การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อจัดการขยะในตลาดนัดชุมชน บ้านนครเจดีย์ จังหวัดลำพูน ปี 1

เด็กนอกสายตามาแรง!

แม้สนามฟุตบอลข้างโบสถ์วัดนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน จะมีเด็ก ๆ อย่าง บอล-ศุภโชค ธัญสิริ แอนด์เดอะแกงค์ ออกมาเตะบอลส่งเสียงเอะอะกันทุกวัน แต่ก็ไม่ได้อยู่ในสายตาของ ตุ๊นัด หรือ พระปลัดศิวนัฐ เมธีปชฺโชโต แห่งวัดหนองเจดีย์ ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน แต่อย่างใด

เพราะเมื่อ พี่รัตน์-จินดารัตน์ โคชจากสถาบันหริภุญชัยชักชวนเข้าร่วมโครงการปลุกสำนึก สร้างพลังเสริมศักยภาพเยาวชนเมืองลำพูน เด็กกลุ่มแรกที่ตุ๊นัดมองเห็นคือ กลุ่มเด็กในโรงเรียนธรรมสาธิตซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดของวัดนครเจดีย์

กระทั้งเมื่อเวที “ทำความเข้าใจ” เกี่ยวกับโครงการที่ทำ เด็กกลุ่มแรกที่ถูกส่งไปเข้ารับการอบรมกลับไม่ยอมไปต่อ หลายคนบอกว่ามีภารกิจการเรียน บางคนไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมในวันหยุดได้ และที่สำคัญคือเด็กหลายคนยังไม่มี “แรงบันดาลใจ” มากพอที่จะทำกิจกรรมทางสังคมเพื่อส่วนรวม

“ตอนนั้นเข้าใจว่า การทำโครงการแบบนี้ต้องเอาเด็กที่มีความพร้อมทางด้านวิชาการ แต่ระหว่างทางจึงได้รู้ว่า จริง ๆ แล้วโครงการนี้ ไม่ได้เน้นเฉพาะเด็กในโรงเรียน หรือเน้นเนื้อหาทางวิชาการ แต่เป็นการเข้าไปสร้างศักยภาพเด็ก ๆ ในชุมชน”

ความกระจ่างที่ตุ๊นัดพบ เกิดขึ้นหลังจากที่ตบปากรับคำนำเด็กเข้าร่วมในโครงการ เนื่องจากเห็นว่าในชุมชนนครเจดีย์ยังขาดกลุ่มเยาวชนที่จะลุกขึ้นมาช่วยแบ่งเบาภาระของชุมชน

โอกาสพัฒนาเยาวชนของชุมชน

“เราอยากฝึกฝนเด็กเหมือนที่เคยอยู่ป่าซาง ก่อนมาอยู่ที่นี่ได้สร้างเครือข่ายเยาวชนที่นั่นไว้จนแน่นเลย เป็นเด็กเยาวชนจิตอาสากลุ่มใหญ่ประมาณ 20 คน ใช้เวลาสร้างนานเหมือนกัน พอมาอยู่ที่นครเจดีย์ก็เห็นว่ายังไม่มีกลุ่มเยาวชน พอมีโครงการนี้เข้ามาเด็กกลุ่มแรกที่คิดถึงคือนักเรียนจากโรงเรียนธรรมสาธิต เพราะคิดว่าเราดูแลโรงเรียนอยู่แล้ว น่าจะง่ายกว่า แต่ปรากฏว่าพอส่งไปอบรมเวทีแรก เกิดปัญหาชัดเจนเลย คือเด็กส่วนใหญ่มาจากต่างถิ่น แค่มาเรียนที่นี่ เวลาทำกิจกรรมจึงไม่ค่อยมี จะทำได้เฉพาะเวลาที่อยู่ในโรงเรียนเท่านั้น พอเลิกเรียนก็ต้องกลับบ้านใครบ้านมัน ตรงนี้ก็ทำให้เห็นอีกว่า สำนึกรักบ้านเกิดไม่ค่อยมีเพราะไม่ใช่บ้านของเขา”

