การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อปรับปรุงการจราจรหลังมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ปี 3

หากคุณครูนำกระบวนการ Active Learning มาใช้ในห้องเรียน จะทำให้นักเรียนสนุกและสามารถทำความเข้าใจในแต่ละเรื่องได้ไม่ยาก โดยไม่ต้องอาศัยความจำเพื่อตอบคำถาม แค่ทำความเข้าใจจากเรื่องนั้นๆ ซึ่งจะส่งผลดีกับตัวนักเรียนเอง ขณะเดียวกันครูต้องทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยในการไตร่ตรองสะท้อนคิดและตั้งถามที่เหมาะสม จะทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้หลายมิติ การเรียนรู้ของนักเรียนจึงไม่จำเจและน่าเบื่อ

การเรียนรู้...ใช่ว่ามีแค่มิติเดียว

จากความคิดที่แค่อยากได้ประสบการณ์และมีเกรดเป็นตัวชูโรง ทำให้ทีมงานประกอบด้วย หมวย-อรพรรษา สุขเกษม เฟิสท์-ณัฐณี แต้สกุล อุ้ม-คุนัญญา ทักษิณ นิ่ม-ปิยากร ลิ้มประสาท รุ้ง-รุ้งนรินทร์ ประเสริฐสม เมอเมด-ชรินทร์ทิพย์ แสงหิรัญ และยีนส์-ศลิษา อัมพวานนท์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี สาขาการจัดการชุมชน สาขาการจัดการตลาด สาขาการจัดการธุรกิจ และสาขาภาษาอังกฤษ รวมตัวกันทำโครงการปรับปรุงการจราจรหลังมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาการจัดการความรู้ของ รศ.ดร.พิทักษ์ ศิริวงศ์ โดยมีหมวยเป็นตัวกลางประสานเพื่อนๆ ให้มาทำงานร่วมกัน

จากประสบการณ์“เฉียด”สู่จุดเริ่มต้นของโครงการ

จากความจอแจและความเสี่ยงในเรื่องอุบัติเหตุหลังมหาวิทยาลัย ทั้งกลุ่มมีความเห็นร่วมกันว่าจะทำเรื่องนี้ เพราะหมวยและเพื่อนๆ เคยเจอประสบการณ์เฉียดตายมาก่อน ทั้งนี้ หลังมหาวิทยาลัยเป็นชุมชนเศรษฐกิจขนาดย่อมที่มีทั้ง หอพัก ร้านอาหาร ร้านค้า รวมถึงคิวรถตู้ ทำให้มีการจราจรที่หนาแน่นทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และจักรยานที่สัญจรไปมา ส่งผลให้พื้นผิวจราจรบริเวณดังกล่าวชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อ ขณะเดียวกันบางจุดก็ไม่มีสัญลักษณ์ป้ายจราจรที่ชัดเจน บางจุดไม่มีไฟฟ้ายามกลางคืน ประกอบกับผู้ที่สัญจรไปมายังขาดวินัยทางจราจร ก่อให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง สร้างความเสียต่อนักศึกษา และคนในชุมชนหลังมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง

“วันนั้นเหมือนเป็นคลาสพิเศษ ไม่มีเรียนทฤษฎี อาจารย์นัดมาที่ห้องใหญ่เพื่อฟังการนำแนะโครงการจากพี่ๆทีมโคช นอกจากการละลายพฤติกรรม พี่ก็ตั้งโจทย์ว่า ถ้าสมมติให้เราเลือกทำสิ่งดีๆ ให้กับมหาวิทยาลัยเราเราอยากทำอะไร ตอนแรกคุยกันได้มา 3 เรื่องคือ 1. ไปสอนหนังสือน้อง 2.การจราจรในมอ 3. การจราจรหลังมอ ทุกคนเห็นตรงกันว่าควรทำเรื่องที่ 3 เพราะบริเวณหลังมอมีสี่แยกวัดใจที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าใครจะไปจะมาทางไหน ซึ่งอันตรายมาก” หมวย เล่า

ตอนแรกสิ่งที่ทีมงานคิดทำหรูเริดอลังการมาก นั่นคือการปรับปรุงป้ายจราจร ทาสี ทำถนนใหม่ และจัดอบรมสัมมนาผู้ใช้รถใช้ถนน ระหว่างที่ความคิดกำลังฟุ้งอยู่ พี่ๆ ทีมโคชถามว่า “สิ่งที่เราคิดทำมันเกินตัวไปไหม” เป็นคำพูดไม่กี่คำที่ทำให้เราหันกลับมามองศักยภาพของทีมว่าสามารถทำอะไรได้บ้า

