การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาข้อมูลการปลูกผักปลอดสารพิษในชุมชนบ้านหัวทาง จังหวัดสตูล ปี 1

ผัก (ปลอดสาร)

และการเรียนรู้ของเยาวชนบ้านหัวทาง

ประโยคท้าทายจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พุ่งใส่เด็กกลุ่มหนึ่งจากชุมชนบ้านหัวทาง ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ในระหว่างนำเสนอโครงการ เหตุการณ์นี้ น่าจะเป็นบททดสอบแรกของเด็ก ๆ ว่าจะมุ่งมั่นหรืออดทนมากพอหรือไม่

หากแนวคิดของโครงการ Active Citizen คือการ “สร้าง” คุณลักษณะนิสัยหลายประการในตัวเยาวชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ความอดทน” ต่ออุปสรรคปัญหาที่เข้ามากระทบ ขณะเดียวกันก็ยังช่วยสร้างคุณลักษณะ ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการทำงานคือ “การใฝ่เรียนใฝ่รู้”

เยาวชนหัวทางก็เช่นกัน...เพราะตลอดเส้นทางการทำงานที่เด็ก ๆ บอกว่าเป็น “ประสบการณ์นอกห้องเรียน” ทำให้เขาไปพบความต่างระหว่าง “ผักปลอดสาร” และ “ผักปลอดภัย” เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขารู้ “วิธีปลูกผัก” แม้โครงการจะยังไม่ถึงขั้นสร้างกระแสให้คนมาปลูกผักกินเองก็ตาม นี่คือเส้นทางการเรียนรู้ของ “คนกินผัก (บางชนิด)” 

เลือกเรื่องผักเพราะเป็นใกล้ตัว

“พี่ ๆ มาถามว่า สนใจทำโครงการมั๊ย” กัญญา-กัญญาภัค สอเหรบ เล่าถึงจุดเริ่มต้น

“เราก็ตอบว่าอยาก เพราะอยู่ว่าง ๆ แต่พี่บอกว่าต้องมีทีม หนูก็ไปหาทีมมาจนครบ หลังจากนั้นพี่เชษฐ์ ก็นัดมาเรื่อย ๆ และให้ช่วยกันคิดว่าจะทำโครงการอะไร” ทั้งนี้ การเปิดให้คิดแบบกว้างโดยไม่ได้ระบุรูปร่างหน้าตาของโครงการเป็นเสมือนการตรวจสอบความคิดเด็ก ๆ ว่ามีความสนใจ หรือ ใส่ใจสถานการณ์ของชุมชนในเรื่องใดบ้าง

สำหรับน้อง ๆ เยาวชนหัวทางความคิดแรกที่พวกเขานึกถึง คือโครงการที่ก่อให้เกิดรายได้ อาทิ การเลี้ยงปลาและกุ้งแม่น้ำในกระชัง รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์จากใบจากเพราะชุมชนมีแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ

แต่เมื่อวิเคราะห์ทั้งความรู้ และศักยภาพของตนเอง พบว่าการเพาะเลี้ยงทั้งปลาและกุ้งอาจจะเกินกำลัง พี่ ๆ จึงให้ลองคิดถึงเรื่องราวใกล้ ๆ ตัว ซึ่งก็มาจบที่การปลูกผัก เพราะถ้ามองในมุมรายได้ การปลูกผักอาจช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับน้อง ๆ 

เหมือนสถานการณ์กำลังจะไปได้ดี เพราะได้เรื่องที่อยากทำ แต่ก็ต้องมีเหตุทำให้ทีมงานเหลือคนเดียวคือ กัญญา “เหลือหนูคนเดียว และพี่เลี้ยงอีกคน แต่ไม่อยากทิ้งโครงการ จากนั้นก็ไปชวนเพื่อน ๆ มาช่วย” ซึ่งความพยายามและไม่อยากเสียโอกาส กัญญาตระเวนชวนเพื่อน ๆ มาจนครับทีมคนแรกคือ ฟาอิ๊ก ติงหวัง มาด้วยเหตุผลที่อยากจะให้หมู่บ้านโด่งดัง แถมมีความหวังเล็ก ๆ คือการมีอาชีพเสริมเป็นของตัวเอง

