การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อลดปัญหาขยะในหมู่บ้านแม่ป้อกใน จังหวัดลำพูน ปี 1

ละอ่อนอาสา ช่วยแม่ป้อกในไร้ขยะ

ที่นี่บ้านแม่ป้อกใน ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เด็ก ๆ ออกมารวมกลุ่มกัน “ทำความดีเพื่อชุมชน” ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ในนามของ “กลุ่มยุวทูต”

นิยาม “ความดี” ของพวกเขา ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน “อยากให้หมู่บ้านน่าอยู่ค่ะ” นุ่น-ธวัลพร มุแฮ แกนนำกลุ่มตอบแบบไม่ต้องประดิษฐ์คำพูดให้สวยหรู บ้านน่าอยู่ของพวกเธอคือ สะอาดสะอ้าน ปลอดภัย และไร้ขยะ

ละอ่อนขันอาสา

นี่เป็นเป้าหมายของกลุ่มยุวทูต ซึ่งเป็นกลุ่มเด็ก ๆ ที่ออกมารวมตัวกันทำเรื่องราวดี ๆ ให้กับชุมชน อาทิ การเป็นไม้เป็นมือในงานบุญงานประเพณีของหมู่บ้าน เก็บขยะ ทำความสะอาดถนนหนทาง ช่วยเหลือผู้คนเท่าที่สองมือน้อย ๆ จะทำได้ ถึงกระนั้นก็ตาม แม้จะทำมาอย่างต่อเนื่อง ยุวทูตหลายรุ่นเติบโต ย้ายไปเรียนหนังสือในเมือง ขยะก็ยังไม่ลด ซ้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้น

“พอดีลุงใจ-พิชญ์ หวันฮ้อ ไปประชุมที่สถาบันหริภุญชัย และกลับมาบอกพวกเราว่า มีโครงการเข้ามา มีงบประมาณให้ ถ้าอยากทำอะไรที่เป็นการแก้ปัญหาให้ชุมชนก็ไปช่วยกันคิดมา”

นุ่นในฐานะแกนนำ จึงนัดรวมพลเยาวชนได้ราว 20 คน จากนั้นแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม และให้แต่ละกลุ่มช่วยกันคิดว่าจะทำเรื่องอะไรดี จากนั้นให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอถึงสิ่งที่ตัวเองอยากทำพร้อมอธิบายเหตุผลประกอบ

“กลุ่มหนูเสนอเรื่อง ทำป้ายหมู่บ้าน ป้ายบอกทางเส้นทางศึกษา เหตุผลเพราะบ้านเรามีแหล่งท่องเที่ยวเยอะ แต่ไม่ค่อยมีป้ายแนะนำเท่าไหร่” นุ่นบอก

อีกกลุ่มเสนอเรื่องการจัดการป่า เพราะหมู่บ้านอยู่ในเขตป่า ขณะที่อีกกลุ่มเสนอการคลี่คลายปัญหาขยะที่เรื้อรังมานาน แต่เมื่อถึงขั้นตอนการโหวต ผลกลับออกมาเป็นเรื่องของการดูแลป่า แต่เมื่อนำเรื่องนี้ไปเสนอต่อทีมผู้ใหญ่ในชุมชนเรื่องนี้ถูกตีตกไปเพราะผู้ใหญ่มองว่า “เรื่องใหญ่เกินตัว”

“ผู้ใหญ่เขาบอกว่าเข้าไปในป่ามันอันตราย เพราะถ้าจะทำจริง ๆ ก็ต้องมีผู้ใหญ่ไปทำด้วย ถ้าผู้นำไม่ว่าง เราก็อาจจะทำโครงการไม่ได้” นุ่นเล่าเหตุผลที่เรื่องการจัดการป่าไม่ได้ไปต่อ

เมื่อข้อเสนอไม่ผ่านในเวทีนำเสนอผู้ใหญ่ เด็ก ๆ กลับมารวมตัวกันอีกรอบ และมีการหยิบยกเรื่องปัญหาขยะในชุมชนมาพูดคุย เพราะเห็นว่าบริเวณอ่างเก็บน้ำและบ่อทิ้งขยะของเทศบาลมีแต่ถุงพลาสติกและกระป๋องน้ำอัดลมกลาดเกลื่อนไปทั่ว แถมยังมีวีธีแก้ปัญหาแบบเดิมคือเอาไปเผา ที่มีผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน ทีมจึงสรุปว่าจะทำโครงการลดปัญหาขยะในหมู่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทาง และต้องแตกต่างจากกิจกรรมเดิม ๆ ที่เคยทำมาแบบเดิมคือ การออกมาเก็บ กวาด ขยะที่เกลื่อนกลาดตามท้องถนน ที่ไม่ได้ทำให้ขยะมันลดลงแต่ประการใด

