การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสืบสานภูมิปัญญาด้านการปลูกผักสวนครัวที่ปลอดภัย บ้านดอยแช่ จังหวัดลำพูน ปี 1

พักหน้าจอ ออกไปรู้จักผักสวนครัวในรั้วบ้าน

ใครซักคนพูดไว้ “แค่เปิดประตูเดินออกไปก็ได้ผจญภัยในโลกกว้างแล้ว” แต่เสียงพร่ำบ่นของแม่ที่บอกว่า “ออกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไปทำอย่างอื่นบ้าง” อาจทำให้ทั้ง แพท-ณัฐฏ์เอก นันทโชครุ่งศักดิ์ คอม-ธนทรัพย์ ปัญโญกาศ และบิว-ณัฐกฤช ใจแก้ว ตอบอยู่เงียบ ๆ ในใจว่า “อยากออกไปเหมือนกันแต่ไม่รู้จะไปทำอะไร”

กระทั่ง ครูดอกไม้ ปานพาน โรงเรียนบ้านแพะยันต์ดอยแช่ ที่สอนเด็กกลุ่มนี้มาก่อน มาชวนทำโครงการ เด็ก ๆ จึงเห็นว่า พ้นออกจากจอคอมพิวเตอร์และเกมมีเรื่องราวสนุก ๆ อีกมากมายหลายเรื่อง

โดยเฉพาะเรื่อง “ผัก”

“เรามองว่าชุมชนมีพื้นความรู้เกี่ยวกับเรื่องการปลูกผักเยอะ เพราะพื้นที่เหมาะกับการเกษตรมาก คืออุดมสมบูรณ์ แต่ก็เห็นว่ามีเพียงผู้ใหญ่เท่านั้นที่ทำอยู่ ไม่ค่อยเห็นเด็ก ๆ ออกมาช่วยทำเท่าไหร่ พอดีไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของคนอังกฤษเขาบอกว่า การปลูกผักจะช่วยฝึกเด็ก ๆ ได้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความอดทน เพราะต้องรอผักโต และเรื่องระเบียบวินัยที่ต้องหมั่นดูแลผักที่ตัวเองปลูก พอมีโครงการเข้ามาก็เลยคิดว่าน่าจะชวนกลุ่มเด็ก ๆ ออกมาทำงานร่วมกัน”

ออกไปศึกษาและเรียนรู้ชุมชน

การชวนของครูดอกไม้ ไม่มีเด็กคนไหนปฏิเสธ แต่อาจจะออกแนวงง ๆ จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะต้องเริ่มต้นจากอะไร โดยเฉพาะการหาประเด็นที่จะทำโครงการ

“ตอนแรก เด็ก ๆ บอกว่าจะทำเรื่องขยะ เพราะชุมชนกำลังทำโครงการชุมชนน่าอยู่ แต่พอมาทบทวนก็เห็นว่าเรื่องขยะน่าจะกว้างไป เลยแนะนำให้ลองดูเรื่องใกล้ ๆ ตัวว่าสนใจเรื่องอะไร ก็มีแนะนำไปบ้างว่าเรื่องผักสวนครัวก็น่าสนใจ” แต่การชี้แนะของครูดอกไม้เรื่องผักสวนครัว เด็ก ๆ ก็เก็บไว้เป็นหนึ่งในตัวเลือกของการทำโครงการต่อจากเรื่องขยะ แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจและมีข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจมากพอ พวกเขาขอไปเก็บข้อมูลบริบทชุมชนดูก่อนว่ามีเรื่องอะไรน่าสนใจเพิ่มเติมอีกบ้าง

หงส์-วชิราภรณ์ เป็งกาศ จึงอาสาเป็นแกนนำพาทีมลงไปศึกษาชุมชน และก้าวแรกของพวกเขาที่เดินออกมาจากจอคอมพิวเตอร์ก็พบว่าหมู่บ้านที่พวกเขาอาศัยอยู่มีของดีมากมาย ทั้งงานไม้แกะสลัก สวนลำไย และสวนผักในรั้วบ้าน แต่เมื่อต้องเลือกเรื่องที่สนใจมาทำโครงการ ทีมงานซึ่งได้ประเมินความสามารถแล้วคิดว่าเรื่องสวนผักในรั้วบ้านน่าจะเหมาะกับศักยภาพของทีมงานมากกว่า เพราะมีความรู้จากการเรียนในวิชาเกษตร และเคยช่วยครอบครัวมาบ้าง และที่สำคัญ ในชุมชนเองก็มีผู้รู้พอที่ให้คำปรึกษาเรื่องนี้หลายคน จึงตัดสินใจทำ โครงการผักสวนครัวในรั้วบ้าน