คนต่อมาคือ อัยมี มัจฉา ที่มาทำเพราะว่า “โดยส่วนตัวแล้วหนูยังไม่ค่อยรู้เรื่องในหมู่บ้านสักเท่าไร ก็อยากรู้ให้มากขึ้น แล้วก็พัฒนาหมู่บ้านด้วยค่ะ”ส่วนเหตุผลของ ฟ้า-อรัญญา สารบรรณ์ บอกว่า "อยู่บ้านก็ไม่ได้ทำอะไร จะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยค่ะ” ขณะที่ สุ-สุชาวดี ขุนแสง หนูอยากให้ชุมชนสะอาดค่ะ

ต่างคน เข้ามาด้วยเหตุผลต่างกัน แต่ทุกคนสามารถสร้างเป้าหมายร่วมกันได้คือ “อยากให้คนในชุมชนปลูกผักกินเองแม้บางคนจะไม่กินผัก ขณะที่บางคนพอจะมีประสบการณ์ในการปลูกผักมาแล้วจากโรงเรียน

“เดี๋ยวนี้มีผักขายเยอะ ชุมชนของพวกเราใกล้กับตลาดสดด้วย คนส่วนใหญ่จะเลือกซื้อของในตลาดมากกว่าปลูกเอง เพราะสะดวกมากกว่า ก็เลยอยากให้คนในชุมชนปลูกผักทานเอง จะได้ปลอดภัยจากสารเคมีและยาฆ่าแมลงด้วย” กัญญาบอกถึงเป้าหมายของ โครงการศึกษาข้อมูลการปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อส่งเสริมการปลูกการบริโภคให้กับคนในชุมชน โดยมุ่งหวังให้คนในชุมชนได้บริโภคผักปลอดภัย


ความรู้มีอยู่ในแปลงผัก

การทำงาน เริ่มด้วยการสำรวจว่าคนในชุมชนปลูกผักกินเองหรือซื้อผักกินมากกว่า ผ่านการทำแบบสอบ และการสัมภาษณ์บุคคลที่สนิทในชุมชน ซึ่งผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่เลือกซื้อผักกินเอง แต่มีไม่กี่ครอบครัวที่ปลูกผักกินเอง

“มีประมาณ 2-3 ครอบครัว ส่วนผักที่ปลูกจะเป็นผักสวนครัว เช่น กะเพรา” กัญญาบอก 

และด้วยจำนวนของคนในชุมชนที่ปลูกผักไว้บริโภคเองมีน้อยมาก ทำให้พวกเขาเริ่มหวั่นใจว่าจะสามารถเปลี่ยนใจ เปลี่ยนวิถีของชาวบ้านได้หรือไม่ และอีกปัญหาใหญ่คือ ‘ในชุมชนไม่มีพื้นที่ปลูกผัก’

“พอเห็นจำนวนบ้านที่ปลูกผัก ก็เริ่มนึกท้อใจกันบ้างเหมือนกัน เริ่มกลับมานั่งคุยกันใหม่ว่า ถ้าเราเริ่มจากการปลูกผักเอง แล้วนำผักที่เราปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีไปลองขาย ชาวบ้านจะซื้อมั้ย เพราะว่าบ้านในชุมชนส่วนใหญ่จะอยู่ติด ๆ กันหมดเลย จึงมีพื้นที่น้อยมากที่จะปลูกผักกินเอง ตอนนั้นเลยคิดกันว่าอยากจะปลูกผักลงในกระถาง ตั้งบริเวณบ้านนิด ๆ หน่อย ๆ ก็โอเคแล้ว” สุ เสนอไอเดียต่อเพื่อน ๆ นั่นจึงทำให้เด็ก ๆ ลงพื้นที่ศึกษา “วิธีการปลูกผัก” ที่องค์การบริหารส่วนตำบลละงู และ โรงพยาบาลละงู

