การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อเรียนรู้และอนุรักษ์ปันจักสีลัตบ้านทุ่ง จังหวัดสตูล ปี 1

เรียนรู้เพื่อรักษ์ ‘ปันจักสีลัตบ้านทุ่ง’

“เด็กแว้น ติดเกม มั่วสุม ไม่มีมีสัมมาคารวะ ไม่เข้าหาผู้ใหญ่ ต่างคนต่างอยู่” เป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ใหญ่ในชุมชนบ้านทุ่ง ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ผนึกกำลังกันเพื่อให้เด็กเยาวชนหลุดพ้นจากปัญหาดังกล่าว จึงรวมตัวกันมาฟังบังเชษฐ์ บังปิง ชี้แจงเป้าหมายการทำโครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูลด้วยตัวเอง จนมองเห็นว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะได้พัฒนาศักยภาพของเยาวชนให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงใช้มติของสภาองค์การชุมชนลงมติร่วมกันว่า ‘ต้องการทำโครงการนี้’ เพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนในชุมชน โดยใช้เรื่อง “ปันจักสีลัต” ซึ่งเป็นฐานงานวิจัยเดิมของชุมชนแห่งนี้เป็น “เครื่องมือ” 

ช่วงเริ่มต้นที่มีโครงการเข้ามา สาว-วิณัฐดา หมื่นอาด ซึ่งเป็นแกนนำพี่ใหญ่ของโครงการ เกิดแรงบันดาลใจที่อยากสืบสาน “ปันจักสีลัต” เนื่องจากเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีอยู่ “ชิ้นเดียว” ในจังหวัดสตูล และผู้รู้ก็เหลือเพียง 3 คนสุดท้าย หนึ่งใน 3 คนสุดท้าย ก็คือ บังวาเหรด หมื่นอาด “ปู่” ของสาวเอง ที่เก็บรักษาเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในศิลปะการต่อสู้ “ปันจักสีลัต” จึงเป็นเหตุที่ทำให้สาวเห็นความสำคัญที่จะสืบทอด โดยมองว่าเริ่มที่ตัวเองและน้องชาย ซาน-อัฐยุทธ์ หมื่นอาด ก่อน เพราะอย่างน้อยถ้าเริ่มจากตัวเองและคนในครอบครัวก่อนที่เห็นคุณค่าและพยายามเก็บองค์ความรู้เหล่านั้นไว้ก็เหมือนเป็น “ทุน” ที่สามารถส่งต่อให้คนอื่นได้ แต่เมื่อถึงเวลาที่สาวต้องไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ทำให้ทีมขาดผู้นำกลุ่ม จึงเป็นโจทย์ที่ทำให้โคชต้องเข้าไปช่วยคลี่คลาย

“พื้นที่นี้พวกเราทีมโคชเข้าไปหลายครั้งมาก เพราะอยากเจอเด็ก นัดดึกดื่นแค่ไหนเราก็ไป แต่พอไปถึงก็ไม่เคยเจอเด็กเลย เจอแต่ม๊ะของเด็กๆ แต่ก็ทำให้เราเห็นความตั้งใจจริงของผู้ใหญ่ในชุมชน จึงใช้วิธีพูดสื่อสารผ่านม๊ะไปให้ไปชักชวนลูกหลานอีกที จนได้เด็กครบทีม เริ่มเก็บข้อมูล R1 R2 R3 เสร็จ ก็เกิดมีการเปลี่ยนทีม เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ต้องออกไปเรียนต่อนอกพื้นที่ อันวาร์ นาเคณฑ์ หัวโจกก๊วนแว้นจึงต้องขึ้นมาเป็นผู้นำทีมแทน” บังเชษฐ์เล่าที่มาที่ไปของการทำโครงการแนวทางการสร้างการเรียนรู้ด้านดนตรีปันจักสีลัตของชุมชนบ้านทุ่ง