การจัดการขยะแบบใหม่ต้องใช้ข้อมูล

สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมในการจัดการปัญหาขยะในครั้งนี้คือ การคิดทั้งระบบ กล่าวคือ ต้องรู้ว่าในชุมชนมีขยะอะไร อยู่ตรงไหน ขยะแต่ละแหล่งมาจากไหน ใครเป็นคนทิ้ง จากนั้นจึงค่อยหาวิธีการลดปริมาณขยะว่าในชุมชนมีรูปแบบการแก้ไขปัญหาขยะแบบไหนบ้าง แบบไหนได้ผล และแบบไหนที่ต้องปรับปรุง

“เราได้แนวทางมาจากการไปอบรม พี่ ๆ ถามว่าจะทำโครงการเกี่ยวกับขยะ เรารู้หรือไม่ว่าในชุมชนมีขยะกี่ชนิด อะไรบ้าง ใครเป็นคนทิ้ง สมมติถ้าเราเก็บแล้วเราจะเอาขยะที่เราเก็บได้ไปไว้ที่ไหน แรก ๆ เราก็งงว่า ต้องรู้ด้วยเหรอว่าขยะมาจากไหนใครเป็นทิ้ง เราก็มาคุยกันว่า ถ้าเรารู้ว่าใครทิ้งเราก็จะไปบอกเขาได้ว่าต่อไปนี่ไม่ต้องทิ้งแล้ว” เมื่อเกิดอาการ “อ๋อ” ว่าจำเป็นต้องรู้ข้อมูลเหล่านี้ นุ่นและทีมที่ประกอบด้วย ฟ้าร้อง-ชัยวัฒน์ จันตา รวงข้าว-ศลิษา คุณโนนยาง โดนัท-พรพรรษา ยะวา และมายด์-ศิลาวรรณ ตะโรงใจ แบ่งทีมสมาชิกออกเป็นสองทีมไปสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลขยะตามแหล่งต่าง ๆ อาทิ อ่างเก็บน้ำ ถนนสาธารณะ และบ่อขยะของเทศบาล เพื่อเก็บข้อมูลว่ามีขยะเยอะไหม มีประเภทอะไรบ้าง ประเภทอะไรมากที่สุด

ผลการสำรวจพบว่า มีขยะจำพวกพลาสติกมากที่สุด ถัดมาเป็นกระป๋องน้ำอัดลม ตุ๊กตา ซึ่งหลายชนิดส่งผลกระทบในเรื่องทัศนียภาพ บางชนิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก และในแง่ของการจัดการหรือ “กำจัด” พบว่ามีชาวบ้านหลายคนที่มีการคัดแยกขยะกันบ้างแล้ว ส่วนวิธีการจัดการของเทศบาลคือการเก็บรวบรวมจากบ้านชาวบ้านและนำไปทิ้งแล้วเผานั้น วิธีการดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนเช่นกัน

“เพราะเวลาที่เขาเผาขยะ มันจะมีควันและมีกลิ่นเหม็น มีชาวบ้านหลายคนแพ้ควันเผาขยะ”

ปฏิบัติการจัดการขยะในชุมชน

เพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะอย่างจริงจัง ภายใต้โครงการนี้ น้อง ๆ กำหนดกลุ่มเป้าหมายหลักไว้ที่บ้านเรือนสองฝั่งถนน 50 หลังคาเรือน โดยให้เหตุผลว่า บ้านเรือนที่อยู่ริมถนน น่าจะเป็นตัวอย่างให้กับบ้านอื่น ๆ ได้ทำตาม

“เพราะอยู่ริมถนน ใครไปใครมาก็เห็น ถ้าทิ้งคนก็จะเห็นเพราะอยู่ริมถนน หรือ ถ้าไม่ทิ้งและมันสะอาดก็เป็นแบบอย่างให้ครัวเรือนอื่น ๆ ได้ด้วย” ทีมงานบอก

และเมื่อได้กลุ่มเป้าหมายแน่ชัด น้อง ๆ จึงประสานงานไปยังผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยนัดหมายครัวเรือนเป้าหมายมาประชุมพร้อมเพรียงกัน

