การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านสันคะยอม จังหวัดลำพูน ปี 1

เราคือเยาวชน “สร้างตัว”

เมื่อต้องรับภาระอะไรซักอย่าง สิ่งที่เด็กหนุ่มซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็น “เยาวชนสร้างตัว” อย่าง ภูมิ- ภูมิพิพัฒน์ สัตย์จริง นึกถึงเป็นอันดับต้นๆ คือ “เพื่อนสนิท”

และก็เช่นกัน เพื่อนสนิทอย่าง พีท-ปฎิภาณ ณ บางช้าง, จอร์แดน-สิรวิชญ์ อรุณศรี, โอ๊ค-สิทธิ์กร พิงคะสัน รวมทั้ง วิป-พงศกร สมลัก ก็ยินดีที่จะช่วยเหลือภูมิ แม้จะไม่รู้เลยว่า โครงการปลุกสำนึก สร้างพลังเสริม ศักยภาพเยาวชนเมืองลำพูน ที่ ป้ารัตน์-จินดารัตน์ สัตย์จริง พยายามคะยั้นคะยอให้ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนอย่างภูมิไปรวบรวมสมาชิกมาทำโครงการให้ได้อย่างไม่มีเงื่อนไขนั้นเป็นอย่างไร

พวกเขารู้แค่ว่า “ต้องทำ” เพราะเพื่อนมาชวนถึงหัวกะไดบ้าน

นี่จึงเป็นที่มาอันทำให้เราเห็นภาพ “สายสัมพันธ์” อันแน่นแฟ้นของกลุ่มเยาวชนบ้านสันคะยอม อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

เพื่อนไม่ทิ้งกัน (จริง ๆ )

“ตอนนั้นมีโครงการเข้ามาที่ทำงานของแม่ แม่ก็เลยมาชวนผมอีกที แต่จะบอกว่าชวนก็ไม่น่าใช่ เรียกว่าสั่งดีกว่า” คำสั่งกึ่งชวนกึ่งบังคับจากแม่ของภูมิ มาพร้อมข้อมูลนิดหน่อยคือโครงการปลูกสำนึกพลเมืองสร้างพลัง เสริมศักยภาพเยาวชนเมืองลำพูน จะช่วยให้เยาวชนได้มีโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ เช่น การทำงานร่วมกันเป็นทีม การมีจิตอาสา อีกทั้งยังช่วยคลี่คลายปัญหาของชุมชนได้อีกทางหนึ่งหากโครงการสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

เมื่อไม่มีทางเลือก ภูมิจึงชวนกลุ่มเพื่อนสนิทเข้ามาร่วมทีม คือ โอ๊ค จากนั้นโอ๊คไปชวนวิป ทั้งหมดมาร่วมตัวกันเพราะเป็นกลุ่มเพื่อน “แว้น” ด้วยกัน

แต่เมื่อแม่เห็นสมาชิกในทีมมีแต่สายแว้น จึงบอกให้ภูมิไปชวนพี่โอเล่ ผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานเพื่อชุมชนมาเป็นแกนนำกลุ่ม แต่พอถึงช่วงที่ทีมพัฒนาโครงการได้แล้ว พี่โอเล่ก็ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ

แต่การไปศึกษาต่อของโอเล่ไม่ได้ทิ้งภาระให้น้อง ๆ แต่อย่างใด เพราะเธอไปทาบทาม แยม-ทินภัทร ศรีผดุง มาเสริมทัพ พร้อม ๆ กับส่งต่อโครงการให้แยมเป็นแกนนำกลุ่มรับช่วงต่อจากเธอ และนี่คือที่มาของชื่อโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านสันคะยอมรุ่นสู่รุ่น

“คือการส่งต่อโครงการจากรุ่นพี่ไปรุ่นน้อง” แยมบอก

แต่เมื่ออยู่ท่ามกลางเด็กชายที่เรียกตัวเองว่า “เยาวชนสร้างตัว” แยมถึงกับเอ่ยปากว่า “ปวดหัวมาก” สั่งการน้องไม่ค่อยได้ รับภาระหลาย ๆ เรื่องอย่างลำพัง น้อง ๆ จะช่วยเหลือบ้างก็ต่อเมื่อพี่แยมเอาจริง

“ต้องคอยตามน้อง ๆ เพราะถ้าเราไม่ตามงานก็จะไม่เสร็จ บางทีก็มาทำงานไม่ตรงเวลา เราก็คอยบ่นตลอด แต่น้องก็เฉย ๆ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา” แยมเล่า