ปลุกไฟในใจทีมงาน

“ตอนแรกผมก็ไม่อยากทำนะ เพราะก่อนที่พี่ ๆ เขาจะออกไปเรียนต่อ มีพี่เลี้ยงไปฟ้องแม่ว่า ผมไม่เคยไปประชุมเลย แม่ก็มาถามว่าทำไมไม่ไป ผมก็บอกว่าไม่อยากทำแล้วเหนื่อยแล้ว ตามใครก็ไม่มีใครมา แต่แม่ก็บอกว่าไหน ๆ ก็รับทำมาถึงขนาดนี้แล้ว เหลือคนเดียวก็ทำไปให้สุด ซึ่งตอนหลังก็มีพวกม๊ะ ๆ ชวนลูกเขามาเข้าร่วมกิจกรรม ทำให้ผมได้ย้อนมองดูตัวเองว่า ผมอายุมากกว่าน้องน่าจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนบ้าง เมื่อเห็นน้อง ๆ สนใจ ผมจึงกลับมาทำกิจกรรมเหมือนเดิม” อันวาร์เล่าถึงกำลังใจที่ได้รับจากแม่และคนในชุมชนที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาทำโครงการต่อ พร้อมกับชักชวนน้องชายคือ ซีดาน นาเคณฑ์, นา-อาลียา แซ๊ะอาหลี, เฟิร์น-ณัฐกานต์ ดันงุ่น, และยู-พีระพัฒน์ เพ่งสู เข้ามาร่วมทีมเพิ่ม

นอกจากกำลังใจแม่ อีกเหตุผลหนึ่งที่อันวาร์ลุกขึ้นมาสานต่อโครงการนี้คือ “ผมเคยเห็นปันจักสีลัตมาตั้งแต่เล็ก แต่ช่วงหลัง ๆ ไม่ค่อยได้เห็นก็เลยอยากรักษาไว้ พอพี่ ๆ เขาบอกว่าไม่ว่างมาทำแล้วนะติดเรียน ผมก็มาทำต่อด้วยการเอาข้อมูลที่พี่ทำไว้มาใช้ เพราะเรารู้งานมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว และมันก็ไม่ได้ยากอะไร ดูว่าพี่เขาทำไปถึงไหน มีข้อมูลอะไรที่เก็บไปแล้วบ้าง อะไรที่ยังได้ไม่ครบก็ไปหาเพิ่มจากครูภูมิปัญญา แล้วก็ไปเรียบเรียงจากอินเทอร์เน็ตมาเปรียบเทียบดูว่ามันเหมือนหรือต่างกันตรงไหน”

“เนื่องจากเป็นทีมใหม่ สมาชิกยังไม่ค่อยเข้าใจวิธีทำงาน และไม่รู้ว่าจะเรียนรู้เรื่องปัญจักสีลัตไปทำไม ผมจึงปรึกษาบังปิงว่าอยากไปเรียนรู้ปัญจักสีลัตของที่อื่นที่เขาว่าดี มันดียังไง” อันวาร์เล่า“ผมพยายามค้นหาว่าครูที่ฝึกสอนปัญจักสีลัตดี ๆ มีอยู่ที่ไหนบ้าง กระทั่งรู้ว่ามีอยู่ที่ตำบลปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี แต่ติดขัดตรงที่ไม่มีงบประมาณในการเดินทางให้ พอไปปรึกษาผู้ใหญ่ในชุมชน เขาก็บอกว่าถ้าเช่นนั้นเขาจะระดมเงินกัน 200 บาทเป็นค่ารถ ส่วนค่าอาหารก็ทำข้าวหม้อแกงหม้อไปกินกันระหว่างทาง” บังปิงเล่าถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่ต้องการพัฒนาเด็กเยาวชนของตนเอง

ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เมื่อไปถึงจะชาวบ้านที่บ้านปูยุดแต่งตัวมาต้อนรับเต็มที่ มีการแสดงโชว์ และฝีกสอนท่าปันจักสีลัตแบบง่าย ๆ การได้ดูงาน การได้สัมผัสของจริงในครั้งนั้น จึงเป็นการเปิดโลกทัศน์และสร้างกำลังใจให้กับเด็กและครูภูมิปัญญาเป็นอย่างมาก

“ปันจักสีลัตของแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน ความแตกต่างส่วนใหญ่จะอยู่ที่ความสวยงามของท่าร่ายรำ อย่างที่ปัตตานีเขานำมาประยุกต์เป็นการต่อสู้ที่เข้มแข็งสามารถแสดงโชว์ในงานได้ ซึ่งของบ้านเราก็สามารถโชว์ได้แต่ว่าไม่ตื่นตาตื่นใจเท่า” อันวาร์เล่าสิ่งที่ได้เห็นจากการดูงาน

และการไปดูงานในครั้งนั้นได้เปิดโลกใบใหม่และเปลี่ยนความคิดของอันวาร์ไปโดยสิ้นเชิง จากเดิมที่คิดแค่ว่าจะเรียนรู้และสืบสานปันจักสีลัตไว้ด้วยตนเอง ก็ผันตัวเองมาเป็นผู้กำกับดูแลน้อง ๆ ให้น้องมาฝึกซ้อมแทน เพราะคิดว่าตนเองสามารถนำน้องได้ พูดแล้วน้องเชื่อฟัง