ตุ๊นัดยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ เพราะเห็นว่านี่เป็นโอกาสสำคัญที่จะก่อร่างสร้างกลุ่มเยาวชนในพื้นที่นครเจดีย์

“พอเกิดปัญหาตรงนี้ โคชจากสถาบันหริภุญชัยบอกว่า ถ้าเดินหน้าต่อกับเด็กกลุ่มนี้อาจจะทำได้ยาก เพราะน้อง ๆ ไม่ค่อยมีเวลา”

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ตุ๊นัดได้บทเรียนที่สำคัญว่า การทำโครงการนี้ไม่เหมือนกับโครงการอื่น ๆ คือ หากจะให้เด็กรวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อชุมชนได้ เด็กๆ ต้องมีเวลาทำกิจกรรมพร้อมกัน และที่สำคัญคือควรเป็นเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชน

“ก็เลยกลับมามองหาเด็กกลุ่มอื่น ๆ เห็นว่ามีอยู่กลุ่มหนึ่งมาเตะบอลเป็นประจำ เป็นเด็กที่ใกล้ชิดกับวัด ซึ่งปกติเด็กกลุ่มนี้จะมาเล่นและมาช่วยงานที่วัดอยู่เสมอ และสิ่งที่มองเห็นคือเด็กกลุ่มนี้จะเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น ไปไหนไปกัน เล่นด้วยกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน บางทีก็ไปนอนด้วยกันที่บ้านของหัวโจก เลยมามองว่าอย่างน้อยถ้าได้ 5 คนนี้เป็นหลัก ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างกลุ่มเยาวชนขึ้นมาได้”

หัวใจที่ตุ๊นัดพูดถึงก็คือ บอล-ศุภโชค ธัญสิริ บอกว่าตอนที่หลวงพี่มาชวน ก็ตกลงทำเลยแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเหตุผลประกอบการตัดสินใจคือ “ว่าง...อยู่บ้านเฉย ๆ ก็ไม่มีอะไรทำอยู่แล้ว เลิกเรียนก็มาเล่นบอล”

ขณะที่ แบม-พรรณฤทัย มะโนปัน เด็กผู้หญิงคนเดียวในทีม แม้กลางวันเธอจะไปเรียนหนังสือ และยังสวมบทบาทสภานักเรียนของโรงเรียน แต่สิ่งที่เธอคาดหวังจากการเข้าร่วมโครงการคือประสบการณ์ใหม่ และเพื่อนใหม่

“ทำกิจกรรมในโรงเรียนเขาก็มีกรอบของเขาอยู่ เราอยากลองออกมาทำกิจกรรมข้างนอกบ้าง อยากทำกับชุมชนดูบ้างว่าจะเป็นยังไงบ้าง ยากหรือเปล่า”

อยากได้ประสบการณ์ ต้องทำงานหนัก

“ตอนแรกเราก็ยังจับประเด็นไม่ได้หรอกว่า ในโครงการที่ให้ทำๆ เพื่ออะไรยังไงบ้าง แต่พอไปเข้าเวิร์กชอปรอบต่อ ๆ มา ก็เริ่มมองเห็นแนวทางว่า ต้องกลับมาทำอย่างไรกันบ้าง เช่น เรากลับมามองว่า ที่ชุมชนเรามีปัญหามีอะไร แล้วเราจะแก้ยังไง เราจะช่วยยังไง” บอลอธิบาย

