การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อเรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติบ้านบ่อเจ็ดลูก จังหวัดสตูล ปี 1

“ผ้ามัดย้อมบ้านบ่อเจ็ดลูก” หัตถกรรมจากใจเยาวชน

‘บ้านบ่อเจ็ดลูก’ คือชุมชนเล็ก ๆ ในจังหวัดสตูล มีพื้นที่อยู่ติดกับทะเลอันดามันและชายคลอง สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะเล็ก ๆ ในตำบลปากน้ำ คนสมัยก่อนเรียกว่า ‘ตาลากาตูโหย๊ะ’ ทัศนียภาพของพื้นที่บ้านบ่อเจ็ดลูกขึ้นชื่อว่าสวยงาม เพราะโอบล้อมไปด้วยน้ำทะเลสีเขียวมรกต มีชายหาด ถ้ำต่าง ๆ หน้าผา แนวปะการัง และมีแหล่งหอยตะเภาขึ้นชื่อที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณสถานบ่อ 7 ลูก ที่มีตำนานเล่าสืบกันว่าเป็นบ่อน้ำที่ชาวเลซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานพยายามขุดไว้ดื่มใช้ ซึ่งต้องขุดถึง 7 บ่อ จึงจะมีน้ำออกมา ถือเป็นต้นกำเนิดและเป็นที่มาของชื่อ ‘บ้านบ่อเจ็ดลูก’

ความงามของท้องทะเล ความสมบูรณ์ของทรัพยากร และโบราณสถานที่ถูกเล่าขาน คือมนต์เสน่ห์ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนบ้านบ่อเจ็ดลูกไม่น้อย แต่เยาวชนที่นี่ยังรู้สึกว่ามีสิ่งที่ขาดหาย นั่นคือ ‘ผลิตภัณฑ์ของฝาก’ ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ดา-รัตติกาล งะสมัน, ฟาน่า-อุมารี งะสมัน, อาน้อง-นูรฮันนา หวังยุนุ้ย, กัซนา-กัซนา หลงสมัน และนิส-นิสรีน ถิ่นกาแบง จึงได้จับมือกันสร้างคุณค่าทรัพยากรท้องถิ่น ทำโครงการศึกษาการใช้ประโยชน์จากสีธรรมชาติเพื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมของฝากประจำชุมชน

ดา แกนนำโครงการ เล่าถึงสาเหตุที่อยากทำผ้ามัดย้อมว่า เพราะผ้าส่วนใหญ่ตามท้องตลาดจะเป็นสีเคมี แต่เราเลือกที่จะใช้สีธรรมชาติอันเป็นจุดเด่นของที่นี่ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากให้นักท่องเที่ยว ซึ่งเป้าหมายแรกคาดหวังว่าอยากให้ผลิตภัณฑ์เสร็จสมบูรณ์ และคิดไปถึงว่าอยากมีร้านขายของฝากชุมชน


ใช้ธรรมชาติ สร้าง ‘สี’

การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาตินับเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของคนโบราณที่สืบทอดกันมานาน ทั้งวิธีการสกัดสีจากวัตถุดิบธรรมชาติ และการนำสีมาย้อมลงบนเส้นใยและผืนผ้าให้สวยงามสม่ำเสมอ ซึ่งผ้ามัดย้อมในแต่ละพื้นที่ต่างก็มีเอกลักษณ์และความโดดเด่นไม่ซ้ำใคร นอกจากวัตถุดิบที่ใช้ ลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์แล้ว ยังขึ้นกับสีสันที่เกิดขึ้นจากวัตถุดิบของดีแต่ละท้องถิ่นด้วย การค้นหาสีจากทรัพยากรในบ้านบ่อเจ็ดลูกจึงเป็นภารกิจแรกที่เป็นหัวใจสำคัญ

“พอคิดว่าจะทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติแล้ว ก็พยายามช่วยกันค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งสีธรรมชาติในอินเทอร์เน็ต แล้วก็มาดูว่าพืชในท้องถิ่นของบ้านเราให้สีอะไรบ้าง จากนั้นก็ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำผ้ามัดย้อม และออกไปสำรวจต้นไม้ตามบ้าน และบริเวณป่าชายเลน เพื่อรวบรวมข้อมูล” ดาเล่า