 ปลุก ‘ปันจักสีลัต’ ฟื้นคืนสู่ชุมชน

หลังกลับจากเรียนรู้ดูงานที่จังหวัดปัตตานี ทีมงานจึงเดินหน้าทำโครงการเต็มที่ ด้วยการเข้าไปสอบถามผู้รู้ หาข้อมูลเบื้องต้น เช่น ประวัติความเป็นมา ท่าร่ายรำ และเสียงดนตรีจนได้ข้อมูลครบถ้วน พร้อมกับจัดสรรเวลาช่วงเย็น หรือวันหยุดเสาร์อาทิตย์ไปฝึกซ้อมที่บ้านครูภูมิปัญญาคือ บังวาเหรด หมื่นอาด อายุ 68 ปี และบังดนต์ ทองสีสัน อายุ 76 ซึ่งมีทั้งชายและหญิงรวมกันกว่า 10 คน โดยครูภูมิปัญญาจะสอนเกี่ยวกับการร่ายรำ ท่าทาง และเรื่องการรบด้วยมือเปล่า ซึ่งเป็นต้นฉบับของปันจักสีลัตบ้านทุ่งในครั้งอดีต

“สิ่งที่ยากที่สุดคือการร่ายรำ เพราะมีท่าทางเฉพาะตัว อวัยวะทุกส่วนต้องสัมพันธ์กัน ถ้าทำท่าไม่ถูก มือก็จะไม่ไป มันจะดูแข็ง ๆ ไม่มีความสวยงาม ส่วนการรบนั้นไม่ยากเพราะไม่มีท่วงท่ามาก สิ่งสำคัญของปันจักสีลีตมีอยู่ 3 ส่วนคือ คือ ความสวยงาม ความตลก และการรบ ซึ่ง 3 สิ่งนี้ต้องอยู่ในการแสดงทุกครั้ง หากไม่ตลกผู้ชมก็จะไม่มีอารมณ์ร่วม การแสดงปันจักสีลัตที่ดีต้องให้คนดูหัวเราะ ให้คนดูสบายใจด้วย” ซีดานเล่าด้วยสีหน้าภูมิใจ

ในส่วนของการร่ายรำนั้นเยาวชนสะท้อนว่า ไม่มีใครเป็นตัวเอก ทุกคนต้องรำเป็นทุกอย่าง โดยเฉพาะการไหว้ครู ที่ทุกคนต้องรำได้ สำหรับการถ่ายทอดความรู้และฝึกฝนเด็ก ๆ ครูภูมิปัญญา สะท้อนว่า “เด็กกลุ่มนี้สอนไม่ยาก ความยากอยู่ที่ว่าทำยังไงให้เราดึงเด็กไว้ให้ได้ เอาเด็กให้อยู่ ซึ่งครูจะใช้เทคนิคว่า เวลาเขามาเชิญไปแสดงที่งาน ส่วนมากเขาจะให้ค่าตอบแทนบ้าง ครูจะบอกเด็กว่าถ้าใครรำได้ก็จะพาเขาไปงาน เราจะแบ่งค่าตอบแทนให้ ซึ่งเด็กก็มีความภูมิใจและดีใจ”

อันวาร์ บอกว่า ตอนนี้ข้อมูลเกี่ยวกับปันจักสีลัตที่พวกเขาเก็บได้มีอยู่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งหากเก็บได้ครบหมด พวกเขาจะนำไปถ่ายทอดต่อให้น้อง ๆ ในชุมชน และนำมาจัดทำเป็นเป็นนิตยสารเล่มเล็ก ที่มีภาพและการอธิบายท่าประกอบอย่างละเอียด


“ปันจักสีลัต” สานสัมพันธ์ชาวบ้านทุ่ง

ไม่เพียงปันจักสีลัต ที่กำลังกลับมาเล่าขานตำนานของชาวบ้านทุ่ง ผ่านเยาวชนกลุ่มเล็ก ๆ ที่พร้อมจะฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมให้กลับมาทำหน้าที่สร้างความสุขให้คนในชุมชนอีกครั้ง แต่ยังมีความสุขชนิดใหม่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ ซึ่งก็คือความสุขที่ได้เห็นเด็กเยาวชนในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากที่เคยกังวลใจ ห่วงใยว่าลูกหลานจะเติบโตไปแบบผิดทิศผิดทาง ก็เริ่มคลายใจลง