ซึ่งคำว่า “ช่วยยังไง” สะท้อนถึงความมีจิตอาสาในขั้นแรก และขั้นต่อมาก็คือหาแนวทางที่จะช่วยให้เกิดเป็นรูปธรรม นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการขยะเยอะแยะแยกแยะนะจ๊ะ แม้ชื่อจะออกมากวน ๆ แต่เนื้อหาที่ซ่อนอยู่มันบอกชัดเจนว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องการเอาจริงเอาจังเรื่องเกี่ยวกับอะไร ซึ่งหากแปลความตามชื่อโครงการ คือไม่ได้ “ห้ามทิ้ง” ขอแค่ “แยก” และ “ทิ้ง” ขยะลงไปในที่ๆ ที่จัดไว้ให้เท่านั้นเอง คือโครงการที่ บอล แบม และทีมที่ประกอบด้วย โบ้ท-อภิชัย ชัยชนะ จิมมี่-พงศ์ปกรณ์ จางวาง ทิวลี่-ธนพนธ์ อินทรเสม และ บาส-ศุภกฤต กันสุยะ

“ก่อนจะเป็นโครงการนี้ น้อง ๆ คิดใหญ่มาก อยากให้ขยะลดทั้งชุมชน เราในฐานะพี่เลี้ยงก็ตั้งคำถามว่า จะไหวเหรอทำทั้งชุมชน มันกว้างนะ ลองลดพื้นที่ลงมาหน่อยดีมั้ย” ตุ๊นัดให้เหตุผลที่ต้องลดพื้นที่จากที่ต้องทำทั้งชุมชน เหลือแค่พื้นที่หน้าวัด

“ก็เห็นด้วยกับหลวงพี่ เพราะขยะหน้าวัดมันเยอะจริง ๆ เวลามีตลาดนัดจะมีคนต่างถิ่นมาซื้อของแล้วก็ทิ้งขยะไว้เต็มไปหมด และที่ตลาดก็จะมีคนทำความสะอาดอยู่ 1 คน ที่มาเก็บและรวบรวมไปเผา ไปทิ้ง ไปกำจัด เห็นว่ามันไม่มีการแยก” บอลกล่าวเสริม

เมื่อมองเห็นปัญหา แนวทางแก้ไขต่อมาคือ “หาวิธีการให้คนแยกขยะ”

เริ่มต้นที่การทำจุดแยกขยะ จากนั้นให้คนที่มาซื้อของในตลาดร่วมกันคัดแยกขยะของตนเองก่อนทิ้งถัง แต่ก่อนจะไปถึงขั้นตอนนั้น ตุ๊นัดจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะ ด้วยการเชิญวิทยากรที่เทศบาลมีความรู้เกี่ยวกับขยะมาให้ความรู้แก่น้อง ๆ

“เพราะเทศบาลเขาเก่งในเรื่องการกำจัดขยะ การแยกขยะ เราก็เอาความรู้ตรงนั้นมาเป็นข้อมูลให้เด็ก ๆ ทำเป็นแผ่นพับแล้วนำไปประชาสัมพันธ์ในตลาด พ่อค้าแม่ค้า คนเดินตลาด แนะนำให้เด็กนำเสนอให้เขา หลังจากนั้นจึงจะตั้งจุดรับขยะ ขยะนี้แยกตรงนี้”

แต่เอาเข้าจริง ทุกวันนี้ไม่น่าจะไม่มีใครเข้าใจรูปแบบการแยกขยะว่าขยะแบบไหนควรทิ้งตรงไหน ขยะเปียก ขยะมีพิษ หรือขยะรีไซเคิลเอาไปขายได้หน้าตาเป็นอย่างไร แต่ประเด็นสำคัญที่น้อง ๆ สังเกตเห็นคือ หน้าวัดก็มีถังขยะ แต่ทำไมคนถึงยังไม่ยอมแยก