ทั้งหมดจึงกลับมาตั้งต้นใหม่ด้วยการลงพื้นที่สำรวจเส้นทางสัญจรหลังมอว่า มีถนนหรือป้ายส่วนไหนชำรุดบ้าง รวมทั้งสอบถามความรู้สึกและเหตุการณ์เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่ผู้ใช้รถใช้ถนนประสบปัญหาโดยตรงในบริเวณดังกล่าว โดยมีการบันทึกวิดีโอและเก็บสถิติของรถที่เข้าออกเป็นประจำทุกวันว่า มีกี่ประเภท ช่วงเวลาไหนที่มีการจราจรหนาแน่นบ้าง ได้ข้อมูลว่า รถที่ใช้ถนนเส้นนี้มากที่สุด คือ จักรยาน จักรยานยนต์ และรถยนต์ และช่วงระยะเวลาที่มีผู้ใช้รถใช้ถนนมากที่สุดคือช่วงเวลา 17.00-18.30 น. ซึ่งเป็นช่วงการจราจรคับคั่ง ขณะเดียวกันยังพบว่า คนใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่ไม่เคารพกฎจรจร อาทิ ขับรถแบบย้อนศร ขับรถบนทางเท้า ไม่ข้ามตรงทางม้าลาย เป็นต้น

ทีมงาน บอกว่า กว่าจะได้ข้อมูลนี้มา พวกเธอต้องจัดเวรกันไปยืนเฝ้าบริเวณสี่แยกวัดใจ คอยนับจำนวนรถที่สัญจรผ่านไปมา ทั้งช่วงเช้า กลางวัน และเย็นอยู่นานนับเดือน

จากนั้นทีมงานจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาเรียบเรียงจัดทำสื่อวิดีโอเผยแพร่ตามจุดต่างๆ เช่น ตามจุดสี่แยกทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนตระหนักถึงอุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

เกรดก็ได้ งานก็เดิน

ขณะที่ทำงานมาได้ระยะหนึ่งเกรดวิชาการจัดการความรู้ออกแล้ว จากความตั้งใจแรกที่ทำโครงการเพื่อให้ได้เกรด แต่ทีมงานยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยให้เหตุผลว่า โครงการนี้ทำให้พวกเธอเปลี่ยนทัศนคติหลายอย่าง โดยเฉพาะการเข้าร่วมเวทีนับ 4 เวทีติดตามความก้าวหน้าและสรุปบทเรียนการทำโครงการร่วมกัน ซึ่งเป็นเวทีแรกที่พวกเธอได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับน้องๆ ในโครงการอื่น ที่เป็นตัวแปรสำคัญให้พวกเธอปรับเปลี่ยนทัศนคติ

“ตอนทำกิจกรรมกลุ่มที่ทีมโคชให้แลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงาน เราไปเจอกลุ่มน้องๆ ที่เก่งกว่า น้องมีความคิดทัศนคติเกี่ยวกับการทำโครงการแบบที่เราคิดไม่ถึง น้องเสนอวิธีคิดที่ง่ายกว่า ดีกว่า ความคิดของน้องไม่ซับซ้อน ทำให้รู้สึกว่าอยากทำงานต่อ เลยคุยกันในกลุ่มว่าแม้เกรดจะออกแล้ว พวกเราก็จะทำงานนี้ต่อ ทุกคนโอเค” ทีมงาน เล่า

จากจุดเริ่มต้นที่ทำเพราะเกรด ก็เปลี่ยนมาทำด้วยใจ แม้ว่าทีมงานทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ค่อยมีเวลาในการทำงานมากนัก เพราะเรียนกันคนละสาขาวิชา เวลาว่างจึงไม่ตรงกัน แต่ท้ายที่สุดทุกคนสามารถเจียดเวลามาทำโครงการและทำวิดีโอตามหน้าที่ที่รับผิดชอบจนเสร็จทันเวลาที่กำหนด

ทุกกระบวนการคือActive Learning

แม้จะเข้าร่วมกระบวนช้ากว่าเพื่อนโครงการอื่นๆ แต่ทีมงานทุกคนบอกว่า ทุกอย่างที่ได้รับจากโครงการนี้คือ ความรู้ที่นำมาใช้ได้ในชีวิตจริง เพราะได้ลงมือทำจริง ไม่ใช่แค่เพียงทฤษฎีเหมือนที่เรียนในห้องเพียงอย่างเดียวกระทั่งเกมที่ทีมโคชนำมาเล่นก็สร้างการเรียนรู้ได้ เช่น เกมภูผาสู่มหานทีที่สามารถอธิบายเรื่องระบบนิเวศได้อย่างเป็นเหตุผลเกี่ยวโยงกันหมด