ซัน-อารักษ์ นาคสง่า ที่เรียนอยู่ กศน. ชั้น ม.1 เล่าว่า เมื่อก่อนตนเองเคยเป็นเด็กแว้น แต่พอได้เข้าร่วมโครงการนี้ เวลาที่เคยหมดไปกับการแว้นก็เปลี่ยนมาเป็นการฝึกรำแทน “ตอนนี้เอาเวลาส่วนใหญ่ฝึกรำมากกว่า เพราะการฝึกรำทำให้ได้ความรู้เรื่องการต่อสู้ เป็นความรู้ที่ไม่ได้เอาไปต่อสู้กับใคร แต่ไว้ใช้ป้องกันตัวเอง เช่น หากรถล้มก็ทำให้เรารู้ว่าต้องหมุนตัว เก็บร่างกายอย่างไรไม่ให้บาดเจ็บมาก”

เช่นเดียวกับ อันวาร์หัวโจกกลุ่มแว้นที่บอกว่า เดิมเป็นคนเกเรมาก ระดับวัวชนอันดับหนึ่งของหมู่บ้าน แต่หลังจากที่หันมาทำโครงการเขาได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนมากขึ้น “เมื่อก่อนเวลาแว้นรถไปไหนมาไหนเสียงดัง มีแต่คนก่นด่า แต่ช่วงนี้ขี่รถไปไหนก็มีคนเรียกมีคนยิ้มให้ตลอดเวลา ภูมิใจมากครับ การทำโครงการมันดีตรงที่เราเอาเวลาว่างมาทำสิ่งที่มีประโยชน์ สิ่งที่เราทำไม่ใช่ประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง แต่ได้ประโยชน์กับคนทั้งหมู่บ้าน ผมรู้สึกได้ว่าทุกคนคนในหมู่บ้านฝากความหวังไว้ที่พวกเรา และพวกเราก็จะทำให้มันถึงที่สุด ให้เขาเห็นว่าเด็กที่เคยเกเรก็ทำสิ่งดี ๆ ได้เหมือนกัน ดีใจที่ได้มาทำโครงการนี้ เพราะได้รับคำแนะนำจากหลาย ๆ คนเอามาใช้เอามาปรับตัว ตอนนี้ก็ดีขึ้นเยอะ”

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่อันวาร์บอกว่า มาจากหลายสิ่งหลายอย่างที่ผสมรวมกันทำให้เขาเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง เช่น กระบวนการเรียนรู้จากโครงการในเวทีต่าง ๆ ที่ฝึกฝนภาวะผู้นำ ฝึกให้กล้าคิด กล้าพูด และกล้าทำ รวมถึงการทำงานในโครงการที่ต้องชักชวนน้อง ๆ ให้เข้ามาร่วมทีม การประสานงานผู้รู้ครูภูมิปัญญาการประสานงานกับผู้นำชุมชน ที่นอกจากจะดึงเวลาแว้นของเขาให้หมดไปกับการทำงานในโครงการแล้ว ยังดึงเขาให้กับมาอยู่ในเส้นทางที่ดีอีกด้วย สาว-วิณัฐดา หมื่นอาด สำหรับตัวเอง 

มีความหนักใจ เพราะเราจะเรียนต่อ ไม่สามารถกลับมาทำโครงการได้อย่างเต็มที่ จากโจทย์เดิมของเราในช่วงเริ่มต้นทำโครงการ คือ “ความยากในการทำงานเป็นทีม เพราะ เรานัดเยาวชนมาทำงานร่วมกันซึ่งบางคนเรียน บางคนไม่เรียน ชีวิตประจำวันเราไม่เหมือนกัน ทำให้เราต้องหาเวลาว่างที่ตรงกันจริง ๆ คือ บ่าย ๆ เย็น ๆ พอตอนเย็น ผู้รู้ดนตรีเค้าก็ไม่มีเวลาพอที่จะสอนหรือว่างให้พวกเราแล้ว มันก็ยากจริง ๆ ค่ะ” 

“ซึ่งจากตรงนี้ มันทำให้เราต้องแก้ปัญหา ต้องวางตารางให้ชัดเจน ว่าช่วงไหนจะต้องซ้อม ช่วงไหนเราต้องเสียสละเวลา หน้าที่ที่รับผิดชอบก็ต้องชัดเจน บางทีเรารู้แล้วว่าเราจะทำอะไรแม้ความคิดเห็นตรงกันแต่พอลงมือทำจริงมันไม่ง่ายเลยค่ะ แต่สิ่งเหล่านี้ ทำให้เราปรับตัวเองเหมือนกันเมื่อไปเรียน เราก็ต้องแบ่งเวลา แต่เราก็ไม่ทิ้งโครงการก็กลับมาช่วยน้อง ๆ บ้างเวลาปิดเทอม หรือช่วงที่ได้กลับบ้าน”

