การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์และสร้างการเรียนรู้ด้านพันธุ์ไม้และพันธุ์พืชหายากริมคลองมำบัง จังหวัดสตูล ปี 1

เด็กบ้านควนชวนฟื้น ‘คลองมำบัง’

ใช่แต่เพียงผู้ใหญ่ที่มักโหยหาบรรยากาศเก่าๆ ของวิถีชีวิตริมคลอง เด็ก ๆ บ้านควนก็รักและผูกพันกับสายน้ำใน ‘คลองมำบัง’ เช่นกัน ยิ่งเมื่อเวลาเปลี่ยน คลองแปรสภาพ ก็ถึงเวลาที่เหล่าเยาวชนต้องอาสาลุกขึ้นมาเรียนรู้ ฟื้นฟูพันธุ์ไม้และสายน้ำแห่งนี้ให้กลับมาสมบูรณ์เช่นวันวานอีกครั้ง 


ย้อนอดีต เมื่อไรกันที่ ‘คลองมำบัง’ เริ่มเสื่อมโทรม?

คลองมำบัง เป็นทางน้ำสายหลักของเมืองสตูล ซึ่งตัวแทนเยาวชนบ้านควนทั้ง กุ้ง-พิยดา ฮะอุรา เกศ-เกศรา กาลีโลน, อัสมา สุมาตรา, ฮาน่า-อทิตยา หมื่นศรีรา, มีดา-อานิดา ดาลีโลน, นาน่า-อันลีน่า โส๊ะประจิน, อาตีกะห์ เสีรีรักษ์ และ สุนิสา หมัดเดน บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาเติบโตและผูกพันกับสายน้ำแห่งนี้มาแต่วัยเยาว์

“เราลงเล่นน้ำในคลองมาตั้งแต่เด็ก ๆ กระโดดน้ำเล่นกันสนุกสนาน” กุ้งเล่าให้ฟัง ขณะที่เกดช่วยเสริมว่า “คนสมัยโบราณก็มักล่องเรือล่องแพไปส่งของในเมืองกันแต่ตอนนี้น้ำในคลองสกปรก และคลองก็แคบลงจนจะกลายเป็นคู ช่วงฝนตกหนักน้ำจะท่วม พอฤดูแล้งน้ำในคลองก็แห้งขอดจนล่องเรือไม่ได้ ต่างจากสมัยก่อนที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าล่องเรือได้ทั้งปี อีกอย่าง… เดี๋ยวนี้น้ำทะเลหนุนสูง นำเค็มไหลเข้ามาในคลองทำให้น้ำจืดกลายเป็นน้ำกร่อย ส่งผลให้ระบบนิเวศในคลองเสียอีก” ไม่เพียงสภาพความเสื่อมโทรมของน้ำในคลอง ต้นไม้ริมคลองก็ลดน้อยลงไปทุกที

“เมื่อก่อนจะมีต้นไม้อยู่ริมคลองตลอดเส้นทาง แต่ตอนนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลมาทำตลิ่ง เขื่อนกั้นน้ำ จึงต้องรื้อถอนต้นไม้ริมคลองทิ้ง ต้นไม้น้อยลง ความร่มรื่นก็หายไป สัตว์ เช่น ลิง ไม่มีที่อยู่อาศัย เริ่มเข้ามาก่อกวนตามบ้าน มาหาของกิน ชาวบ้านก็เดือดร้อน” กุ้งเล่าถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น


เริ่มต้นที่ ‘พันธุ์ไม้’ เฟ้นโจทย์ให้ตรงศักยภาพ

หลายคนอาจถอดใจและยอมรับสภาพคูคลองและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่ไม่ใช่กับเยาวชนกลุ่มนี้ เพราะเมื่อมีผู้ใหญ่ใจดีหยิบยื่นโอกาส พวกเขาก็พร้อมเดินหน้าพลิกฟื้นคืนคลอง ทำโครงการศึกษาและอนุรักษ์พันธุ์พืชริมคลองมำบังเพื่อชุมชน โดยทีมงานบอกเหตุผลว่าเพราะต้องการอนุรักษ์พันธุ์ไม้และพันธุ์พืชที่เกิดขึ้นเฉพาะถิ่นในบริเวณริมคลองบ้านควนให้อยู่กับเยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา และยังมองว่าการทำโครงการนี้จะช่วยสร้างการเรียนรู้และปลูกจิตสำนึกให้กับชาวบ้านในชุมชนได้เห็นถึงความสำคัญของป่าไม้พันธ์ไม้ริมคลองมำบังของชุมชนบ้านควนด้วย

