การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมไทลื้อ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ปี 1

เยาวชนฮักไทลื้อหละปูน: เริ่มต้นธุรกิจชุมชนจากการศึกษาวัฒนธรรม

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การอนุรักษ์วัฒนธรรมถูกยกให้เป็นหนึ่งในภารกิจให้คนรุ่นใหม่ต้องมีหน้าที่สืบสานสืบทอด เพื่อไม่ให้รากเหง้าที่หล่อหลอมชุมชนสูญหายไป แต่นอกจากการแสดงถึงอัตลักษณ์ และความภาคภูมิใจในความเป็นคนพื้นถิ่น เป็นคนชาติพันธุ์แล้ว การดำรงอยู่ของวัฒนธรรมท้องถิ่นยังมีความสำคัญเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวแก่ชุมชนได้ สิ่งนี้ทำให้คนรุ่นใหม่มีอาชีพโดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งถิ่นฐานเพื่อไปหางานทำที่อื่น และจะทำให้วัฒนธรรมถูกขับเคลื่อนต่อไปในชุมชน

เพราะมีประสบการณ์จากการทำโครงการเกี่ยวกับท่องเที่ยว จึงทำให้ กลุ่มเยาวชนฮักไทลื้อหละปูน ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ประกอบด้วย ฟลุ๊ก-พงศกร ศรีวิชัย, มินนี่-ปณันธิตา พือวัน, แบม-กัญชพร เขื่อนคำ, ไนซ์-อโรชา ศรีสัตตยะบุตร และ นุช-วาสนา ปัญโญใหญ่ สนใจเข้าร่วมโครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพเยาวชนเมืองลำพูน เพื่อสืบต่องานที่เคยทำไว้ ทว่าผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่ใช่การที่ชุมชนไทลื้อกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต แต่เป็นพวกเขาเองที่ได้ทำความรู้จักกับชุมชนบ้านเกิดลึกซึ้งกว่าที่เคยและเกิดสายใยผูกพันกับเพื่อน พี่ น้อง และผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนอย่างที่ไม่เคยคาด

ผิดแผนตั้งแต่เริ่ม!

ทีมงานทั้งหมดเป็นกลุ่มเยาวชนที่มีใจอาสาเข้ามาช่วยเหลือทำงานของชุมชนอยู่แล้ว และมีประสบการณ์การทำโครงการอื่นมาก่อน เมื่อสุจิน ใสสอาด ที่ปรึกษาโครงการ มาชักชวนให้เข้าร่วมโครงการสร้างสำนึกฯ ทีมงานจึงไม่ลังเลที่จะตอบตกลง

ฟลุ๊กเล่าว่า “พวกเราเคยทำโครงการเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชน พอพี่สุจินพูดถึงโครงการนี้ก็สนใจกัน เพราะไม่อยากให้วัฒนธรรมไทลื้อของบ้านธิสูญหาย แต่ตอนนั้นเราอยากทำโครงการเที่ยวสบาย สไตล์ไทลื้อ”

ทว่าความตั้งใจของพวกเขากลับถูกเบรกกะทันหันจากทีมโคชว่า โครงการนี้อาจใหญ่เกินกำลังทีมงานจึงนำกลับมาปรึกษาผู้ใหญ่ในชุมชนและปราชญ์ชาวบ้านที่พวกเขารู้จักคุ้นเคยจากการเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน เพราะคิดว่าน่าจะได้รับคำแนะนำดีๆ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด ผู้ใหญ่ที่นับถือแนะนำให้พวกเขาลองเริ่มจากการศึกษาวัฒนธรรมไทลื้อก่อน

“ตอนโดนเปลี่ยนก็เสียใจเหมือนกัน แต่พอมาคุยกับผู้ใหญ่ เขาบอกว่า ไหนๆ เราก็ชอบการท่องเที่ยวอยู่แล้ว มาลองศึกษาก่อนแล้วค่อยเปิดรับนักท่องเที่ยวเพื่อพาไปเรียนรู้ตามแหล่งชุมชนต่างๆ ก็น่าจะทำได้และเป็นการท่องเที่ยวเช่นกัน พวกเราเลยตกลง” ทีมงานเล่าสถานการณ์

