การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาเรียนรู้สุขภาพผู้สูงอายุตามวิถีชุมชนบ้านเขาน้อย จังหวัดสตูล ปี 1

เยาวชนกับผู้สงอายุ: ดูแล เรียนรู้ และอยู่ด้วยกันตามวิถีชุมชน

เชื่อว่าภาพชุมชนชนบทในฝันของใครหลายคนอาจนึกถึงภาพท้องทุ่งนาเขียวขจี ผู้คนหลากวัยทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีวิถีชีวิตที่งดงาม ทว่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คนรุ่นใหม่และวัยแรงงานในหลายชุมชนของประเทศไทย กำลังย้ายถิ่นออกจากชุมชนที่พวกเขาเคยวิ่งเล่น เพื่อไปศึกษาเล่าเรียน หรือดิ้นรนเลี้ยงปากท้องในเมืองใหญ่ด้วยความจำเป็น และบางคนก็ไม่เคยหวนกลับมาบ้านเกิดอีกเลย ทำให้ชุมชนเริ่มประสบปัญหาขาดคนวัยแรงงานที่จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนและพัฒนาท้องถิ่น และทำให้เกิดปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งขาดคนดูแลตามมา 

เยาวชนกลุ่มหนึ่งจากชุมชนบ้านเขาน้อย ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน ประกอบด้วยซอล-ไฟซอล สาดอาหลี นิส-นัสรีน สาดอาหลี และนี-ฟิวส์ลดา โย๊ะฮาหมาด เล็งเห็นปัญหานี้ จึงรวมกลุ่มกันทำโครงการศึกษาเรียนรู้สุขภาพผู้สูงอายุตามวิถีชุมชน ด้วยการลุกขึ้นมาดูแลผู้สูงอายุในชุมชนที่ถูกทอดทิ้ง และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้ มีสุขภาพที่ดีขึ้น ทั้งด้านร่างกาย สังคม และจิตใจ


ข้อมูลคือหัวใจสำคัญ

“อยากรวมกลุ่มเยาวชนในชุมชนให้มาทำกิจกรรมร่วมกันค่ะ มีพื้นที่ให้ได้ฝึกความกล้าแสดงออกต่อหน้าคนเยอะ ๆ และอยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพราะตอนนั้นเป็นช่วงปิดเทอม พวกเรามีเวลาว่างค่อนข้างเยอะ” นิส บอกเล่าความตั้งใจของเธอและทีมที่ตกลงตอบรับคำชวนของบังเชษฐ์ และบังหยาด หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การมองรอบตัวเพื่อหาโจทย์การทำโครงการ นิสเล่าว่าในที่ประชุมวันนั้นมีการเสนอขึ้นมาหลายปัญหาแต่สุดท้ายก็ตกลงเลือกเรื่อง “ผู้สูงอายุ” 

“ในหมู่บ้านของเรามีผู้สูงอายุค่อนข้างเยอะค่ะ บางคนถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแลจากครอบครัว ขาดความอบอุ่น อีกทั้งยังมีผู้สูงอายุติดเตียง พวกเราเลยเห็นตรงกันว่าน่าจะทำโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุเพื่อให้เขาได้มีกิจกรรมทำ จากที่เคยซึมเศร้าเพราะอยู่แต่ในบ้าน ให้เขาได้ทำกิจกรรมพบปะ กับเพื่อนวัยเดียวกัน ได้พูดคุย ได้หัวเราะให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้งจากลูกหลาน เพื่อให้เขามีกำลังใจในการมีชีวิตต่อไปค่ะ”

 ทีมงานดำเนินการตามความตั้งใจด้วยการเก็บข้อมูลจาก 2 ทาง ทางแรกคือ “ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว” โดยไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อขอข้อมูลจำนวนผู้สูงอายุ และข้อมูลสุขภาพที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สำรวจไว้ นีเล่าว่า “ข้อมูลของอสม. ทำให้เรารู้ว่าในชุมชนมีผู้สูงอายุกว่า 80 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคความดัน รองลงมาคือโรคเก๊าท์ และเบาหวานค่ะ”