“ที่คิดจะทำเรื่องผักสวนครัวเพราะเห็นว่า การปลูกผักไว้กินเป็นเรื่องสำคัญ และคนที่ปลูกเป็นก็มีแต่กลุ่มผู้ใหญ่ ถ้าโครงการเราสามารถเก็บรวบรวมชนิดผัก และวิธีการปลูกได้ ก็จะชวนน้อง ๆ ในหมู่บ้านมาช่วยกันปลูกที่บ้านใครบ้านมัน ชุมชนของเราก็จะมีผักปลอดภัยไว้รับประทาน” แพทร่ายยาวถึงเป้าหมายในการทำโครงการของทีม

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการดำเนินงานต้องมีกิจกรรม “ประชุมเพื่อชี้แจงโครงการแก่คนในชุมชน” เพื่อให้คนในชุมชนรับรู้ว่ากลุ่มเยาวชนกำลังทำอะไรกันอยู่ เพื่อขอความร่วมมือ และขอการสนับสนุนจากชุมชนกรณีต้องมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชุมชน

แต่กิจกรรมแบบนี้ไม่ง่ายสำหรับมือใหม่ อาการประหม่าก็มาเยือน โดยเฉพาะกับแพทที่วัน ๆ เคยอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่เคยสุงสิงพูดจากับใคร หรือจะพูดบ้างก็แค่คุยเล่นกับเพื่อน ๆ และคนในครอบครัว แต่เมื่อต้องมายืนต่อหน้าคนเยอะ ๆ ที่ไม่สนิท เขาต้องใช้ความกล้าพอสมควร

“วันที่นำเสนอ ไม่มีการเตรียมตัวใด ๆ สคริปต์ก็ไม่มี พูดไปเขินไป ยังดีที่มีหงส์คอยช่วยจับฟลิปชาร์ต หลังพูดเสร็จชาวบ้านก็แนะนำว่า คราวหน้าให้เรียบเรียงเนื้อหาให้ดีก่อนพูด ผมก็น้อมรับคำแนะนำ และจะนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ก็ดีใจที่คนในชุมชนให้ความสำคัญกับการทำงานของเรา” แพทเล่ารายละเอียดถึงการก้าวเดินออกจากคอมฟอร์ตโซนครั้งแรกของตัวเอง โดยแพทยอมรับว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เขายอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ถ้าเป็นเมื่อก่อนหากโดนพ่อแม่ว่าก็จะมีเถียงบ้าง หรือไม่ก็เงียบเฉย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการดำเนินงานจะไปได้ดีในช่วงเริ่มต้น แต่มีเหตุต้องหยุดชะงักนานกว่า 2 เดือน เนื่องจากหงส์แกนนำหลักของทีมออกไปอยู่นอกพื้นที่ ส่วนเพื่อนคนอื่น ๆ ในทีมก็ติดภาระเรื่องการเรียน แพทจึงเหมือนถูกทิ้งไว้กลางทาง

“ครูดอกไม้มาถามว่าจะเอายังไงต่อ เราก็อยากทำต่อ อยากไปให้สุด เลยไปชวนคอม บิว และ ยีน-รพิชชา ขันอาชาวะ เข้ามาร่วมทีม”

ลงมือทำ เพิ่มเติมประสบการณ์

ทีมงานใหม่ เอาแผนการทำงานออกมากางก็พบว่ามีอีกหลายกิจกรรมที่ยังไม่ได้ดำเนินงาน โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลเรื่องผักสวนครัว “แพท-คอม-บิว-ยีน” จึงลงพื้นหาข้อมูลผู้รู้ก่อนเป็นลำดับแรก

“การลงไปหาความรู้ไม่ยาก เพราะผู้รู้ก็เป็นปู่ผมและยายของหงส์ ผักที่ปู่สอนปลูกก็มีฟักทอง ผักกาดจอ โดยข้อมูลที่ได้ทีมนำมาจัดทำเป็นแผนที่ชุมชน ระบุรายละเอียดคือ บ้านเลขที่ ชื่อผู้รู้” คอมอธิบาย ส่วนสรรพคุณของผักแต่ละชนิดทีมงานจะตรวจสอบเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด

เมื่อได้แผนที่ชุมชนแล้ว ทีมงานชวนกันลงพื้นที่สำรวจบ้านผู้รู้อย่างละเอียดอีกครั้ง โดยไม่รอให้สมาชิกครบทีม เพื่อนคนไหนว่างก็มาช่วยกัน โดยหลักๆ มี แพท คอม ส่วนหงส์ถ้าว่างก็จะเข้ามาช่วยสัมภาษณ์ด้วย ซึ่งก่อนลงพื้นที่ทีมจะมีการพูดคุยกันเรื่องเนื้อหาข้อมูลที่จะเก็บว่ามีอะไรบ้าง เช่น ชื่อผัก วิธีปลูก ระยะเวลาในการปลูก การประกอบอาหาร โดยคำถามจะยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์การปลูกผักของบ้านผู้รู้แต่ละคน เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน ทีมได้จัดอบรมให้เด็กในชุมชนประมาณ 10 คนเรียนรู้วิธีการปลูกผัก พร้อมกับชักชวนให้เด็กนำไปทดลองปลูกที่บ้าน

“ระหว่างที่บอกให้เด็กปลูกผัก ผมก็ปลูกด้วยเหมือนกัน แต่ผมจะปลูกในยางรถยนต์ เช่น สะระแหน่ ต้นหอม เพราะอยากนำมาใช้ตกแต่งบ้าน ซื้อเมล็ดพันธุ์สะระแหน่มาปลูก พอพ่อเห็นพ่อก็บอกว่าสะระแหน่แค่เอากิ่งปักลงดินมันก็ขึ้นแล้ว ตอนแรกผมก็ไม่เชื่อ แต่พอทดลองปักไปไม่กี่วันสะระแหน่ก็ขึ้น” แพทเล่า พร้อมบอกว่าต้นหอมที่เขาปลูกได้นำมาใส่ไข่เจียวกินด้วย

ขณะที่คอมซึ่งเป็นหลานผู้รู้ บอกว่า ปกติเขาช่วยที่บ้านปลูกผักอยู่แล้ว ตอนทำโครงการก็ได้ทดลองปลูกฟักทอง แต่ตอนนี้ตายไปแล้วเพราะโดนน้ำเยอะเกินไป เพราะเป็นช่วงหน้าฝนพอดี

เพราะเป้าหมายของโครงการคือ การพาตัวเองและเด็กในชุมชนออกจากจอคอมพิวเตอร์ ทีมงานจึงจัดค่ายเรียนรู้การปลูกผักโดยร่วมมือกับโครงการผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองของบ้านหนองยางฟ้าที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง วันแรกเรียนรู้เรื่องการปลูกผักที่บ้านดอยแช่ วันที่สองเรียนรู้การทำอาหารพื้นบ้านที่บ้านหนองยางฟ้า ซึ่งครั้งนี้มีเยาวชนเข้าร่วม 27 คน แบ่งน้องเป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีพี่คอยดูแลกลุ่มละ 2 คน ซึ่งก่อนที่จะพาน้องไปเรียนรู้ ทีมจะนัดหมายกับผู้รู้ไว้ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด เมื่อไปถึงให้เจ้าของบ้านเป็นคนเล่าเริ่มตั้งแต่ ชื่อผัก วิธีปลูก สรรพคุณ การประกอบอาหาร แล้วจึงไปดูแปลงผัก ดูเสร็จก็ให้น้องแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนนำเสนอเรื่องผักที่น้องชอบ โดยไม่มีการบังคับ

แม้จะเป็นการทำกิจกรรมกับเด็กเยาวชนในชุมชนเป็นช่วงสั้น ๆ ซึ่งอาจจะยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่แพทบอกว่า แค่นี้เขาก็ดีใจแล้ว และการทำกิจกรรมก็ดีกว่าที่คิดไว้มาก “เราแค่อยากให้ออกมาปลูกผักบ้าง ออกมาจากจอคอมสัก 5 นาที 10 นาทีก็ยังดี”

การเติบโตเมื่อได้ทำกิจกรรม

แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จจากการปลูกผักเท่าไรนัก แต่ผลที่ได้จากการ “ปลูก” คือประสบการณ์ทำงานร่วมกันของทีม โดยเฉพาะคอมที่เมื่อก่อนไม่ทำอะไรเลย วันๆ อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การมาทำโครงการนี้ทำให้เขาได้ลองทำอะไรใหม่ๆ เช่น ได้เรียนรู้สูตรอาหาร รู้จักทำกับข้าวกินเอง อย่างน้อยเวลากินมาม่าก็รู้จักหาผักมาใส่ ซึ่งน่าจะดีกับอนาคตของตนเองเมื่อต้องไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แถมการได้กินผักที่ตัวเองปลูกก็รู้สึกภูมิใจ