จากการสำรวจของเยาวชนบ้านบ่อเจ็ดลูกพบว่า มีวัตถุดิบจากธรรมชาติที่จะนำมาสกัดเป็นสีได้อยู่มากทั้งในพื้นที่ป่าชายเลนจนไปถึงในเขตชุมชน เช่น เปลือกไม้โกงกาง ดอกอัญชัน ขมิ้น เตยหอม โคลนบริสุทธิ์ เป็นต้น โดยมีสีที่น่าจะสกัดออกมาได้ถึง 10 สี แต่ไม่ใช่ทุกสีที่ใช้ย้อมผ้าได้

“พอมาศึกษาเราพบว่า สีบางชนิดอย่างดอกอัญชัญที่เห็นว่าสีสวยน่าจะเอามาทำเป็นสีผ้าได้ แต่ทำไม่ได้ เพราะใช้เป็นสีผสมอาหารเท่านั้น ทำให้เรารู้ว่าบางสีใช้ได้กับอาหาร บางสีใช้ได้กับผ้า เลยนำข้อมูลที่รวบรวมไว้มาคัดกรองว่าสีอะไรคือสีผสมอาหาร สีอะไรคือสีย้อมผ้า และวิเคราะห์ ทดลองจนได้สีที่ดีที่สุดในการย้อมผ้า 3 สี คือสีเขียวขี้ม้าจากใบหูกวาง สีส้มอิฐจากเปลือกไม้ต้นแสม และสีเทาจากกากมะพร้าว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นทรัพยากรที่หาง่ายและเป็นสีที่มีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับที่อื่นด้วย” ทีมงานบอกข้อมูลที่ค้นพบ

ไม่เพียงแค่ ‘สี’ ที่เป็นปัจจัยหลัก แต่ผ้ามัดย้อมจะสวยงาม ติดสีเข้มสม่ำเสมอทั้งผืนยังขึ้นกับตัวแปรอีกหลายประการทั้งเนื้อผ้า กระบวนการสกัด อุณหภูมิที่ใช้ต้ม รวมถึงกรรมวิธีในการย้อม “สมาชิกในกลุ่มจะแบ่งบทบาทหน้าที่การทำงานเป็นฝ่าย เช่น กลุ่มนี้หาวิธีการมัดผ้า กลุ่มนี้หาวิธีการย้อม กลุ่มนี้หาอุปกรณ์ หาวัตถุดิบ หาชนิดของผ้า วิธีการทำผ้า วิธีการสกัดสี วิธีการทำลวดลายของผ้า และอุณหภูมิที่ใช้ในการต้มที่เหมาะสม แล้วก็รวบรวมมาช่วยกันทดลองทำ” ดาอธิบายวิธีการทำงาน


ฝ่าฟันอุปสรรค ด้วยการเรียนรู้

ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติชุดแรกที่ทำเสร็จ แม้ผ้าจะย้อมติดสีได้ดังใจ แต่คุณภาพที่ได้ยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อนำไปใช้ประกอบการนำเสนอโครงการ จึงยังไม่เป็นที่ต้องตาต้องใจคณะกรรมการมากนัก อีกทั้งข้อมูลที่นำเสนอยังไม่ครอบคลุมรอบด้านในเรื่องของตลาด ทำให้มีข้อปรับปรุงที่ต้องแก้ไขตามมามากมาย ซึ่งหลายคำถามและความคิดเห็นที่ถาโถมใส่พวกเขาในวันนั้น กลายเป็นอุปสรรคให้หลายคนเริ่มท้อจนแทบถอดใจ

“เราไปนำผลงานไปนำเสนอรอบสอง รู้สึกเฟลมาก ปัญหาคือ ตอนย้อม ตอนตากได้ผ้าคนละสี แต่พอแห้งกลับกลายเป็นสีเดียวกันหมด กรรมการบอกว่ามันเป็นสีโทนเดียวกัน แล้วสีที่ได้ก็จืดมาก อาจเป็นเพราะเราทำจากข้อมูลที่ค้นคว้ามา ลองผิดลองถูกกันเอง อาจจะยังไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนัก พอตอนนั้นโดนให้กลับมาแก้ไขเยอะ ก็รู้สึกท้อ ไม่อยากทำต่อ” ดาเล่า 