ปฏิบัติการเรียนรู้ความเป็นไทลื้อ

เมื่อได้โจทย์การทำโครงการแล้ว ทีมงานที่เคยมีประสบการณ์การทำโครงการเก็บข้อมูลชุมชนมาก่อนได้ลงมือค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเบื้องต้นผ่านอินเทอร์เน็ต พวกเขาบอกด้วยน้ำเสียงเศร้า ๆ ว่า จริง ๆ แล้วมีข้อมูลที่เคยเก็บเองจากโครงการก่อนส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งน่าจะใช้กับโครงการนี้ได้ แต่โดนไวรัสทำลายหมด หลังจากนั้นพวกเขากับพี่ชาเดฮั้น ที่ปรึกษาโครงการ ได้ช่วยกันประสานงานกับผู้ใหญ่ในชุมชน พ่อหลวง หรือ คำเรียกในภาษาท้องถิ่นภาคเหนือหมายถึงผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และปราชญ์ชาวบ้านหมู่ 1-10 ผ่านไลน์กลุ่มวัฒนธรรมไทลื้อและไปเชิญเองที่บ้านเพื่อมาร่วมกันให้ข้อมูลวัฒนธรรม และแหล่งของดีของแต่ละหมู่บ้าน สำหรับนำไปวางแผนการจัดการท่องเที่ยว

“ผู้ใหญ่ก็บอกกันว่า ได้ ๆ ยินดีให้ความร่วมมือ แต่พอวันจริงหลายคนก็มาไม่ได้ เพราะติดธุระเรื่องงานบ้าง เรื่องส่วนตัวบ้าง แต่คนที่มาก็พอช่วยกันให้ข้อมูลได้อยู่” ฟลุ๊กเล่า

หมู่บ้านมีของดีของเด่นเรื่องอะไร อยู่ตรงไหน จุดไหนที่พวกเขาควรหยิบมาเป็นเส้นทางท่องเที่ยว ผู้ใหญ่ทุกคนที่เห็นทีมงานมาตลอดในฐานะเด็กกิจกรรมของชุมชนต่างช่วยกันบอกเล่าข้อมูลชุมชนของตัวเองอย่างเต็มที่ด้วยความเอ็นดู

ผลการเก็บข้อมูลทำให้ทีมงานพบจุดเด่นของหมู่บ้านต่างๆ มีทั้งการดำเนินชีวิตด้วยวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกผักปลอดสารพิษ ภูมิปัญญาเรื่องน้ำทุ่ง การทำข้าวแต๋นน้ำอ้อย และมีสถานที่โบราณหลายแห่ง เช่น ตลาดร้อยปี วัดที่มีศิลปะล้านนา บ้านไทลื้อโบราณ พิพิธภัณฑ์ไทลื้อหมู่ เป็นต้น

ทีมงานบอกว่านอกจากข้อมูลจากผู้หลักผู้ใหญ่ พวกเขายังค้นพบว่า วิถีชีวิตของชาวไทลื้อดั้งเดิมจะเน้นที่การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย เห็นได้จากการใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและความสามารถในการเก็บรักษาภูมิปัญญาและโบราณสถานของชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน ไม่หลงใหลไปกับวัฒนธรรมใหม่ ไม่หลงลืมรากเหง้าตัวเอง เรื่องนี้จึงทำให้พวกเขายิ่งภาคภูมิใจในความเป็นคนไทลื้อมากขึ้น

วางแผนแล้วก็ผิดแผน !?!

