู้เกี่ยวกับป้ายสัญญาณจราจร และจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ควรระวังแผนการทำงานเริ่มจากการแบ่งบทบาทหน้าที่การทำงาน ฮอลล์กบจี้ที่เรียนตรงกันรับผิดชอบจุดเสี่ยง บริเวณลานจันทร์กับหอพัก ส่วนฟ้า โย อุ้ม รับผิดชอบบริเวณอาคารเรียน โดยแต่ละทีมต้องจัดเวลาไปนับจำนวนจักรยานที่ขับผิด ขับถูก และถ่ายรูปไว้ใช้สำหรับการรณรงค์ จำนวน 7 วัน นำข้อมูลที่ได้มาจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เรื่องการขับขี่ปลอดภัยในงานของมหาวิทยาลัย แต่เตรียมการไม่ทัน จึงต้องเปลี่ยนแผนใหม่จัดทำเป็นสื่อวิดีโอเผยแพร่ความรู้แทนข้อมูลที่ทีมออกแบบให้ทุกคนเก็บตอนลงพื้นที่ คือ สถิติรถจักรยานยนต์ รถยนต์ที่สัญจรผ่านไปมาในแต่ละวันมีจำนวนเท่าไร ขับขี่ถูกหรือผิดกฎหมายเท่าไร โดยนำตารางเรียนของทั้ง 5 คนมากาง เพื่อจัดคนลงเก็บข้อมูล ทั้งก่อนเริ่มเรียนในช่วงเช้า ระหว่างเรียน และหลังเลิกเรียน ใครว่างช่วงไหนก็ไปช่วงนั้น การเก็บข้อมูลจะไปเป็นคู่ คนหนึ่งบอก อีกคนจด ใช้วิธีขีดถูกผิด เช่น เลนจักรยานขับถูกเท่าไร-ผิดเท่าไร รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ขับผิดเลนกี่คัน แต่ด้วยภาระงานของโครงการและการเขียนแผนการตลาดที่มีกำหนดส่งไล่เลี่ยกัน ทีมงานที่ยังบริหารจัดการเวลาไม่เป็น จึงต้องวิ่งรอกไปมาระหว่างสองงาน จนเกิดปัญหากับเพื่อนร่วมทีมและเพื่อนร่วมชั้นเรียน ความกังวล ความเครียดเริ่มมาเยือน โดยเฉพาะแองจี้ที่เป็นหัวหน้าทีมถึงกับอยากเลิกทำ เพราะเห็นความไม่พร้อมของเพื่อนร่วมทีม รวมถึงการโดนเพื่อนต่อว่าว่าไม่แบ่งงานให้เพื่อน

“หยุดหรือไปต่อ” คือความคิดของทีมในขณะนั้น รวมถึงคำถามที่ว่า “ทำไมพวกเราต้องมาทำอะไรอย่างนี้ด้วย” แต่พอคิดว่า ไหนๆ ก็ทำมาแล้ว และคนที่ได้ประโยชน์ก็คือพวกเธอ ทุกคนจึงตัดสินใจเดินหน้าต่อ โดยฮอลล์ บอกว่า ตอนนั้นเธอไม่ได้คิดถึงเรื่องพอร์ทเลย คิดแค่ว่าทำอย่างไรเราจะผ่านจุดนี้ไปได้ บอกตัวเองทุกวันว่า เวลาพักผ่อนยังมีอีกเยอะ แต่เวลาทำคลิปวิดีโอเหลืออีกไม่กี่วันแล้ว ต้องพยายามให้เต็มที่แองจี้ เสริมว่า ตอนนั้นสิ่งที่เธอคิดคือ อีกนิดนึงก็จะเสร็จแล้ว เราลงเรือลำเดียวกันแล้ว ก็ต้องไปด้วยกัน เหนื่อยก็เหนื่อยด้วยกัน และความเหนื่อยนี้เองที่กลายเป็นพลังบวกให้ทีมงานหันมาให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคจนทำโครงการสำเร็จโยชิ บอกว่า เห็นแองจี้เหนื่อย สิ่งที่เธอทำได้ตอนนั้นคือ เข้าไปคุยให้กำลังใจ บอกเขาว่าพักให้หายเหนื่อยก่อนแล้วค่อยมาทำต่อ อุ้ม เสริมว่า ช่วงนั้นอารมณ์เพื่อนๆ เหวี่ยงมาก แต่ทุกคนยังมุ่งมั่นทำโครงการอย่างตั้งใจ ซึ่งความตั้งใจนี้

