การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการปลูกผักกินใบผ่านการใช้ไฟ LED ในพื้นที่ตำบลวังด้ง และตำบลทุ่งทอง จังหวัดกาญจนบุรี

เมื่อต้องขยายผลความรู้การทำงานจากห้องแลบไปสู่ชุมชน ทีมงานไม่ได้นำความรู้ไปมอบให้เลยทันที แต่ต้องลงไปศึกษาข้อมูลชุมชนให้รอบด้าน นำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ ทดลองทำซ้ำ จนได้ผลลัพธ์ที่ดี จึงนำความรู้และผลเชิงประจักษ์ไปให้ชาวบ้านดู เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านสนใจและเข้าร่วม กระบวนการเช่นนี้ช่วยจัดระเบียบความรู้ ทำให้ทีมงานเกิดความมั่นใจในความรู้ของตนเองแล้ว ยังสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้าน การทำงานยังช่วยจัดระบบความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อการเข้าสู่สังคมได้เป็นอย่างดี

จัดระเบียบความรู้...จัดระบบความสัมพันธ์

การประสบความสำเร็จจากการทำวิจัยจนได้รับรางวัล คือ จุดเริ่มต้นให้ทีมงานซึ่งประกอบไปด้วย อัญ- อัญชิษฐา ทองดอนน้อย เง็ก-กุลสตรี อุณหกานต์ แพรว-ภาวินี แสนสง่า และ แอม-สาวิตรี จีนพานิช นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี คิดขยายผลความรู้นำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องการใช้ไฟ LED เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของคะน้าแทนการใช้สารเคมีไปทำงานกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกต้นหอมในพื้นที่ตำบลวังด้ง และตำบลทุ่งทอง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อลดต้นทุน และลดความเสี่ยงอันเกิดจากการใช้สารเคมี ผ่านการทำโครงการทางเลือกใหม่ของการปลูกผักกินใบ

กล่าวสำหรับ การใช้ ไฟ LED หรือ Light Emitting Diode ศัพท์วิทยาศาสตร์เรียกว่าไดโอดเปล่งแสง ที่ให้ค่าความสว่างต่อวัตต์มากกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดนีออน จึงประหยัดพลังงานมากกว่า เมื่อเปิดใช้งานจะมีความร้อนน้อย ช่วยประหยัดพลังงาน มีความปลอดภัยในเรื่องสารปรอท รังสี และมีอายุการใช้งานนาน ในทางการเกษตรมีการประยุกต์ให้แสงสว่างหลอด LED กันอย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังมีราคาแพง และใช้ในกลุ่มเกษตรที่มีพื้นที่ปลูกจำกัด การทดลองใช้ LED ปลูกคะน้าในห้องปฏิบัติการได้ผลเกินความคาดหมาย ผักเจริญเติบโตดี โดยไม่ต้องใช้สารเคมี เพียงแค่อาศัยดิน น้ำ และแสงสว่างจากไฟ LED แต่ทั้งหมดก็เกิดภายในห้องแลบที่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ดีกว่าการปลูกกลางแจ้ง

ดูเหมือนว่า “งานวิจัย” จะทำให้ทีมงานได้ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะการทำงานวิจัย แต่ทำอย่างไรความรู้ดีๆ เหล่านี้จึงจะลงไปถึงชาวบ้านได้ นี่คือโจทย์ที่ ดร.ปกรณ์ ประจวบวัน ที่ปรึกษาโครงการ ท้าทายให้ทีมงานเข้ามาทำโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของทีมพอดีที่ไม่อยากให้ปลายทางของงานวิจัยอยู่บนหิ้ง

วิจัยของหนูต้องไม่ขึ้นหิ้ง !!

การพิสูจน์ผลงานวิจัยว่าใช้ได้จริงของทีมงานเริ่มต้นด้วยการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชาวบ้าน เรื่องวิธีการปลูก พันธุ์และสารเคมีที่ใช้ ต้นทุนการผลิต พบข้อมูลว่า ต้นหอมปลูกในที่โล่ง ทำให้เกิดเชื้อรา โดยเฉพาะเวลาที่โดนฝนหรือน้ำค้างจะทำให้หัวแตก หนอนก็จะเจาะเข้าไปได้ ซึ่งความเสียหายไม่ได้เกิดเฉพาะต้นหอมเท่านั้น แต่หมายถึงราคาขายที่จะถูกกดลงไป และในบางครั้งก็ต้องถอนทิ้ง ซึ่งหมายถึงเงินที่จะได้รับกลับมาก็หายไปด้วย

