การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสืบสานภูมิปัญญา ครัวแต่ดาพิธีกรรม บ้านจำขี้มด จังหวัดลำพูน ปี 1

สืบฮีต สานฮอย “ครัวแต่งดา”

ไม่ว่าจะงานแต่งงาน งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานศพ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนในท้องถิ่นทางภาคเหนือหลายที่คือ “ครัวแต่งดา” หรือ “เครื่องแต่งดา” ซึ่งเป็นเครื่องสักการะและพานพุ่มที่ต้องใช้ในพิธีกรรม ลักษณะคล้ายบายศรี ทว่าปัญหาหนึ่งที่กลุ่มเยาวชนจากบ้านจำขี้มด ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ประกอบด้วย หมิว-แพรวสกุล ทองอิสสระ, มิกซ์-ธนากุล ทองอิสสระ, ต้นหนาว-สุชาดา ศรีวิชัย, เนย-อัญชิสา ขันนา, ใหม่-ธีรนาฎ ขันนา และเชียร์-พัชรินทร์ อุดมทิพย์ พบคือ ผู้รู้เรื่องครัวแต่งดาในชุมชนกำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากไปตามอายุขัย และยังไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อ คนในชุมชนต้องไปจ้างชุมชนอื่นทำครัวแต่งดาซึ่งมีราคาสูงกว่า พวกเขาจึงอยากเข้ามาเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาครัวแต่งดาให้ดำรงอยู่ต่อไปในชุมชนบ้านจำขี้มด

ท้าทายตัวเองด้วยสิ่งใหม่

“เริ่มแรกที่ได้ยินเกี่ยวกับโครงการเลยมาจากพี่รัตน์-จินดารัตน์ สัตย์จริง เขามาชวนคุยว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการระยะยาว ที่ให้น้องได้คิดออกแบบและวางแผนกันเอง เราฟังแล้วก็รู้สึกว่าน่าสนใจและท้าทายดี เพราะฉีกแนวจากโครงการอื่น ๆ ที่เราเคยทำ แต่ก็แอบคิดหนักตรงที่หมิวก็เรียนอยู่ต่างจังหวัดจะได้กลับมาบ้านแค่วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ส่วนน้องคนอื่น ๆ ก็เป็นน้องรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน ยังไม่เคยรับโครงการใหญ่ขนาดนี้ เราก็เป็นห่วงว่าจะพากันล่มกลางคันหรือเปล่า แต่พอเขาบอกว่าอยากทำ ก็เลยลองดู”

พี่แตง-อินทุอร หล้าโสด พี่เลี้ยงโครงการ เล่าถึงครั้งแรกสุดที่เธอได้ยินเกี่ยวกับโครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพเยาวชนเมืองลำพูน แล้วจึงไปชักชวนน้องๆ ในชุมชนที่มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมกันอยู่แล้ว หลังจากตอบตกลงแล้วเด็กๆ จึงเข้าสู่ “กระบวนการสุมหัว” เพื่อหาโจทย์ของการทำโครงการ หมิวพี่ใหญ่ของกลุ่ม เล่าถึงภาพบรรยากาศในช่วงเวลานั้นว่า ชวนกันคุยว่าจะทำเรื่องอะไรดีที่แปลกใหม่

“มีหลายเรื่องที่ถูกเสนอและน่าทำ สุดท้ายใช้การยกมือโหวตก็มาลงที่ครัวแต่งดาที่มีคนสนใจมากที่สุด เพราะยังไม่เคยทำ เคยเห็นแบบผ่านๆ คือมีแต่คนเฒ่าคนแก่เขาทำกัน”

พี่แตงขยายความต่อจากหมิวว่า “พอน้องๆ เลือกจะทำครัวแต่งดา เราก็คลายใจไปเปลาะหนึ่งว่าโครงการน่าจะไปได้ เพราะอย่างน้อยก็มีผู้รู้ มีปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล และ เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่น่าสืบทอด น่าค้นหา”

เนื่องจากเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชน และปราชญ์ผู้รู้ กิจกรรมแรกที่ทีมงานทำคือ ชี้แจงโครงการให้ผู้ใหญ่ในชุมชนรับรู้ ที่มีพี่บีท-ชลวิทย์ ปันสัก พี่เลี้ยงโครงการเข้ามาช่วยประสานงานกับผู้นำชุมชน โดยใช้วันเปิดงานของ อสม. ที่ผู้นำชุมชนและผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนมากันครบเป็นพื้นที่เปิดตัวโครงการ ส่วนใครจะทำอะไรให้ทีมงานแบ่งหน้าที่กันเอง หมิวที่เป็นพี่ใหญ่อาสาดูแลบัญชี เชียร์กับมิกซ์ขอเป็นคนเบื้องหน้าที่อธิบายโครงการในวันงาน ส่วนที่เหลือเป็นกำลังเสริมทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้า