เองที่กระตุ้นให้เธอเข้ามาช่วยเพื่อนทำงานมากขึ้น ด้วยเวลาการทำงานที่กระชั้นชิดเข้ามา ทีมงานจัดระบบการทำงานใหม่ ใช้เวลากลางวันทำงานโครงการ นำตารางเรียนของทีมมากางแบ่งเวลาเป็นรายชั่วโมงว่า ใครต้องไปเก็บข้อมูลจุดไหน เวลาอะไร ส่วนตอนเย็นก็จัดประชุมสรุปข้อมูล ช่วงค่ำหลังจากนั้นจึงเป็นเวลาทำแผนการตลาด

“พวกเรารู้ว่าวิธีนี้ไม่ใช่วิธีทำงานที่ดีสุด แต่พวกเราก็พยายามรับผิดชอบอย่างเต็มที่ หากใครมีเรียนบ่าย ช่วงเช้าต้องออกมาเก็บข้อมูลการสัญจรส่งให้เพื่อนแล้วจึงเข้าเรียน ส่วนเพื่อนที่เรียนเช้า ช่วงบ่ายหรือเย็นก็ต้องมาเก็บข้อมูล หากไม่ทำเช่นนี้พวกเราจะไม่มีข้อมูลและภาพมาใช้ทำวิดีโอรณรงค์การขับขี่ปลอดภัย” อุ้ง กล่าว

สาวๆ ทั้ง 5 ต้องก้าวข้ามความอายไปยืนเก็บข้อมูล โดยข้อมูลที่เก็บได้พบว่า การขี่ย้อนศรมีมากสุด รองลงมาคือขับเข้าไปในเลนรถยนต์ และมีจุดเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตราย 2 จุด คือ ในบริเวณลานจันทร์และคณะสัตวศาสตร์ ที่ป้ายสัญลักษณ์จราจรเลือนหายไม่ชัดเจน ทำให้นักศึกษาไม่ค่อยระวังตัว

ส่วนการถ่ายวิดีโอทีมงานต้องถ่ายใหม่หลายครั้ง เนื่องจากใช้กล้องคนละตัว ขนาดไฟล์ภาพ สี และความคมชัดต่างกันมากจนไม่สามารถใช้ตัดต่อได้ ยิ่งใกล้วันนำเสนอวิดีโอในเวทีนับ 4 ทีมงานไม่มีความพร้อม ไม่มีความมั่นใจเลย ภาพที่ถ่ายบนรถรางก็สั่น ตัวหนังสือบางตัวก็สะกดผิด จะแก้ก็ไม่ทัน เกรงใจเพื่อนที่มาช่วยตัดต่อด้วย ตอนนั้นสิ่งที่ทำได้อย่างเดียวคือ “ทำใจ” ยอมรับกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น นำคำแนะนำของพี่ทีมโคชมาปรับปรุง รวมกับการลงโคชเรื่องการตัดต่อวิดีในพื้นที่ของทีมโคชและพี่ๆ จากมูลนิธิสยามกัมมาจล ทำให้การตัดต่อวิดีโอของทีมสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และทันนำเสนอในงานมหกรรมแห่งการเรียนรู้ “ผู้ใหญ่เล่าขาน เด็กสานสืบต่อ” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561

ด้วยระยะเวลาทำงานที่มีอยู่อย่างจำกัด ผสมรวมกับงานในชั้นเรียนที่ต้องทำส่งอาจารย์ แม้จะต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แต่เพราะหน้าที่และความรับผิดชอบ ทีมงานจึงมุมานะพยายาม บริหารจัดการตนเอง และจัดการเวลาจนทั้งสองงานสำเร็จไปได้ด้วยดีความเปลี่ยนแปลง เพราะข้อจำกัดเรื่องเวลา และภาระงานที่มีอยู่ ทีมงานจึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้การทำงานของทีมประสบผลสำเร็จ