“ต้นไม้ริมคลองเริ่มหายไปเยอะเนื่องจากมีการทำตลิ่งป้องกันการกัดเซาะริมน้ำ เหตุผลที่เขาทำตลิ่งก็เพราะเวลาน้ำท่วม ต้นไม้หรือกิ่งไม้ที่หักลงคลองจะไหลไปกีดขวางทางน้ำ แต่พวกเรามองว่าต้นไม้มีความคงทนอยู่ได้นานและยั่งยืนกว่าคอนกรีต ทั้งยังให้ความร่มรื่น ป้องกันการกัดเซาะได้ เราจึงสนใจเรื่องพันธุ์ไม้” ทีมงานบอกเหตุผล

นอกจากต้องการแก้ปัญหาสูญเสียต้นไม้จากการก่อสร้างตลิ่งแล้ว การเลือกทำโครงการของเยาวชนบ้านควน ยังมาจากการประเมินศักยภาพการทำงานของกลุ่มและประโยชน์ในการต่อยอดขยายผลของโครงการในอนาคตด้วย

“เดิมทีพวกเราสนใจการฟื้นฟูคลอง แต่ด้วยความสามารถของเราคงทำทั้งหมดไม่ได้ บังเชษฐ์ (พิเชษฐ์ เบญจมาศ โคชของโครงการฯ) แนะนำว่าเราควรเริ่มศึกษาที่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งมีให้เลือก 3 ทาง คือ 1. พันธุ์ปลาในคลอง 2. พันธุ์ไม้ริมคลอง และ 3. สัตว์ที่บินได้ริมคลอง ซึ่งพอมาวิเคราะห์ศักยภาพของทีม เราจึงตัดสินใจเลือกศึกษาพันธุ์ไม้ริมคลอง เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะการสำรวจพันธุ์ปลาในคลอง คิดว่ายากเกินไป ส่วนสัตว์ที่บินได้ก็คงไม่มีความสามารถพอที่จะสำรวจได้หมด” กุ้งเล่าที่มาของการตัดสินใจทำโครงการ

สำหรับความเห็นของผู้ใหญ่หลายฝ่าย พวกเขาให้ความสนใจในแนวคิดการอนุรักษ์ต้นไม้ เนื่องจากเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไม้ริมคลองได้ในอนาคต หรืออาจเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา หรือนักท่องเที่ยวได้


ลงพื้นที่สำรวจ แกะรอยพันธุ์ไม้ 

แต่เนื่องจากคลองมำบังเป็นคลองที่มีความยาว ทีมเยาวชนจึงต้องประชุมวางแผนการทำงาน เริ่มจากการกำหนดขอบเขตระยะทางในการสำรวจและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ โดยเลือกศึกษาเก็บข้อมูลจากเขตฉลุงถึงบ้านควน ลงไปถึงหมู่ 5 รวมระยะทาง 1.7 กิโลเมตร ก่อนจะแบ่งงานหาข้อมูลและลงพื้นที่สำรวจ

“ปัญหาแรกของการเดินสำรวจคลองคือ ทุกคนไม่รู้จักต้นไม้เลย เราพยายามหาข้อมูลพันธุ์ไม้จากอินเทอร์เน็ตหรือจากหน่วยงานอื่นๆ แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มหายังไงดี” อัสมากล่าว

เมื่อเด็กๆ แทบไม่มีความรู้เรื่องต้นไม้ บังเชษฐ์จึงได้ชี้แนะแนวทางว่า “ให้เริ่มต้นเรียนรู้จากการสังเกต ต้องรู้ว่าใบไม้ ดอก ผล รูปร่างเป็นเช่นไร แล้วลองไปค้นคว้าหาชื่อ เวลาลงพื้นที่ให้เอาสารานุกรมพันธุ์ไม้ไปด้วยเพื่อจะใช้เปรียบเทียบได้”

สมุด ปากกา กล้องถ่ายรูป และสารานุกรม จึงกลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ ที่พวกเขาต้องพกพาลงไปในการสำรวจแทบทุกครั้ง

“เวลาลงพื้นที่เราบันทึกจำนวนต้นไม้ที่เจอ แล้วก็ถ่ายรูปลักษณะของใบ ดอก ผล ถ้าลงพื้นที่บนบกก็ต้องพกหนังสือไปด้วย เมื่อเจอต้นไม้จะเปิดหนังสือแล้วเทียบดูกับต้นไม้จริงเลย ก่อนลงไปสำรวจทีมจะประชุมกันก่อนว่า วันนี้จะเก็บข้อมูลระยะทางเท่าไหร่ ใครทำหน้าที่อะไร เช่น อัสมาเขียนชื่อต้นไม้ คนนี้นับจำนวนต้นไม้ เทอร์โบกับซุนช่วยกันวาดแผนที่คลอง นอกจากนี้จะนับจำนวนตลิ่งในระยะทางที่สำรวจด้วย ใช้เวลาสำรวจอยู่หลายวัน เนื่องจากมีต้นไม้บางต้นที่เรามองจากบนฝั่งไม่เห็น ก็ต้องลงไปสำรวจในน้ำด้วย” อัสมาเล่าบรรยากาศช่วงลงสำรวจพื้นที่ให้ฟังด้วยแววตาเป็นประกาย

