การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสืบสานภูมิปัญญาด้านการทำอาหารจากผักพื้นบ้าน บ้านหนองยางฟ้า จังหวัดลำพูน ปี 1

เรื่องผักๆ กับสายใยรักของชุมชน

ถ้าเห็นเพื่อนไม่กินผัก น้องจะทำอย่างไร?’

จากคำถามที่เหมือนจะง่ายคำถามเดียว ใครจะไปคิดว่า 4 น้องวัยใสแห่งเมืองลำพูน จะรวมพลังกันคิดออกมาเป็นกิจกรรมที่ให้ผลลัพธ์น่าเหลือเชื่อ ไม่ใช่แค่เรื่องกินผัก แต่ยังเชื่อมโยงไปสู่วิถีภูมิปัญญา และเชื่อมร้อยสายใยให้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

เรื่องผักๆ จะไปเกี่ยวกับภูมิปัญญาและความสามัคคีของชุมชนได้อย่างไร? “ก้อง-พิมพ์-เอื้อง-ทอย” อยากเล่าให้ฟังแล้ว...

รวมพลังคิด แก้วิกฤตเด็กไม่กินผัก

โครงการผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองตั้งต้นจากที่ ครูดอกไม้ ปานพาน ที่ปรึกษาโครงการชวนน้องๆ ทั้งสี่คนมาร่วมกันทำโครงการเพื่อชุมชน ซึ่ง ก้อง-ก้องกิจ อ้ายวัน คือคนแรกที่ขันอาสา เพราะมีประสบการณ์การทำโครงการที่โรงเรียนอยู่แล้ว และคิดว่าในละแวกบ้านยังไม่เคยมีเยาวชนรวมกลุ่มกันทำโครงการมาก่อน การเป็นเยาวชนกลุ่มแรกที่ทำโครงการเพื่อชุมชนจึงน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่น้องๆ ก้องจึงชวนเพื่อนวัยเด็กในละแวกบ้านมารวมกลุ่มกัน นั่นคือ พิมพ์-เพียรนภา เนาวเรศ, เอื้อง-เด็กภาษินี เจสะวา และ ทอย-อัจศราวุธ สารกาศ ซึ่งแม้ทั้งสี่คนจะอยู่ต่างโรงเรียน แต่ก็ใช้เวลาช่วงเย็นตอนกลับบ้านและเสาร์อาทิตย์ มาคิดแก้ปัญหาให้ชุมชน

แรกทีเดียวการหาโจทย์ของทีมมุ่งไปที่เรื่องใหญ่อย่างไฟป่า ยาฆ่าแมลง และไม้แกะสลัก แต่ได้รับคำแนะนำจาก พี่วิทย์-จิรทีปต์ ขัดมะโนแก้ว นักวิจัยเกษตรยั่งยืนและพี่เลี้ยงโครงการ ว่า เรื่องมันใหญ่ไป

วิธีที่พี่วิทย์ใช้คือ โยนเรื่องให้เด็กๆ คิดกันเอง เช่น กิจกรรมนี้มันหนักไปไหม มีทักษะมากพอที่จะทำได้หรือไม่ ฤดูกาลที่จะทำเหมาะสมหรือไม่

“เพราะเด็กๆ เขาไม่ชอบการบังคับให้ทำ เราจึงต้องชวนเขาทำหรือให้เขาทำในสิ่งที่เขาอยากทำก่อน แต่จะไม่ไปบังคับให้เขาทำในสิ่งที่เราต้องการ เราอยากให้โครงการออกมาตามธรรมชาติของเด็กครับ”

หลังจากได้คำแนะนำของพี่วิทย์และครูดอกไม้ให้ทีมลดมุมมองลงมาให้ใกล้ตัวมากขึ้น ในที่สุดทีมก็มองเห็นหนึ่งในปัญหาที่ใกล้ตัวพวกเขามากที่สุด เปลี่ยนมาทำเรื่องอาหารและผักแทน ด้วยเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ คือ เห็นน้องๆ สนใจแต่อาหารในร้าน 7-11 พวกเราจึงอยากให้น้องๆ ทานผักบ้าง

ยกเรื่องผักเป็นวาระแห่งชุมชน

โจทย์ของทีมคือสร้างกระบวนการให้เด็กๆ ในชุมชนหันมารับประทานผักในรูปแบบของอาหารพื้นเมืองให้มากขึ้น องค์ความรู้ก็ไม่ต้องไปหาจากที่ไหนไกล เพราะคุณยายของก้องเป็นปราชญ์ชุมชนด้านอาหารพื้นบ้านอยู่แล้ว ที่เหลือก็แค่การวางแผนโครงการและลงมือทำจริง!

