การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อปลูกจิตสำนึกในการเป็นจิตอาสาพัฒนาวัดในชุมชนรอบสวนพุทธธรรม จังหวัดลำพูน ปี 1

เยาวชนดีวิถีพุทธ พัฒนาชุมชน พัฒนาตนเอง

หากให้นิยามถึง “ความดี” คงมีหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามความเชื่อ แต่สำหรับเด็กในมูลนิธิสวนพุทธธรรม จังหวัดลำพูนแล้ว “นิยามความดี” ของพวกเขาคือ...

“การปลูกฝังให้เด็กมีจิตอาสา” พี-ฤทธิเกียรติ์ ปัณวาลีย์

“ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์” นะโม-รักษ์ชาติไทย สัยเจริญ

“การทำสิ่งดีๆ ที่มีประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่น” บิว-เจนณรงค์ กาสุยะ

“การให้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด” นุ๊กนิ๊ก-กนกนันท์ หมื่นสิทธิโรจน์

“ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน” ปุกกี้-จุฑามาศ ทะกาศ

“บิว-พี-นะโม-นุ๊กนิ๊ก-ปุกกี้” คือกลุ่มเยาวชนที่แวะเวียนเข้ามาปฏิบัติธรรมและทำกิจกรรมจิตอาสากับมูลนิธิสวนพุทธธรรมมาหลายปี เมื่อมีโอกาสพวกเขาจึงคิดขยายผล “ความดี” ไปสู่ 5 ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงสวนพุทธธรรมด้วยการทำโครงการเยาวชนดีวิถีพุทธ

+ ขยายผล “ความดี”

การขยายผลความดีของเด็กสวนพุทธ ไม่ใช่การจัดค่ายธรรมมะหรือค่ายพุทธบุตร แต่เป็นการชวนกลุ่มก๊วนเยาวชนทั้งในและนอกระบบสถานศึกษา รวมถึงผู้ใหญ่ในชุมชนให้มาร่วมกันทำจิตอาสาพัฒนาวัดของชุมชน โดยใช้กิจกรรมจิตอาสาที่วัดพระธาตุหริภุญชัยมหาวิหารที่เคยทำมาเป็นต้นแบบ ขยายผลไปสู่ 5 พื้นที่ที่อยู่ใกล้ๆ สวนพุทธธรรมคือ 1.วัดหนองหนาม หมู่ 3 ต.หนองหนาม 2. วัดสุมนารามหนองเหียง หมู่ 5 ต.หนองหนาม 3. วัดกู่เรือง(กู่เส้า) หมู่ 2 ต.เหมืองจี้ 4.วัดพระธาตุหริภุญชัย และ 5. สวนพุทธธรรม เพราะอยากให้เกิดสายใยความใกล้ชิดระหว่างเยาวชนในชุมชนกับวัดของชุมชน และสวนพุทธธรรม

บิวเล่าว่า กระบวนการชวนทำความดีของทีม เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการติดต่อเด็กในชุมชนที่สนิทสนมกันมาก่อน

“ถ้าเป็นผู้ใหญ่ไปบอกให้เด็กมาทำกิจกรรมจิตอาสาเกี่ยวกับวัด เด็กอาจจะตั้งกำแพงตั้งแต่ต้น คิดไปล่วงหน้าว่าน่าเบื่อ ไม่น่าไปแน่ ๆ แต่พวกเราเลือกจะติดต่อผ่านประธานสภาเด็กและเยาวชนประจำตำบลที่รู้จักกันอยู่แล้ว เพราะผมเคยเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนของตำบลหนองน้ำก็เลยใช้เครือข่ายที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ครับ” บิวเล่า

ส่วนผู้ใหญ่ในชุมชนก็ใช้วิธีนำแผนงานของโครงการไปเล่าให้ผู้ใหญ่บ้านของแต่ละชุมชนฟัง พร้อมกับเชิญชวนชาวบ้านมาเข้าร่วมกิจกรรม พวกเขาให้เหตุผลว่า “เราอยากให้คนในหมู่บ้านเข้ามาร่วมด้วย เพราะคิดว่าวัดเป็นของคนในชุมชน ทุกคนควรเข้ามามีส่วนร่วม” โดยระหว่างที่เข้าไปประสานงานกับชุมชน ก็เข้าไปชี้แจงการทำกิจกรรมในวัดให้เจ้าอาวาสรับรู้ พร้อมกับนัดหมายเวลาทำกิจกรรม

