การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมในชุมชนดอนยาง จังหวัดเพชรบุรี ปี 3

กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน ไม่ได้มีประโยชน์ต่อนักศึกษาเฉพาะด้านการเรียนวิชาเท่านั้น แต่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้องค์รวม ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ชีวิต ที่เรียกว่าการพัฒนานักศึกษา (Student Development) หรือการเอื้ออำนวยให้นักศึกษาต้องรับผิดชอบตนเองในทุกด้าน ช่วงชีวิตของนักศึกษาระดับปริญญาตรี จึงเป็นช่วงที่กำลังเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมและทักษะทางอารมณ์

วิถีการเรียนรู้ที่แตกต่าง

เพราะความแปลกใหม่ของโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก และโอกาสที่จะได้นำโครงการที่คิดไว้ในกระดาษให้เกิดผลจริง คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักศึกษาการตลาด คือ ดุ๊กดิ๊ก-ฉัตรพิมล จันทวงษ์ อาร์-วรินดาพร สมทาน ฟาง-เนตรนภา มณีอินทร์ ม่อน-ธนาธิป เหลืองประเสริฐ ปาล์ม-เชษฐ์ธิดา ป้องแก้ว คือ นักศึกษาสาขาการตลาด ชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยเขตสารสนเทศเพชรบุรี ที่มีประสบการณ์ในการส่งแผนการตลาดเข้าประกวดมาอย่างโชกโชน จึงคิดนำความรู้จากห้องเรียนไปสร้างผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนตัวตนของคนในท้องถิ่น ด้วยการถ่ายทอดความรู้ให้กับน้องๆ นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 โรงเรียนดอนยางวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ได้รู้จักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ผ่านการทำโครงการรักษ์ถิ่นศิลป์ลายเพชร

จุดเริ่มต้นของการทำงานถูกทดสอบทั้งจากกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่คุ้นชิ้น และชุดภาษาที่แตกต่างกัน ระหว่างชุดภาษาด้านการตลาดกับชุดภาษาด้านงานพัฒนา การเข้าร่วมที่คิดว่า น่าสนใจ ก็กลายเป็นไม่ถูกใจ ยิ่งเริ่มทำโครงการช้ากว่าทีมอื่น ก็ยิ่งงุนงงกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ เช่น การตลาดใช้คำว่า big idea ก็จะเข้าใจ concept หลัก แต่พี่ๆ ทีมโคชจะคอยถามย้ำว่า น้องทำอะไร น้องอยากได้อะไรแทน เพื่อให้น้องประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเข้าใจ

การถามซ้ำไปซ้ำมาของทีมโคชที่ว่า “หนูทำแผนนี้แล้วหนูได้อะไร แล้วหนูจะทำอะไรต่อ” ทำให้ทีมงานได้มีโอกาสคิดใคร่ครวญ ทบทวนสิ่งที่อยากทำในโครงการ ค้นหาจุดติดขัดที่ทำให้ทำงานต่อไม่ได้ จนมั่นใจว่า สิ่งที่จะทำเป็นเรื่องที่ดี ติดขัดแค่เรื่องการสื่อสารกับทีมโคชเท่านั้น จึงพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองมาใช้ภาษาเดียวกับโคช

เรียนรู้และฝึกทำซ้ำ

หลังจากปัญหาเรื่องชุดภาษาคลี่คลายลง โรงเรียนที่ทีมงานตั้งใจเข้าไปทำกิจกรรมด้วยไม่สะดวกที่จะเข้าร่วมโครงการ จึงต้องหาโรงเรียนใหม่ได้โรงเรียนดอนยางวิทยา ซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัย 5 กิโลเมตร และผู้อำนวยการโรงเรียนยินดีให้ความร่วมมือ แต่มีเงื่อนไขคือ ห้ามพานักเรียนออกไปทำกิจกรรมนอกโรงเรียน เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่นักเรียน ซึ่งอาจจะเกินความสามารถของทีมงานที่จะรับผิดชอบไหว แผนงานที่จะพานักเรียนออกมาศึกษาชุมชนจึงถูกปรับเปลี่ยนใหม่ให้สามารถทำได้ในโรงเรียน โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งเหตุผลที่เลือกนักเรียนช่วงชั้นนี้ เพราะได้รับคำแนะนำจากคณะครูว่าเป็นวัยที่ไม่ดื้อไม่ซน