การดำเนินงานขั้นต่อมาคือ การลงพื้นที่เก็บข้อมูลของดีของแต่ละหมู่บ้าน เพื่อเรียนรู้ชุมชน ทั้งความเป็นมาของโบราณสถาน ประเพณีของชุมชน และวิถีชีวิตทั่วไปให้ลึกซึ้งมากขึ้น โดยพวกเขาได้ช่วยกันเตรียมคำถามก่อน แล้วแบ่งงานกันว่าใครอยู่หมู่บ้านไหนให้รับผิดชอบหมู่บ้านนั้นและหมู่บ้านข้างเคียง เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทางและถือเป็นการเรียนรู้รากเหง้าของหมู่บ้านตัวเองไปด้วย

สำหรับวิธีเก็บข้อมูลนั้น มินนี่เล่าว่า “เรากลัวไฟล์หายแบบครั้งก่อน เลยคิดกันว่าคราวนี้จะจดบันทึกและ อัดเสียงด้วยโทรศัพท์ แล้วนำมาโหลดลงคอมพิวเตอร์แยกเป็นโฟลเดอร์ไว้ อันไหนจดไม่ทัน หนูกับนุชจะนั่งแกะไฟล์เสียงแล้วก็พิมพ์เพิ่มเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์และส่งไฟล์เข้ากลุ่มเฟซบุ๊ก”

แม้จะวางแผนมาอย่างดีแต่แค่การลงพื้นที่ครั้งแรกก็ผิดแผนเสียแล้ว เพราะผู้ใหญ่บางคนออกไปธุระช่วงที่ทีมงานเข้าไปที่บ้าน และการเลือกลงไปเก็บข้อมูลช่วงเย็นหลังเลิกเรียนที่มีเวลาจำกัด ทำให้เก็บข้อมูลไม่ครบและไม่ทัน จึงตัดสินใจลงไปเก็บข้อมูลซ้ำในบ้านที่เก็บไปแล้ว ส่วนบ้านที่ยังไม่ได้ไปจะโทรศัพท์หรือไลน์ไปบอกผู้ใหญ่ก่อนว่าจะเข้าไปถามข้อมูล และเพิ่มเวลาเก็บข้อมูลเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย แต่ระหว่างที่ดำเนินการตามแผนใหม่อยู่นั่นเอง ความผิดแผนอีกระลอกก็มาเยือน

“ตอนนั้นพี่ชาเดยุ่งมากจนไม่มีเวลามาช่วยพวกเราเหมือนเดิมครับ เราเลยหยุดทำโครงการไปพักหนึ่ง ไม่รู้จะทำอะไรต่อ เพราะพี่ชาเดเป็นคนช่วยติดต่อผู้ใหญ่ แต่พอคิดว่าเราชอบสิ่งที่กำลังทำ รักในวัฒนธรรมของเรา และรักเพื่อนในทีมด้วย ช่วยกันทำมาตั้งเยอะแล้ว เลยคิดว่าต้องช่วยกันไปให้ถึงที่สุด ถึงจะเหนื่อย แต่สนุกมาก เราเลยลุยต่อกันเอง พี่เลี้ยงไม่ว่างก็ไม่เป็นไร” ฟลุ๊กเล่า

หลังผ่านไปราวเดือนครึ่ง ในที่สุดทีมงานก็เก็บข้อมูลได้ครบตามที่ตั้งเป้าไว้ พวกเขานำข้อมูลที่ได้มาแลกเปลี่ยนให้กันฟัง เพื่อให้รู้เท่าๆ กัน และช่วยกันดูข้อมูลอีกครั้งเพื่อตรวจความถูกต้องและความครบถ้วน

แก้ปัญหา...ครั้งแล้ว ครั้งเล่า

กิจกรรมต่อมาคือการนำข้อมูลที่มีทั้งหมดมาเรียบเรียงเป็นแผนที่เพื่อทำเส้นทางท่องเที่ยว ซึ่งทีมงานพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่เป็นงานที่ยากที่สุด!