หลังได้ข้อมูลชุดแรก ทีมงานเดินหน้าหาข้อมูลอีกทางด้วยการ “เก็บข้อมูลเพิ่ม” โดยจะลงไปในชุมชนเพื่อสำรวจข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุ และสำรวจความต้องการของผู้สูงอายุ ทีมงานวางแผนการเก็บข้อมูลโดยจะใช้แบบสอบถาม การจดบันทึก อัดเสียง และถ่ายวิดีโอ เพราะคิดว่าการรู้ข้อมูลรอบด้านจะทำให้ “แก้ปัญหาได้ถูกจุด”

ผลการสำรวจ ทำให้ทีมงานพบว่า ผู้สูงอายุในชุมชนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเป็นผู้ป่วยติดเตียง 2 คน ต้องใช้ไม้เท้าพยุงตลอดการเดิน 1 คน ส่วนที่เหลือยังเดินเหินคล่องแคล่ว แต่มีโรคความดันเป็นโรคประจำตัว สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการด้านสุขภาพคือการดูแลช่วยเหลือตามอาการเจ็บป่วย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือความต้องการทางด้าน “จิตใจ” 

ซอลเล่าว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่บอกว่าอยากพบปะกับเพื่อนๆ เพราะคู่ชีวิตของเขาจากไปแล้ว ทำให้ต้องอยู่คนเดียว หรือไม่ก็อยู่กันอย่างเงียบเหงา เนื่องจากลูกหลานไปทำงานหมด เลยต้องการเจอเพื่อนรุ่นเดียวกันเพื่อคลายเหงา กิจกรรมที่คุณตาคุณยายบอกว่าอยากทำคือ มีพื้นที่ให้ผู้สูงอายุมาปลูกผักร่วมกันครับ หรือไม่ก็มานั่งสานใบลาน ใบเตยด้วยกัน เพราะพวกเขาทำเป็นอยู่แล้ว และเป็นกิจกรรมที่ทำไหว เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่มีใครมาสร้างพื้นที่ให้ได้รวมตัวกัน

นอกจากรับฟังความต้องการของผู้สูงอายุแล้ว ทีมงานได้นำข้อมูลมาประชุมแล้วประมวลผลออกมาเป็นกิจกรรมอีก 2 กิจกรรมคือการจัดกิจกรรมออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างสุขภาพของผู้สูงอายุให้แข็งแรง และกิจกรรมตรวจวัดความดัน เพื่อติดตามสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นระยะ และเป็นการลงไปเติมกำลังใจให้ผู้สูงอายุด้วย


สุขภาพผู้สูงอายุกับวิถีชุมชน

กิจกรรมแรกที่ทีมงานจัดขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุในชุมชนได้มาพบปะกันคือกิจกรรมออกกำลังกาย นิสให้เหตุผลว่า “ผู้สูงอายุบางคนไม่เคยออกกำลังกายมาเป็นระยะเวลานาน เราจึงอยากสร้างความกระชุ่มกระชวยให้เขาก่อนเป็นอันดับแรกค่ะ”

ทีมงานเลือกมัสยิดประจำชุมชนเป็นที่จัดกิจกรรม เพราะเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน หลังสรุปเรื่องสถานที่ ทีมงานก็ประสานกับ อสม. เพื่อมาช่วยเป็นวิทยากรให้ความรู้ วัดความดันผู้สูงอายุ และขอคำปรึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะจัดด้วย กระทั่งเลือกเป็นการออกกำลังกายด้วยไม้กระบี่กระบอง เพราะสามารถนำวัสดุในท้องถิ่นมาทำให้เกิดประโยชน์ และผลิตได้ง่าย ทุกคนกลับไปทำเองได้

ผลของความตั้งใจได้สะท้อนสิ่งที่น่ายินดีแก่ทีมงาน เมื่อผู้สูงอายุตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมเกินกว่าความคาดหมาย และบรรยากาศโดยรวมดำเนินไปอย่างราบรื่น “ผู้สูงอายุทุกคนสนุกสนานกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันกับเขา กิจกรรมนี้ไม่ได้มาแค่ออกกำลังกายอย่างเดียว เพราะยังทำให้ผู้สูงอายุได้มาพูดคุยพบปะกันด้วย” จากเดิมที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่ค่อยได้พบปะกัน จะได้รวมตัวกันต้องอาศัยช่วงวันฮารีรายอเท่านั้น กิจกรรมนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุได้มีโอกาสมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เสียงหัวเราะ การพูดคุยถามถึงสารทุกข์สุขดิบจึงกลายเป็นหัวข้อสนทนาหลักที่เกิดขึ้นระหว่างรอทำกิจกรรม” นิสเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