“สิ่งที่ได้จากโครงการนี้คือ “เพื่อน” เมื่อก่อนเวลาคุยกับใครจะคุยผ่านแชต ไม่ต้องเห็นหน้าตากัน การทำงานนี้ทำให้ผมได้พูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนคนอื่นมากขึ้น” แพทบอก

การกล้าพูด กล้าแสดงออก คือข้อดีที่แพทได้จากโครงการนี้ “ตอนแรกไม่กล้าพูดเลย เวลาพูดหน้าชั้นเรียนจะก้มหน้าอ่านสคริปต์อย่างเดียว พูดไปก็หลบหน้าหลบตาไป ครูก็ว่าบ่อยๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยอายและกล้ามองหน้าเพื่อนแล้ว การทำงานก็เปลี่ยนไป กลายเป็นคนที่คิดก่อนแล้วจึงค่อยลงมือทำ และมีการวางแผนการทำงานมากขึ้น”

คอม บอกว่า ปกติเขาชอบทำงานคนเดียว ก็รู้จักการทำงานเป็นทีม ยอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน การทำงานมีแบบแผนมากขึ้น ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในวิชาเรียน IS ได้ โดยเฉพาะเรื่องการลงชุมชน และเล่นเกมน้อยลง จากเดิมที่ต้องเล่นทุกวันก็ลดลงเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ ที่สำคัญคือทำให้รู้จักชุมชนตนเองมากขึ้น

“จริงๆ ตอนแรกผมไม่อยากทำเลยครับ โครงการอะไรก็ไม่รู้ งงไปหมด ไม่รู้เลยว่าทำไปทำไม ทำแล้วเราจะได้อะไร มีประโยชน์อะไรกับเรา แต่พอเริ่มทำมันก็เปลี่ยนความคิดหลายอย่าง ทำให้เราได้ฝึกคิด ฝึกให้เรามีความกล้าแสดงออก ดีกว่าที่เรานั่งเล่นเกมไปวันๆ”

3 หนุ่มบอกว่า ปีหน้าถ้ามีโอกาสเขาจะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาโครงการ ให้น้องๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้เหมือนพวกเขา

ด้วยความเป็นห่วงเด็กเยาวชนในชุมชนบ้านดอยแช่จะไปมั่วสุมทำสิ่งไม่ดี และความกังวลว่าลูกหลานจะห่างไกลชุมชน ครูดอกไม้ และพ่อหลวงณัฐฏ์ชน นันทโชครุ่งศักดิ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอยแช่ จึงอยากสนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้ทำงานกับชุมชน ให้เขาเกิดความรู้สึกรักท้องถิ่น มีความอดทนรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับ และฝึกความกล้าแสดงออก ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ดีดังที่ตั้งใจไว้ โดยเฉพาะแพทที่เป็นลูกชายของพ่อหลวงที่ใช้เวลาเล่นเกมน้อยลง รู้จักแบ่งเวลามาทำงานโครงการและเรียนหนังสือ ถือเป็นครั้งแรกที่บ้านดอยแช่มีเด็กเยาวชนรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อชุมชนที่กลับมาร้อยรัดให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนหลายๆ ช่วงวัยดีขึ้น ปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อแม่ที่เห็นลูกปลูกผักก็เข้ามาช่วยสอนวิธีปลูก ช่วยดูแลรดน้ำพรวนดิน แม้แต่ผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้านก็อาสาให้ความรู้อย่างเต็มใจ โดยไม่ถือว่าเป็นภาระ เป็นภาพความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่ช่วยกันดึงเด็กเยาวชนให้ออกห่างจากภาวะเสี่ยงได้อย่างน่าชื่นชม


โครงการผักสวนครัวในรั้วบ้าน

พี่เลี้ยงโครงการ :

  • ณัฐฏ์ธน นันทโชครุ่งศักดิ์ 
  • สุทัศน์ นันตากาศ

ทีมทำงาน :

  • ณัฐฏ์เอก นันทโชครุ่งศักดิ์ 
  • ธนทรัพย์ ปัญโญกาศ
  • ณัฐกฤช ใจแก้ว
  • วชิราภรณ์ เป็งกาศ
  • รพิชชา ขันอาชาวะ