“ให้พ่อหลวงคุณากร จันตา ช่วยนัดประชุมชาวบ้าน แล้วเราก็ไปชี้แจงว่า ตอนนี้พวกหนูทำโครงการลดปัญหาขยะในหมู่บ้านอยู่ แล้วก็บอกว่า เรารวบรวมข้อมูลขยะในหมู่บ้านแล้ว เจออะไรบ้าง จากนั้นก็บอกว่าพวกหนูอยากให้บ้านที่อยู่ริมถนน 50 ครัวเรือนเป็นต้นแบบในการจัดการและคัดแยกขยะ เพราะเป็นบ้านอยู่ริมถนน ถ้าขยะทิ้งลงบนถนนมันจะดูไม่สวยงาม เพราะบ้านเราเป็นสถานที่ท่องเที่ยวนวัตวิถี พอคนมาเที่ยวเยอะ ๆ มันจะดูไม่น่าประทับใจ” นุ่นอธิบายวิธีทำงาน

การอธิบายโดยใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงเรื่องขยะ และที่มา รวมทั้งผลทบกระด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทำให้ชาวบ้านริมถนน 50 ครัวเรือนยินดีที่จะเข้าร่วมในโครงการคัดแยกขยะของน้อง ๆ จากนั้นจึงนำทั้ง 50 ครัวเรือนเป้าหมายมาอบรมวิธีการคัดแยกขยะ โดยมีวิทยากรจากเทศบาลมาเป็นผู้อบรมให้ความรู้ร่วมกับเด็ก ๆ

“หนูพอมีความรู้เรื่องการแยกขยะอยู่บ้างจากที่เรียนมาในโรงเรียน ส่วนเรื่องอื่น ๆ ก็ให้ทีมวิทยากรจากเทศบาลเป็นผู้แนะนำ ว่าขวดแก้ว ขวดน้ำ เศษขยะแห้ง ขยะเปียกต้องจัดการและแยกอย่างไร” นุ่นเล่าถึงวิธีจัดการงาน

แม้จะรณรงค์ให้ชุมชนเป้าหมาย 50 ครัวเรือนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง แต่การรวมกลุ่มยุวทูตเพื่อออกมาเก็บขยะสองข้างทางก็ยังไม่ทิ้งเสียทีเดียว

“มันก็ยังมีอยู่บ้างจำพวกห่อขนม เล็ก ๆ น้อยๆ ที่พวกเราต้องออกมาช่วยกันเก็บ ก็มีการคุยกันอยู่ว่า ถ้าใครทิ้งจะปรับชิ้นละ 10 บาท แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไร” ทีมงานบอก

นอกจากการแยกขยะ ในครัวเรือน ออกมาเก็บริมถนน อีกวิธีที่จะช่วยลดปริมาณขยะจากต้นทางโดยเฉพาะถุงพลาสติกคือ การใช้ถุงผ้าหรือย่าม ซึ่งจากวันแรกที่เริ่มรณรงค์น้อง ๆ บอกว่าเริ่มเห็นมีการใช้ถุงผ้ากันเยอะขึ้น ขณะที่กลุ่มแม่บ้านเองก็เริ่มใช้ตะกร้าบ้างแล้วเวลาไปตลาด

เห็นอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าการทำโครงการจะราบรื่น ไร้ปัญหาอุปสรรคใด ๆ

“ปัญหาใหญ่ ๆ หนัก ๆ สำหรับพวกเราไม่มีนะ มีแต่ความกังวลใจเล็ก ๆ เรื่องเป้าหมายครัวเรือนต้นแบบ 50 หลังคาเรือน ที่ตอนคิดว่าต้องหาไม่ได้แน่ ๆ ตัวเลขมันสูงมาก แต่เมื่อรับปากไว้แล้วก็พยายามคิดหาวิธี จนได้บ้านที่อยู่ริมถนนใหญ่ ถนนซอย และขอความร่วมมือจากพ่อหลวงให้ช่วยประกาศเสียงตามสายให้ จนได้ครบตามจำนวน”

ผู้ใหญ่ในชุมชนคือกองหนุน

ถามว่า เด็กกลุ่มเล็ก ๆ ออกมาเคลื่อนไหวครั้งเดียวทำไมถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายขนาดนี้!