“ไม่เข้าใจเหมือนกัน” บอลพึมพัมก่อนบอกแนวคิด และวิธีการแก้ไขปัญหาว่า

“พอถึงวันที่มีตลาดนัด เราก็เอาป้ายโครงการเราไปยืนถืออยู่หน้าตลาด แจกแผ่นพับให้คนที่มาตลาด และประชาสัมพันธ์ให้เขารู้ว่า ทิ้งได้นะครับ แต่เขาต้องทิ้งให้เป็นที่ แล้วให้น้อง ๆ ไปอยู่ประจำจุดที่เราเอาถังขยะไปวางไว้ แจกแผ่นพับเกี่ยวกับเรื่องขยะ ให้เขาไปศึกษา ให้อ่าน แล้วเราก็บอกเขาด้วยว่า ขยะอะไรใส่ตรงไหนบ้าง อะไรใส่ได้บ้างเรากำลังทำอะไรกันอยู่ ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนเห็นว่าเริ่มมีการแยกขยะ และทิ้งลงถังกันเยอะขึ้น พวกเศษแก้วก็ไม่ค่อยเห็นเรี่ยราดเหมือนแต่ก่อน แต่ว่าถุงจากแม่ค้าก็จะมีอยู่บ้าง เขาจะใส่ถุงดำไว้เลย แล้วเขาก็พิงต้นไม้ไว้”

เมื่อมั่นใจก็ต้องไปต่อ

ผลจากการทำเรื่องขยะ ซึ่งก็มีส่วนในการจัดระบบการทิ้งขยะของชาวบ้านที่มาจับจ่ายที่ตลาดนัดหน้าวัดได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันโครงการก็พาน้อง ๆ ไปเรียนรู้หลายเรื่อง เช่น ได้เจอเพื่อนใหม่ ได้ประสบการณ์หลาย ๆ แบบ ได้กินอาหารอร่อย ได้นอนพักโรงแรม (ความฟินสูงสุด) และที่คิดว่าเป็นสิ่งที่จะนำมาต่อยอดในการทำงานต่อ ๆ ไปคือ การมีโอกาสไปอบรมการผลิตสื่อที่ทำให้พวกเขาสามารถทำคลิปเผยแพร่ในช่องยูทูปได้

“จริง ๆ ผมสนใจโครงการนี้นะ เพราะทำให้น้อง ๆ ในทีมมีความกล้าแสดงออก ผมถึงให้พวกเขาไปยืนตะโกนต่อหน้าคนเยอะ ๆ พูดให้ช่วยกันแยกขยะ และทิ้งให้เป็นที่เพราะพวกเขาจะได้มีความกล้า แรก ๆ ก็ไม่กล้า ก็บอกว่าให้มั่นหน้าเข้าไว้ คิดว่าตัวเองเป็นคนหล่อ หน้าตาดี ความกล้าจะมาเอง เพราะถ้าน้อง ๆ กล้าแสดงออก ก็จะได้ไม่เขินกล้อง เวลาผมไม่อยู่จะได้ให้น้องถ่ายคลิปอะไรกันเองได้ เพราะว่าทุกวันนี้ผมต้องเป็นพิธีกรหลัก อย่างเช่น จิมมี่ซึ่งเป็นคนที่ไม่หือไม่อือใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นคนเฉย ๆ เงียบ ๆ พอเขาได้ออกไปพูดให้คนทิ้งขยะ เขาก็เริ่มคุ้น จับไมค์ได้ แม้จะยังพูดไม่คล่องก็ตาม”

สำหรับช่องบนยูทูป บอลบอกว่า เขาและแบมร่วมกับทำขึ้นมาเพื่ออยากหาเงินให้น้อง ๆ กินขนม ได้ไปเที่ยว ได้ออกไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เหมือนเด็กคนอื่น ๆ ดังที่เขามีโอกาสในการทำโครงการนี้


โครงการขยะเยอะแยะ แยกแยะนะจ๊ะ

พี่เลี้ยงโครงการ : ปลัดศิวนัฐ เมธีปชฺโชโต

ทีมงาน :

  • ศุภโชค ธัญสิริ 
  • พรรณฤทัย มะโนปัน
  • พงศ์ปกรณ์ จางวาง
  • ธนพนธ์ อินทรเสม
  • ศุภกฤต กันสุยะ