กิจกรรมต่อมาคือ “การเยี่ยมผู้สูงอายุตามบ้าน” เพื่อติดตามสุขภาพของผู้สูงอายุหลังการดำเนินกิจกรรมแรกด้วยการวัดความดัน และพูดคุยเป็นกำลังใจแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งทีมงานพากันไปเรียนรู้วิธีวัดความดันจากพี่ ๆ อสม. โดยการจำลองเหตุการณ์ให้จับคู่กัน คนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ อีกคนเป็นคนตรวจ ให้พวกเขาได้ลงมือทำจริงจนเกิดความมั่นใจ

“ระหว่างที่ตรวจเราก็จะพูดคุยกับผู้สูงอายุไปด้วยว่าความดันของเขาเป็นอย่างไร มีสาเหตุจากอะไร แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้เป็นปกติ และคอยให้กำลังใจเขาครับ” ซอลเล่า ทีมงานอธิบายวิธีการทำงานเพิ่มเติมว่าพวกเขาจะไปเยี่ยมผู้สูงอายุในวันเสาร์อาทิตย์ หรือหลังเลิกเรียนขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกคนไหนว่างวันใด บางครั้งก็มีของฝากติดไม้ติดมือไปให้ผู้สูงอายุ และชวนน้องคนอื่นๆ ในชุมชนไปช่วยฟังช่วยคุยด้วย โดยทุกครั้งที่ไปจะมีการจดข้อมูลไว้เพื่อเก็บเป็นข้อมูล


อัพเลเวลความสุข

แม้ข้อมูลที่จดบันทึกจะยังไม่สามารถบ่งบอกความก้าวหน้าด้านสุขภาพกายของผู้สูงอายุได้ แต่สิ่งที่ทีมงานสัมผัสถึงความก้าวหน้าได้อย่างชัดเจนคือ “สุขภาพใจ” ของผู้สูงอายุที่เพิ่มเลเวลขึ้นจนสะท้อนออกมาเป็นรอยยิ้มตลอดเวลาที่พวกเขาไปหาที่บ้าน ที่ชัดที่สุดเห็นจะเป็นกรณีของผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงท่านหนึ่งซึ่งมีกำลังใจในการพยายามยกแขนยกขาของตัวเอง เวลาที่พวกเขาไปช่วยทำกายภาพบำบัด ขณะเดียวกันทีมงานก็ค้นพบว่าสุขภาพใจพวกเขาก็เปลี่ยนแปลงไปไม่ต่างจากผู้สูงอายุ

“ก่อนหน้านี้เราไม่เคยไปเยี่ยมผู้สูงอายุในชุมชนเลย นอกจากผู้สูงอายุที่เป็นเครือญาติของตัวเอง แต่พอมีโครงการนี้ขึ้นมาก็ทำให้เราได้เข้าไปทำความรู้จักกับผู้สูงอายุในชุมชนมากขึ้น ถึงแม้ต่อไปจะไม่ทำโครงการนี้แล้ว เราก็คงไปเยี่ยมผู้สูงอายุเหมือนเดิมอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพราะเกิดความผูกพันกับเขาไปแล้ว” นิสบอกความรู้สึก

คำพูดดังกล่าวของทีมงาน ไม่เพียงกล่าวออกมาจากใจ แต่พวกเขาได้เริ่มลงมือทำจริงแล้ว แม้ระยะเวลาโครงการใกล้สิ้นสุด แต่พวกเขากลับเลือกเดินหน้าต่อโดยได้วางแผนสำหรับกิจกรรมต่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามสิ่งที่เคยสำรวจข้อมูลความต้องการของผู้สูงอายุก่อนหน้านั้น

“การทำจักสานเป็นภูมิปัญญาของชุมชนบ้านเขาน้อย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้สูงอายุหลายคนยังมีภูมิปัญญาเรื่องนี้อยู่ เราจึงจะจัดกิจกรรมที่ผู้สูงอายุจะได้มารวมตัวและร่วมกันถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ให้คนรุ่นหลัง ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่การสร้างรายได้แก่ผู้สูงอายุด้วยค่ะ” นิสเล่า นีเสริมต่อว่า ส่วนกิจกรรมปลูกผักคิดว่าจะใช้พื้นที่แถวมัสยิด เพราะเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่ผู้สูงอายุสามารถมารวมตัวเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันได้ และผู้สูงอายุจะได้มีผักปลอดภัยไว้กินถึงแม้กิจกรรมหลังจากนี้จะมีเป้าหมายที่มากขึ้นทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการกินอาหารดี ๆ ทีมงานก็ยังไม่หลงลืมเป้าหมายหลักที่จะจัดกิจกรรมเหล่านี้ให้เป็นพื้นที่รวมตัวกันของผู้สูงอายุได้พบปะกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งทำให้สุขภาพจิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ทีมงานยืนยันว่า เพราะเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลผู้สูงอายุมีกำลังใจในการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงต่อไป