ผลจากการลงไปสัมผัสพูดคุยกับเกษตรกรด้วยตัวเอง ทำให้ทีมงานเห็นปัญหาสถานการณ์จริง จึงตั้งใจทำงานมากขึ้น พวกเธอจึงต้องไปๆ มาๆ ระหว่างห้องทดของมหาวิทยาลัยกับแปลงผักกลางแดดอยู่หลายรอบ กระทั่งได้ข้อมูลครอบคลุมทุกด้านจึงกลับมาทดลองปลูกที่มหาวิทยาลัยโดยใช้แสง LED โดยแบ่งการปลูกออกเป็น 3 แบบ แบบแรกปลูกโดยให้น้ำอย่างเดียว แบบที่สอง ปลูกบนดินผสมน้ำ แบบที่สาม ปลูกโดยใช้กากมะพร้าวผสมดิน โดยทั้ง 3 แบบให้พลังงานแสงโดย LED ต้องบอกว่ายากมาก เหมือนถามว่าถ้าเรามีความรู้มันจะมีประโยชน์มากเลยนะถ้าเรามีความรู้ต้องเป็นประสบการณ์มากกว่าเพราะว่าเขามีประสบการณ์มากกว่าเรา อย่างกับคนปลูกหอมสองปีกับเราปลูกแค่สามเดือนเขาจะมาเชื่อเราได้อย่างไร

การเข้าไปหาเขาเราต้องมีอะไรที่เป็นหลักฐานที่แน่นๆ หลักฐานที่เราใช้คือโมเดลที่เรามีเอาไปให้เขาดู แต่เขาก็เชิงก้ำกึ่งจะเชื่อไหม

“ตอนแรกจะทดลองปลูกทั้งคะน้าและต้นหอม แต่พอนึกภาระงานทั้งการเรียน การบ้าน และการทำโครงการ ประเมินศักยภาพของทีมแล้ว ทำไม่ได้แน่ๆ เลยลดเหลือต้นหอมอย่างเดียว สำหรับเหตุผลที่ต้องทดลองปลูกก่อนเพราะรู้ดีว่าถ้าไปบอกโดยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ชาวบ้านต้องไม่เชื่อแน่ๆ เขาปลูกผักมาทั้งชีวิต เราทดลองปลูกแต่ 3-4 เดือน แล้วเขาจะถือได้อย่างไร” ทีมงาน เล่า

ซึ่งผลการทดลองพบว่า ต้นหอมที่ปลูกโดยใช้ดินผสมน้ำให้ผลผลิตดีกว่าทั้ง 2 แบบ และที่น่าตื่นเต้นคือ ลดจำนวนวันการปลูกจาก 45 วัน เหลือ 30 เมื่อนำเสนอผลทดลอง ชาวบ้านก็ให้ความสนใจเข้ามาเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ 8 คน โดยระหว่างที่ชาวบ้านอาสาสมัครทดลองปลุกต้นหอมด้วย LED นักศึกษาก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปดูแล แนะนำเรื่องการดูแล การให้แสง รวมทั้งให้กำลังใจว่าการปลูกแบบใหม่ไม่ยาก ทุกคนสามารถทำได้

“เหตุผลที่พวกเราให้ชาวบ้านทดลองทำด้วยตัวเอง เพราะหากพวกเราบอกอย่างเดียวเขาก็ลืม และพวกเราเรียนสายวิทย์มา ไม่ถนัดเรื่องการพูดโน้มน้าวใจคน จะถนัดเรื่องการปฏิบัติมากกว่า เลยคิดให้ชาวบ้านได้ลงมือทำจริงเขาจะได้รู้วิธี เมื่อพวกเราไม่อยู่เขาจะได้ทำเองได้ และกระบวนการนี้ก็เหมาะสมกับศักยภาพของทีมงานด้วย” ทีมงาน บอกวิธีคิด

สิ่งที่ทีมงานแนะนำชาวบ้านคือ เทคนิคต่างๆ เช่น การปลูกต้นหมอให้แตกกอเยอะๆ ต้องปาดหัวแล้วผ่าออกให้เป็นแฉก เมื่อชาวบ้านนำไปทดลองใช้ก็ได้ผลจริงๆ ทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นในตัวทีมงานมากขึ้น ส่วนการติดตามความก้าวหน้าการทำงานมี 2 วิธีคือ ลงพื้นที่ติดตามด้วยตนเอง หรือหารือกันผ่านไลน์กุล่ม มีการส่งรูปอัพเดทความก้าวหน้าของต้นหอมว่า เติบโตดีหรือป่วย โดยผลการทดลองจากอาสาสมัครทั้ง 8 คน บอกว่าต้นหอมที่ปลูกด้วย LED ได้ผลผลิตสูงและขายได้ราคาดี แต่เนื่องจากการใช้แสง LED มีต้นทุนสูง ชาวบ้านจึงขอใช้เวลาตัดสินใจว่าจะลงทุนต่อหรือไม่