การทำกิจกรรมเริ่มต้นจาก กิจกรรมสันทนาการที่ได้แนวคิดมาจากการเข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการฯ มาใช้สร้างความคุ้นเคย และเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ พร้อมกับชี้แจงรายละเอียดและแนวทางการดำเนินงาน มอบหมายให้น้องถ่ายภาพสิ่งต่างๆ ที่พบระหว่างเดินทางจากบ้านมาโรงเรียน เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกันทุกวันพฤหัสบดีที่เป็นวันทำกิจกรรม โดยทีมจะแบ่งบทบาทหน้าที่การทำงานตามความถนัดคือ ซึ่งก่อนจะลงพื้นที่ไปจัดกิจกรรม ทีมจะมีการประชุมวางแผนการทำงานก่อนทุกครั้ง

กิจกรรมในครั้งที่สอง ทีมงานได้ใช้รูปถ่ายเป็นสื่อในการทำความรู้จักชุมชนร่วมกับน้องๆ ชวนน้องแต่งนิทานจากภาพ และเปิดคลิปภาพที่สวยงามของจังหวัดเพชรบุรีให้น้องดู เพื่อกระตุ้นให้น้องเห็นความงดงามของบ้านตัวเองในแง่มุมอื่น พร้อมกับตั้งคำถามให้น้องสะท้อนความรู้สึกหลังจากที่ได้เห็นภาพ และใช้โอกาสที่น้องกำลังอินกับความสวยงามของภาพ เชิญชวนให้น้องกลับไปถ่ายรูปใหม่อีกครั้ง

ส่วนกิจกรรมครั้งที่สามและสี่เป็นการออกแบบลายสกรีนเสื้อ ครั้งแรกทีมงานฝึกให้น้องนำภาพถ่ายของตนเองมาออกแบบ พอทำเป็นจึงให้น้องนำลวดลายของแต่ละคนมาออกแบบร่วมกันอีกครั้ง โดยก่อนลงมือทำทีมงานได้เปิดคลิปการออกแบบของมาริเมกโกะ แบรนด์ดังสัญชาติฟินแลนด์ ให้น้องๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดการออกแบบที่สร้างสรรค์มาจากสิ่งรอบตัวที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เมื่อดูจบก็ชวนน้อง Reflection ว่าเห็นอะไรจากคลิปบ้าง ให้น้องย้อนกลับมามองภาพของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง และคิดต่อว่าหากจะนำภาพเหล่านั้นมาใส่ในผลิตภัณฑ์ น้องอยากจะทำอะไร การพาน้องเรียนรู้ทีละขั้นตอนเช่นนี้ ทำให้น้องคิดเชื่อมโยงจนสามารถรวมเป็นลวดลายกราฟิกที่สะท้อนอัตลักษณ์ของบ้านดอนยางคือ ต้นตาล วัวลาน มอบเป็นที่ระลึกให้น้องคนละ 1 ตัว

ทีมงาน บอกว่า การเปิดคลิปให้ดูแล้วชวนพูดชวนคุยสอดแทรกความรู้เป็นกระบวนการที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ เป็นกระบวนการที่ไม่น่าเบื่อ และสร้างการเรียนรู้แก่น้องๆ ได้เป็นอย่างดี

“สิ่งที่ทำไม่ได้คาดหวังว่า น้องทุกคนจะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อบ้านตนเองหรือเปลี่ยนชุมชนของตนเอง แค่น้องเกิดความรู้สึกดีๆ กับชุมชนของตนเอง ได้รู้จักบ้านของตนเอง เวลาใครถามว่า บ้านดอนยางมีอะไรดี แล้วน้องสามารถบอกได้ แค่นี้เราก็พอใจแล้ว” ฟาง บอกความรู้สึก