การเรียนรู้ผ่านโครงการ

การทำโครงการของทีมงานกับผู้สูงอายุอาจดำเนินไปบนเส้นทางของกลีบกุหลาบ ทว่าสำหรับการทำงานด้วยกันภายในทีม พวกเขาก็ต้องพบขวากหนามไม่ต่างจากทีมอื่น ๆ ซึ่งปัญหาใหญ่ที่สุดคือเรื่อง “เวลา” เพราะชีวิตของแต่ละคนไม่ได้มีพาร์ทเดียว ไหนจะการเรียน ไหนจะการบ้าน กิจกรรม และครอบครัว แม้แต่กะเซาะห์-บาจรียา แซะอามา พี่เลี้ยงโครงการก็ยังมีปัญหา จนเธอต้องกล่าวขอโทษน้อง ๆ หลายครา แต่ในที่สุดปัญหาดังกล่าวก็คลี่คลายลงได้

ซอลเล่าว่า เริ่มจากการทำความเข้าใจกันก่อนว่าแต่ละคนต่างไม่มีเวลา แต่ก็ยังไม่พอ เลยคุยกันว่าจะล็อกเวลาหลังเลิกเรียน และเสาร์-อาทิตย์มาทำกิจกรรม แต่ละคนต้องสละเวลาส่วนตัวมาทำเพื่อส่วนรวม เวลาที่ไม่ได้มาทำกิจกรรมก็ลองบริหารเวลาของตัวเองควบคู่ไป

วิธีแก้ปัญหาดังกล่าวใช้เวลาอยู่ช่วงหนึ่งจึงเข้าที่เข้าทาง และกลายเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะช่วยฝึกนิสัยการบริหารเวลาของพวกเขาไปในตัวด้วย ขณะเดียวกันทีมงานแต่ละคนก็ได้ค้นพบศักยภาพใหม่ที่ฉายแสงออกมาหลังจากเข้ามาทำโครงการนี้

นิสเล่าว่า เมื่อก่อนเวลาไม่ค่อยพูด ถามคำตอบคำ ถ้าไม่ถามเราก็เงียบ กลับจากโรงเรียน ก็จะอยู่แต่ในบ้าน พอมาทำโครงการได้พัฒนาทักษะการพูดมากขึ้น เพราะรับหน้าที่ประสานงานต้องติดต่อกับคนนั้นคนนี้ แล้วก็มีทักษะการคิดเป็นขั้นเป็นตอน เพราะต้องวางแผนบ่อยๆ คิดวิธีทำงาน ทำกิจกรรมบ่อยๆ เหมือนว่าพอทำซ้ำก็ค่อยๆ พัฒนาทักษะพวกนี้มากขึ้น

นีก็เป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าพูดเช่นกัน เธอบอกว่าเมื่อก่อนเวลาต้องนำเสนองานในโรงเรียน เธอจะให้เพื่อนเป็นคนพูดแทน แต่หลังจากเข้ามาทำโครงการนี้เธอก็พบจุดเปลี่ยนที่เข้ามาพังทลายกำแพงความกลัวลงไป

“ครั้งหนึ่งตอนเข้าร่วมเวทีเวิร์กชอปของโครงการกลไกฯ บังเชษฐ์ให้เราทุกคนพูดตอนจบกิจกรรมว่าได้เรียนรู้อะไร ถ้าใครไม่พูดจะไม่ได้กลับบ้าน หนูมีเรื่องที่จะพูดอยู่ในใจมาตลอดทุกครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรม แต่ไม่กล้าพูด เพราะกลัวผิด กลัวถูกต่อว่า แต่ครั้งนั้นด้วยความกลัวไม่ได้กลับบ้าน เลยฝืนใจพูดออกมาค่ะ (หัวเราะ) พอพูดแล้วไม่มีใครตำหนิ หนูเลยรู้สึกดีที่กล้าพูด หลังจากนั้นเวลาเข้าร่วมเวทีหรือมีกิจกรรมอะไรก็พูดออกมาเอง ไม่ยากเหมือนเมื่อก่อน แค่พูดไปตามที่คิด ตามที่เห็นค่ะ”