มินนี่เล่าว่า “ตอนนั้นเวลาของเราไม่ตรงกันค่ะ นุชกับพี่ไนต์เรียนในเมือง ส่วนพวกเราเรียนแถวบ้าน เวลานัดมาทำแผนที่ บางคนจึงไม่ว่าง มาทำได้แค่ 1-2 คน งานก็ไม่เสร็จ เราเลยพยายามหาวันที่ทุกคนว่างจริงๆ ถามย้ำหลายรอบว่าต้องว่างจริงๆ นะ แล้วให้พี่ฟลุ๊กกับแบมขี่มอเตอร์ไซค์ไปรับเลยค่ะ”

ในที่สุดวิธีการตามถึงบ้านก็ทำให้ทีมงานมาพร้อมหน้าพร้อมตา ระหว่างนั้นพวกเขาได้ชักชวนผู้ใหญ่ในชุมชนมาร่วมให้ความเห็นด้วย และแล้วแผนที่ชุมชนที่ประกอบด้วย เส้นทางการท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ จุดสำคัญในหมู่บ้าน และของดีในชุมชนก็เสร็จสมบูรณ์ ทีมงานเดินหน้าต่อด้วยการแผนที่ท่องเที่ยวไปทดลองจัดกิจกรรมปั่นจักรยานท่องเที่ยวชุมชนกับน้องๆ ในชุมชน พวกเขาพบปัญหาว่า ยังวาดเส้นทางได้ไม่เหมือนจริงนัก จึงทำให้คนใช้งานงงบ้าง แต่ก็พอใช้ไปได้ หลังจบกิจกรรม น้องๆ สะท้อนว่าอยากให้พวกเขาจัดงานสนุกๆ แบบนี้อีก จากนั้นทีมงานได้กลับมาปรับเปลี่ยนข้อมูลในแผ่นพับใหม่

ไนต์เล่าว่า แผ่นพับเดิมมีข้อมูลของ 10 หมู่บ้าน แต่ปรับให้เหลือแค่ 4 หมู่บ้าน เพราะอยากเลือกที่เป็นของดีบ้านธิจริง ๆ โดยสอบถามจากพี่ชาเดและพูดคุยกันเอง เลือกจากจุดเด่นและของที่เป็นสินค้าโอทอป คือบ้านแพะต้นยางงามเด่นเรื่องอุโบสถ ป่าเปามีน้ำทุ่งที่เป็นชะอมตักน้ำ ป่าปี๊เป็นข้าวแคบ อาหารกินเล่น ป่าเหียงมีบ้านไทลื้อหลังสุดท้าย

หลังจากนี้พวกเขาวางแผนจะทำปฏิทินชุมชนต่อ โดยในปฏิทินจะใส่เทศกาล และของกินที่โดดเด่นในแต่ละฤดู เผื่อนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะได้นำไปดูเป็นไกด์ไลน์ น่าตื่นเต้นว่าหากปฏิทินท่องเที่ยวนี้สำเร็จเมื่อไร การเดินทางเข้าไปเที่ยวของนักท่องเที่ยวจะสนุกขึ้นอีกสักเพียงใด

ทว่ากว่าโครงการจะเดินมาถึงขั้นใกล้สมบูรณ์เช่นนี้ ทีมงานสารภาพพวกเขาแอบเบื่อโครงการนี้ไปหลายทีเหมือนกัน ฟลุ๊กเล่าว่า “ตอนทำโครงการอยู่บางทีมันก็น่าเบื่อนะ เบื่อการประสานงานผู้ใหญ่ เบื่อการทะเลาะกับเพื่อน มาสายแล้วก็เถียงกัน วีนกัน แต่ทำไปทำมามันสนุกมากกว่า เพราะเถียงกันไปเถียงกันมามันจบด้วยการหัวเราะกันได้อย่างไรไม่รู้ (หัวเราะ)”

การเรียนรู้และความสุข

ระยะทางการทำโครงการเป็นดั่งระยะทางของการขัดเกลาตัวตนของทีมงานแต่ละคน อะไรที่เคยคิดว่าทำไม่ได้ ไม่กล้าทำ กลับกลายเป็นว่าพวกเขาทำได้ และทำได้ดีเสียด้วย

ฟลุ๊ค มินนี่ และนุช ที่เคยกลัวการพูดออกไมค์ ตอนนี้กลับหยิบมาพูดได้อย่างสบาย ๆ จากการได้ทำซ้ำ ๆ ผ่านกระบวนการทำงาน นอกจากนั้นเพื่อนๆ ยังสะท้อนว่าฟลุ๊กเป็นผู้นำทีมคนหนึ่งที่ดีทีเดียว