ข้อมูลที่บันทึกได้จากการสำรวจจะถูกนำมาใช้เป็นฐานในการค้นคว้าหาชื่อพันธุ์ไม้ สรรพคุณทางยา และจำแนกพันธุ์ไม้โบราณ ผ่านการสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต และข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล กรมป่าไม้ เป็นต้น แต่แหล่งข้อมูลชั้นดีที่ขาดไม่ได้คือ ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชน

“เนื่องจากคนที่อาศัยริมคลองส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จึงมักบอก(ชื่อต้นไม้?)เป็นภาษามลายูเพราะไม่รู้ว่า(ต้นไม้?)เรียกในภาษาไทยว่าอะไร เราจึงไปหากำนันก่อนเลย เพื่อถามว่าเมื่อก่อนต้นไม้บริเวณริมคลองมีต้นอะไรบ้าง” ทีมงานบอกวิธีเก็บข้อมูล

ผลจากการมุ่งมั่นสำรวจพันธุ์ไม้ริมคลอง ทำให้วันนี้เยาวชนบ้านควนได้เริ่มต้นสร้างองค์ความรู้เรื่องพันธุ์ไม้ให้แก่ชุมชนของตนเอง และที่พิเศษคือการค้นพบต้นไม้โบราณคือ “ต้นมะตาด” ต้นไม้หายากในปัจจุบัน เฉพาะที่บ้านควนก็มีเหลืออยู่แค่ต้นเดียวเท่านั้น จึงนำไปสู่การอนุรักษ์ต้นตะมาดให้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน

“พันธุ์ไม้ริมคลองที่พบตอนนี้มี ต้นมะเดื่อ ตะแบก เต่าร้างแดง มะตาด ประดู่ หว้าหิน แล้วก็มีต้นไม้อื่นๆ ที่ยังต้องค้นข้อมูลเพิ่มเติมประมาณ 20 ชนิด ซึ่งหากได้ข้อมูลครบก็คิดว่าจะทำเป็นสารานุกรมชื่อพันธุ์ไม้ริมคลองมำบังที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง” ทีมงานเล่าเป้าหมายปลายทางของงานที่ทำ


จัดกิจกรรมค่าย ปลูกจิตสำนึกรักษ์

เมื่อโครงการเริ่มเป็นรูปธรรม ทีมงานก็เริ่มเห็นแนวทางในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เช่น การปลูกต้นไม้เพิ่มเติมในบางจุด ต้นไม้ต้นไหนที่ขึ้นเองได้ตามธรรมชาติก็ปล่อยให้ฟื้นฟูตัวเอง ต้นไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์ก็ช่วยกันหาวิธีดูแลและขยายพันธุ์เพิ่มเติมระหว่างที่ทีมงานขะมักเขม้นกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูให้ต้นไม้ริมคลองมำบังกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง ทีมงานยังจัดกิจกรรมส่งต่อความรู้เรื่องพันธุ์ไม้ที่พวกเขาสืบค้นมาให้เด็กเยาวชนในชุมชนรับรู้

“เหตุผลที่พวกเราจัดค่ายอนุรักษ์พันธุ์ไม้ขึ้น เพราะต้องการให้เด็กๆ ในชุมชนเห็นถึงความสำคัญของต้นไม้ เกิดจิตสำนึกในการดูแลรักษาชุมชน และทำโครงการต่อยอดจากพวกเรา เราวางแผนการเรียนรู้ไว้ทั้งหมด 5 ฐาน แต่ละฐานเน้นการทำความรู้จักต้นไม้ เช่น เดินสำรวจ ลงเรือ ใช้สะพานลิง ชิมน้ำสมุนไพรที่ทำจากต้นไม้ริมคลอง บังเชษฐ์มักเน้นเสมอว่า ควรจะต้องคิดกิจกรรมที่สนุกไม่น่าเบื่อ” ทีมงานเล่าแนวคิดการจัดค่าย

แม้จะมีข้อกังวลเรื่องงบประมาณในการจัดค่าย แต่พวกเขาก็พยายามช่วยกันระดมเงินทุน ทำจดหมายขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าจะผ่านพ้นไปด้วยดี โดยสิ่งที่คาดหวังจากกิจกรรมในครั้งนี้คือการมีส่วนร่วมของเยาวชนและชุมชนในการดูแลรักษาต้นไม้ริมคลองมำบังให้มีมากขึ้น