“ไปขอคำแนะนำเรื่องการปลูกผัก ดูวิธีการปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งพี่ที่โรงพยาบาลเขาปลูกผักปลอดสารพิษด้วยการใช้สูตรตั้งแต่โบราณที่เขาสืบทอดมา คือใช้มูลสัตว์ แกลบ มาคลุกเคล้าด้วยกัน แต่ว่าที่ อบต.ละงู เขาจะใช้วิธีแบบที่ค้นหาในอินเทอร์เน็ต แล้วก็เอามาลงมือทำเอง ตอนนั้นพวกเราก็ตัดสินใจกันว่าจะลองใช้วิธีตามพี่ที่โรงพยาบาลแนะนำ เป็นวิธีการของคนสมัยก่อนด้วย ซึ่งในสมัยก่อนไม่มีสารเคมีอยู่แล้ว และคนสมัยก่อนก็ร่างกายสุขภาพแข็งแรง” กัญญา อธิบายถึงความรู้ที่ได้จากการไปดูงานที่ อบต.ละงู

โรงเรือนผักสวนครัวเพื่อชุมชน

อย่างไรก็ตาม แม้จะเคยมีประสบการณ์การปลูกผักสวนครัวที่ได้จากการเล่าเรียนในวิชาการงานที่โรงเรียนมาบ้าง ทั้งการปลูกพริก มะเขือ ถั่วฝักยาว ถั่วงอก ผักบุ้ง ตะไคร้ กะเพรา แต่การปลูกผักปลอดสารพิษไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนปลูกผักทั่วไป พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับการหาข้อมูลที่รอบด้าน ทั้งการค้นคว้า และสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ เพื่อเร่งเติมองค์ความรู้ หากลเม็ดเคล็ดลับวิชาเพื่อให้พืชผักอยู่รอดได้โดยไม่ใช้ปุ๋ยและเคมี

“ตอนนั้นคิดว่าจะปลูกผักอะไรดี ก็ลองสำรวจว่าส่วนใหญ่คนในชุมชนจะกินผักอะไร ก็จะมีถั่วฝักยาว ผักกาด ผักคะน้า จากนั้นก็พยายามลองหาข้อมูลเพิ่มเติมในอินเทอร์เน็ตถึงวิธีการปลูกของผักแต่ละชนิดว่าผักชนิดนี้ปลูกกี่วัน มีวิธีการอย่างไร แล้วก็พยายามสอบถามคนที่ปลูกผักปลอดสารพิษด้วย ก็ไปหาข้อมูลจากเขาด้วย ซึ่งการหาข้อมูลหลาย ๆ ทาง ไม่ใช่แค่จากอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว เพราะว่าอยากได้ข้อมูลที่หลากหลาย ถ้ารับข้อมูลแค่ด้านเดียว กลัวว่าเราจะรู้ข้อมูลนั้นแค่ข้อมูลเดียว ไม่ได้รู้ข้อมูลเยอะ ซึ่งข้อมูลที่ได้ก็ตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง” กัญญาเล่าวิธีหาข้อมูล

โรงเรือนหลังเล็กๆ บนพื้นที่ ‘ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน’ คือแปลงเพาะปลูกที่เป็นเสมือนสนามทดลองแรกของเยาวชนบ้านหัวทาง ซึ่งเกิดขึ้นจากแรงสนับสนุนของผู้ใหญ่ในชุมชน

“ตอนแรกคิดว่าจะปลูกในกระถางที่บ้าน แต่ผู้ใหญ่ในชุมชนได้แบ่งพื้นที่ของศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงส่วนหนึ่งให้ได้มาร่วมกันปลูกผัก ซึ่งเราก็คิดทำโรงเรือนขึ้นมา เพราะตอนไปโรงพยาบาลละงู ได้เห็นตัวอย่างที่เขาสร้างโรงเรือน พี่เขาบอกว่าถ้าทำแปลงบนพื้นดินเลยจะมีปัญหาเรื่องแมลงได้ง่าย เพราะแมลงจะบินต่ำ พอได้รับคำ