“ตอนแรกเราปรึกษาหาวิธีกับทีม วางแผนเสร็จแล้วก็ไปบอกผู้ใหญ่บ้านและแกนนำชุมชนเพื่อขอเข้าชี้แจงโครงการในที่ประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน”

ทอยเล่ากระบวนการทำงานของทีม ก่อนที่ก้องจะยอมรับว่า แค่กิจกรรมแรกนี้ทีมก็หนาวๆ ร้อนๆ กันแล้ว

“พวกเราไม่เคยพูดในที่ชุมชนกันมาก่อนเลยครับ (หัวเราะ) ทั้งตื่นเต้นทั้งกดดัน ก่อนพูดก็มีการเตรียมตัวเล็กน้อย คิดกันว่าจะพูดเรื่องอะไร พูดยังไง และวางแผนเรื่องถ่ายวิดีโอเพื่อเอาไปตัดต่อด้วยครับ”

การประกาศให้ผักเป็นวาระแห่งชุมชนของทีมสำเร็จลงได้ด้วยดี ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนลุกหนีเลยตลอดการชี้แจงโครงการของทีม ซึ่งนับเป็นกำลังใจชั้นดีให้ทีมเดินหน้าสู่กระบวนการขั้นต่อไป นั่นคือการสำรวจและกำหนดกลุ่มเป้าหมาย

“เราสำรวจเด็กที่มาเรียนพิเศษว่ามีใครเข้าร้านสะดวกซื้อบ้าง อยากรู้ว่าเด็กให้ความสำคัญกับ ร้านสะดวกซื้อมากกว่าผักและอาหารในหมู่บ้านแค่ไหน ถ้าทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ เขาทานอะไร” ก้องเล่า

“จากเด็ก 30 กว่าคน ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เข้าร้านสะดวกซื้ออาหารที่ซื้อทานส่วนมากก็จะเป็นขนม น้ำหวาน และข้าวด้วยเพราะสะดวก หลายครั้งผู้ปกครองก็เป็นคนซื้อให้ด้วยตัวเอง” พิมพ์สรุปผลการสำรวจ

เมื่อการสำรวจได้ผลที่ชัดเจน ทีมจึงเดินหน้าเก็บข้อมูลและโฟกัสกรุ๊ปกลุ่มเป้าหมาย 15 คนถึงบ้าน

“การเก็บข้อมูลทีมแบ่งหน้าที่กันคือ คนสัมภาษณ์ คนบันทึก และคนถ่ายวิดีโอ โดยข้อมูลที่คือสรรพคุณของผักพื้นบ้าน ความสำคัญอาหารพื้นบ้าน ปั่นจักรยานกันไปที่บ้านย่าอำพร เจศะวะ ปราชญ์ด้านผัก และยายนงคราญ ป๋ากาศ ปราชญ์ด้านอาหาร” ก้องเล่า

กระบวนการนี้เองที่ภูมิปัญญาได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งสรรพคุณของผักพื้นบ้านอย่างดอกแค ชะอม ฯลฯ อาหารพื้นเมืองอย่างแกงแค จอผักกาด น้ำพริกอ่อง กล้วยปิ้ง ไข่ป่าม ฯลฯ และก็ยิ่งขยายออกไปสู่วงกว้างมากขึ้น เมื่อทีมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของ 2 โครงการคือโครงการผักพื้นบ้านและโครงการสวนผักในรั้วบ้านที่มีพื้นที่ดำเนินโครงการอยู่ใกล้กัน

การเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 วัน วันแรกพวกเราพากันไปเรียนการปลูกผักกับโครงการปลูกผักในรั้วบ้านที่บ้านดอยแช่ วันที่สองกลุ่มบ้านดอยแช่ก็มาเรียนรู้เรื่องการทำอาหารจากผักพื้นบ้านกับพวกเรา โดยพวกเราเชิญปราชญ์หลายๆ ท่านสอนทำอาหาร ทำเสร็จก็รับประทานอาหารร่มกันครับ” ก้องด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

แม้จะเป็นการทำงานร่วมกันของ 2 ทีมก็ไม่มีปัญหา ทุกคนต่างช่วยเหลือกันเต็มที่ ไม่มีใครเกี่ยงว่าเป็นงานฉันหรืองานเธอ

เมื่อผักผลักดันให้เติบโต

หลังจากเวทีจบลง ทีมรู้สึกภูมิใจอย่างมากเมื่อพบว่าน้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการเริ่มกินผักเยอะขึ้น

“หลังให้ความรู้และชักชวนเข้าโครงการ เราสังเกตเห็นเด็กในซอยและผ่านแบบสอบถาม เห็นว่าเด็กๆ เริ่มกินผักมากขึ้น บางคนที่ไม่กินผักเลยก็เริ่มกินบ้างแล้ว โดยเฉพาะตัวหนูเองเมื่อก่อนไม่กินผัก ก็เริ่มมากินตอนทำโครงการ เพราะเราเป็นแกนนำ ต้องทำให้น้องเห็นค่ะว่าเรากินได้”เอื้องเล่าพร้อมรอยยิ้ม

ถือเป็นผลลัพธ์อันน่าดีใจที่เด็ก ๆ ในชุมชนเริ่มเห็นคุณค่าและหันมากินผักผ่านอาหารพื้นเมืองกันมากขึ้น เชื่อได้เลยว่าน้อง ๆ จะต้องเติบโตแข็งแรงยิ่งๆ ขึ้นเป็นแน่ กระนั้น คนที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นชัดก็คือทีมทั้งสี่ ที่การทำโครงการนี้ทำให้พวกเขาได้ฝึกฝนทักษะและพัฒนาความสามารถอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งความกล้าแสดงออก ทักษะการถ่ายทำและตัดต่อวิดีโอ และการทำงานเป็นทีม

“แต่ก่อนหนูเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออกเลย แต่ตั้งแต่มาทำโครงการ รู้สึกว่ากล้าที่จะทำหรือแสดงออกมากขึ้น อย่างการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ให้กับคนอื่น” เอื้องเล่าพร้อมอมยิ้ม

“สำหรับผม สิ่งที่ยากที่สุดคือการถ่ายวิดีโอครับ มันต้องหามุมกกล้องที่ดี ควบคุมกล้องให้ดี ซึ่งพวกผมถ่ายกันหลายรอบมาก (ยิ้ม) บางครั้งถ่ายอยู่ดีๆ ก็ขำแล้วก็พากันหัวเราะ ก็ต้องเริ่มถ่ายใหม่

“เนื่องจากผมเป็นประธานนักเรียด้วย จึงมีงานค่อนข้างมาก ต้องจัดสรรเวลาให้ดี ต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องโครงการและงานส่วนตัว เช่น ทางโครงการจัดอบรม 3 วัน แต่ผมติดงานโรงเรียน ต้องตามมาวันที่ 3 แทน แม้จะสายแต่ก็ต้องมา”

เป็นความยากที่เกิดจากการไม่เคยได้ลองทำ แต่เมื่อได้ทำแล้วก็จะทำเป็น และเกิดเป็นทักษะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ในอนาคต

“เป็นเรื่องดีค่ะ เพราะได้ประสบการณ์ที่เราสามารถนำไปใช้ในอนาคตได้ อย่างที่ใกล้ตัวที่สุดตอนนี้ก็คือ ครูให้ทำวิดีโอส่งงานครูค่ะ” พิมพ์เล่าพร้อมรอยยิ้ม