นิส เล่าเสริมว่า “เหมือนกันค่ะ ไม่อยากทำแล้ว และตอนนั้นพลาดตรงที่โฟกัสแค่ผ้ามัดย้อม ไม่ได้หาข้อมูลเรื่องอื่น ๆ เลย เช่น เรื่องการตลาด จุดวางจำหน่าย เราสนใจแค่วิธีการทำผ้ามัดย้อม และอุปกรณ์เท่านั้น คือเรานำเสนอผิดจุดไปหมด นำเสนอเกี่ยวกับผ้ามัดย้อม เริ่มจากวัตถุดิบ วิธีการทำ และอุณหภูมิ จนได้ผ้ามัดย้อม แต่ไม่ได้พูดถึงตลาด การวางจำหน่าย จุดสนใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งเราเก็บข้อมูลมาหมดแล้วแต่ไม่ได้ใช้นำเสนอ แบบฟอร์มก็ทำหมดแล้ว แต่ไม่ได้นำไปแจก ทำให้เราเสนอข้อมูลโครงการได้ไม่ครบถ้วน กรรมการถามว่าสีที่ทำ จะไปขายใคร ซึ่งบังเชษฐ์ เดินมาบอกว่าเรานำเสนอผิดจุดนะ เราสนใจแต่เรื่องผ้า ทั้งที่ปลายทางความฝันของเราอยากมีร้านผ้ามัดย้อม”

เมื่อการลองผิดลองถูกไม่ได้ผล ทางออกของปัญหาคือ ‘การศึกษาดูงาน’ ในแหล่งเรียนรู้เรื่องผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติในที่ต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาใช้ปรับปรุงแก้ไข ต่อยอดการทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มตนเอง

“เราเริ่มศึกษาดูงาน ตอนนั้นได้ไปดูงานที่บ้านหัวทางทำให้ได้ความรู้เรื่องสี ที่ได้จากทรัพยากรในป่าโกงกาง ส่วนที่บ้านวังนาในได้ความรู้แทบทุกอย่างเลย เพราะได้ฝึกทำจริงจากวิทยากรมืออาชีพที่พี่ออม-ปุณิกา พุนพาณิชย์ พี่จากมูลนิธิสยามกัมมาจลหามาให้ ทำให้พวกเราได้เรียนรู้ทั้งเรื่องสี ลวดลาย เทคนิคการเปลี่ยนสีให้เข้มหรือจางลง หรือแม้แต่เรื่องผ้า เราก็ได้เรียนรู้ว่าเราใช้ผ้าผิด การไปศึกษาที่บ้านวังนาใน เห็นเขาใช้ผ้ามัสลินเหมือนกันกับเรา แต่ผ้าเขาจะนุ่มกว่า ส่วนผ้าที่เราใช้ค่อนข้างหยาบ เพราะเราไม่รู้ว่าผ้ามัสลินที่วางขายมีทั้งชนิดหยาบและชนิดนุ่ม พอได้รู้เทคนิค ได้ความรู้ใหม่ ๆ ก็อยากทำต่อ รู้สึกว่ามีแนวทางไปต่อได้” ดาเล่า

เช่นเดียวกับ อาน้องที่เล่าว่า “การไปศึกษาดูงานประทับใจทุกอย่างและได้ความรู้เพิ่มเติมมาก โดยเฉพาะเรื่องสี วิทยากรสาธิตให้ดูเลยว่าจากสีส้มถ้าเอาไปจุ่มสารส้มก็จะได้สีที่อ่อนกว่า แต่ถ้าเอาไปจุ่มในน้ำขี้เถ้าหรือจุ่มน้ำปูน ก็จะได้สีที่เข้มกว่า และพี่ๆ ยังสอนวิธีมัดลายแบบใหม่ๆ ด้วย เราก็ได้เทคนิคใหม่ๆ มาใช้กับสีของเราได้ เพราะสีที่เราได้ตอนแรกคือ สีเขียวขี้ม้าแต่ถ้าทำให้อ่อนได้ ก็จะได้สีเขียวอ่อนที่ไม่เหมือนใคร เหมือนที่คีรีวงค์เขาทำจากใบมังคุดได้สีชมพู”