เปลี่ยนแปลงเมื่อมุมมองเปลี่ยนไป

คู่ขนานไปกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้น้อง ทีมงานต้องผลิตสื่อเพื่อสื่อสารการทำโครงการของตนเอง พวกเขาเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องผ่านการสัมภาษณ์ ให้น้องออย-ภาณุวัฒน์ มากตาเครือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ทีมงานต้องเทียวไปเทียวมาระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชน 3-4 ครั้ง ทำให้มุมมองต่อชุมชนเริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยมองผ่านๆ ก็เริ่มใส่ใจในรายละเอียดมากยิ่งขึ้น พยายามมองหาแง่มุมที่สวยงามของชุมชนมาสื่อสาร โดยค้นหาตัวอย่างคลิปการสัมภาษณ์เพื่อใช้เป็น reference ในการถ่ายทำหรือตัดต่อ

“ตอนแรกที่เริ่มทำโครงการ หนูคิดว่าไปถ่ายรูปให้พี่เห็นแล้วเขียนรายงานส่งก็พอ แต่พอลงมือทำจริง ได้ไปเจอน้องๆ ก็อยากให้น้องได้ประโยชน์ ยิ่งเห็นน้องๆ สนใจกิจกรรมของเรา ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เราใส่ใจอยากทำงานให้ดียิ่งขึ้น จนต้องวางเป้าหมายว่าการทำกิจกรรมแต่ละครั้งน้องจะได้เรียนรู้อะไร” ฟาง สารภาพ

เมื่อใจเริ่มจดจ่อกับโครงการมากขึ้น ฟางจึงเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งเรื่องเรียน เรื่องการทำงาน และคุณค่าความเป็นมนุษย์ เมื่อก่อนตัวตนสูงมาก คิดว่าตนเองเก่ง เห็นคนไหนด้อยกว่าจะไม่ฟัง ไม่มองเขาเลย โครงการนี้ทำให้ทัศนคติต่อชีวิตและงานของเธอเปลี่ยนไป เริ่มมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนอื่น เคารพอาชีพอื่น นอกจากนี้ความคิดต่องานในอนาคตก็เปลี่ยนไปด้วย จากที่เคยคิดว่า ต้องทำการตลาดเพื่อให้ขายสินค้าให้ได้มากที่สุด ก็เริ่มคิดถึงมิติทางสังคมมากขึ้น

ส่วนดุ๊กดิ๊กที่เห็นชีวิตของน้องออยที่ต้องช่วยยายทำงานบ้านทุกอย่าง แม้กระทั่งการเลี้ยงหมู การทำคลอดหมู เพราะน้องอาศัยอยู่กับยายเพียง 2 คน พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัดนานๆ จึงจะกลับมาเยี่ยมบ้านสักครั้ง ก็รู้สึกสะท้อนหัวใจ เพราะวันๆ เธอมีหน้าที่แค่เรียน ว่างก็เล่นโทรศัพท์

“ถ้าเราไม่ทำโครงการนี้ เราจะไม่รู้เลยว่า มีชีวิตแบบนี้จริงๆ แม้จะเคยดูสารคดีก็ไม่อิน เพราะไม่ได้สัมผัสด้วยตัวเอง”

ระบบคิดที่ถูกติดตั้งใหม่

การได้ลงมือปฏิบัติจึงรู้จริงในสิ่งที่ทำ ต่างจากแผนที่เคยคิดอยู่บนกระดาษอย่างที่ผ่านมา ระบบคิดที่ถูกติดตั้ง ทำให้เกิดความเคยชิน จนนำไปใช้ในการทำงานอื่นๆ ที่ต้องย้ำคิดทบทวนในสิ่งที่จะทำ ความคิดจึงไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ล่องลอยเกินจริง เช่นเดียวกับพฤติกรรมส่วนตัวที่เริ่มเปลี่ยนไป