แม้จะทำวิจัยจนได้รับรางวัล แต่เมื่อต้องขยายผลความรู้การทำงานจากห้องแลบไปสู่ชุมชน ทีมงานไม่ได้นำความรู้ไปมอบให้เลยทันที แต่ต้องลงไปศึกษาข้อมูลในชุมชนในครบถ้วนรอบด้าน นำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ ทดลองทำซ้ำ จนได้ผลลัพธ์ที่ดี จึงนำความรู้และผลเชิงประจักษ์ไปให้ชาวบ้านดู เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านสนใจและเข้าร่วม กระบวนการเช่นนี้ช่วยจัดระเบียบความรู้ ทำให้ทีมงานเกิดความมั่นใจในความรู้ของตนเองแล้ว ยังสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านอีกด้วย

ขายไอเดีย+ติดตาม = ความสำเร็จ

แม้จะยังอยู่ในช่วงที่ชาวบ้านกำลังตัดสินใจว่าจะไปต่อหรือจะหยุด แต่ผลที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาวบ้านจำนวน 8 คน ทำให้นักศึกษารู้จักและเข้าใจวิธีการทำงานกับชุมชน ตั้งแต่เรื่องการขายไอเดีย หรือการนำเสนอแนวคิดเรื่องการปลูกผักแนวใหม่ ว่าไม่ยาก ปลูกง่าย ได้ผลเร็ว ดี ปลอดภัย และสร้างแรงจูงใจด้วยการทดลองให้เห็นเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า วิธีการที่นำมาเสนอให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า เมื่อชาวบ้านเห็นดีเห็นงาม กระบวนการที่สำคัญคือ ไม่ปล่อยให้ชาวบ้านดำเนินการตามลำพัง มีการจัดทีมลงติดตามให้ความช่วยเหลือ เป็นการสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านว่า ทั้งหมดคือ วิธีการนำงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ และยังตอบโจทย์การท้าทายของ ดร.ปกรณ์อีกด้วย

และเหนือสิ่งอื่นใด อัญบอกว่า รางวัลนวัตกรรมด้านการเกษตรที่พวกเธอได้รับ แม้จะเป็นความภูมิใจจากความมุ่งมั่นพากเพียร แต่ที่เธอภูมิใจยิ่งกว่า คือการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเธอยอมรับว่า ช่วงแรกๆ ที่ทำโครงการเธอเหนื่อยมาก เพราะต้องทำหลายอย่าง ทั้งนำเสนองานวิจัยให้ผ่าน และต้องมาทำโครงการนี้ด้วย ยิ่งตอนลงไปอยู่ในชุมชน 5 วัน ยิ่งอยากกลับบ้านมาก พ่อก็โทรมาตาม ถามตัวเองทุกวันว่า “ทำไมเราต้องมาทำอะไรแบบนี้ด้วย” มันเหนื่อยมาก ต้องตื่นตีสี่ครึ่ง มาถึงชุมชนก็ต้องมาทำกับข้าว เจ็ดโมงเช้าต้องเข้าไร่ กลางวันแดดแรงมาก เข้าไปอยู่ในโรงเรียนทั้งอบทั้งร้อน หายใจไม่ออกก็มีแต่ฝุ่น ดินก็ต้องขุด ต้องเอาขี้วัวไปโรยเป็นปุ๋ย อยู่บ้านไม่เคยทำเลย แต่พอมองดูเพื่อน ก็คิดได้ว่า ถ้าเรากลับแล้วเพื่อนจะอยู่อย่างไร คงไม่มีใครอยากเหนื่อย เลยตัดสินใจอยู่ต่อ ขนาดน้องๆ ในโครงการที่เด็กกว่ายังทำเลย ถ้าพวกเธอเลิกทำมันก็ดูน่าเกลียด เลยอดทนทำจนสำเร็จ

อัญ บอกต่อว่า ตอนที่อาจารย์พูดว่า “มันเป็นงานชิ้นเดียวนั่นแหละ” เธอแอบเถียงอยู่ในใจว่า มันไม่ใช่ มันคนละงานกัน เธอรู้สึกว่ามันเป็นภาระงานเพิ่มขึ้นแต่พอทำไป “เออมันเป็นเรื่องเดียวกันจริงแฮะ” ดูได้จากตอนนำเสนองานวิจัยที่เธอนำเสนอผ่านไปได้อย่างงดงาม เป็นเพราะกระบวนการฝึกจากทีมโคชที่ฝึกให้เธอนำเสนอทุกครั้งตั้งแต่เวทีนับ 1-5 รวมถึงการเข้าไปนำเสนองานต่อชุมชน เมื่อถึงเวลานำเสนอในห้องเรียนจริงๆ เลยสบาย ไม่ยาก

