การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อได้ข้อมูลพันธุ์ผักพื้นบ้านในชุมชนบ้านทุ่งพัฒนา ตำบลละงู จังหวัดสตูล

เด็กบ้านทุ่งพัฒนา “ปลูกผักพื้นบ้าน” ปลอดภัย

เมื่อผักสวยงามที่วางขายตามท้องตลาด อาจถูกอาบไปด้วยยาฆ่าแมลงที่เป็นพิษ ถึงเวลาที่ ‘เยาวชนบ้านทุ่งพัฒนา’ หันมาชวนชาวบ้านปลูก ‘ผักพื้นบ้าน’ ของดีท้องถิ่นไว้กินเอง

“อยากให้คนในหมู่บ้านลดการซื้อผักจากข้างนอก ซึ่งเราไม่รู้ว่ามีสารเคมีหรือเปล่า อยากให้หันมาปลูกผักกินเอง ลดรายจ่าย แล้วก็อยากรู้จักผักพื้นบ้านของเราด้วย” ...คำบอกเล่าถึงเป้าหมายสำคัญในการลงมือทำโครงการศึกษารวบรวมข้อมูลผักพื้นบ้าน เพื่อการฟื้นฟูโดยการหาวิธีการปลูกในรูปแบบใหม่ของชุมชน ฝีมือตัวแทนเยาวชนบ้านทุ่งพัฒนา ประกอบด้วย แจ๋ว-จันทิมา อานัน, วาซิม-วาซิม ติงหวัง, ท๊อป-ชนิษฐา หล่ำกีง, มา-ปิยานุช ชายเหตุ, ลีต้า-ลลิตา อุดรเสถียร และนริษา ชายเหตุ

สำรวจผัก สร้างทำเนียบผักพื้นบ้าน 

เมื่อรักจะปลูกผักพื้นบ้าน คงต้องนิยามให้ชัดก่อนว่า ผักพื้นบ้านต่างจากผักทั่วไปอย่างไร ซึ่งเมื่อเริ่มคำถามนี้ แจ๋วอธิบายเสียงดังฟังชัดว่า “ผักพื้นบ้าน คือ ผักที่ขึ้นเองตามพื้นบ้าน ตามธรรมชาติ อยู่ในป่า มีในหมู่บ้าน หากินได้ง่าย” ก่อนจะกระซิบปิดท้ายคำตอบว่า พวกเขาเคยพลาดกับการตอบคำถามนี้มาแล้วตอนไปนำเสนอโครงการ

“โดนคำถามนี้เป็นคำถามแรกเลยว่า ผักพื้นบ้านคืออะไร ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ความหมายชัดเจน น้องบางคนตอบไปว่า ผักบุ้ง ผักกาด แต่ตอนนี้รู้จัก ตอบได้หมดแล้ว (หัวเราะ) ” แจ๋วเล่าหวนถึงบทเรียนแรกของการทำโครงการผักพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น ถือว่าเป็นเสน่ห์ เอกลักษณ์ และสรรพคุณเฉพาะตัว ส่วนที่บ้านทุ่งพัฒนาจะมีผักพื้นบ้านชนิดใดบ้าง เป็น ‘องค์ความรู้” ที่เด็ก ๆ กำลังเริ่มสืบค้นและติดตาม ซึ่งการทำงานของพวกเขาเริ่มต้นจากการประชุม แบ่งงาน ช่วยกันสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับผักพื้นบ้าน ความแตกต่างระหว่างผักพื้นบ้านและผักทั่วไป รวมถึงผักพื้นบ้านที่อาจพบได้ในชุมชน ซึ่งเมื่อมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นแล้ว ก็ถึงเวลาลงพื้นที่สำรวจ สอบถามคนในหมู่บ้าน

แจ๋ว เล่าว่า การลงสำรวจรอบแรก พวกเราเชิญผู้ใหญ่ในชุมชนมาประชุมที่ศาลากลางหมู่บ้าน เพื่อสอบถามชื่อ สรรพคุณ การประกอบอาหาร และการรับประทาน เช่น ชอบกินแกงอะไร และแกงนี้ใส่ผักอะไ้รบ้าง ได้ชื่อผักมาประมาณ 80-90 ชนิด แต่ไม่ได้แยกประเภทไว้ โดยข้อมูลที่ได้เบื้องต้นจะเก็บไว้สำหรับเลือกผักที่จะปลูก จากนั้นก็ลงสำรวจในพื้นที่จริงตามบ้านคนในชุมชนที่ปลูกผัก (คนที่มาให้ข้อมูลครั้งแรก) ซึ่งการลงไปสำรวจครั้งนี้ทีมวางแผนการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด คือ มีคนสัมภาษณ์ คนจดบันทึก และคนถ่ายภาพ