แนะนำจากตรงนั้นมาก็เลยคิดสร้างโรงเรือนดีกว่าเพื่อป้องกันแมลงส่วนหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับการช่วยเหลือจากพ่อแม่ และผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการปลูก ซึ่งผักที่ปลูกก็มีผักกาด ผักบุ้ง เพราะเป็นผักที่ชาวบ้านนิยมกิน และยังไม่ค่อยมีใครปลูก ส่วนการดูแลจะจัดเวรแบบสองต่อสอง สลับกันแบบคนนี้มาวันนี้นะ แล้วก็เวียนกันไปดู” ฟาอิ๊กบอกวิธีดูแลสวนผัก


ผักจะงอกงาม ต้องรดน้ำและใส่ใจ

แม้การปลูกผักปลอดสารจะเริ่มต้นด้วยดี แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ผลผลิตบนแปลงปลูกล้วนแล้วแต่แคระแกนแห้งเหี่ยวเฉาตาย พวกเขายอมรับว่า นอกจากสภาพฝนฟ้าอากาศที่ไม่เป็นใจแล้ว ปัญหาหลักคือ ‘ความใส่ใจ’ และ ‘การแบ่งเวลา’ ของคนในทีม

“ช่วงนั้นฝนตกด้วย แล้วเพื่อนแต่ละคนในทีมแทบไม่มีเวลาว่าง ไม่มีใครมาดูแลรดน้ำ เพราะว่าใกล้ปิดเทอมทุกคนต้องเคลียร์งานและอ่านหนังสือสอบ แต่ที่สำคัญคือเรายังจัดการเวลาไม่โอเค จัดการเวลาไม่ถูก” กัญญากล่าว

ด้านสุ บอกว่า “ไม่ได้มาเพราะต้องเรียน แล้วก็มีงานกลุ่มด้วย”

ขณะที่ อัยมี ยอมรับตามตรงว่า “จริง ๆ ก็มีเวลาว่างนะ แต่อาจเป็นเพราะพวกเราไม่จริงจัง ไม่ให้ความสำคัญกับมัน บางทีก็เหนื่อย ๆ ก็ไม่อยากมา”

บ่อยครั้งที่การเดินทางไม่ได้ราบเรียบดั่งที่ใจคิดเสมอไป อาจมีหลงทางไปบ้าง เจออุปสรรคบ้าง นั่นไม่ได้หมายความว่าจะหมดโอกาสถึงเส้นชัย ‘การยอมรับความจริง’ และ ‘กล้าเผชิญกับปัญหา’ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำโครงการ อาจทำให้พวกเขาได้ทบทวนและพัฒนาตัวเอง ก่อนจะได้อิ่มเอมกับความสำเร็จที่รออยู่ปลายทาง

“ตอนนี้ก็คิดว่าจะเริ่มเพาะปลูกและดูแลผักใหม่ ช่วยกันแบ่งเวลา จัดสรรเวลาให้ถูกและดีมากขึ้น แล้วก็รอผล เพื่อเป้าหมายที่เราตั้งไว้ คืออยากให้คนในชุมชนได้กินผักปลอดสารพิษ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนทั้งนอกหมู่บ้านและในหมู่บ้านได้เข้ามาศึกษา ซึ่งเบื้องต้นก็ตั้งใจไว้ว่าจะเอาความรู้ที่ได้จากการปลูกผักโพสต์ลงเฟซบุ๊ก แล้วก็นำไปพูดคุยในวันที่มีการประชุมของหมู่บ้าน เอาผักที่ปลูกได้ไปโชว์ ก็ยังหวังไว้เช่นนั้น อยากทำต่อให้สำเร็จ” ทีมงานบอกหลังจากรู้ข้อผิดพลาดของตนเอง

อย่างไรดีแม้วันนี้ผักในแปลงจะยังไม่ผลิดอกออกผล แต่พวกเขาบอกว่ากระบวนการทำงานในโครงการได้พัฒนา ขัดเกลาให้พวกเขาเติบโตมากขึ้น กัญญาบอกว่า “การทำโครงการนี้ช่วยฝึกให้เรามีความอดทน เพราะโตไปคงต้องเจอปัญหาอะไรอีกเยอะ และที่สำคัญคือการมีโอกาสได้เรียนรู้การปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งถ้าปลูกได้สำเร็จ ก็จะเป็นอาชีพเสริมให้เราในวันข้างหน้าได้”