แองจี้ ที่เป็นคนจริงจังกับทุกเรื่อง คิดเยอะ ชอบรวบงานไว้ทำคนเดียว ก็เปลี่ยนเป็นกระจายงานให้เพื่อนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่แบกงานไว้คนเดียวเหมือนที่ผ่านมา รู้จักขอโทษเมื่อทำไม่ดีใส่เพื่อน “หนูเป็นคนเหวี่ยงเวลาหิว เคยปะทะกับฮอลล์แล้วปากไวพูดไม่ดีใส่เพื่อน เห็นเพื่อนรู้สึกไม่ดีแล้ว ก็จะหยุด แล้วทำอย่างอื่นก่อน ผ่านไปวันสองวันจะเดินไปขอโทษเพื่อน” อีกวันสองวันหรือช่วงกินข้าว จะบอกฮอลล์ว่า ขอโทษ คือกลุ่มเรามันมีข้อดีคือเตือนกันได้ (เหตุการณ์จริง)

ส่วนฮอลล์ จากที่เป็นคนไม่กล้า คอยทำตามเพื่อนสั่ง เมื่อเห็นเพื่อนลุกขึ้นมานำเสนอโครงการหลายครั้ง เธอจึงไม่อยากกินแรงเพื่อน เลยทำให้เธอมีแรงฮึดสู้ ลุกขึ้นมาพูดนำเสนอ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของเพื่อน นอกจากกล้าพูด กล้าทำแล้ว การบริหารจัดการเวลา และทำงานเป็นระบบคือสิ่งที่ฮอลล์ได้จากโครงการนี้ที่เธอนำไปปรับใช้กับการเรียน

สำหรับโยชิ ที่เดิมเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง ไม่ชอบสุงสิงกับใคร ไปไหนไปคนเดียว ชอบหมกตัวอยู่ในห้อง การทำโครงการที่ต้องประสานงานพูดคุยกับเพื่อนคนอื่น ทำให้เธอรู้จักนิสัยใจคอเพื่อน จนรู้สึกแคร์เพื่อนมากขึ้น

“ตัดสินใจถูกมากที่เข้ามาทำโครงการ รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปเยอะมาก โดยเฉพาะการกล้าพูด กล้าคุยกับคนที่ไม่รู้จัก”

อุ้ม บอกว่า สิ่งที่เธอได้จากโครงการนี้คือ ความกล้าแสดงออก และความมั่นใจในตัวเอง จากคนที่พูดไม่รู้เรื่อง ไม่กล้าพูดหน้าห้อง ก็กล้าพูดได้อย่างมั่นใจ

ขณะที่ฟ้า บอกว่า โครงการนี้ทำให้เธอวางแผนการเรียนได้ดีขึ้น เมื่อก่อนคิดอะไรก็ทำเลย งานจึงไม่เสร็จ จากจุดเริ่มต้นที่อยากได้เกรด A อยากได้พอร์ตโฟลิโอไว้เป็นใบเบิกทางในการทำงาน เมื่อได้ลงมือทำจริง พอร์ทโฟลิโอกลับถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะสิ่งที่พวกเธอได้มีคุณค่ามากกว่านั้น นั่นคือประสบการณ์การทำงานจริงที่ต้องใช้ทั้งความมุ่งมั่นตั้งใจ อดทนเพียรพยายามในการลงมือทำ ทำได้ไม่ดีก็ลงมือทำใหม่ อดทนอดกลั้นต่ออารมณ์เหวี่ยงของตนเองและเพื่อนร่วมทีม รู้จักวิธีบริหารจัดการงานส่วนตัวและงานส่วนรวม รวมถึงบริหารความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมทีมและเพื่อนร่วมชั้นเรียน จนภาระงานทั้งสองสำเร็จได้ด้วยดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือประสบการณ์ชั้นดีที่จะเป็นต้นทุนชีวิตการทำงานของพวกเขาในอนาคต


โครงการขับขี่ปลอดภัย ใส่ใจชาวศิลปากร

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • กันทรากร จรัสมาธุกร

ทีมงาน

  • เบญจมาศ สะอาดเอี่ยม 
  • กมลรักษ์ สาระชาติ
  • ศิริลักษณ์ กาหลง 
  • เพียงอัมพร เลิศเผ่าปัญญา
  • ญาตารี พวงดอกไม้