เพราะมีประสบการณ์ทำกิจกรรมจิตอาสามาแล้ว การแบ่งบทบาทหน้าที่การทำงานจึงทำได้ไม่ยาก เมื่อวันจริงทีมงานแต่ละคนต่างขันแข็งรับผิดชอบงานของตัวเองอย่างเต็มที่

พีเล่าภาพบรรยากาศวันนั้นว่า “บิวจะเป็นคนไปรับน้องๆ มาเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อมาถึงก็จะพาดูสถานที่ที่จะทำกิจกรรมก่อน เพื่อให้น้องเห็นภาพตรงกับทีมงาน เสร็จแล้วก็มอบหมายงานให้น้องทำ โดยนุ๊กนิ๊กจะดูแลเรื่องอาหารและการลงทะเบียน เพื่อเช็คชื่อว่าใครจะดูแลส่วนไหน แต่ทำไปทำมาก็ช่วยๆ กันครับ ปุ๊กกี้กับนะโมช่วยเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด บิวเป็นพิธีกรและทำสันทนาการ ส่วนผมคอยเก็บภาพครับ”

การแบ่งบทบาทหน้าที่กันชัดเจน ทำให้งานดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เพราะทุกคนเข้าใจหน้าที่ของตนเอง ขณะเดียวกันก็ยังมีการช่วยเหลืองานซึ่งกันและกัน ทำให้น้องๆ ที่มาร่วมโครงการเริ่มสนุกสนานไปกับการทำงาน แต่แม้จะจัดการการทำงานในทีมได้ดีแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่นอกเหนือความคาดหมายและยากจะจัดการก็เกิดขึ้น...

+ ทำความดีนี่ยากจริง!

ด้วยสภาพอากาศฟ้าฝนไม่เป็นใจ งานที่คิดว่าง่าย ๆ เดี๋ยวก็เสร็จ ก็เริ่มเละไม่เป็นท่า!

“สุด ๆ จริง ๆ พูดไม่ออกเลย” บิวบอก

“ตอนแรกก็ทำไปสนุกสนานเฮฮากันไป แต่ทำไปทำมาฝนก็ลงมาแรงมาก ตกหนักจนทำอะไรไม่ได้เลย

แล้วตรงนั้นมีขี้นกเยอะมาก...กกก ยิ่งโดนฝนยิ่งเละ จนน้ำไม่ระบาย ขี้นกมันไหลไปอุดตันท่อ จังหวะหนึ่งที่ฝนซา เด็ก ๆ ก็รีบมาช่วยกันกวาด แต่กวาดไปได้ไม่เท่าไหร่ ฝนก็เทลงมาอีก คราวนี้หนักมาก ทั้งขี้นก ทั้งเศษไม้ อะไรต่อมิอะไรไหลไปออกันจนท่อระบายน้ำอุดตัน น้ำที่ระบายไม่ได้ก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จังหวะนั้นผมก็เปียกไปทั้งตัวแล้ว น้ำก็ขึ้นสูงเกือบถึงหัวเข่า เลยตัดสินใจใส่ถุงมือแล้วล้วงขี้นกและเศษไม้ใบหญ้าออกมา น้ำจึงระบายออก”

แม้สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นอาจไม่ใช่ภาพที่น่ามอง และคาดคะเนได้ว่าคงดูสกปรกจนหลายคนต้องร้องอี๋! แต่ทีมงานก็ต้องลงมือทำด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า “ถ้าไม่ทำน้ำก็ไม่ระบาย แล้วถ้าพวกเขาไม่ทำแล้วใครจะทำ”

ทุกครั้งหลังทำกิจกรรมเสร็จทีมงานจะชวนน้อง ๆ ร่วมอนุโมทนาบุญที่ร่วมทำสิ่งดีๆ ซึ่งเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของพวกเขา

“ที่เราทำโครงการนี้ เพราะอยากปลูกฝังให้น้อง ๆ เป็นคนดี มีจิตสาธารณะ รู้จักทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม การให้น้องๆ อนุโมทนาบุญเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เขาระลึกถึงความดีที่ตัวเองทำไป และรับรู้ว่าตัวเองสามารถทำสิ่งดีๆ ให้คนอื่นได้เช่นกัน” บิวเล่า

ส่วนทีมงานเองก็มีเครื่องมือให้ระลึกถึงความดีที่พวกเขาร่วมแรงร่วมใจกันทำเช่นกัน นั่นคือการพูดคุยหลังจากทำงานเสร็จ เพื่อสรุปบทเรียนการทำกิจกรรมสำหรับนำไปปรับใช้กับการทำงานครั้งต่อไป