ซอล บอกว่าการไม่ถูกตัดสินว่าสิ่งที่พูดนั้นผิดหรือถูกก็มีผลต่อความกล้าของเขา จากเมื่อก่อนไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ เพราะกลัวทำผิด แต่พอได้เข้าร่วมเวทีเวิร์กชอปที่ต้องแลกเปลี่ยนพูดคุยทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ ๆ และทำกิจกรรมที่ต้องพูดคุยกับผู้สูงอายุก็ทำให้เขาพบจุดเปลี่ยน

“ผมกล้าพูดขึ้น ชอบทำกิจกรรมมากขึ้น ทำให้มีเพื่อนเยอะขึ้น เพื่อนก็เลยมาชวนไปทำกิจกรรมเพิ่มอีก กลายเป็นว่าผมได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เยอะเลยครับ (ยิ้ม)”

กะเซาะห์ยืนยันว่าซอลตอนนี้เหมือนคนละคนกับซอลคนเก่า เมื่อก่อนเขาขี้อายมาก ไม่กล้าพูดเลย แต่ตอนนี้ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง มีทักษะการคิด การพูด กล้าตัดสินใจ กล้าทำกิจกรรม และมีความรับผิดชอบมากขึ้น

นอกจากพัฒนาทักษะภายนอกแล้ว ทีมงานยังเกิดความรู้สึกภายในขึ้นด้วย เรื่องแรกคือ “ความตระหนัก” เกี่ยวกับสุขภาพ จากการที่ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้สูงอายุหลายคนที่ต่างมีโรคประจำตัว ทำให้ทีมงานเห็นว่า สุขภาพมีความสำคัญมากขนาดไหน หากอยากมีชีวิตที่ดียามแก่ชราก็ควรเริ่มต้นดูแลสุขภาพตั้งแต่ตอนนี้ จะได้ไม่ต้องลำบากรักษาตัวในอนาคต อีกเรื่องหนึ่งคือ “ความสุข” บางอย่างที่เกิดขึ้นจากโอกาสที่ได้ทำโครงการนี้

“ภูมิใจมากครับที่ได้ทำโครงการนี้ เพราะถ้าไม่มีโครงการนี้ พวกเราอาจไม่มีความรู้ ความกล้าที่จะเข้าไปพูดคุยกับผู้สูงอายุ และทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใสในทุกๆ วันแบบนี้” ซอลบอกถึงความสุขที่ได้รับ

ความตั้งใจสุดท้ายของทีมงานเกี่ยวกับโครงการนี้คือ อยากให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น จึงตั้งใจว่าจะจัดทำ “นาฬิกาชีวิต” ของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงและผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ที่รวบรวมข้อมูลจากการพูดคุยสอบถามผู้สูงอายุในชุมชนเพื่อเปรียบเทียบกันแล้วบันทึกไว้ใน “สมุดผู้สูงอายุต้นแบบ” ทีมงานแอบกระซิบเคล็ดลับบางข้อที่พวกเขารู้มาว่า“ผู้สูงอายุที่สุขภาพดีส่วนใหญ่ จะตื่นเช้ามาออกกำลังกาย เน้นทานผักทานปลาเป็นประจำ และดื่มนมก่อนเข้านอนค่ะ”

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับชุมชนบ้านเขาน้อย...ที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง ลุกขึ้นมาเอาธุระกับผู้สูงอายุในชุมชนเสมือนเป็นคนในครอบครัว “รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ” ของผู้สูงอายุที่ทำกิจกรรม ถือเป็นรางวัลที่เยาวชนกลุ่มนี้รู้สึกภาคภูมิใจหลังจบโครงการ


โครงการ : ศึกษาเรียนรู้สุขภาพผู้สูงอายุตามวิถีชุมชน

พี่เลี้ยงโครงการ

  • บาจรียา แซะอามา 
  • สอและ หลงสมัน 

ทีมงาน

  • ไฟซอล สาดอาหลี 
  • นัสรีน สาดอาหลี 
  •  ฟิวส์ลดา โย๊ะฮาหมาด

­