ส่วนปัญหาเรื่องการรื้อถอนต้นไม้เพื่อสร้างตลิ่งริมคลองในอีก 2-3 ปีข้างหน้านั้น ทีมยังได้มีการหารือร่วมกับทาง อบต. เรื่องการปลูกต้นไม้ทดแทนการสร้างตลิ่ง และการจัดทำโมเดลจากดินน้ำมัน และวาดภาพบนผืนผ้า เพื่อสื่อสารรณรงค์ให้ทุกคนเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมก่อนและหลังการก่อสร้างตลิ่ง โดยในอนาคตอาจจะมีการศึกษาข้อดีข้อเสียของการสร้างตลิ่งเพิ่มเติม 


มากกว่าอนุรักษ์ คือ 'เรียนรู้ พัฒนา'

ผลสำเร็จที่ก่อเกิดจากโครงการสำรวจพันธุ์ไม้ริมคลองมำบัง ไม่เพียงชุมชนจะมีฐานข้อมูลสำคัญที่นำไปสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟู เพื่อคืนระบบนิเวศอันสมดุลให้กับทุกชีวิตริมคลอง ผลพลอยได้ที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือการที่เยาวชนได้พัฒนาก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเอง

มีดาเล่าว่า การทำโครงการให้ประสบการณ์กับเธอหลายอย่าง โดยเฉพาะทักษะการพูด จากที่เมื่อก่อนไม่กล้าพูดเท่าไร ตอนนี้กล้าพูด กล้าถาม กล้าสงสัย และสามารถนำมาปรับใช้ในการเรียน เช่น สงสัยเวลาครูสอน

เช่นเดียวกับเกดที่บอกว่า โครงการทำให้เธอกล้าแสดงความเห็น และช่างสังเกตมากขึ้น “ช่วงแรก ๆ เรามานั่งฟัง ไม่พูด ไม่อะไร แต่ปัจจุบันกล้าพูด กล้าออกไปหน้าชั้นเรียน จนคุณครูทักว่ากล้าพูดมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีความรู้เกี่ยวกับต้นไม้มากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยรู้เลยว่าต้นไม้ริมคลองมีต้นไม้อะไรบ้าง ไม่เคยสงสัยเลยว่าต้นไม้นี้ชื่ออะไร ตอนนี้เวลาไปไหนมาไหนจะสังเกตมากขึ้น” จากความร่วมแรงร่วมใจทำงาน ร่วมเผชิญปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ยังสอนให้พวกเขารู้จักการทำงานเป็นทีม มีการวางแผน และมีความเป็นผู้นำมากขึ้น 

อัสมาบอกว่า เมื่อก่อนเธอคิดว่าคนที่จะทำโครงการได้ต้องเป็นผู้ใหญ่ ไม่คิดเลยว่าเด็กๆ จะทำได้ โครงการนี้ทำให้กล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมา กล้าคิด ได้ฝึกลงมือทำเอง บริหารกันเอง ได้ฝึกทำงานอย่างเป็นระบบ เมื่อก่อนทำงานแบบไม่มีการวางแผน เดี๋ยวนี้ทำอะไรจะต้องวางแผนก่อน ต้องแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน เพราะถ้าไม่แบ่งหน้าที่มันก็จะสะเปะสะปะ บางครั้งความคิดไม่ตรงกัน พวกเธอก็จะใช้การลงมติว่าสิ่งใดที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังได้ประสบการณ์นำไปใช้เวลาเรียนในมหาวิทยาลัย ที่สำคัญคือการโครงการทำให้เธอได้ฝึกวินัยในตัวเองมากยิ่งขึ้น และรู้จักการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน ๆ ได้ เพราะแต่ละคนมีบุคลิก มีนิสัยแตกต่างกัน อยู่ที่เราจะปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นได้ยังไง

โครงการสำรวจพันธุ์ไม้และอนุรักษ์คลองมำบัง อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จุดประกายให้เยาวชนและคนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสายน้ำแห่งนี้ให้หวนคืนกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็นับเป็นโอกาสให้เมล็ดพันธุ์เล็กๆ แห่งบ้านควนได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง เพื่อเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่จะผลิดอกออกผลสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคมต่อไป


โครงการ : ศึกษาและอนุรักษ์พันธุ์พืชริมคลองมำบัง

พี่เลี้ยงโครงการ

  • วิไลวรรณ ฮะอุรา
  • สมาน ฮะอุรา 
  • ธัญญา ตอหิรัญ

ทีมงาน

  • พิยดา ฮะอุรา  
  • เกศรา กาลีโลน 
  • อัสมา สุมาตรา 
  • อทิตยา หมื่นศรีรา 
  • อานิดา ดาลีโลน 
  • อันลีน่า โส๊ะประจิน 
  • อาตีกะห์ เสีรีรักษ์ 
  • นิสา หมัดเดน 


­