แม้จะมีเรื่องชวนปวดหัวซักแค่ไหน แยมเองก็ไม่ได้คิดจะเลิกทำโครงการ เพราะเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้ทำงานเพื่อส่วนร่วม ได้ประสบการณ์ อีกประเด็นคือ เมื่อพี่ไว้วางใจให้รับช่วงต่อ แยมจึงต้องทำให้ถึงที่สุด อย่างน้อยก็เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองทำได้

แต่เพราะปัญหาการไม่ได้รับความร่วมมือจากน้องๆ ไม่คลี่คลาย แยมจึงต้องหาตัวช่วยด้วยการพยายามไปชวน ทับทิม-ภัควดี สุกสัก เพื่อนสนิทอีกคนมาเป็นเพื่อนคู่คิดในการทำโครงการ

“ตอนแยมไปชวน เราปฏิเสธบ่อยๆ ปิดประตูหนีบ้าง ไม่อยากมาเพราะว่าติดเรียน การบ้านเยอะ อ้างนู่นอ้างนี่บอกว่าไม่มีเวลา” แต่เพราะความพยายามของแยม และเหตุผลการไปเรียนต่อของพี่โอเล่ทำให้ทับทิมเห็นใจ จึงกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของทีม

“เคยคิดว่าเพราะแยมเป็นผู้หญิงคนเดียว จึงอาจทำให้น้อง ๆ ไม่เชื่อฟัง พอหนูเข้ามาก็จะมีหนูที่คอยช่วยฟัง หนูเป็นคนใจเย็นกว่าแยม ถ้าหนูไปสั่งน้องๆ เขาก็อาจจะไม่ฟัง แต่ถ้าช่วยกันพูด น้อง ๆ อาจจะฟังก็ได้”

แต่การเข้ามาร่วมทีมของทับทิม ทำให้เธอต้องจัดการตัวเองในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะเรื่องเรียนและการทำงานว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลและไม่เกิดผลกระทบทั้งโครงการและเรียนหนังสือ

“เหมือนกับว่าเรามีงานเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง แต่เป็นหนึ่งอย่างที่ต้องทำเยอะมาก ทำให้ต้องวางแผนให้ดี เช่น เลิกเรียนแล้วหนูจะถึงบ้านประมาณ 5 โมงครึ่ง ซึ่งจะมีประชุมตอน 6 โมง หมายความว่าเราต้องแบ่งเวลาไปทำการบ้านด้วย ช่วงเวลาทำกิจกรรมก็ต้องทำให้เต็มที่ จากนั้นค่อยกลับไปทำการบ้านต่อ การเรียนของหนูไม่เสียและคิดว่ามันดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ”

สำหรับทับทิม น่าจะเป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า “เรียน” และ “กิจกรรมทางสังคม” สามารถไปด้วยกันได้หากมีการจัดระบบและบริหารเวลาออกมาให้ดี

“ตอนแรก็ไม่อยากมาทำ เพราะคิดว่าทำแล้วเสียการเรียนแน่นอน แต่เอาเข้าจริง เพียงแค่เราจัดระบบตัวเองให้ได้ รู้ว่าแต่ละวันต้องทำอะไร พยายามจัดสรรเวลา สุดท้ายก็ทำได้ ตอนนี้หนูไม่เสียการเรียน และทำให้เรียนดีขึ้นด้วยซ้ำ เพราะกระบวนที่เรียนรู้จากพี่ ๆ เช่น การจดบันทึก การจับประเด็นต่าง ๆ มันทำให้เราไปใช้ได้โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ และเวลาฟังครู เมื่อก่อนจดทุกคำที่ครูพูด บางทีก็จดไม่ทัน ตอนนี้จดเฉพาะประเด็นสำคัญ ๆ ส่วนรายละเอียดกลับไปหาอ่านเอาที่หนังสือ”

เมื่อป่าเรียกหา เยาวชนสร้างตัวต้องไปดูแล

สำหรับ โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านสันคะยอมรุ่นสู่รุ่น เกิดขึ้นเมื่อเด็ก ๆ มาร่วมตัวกันเพื่อที่พูดคุยกันว่าจะโครงการเรื่องอะไร พลันเหลือบไปควันไฟพวยพุงออกมาจากป่าหลังหมู่บ้าน ทั้งหมดจึงตัดสินใจ ออกไปดู สิ่งที่เห็นคือป่าถูกเผา ขยะเกลื่อน และยังมีการ “ใช้ประโยชน์เชิงทำลาย” กล่าวคือ มีการขุดหน้าดินในเขตป่าออกไปขาย ทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรม

สภาพตรงหน้า เปลี่ยนมุมมองของเด็กๆ โดยสิ้นเชิง หลายคนพูดตรงกันคือ ถ้าไม่เดินมาดูก็คงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับป่าบ้านเรา

