การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสืบสานภูมิปัญญาการผลิตฝ้าย (เส้นด้าย) และย้อมสีธรรมชาติ บ้านไม้สลี จังหวัดลำพูน ปี 1

จากปุยฝ้ายสู่เส้นด้ายย้อมสี ความท้าทายของเด็กปกาเกอะญอ บ้านไม้สลี

“แจ๋ว” เด็กหญิงปกาเกอะญอวัย 7 ขวบแห่งบ้านไม้สลี ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ค่อยๆ บรรจงแกะปุยฝ้ายออกจากเม็ดก่อนยื่นให้ “นุกนิก” เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเอาไปเข้าเครื่องอัดฝ้ายเพื่อแยกปุยฝ้ายออกจากเม็ด ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนแรกในหลายๆ ขั้นตอนอันแสนจะยุ่งยากที่เด็กหญิงปกาเกอะญอต้องเรียนรู้เพื่อก้าวไปเป็นคนทอผ้าของหมู่บ้าน

แม้โลกจะพัฒนาวิธีผลิตเครื่องนุ่งห่มชนิดที่ทำให้เสื้อผ้ามีราคาถูก หาซื้อง่าย มีแบบและสีสันให้เลือกมากมาย แต่ชาวปกาเกอะญอหรือชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ก็ยังเลือกที่จะทอผ้าใส่เอง

ถึงกระนั้นก็ตาม การทอผ้าของคนกะเหรี่ยง ไม่ใช่แค่เรื่องของการสวมใส่ หากมันคือ คติ ความเชื่อ และภูมิปัญญาของการทอผ้า ที่ยังทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านยังคงทอผ้าใส่เอง หากจะปรับเปลี่ยนไปบ้างก็คงเป็นเพียงตัววัตถุดิบ สีสัน ลวดลาย รวมทั้งรูปแบบของตัวเสื้อที่อาจปรับเปลี่ยนไป

การทอผ้าของคนกะเหรี่ยงเป็นกิจกรรมที่สงวนไว้สำหรับผู้หญิง เด็กหญิงปกาเกอะญอจะต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการทอผ้าจากแม่ หรือญาติที่เป็นผู้หญิงตั้งแต่อายุยังน้อย เด็กสาวจะเริ่มฝึกทอตั้งแต่อายุ 8-15 ปีโดยใช้ใบ “เตอะหน่าอิ” ฉีกเป็นเส้นๆ นำมาสานเป็นแผ่นๆ และเมื่อมีความชำนาญมากพอ ก็จะยกระดับขึ้นไปเป็นการทอด้วยด้าย โดยเริ่มจากการทองานชิ้นเล็ก ๆ ลายง่ายๆ เช่น ย่าม และถ้าเก่งขึ้นแล้ว ก็จะเริ่มทอผ้าที่มีลวดลายซับซ้อนมากขึ้น

กะเหรี่ยงใส่เสื้อผ้าฝ้ายทอมือมาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนมากจะทอหลังว่างจากการไปไร่ ไปนา เพราะการทอเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งการสวมใส่และการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ แต่เดี๋ยวนี้การสอนในบ้านทำได้ยากขึ้นเพราะแม่ๆ ต้องทำมาหากิน หลายคนจึงมองข้ามไป

แม้หลายคนจะมองข้าม แต่ ลี้-จิณณพัต สุขหู, เบน-เบญจญาภา จันทร์ดี, แตงโม-ธิดา ณ คำปุ๊ด, ปูเป้-ธัญญารัตน์ ใหม่แก้ว และ หนึ่ง-ทันทิกา นันสาย กลุ่มเยาวชนบ้านไม้สลี กลับให้ความสนใจเรื่องราวของ “ผ้าทอ” แบบลงลึกในระดับของสีและเส้นด้าย