คำตอบคือ บ้านแม่ป้อกใน ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีแนวทางการสนับสนุนเด็ก ๆ ในชุมชนให้ทำกิจกรรมทางสังคมมาเนิ่นนาน พวกเขาพร้อม และยินดี ที่เห็นเด็ก ๆ ออกมาทำความดีเพื่อส่วนรวม เพราะฉะนั้นชาวบ้านยินดีสนับสนุนในทุก ๆ กิจกรรมหากมีการร้องขอ

“ชาวบ้านเราสนับสนุนกิจกรรมเยาวชนมานานเป็นระยะเวลา 10 กว่าปี ยิ่งตอนนี้โลกเจริญขึ้น มีการระบาดของยาเสพติดค่อนข้างเยอะ ถ้าเราไม่สนับสนุน ก็เหมือนเราตีตัวออกห่างจากเด็ก เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่อยากเรียนรู้ แต่ถ้าเด็กมาอยู่ในกลุ่มสาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้าน พระช่วยอบรม ผู้ช่วยบ้าง ผมบ้างช่วยกันดูแล เด็ก ๆ อยู่ในสายตาเราเองก็สบายใจที่เด็ก ๆ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง เพราะฉะนั้นพอมีโครงการนี้เข้ามา ผมจึงสนับสนุนเต็มที่ที่จะให้พวกเขาทำงานให้สำเร็จ ทั้งช่วยให้กำลังใจ ช่วยประสานงานชาวบ้านเวลาจะจัดประชุม” พ่อหลวงคุณากรกล่าว

ส่วนเรื่องของการลดปัญหาขยะ พ่อหลวงคุณากรบอกว่า แนวทางที่เด็ก ๆ ทำออกมาประสบความสำเร็จมาก เขาไม่ได้ทำเหมือนเมื่อก่อน คือออกมาเก็บกวาด แต่ตอนนี้มีข้อมูลยืนยันว่าขยะบ้านเราเยอะจริง ๆ และเด็ก ๆ ก็พยายามหาแนวทางในการลด

“ดีใจที่เด็กได้มีส่วนร่วมในการเป็นจิตอาสา ในการเข้าไปดูแลสาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้าน พอเรามาเห็นการทำงานของเด็กเรื่องขยะ ผมตั้งใจว่าต่อไปเราจะต้องมีการวางแผนในเรื่องของกลุ่มเยาวชน ให้เยอะขึ้นกว่าเดิม โครงการนี้เราจะไม่หยุด เพราะขยะไม่หยุด มีมาเรื่อยๆ หมายถึงต่อไปนี้จะเป็นกติกาของหมู่บ้าน ชาวบ้านจะต้องแยกขยะก่อนจะมาทิ้ง”

และสำหรับเด็ก ๆ การเพิ่มพูนประสบการณ์ใหม่นับเป็นสิ่งสำคัญ โครงการขยะทำให้พวกเขาออกไปทำความรู้จักกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ รู้จักเทคนิคและวิธีการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการกล้าพูด เพราะถ้ากล้าพูด ก็สามารถบอกในสิ่งที่ตัวเองคิด และขอความร่วมมือกับชุมชนได้อย่างไม่ติดขัด โดยเฉพาะรวงข้าวที่บอกว่า ตอนไปอบรมพูดเสียงสั่นเครือ ตอนนี้มั่นใจ พูดได้ชัดเจนมากขึ้น

ส่วนนุ่น ที่ในช่วงแรกของการทำโครงการ นุ่นรับบทเป็นเพียงสมาชิกคนหนึ่งในทีม แต่เมื่อแกนนำหลักมีภารกิจไปเรียนต่อ การออกมารับบทบาทแกนนำ ทำให้นุ่นค้นพบว่าตัวเองชอบ และถนัดในบทบาทนี้

“พอพี่ไม่อยู่เราก็ต้องออกมารับผิดชอบ มันทำให้เรารู้ตัวว่า เราชอบที่จะทำแบบนี้ ชอบพูด ชอบทำ ชอบที่จะนำน้อง ๆ สนุกดี”

ซึ่งนุ่นและทีมบอกว่า จากนี้เดินหน้าลุยเรื่องขยะต่อไป เพราะจากการเก็บข้อมูลหลังจากมีการรณรงค์เรื่องจัดการขยะทำให้พบว่า หากลดถุงพลาสติกจากต้นทาง ก็จะมีพลาสติกไปเผาที่ปลายทางน้อยลง ช่วยให้ชาวบ้านไม่ต้องได้รับควันจากการเผาขยะน้องลงเช่นกัน


โครงการลดปัญหาขยะในหมู่บ้าน

พี่เลี้ยงโครงการ :

  • เกริกศักดิ์ ค้างคีรี
  • พิชญ์ หวันฮ้อ

ทีมงาน :

  • ธวัลพร มุแฮ
  • ชัยวัฒน์ จันตา
  • ศลิษา คุณโนนยาง
  • พรพรรษา ยะวา
  • ศิลาวรรณ ตะโรงใจ