“หนูกับมิกซ์ซ้อมพูดกันก่อนไป แต่พอไปถึงหน้างานจริงแรกๆ ก็ตื่นเต้นอยู่ดีค่ะ เพราะต้องพูดต่อหน้านายกเทศบาล พูดไปเรื่อยๆ จึงค่อยๆ เข้าที่เข้าทาง เราก็อธิบายหมดว่าจะทำอะไร ได้งบประมาณมาจากไหน ผู้ใหญ่เขาก็สนใจฟังดี ไม่ได้ถามอะไรเพิ่มเติม นำเสนออยู่ประมาณ 15 นาทีก็เสร็จเรียบร้อยค่ะ (ยิ้ม)” เชียร์เล่าด้วยความภูมิใจ

แต่พิธีกรทั้งสองจะบอกว่าตื่นเต้นกับการพูด แต่เพื่อนๆ ในทีมต่างยืนยันว่าพวกเขาพูดดี ชัดเจน ฉะฉาน และขยายความได้ดี จึงทำให้กิจกรรมแรกนี้ของทีมผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

ปัญหาคือโอกาสในการเรียนรู้

การสืบค้นข้อมูลจากผู้รู้ ทีมงานได้ศึกษาการทำครัวแต่งดาใน 4 โอกาส คือ งานแต่งงาน งานศพ งานบวช และงานขึ้นบ้านใหม่ เป็นการทำงานใหม่ที่ทีมไม่เคยทำมาก่อน จึงต้องวางแผนและแบ่งบทบาทการทำงานกันให้ดี ต้นหนาวกับเนยรับหน้าที่เป็นคนสัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากผู้รู้ ที่เหลือเป็นกำลังเสริม

“เราช่วยกันลิสต์คำถามก่อนค่ะ ว่าในแต่ละพิธีใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ใช้เพื่ออะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร มีผลหรือความหมายอย่างไร” ต้นหนาวเล่าวิธีการทำงานของทีม โดยพี่แตงจะเป็นคนช่วยปรับคำถามของน้องๆ ให้เข้าใจง่ายและเป็นคำพูดที่เหมาะสมในการพูดกับคนเฒ่าคนแก่อีกทีหนึ่ง ซึ่งเมื่อถึงหน้างานจริง ทีมงานก็ได้เห็นประโยชน์ของการเตรียมตัวมากขึ้นเป็นเท่าตัว

เนยเล่าว่า“พอไปถึงบ้านผู้รู้ เราเขินกันมากเลยค่ะ ถึงจะรู้จักกันอยู่แล้วแต่ไม่เคยมาคุยสัมภาษณ์กันแบบนี้ มันเก้ๆ กังๆ ไม่รู้จะใช้คำพูดอย่างไร เลยอ่านตามลิสต์คำถามที่เตรียมมาไปก่อน ใช้เวลาสักพักค่อยชินขึ้น ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่เขาก็ให้ความรู้ดีนะคะ ช่วยตอบคำถามให้เราหมดเลย”

“แต่ก็ยังมีบางส่วนที่เราไม่ค่อยเข้าใจครับ” มิกซ์พูดขึ้นก่อนจะอธิบายวิธีแก้ปัญหาง่าย ๆ ที่พวกเขาทำว่า “เราก็ไปเก็บข้อมูลซ้ำอีก แต่ไปครั้งนี้แตกต่างจากครั้งแรกที่เขินมาก พอไปครั้งที่ 2 ก็คุ้นเคยกันแล้ว เรารู้แล้วว่าต้องพูดอะไร ต้องถามอย่างไร เราก็ถามจนเคลียร์ข้อสงสัย ส่วนผู้รู้ก็ตอบแบบให้ความรู้เต็มที่เหมือนเดิมครับ”

นอกจากต้องลงไปเก็บข้อมูลซ้ำแล้ว ทีมงานบอกว่าปัญหาอีกอย่างที่พบในการทำงานคือเรื่อง “เวลา” ด้วยความที่แต่ละคนเรียนคนละที่ และทำกิจกรรมของโรงเรียนไม่เหมือนกัน

