การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาข้อมูลสมุนไพรชุมชน เพื่อนำมาทำน้ำดื่มสมุนไพรในโรงเรียนบ้านหนองโสน จังหวัดเพชรบุรี ปี 3

ความรับผิดชอบ เป็นลักษณะของความเป็นพลเมืองที่ดีที่สำคัญอย่างหนึ่ง และเป็นเครื่องผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามระเบียบ เคารพสิทธิของผู้อื่น ทำตามหน้าที่ของตนเองและมีความซื่อสัตย์สุจริต การที่บุคคลมีลักษณะความผิดชอบ จะช่วยให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปด้วยความราบรื่น สงบสุข นอกจากนั้นยังเป็นหางเสือสำหรับชีวิตทั้งชีวิต เพราะเด็กเยาวชนจะเติบโตได้งดงามเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่ามีความรับผิดชอบมากแค่ไหน ดังนั้นโรงเรียน ครู และผู้ใหญ่รอบตัวเด็กจึงต้องแสดงบทบาทและความรับผิดชอบในการสร้างเด็กเยาวชน ให้เป็นคนที่มีวามรับผิดชอบต่อตนเอง และสังคมส่วนรวม อย่างจริงจัง

คือความรับผิดชอบ

แม้จะถูกเพื่อนเท แต่ความรับผิดชอบที่มีอยู่ ทำให้ อ้อ-ภัทราภรณ์ จุมพรหม และ ฟิล์ม-สนุชตรา อาทิเวช นักศึกษาสาขารับประศาสนศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี มุ่งมั่นทำโครงการปันรักถักฟันน้ำดื่มสมุนไพรต่อ พยายามหาเพื่อนร่วมสาขาเข้าเสริมทีม เพราะรู้ดีว่าลำพังแค่ 2 คนคงไม่สามารถทำโครงการสำเร็จได้ จนได้อัน-กฤติยา วาปีทำ วุฒิ-กิตติวุฒิ มีมานาน มาวิน-ธิติ ภูมิโคกรักษ์ และป๊อบ-อริสรา บุญหนุน ที่เคยทำค่ายอาสามาด้วยกัน และดึงเพื่อนสนิทคือ ฟรอย-ภัทราภรณ์ โพธิ์สง่า ที่เรียนสาขาการจัดการธุรกิจทั่วไป เข้ามาเป็นทีมทำงาน

เนื่องจากมีประสบการณ์ทำค่ายมาก่อน ทีมงานหลายคนจึงไม่กังวลใจ ยกเว้นฟรอยที่ไม่มั่นใจว่าจะทำได้ เพราะไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อน กลัวจะเป็นตัวถ่วงคนอื่น และยังแอบกลัวความลำบาก แต่เมื่อเพื่อนร้องขอให้มาช่วยกัน เธอจึงเข้ามาอย่างกล้าๆ กลัวๆ

ทำไป...ปรับไป

เพราะเคยมีประสบการณ์การจัดค่ายอาสา เมื่อคิดทำโครงการทีมงานจึงคิดจัดค่ายให้แก่น้องนักเรียนชั้นประถมศึกษา แต่ถูกตั้งถามเรื่องความยั่งยืนของการทำโครงการจากทีมโคช ทีมงานจึงมีการปรับจูนความคิดกันใหม่ หาจุดอ่อนจุดแข็งของโครงการ เพื่อปรับแผนการทำกิจกรรมใหม่ ไม่ใช่ทำกิจกรรมอาสาแบบวันเดียวจบ

โดยเข้าไปประสานงานกับผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองโสน ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนไม่เกิน 60 คน อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยประมาณ 40 กิโลเมตร เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการทำงาน และสำรวจพื้นที่ไปพร้อมกัน พบว่าโรงเรียนแห่งนี้มีการปลูกสมุนไพรไว้จำนวนมาก หากนำสมุนไพร เช่น มะกรูดและอัญชันมาผลิตเป็นน้ำสมุนไพรได้ก็จะสอดรับกับโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียนดำเนินการอยู่ จึงเกิดเป็นโครงการปันรักถักฝันน้ำดื่มสมุนไพร ที่มีเป้าหมายเพื่อ ให้นักเรียน ครู และคนในชุมชนเห็นคุณค่าความสำคัญของสมุนไพรในชุมชน และเพื่อสร้างรายได้ให้แก่โรงเรียน โดยก่อนเริ่มทำงานทีมพากันไปหาข้อมูลวิธีทำน้ำสมุนไพรที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองโสน

ทีมงานยอมรับว่า การทำงานในช่วงแรกพวกเขาคิดว่าทำอย่างไรโรงเรียนจึงจะทำโครงการต่อได้หลังจากสิ้นสุดโครงการ แต่ข้อมูลจากงานวิจัยที่พวกเขาสืบค้นได้ระบุว่า มีโรงเรียนแห่งหนึ่งสามารถทำให้นักเรียนเลิกดื่มน้ำอัดลมได้ จึงนำมาปรึกษากับทีมโคชและผู้อำนวยการโรงเรียนถึงความเป็นไปได้ ซึ่งทุกคนเห็นไปในทางเดียวกันคือ “น่าจะเป็นไปได้” ทีมจึงเพิ่มเป้าหมายใหม่ในการทำงาน ที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ของปัญหาการบริโภคน้ำอัดลมของเยาวชน เพราะคิดว่าหากทำให้น้องๆ ลด ละ เลิกดื่มน้ำอัดลมได้ ก็จะเป็นการพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น

เห็นได้ว่า การออกแบบการเรียนรู้ที่ทีมโคชให้มีการนำเสนอแผนการทำงาน การวางเป้าหมายการทำโครงการ นอกจากจะทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสทบทวนแผนการทำงานโครงการแล้ว นักศึกษายังได้เรียนรู้เรื่องความเห็นต่าง เมื่อถูกโคชติงเรื่องความยั่งยืนของโครงการ ก็ยอมรับที่จะปรับเปลี่ยนโครงการใหม่ กระทั่งลงมือทำงานแล้วพบข้อมูลใหม่ที่เป็นประโยชนต่อเด็กเยาวชน ก็ยินดีเพิ่มเป้าหมายใหม่ โดยไม่คิดว่านั่นคือภาระ แต่เป็นความรับผิดชอบที่ต้องทำให้สำเร็จ

รู้...แล้วต้องขยายความรู้

จากผลงานในอดีตที่นักศึกษาเคยเข้ามาจัดกิจกรรมค่ายอาสาเพื่อปรับปรุงสภาพของโรงเรียน จนโรงเรียนผ่านการประเมินสถานศึกษา จึงกลายเป็นเครดิตที่ทำให้กิจกรรมแรกคือ การชี้แจงรายละเอียดโครงการที่ทำควบคู่ไปกับการสำรวจพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมของนักเรียน มีผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และคนในชุมชนให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยผลสำรวจพบว่า มีนักเรียนเกินครึ่งที่ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ แม้ว่าในโรงเรียนจะไม่มีการจำหน่ายน้ำอัดลม

“พวกเรานำกระบวนการพูดคุยที่ได้เรียนรู้จากโครงการฯ มาใช้ แทนการพูดบรรยายถึงสรรพคุณของสมุนไพร หัวข้อที่คุยกันคือ ชนิดของสมุนไพร ประโยชน์และโทษของสมุนไพร ระหว่างคุยก็มีคนคอยจับประเด็นขึ้นฟลิปชาร์ตสรุปรวมความคิด มีการสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรที่ทีมงานสืบค้นมา เพื่อโน้มน้าวให้น้องเห็นประโยชน์ของการดื่มน้ำสมุนไพรแทนน้ำอัดลม”

อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดผลเชิงประจักษ์ ทีมงานทดลองทำน้ำอัญชันมะกรูดเสิร์ฟพร้อมขนมให้น้องๆ ได้ลองชิม ท่าทีปฏิเสธน้ำสมุนไพรในตอนแรก เมื่อถูกคะยั้นคะยอให้ดื่มน้ำมะกรูดอัญชันที่หวานน้อย แต่หอมสดชื่น กลายเป็นความแปลกใจและยอมรับ ที่ทำให้ทีมงานเห็นถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ โดยหลังจากนั้นทีมงานพยายามหาสูตรน้ำอัญชันมะกรูด จนได้สูตรที่ลงตัว นำไปทดลองปรุงให้น้องๆ ดื่มอีกครั้ง พร้อมทั้งบรรจุขวดให้โรงเรียนไว้จำหน่ายจำนวน 60 ขวด รวมถึงถ่ายทอดความรู้วิธีการทำน้ำสมุนไพรให้โรงเรียน ซึ่งเมื่อได้โทรศัพท์ไปติดตามผลพบว่าขายหมดแล้ว ซึ่งโรงเรียนมีการทำน้ำสมุนไพรออกมาขายต่อเนื่อง กระบวนการทำซ้ำที่นักศึกษานำมาใช้ทดลองผลิตน้ำสมุนไพรจนได้สูตรที่ลงตัวแล้ว ยังทำให้นักศึกษาเกิดความมั่นใจในตนเองเรื่องการถ่ายทอดความรู้เรื่องการผลิตน้ำสมุนไพรให้กับบุคลากรในโรงเรียน

ก้าวข้ามอุปสรรคเพื่อสานงานให้จบ

การทำงานของทีมที่ต้องหยุดชะงักเป็นช่วงๆ ทั้งทีมงานเก่าที่ถอนตัวไป การเปิดปิดภาคเรียนที่ไม่ตรงกันระหว่างนักศึกษาและนักเรียน แต่ทีมงานก็ค่อยๆ สานต่อการทำงานเป็นช่วงๆ ตามโอกาสที่เอื้ออำนวย ด้วยมองว่า การทำโครงการเป็นความรับผิดชอบที่ต้องทำให้ได้ สิ่งที่ค้างคาใจคือ การติดตามผลการลด ละ เลิกดื่มน้ำอัดลมของนักเรียนในโรงเรียนที่ยังต้องรอเวลาเปิดเทอมจึงจะได้เข้าไปทำกิจกรรมกับน้องๆ ใหม่อีกครั้ง

แต่กระนั้นการแบกรับความรับผิดชอบไม่ใช่สิ่งที่ต้องฝืนใจทำ เพราะทีมงานแต่ละคนก็ได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง โดยเฉพาะฟรอยที่สามารถก้าวข้ามความกลัวเรื่องการเป็นตัวถ่วงของทีม เพราะคิดกลัวไปก่อนล่วงหน้า การทำงานเป็นทีมที่เปิดโอกาสให้ได้ถกเถียง ได้แสดงความคิดเห็น เพื่อให้โครงการสำเร็จและทุกคนได้ประโยชน์สูงสุด ทำให้ฟรอยได้ใช้ความคิดตนเอง เปลี่ยนจากคนขี้อายให้กลายเป็นคนกล้าพูดมากขึ้น

เช่นเดียวกับอันที่อาสามาช่วยเพื่อน เพราะสงสาร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอคือ ความกล้าที่ถูกพัฒนาขึ้นจากการเข้าร่วมกิจกรรมที่ทำให้ต้องแสดงความคิดเห็นอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วง Check in การ Reflection หลังทำกิจกรรม ที่ฝึกให้อันกลายเป็นคนกล้าพูดไปโดยปริยาย นอกจากนี้เงื่อนไขของโครงการที่ระบุไว้ว่า ต้องมีทีมงานอย่างน้อย 5 คน ต้องมีพื้นที่ทำงานจริงในชุมชน ต้องเป็นโจทย์ปัญหาของชุมชน สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ใหญ่ให้ทีมงานต้องคิดหาวิธีแก้ไข เช่น การทะเลาะหรือน้อยใจกันจะมีวิธีจัดการอย่างไร หรือทำอย่างไรงานจึงจะเดินไปตามแผนที่กำหนดไว้ การแบ่งบทบาทหน้าที่การทำงาน การประสานงานควรทำอย่างไร เพื่อให้งานสำเร็จไปได้ด้วยดี