จากที่จะมาทำเพราะว่าง ๆ อย่าง แดน และ โอ๊ค กลับกลายมาเป็นความตั้งใจ ที่จะฟื้นฟู และปกป้องผืนป่าอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และจำเป็นต้องรู้จักป่าให้มากกว่านี้

เครื่องมือเก็บข้อมูลจำพวก Timeline ปฏิทินฤดูกาล หรือแผนที่ชุมชนถูกนำออกมาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับป่า Timeline ทำให้เด็ก ๆ รู้ว่าบ้านของพวกเขามีการปกป้องผืนป่าแห่งนี้มาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า ขณะที่ปฏิทินฤดูกาลก็ทำให้รู้ว่าในแต่ละฤดูกาลในรอบ 1 ปีนั้น ชุมชนใช้ประโยชน์อะไรจากป่าบ้าง ซึ่งมันเชื่อมให้เห็นว่าเพราะอะไร ชาวบ้านจึงหวงแหนป่าผืนนี้

อย่างไรก็ตาม พวกเขาเห็นว่า ลำพังสมาชิก 5 คน คงไม่เพียงพอต่อการปกป้องผืนป่าทั้งผืน ต้องหาสมาชิกมาเพิ่ม

แนวร่วมรักษาป่า “ถ้านายไม่มา นายออกจากแกงค์เราไป”

ทั้งโอ๊ค วิป แดน หรือ แม้แต่ภูมิเองต่างก็มีกิจกรรมยามว่างคือการ “แว้น” ทั้งหมดเห็นตรงกันคือ ต้องไปชักจูงกลุ่มนี้มาร่วมทีมให้ได้

“ผมก็บอกว่า ถ้ามากับเรามีเลี้ยงหนม ได้ไปเที่ยวป่า” ภูมิบอกวิธีการหลอกล่อให้เพื่อนๆ มาร่วมกิจกรรม กระทั่งสามารถรวบรวมสมาชิกได้ 30 คน

แต่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักกัน จึงมีการทำกิจกรรมสันทนาการเพื่อให้ทุกคนรู้จักกันมากขึ้น จากนั้นออกไปสำรวจป่า เพื่อให้ทุกคนทำความรู้จักป่ามากขึ้น และกิจกรรมสุดท้ายคือการร่วมมือกันปลูกต้นไม้ ที่ให้ทุกคนปลูกต้นไม้ของตัวเอง และต้องหมั่นมาดูแลตนไม้ของตัวเองเป็นระยะๆ

และกิจกรรมสุดท้ายที่ทีมงานร่วมกันทำนั่นคือ “เวทีคืนข้อมูล” เด็ก ๆ พูดด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า พวกเขารู้สึกดีใจและภูมิใจมากเมื่อผ่านกิจกรรมนั้นมาได้ ที่ภูมิใจที่สุดคือการได้นำข้อมูลทั้งหมดที่พวกเขาได้ทำไปคืนสู่ชุมชน ทำให้ชาวบ้านหลายๆ คนเริ่มตระหนักและหันมาสนใจป่าเหมือนที่พวกเขาเป็น เสียงปรบมือคือกำลังใจชั้นเลิศสำหรับพวกเขา

แว้นยังไงให้ได้เกรด 3.53

หลังจบเวทีคืนข้อมูลพวกเขาทั้งหมดค้นพบว่า นอกจากป่าที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว พวกเขาเองก็มีมุมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

จอร์แดนบอกว่า ประโยชน์ที่ได้จากการทำโครงการนี้คือทำให้ สามารถแบ่งเวลาได้ชัดเจน เพราะงานเยอะขึ้นและเวลาไม่ค่อยมีทำให้รู้จักการวางแผน ส่วนในเรื่องของความกล้า จอร์แดนบอกว่าโครงการนี้ทำให้ตัวเองกล้าแสดงออกมากขึ้นเพราะต้องมีส่วนร่วมในการพูดเสนอความคิดเห็นอยู่เสมอ

ส่วนพีท จากอดีตที่เคยเป็นเด็กแว้น เล่นเกม โลกส่วนตัวสูงก็เปลี่ยนไป จากคนที่ขี้อายหลัง ๆ เริ่มรู้จักกันแล้วเข้าหาเพื่อนกลุ่มอื่น ทำให้ตัวเองกล้าแสดงออก พีทมองว่าการกล้าแสดงออกนี้ช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้นเพราะสามารถเข้าหาผู้คนได้ง่ายขึ้น เวลามีปัญหาก็เข้าไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้