“บางครั้งก็มีช่วงที่เราว่างไม่ตรงกันค่ะ น้องบางคนติดซ้อมกีฬา ส่วนหนูก็เรียนนอกชุมชน เราเลยตัดสินใจกันว่าสร้างกลุ่มในเฟซบุ๊กขึ้น เวลามีข้อมูลอะไรก็ใส่ลงไปได้ หรือจะนัดหมายทำกิจกรรมก็ตั้งถามไว้ว่าใครอยู่ ใครว่าง หรือไว้อัพเดทงานกันก็ได้ ทีมจะได้รู้ข้อมูลตรงกันค่ะ” หมิวบอกวิธีแก้ปัญหา

หลังจากได้ข้อมูลจากผู้รู้แล้ว ทีมงานได้จัดกิจกรรม “อุ้ยสอนหลาน” เพื่อชวนน้อง ๆ ในชุมชนปั่นจักรยานไปเรียนรู้ภูมิปัญญาครัวแต่งดาทั้ง 4 พิธีกรรมที่บ้านผู้รู้

“เราประชาสัมพันธ์ทั้งทางไลน์ ทางเฟซบุ๊ก และเสียงตามสายของหมู่บ้าน มีน้องสมัครมาประมาณ 10 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กน้อย ป.1 รวมพวกเราด้วยก็ประมาณ 20 คน ใช้ช่วงเสาร์-อาทิตย์ประมาณ 3 สัปดาห์ไปเรียนรู้ เราอยากให้น้องๆ รู้จักครัวแต่งดาเบื้องต้นก่อน อาจยังไม่ต้องถึงกับเข้าใจก็ได้ แค่ผ่านตา แล้วค่อยเรียนรู้เพิ่มอีกทีหนึ่ง” หมิวเล่าขั้นตอนการทำงาน

เมื่อถึงเวลาจริงของการทำกิจกรรมทีมงานกลับพบว่าสิ่งที่พวกเขาได้ในครั้งนี้มากกว่าที่คาดไว้ เพราะไม่ใช่แค่รู้แล้วเข้าใจ แต่พวกเขาเริ่มทำได้เองด้วย!

“เวลาคนเฒ่าคนแก่เขาสอนจะแบ่งเป็นสามขั้นตอนคือ 1.เรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่จะใช้ 2.มีประโยชน์อะไร เช่น สืบชะตาเพื่ออะไร สงเคราะห์เพื่ออะไร และ 3.ทดลองทำ ซึ่งพอได้ลองทำพวกเราก็ทำได้ค่ะ” ใหม่เล่า

และเพื่อให้น้องๆ ได้ฝึกฝีมือ ทีมงานจึงจัดกิจกรรมอุ้ยสอนหลานขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านจำขี้มด โดยจัดเป็นฐานการเรียนรู้ 4 ฐานให้น้องได้ซักถามผู้รู้ได้เต็มที่

ทว่าภาพที่ฝันกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับแตกต่างกันออกไป เมื่อกลุ่มเป้าหมายที่ทีมงานตั้งไว้ว่าจะมาสัก 30 คน กลับมาจริงเพียง 10 กว่าคนเท่านั้น

“ตอนนั้นใจแป้วไปเลยค่ะ ที่น้องมาน้อยกว่าที่คิดไว้มาก เพราะส่วนใหญ่ติดเรียนพิเศษกัน แต่ก็ยังดีที่มีเด็กมาเข้าร่วมโครงการบ้าง ส่วนคนเฒ่าคนแก่มากันเยอะ มาครบทุกพิธีกรรมเลย ดีใจที่พ่ออุ้ยแม่อุ้ยช่วยเหลือเรา รวมๆ แล้วคนมาวันนั้นน่าจะประมาณ 50 คนค่ะ มีเพื่อนต่างโครงการจากบ้านธิ บ้านสันคะยอม โครงการสวนพุทธธรรม และนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เข้ามาทำกิจกรรมจิตอาสาในชุมชนก็สนใจเข้าร่วมด้วย” หมิวเล่าสถานการณ์