ข้อมูลที่ได้จากการสอบถาม พูดคุยกับคนในหมู่บ้าน ทีมงานจะนำมาตรวจสอบ ค้นหาข้อมูล และศึกษาเพิ่มเติมทั้งสรรพคุณทางยา วิธีการปลูก ขั้นตอนการปลูก รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูก ผ่านการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ รวมถึงการสอบถามจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับความคืบหน้าของการดำเนินงานขณะนี้ แจ๋วบอกว่า “ตอนนี้เก็บข้อมูลได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ยังขาดข้อมูลผักบางชนิดที่ยังไม่รู้สรรพคุณว่า ใช้ทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการปลูกให้ได้ผล ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลครบสมบูรณ์ พวกเราตั้งใจว่าจะนำข้อมูลไปทำ ‘หนังสือทำเนียบผักพื้นบ้านของชุมชน’ เก็บไว้กับผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเป็นประโยชน์กับชุมชน และนักเรียนที่สนใจมาศึกษาต่อได้”


งานบุญ “นูหรี” รับบริจาคพันธุ์ผัก

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่หวังให้ชาวบ้านหันมาปลูกผักพื้นบ้านไว้บริโภคเอง ทีมงานสนจึงจัดกิจกรรม ‘นูหรี’ ซึ่งเป็นงานบุญจัดเลี้ยงอาหารอย่างไม่เป็นทางการของพี่น้องมุสลิม เพื่อเป็นเวทีบอกเล่ารายละเอียดการทำโครงการ และเชิญชวนให้ชาวบ้านร่วมกันบริจาคพันธุ์ผักพื้นบ้านสำหรับใช้เพาะพันธุ์ต่อไป

“ปกติเวลากินนูหรีชาวบ้านจะเอาข้าวสาร น้ำตาล น้ำขวด มากินร่วมกัน การจัดกิจกรรมครั้งนี้พวกเราก็ช่วยกันทำตั้งแต่ออกแบบการ์ด เชิญครูในโรงเรียน คนในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอิหม่าม โดยในการ์ดจะเขียนว่า จัดงานวันไหน ที่ไหน เชิญมากินขนมจีน และขอรับบริจาคพันธุ์ผักพื้นบ้าน โดยไม่จำกัดว่าเป็นพันธุ์ผักอะไร เพื่อนำไปปลูกต่อ” แจ๋วอธิบายวิธีการทำงาน

การประชาสัมพันธ์เชิญชวนชาวบ้านมาร่วมงานนูหรี ไม่ได้มีแค่การ์ดเชิญเท่านั้น เด็ก ๆ ยังร่วมแรงร่วมใจทำแผ่นป้าย คลิปประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊ก ขณะที่การจัดเตรียมงานก็เป็นไปอย่างแข็งขัน ทั้งการทำแผ่นพับ พาวเวอร์พ้อยท์ บอร์ดประชาสัมพันธ์โครงการ ทำซุ้มสำหรับถ่ายรูป หรือแม้แต่การเตรียมสคริปต์สำหรับพิธีกร ซึ่งหลายงานพวกเขาไม่เคยทำมาก่อน 

“อย่างทำคลิปวิดีโอประชาสัมพันธ์พวกเราก็ไม่เคยทำ อาศัยเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต เพราะว่าตอนอบรมสื่อเยาวชนไม่ได้ไปเข้าร่วม แต่ด้วยวาซิมชอบเล่นโทรศัพท์ ก็พอทำได้ พอทำคลิปเสร็จก็เอาไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก แล้วก็แท็กทุกคน พร้อมกับแชร์ให้มีคนเข้ามาดูเยอะๆ ส่วนการเตรียมวันงาน ก็ประชุมแบ่งบทบาทหน้าที่กัน มีคนช่วยรับลงทะเบียน รับพันธุ์ผัก แจกแผ่นพับ ส่วนพิธีกรก็จะมีทำสคริปต์ว่าต้องพูดอะไรบ้าง และฝึกซ้อมเพื่อไม่ให้เกิดอาการเขินอายในวันจริงพิธีกร” แจ๋วบอก

จากความมุ่งมั่นตั้งใจ แม้จะทำให้กิจกรรมนูหรีผ่านไปด้วยดี มีชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 50-60 คน ชาวบ้านร่วมด้วยช่วยกันทำขนมจีนๆ คนละไม้คนละมือ อาหารมีพร้อมพอกิน เด็ก ๆ ได้นำเสนอถึงโครงการที่พวกเขาตั้งใจทำ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ยังไม่เป็นไปตามหวัง เพราะวัตถุประสงค์หลักของการจัดงานที่ตั้งไว้ล้มเหลวไม่เป็นท่า