ส่วน อัยมี บอกว่า “ความรู้ที่ได้ในการทำโครงการ นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและในโรงเรียนได้ อย่างเรารู้แล้วว่าผักในตลาดมีสารพิษ ดังนั้นการที่เราได้เรียนรู้วิธีปลูกผักปลอดสารพิษ เราก็สามารถกลับไปปลูกกินที่บ้านได้เอง จะได้มีสุขภาพดี ซึ่งที่บ้านก็ปลูกผักเยอะเหมือนกัน แต่จะเป็นตากับยายปลูก เราก็ช่วยรดน้ำต้นไม้ และผักที่บ้านจะไม่ใช้สารเคมีเลย จะใช้เป็นน้ำหมักแทน ความรู้ที่ได้เราก็เอาไปช่วยตากับยายปลูกได้”

สำหรับ บังเลด-อับดุลย์เลด ลัดเลีย พี่เลี้ยงโครงการ กล่าวว่า แม้โครงการจะยังเดินทางไม่ถึงจุดที่สำเร็จหรือสิ้นสุด แต่ตลอดระยะเวลาที่ได้เฝ้าติดตามการทำงานของกลุ่มเยาวชนบ้านหัวทาง ก็รู้สึกดีใจที่ได้เห็นพัฒนาการของเด็กๆ โดยเฉพาะสิ่งที่หวังไว้คือ ‘ความกล้าแสดงออก’

“เราเห็นพัฒนาการที่ชัดเจนของเด็ก ๆ แม้จะอาจจะไม่ได้กับเด็กทุกคน แต่อย่างน้อยมีคนที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมาก อย่างฟาอิ๊ก จากเดิมที่ไม่กล้า ขี้อาย ก็กล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น ส่วนกันยาเมื่อก่อนไปโรงเรียนกำแพงวิทยา คือไม่กล้าพูดเลย แต่พอมาทำโครงการนี้ กล้าออกไปนำเสนอ กล้าเปิดพาวเวอร์พ้อยท์ให้คนจำนวนมากดู ซึ่งทางโรงเรียนเล่าให้ผมฟังว่า ทางโรงเรียนให้ทำหนังสั้นประมาณสองสามนาที ให้เขาอธิบายอะไรต่าง ๆ เขาอธิบายได้ดีมาก แล้วที่สำคัญคือพวกเขาสามารถตัดต่อวิดีโอนำเสนอว่าหมู่บ้านเรามีอะไรออกมาได้ดี จากที่ได้เข้าอบรมการตัดต่อวิดีโอ พวกเขาสามารถนำนักท่องเที่ยวได้ สำหรับผมนี่คือสุดยอดแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือที่ผมคิดว่าเด็ก ๆ ได้” 

ต้นผักเล็กๆ ในโรงเรือนที่เด็กๆ ปลูกขึ้นเพื่อหวังเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยในชุมชนแห่งนี้ แม้ผลผลิตจะยังไม่งอกงามให้เห็นผล แต่ตลอดเส้นทางของการปลูกผักสร้างโรงเรือน ก็เปรียบเสมือนสนามทดสอบที่บ่มเพาะ ขัดเกลา ให้เหล่า ‘ต้นกล้าบ้านหัวทาง’ ได้เห็น ‘คุณค่าและศักยภาพ’ ของตนเอง เพื่อรอวันเติบโตเป็น ‘ไม้ใหญ่’ แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นที่พึ่งให้ชุมชนและสังคมต่อไป


โครงการ : ศึกษาข้อมูลการปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อส่งเสริมการปลูกการบริโภคให้กับคนในชุมชน 

พี่เลี้ยงโครงการ

  • อับดุลย์เลด ลัดเลีย 
  • วรวรรณ์ สอและ 

ทีมงาน

  • กัญญาภัค สอเหรบ 
  • สุชาวดี ขุนแสง 
  • อรัญญา สารบรรณ์ 
  • ฟาอิ๊ก ติงหวัง 
  • อัยมี่ มัจฉา