“ครั้งหนึ่งหนูต้องทำงานกับเพื่อนที่ไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน แต่ละคนเป็นเฮดของแต่ละสาขา มีความเป็นตัวเองสูงมาก เลยปรึกษาพี่ปิง พี่เขาแนะนำว่า ต้องจริงใจ และให้สังเกตว่าแต่ละคนเขาต้องการอะไร หนูก็นำไปปรับใช้ เช่น เมื่อมีการเสนอความคิดเห็น เพื่อนบางคนที่มั่นใจในความคิดของตนเอง หนูจะพูดว่า ความคิดของเขาดีนะ แต่หากนำความคิดของเพื่อนที่พูดเมื่อกี้เข้ามาเสริม จะทำให้งานดียิ่งขึ้น ใช้คำพูดแบบเสริมพลังแทนการโจมตีว่าความคิดเขาไม่ดี ทำให้หนูสามารถทำร่วมกับคนอื่นได้ จนตอนนี้หนูได้เป็นเฮดของกลุ่มแล้ว ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนหนูคงไม่กล้าพูดแบบนี้ ไม่กล้าทำงานด้วย โครงการนี้เปลี่ยนที่วิธีเข้าหาเพื่อนของหนูไปอย่างสิ้นเชิง” ฟาง เล่าการเปลี่ยนแปลง

บทบาทของโคชในโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ อย่างพี่ปิง คือ การชี้ชวนให้ดู ให้เห็น ให้ได้คิด กระตุ้นความสนใจให้เกิดความสงสัย และช่างสังเกต นับตั้งแต่วันแรกที่ลงพื้นที่บ้านดอนยางร่วมกัน ที่ทีมงานบอกว่า ชุมชนนี้ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจเลย แต่พี่ปิงกลับชี้ให้ดูประตูโบสก์ที่มีเขาวัวประดับ แล้วกระตุกด้วยคำถามให้คิดตามว่า ทำไมที่นี่มีเขาวัวประดับอยู่ นำไปสู่การค้นหาคำตอบที่ทำให้ค้นพบวัวลานที่มีการเลี้ยงอยู่ในพื้นที่

คำถามของโคชยังกระตุ้นให้ทีมงานได้ย้อนมองตน เช่น ขณะมองหาของดีในชุมชนบ้านดอนยาง พี่ปิงย้อนถามทีมงานว่า แล้วที่บ้านของแต่ละคนมีอะไรดี

“พี่เขาย้อนถามว่า แล้วที่จังหวัดอุบลราชธานีบ้านของม่อนมีอะไรดี พอได้ยินแล้วจุกเลย เกิดมา 20 ปี เราตอบไม่ได้เลยว่า บ้านเรามีอะไรดี การตั้งคำถามกระตุ้นให้คิดเป็นวิธีการสอนที่ดี เพราะมันไม่ผ่านไปเหมือนฟังบรรยายที่ฟังแล้วก็ลืม” ม่อน เล่า

แต่ทีมงานก็สารภาพว่า กว่าจะยอมรับวิธีการสอนของพี่ๆ ทีมโคชได้ก็ใช้เวลานาน เพราะไม่ใช่วิธีการสอนที่คุ้นชิน ช่วงแรกๆ จึงรู้สึกหงุดหงิดมากที่พี่ๆ มีแต่คำถาม โดยไม่มีคำตอบให้ หากแต่กระตุ้นให้ทีมงานได้ช่วยกันคิดค้นหาคำตอบด้วยตนเอง จนกระทั่งเมื่อกลับเข้าไปสู่ระบบการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ในมหาวิทยาลัยก็รู้สึกถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน

“แรกๆ เบื่อและหงุดหงิดมาก ถามอยู่นั่นแหละว่า ทำไมต้องทำ? ทำแล้วได้อะไร? คิดในใจว่า จะสงสัยอะไรกันหนักหนา หนูก็มานั่งบ่นกับฟางว่า จะถามไปทำไม ยังไม่ชัดอีกเหรอ” ดุ๊กดิ๊ก บอกความรู้สึก