วาซิม เล่าว่า ความตั้งใจของเราในการจัดกิจกรรมนูหรีคือ อยากได้พันธุ์ผักพื้นบ้าน วันงานมีคนมาเยอะ แต่ชาวบ้านเข้าใจผิดนึกว่าให้เอาผักพื้นบ้านมากินกับขนมจีน เลยไม่ได้เอาพันธุ์ผักมาให้เรา ก็รู้สึกเสียใจว่า ไม่ได้พันธุ์ผักอย่างที่คาดหวังไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกเราสื่อสาร แต่พอชาวบ้านรู้ว่าเราอยากได้พันธุ์ผัก เขาก็บอกว่าให้ไปขุดเอาได้เลย อยากได้ต้นไหนก็เอาไป ก็เลยใจชื้นขึ้นมา แต่อีกด้านหนึ่งเราก็ประทับใจในมุมดี ๆ ที่ได้เห็นความช่วยเหลือของคนในหมู่บ้านที่พร้อมใจมาร่วมกิจกรรม ช่วยกันทำอาหาร มีหลายคนมาช่วยทำปลา น้ำแกง ขูดมะพร้าว

จากปัญหาในครั้งนั้น ทีมงานนำมาเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำรอย แจ๋ว เล่าว่า หลังงานก็กลับมาคุยกันว่าปัญหาเกิดจากอะไร ซึ่งก็มาจากพวกเราที่สื่อสารไม่ถูก แม้จะเขียนในการ์ดแล้วว่าให้นำพันธุ์ผักพื้นบ้านมา แต่พอพวกเราทำขนมจีนด้วย ก็อาจทำให้ชาวบ้านคิดว่าให้เอาผักมากินกับขนมจีน ครั้งหน้าคงต้องสื่อสารให้ชัดเจน ระบุไปเลยว่าให้เอาเมล็ด ต้น หรือหัวของพันธุ์ผัก


ล้อมรั้วปลูกผัก เพาะกล้าแห่งบ้านทุ่ง

เมื่อการจัดงานไม่เป็นผล ทีมงานหันมาใช้กลยุทธ์ ‘เคาะประตูบ้าน’ ด้วยการแบ่งทีมไปขอพันธุ์ผักตามบ้าน เพื่อไปปลูกขยายพันธุ์เป็นคลังอาหารของชุมชน 

“เราเดินไปขอพันธุ์ผักตามบ้านเลย ก็ได้ทั้งขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกอก ซึ่งกลุ่มจะนำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อบนที่ดินข้างบ้านพี่จันทนา อานัน พี่เลี้ยงโครงการซึ่งว่างอยู่ โดยวางแผนทำเป็นแปลงผักศูนย์รวมของคนในหมู่บ้าน ใครอยากได้พันธุ์ผักชนิดไหนไปปลูกก็มาเอาได้เลย แต่ตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องแพะมากินผักตอนกลางคืน ทีมจึงคิดขอแรงผู้ใหญ่ในชุมชนมาช่วยกันทำรั้วก่อน” แจ๋วเล่าปัญหาที่ทำให้การปลูกผักของทีมหยุดชะงักลง

สำหรับการปลูกผัก ทีมงานบอกว่าได้พยายามศึกษาหาวิธีการปลูกใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ และสภาพแวดล้อมมากขึ้น โดยทีมงานคิดไว้ 2 แบบ คือการปลูกลงแปลง กับการจัดสวน ที่สืบค้นวิธีมาจากอินเทอร์เน็ตว่า ผักชนิดไหนควรปลูกลงแปลง เช่น ตะไคร้ ใบมะกอก มะกรูด เป็นผักที่มีต้นใหญ่ ใช้พื้นที่เยอะ ต้องปลูกในแปลง ส่วนผักเล็ก ๆเช่น โหระพา กระเพรา พริก ต้นหอม สามารถนำมาปลูกแบบจัดสวนได้ เนื่องจากจะดูแลรักษาได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ก็พยายามดูว่ามีผักชนิดไหนปลูกในกระถางหรือในขวดได้บ้าง

จากผักพื้นบ้านที่ไม่เคยรู้จัก จนมาสู่แปลงผักที่กำลังงอกงามนั้น พวกเขาต่างสะท้อนว่า กว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ได้ต้องก้าวผ่านอุปสรรคมาไม่น้อย

“ความยากของการทำงาน คือ การรวมตัวกัน เพราะบางคนว่าง บางคนไม่ว่าง เราจะนัดกันหลังเลิกเรียน เราเรียนคนละโรงเรียน ต้องนัดตอนกลางคืน พ่อกับแม่ก็มีว่าบ้าง แต่ไม่ได้นัดทุกคืน แต่ส่วนมากพอบอกว่ามาประชุมก็จะไม่ว่าอะไรมาก ส่วนใหญ่ใช้เวลาประชุมกันประมาณ 1-2 ชั่วโมง บางวันก็ครบบ้าง บางวันไม่ครบ ก็ประชุมกันเท่าที่มี ไม่ได้โกรธเพื่อน เพราะอาจจะไม่ว่างจริงๆ” แจ๋วเล่าวิธีทำงาน