นอกจากเกมแล้ว การที่พี่อ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ ทีมโคชชวนให้คิดด้วยการตะล่อมคุย หาเหตุผลและความเป็นไปได้ ทำให้ทีมงานเกิดคำตอบที่ตกผลึกทำให้กรอบคิดในการทำโครงการชัดเจนยิ่งขึ้นโดยพี่อ้วนมักมีคำพูดทิ้งท้ายว่า “ลองกลับไปทบทวนจุดนี้ดู”

“เหมือนตอนที่ไปพูดคุยไปแชร์เรื่องโครงการกับน้องกลุ่ม road safety พี่อ้วนเป็นคนแนะนำให้ไปลองคุยดู เพราะตอนทำโครงการแรกๆ ก็ไม่รู้จะคุยเรื่องการทำงานกับใคร ซึ่งน้องกลุ่มนี้ทำโครงการคล้ายเราคือเกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนเหมือนกัน อีกอย่างน้องกลุ่มนี้ทำโครงการมาก่อน ถือว่าเขาเป็นรุ่นพี่ในเรื่องของการทำกิจกรรม พอไปคุยก็ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทำให้เรามองโครงการได้กว้างและมีแนวทางทำงานมากขึ้น” เฟิร์สเล่า

ด้านอุ้ม รุ้ง นิ่ม และยีนส์ บอกว่า โครงการนี้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงออกทางความคิด และทำให้ได้รู้จักนิสัยใจคอเพื่อนในทีมมากขึ้น จากที่ในก่อนหน้านี้ไม่ได้สนิทกันมากนัก แต่เมื่อมาทำงานด้วยกัน ก็เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน จนเกิดเป็นมิตรภาพระหว่างเพื่อนต่างสาขาวิชา

นอกจากนี้ทีมงานสะท้อนถึงการเรียนในแบบ Active Learning ที่พี่ๆ ทีมโคชนำมาใช้สร้างการเรียนรู้ว่า หากอาจารย์นำกระบวนการนี้มาใช้ ห้องเรียนจะกลายเป็นห้องเรียนที่สนุกสนาน นักศึกษาสามารถทำความเข้าใจบทเรีนนได้ไม่ยาก ไม่ต้องอาศัยความจำเพื่อไปตอบคำถาม แค่ทำความเข้าใจบทเรียนเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลดีกับตัวนักศึกษาเอง แต่ในขณะเดียวกันอาจารย์อาจจะต้องทำแผนการสอนเพื่อทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยในการไตร่ตรองสะท้อนคิดและตั้งถามที่เหมาะสม เพื่อให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้หลายมิติและเกิดความไม่จำเจในการเรียนรู้ของนักศึกษา

“กิจกรรมที่พี่ๆนำมาใช้ในเวทีให้เราเล่นทำให้เราได้ความรู้ ได้ใช้ความคิด วิเคราะห์ มันมีความสนุกปนอยู่ด้วย ก็เลยส่งเสริมให้เรามีความรู้มากยิ่งขึ้น การได้ทำโครงการแบบนี้ ไม่เหมือนกับตอนที่เราเรียนในห้องเรียนที่บางทีรู้สึกเหมือนถูกยัดเยียด บางเรื่องเป็นทฤษฎีที่ต้องจำจนเกิดความเครียด แต่พอมาทำแบบนี้ ความรู้ถูกถ่ายทอดมาโดยที่เราไม่รู้ตัว เราสนุกไปกับมัน ทำให้เราเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น” เมอเมด สะท้อน

หลังจากโครงการเสร็จสิ้น มาวันนี้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เกรดไม่ใช่ตัวบ่งชี้ถึงความสำเร็จของการเรียนเสมอไป แต่ความสำเร็จที่แท้จริงในช่วงวัยนี้คือการได้เรียนรู้ในประสบการณ์ชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัยต่างหาก เพราะนั่นคือชีวิตจริงที่พวกเขาต้องเผชิญหลังจบออกไปสู่โลกภายนอก


โครงการปรับปรุงการจราจรหลังมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • รศ.ดร.พิทักษ์ 
  • ศิริวงศ์นิวัต ม่วงกลม

ทีมงาน :

  • อรพรรษา สุขเกษม 
  • ณัฐณี แต้สกุล
  • คุนัญญา ทักษิณ 
  • ปิยากร ลิ้มประสาท
  • รุ้งนรินทร์ ประเสริฐสม 
  • ชรินทร์ทิพย์ แสงหิรัญ
  • ศลิษา อัมพวานนท์