ไนต์เล่าว่า “พี่ฟลุ๊กมีความเป็นผู้นำขึ้นมาก นำให้ทำงานที่ค้างอยู่ให้เสร็จ (หัวเราะ) คอยตามมาทำตลอด บางทีก็แกล้งขู่พวกเราว่าถ้าไม่เสร็จห้ามกลับ เขาจะบอกเสมอว่านี่เป็นความรับผิดชอบ เป็นหน้าที่ของพวกเราที่เป็นลูกหลานชุมชน ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำล่ะ”

ส่วนไนต์ เจ้าตัวบอกว่ารู้เรื่องเกี่ยวกับชุมชนขึ้นมาก และกลายเป็นคนที่ติดนิสัยการจดข้อมูลจากการลงพื้นที่ ทำให้เธอไม่พลาดเรื่องสำคัญๆ ที่ต้องทำ ขณะที่เพื่อนๆ ยืนยันว่า ไนต์เป็นคนจดละเอียด และจัดระเบียบข้อมูลดีมาก เป็นประโยชน์ต่อการทำโครงการที่ผ่านมา

พี่ชาเด ผู้ที่มองเห็นพัฒนาการของทีมงานมาตลอดบอกว่า “เมื่อก่อนเด็กกลุ่มนี้จะกลัวไมค์ใครส่งให้ก็ตื่นเต้น แต่พอทำโครงการมาเรื่อยๆ เขากล้าแสดงออก พัฒนาความคิดเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก แล้วยิ่งทำก็ยิ่งรักชุมชน เชื่อว่าเขาจะกลับมาพัฒนาบ้านของเขาแน่นอน”

ไม่ใช่เพียงเปลี่ยนนิสัยของพวกเขา หากแต่การลงพื้นที่เก็บข้อมูลในชุมชนยังเป็นเหมือนเครื่องมือถักทอสายใยความผูกพันระหว่างทีมงานกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเกิดให้แน่นแฟ้นมากขึ้นจากการที่พวกเขาได้ค้นพบ ‘ความสุข’ บางอย่างด้วยตัวเอง

ฟลุ๊กเป็นตัวแทนเพื่อนๆ บอกเล่าประสบการณ์ดังกล่าวว่า “คนเฒ่าคนแก่เขาชอบเล่าประวัติความเป็นมาของบ้านให้เราฟังครับ บางทีถามนิดเดียวก็เล่ายาวเลย คงเพราะบางคนอยู่คนเดียว เขาอาจจะเหงา เราไปคุยด้วย เขาก็มีความสุข ยิ้มได้ พอเจอรอยยิ้มของคนอื่นก็ทำให้เรายิ้มตามไปด้วย บางคนที่เมื่อก่อนไม่สนิทกันก็สนิทมากขึ้น เราไปถึงตอนเขากินข้าวอยู่ เขาก็ชวนกินข้าว ไปทุกครั้งชวนทุกครั้ง เขาเอ็นดูเราเหมือนเป็นลูกเป็นหลาน เจอหน้าก็พูดคุยทักทายกันครับ”

ความสุขอีกอย่างที่ทีมงานพบคือ การได้รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ในบ้านเกิดของตัวเอง ได้พบว่าชุมชนมีของดีๆ มากมายที่คนรุ่นก่อนพยายามรักษาไว้มาจนถึงพวกเขา ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทลื้อมากขึ้น และตั้งใจว่าอยากสืบทอดเพื่อส่งต่อแก่คนรุ่นต่อไปเช่นกัน


โครงการเรียนรู้รากเหง้า เฝ้ารักษ์วัฒนธรรมไทลื้อ

ที่ปรึกษาโครงการ : จันทร์เพ็ญ ประยงค์

พี่เลี้ยงโครงการ :

  • สุจิน ใสสอาด
  • ชาเด ฮั้น

ทีมงาน :

  • พงศกร ศรีวิชัย 
  • ปณันธิตา พือวัน
  • อโรชา ศรีสัตตยะบุตร
  • วาสนา ปัญโญใหญ่
  • กัญชพร เขื่อนคำ