เรื่องด้าย เรื่องใหญ่

กว่าจะได้ทำโครงการนี้ ต้องผ่านการวิเคราะห์และคัดเลือกจากหลาย ๆ ประเด็นที่หลาย ๆ คนโยนลงมากลางวงคุยหลัง พี่ทอง-ดรุณี ใจทอง ที่ปรึกษาโครงการ เดินมาบอกว่ามีโครงการเยาวชนมาให้ทำ และมีงบประมาณสนับสนุนให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิดโครงการและช่วยกันเสนอเข้ามา แม้ขณะนั้นหลายคนจะมีภารกิจหลายด้าน โดยเฉพาะลี้ที่เป้าหมาหมายของเธอคือการสอบเรียนคณะสัตวแพทย์

“มีทั้งเรื่องขยะ เพราะในชุมชนและตามถนนมันจะมีถุงขนม แก้วพลาสติกเยอะแยะไปหมด ดูไม่สะอาดตา บางคนอยากให้ทำเรื่องป่า เพราะเราอยู่กับป่า และป่าก็เริ่มแห้งแล้ว นอกจากนั้นก็มีทำขนมขาย เลิกเรียนมาแล้วก็มาทำขาย หารายได้เสริม” แต่เมื่อวิเคราะห์ และทบทวนถึงความเป็นไปได้ ทั้งเรื่องป่า ขยะ และ ทำขนม ลี้ แกนนำเยาวชนบอกว่า ไม่มีสิ่งใดเป็นไปได้ แม้แต่เรื่องเดียว

“เรื่องป่ามันใหญ่เกินตัว เราคงทำกันไม่ไหวแน่ ส่วนขยะ เราคิดว่าเราคงไม่สามารถไปควบคุมใครให้มาทิ้งขยะได้ สำหรับขนม อันนี้เหมือนจะทำได้ง่ายสุด แต่จริง ๆ แล้วพวกเราจะไปเอาเวลามาจากไหน เพราะกลางวันต้องไปโรงเรียน กลับมาก็ต้องช่วยงานบ้าน ทำการบ้านอีก และการทำขนมมันมีขั้นตอนเยอะแยะมากมาย ทำเสร็จก็ต้องเอาไปขายอีก คงจะไม่รอด” ทีมงานบอก

เมื่อหาข้อสรุปไม่ได้ เด็ก ๆ จึงเอาเรื่องโครงการไปหารือกับผู้ใหญ่ในชุมชน

“ส่วนใหญ่ก็แนะนำเรื่องป่า เรื่องขยะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราตัดออกไปแล้ว บางคนเสนอให้เราคิดถึงเรื่องที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของเรา ก็ทำให้คิดถึงเรื่องการทอผ้า เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่จะมาสานต่อเรื่องนี้ไม่ค่อยมี เพราะมักออกไปทำงานนอกชุมชน ไม่ค่อยมีคนสืบสาน แม้แต่พวกเราในทีมเองก็ตาม” ลี้แกนนำกลุ่มบอกว่า เมื่อศึกษาลงลึกเข้าไปอีกก็พบปัจจัยที่มาสนับสนุนว่าต้องทำโครงการนี้

ลี้บอกว่า ตอนไปสำรวจข้อมูลพบว่ามีอยู่ 8 คนที่ยังทอเป็น และส่วนใหญ่ก็อายุมากแล้ว คนใส่ก็ไม่ค่อยมี ส่วนมากเป็นคนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่ยังใส่อยู่ ส่วนวัยรุ่นจะใส่ก็ในวันที่มีพิธีกรรม เช่น ทำบุญ เข้าพรรษา ออกพรรษา พิธีเลี้ยงผี เป็นต้น เพราะฉะนั้น กลุ่มเยาวชนบ้านไม่สลีจึงอยากให้การทอผ้าอยู่คู่กับชุมชน และต้องการให้มีคนสืบสานเพิ่มขึ้น

“แต่ด้วยระยะเวลาการทำโครงการมีเพียงแค่ 6 เดือน หนูคิดว่าถ้าจะทำจนครบกระบวนการตั้งแต่การปั่นฝ้ายไปจนถึงการทอเลยมันจะใช้เวลานานเหมือนกัน โดยเฉพาะขั้นตอนการปั่นฝ้าย มันจะเป็นขั้นตอนที่ยากมากๆ น้องๆ หลายคนยังไม่คล่อง หนูก็เลยคิดว่าถ้าใช้เวลากับอันนี้เยอะๆ มันจะได้คล่องๆ แล้วค่อยไปเรียนรู้ขั้นตอนต่อไป คือการทอ น่าจะดีกว่า สุดท้ายจึงเลือกทำเฉพาะการผลิตเส้นฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ” ลี้บอกเหตุผลของการเลือกทำโครงการ