เพราะเป็นการทำงานกับเด็กหลากหลายวัย หลากหลายความคิด และด้วยช่วงวัยที่ต้องมีดื้อ มีซนกันบ้าง ทีมงานก็ต้องมีลูกล่อลูกชน สิ่งที่ตนเองไม่ชอบก็จะไม่ทำกับเด็ก เช่น การดุด่าว่ากล่าวเวลาน้องดื้อซน หรือบางคนอยากกลับบ้าน

“เวลาเราถูกด่าเรายังไม่ชอบเลย เด็กก็คงไม่ชอบเช่นกัน ก็เลยใช้ความเป็นพี่พูดจาแบบนิ่มนวลว่า ทำมาขนาดนี้แล้ว อีกนิดเดียวก็เสร็จ เอาให้มันสุด ๆ ไปเลย เสร็จแล้วเดี๋ยวไปหาอะไรกินกัน แต่ก็ไม่เคยพาไปเลย (หัวเราะ) แต่น้องก็อยู่ด้วยตลอดนะ” บิวเล่าวิธีแก้ปัญหา

พีเสริมว่า มีบางครั้งเหมือนกันที่น้องดื้อมาก ๆ ไม่ทำอะไรเลย เกือบอดใจไม่ไหว แต่เราก็ไม่อยากด่าเด็ก รู้ว่าถ้าด่าเด็กจะหนีเราแน่นอน ใช้วิธีตะล่อม ๆ เอาว่า “ถ้าน้องสนใจจริง ๆ และคิดว่ามันเป็นประโยชน์ น้องก็ควรทำนะ ไม่ใช่ปล่อยให้เพื่อนคนอื่นทำแล้วน้องก็กลับบ้าน คนอื่นที่เหลือจะทำอย่างไร เป็นการเพิ่มภาระให้เพื่อนหรือเปล่า คนยิ่งเยอะแล้วมาช่วยกันไม่ดีกว่าเหรอ”

การทำความดีของเด็กสวนพุทธไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ แต่พวกเขายังขยายไปสู่เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในโครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน ด้วยการอาสาเข้าไปช่วยทำสันทนาการให้เพื่อน ๆ ในหลายพื้นที่ เช่น โครงการสืบฮีตสานฮอยภูมิปัญญา ''ครัวแต่งดาพิธีกรรม" บ้านจำขี้มด โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านสันคะยอมรุ่นสู่รุ่น บ้านสันคะยอมตำบลป่าสัก อำเภอเมือง ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทีมและเพื่อนในเครือข่ายเยาวชนเมืองลำพูนแน่นแฟ้นขึ้นแล้ว ยังทำให้ทีมได้ฝีกปรือฝีมือเรื่องการทำสันทนาการให้ดียิ่งขึ้น จนบิวได้รับการเชิญชวนให้เข้าร่วมอบรมวิทยากรกระบวนการ ที่เปลี่ยนเส้นทางการทำงานของเขาไปอย่างสิ้นเชิง

+ ทำดี...ได้ดีจริง ๆ นะ

สำหรับการรวมก๊วนทำความดี บิวที่เป็นพี่ใหญ่ของทีมเล่าว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน เพราะรู้ดีว่าการทำโครงการระยะยาวเช่นนี้ ต้องใช้คนที่รู้จัก รู้ใจ และรู้มือกันจริง ๆ เท่านั้น เขาจึงชักชวนนุ๊กนิ๊กเพื่อนสมัยมัธยมศึกษาที่มีความสามารถในการจดจำและจัดการงานอย่างเป็นระบบเข้ามาร่วมทีม นะโมและพีก็เคยทำกิจกรรมร่วมกันที่สวนพุทธธรรมมาก่อน ซึ่งรู้มือและรู้งานกันดีอยู่แล้ว มีแต่ปุ๊กกี้เท่านั้นที่ต่างจากคนอื่น

“ปุ๊กกี้เป็นลูกพี่ลูกน้องของผม เขามีโลกส่วนตัวสูง ไม่ชอบสุงสิงกับใคร ไม่ค่อยรับผิดชอบเรื่องการเรียนเท่าไร ติด 0 มากถึง 4 ตัว ผมจึงอยากให้เขาออกมาพบเจอโลกภายนอก ได้ทำเพื่อคนอื่นบ้าง เพื่อที่เขาจะได้มีความรับผิดชอบมากขึ้น” บิวเล่าเหตุผลการดึงน้องเข้ามาทำงาน

