การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อจัดทำสื่อการสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดเพชรบุรี

การคิดบวกเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ตัวเองมีความสุข โดยที่การคิดบวกนั้นไม่ใช่การคิดหาคำตอบว่าอะไรถูกหรือผิด แต่เป็นการคิดเพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่เป็นอยู่ หลายคนเข้าใจว่าการคิดบวกต้องอาศัยหลักการทางจิตวิทยาเข้าช่วย แต่ความจริงแล้วตัวเราเองก็สามารถเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนคิดบวกได้ ดังเช่นนักศึกษากลุ่มนี้ที่ใช้การคิดบวกมาทำงานสร้างสรรค์สังคม จนเกิดการเปลี่ยนตนเองที่สามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานต่อไปในอนาคต

พลังบวก..พลัง Cheer up

อะไรจะเกิดขึ้น...เมื่อเด็กเรียนต้องมาทำกิจกรรมเพื่้อสังคม อะไรจะเกิดขึ้น...เมื่อนักศึกษาคณะวิทยาการจัดการต้องมาทำสื่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อน การได้รับแรงเชียร์จากอาจารย์อ๋อ-ธิติมา เวชพงศ์ ว่าโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกเป็นโครงการที่ดี อยากให้ลองทำดู ทีมงานที่เป็นเด็กเรียนทั้งหมด 5 คน จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ แต่ทำไปทำมาเพื่อนเริ่มไม่มีเวลาว่าง สมาชิกจาก 5 คน เหลือ 2 คน คือ แพรว-อณิษฐา มาลา และ หญิง-สาลินี เรืองวัฒนา จึงชวน ส้ม-กานต์พิชชา นิลผาย รุ่นน้องปี 2 ที่เป็นรูมเมทเข้ามาเสริมทีม โดยคิดว่าเป็นโครงการระยะสั้น ไม่คิดว่าจะลากยาวมาจนถึงปี 4

ไม่รู้ก็ต้องหาความรู้

สำหรับโครงการ English for Child เกิดขึ้นจากการแนะนำของรุ่นน้องที่เคยเข้าไปทำโครงการในโรงเรียนบ้านดอนมะกอกว่า โรงเรียนแห่งนี้ประสบปัญหาเรื่องสื่อการเรียนการสอนทีมจึงลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนและพบว่านักเรียนกำลังประสบปัญหาเรื่องขาดสื่อภาษาอังกฤษที่ใช้ประกอบการเรียน รวมทั้งขาดครูที่เชี่ยวชาญในการสอนภาษาอังกฤษโดยตรง ทั้งนี้ โรงเรียนบ้านดอนมะกอกตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนจำนวน 83 คน ครูจำนวน 6 คน มีครูสุมาลี ศรีมหันต์ ครูชำนาญการที่ทำหน้าที่ดูแลแทนตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี ประมาณ 3 กิโลเมตร นอกจากข้อมูลเบื้องต้นของโรงเรียน ทีมงานยังได้ข้อมูลเรื่องหลักสูตรแผนการเรียนการสอน เช่น เด็กแต่ละชั้นควรเรียนเรื่องอะไร เนื้อหาเป็นอย่างไร มีระยะเวลาการเรียนมากน้อยแค่ไหน หรือแบบฝึกหัดที่นำมาใช้ทดสอบเด็กควรเป็นอย่างไร เพื่อให้ตรงตามแผนการเรียนการสอนในแต่ละชั้นเรียน เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้ทีมงานจึงนำมาวางแผนการทำโครงการ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ความยากของงานนี้อยู่ที่ความรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ที่ทีมไม่เคยมีความรู้มาก่อน สิ่งที่ทีมทำคือ ทำความเข้าใจเรื่องหลักสูตรการศึกษาขั้นปฐมวัย การออกแบบสื่อการเรียนการสอน แบบฝึกหัดต่างๆ โดยนำมาเทียบเคียงกับหลักสูตรของโรงเรียนว่า เด็กในช่วงวัยนี้ควรเรียนรู้อะไรบ้าง รูปแบบสื่อ จนได้ข้อสรุปว่า จะทำเป็นการ์ดคำศัพท์ทั่วไป เช่น วัน เดือน ปี ตัวการ์ตูนแสดงอารมณ์ความรู้สึกยิ้ม รัก โมโห ร้องไห้ มีสีสันสดใส เพื่อดึงดูดใจให้เด็กอยากอ่านและง่ายต่อการทำความเข้าใจ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากโรงเรียนสนับสนุนอุปกรณ์ทำการ์ด ทำให้ทีมประหยัดงบประมาณส่วนนี้ลงได้ เหตุผลที่ทีมงานเลือกทำการ์ดคำศัพท์ เพราะคิดว่าสื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และเพิ่มความสนใจทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเรียนการสอนไม่ให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่ายการเรียน เมื่อทำสื่อเสร็จและนำไปมอบให้โรงเรียนทดลองใช้ ทีมงานพบว่าสื่อที่ทำไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน ทีมงานระดมความคิดหาวิธีแก้ไขจนได้ข้อสรุปว่าจะเปิดรับบริจาคสื่อเพิ่มเติม ผ่านโซเชียลมีเดีย อาทิ ทางเฟสบุ๊ค ไลน์ ไอจี และการบอกต่อปากต่อปาก จากนั้นทีมงานจึงหาเวลากลับไปโรงเรียนอีกครั้งพร้อมด้วยสื่อที่ได้รับบริจาค ทั้งหมด เพื่อไปสอนน้องๆ กลุ่มเป้าหมายในช่วงคาบลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ที่โรงเรียนจัดให้ซึ่งเป็นกิจกรรมปิดท้ายของโครงการ