เปิดห้องเรียนทอผ้า

แม้จะเลือกเฉพาะขั้นตอนการผลิตเส้นฝ้ายมาเป็นเป้าหมายในการทำโครงการ แต่พอถึงเวลาทำจริง ๆ ก็ไม่ง่ายเพราะ “ดอกฝ้าย” หายาก ในชุมชนไม่ปลูกกันแล้ว แต่โชคดีที่บ้านพี่ทองพอจะมีดอกฝ้ายอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการสำหรับการใช้ในการฝึกปฏิบัติ จำเป็นต้องซื้อดอกฝ้ายจากนอกชุมชน

“มีคนถามว่าทำไมไม่ข้ามขั้นตอนการผลิตเส้นฝ้ายไปสู่การย้อมสีเลย เราก็บอกว่าถ้าทำแบบนั้นเราจะไม่รู้จักกระบวนการทอผ้าของชุมชนอย่างแท้จริง แต่พอรู้ว่าไม่ค่อยมีใครปลูกฝ้าย หนูเลยคิดว่าหลังจากนี้ เราอาจจะชวนชาวบ้านปลูกไปด้วยควบคู่กัน” ลี้เผยแนวคิดหลังจากนี้

สำหรับกระบวนฝึกฝนเรื่องการผลิตเส้นฝ้าย กลุ่มเยาวชนบ้านไม้สลีตั้งใจจะเรียนรู้ และฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ก่อนที่จะไปฝึกให้แก่น้อง ๆ รุ่นต่อมา

“แต่ปัญหาคือ เด็ก ๆ ในหมู่บ้านมีไม่ค่อยมาก ส่วนใหญ่ถูกส่งไปเรียนโรงเรียนประจำ ที่เหลืออยู่ก็มีน้องแจ๋ว นุกนิก น้องฟ้า น้องกาญจน์ รวม ๆ แล้วประมาณ 8 คน รวมทั้งพวกเราด้วยก็ราว 13 คน” ซึ่งทั้งลี้ และทีมคาดหวังว่า 13 คนนี้ หากฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ ก็จะสามารถสืบสานการทอผ้าของชุมชนได้ในอนาคต และทั้ง 13 คน จะมารวมตัวกันหลังเลิกเรียนและช่วงเสาร์ – อาทิตย์ที่ใต้ถุนบ้านแม่หล้า ที่ดัดแปลงเป็น “ห้องเรียนทอผ้า” ของกลุ่ม

กระบวนการอบรม ทีมงานและน้อง ๆ จะต้องรู้จักเครื่องมือและอุปกรณ์การทอก่อน เช่น การใช้เครื่องหีบ หรืออีดฝ้าย วิธีการแกะปุยฝ้ายออกจากเม็ดฝ้าย และเอาเข้าเครื่องหีบ หรือ อีดฝ้ายเพื่อแยกเม็ดออก วิธีที่ใช้กงดีดฝ้ายให้ฟู ถามยายว่าเหตุผลที่ต้องทำให้ฟูเพราะอะไร ยายบอกว่า จะทำให้ขั้นตอนการดึงฝ้ายเป็นเส้นง่ายขึ้น ฝ้ายจะเป็นเส้นยาว ไม่เป็นปม

ปั่นฝ้ายต้องใช้สติ และความอดทน

“เคยลองแล้ว ยาก พอปั่น ๆ มันก็ขาด ถ้าไม่ขาดก็จะไม่ค่อยเป็นเส้น” ปูเป้ เด็กหญิงหัวร้อนประจำทีมบอกระหว่างบรรจงดึงก้อนฝ้ายเพื่อให้ออกมาเป็นเส้น