“พอกลับเข้าไปสู่การเรียนการสอนเดิมๆ ของอาจารย์ ผมไม่ฟัง ผมไม่ตั้งใจเรียน เพราะมันไม่มีอะไรดึงความสนใจของเรา ถึงเวลาสอบก็ใช้วิธีอ่านสรุปแล้วไปสอบ” ม่อน สารภาพถึงพฤติกรรมการเรียนของตนเอง แต่ก็ยอมรับว่า มีการเปลี่ยนแปลงตนเองคือฟังที่อาจารย์สอนแล้วคิดตามมากขึ้น และกล้าที่จะถามอาจารย์ในส่วนที่ยังไม่เข้าใจมากขึ้น แทนที่จะฟังแล้วปล่อยผ่านไปอย่างที่เคยเป็น

ฟาง เสริมว่า หลังผ่านการทำโครงการ วิธีเรียนของเธอเปลี่ยนไป ฟังอาจารย์สอนแล้วคิดตามมากขึ้น ทำให้เข้าใจสิ่งที่อาจารย์สอนมากขึ้น อ่านหนังสือเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนฟังแล้วจดจำอย่างเดียว พอสอบเสร็จก็ลืม

การเปลี่ยนแปลงภายในทีม ยังรวมถึงการปรับบทบาทผู้นำผู้ตามที่เปลี่ยนไป ฟางเคยเป็นผู้นำเดี่ยว คิดแผนสำเร็จรูปแล้วนำมาแจกแจงให้เพื่อนปฏิบัติตาม ก็เปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ

ส่วนดุ๊กดิ๊กที่เคยเป็นผู้ตามอย่างเดียวก็เริ่มคิดเอง และกลายเป็นคนที่ใส่ใจกับการทำงานจนก้าวเข้ามาช่วยดูแลภาพรวมการทำงานของโครงการได้

ด้านอาร์ซึ่งเป็นคนเรียบร้อยกลายเป็นคนที่เข้าหาและเข้าถึงน้องๆ ได้แบบเนียนๆ จนรู้ถึงพฤติกรรมเชิงลึกของน้องๆ ที่ทีมนำมาใช้วางแผนการทำงานและออกแบบกิจกรรมได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ส่วนม่อนนั้นเพื่อนๆ สะท้อนตรงกันว่า มีความรับผิดชอบมากขึ้น แม้จะมีบุคลิกเฮฮาเหมือนจะไร้สาระ แต่ก็เป็นผู้นำสันทนาการที่สร้างความสนิทสนมกับน้องๆ ได้ดี

แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนยอมรับว่า เกิดขึ้นกับตนเองอย่างชัดเจนคือ การมีวิธีคิดที่เป็นระบบมากขึ้น และจัดการเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น

การมีส่วนในการสร้างความตระหนักให้แก่น้องๆ นักเรียนได้เรียนรู้ชุมชนตนเอง และแปรสิ่งธรรมดาที่คุ้นตาในชุมชนสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนตัวตนของท้องถิ่นได้อย่างมีพลัง เป็นผลลัพธ์ที่ทำให้เข้าใจวิชาชีพที่ตนร่ำเรียนอยู่อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งยังเป็นการเปิดมุมมองในการสัมผัสโลกกว้างในมิติที่หลากหลาย โดยเฉพาะมุมมองต่อคุณค่าของมนุษย์ที่แตกต่าง และการทำประโยชน์เพื่อคนอื่น


โครงการรักษ์ถิ่นศิลป์ลายเพชร

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • รศ.ดร.พิทักษ์ ศิริวงศ์

ทีมงาน :

  • ฉัตรพิมล จันทวงษ์ 
  • วรินดาพร สมทาน
  • เนตรนภา มณีอินทร์ 
  • ธนาธิป เหลืองประเสริฐ
  • เชษฐ์ธิดา ป้องแก้ว