ปัญหาที่พบในครั้งแรกกลายมาเป็นบทเรียนการจัดกิจกรรมในครั้งต่อมา ทีมงานได้เตรียมการนัดหมายล่วงหน้านานกว่าเดิม เพื่อให้น้องไปลาเรียนกับโรงเรียนสอนพิเศษไว้ก่อน และเข้าไปประชาสัมพันธ์กับผู้ปกครองว่าจะมีการจัดกิจกรรม ซึ่งผู้ปกครองก็ยินดีให้บุตรหลานเข้าร่วม เพราะเห็นเป็นกิจกรรมที่ดีที่เด็กๆ น่าจะมีส่วนช่วยสานต่อภูมิปัญญาครัวแต่งดาด้วย

กิจกรรมที่จัดก็คล้าย ๆ เดิม แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน พ่อแม่ผู้ปกครองที่มาช่วยกันทำอาหาร พี่ ๆ จากโครงการสวนพุทธธรรมก็มาช่วยทำสันทนาการ เป็นภาพความร่วมมือที่หาดูได้ยากยิ่ง

“ก่อนปิดงานเราให้ทุกคนเขียนสรุปบทเรียนแล้วแลกเปลี่ยนว่า วันนี้ที่ทำรู้สึกอย่างไร และมีอุปสรรคอะไรที่อยากให้แก้ไขบ้าง น้องๆ ก็เขียนมาว่าสนุกดี ได้เรียนรู้ บางคนก็สนใจอยากเรียนรู้ต่อค่ะ ผู้ปกครองก็บอกว่าภูมิใจที่ลูกใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ไม่ไปเที่ยวเล่น แล้วยังได้ความรู้อีก ส่วนผู้รู้เขาก็ภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดความรู้แก่เด็ก เขาบอกว่าไม่คิดว่าเด็กรุ่นนี้จะสนใจมาเรียนเรื่องพวกนี้ ถ้าน้องๆ อยากเรียนรู้เพิ่มอีก สามารถไปถามเขาได้เลยค่ะ” แยมเล่าด้วยแววตาเป็นประกายพร้อมรอยยิ้มเมื่อย้อนนึกถึงความสุขหลังเสร็จกิจกรรม

ทีมงานยอมรับว่าแม้กิจกรรมจะสำเร็จไปได้ด้วยดี แต่ระหว่างจัดก็มีปัญหาขลุกขลักเล็กน้อยจากการที่คนเข้าร่วมเยอะ ทำให้พวกเขาดูแลได้ไม่ทั่วถึง บางช่วงก็มีความวุ่นวาย ซึ่งพวกเขาจะเก็บไปเป็นบทเรียนสำหรับกิจกรรมต่อไปเช่นเคย

แก้ปัญหา เผชิญหน้ากับความผิดพลาด

ระหว่างที่ทุกคนอิ่มเอมใจกับผลสำเร็จของการทำกิจกรรม ก็มีบทเรียนใหม่มาพิสูจน์ใจของทีมงาน! ใน “กิจกรรมคืนข้อมูลสู่ชุมชน”

ใหม่เล่ารายละเอียดในกิจกรรมดังกล่าวว่า “เราทำคลิปสั้นนำกิจกรรมที่เคยทำมาบอกเล่าให้คนในชุมชนรู้ค่ะ พวกเราแบ่งหน้าที่กันให้ต้นหนาวกับเนยเป็นฝ่ายเทคนิคดูเรื่องสไลด์ เพราะน้องมีความเชี่ยวชาญมากกว่า หมิวกับเชียร์ดูไฟ มิกซ์กับหนูเป็นคนอธิบายที่มาที่ไปของโครงการค่ะ”

ต้นหนาวเล่าต่อว่า “เราตั้งใจจะชวนผู้รู้ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการต่างๆ เพราะอยากให้เขารู้ว่าลูกหลานกำลังสืบทอดภูมิปัญญาชุมชนต่อไปให้คนรุ่นหลัง พี่บีทจะเป็นคนช่วยประสานงาน ไปบอกผู้รู้แต่ละคนว่าวันนี้จะมีเวทีคืนความรู้สู่ชุมชน อยากให้มาร่วมกัน แล้วระหว่างเราขึ้นรถกลับบ้านก็ชวนรุ่นน้องว่าวันนี้จะมีเวทีให้มาที่ศูนย์เรียนรู้”

ทีมงานสารภาพว่า กำหนดการงานคืนข้อมูลนี้ถูกวางมานานแล้ว แต่การชวนคนเข้าร่วมงานกลับฉุกละหุก เพราะจัดการเวลาไม่ถูก ใช้เวลาจนหมดไปกับการทำสื่อ เมื่อใกล้ถึงวันงานจึงใช้วิธีชักชวนปากต่อปากบ้างเวลาเจอผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน โดยเลือกจะไม่ใช่เสียงตามสายของหมู่บ้าน เพราะมองว่าเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ที่ไม่ได้ผลเท่าไร การตัดสินใจเลือกวิธีประชาสัมพันธ์แบบนี้นี่เองนำมาสู่การผิดใจกับผู้ใหญ่บ้าน ที่คอยติดตามงานของพวกเขามาตลอดด้วยความเป็นห่วง