และด้วยเจตนาดีที่ชักชวนเยาวชนคนอื่นมาทำดี และคิดจะส่งต่อเรื่องดี ๆ ไปสู่คนรุ่นต่อไป ทำให้ทีมงานได้ค้นพบความเปลี่ยนแปลงดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวพวกเขา ซึ่งน่าจะส่งผลให้ชีวิตของพวกเขาก้าวต่อไปได้ดีมากขึ้นอีกขั้น

นะโมคนที่เคยขี้อาย ไม่กล้าแสดงออกจนทำให้มีเพื่อนน้อย ก็ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ ๆ ผ่านการทำโครงการ และกลายเป็นคนที่กล้านำเสนอ กล้าตอบคำถามมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นทักษะใหม่ที่เขาตั้งใจว่าจะค่อย ๆ เรียนรู้เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นอีก

“จากที่อยากมาก็กลายเป็นไม่อยากทำ เพราะรู้สึกเบื่อ ไม่ชอบเลย” ปุ๊กกี้สารภาพความรู้สึกที่มีต่อการทำโครงการช่วงแรก ก่อนเล่าต่อว่า

“แต่ลองฝืนใจมาต่อ กลายเป็นว่าหนูได้ฝึกฝนตัวเองเพิ่มหลายอย่าง มีทักษะการวางแผนมากขึ้น มีขั้นตอนการทำงาน เข้ากับคนอื่นได้ง่าย อีกอย่างคือเรียนดีขึ้นด้วยค่ะ (ยิ้ม) เมื่อก่อนเป็นคนเรียนแบบสบายๆ แต่พอเริ่มติดศูนย์ก็เริ่มรู้สึกเครียด กดดันตัวเอง ครอบครัวก็มาเครียดกับเราด้วย เลยมีแรงผลักดันที่จะเรียนให้ผ่านให้ได้ ไม่อย่างนั้นเราจะเจอปัญหานี้ไปอีกเรื่อย ๆ”

“ผมเปิดใจทำงานที่หลากหลายมากขึ้นครับ” พีเล่าสั้น ๆ อย่างตรงประเด็น ก่อนอธิบายเพิ่มว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการทำงานในโครงการที่มีหลายอย่างให้ทำ บางอย่างที่เคยคิดว่าอาจทำไม่ได้ ไม่เคยทำก็ได้ลองทำ ซึ่งทำให้เขาค้นพบศักยภาพของตัวเอง โดยเฉพาะการทำคลิปวิดีโอที่เขาสามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานประชาสัมพันธ์ที่มูลนิธิสวนพุทธธรรมได้

ส่วนนุ๊กนิ๊กยอมรับว่า ตัวเองเคยเป็นคนอารมณ์ร้อนมาก่อนและมันก็ค่อย ๆ ลดดีกรีลงนับตั้งแต่วันที่เธอลงมือทำโครงการนี้

“หนูเป็นคนที่เคยคิดว่าความคิดของเราถูกที่สุดแล้ว ใครจะมาลบล้างไม่ได้ คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ต้องเหนือกว่า ไม่อย่างนั้นไม่ยอม ทุกคนต้องฟังหนูเท่านั้น แต่พอทำโครงการที่ต้องทำงานเป็นทีม ทำให้หนูกลับมาคิดว่าต้องฟังคนอื่นบ้าง พอฟังแล้ว มันก็ใช้ได้อยู่นะ ทำให้หนูรู้ว่าคนอื่นก็ทำได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะต้องเอาความคิดของเราเป็นใหญ่อย่างเดียว เราต้องหัดฟังคนอื่นบ้าง แล้วพอได้ฟังก็ทำให้เราได้เห็นว่าคนอื่นคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร ขณะเดียวกันหนูก็ใจเย็นขึ้น นิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วยค่ะ”

การรับฟังที่เปลี่ยนนุ๊กนิ๊กหัวร้อนให้เป็นคนใจเย็นนั้นมาจากการเข้าร่วมเวทีกลางของทีมโคช ที่จัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนกลุ่มอื่น