ใช้สีย้อมผ้า ใช้กระบวนการพัฒนาคน

องค์ความรู้พร้อม วัตถุดิบพร้อม นับจากนี้เหลือเพียง ‘เวลา’ และ ‘ความพร้อม’ ของเยาวชนบ้านบ่อเจ็ดลูกที่จะรวมตัวทำ ‘ผ้าคลุมมัดย้อมสีธรรมชาติ’ (ผ้าคลุมอะไร) ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อเลือกชม 

“ตอนนี้เหลือแค่ลงมือทำ ผลิตภัณฑ์ที่เราทำ ตอนนี้เริ่มทำสี เย็บผ้าคลุมแล้ว และยังมีผ้าคลุมสำเร็จที่รอสั่งมาย้อม สีเราก็มีอยู่แล้ว คุยกับพี่เลี้ยงก็ช่วยเต็มที่ ทำสีเขาก็เป็นคนหามาให้ ปัญหาตอนนี้คือทีมงานยังไม่พร้อมรวมตัวกันอีกครั้ง เพราะสมาชิกตอนนี้ 2 คนสมัครเรียน อีก 1 คนประสบอุบัติเหตุ อีก 1 คนไม่สบาย เหลือที่ว่างจริงๆ แค่ 2 คน ถ้าทำ 2 คน ก็กลัวจะไม่รอด เพราะขั้นการทำสีต้องใช้เวลาต้มนานถึง 8 ชั่วโมง ต้องมีคนเฝ้า ต้องค้างคืน ตอนนี้ก็เริ่มคุยกันในกลุ่มบ้างว่าเป็นช่วงใกล้นักท่องเที่ยวมา จะรวมกลุ่มทำผลิตภัณฑ์ลองขายดีมั้ย ว่าขายได้ไหม”

พวกเขาบอกว่าแม้ตอนนี้การทำโครงการจะยังไม่เห็นผลปลายทาง แต่ตลอดระยะเวลาที่ทำโครงการก็ได้ความรู้ใหม่ ๆ ได้ฝึกฝนตนเอง และพัฒนาทักษะในการทำงานร่วมกันมากขึ้น ดา เล่าว่า “ทำโครงการก็สนุก ได้ความรู้ใหม่ ๆ เยอะมาก ได้ทดลองทำหลาย ๆ อย่าง ส่วนตัวเองก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะมากเลย จากที่ไม่เคยออกจากบ้าน ก็ออกไปรวมตัวกันกับเพื่อน ช่วยกันทำงาน ทำให้เจอกับคนเยอะขึ้น จากที่ไม่สนิทกับคนในกลุ่ม ก็เริ่มสนิทมากขึ้น”

ไม่ต่างจาก ฟาน่าที่บอกว่า ปกติไม่ค่อยทำอะไรสักเท่าไหร่ เธอค่อนข้างขี้อายไม่ค่อยกล้าออกหน้าชั้นเรียน พอได้มาทำโครงการนี้ก็กล้าออกมาพูดหน้าชั้นเรียนมากขึ้น เพราะว่าเพื่อน ๆ ช่วยผลักดัน และมีความมั่นใจมากขึ้น

เชื่อว่าความมุ่งมั่นตั้งใจของเยาวชนบ้านบ่อเจ็ดลูก จะทำให้ในไม่ช้า ‘ผ้าคลุมมัดย้อมบ่อเจ็ดลูก’ จะเป็นสินค้าภูมิปัญญาที่ ‘มัดใจ’ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้อย่างแน่นอน


โครงการ : ศึกษาการใช้ประโยชน์จากสีธรรมชาติเพื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมของฝากประจำชุมชน

พี่เลี้ยงโครงการ

  • นัสรูน หลงสมัน 
  • อับดุลรอหีม โต๊ะหมีน

ทีมงาน

  • รัตติกาล งะสมัน 
  • อุมารี งะสมัน
  • นูรฮันนา หวังยุนุ้ย 
  • กัซนา หลงสมัน
  • นิสรีน ถิ่นกาแบง