พี่แตงสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เรื่องนี้ผิดตรงที่พวกเราเองที่ประสานงานผิดพลาด พ่อหลวงก็ห่วงเราว่านี่เป็นงานใหญ่ทำไมไม่ให้เขาช่วยกระจายเสียงทางประชาสัมพันธ์ แต่เราคิดว่าถ้าประกาศไปก็ไม่น่าจะมีคนมาเยอะ คิดว่าใช้การประสานงานตัวต่อตัวดีกว่า อีกอย่างเราไม่ได้ประสานงานเรื่องสถานที่ไว้ด้วย แล้วเข้าไปใช้อย่างฉุกละหุก เลยกลายเป็นการทำให้เขาเสียความรู้สึก ซึ่งพวกเราก็เสียใจ

“สิ่งที่เราพอจะช่วยน้องๆ ในเวลานั้นได้คือการบอกน้องๆ ว่า เราต้องยอมรับว่าเราก็ผิดจริงในสิ่งที่ทำลงไป ให้นำความผิดพลาดครั้งนี้เป็นบทเรียน ครั้งหน้าเราจะบริหารจัดการให้ดีกว่านี้ แล้วหลังจากนี้ก็ช่วยกันประสานรอยร้าวให้กลับมาดีดังเดิม”

ใหม่เอ่ยต่อด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “หนูยอมรับค่ะว่าพวกหนูผิดจริง ๆ ถ้ามีโอกาสหน้าจะประสานงานให้ชัดเจนกว่านี้ คิดให้มากขึ้นเพื่อไม่ให้ผิดพลาดซ้ำอีกค่ะ”

ถึงจะอ่อนแรงลงไปบ้างจากเหตุการณ์ที่เจอ แต่ทีมงานบอกว่าพวกเขาจะเดินหน้าต่อกับการทำโครงการนี้ เพราะอยากเห็นภาพคนรุ่นใหม่ที่มาสืบทอดภูมิปัญญาไม่ว่าจะเป็นครัวแต่งดาหรือภูมิปัญญาอื่น ๆ ต่อจากผู้เฒ่าผู้แก่ และอีกอย่างหนึ่งคือพวกเขารู้ว่าบทเรียนนี้เป็นเพียงบทเรียนแรกที่พวกเขาได้เรียนรู้เท่านั้น

“ถ้าเรื่องแค่นี้ทำให้เราไม่สู้ต่อ วันหน้าเรื่องอื่นๆ ที่จะเจอเราก็คงจะผ่านไปไม่ได้” ใหม่กล่าวความรู้สึกแทนเพื่อนๆ

บันทึกข้อมูล บันทึกความเปลี่ยนแปลง

ข้อมูลที่ค้นหามาของครัวแต่งดา ถูกทีมงานบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ โดยตั้งใจว่าจะจัดทำเป็นรูปเล่มต่อไป ส่วนความรู้สึกอยากสืบสานการทำครัวแต่งดาให้คงอยู่คู่บ้านจำขี้มดก็อยู่ในใจทีมงานเช่นกัน เห็นได้จากเวลาที่มีการจัดงานบุญประเพณีในชุมชน ที่ทีมงานจะเข้ามาเป็นลูกมือช่วยผู้ใหญ่ในชุมชนเย็บกรวย บายศรี หรือหยิบจับอุปกรณ์ต่าง ๆ ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันดังกล่าวนอกจากจะทำให้ทีมงานได้มีโอกาสฝึกปรือฝีมือแล้วยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนต่างวัยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันกระบวนการเรียนรู้ที่พวกเขาได้ผ่านมาก็ถูกบันทึกในรูปของความเปลี่ยนแปลงภายในตัวพวกเขาเช่นกัน

ใหม่ ออกตัวว่าเมื่อก่อนเธอใช้เวลาว่างในชีวิตวนเวียนอยู่ระหว่างบ้านกับโรงเรียนสอนพิเศษ กระทั่งก้าวเข้ามาทำโครงการเธอจึงได้เติมบทเรียนใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต

“สิ่งที่หนูได้เรียนรู้มากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องความรับผิดชอบค่ะ เพราะเรามีหน้าที่ของตัวเองที่ต้องดูแลจุดลงทะเบียน ดูแลบัญชี และร่วมวางแผนการเงินกับเพื่อนๆ ไม่ให้ใช้เกินงบประมาณ แต่ก็เคยมีเงินหายนะคะ 1-2 บาท หนูเลยใส่เงินตัวเองลงไป ไม่อย่างนั้นอาจปิดงบไม่ลงค่ะ”

ต้นหนาวก็คล้ายใหม่ที่ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่แต่บ้าน กระทั่งวันที่หมิวไปชักชวนเขามาร่วมโครงการ “พอพี่หมิวชวนก็คิดว่าลองมาดูไม่เสียหาย พอทำไปเรื่อยๆ ก็สนุก ได้ความรู้ใหม่ๆ อย่างการทำวิดีโอ และก็ค่อยๆ ปรับเราให้กลายเป็นคนกล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น จากการที่ได้มีโอกาสพูดระหว่างทำโครงการหลายครั้ง”

สำหรับเชียร์ เธอบอกว่าตัวเองสามารถก้าวข้ามความขี้อาย ซึ่งช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ใบใหม่แก่เธอ “หนูเคยขี้อายมากค่ะ ตั้งแต่ได้มาทำโครงการนี้ก็เป็นคนกล้าพูด ก็มีความมั่นใจขึ้น แล้วก็ลดความขี้อายลง เพราะถ้าเรากล้าแสดงออกจะทำให้เรากล้าลองคุยกับคนอื่น ยิ่งถามก็ยิ่งได้รับความรู้กลับมาเยอะค่ะ แต่ถ้าไม่ถามก็จะไม่ได้รู้อะไรสักอย่าง จนตอนนี้อยากออกมาพูดคุยมาถามมากกว่าอยากอยู่บ้านแล้วค่ะ (หัวเราะ)”

ส่วนมิกซ์ อดีตเด็กติดเกม บอกว่า เขาสามารถจัดการเวลาได้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งนี้นำพาชีวิตของเขาให้ก้าวไปข้างหน้าได้ดีกว่าเดิมมาก

“หลังจากเข้ามาทำโครงการ ผมพบว่าตัวเองจัดการเวลาได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องทำหลายอย่าง ถ้าไม่จัดการเวลาก็ไม่พอ (หัวเราะ) ตอนนี้ทุกเย็นหลังเลิกเรียนผมจะไปซ้อมกีฬาก่อนประมาณชั่วโมงหนึ่ง แล้วกลับบ้านมาทำการบ้าน กว่าจะได้เล่นเกมก็ตอนดึกๆ ส่วนเสาร์-อาทิตย์ถ้าไม่ได้ซ้อมกีฬาก็ต้องใช้เวลามาทำโครงการนี้ครับ จนกลายเป็นว่า ผมเล่นเกมน้อยลงไปเลย”

ด้านหมิวบอกว่า การมาทำโครงการทำให้เธอมีความกล้ามากขึ้นและมองเห็นศักยภาพของตัวเองในการทำครัวแต่งดาที่ทำได้สวย ซึ่งเธอคาดหวังว่าจะนำไปสร้างรายได้ให้แก่ตัวเองต่อไป เพราะปัจจุบันหมิวและเพื่อนร่วมทีมไม่ได้เป็นเพียงคนเข้ามาเรียนรู้เรื่องราวของครัวแต่งดาเช่นตอนแรกอีกแล้ว พวกเขากลายมาเป็นเรี่ยวแรงหนึ่งที่เคียงข้างผู้ใหญ่ในชุมชนช่วยกันทำครัวแต่งดาขึ้นมา ซึ่งนี่คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่าภูมิปัญญาครัวแต่งดาจะอยู่คู่กับบ้านจำขี้มดต่อไปได้หรือไม่


โครงการสืบฮีตสานฮอยภูมิปัญญา ''ครัวแต่งดาพิธีกรรม"

พี่เลี้ยงโครงการ :

  • อินทุอร หล้าโสด
  • ชลวิทย์ ปันสัก

ทีมงาน :

  • แพรวสกุล ทองอิสสระ 
  • ธนากุล ทองอิสสระ
  • สุชาดา ศรีวิชัย 
  • พัชรินทร์ อุดมทิพย์
  • ธีรนาฎ ขันนา
  • อัญชิสา ขันนา