ก่อเดี๊ยะ นิ้วหลี พี่เลี้ยงโครงการ เสริมว่า ภูมิใจที่เห็นเยาวชนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกันทุกคน วันก่อนมีการปลูกต้นไม้กัน เยาวชนมาร่วมกันเต็มเลย บอกกับเราว่า “ม๊ะเดี๊ยะไม่ต้องปลูกนะ เดี๋ยวพรุ่งนี้พวกเราจะมาช่วยปลูกเอง” ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะไม่ได้ยินคำพูดแบบนี้เลย รู้สึกปลื้มใจมาก

“เห็นได้ชัดคืออันวาร์ เมื่อก่อนคนนี้แหละหัวโจกเลยนะ ที่คอยบอกน้อง ๆ ว่าอย่าไปประชุม แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเขาเป็นคนรับผิดชอบมากเลย ชักชวนน้อง ๆ มาทำงาน ให้ไปทำอะไรที่ไหนก็ไป จริง ๆ เป้าหมายที่คนในชุมชนอยากจะเห็นในโครงการ คือ อยากจะอนุรักษ์ปันจักสีลัตไว้ และอยากให้เยาวชนมีกิจกรรมทำร่วมกันเพื่อที่จะไม่ต้องไปมั่วสุมทำสิ่งไม่ดี และช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนคนและครอบครัวให้กลับแนบแน่นดังเดิม แม้ว่าการสืบทอดปันจักสีลัตจะยังทำได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถทำให้คนหลายวัยได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ที่สำคัญหากเด็ก ๆ ไม่เข้ามาสืบทอดมันก็หายไป”


สืบสานวัฒนธรรมล้ำค่า 

แม้จุดหมายปลายทางของการสืบสาน ‘ปันจักสีลัต’ จะยังเดินไปไม่ถึงหมุดหมายที่ตั้งไว้ แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ‘การเรียนรู้’ ของเหล่าเยาวชนบ้านทุ่ง ที่กำลังสะสมขุมทรัพย์แห่งวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวมลายู ไปพร้อม ๆ กับความภาคภูมิใจของพวกเขาเอง

 “6 เดือนของการทำโครงการนี้ เป็น 6 เดือนที่ม๊ะภูมิใจมาก แม้เด็กจะยังไม่สามารถเรียนรู้ปันจักสีลัตได้ทั้งหมด แต่ก็เกิดกลุ่มเด็กเยาวชนขึ้นในชุมชน ได้เห็นเด็กทำงานเป็นทีม มีความรับผิดชอบ สามารถพูดคุยกับน้อง ๆ ได้ คุยกับทีมม๊ะกับผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนได้ ความสัมพันธ์ก็เกิดขึ้น แค่นี้ก็ดีใจมากแล้ว”

ก่อเดี๊ยะ กล่าวด้วยความชื่นชม ขณะที่รอสาก หลีนุ่ม ผู้ใหญ่บ้านบ้านทุ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่สะท้อนความรู้สึกหลังจากได้เห็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุกับเยาวชน “ถ้าไม่มีกิจกรรมนี้เยาวชนก็อยู่ส่วนเยาวชน ผู้สูงอายุก็อยู่ตามผู้สูงอายุ ถ้าไม่มีการทำกิจกรรมร่วมกันแบบนี้ ผู้สูงอายุจะไม่ค่อยพูดกับเยาวชน ไม่ค่อยปรึกษาหารือกัน แต่เมื่อมีกิจกรรมนี้ผู้สูงอายุก็ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ แล้วก็มาผสมผสานกันเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น”

และนี่คือภาพ “ชุมชนน่าอยู่” ที่รังสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือของทุกคนที่อาศัยอยู่ที่ชุมชน ที่มองว่า ปัญหาเด็กเยาวชน คือ “วาระร่วม” ที่ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วยช่วยกันแก้ไข เพื่อให้ชุมชนบ้านทุ่งเป็นชุมชนเข้มแข็งที่รับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาได้


โครงการ : หาแนวทางการสร้างการเรียนรู้ด้านดนตรีปันจักสีลัตของชุมชนบ้านทุ่ง

พี่เลี้ยงโครงการ

  • ก่อเดี๊ยะ นิ้วหลี 
  • อารี หวันสู 

ทีมงาน

  • อันวาร์ นาเคณฑ์ 
  • ซีดาน นาเคณฑ์
  • วิณัฐดาหมื่นอาด 
  • อาลียา แซ๊ะอาหลี 
  •  ณัฐกานต์ ดันงุ่น 
  • พีระพัฒน์ เพ่งสู 
  •  อัฐยุทธ์ หมื่นอาด