และเหนืออื่นใดคือ การรู้จักทำงานร่วมกันเป็นทีม

“โครงการนี้ทำให้เรารู้จักแบ่งหน้าที่กันทำงานครับ รู้จักวางแผน อย่างเวลาที่บางคนมาไม่ได้เราก็ให้อีกคนหนึ่งทำหน้าที่แทน รู้จักแก้ปัญหา อย่างการจัดอบรมน้องๆ คราวก่อน น้องไม่ฟังเรา เราก็ช่วยกันหาทางแก้ไข เช่น หาเกมมาเล่น มานันทนาการน้องๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้น้องๆ ฟังครับ” ก้องอธิบาย

“แล้วก็อีกอย่างค่ะ เมื่อก่อนหนูอาหารไม่เป็นเลย แต่ตอนนี้ทำไข่ป่ามเป็นแล้วค่ะ” พิมพ์บอกด้วยรอยยิ้ม

จากผักในสำรับ สู่สายใยของชุมชน

ถึงวันนี้ การจัดเวทีเรียนรู้เรื่องผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองของทีมก็ยังทยอยทำอย่างต่อเนื่อง ไปพร้อม ๆ กับการรายงานผลให้แก่ที่ประชุมหมู่บ้านทุก ๆ 2 เดือน ซึ่งถ้าใครสังเกตจะพบว่า ไม่ใช่แค่เด็กในชุมชนเริ่มหันมากินผักกันมากขึ้น หากแต่กระบวนการของโครงการฯ ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แนบแน่นกันขึ้นด้วย

“แต่ก่อน ถ้าหนูไม่ไปวัดก็จะนอนอยู่บ้านเฉยๆ แต่พอได้ทำโครงการรู้สึกว่าตัวเองมีความสัมพันธ์กับคนในชุมชนมากขึ้น ดีทั้งต่อตัวเราและก็น้องๆ ด้วย”เอื้องกล่าว

ก่อนที่ครูดอกไม้จะเสริมว่า โครงการนี้คือสิ่งดีๆ ที่จะเข้ามาช่วยชุมชนในการแก้ปัญหาเยาวชน นอกจากเรื่องโภชนาการ ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยดึงเด็กๆ ออกจากเรื่องยาเสพติด เกม ฯลฯ และทำให้เด็กๆ รู้จักรากเหง้าของตนเองผ่านวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นอีกด้วย มากกว่านั้น คือเกิดกิจกรรมที่คนในชุมชนทุกช่วงวัยได้มาใช้เวลาร่วมกัน เกิดเป็นสายใยที่คนในชุมชนไว้วางใจและร่วมแรงกันเพื่อแก้ปัญหาให้ชุมชนของตนดีขึ้น

“เป้าหมายของโครงการนี้นอกจากอยากพัฒนาเด็กแล้ว ก็อยากลดช่องว่างระหว่างวัยด้วย สังคมปัจจุบันเร่งรีบเกินไป แม่ไม่มีเวลาทำอาหารให้ลูก เด็กไม่กินผัก การเริ่มทำอาหารที่เด็กทุกคนทานกัน ทำไข่ป่ามใส่สมุนไพร ทำให้เด็กรู้จักรากฐานของหมู่บ้านและตัวเอง ทั้งวัฒนธรรมการกินการอยู่” ครูดอกไม้กล่าว

ก็เพิ่งได้รู้วันนี้นี่เอง ว่านอกจากผักจะมีกากใยที่ดีต่อสุขภาพแล้ว ยังสร้างสายใยให้ชุมชนเกิดความมีส่วนร่วมช่วยกันแก้ปัญหา เสริมสร้างชุมชนให้แข็งแรงได้อีกด้วย

รู้อย่างนี้แล้ว “ก้อง-พิมพ์-เอื้อง-ทอย” ก็อยากชวนให้ทุกคนมากินผักกันเถอะ!


โครงการผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง

ที่ปรึกษาโครงการ : ครูดอกไม้ ปานพาน

พี่เลี้ยงโครงการ : จิรทีปต์ ขัดมะโนแก้ว

ทีมงาน :

  • เพียรนภา เนาวเรศ 
  • ภาษินี เจสะวา
  • อัจศราวุธ สารกาศ 
  • ก้องกิจ อ้ายวัน