“ตอนแรกที่ตามไปก็แค่อยากไปดูเฉย ๆ ว่าเขาทำอะไร ถ้าอันไหนที่ผมชอบผมก็จะทำ แต่พอไปทำจริงๆก็รู้สึกติดใจในการอนุรักษ์ป่าชุมชน จากเด็กที่ไม่เคยทำอะไรเลยวัน ๆ เอาแต่เที่ยว เล่นเกม นอน พอมาทำโครงการแบบทำให้ผมรับผิดชอบชีวิตตัวเองมากขึ้น เมื่อก่อนเรียนได้เกรดเฉลี่ย 2.66 เทอมนี้ได้ 3.53”

ด้านโอ๊คสะท้อนว่า เมื่อก่อนก็เป็นเด็กแว้นเหมือนพีท และขี้เกียจไม่ชอบทำอะไรเลย หลังจากที่มาช่วยตัดต่อคลิปซึ่งตอนแรก ๆ ก็ไม่มีใครทำก็เลยต้องช่วยทำ ทำไปทำมาก็ชอบ พอทำเสร็จแล้วก็รู้สึกดีภูมิใจ ทำให้ค้นพบว่าตัวเองชอบงานตัดต่อ

ส่วนวิปยิ้มก่อนจะบอกว่า แต่ก่อนตัวเองเป็นคนชอบเที่ยว ชอบแว้นไม่ค่อยอยู่บ้านเพราะบ้านร้อน ตอนนี้กลายเป็นคนติดบ้าน เพราะว่ามีความสุข รู้สึกปลอดภัยดีไม่ต้องเสี่ยงไปข้างนอก เดี๋ยวนี้เวลาไปไหนก็บอกแม่ตลอด

แยมพี่คนโตสุดบอกว่า ตนได้รู้เรื่องป่ามากขึ้น เรื่องหมู่บ้านมากขึ้น เมื่อก่อนไปเรียนแล้วต้องอยู่หอ พอมีโครงการนี้ก็ได้กลับบ้านบ่อยขึ้น การที่ได้เป็นแกนนำในทีมก็ทำให้เรามีความรับผิดชอบมากขึ้นเพราะเราต้องรับผิดชอบงานทุกอย่าง

ทับทิมหญิงสาวยิ้มง่ายพูดน้อยบอกว่า ก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยรู้จักป่า พอมาทำโครงการนี้ก็ได้รู้จักป่ามากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ได้จากการทำโครงการนี้ก็ช่วยในการนำไปปรับใช้กับการเรียนในการจดสิ่งที่ครูสอนเฉพาะสิ่งที่สำคัญฝึกให้เราเป็นคนจับประเด็นเก่งขึ้น

ขณะที่ภูมิปิดท้ายว่า เมื่อก่อนเป็นเด็กพูดมาก อยู่ไม่นิ่ง ต้องมีอะไรมาทำตลอดเวลา เช่น เล่นเกม เป็นคนใจร้อน ถ้าถามถึงความเปลี่ยนแปลง ภูมิยกให้เป็นเรื่องการฝึกจับประเด็น การพูด และการฟังจากการทำสรุปข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รวบรวมมาทำเป็นมายแมป สำหรับใช้ในโครงการ การแบ่งเวลาเมื่อก่อนจะแบ่งเวลาให้กับการเล่นเกมมากกว่าการทำงาน แต่โครงการนี้เพราะเป็นงานส่วนรวมไม่ใช่งานเดียวเราเลยต้องยอมวางเกมเพื่อมาช่วยเพื่อนทำงานให้เสร็จ

หลังเสร็จสิ้นโครงการ รากแก้วของกลุ่มเยาวชนค่อยๆ ฝังรากลึกเข้าไปอยู่ในใจของคนในชุมชน กระบอกเสียงเล็ก ๆ ของกลุ่มเยาวชนที่ต้องการพื้นที่ในการลุกขึ้นมาลองปฏิบัติ เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าภายใต้ศักยภาพของคำว่า “เยาวชน” จะสามารถช่วยเหลือชุมชนที่ตัวเองอยู่ได้อย่างไรบ้าง และนี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า “เยาวชน” คือกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนไม่ต่างกับผู้ใหญ่


โครงการ อนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านสันคะยอมรุ่นสู่รุ่น

ที่ปรึกษา : เฉลิมวุฒิ ณ บางช้าง

ทีมงาน :

  • ทินภัทร ศรีผดุง 
  • ภูมิพิพัฒน์ สัตย์จริง
  • ปฏิภาณ ณ บางช้าง 
  • สิทธิ์กร พิงคะสัน
  • สิรวิชญ์ อรุณศรี 
  • พงศกร สมลัก
  • ภควดี สุขสัก