“พี่เขาให้หนูจับกลุ่มพูดคุยกับเพื่อนโครงการอื่นประมาณ 5 คน ให้เวลาพูดแค่ 3 นาทีมีระฆังตีเมื่อครบเวลา ด้วยความที่หนูชอบพูดเยอะ พอพี่เขาตีระฆังหนูก็คิดว่า “อะไรวะ ยังพูดไม่จบเลย” แต่ก็ต้องหยุดพูด และเปลี่ยนบทบาทมาฟังเพื่อนแทน ตอนแรกๆ ก็แอบเถียงอยู่ในใจว่า ยังพูดไม่จบให้หยุดทำไม ยังมีเรื่องดี ๆ ให้พูดอีกเยอะ แต่พอต้องนิ่งฟังจริง ๆ ใจก็ค่อย ๆ นิ่งขึ้น พอหูเริ่มเปิด ใจเริ่มเปิด ก็ทำให้เห็นว่างานของโครงการอื่นก็ดีเหมือนกัน ไม่ใช่ของเราดีคนเดียว” นุ๊กนิ๊กเล่ากระบวนการที่ทำให้เธอเปลี่ยนความคิดตัวเอง ที่เธอยอมรับว่า โชคดีมาก ๆ ที่ได้เข้ามาทำโครงการนี้ เพราะในอีก 1 ปีข้างหน้าเธอต้องไปเป็นครูแล้ว กระบวนการนี้เองที่ทำให้เธอรู้ว่า “ครูที่ดีต้องรับฟังเด็ก”

ส่วนบิว สิ่งดี ๆ ที่เขาได้กลับมาไม่ใช่แค่ความเปลี่ยนแปลงของทักษะการทำงาน แต่มันเปลี่ยนความคิดต่อการใช้ชีวิตของเขาหลังจากวันนี้เป็นต้นไป

“ผมเปลี่ยนความคิดตอนได้เข้าร่วมอบรมวิทยากรกระบวนการ เมื่อก่อนผมคิดว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะไปทำงานเป็นช่างซ่อมรถ และคิดว่าคงจะเป็นช่างไปเรื่อย ๆ โครงการนี้ทำให้ผมค้นพบตัวเองว่าเราชอบทำกิจกรรม แล้วก็มาคิดต่อว่าจะทำกิจกรรมอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ จึงตัดสินใจลาออกมาจากร้าน เพราะอยากออกไปข้างนอกไปหาประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคมให้กับตัวเอง”

ประสบการณ์ที่บิวตั้งใจสั่งสมเกี่ยวกับการทำกิจกรรมนั้น ไม่ได้ทำไปเพื่อตัวเขาเองเพียงคนเดียว แต่บิวตั้งใจว่าจะนำประสบการณ์เหล่านั้นกลับมาพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ในชุมชน

“โครงการนี้ทำให้เราคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เรามีคือชุมชน เราต้องพัฒนาชุมชนเราก่อน เริ่มจากตัวเราและคนใกล้ตัว ที่สำคัญคือ ผมต้องพัฒนาเด็กในหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นรุ่นต่อไปที่จะขึ้นมาแทนเราให้ได้ ทำให้เด็กได้รู้ว่า ชีวิตเราไม่ได้อยู่ที่การเรียนให้จบ ทำงาน มีชีวิตครอบครัว แต่เราต้องทำให้เด็กรู้ว่ากิจกรรมที่เขาทำส่งผลกับตัวเองและคนในสังคมอย่างไร จะทำให้เด็กเห็นคุณค่าของตัวเอง ใช้คุณค่าของตัวเองไปพัฒนาสังคมได้อย่างไร ซึ่งถ้าทำได้สักคนสองคนก็ยังดี ดีกว่าที่เราไม่ทำอะไรเลย โดยที่เราออกมาทำหน้าที่พี่เลี้ยงคอยสนับสนุนเด็กๆ ครับ”

แม้เมล็ดพันธุ์แห่งความดีที่พวกเขาหว่านไว้ในใจเด็กๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอาจจะยังไม่งอกเงยเห็นผลในวันนี้ แต่ดอกผลที่อยู่ในใจของทีมงานเริ่มเติบโตและค่อยๆ เบ่งบานแล้ว นั่น “เมล็ดพันธุ์แห่งความดี” ที่มีอยู่ในตัวพวกเขา จนกล้าพูดออกมาอย่างมั่นใจว่า


โครงการเยาวชนดีวิถีพุทธธรรม จิตอาสาพัฒนาวัดในชุมชน

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • อดิศักดิ์ จันทะราชา 
  • ณัฏฐ์วรัชญ์ วงค์ชิระนันท์

พี่เลี้ยงโครงการ : ดวงหทัย จันทะราชา

ทีมงาน :

  • เจนณรงค์ กาสุยะ 
  • ฤทธิ์เกียรติ ปันวาลีย์
  • รักษ์ชาติไทย สัยเจริญ 
  • จุฑามาศ ทะกาศ
  • กนกนันท์ หมื่นสิทธิโรจน์