“เด็กๆ มักให้กำลังใจกัน ถ้ามีเพื่อนคนไหนไม่ว่าง มาไม่ได้ ก็จะบอกเพื่อนว่าสู้ๆ นะ” พี่จันทนาสะท้อนถึงมุมมองความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พร้อมเล่าเสริมถึงพัฒนาการของเด็กๆ ที่ดีขึ้นมาก

“เด็ก ๆ ในกลุ่มมีการปรับตัวและมีวินัยในการทำงานมากขึ้นหลังทำโครงการ เช่น เรื่องการตรงต่อเวลา เมื่อก่อนนัด 10 โมงเช้า มาบ่าย 2 แต่หลังจากจัดกิจกรรมนูหรี ก็กระตือรือร้นมาก เพราะตอนจัดงานต้องมาช่วยกันทุกคืน เริ่มมาตรงเวลา มีความตั้งใจ เพราะว่าพวกเขาอยากให้งานออกมาดี รู้สึกภูมิใจในตัวเด็ก ๆ มาก” จันทนาในฐานะพี่เลี้ยงเล่าด้วยสีหน้าภูมิใจส่วนทีมงานเองก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การได้เข้าร่วมโครงการนี้ทำให้พวกเขากล้าหาญ กล้าแสดงออก และเปลี่ยนแปลงตนเองไปอย่างมาก 

“การทำงานโครงการ ทำให้มีความกล้าหาญ กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าพูดมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้จะพูดเฉพาะกับคนสนิท ตอนนี้พูดได้หมด กับเพื่อนๆ ก็สนิทกันมากขึ้น” ท๊อปบอกความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง

ด้าน มา เล่าเสริมว่า เมื่อก่อนเธอขี้อาย อยู่แต่ในบ้านไม่ออกไปไหน แต่ตอนนี้กล้าแสดงออก และรู้จักแบ่งเวลามากขึ้น มาทำกิจกรรมก็ไม่กระทบการเรียน จันทร์-ศุกร์ ก็เรียน ส่วนเสาร์-อาทิตย์ ก็แบ่งเวลามาทำงาน

การรวบรวมและปลูกผักพื้นบ้านของเยาวชนบ้านทุ่งพัฒนา ได้จุดประกายการมีส่วนร่วมและเห็นคุณค่าของการปลูกผักในชุมชนอย่างมาก เพราะโครงการของพวกเขาสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มเพาะเห็ดปลอดสารพิษของผู้ใหญ่ ก่อเกิดเป็นแนวคิดขยายผลในการจัดทำ ‘ตลาดนัดหมู่บ้าน’ ที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านนำผักที่ปลูกตามบ้าน รวมถึงปลาที่จับได้มาวางขายแลกเปลี่ยนกัน ส่วนกลุ่มแม่บ้านก็จะตัดเสื้อบ๊ะบ๋ามาขายด้วย

วันนี้ ‘แปลงผักพื้นบ้านเล็กๆ’ ในหมู่บ้านที่กำลังงอกงามด้วยน้ำพักน้ำแรงของเยาวชน แม้จะเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่กระตุ้นให้คนในหมู่บ้านหันมาอยากปลูกผักพื้นบ้านไว้ปรุงอาหาร หรือนำมาขายมากขึ้น แต่คุณค่าที่แท้จริงที่เกิดขึ้นกับชุมชนนั้น คือ โอกาสในการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนของเด็ก ๆ ที่จะช่วยบ่มเพาะให้เหล่าต้นกล้าแห่งบ้านทุ่งพัฒนา ได้เรียนรู้ เติบใหญ่เป็นกำลังสำคัญของชุมชนต่อไป


โครงการ : ศึกษารวบรวมข้อมูลผักพื้นบ้าน เพื่อการฟื้นฟูโดยการหาวิธีการปลูกในรูปแบบใหม่ของชุมชน

พี่เลี้ยงโครงการ : ( จันทนา อานัน ) ( สุภัสสร หวันสู ) 

ทีมงาน : ( จันทิมา อานัน ) ( ขนิษฐา หล่ำกิ่ง ) ( ปิยานุช ชายเหตุ ) ( วาซิม ติงหวัง ) ( ลลิตา อุดรเสถียร ) ( นริษา ชายเหตุ ) ( พีรพัฒน์ จันเจือ ) ( ภาณุวิชญ์ นิ้วหลี )