“ความรู้สึกที่ได้เข้าไปอยู่กับชุมชนมันบอกไม่ถูก รู้สึกตื้นตันเวลาที่เราเข้าไปอยู่กับเขา เข้าไปคุยกับเขาแล้วเขาให้ความสนใจกับเรา ทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง เห็นคุณค่าของงานที่ทำ จนชาวบ้านเกิดความเชื่อมั่นในตัวเรา เหมือนเราได้ทำตัวให้มีประโยชน์มากกว่าที่จะมาเรียนแล้วกลับ”

การทำโครงการที่ต้องคลุกคลีกับเพื่อนต่างทีม ที่คอยช่วยเหลือกันทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำโครงการ ทำให้เห็นน้ำใจของเพื่อน และเปลี่ยนมุมมองคนใหม่ว่า เราต้องเรียนรู้กับเขาจริงๆ แล้วค่อยไปตัดสินเขาอีกที ไม่ใช่ว่ามองแค่ผิวเผินแล้วไม่ชอบเขา พฤติกรรมของอัญที่เคยอินดี้ ไม่สนใจโลก ไม่สนใจสังคม พูดตรงและแรง ก็ปรับท่าทีให้ซอฟต์ลง หันมาเปิดใจพูดคุยกับเพื่อนคนอื่นมากขึ้น เพราะรู้ดีว่าถ้าไม่ปรับตัวเองก็คงเข้าสังคมไม่ได้ เมื่อเรียนจบจะยิ่งลำบากมากว่านี้

ส่วนเง็ก จากเดิมที่ยิ้มอย่างเดียวก็เริ่มกล้าแสดงความคิดเห็น เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง รู้จักแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อน ไม่นิ่งเงียบเออออตามเพื่อนเหมือนที่ผ่านมา และเข้าหาคนง่ายขึ้น โดยเธอบอกว่าที่เปลี่ยนได้เช่นนี้อาจเป็นเพราะกระบวนการที่โคชออกแบบให้ฝึกพูด ฝึกคิด ฝึกเขียน ฝึกถาม ทุกครั้งที่เข้าร่วมเวที ทำให้เธอเปลี่ยนแปลงตัวเองในทางที่ดีขึ้น

ด้านแพรวบอกว่าเธอรู้สึกภูมิใจที่สามารถนำความรู้และสิ่งที่ร่ำเรียนมาสร้างประโยชน์กับคนอื่น สามารถนำสิ่งที่เรียนมาช่วยเพิ่มผลผลิตให้ชุมชน ดีกว่าที่ทำวิจัยแล้วจบ ไม่ได้เป็นประโยชน์กับใครเลย ถ้าทำแค่จบการศึกษาเท่านั้นเหมือนกับว่าตัวเราเองผ่านแค่คนเดียว แต่ชุมชนไม่ได้รับความรู้หรือได้รับเทคนิคใหม่ๆ จากพวกเธอเลย ขณะที่พฤติกรรมส่วนตัวของเธอก็เปลี่ยนไปกลายเป็นคนมนุษยสัมพันธ์ดี ยิ้มง่าย ซึ่งอาจมาจากกระบวนการในเวทีแต่ละนับที่ทีมโคชออกแบบให้ทุกคนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอื่น ทำให้เธอได้เรียนรู้เรื่องการจัดรูปแบบความสัมพันธ์แบบใหม่ที่ต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน

จากจุดเริ่มต้นของการทำวิจัยในโปรเจ็กต์จบ ไปถึงการทำโครงการเพื่อชุมชน คือ การเรียนรู้จากการลงมือทำ ที่ที่มงานได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ผ่านการปฏิบัติการจริงคือ ได้ฝึกทำงานในสภาพสิ่งแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิดและลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ในสภาพแวดล้อมจริง นอกจากจะช่วยจัดระเบียบความรู้และทักษะการทำงานให้เกิดขึ้นในตัวทีมงานแล้ว กระบวนการหนุนเสริมจากทีมโคชในเวทีต่างๆ ยังช่วยฝึกการคิดวิเคราะห์ การฟัง และการสร้างสัมพันธ์กับผู้คน เสมือนเป็นการฝึกทีมงานให้ก้าวเข้าสู่สังคมวัยทำงานได้อย่างเป็นอย่างดี


โครงการทางเลือกใหม่ของการปลูกผักกินใบ

ที่ปรึกษาโครงการ : 

  • ดร.ปกรณ์ ประจวบวัน

ทีมงาน :

  • อัญชิษฐา ทองดอนน้อย 
  • กุลสตรี อุณหกานต์
  • ภาวินี แสนสง่า 
  • สาวิตรี จีนพานิช