โลกสวยในแบบเทาๆ ของเราสามคน

จากนักศึกษาที่วันๆ เอาแต่เรียน กิจกรรมอะไรไม่เคยสนใจทำ แต่เมื่อได้ลงมือทำกิจกรรมก็ทำให้ทีมงานเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองไม่น้อย “ตอนเขียนโครงการส่งไปเคยคิดนะว่ามันทำได้จริงเหรอ น้องส้มก็จะถามว่าทำได้จริงๆเหรอพี่ เพราะมันดูโลกสวยมาก เราจะคิดในหัวว่าเราต้องทำได้จริงๆ ต้องหาข้อมูลแล้วลงมือทำให้ได้ ซึ่งพอลงมือทำจริงๆ ปัญหาที่เข้ามาก็มีไม่ใช่น้อยๆ” หญิงเอ่ยขึ้น “ใช่ค่ะ และมันก็ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดแต่จะเป็นสีเทาๆมากกว่า” แพรวสนับสนุน เมื่อถามถึงปัญหาการทำโครงการในแบบฉบับที่ตัวเองวาดฝัน แต่เมื่อลงมือทำจริงๆ ทีมงานกลับพบว่า การจัดการเวลาและความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันคือเรื่องยากที่สุดของทีม แต่ปัญหานี้แก้ไขได้เมื่อทุกคนรับฟังกันและใช้เหตุผลในการตัดสินใจ แม้จะมีจิตใจดีคิดอยากช่วยเหลือโรงเรียน แต่เพราะเป็นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนหลายคน ทั้งเพื่อนครูอาจารย์ในโรงเรียน จึงมีปัญหาอุปสรรคมากมายให้ทีมต้องจัดการ เช่น การจัดการเวลาว่างที่ไม่ตรงกัน ความคิดเห็นต่าง การเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นของตัวเองเต็มที่ สิ่งไหนที่ทีมลงความเห็นว่าดี ก็ทำต่อสิ่งไหนไม่ดีก็กลับมาคิดทบทวนจนได้แผนการทำงานที่ดีที่สุดซึ่งโชคดีที่อาจารย์ในโรงเรียนให้ความร่วมมือดีมาก การทำกิจกรรมจึงง่ายขึ้น การทำงานร่วมกันยังเป็นการฝึกทัศนคติและพฤติกรรมด้านบวกในการลงมือทำงานย่างสร้างสรรค์และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย ทั้ง 3 คน สะท้อนว่า การทำโครงการที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่สามารถนำมาปรับใช้กับการทำสารนิพนธ์ได้อย่างเหมาะสม เช่น การหาโจทย์ปัญหา การวิเคราะห์ปัญหา การออกแบบและวางแผนกิจกรรม เป็นต้น จากจุดเริ่มต้นโครงการที่เพื่อนเริ่มหายไปทีละคน แต่เพราะมีใจมุ่งมั่นอยากทำงานให้สำเร็จ อยากมีพอร์ตโฟลิโอและประสบการณ์มาปรับใช้กับการเรียนและการทำงานในอนาคต ทำให้แพรวไม่ละทิ้งโอกาส เราเดินมาเกินครึ่งทางแล้ว ถ้าเราจะทิ้งไป มันก็ดูไม่โอเค ครูก็จะรู้สึกไม่ดีกับมหาวิทยาลัยที่ทำอะไรไว้ครึ่งๆ กลางๆ อีกนิดเดียวงานก็จะจบแล้ว เลยตัดสินใจทำต่อให้สำเร็จ แพรว บอก จะเห็นได้ว่ การมีพลังเชิงบวกของเพื่อนแต่ละคนในทีมก่อให้เกิดพลังการ Cheer up ของกลุ่ม ที่กลายเป็นบรรยากาศของปฏิสัมพันธ์เชิงบวก บรรยากาศของความร่วมมือเป็นทีม บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนช่วยเหลือซึ่งกันและกันของทีมงาน จนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น สอนเพื่อนหรือสอนคนอื่น จะช่วยให้การเรียนรู้นั้นครบถ้วนสมบูรณ์และชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นประสบการณ์ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานต่อไปในอนาคต ความสำเร็จที่ได้มาในวันนี้ทีมงานสะท้อนว่า เหมือนเป็นการฝึกงานก่อนลงสนามจริงในปีถัดไป เพราะวันนี้ทั้งแพรวและหญิงกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4 เมื่อจบออกไปหญิงตั้งใจอยากรับราชการเนื่องจากตรงกับวิชาที่เรียนมา ขณะที่ส้มอยากชวนเพื่อนรุ่นเดียวกันมาสานต่อโครงการ หลังจากพี่ๆ ทั้งสองจบออกไป แม้วันนี้โครงการจะจบไปแล้ว แต่ความรู้สึกดีๆ จากประสบการณ์การทำโครงการของทีมงานยังคงอยู่ การช่วยเหลือดูแลสื่อการเรียนการสอนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการรับบริจาคสื่อการเรียนการสอน รวมถึงการแวะเวียนไปถามไถ่สารทุกข์สุขดิบที่โรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ


โครงการ English For Child

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • รชกร วชิรสิโรดม

ทีมงาน :

  • อณิษฐา มาลา 
  • สาลินี เรืองวัฒนา
  • กานต์พิชชา นิลผาย