“โครงการนี้ทำให้ผมรู้วิธีจัดการความเครียด เป็นความเครียดสะสมที่ค่อยเพิ่มขึ้น ไม่ได้มาตูมเดียว แต่มันก็ทรมานไม่ต่างกัน ดังนั้นเราก็ต้องรู้จักอดทน อดกลั้น งานนี้เป็นงานที่ทำให้คนอื่น เราจึงต้องลดละตัวตนลง ทำให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้น ไม่ค่อยถืออะไรมากเหมือนเมื่อก่อน” มาวิน สะท้อนมุมมองของตนเอง

การจัดระเบียบชีวิตคือ สิ่งที่ทีมงานทุกคนได้เรียนรู้ผ่านการจัดการงาน การเรียน การทำงานพิเศษ และกิจกรรมอื่นๆ ฟรอยเปลี่ยนตัวเองจากคนที่ชอบผลัดวันประกันพรุ่ง เป็นคนที่มีการวางแผนมากขึ้น ใส่ใจเคลียร์งานให้เสร็จก่อนถึงเดดไลน์ อ่านหนังสือทบทวนตำราอยู่เรื่อยๆ แทนการไปเร่งอ่านในคืนก่อนสอบ

ส่วนอันบอกว่า สามารถจัดการชีวิตของตนเองได้ดีขึ้นเช่นกัน

สำหรับวุฒินั้น ปรับตัวเองในการจัดการกับปัญหาที่เข้ามากระทบได้ทันที โดยไม่ทิ้งปัญหาไว้คาราคาซัง เลิกพฤติกรรมเผางาน (เร่งทำให้เสร็จอย่างลวกๆ) เพื่อจะให้ทันเดดไลน์ เมื่อปรับตัวเช่นนี้ จึงมีความละเอียดรอบคอบในการทำงานทุกชิ้นมากขึ้น ผลงานที่เกิดจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย

ด้านมาวินบอกว่า การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น คือ การเรียนรู้ผ่านการทำงานเป็นทีม ที่ทำให้รู้จักการยอม การละวางตัวตนที่นำไปสู่ความสำเร็จในการทำงานร่วมกับผู้อื่น

ส่วนอ้อได้สัมผัสถึงน้ำใจของเพื่อนที่ร่วมกันประคับประคองการทำงานในโครงการ การร่วมกันทำกิจกรรมทำให้ได้เห็นวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ต่างไปจากการเรียนในห้องเรียน ที่เธอบอกว่า ตั้งแต่เรียนมาไม่เคยเห็นการเรียนจัดกิจกรรมที่ให้นักศึกษาได้คิดทำด้วยตนเอง และยังมีการสอดแทรกความรู้ ดึงความคิดของเราออกมาเป็นระยะๆ บทเรียนจากการถูกเพื่อนเทในตอนเริ่มต้น ยังสอนให้อ้อรู้จักวิธีทำงานกับคนที่ต้องมีการเลือกคนให้เหมาะกับงาน รู้จักการมองคนให้ทะลุที่การกระทำมากกว่าเชื่อคำพูดที่อาจล่อลวงให้ตายใจ

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนบ้านหนองโสน คือ เกิดทางเลือกในการบริโภคน้ำสมุนไพรทดแทนการดื่มน้ำอัดลมของนักเรียนตัวน้อยๆ ที่เป็นพื้นฐานให้สามารถต่อยอดกลายเป็นพฤติกรรมการเลือกรับประทานแต่สิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้งเป็นช่องทางสร้างรายได้แก่โรงเรียนที่จะผลิตน้ำสมุนไพรจำหน่ายเพื่อหารายได้มาสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนต่อไป ขณะที่ทีมงานก็เกิดการปรับเปลี่ยนตัวเอง ลดความกลัว เพิ่มความกล้า เรียนรู้ที่จะอดทน อดกลั้น ลดละตัวตนลง ทั้งกับเพื่อนร่วมทีมและคนภายนอก เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดี 


โครงการปันรักถักฝันน้ำดื่มสมุนไพร

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • รศ.ดร.พิทักษ์ ศิริวงศ์

ทีมงาน :

  • ภัทราภรณ์ จุมพรหม 
  • สนุชตรา อาทิเวช
  • กฤติยา วาปีทำ 
  • กิตติวุฒิ มีมานาน
  • ธิติ ภูมิโคกรักษ์ 
  • อริสรา บุญหนุน
  • ภัทราภรณ์ โพธิ์สง่า