“สำหรับหนู การปั่นฝ้ายถือว่ายากเย็นที่สุด มันต้องลงน้ำหนักมือ ต้องปั่น มือซ้ายขวาต้องหมุนวงล้อ มือซ้ายต้องค่อยๆ ดึง ต้องมีจังหวะว่าต้องดึงประมาณไหน ตอนมาฝึกวันแรก ยายสอนว่า ‘ดึงอย่างนี้นะ’ เพราะมันเบี้ยวไปนั่นมานี่ ยายบอกว่า ‘เด็กคนนี้อย่างไรนะ สอนยาก’ ” ปูเป้บอก แต่สิ่งที่ทำให้เธอต้องมุ่งมั่นฝ่าด่านปันด้ายซึ่งเป็นด่านที่ยากที่สุดก็เพราะ คนอื่นยังทำได้เลย

“ก็แค่ฝึกไปเรื่อย ๆ ทำอันนี้ไม่ได้ก็ไปทำอย่างอื่นก่อน อารมณ์ดีแล้วก็กลับมาทำใหม่ ทำจนกว่าจะทำได้” ปู้เป้ย้ำ

“จริง ๆ แล้วมันมีเทคนิคนิดหน่อย” ลี้บอกก่อนอธิบายว่า เวลาดึงจะทำให้มือเบี้ยวมือไม่ได้ ต้องทำมือตรง ๆ และต้องบีบฝ้ายไว้ให้มันหมุนตัว เพราะว่าถ้าเรายิ่งดึงไกล มันจะเป็นเส้นเล็ก ๆ มันจะไม่ขาด

“อีกเทคนิคหนึ่งคือ ต้องมีสติค่ะ ทำช้า ๆ แล้วจะทำได้เอง” ลี้

อย่างไรก็ตาม แม้หลายคนจะยังไม้พ้น “ด่านปั่นฝ้าย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องหมั่นฝึกฝนให้เชี่ยวชาญ เพราะหากปั่นด้ายไม่ออกมาเป็นเส้น นั่นหมายถึงรายจ่ายจำนวนหนึ่งที่ต้องเสียไป เพราะฝ้ายที่ถูกตีให้ฟู และนำมาปั่นเป็นเส้นแล้ว จะไม่สามารถเอาไปกลับตีให้ฟูได้อีก ทำได้เพียงเอาไปยัดเป็นหมอนเท่านั้น ซึ่งทุกคนเข้าใจข้อนี้ดี

และแม้จะยากเย็นขนาดไหน “ด่านปั่นฝ้าย” คือสิ่งที่ทุกคนมุ่งมั่นจะฝ่าไปให้ได้เช่นกัน

จนถึงวันนี้ นอกจากการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ทั้งด้านการปั่นฝ้ายและการย้อมสีด้วยวัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ไม่ยากในชุมชน ซึ่งขั้นตอนการย้อมก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากเหมือนขั้นตอนการปั่นฝ้ายให้เป็นเส้น แต่สิ่งที่จะต้องดำเนินงานต่อไป คือ แปรองค์ความรู้ด้านการ “ผลิตเส้นฝ้าย” ออกมาเป็นรูปเล่มสำหรับการฝึกน้อง ๆ รุ่นต่อไปกรณีที่กลุ่มพี่ ๆ บางคนต้องแยกย้ายกันออกไปเรียนต่อนอกชุมชน

ทั้ง ลี้ แตงโม ปูเป้ และคนอื่น ๆ รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้านบอกว่า โครงการครั้งนี้ทำให้ชุมชนค้นพบแนวทางการสานต่อการทอผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม่หล้า-บอกว่า...

“นี่เป็นครั้งแรกที่เด็ก ๆ เดินมาบอกว่า อยากทอผ้า” ซึ่งต่างจากอดีตคือ “ต้องบอกให้เขาทำ ... เขาถึงจะทำ”


โครงการผลิตฝ้ายและการย้อมสีธรรมชาติ

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • อัสนี ใหม่แก้ว 
  • ดรุณี ใจทอง

ทีมงาน :

  • จิณณพัต สุขหู 
  • เบญจญาภา จันทร์ดี
  • ธัญญารัตน์ ใหม่แก้ว 
  • ทันทิกา นันสาย
  • ธิดา ณ คำปุ๊ด