การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้ จังหวัดสตูล ปี 1


“ป่าเลน” เคยเห็น แต่เพิ่งเข้าใจ

แม้จะเติบโตมากับชายเลและป่าเลน แต่กลุ่มเยาวชนจากบ้านท่าน้ำเค็มใต้ ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล กลับบอกว่า พวกเขาแทบไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับผืนป่าชายเลนของบ้านเกิด แม้เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงระดับจังหวัด เมื่อได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูลพวกเขาจึงเห็นว่าครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะพาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ และส่งต่อความรู้เหล่านี้แก่น้องๆ รุ่นต่อไป


ลุยป่า (เลน) ล่าความรู้

การรวมตัวของทีมงานเกิดขึ้นจากการชักชวนของ กีรีน-สากีรีน เส็นสมมาตร ประธานเยาวชนรักท่าแพที่มีการรวมตัวกันเพื่อทำโครงการท้าทำดี ที่จะสัญจรพัฒนาหมู่บ้านอยู่เป็นประจำทุกวันเสาร์แรกของเดือน เมื่อกีรีนได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการกลไกชุมชนฯ เขาก็ชวนกลุ่มเพื่อนผู้ชายที่สนิทสนมคือ ฮาดี-อับดุลฮาดี มานีอาเหล็ม และคนอื่นอีก 3 คนมาเข้าร่วม แต่โคชแนะนำว่า กลุ่มของเขาควรมีผู้หญิงด้วย เพื่อความสะดวกในการทำกิจกรรม กีรีนจึงชวน รอ-นัซรอ เหมซ๊ะ ซารอ-ซารอ ทิ้งน้ำรอบ เล็ก-ซอฮาบีย๊ะ เย็นจิต 3 สาวรุ่นน้อง เพราะเห็นว่าน้องๆ ขยัน น่าจะช่วยเป็นเรี่ยวแรงทำโครงการให้ไปตลอดรอดฝั่งได้

โจทย์แรกที่ทีมงานเลือกคือเรื่องกระชังปลา แต่โคชได้ชวนคุยจนเห็นว่าเคยมีคนทำมาแล้ว และชวนพวกเขาให้ลองมองหาเรื่องอื่นๆ ซึ่งกว่าจะคิดออก พวกเขาต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ยาก “พวกเราไม่เคยทำงานในลักษณะที่ต้องมานั่งคิดเป็นขั้นตอนอย่างจริงจังมาก่อน จึงไม่ง่ายเลยที่ต้องมาคิดมาเขียนลงแบบฟอร์ม พอเขียนเสร็จ โคชก็ให้มาคุยกันว่าจะทำโจทย์โครงการอะไร ข้อหนึ่งในแบบฟอร์มเป็นเรื่องจุดเด่นของหมู่บ้าน เรานึกถึงป่าเลนแล้วสนใจขึ้นมา 

“ป่าเลนที่บ้านเรามีพื้นที่ค่อนข้างเยอะและอุดมสมบูรณ์มากครับ เกิดจากผู้ใหญ่ในชุมชนเขารวมกลุ่มกันดูแล ทำให้ที่นี่เป็นหนึ่งในเครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลน มีภาคีจากหลายที่เข้ามาจัดกิจกรรมปลูกป่า แต่พวกเรากลับไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่าป่าเลนบ้านเรามีพื้นที่กี่ไร่ มีพันธุ์ไม้ มีสัตว์น้ำอะไรบ้าง เลยคิดกันว่าเราน่าจะเรียนรู้ให้มากกว่านี้ในฐานะที่เป็นคนที่นี่” กีรีนเล่า

หลังได้โจทย์ที่แน่ชัด ทีมงานได้ประชุมร่วมกับพี่เลี้ยงกลุ่ม เพื่อกำหนดขอบเขตในการจะลงสำรวจป่าชายเลน โดยป่าชายเลนของชุมชนแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เขตใช้สอย ที่ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ และเขตอภัยทานที่ห้ามเข้าไปกระทำการใดๆ ทีมงานเลือกสำรวจเขตอภัยทาน เพราะเขตป่าใช้สอยเป็นที่ที่มีคนเข้าไปเยอะ ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงอยู่แล้ว ขณะที่เขตอภัยทานยังไม่ค่อยมีการสำรวจและเก็บข้อมูลพันธุ์ไม้พันธุ์สัตว์ พวกเขาจึงอยากรู้ข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนในเขตอภัยทาน

สิ่งที่พบจากการสำรวจทำให้พวกเขาได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ จนรู้สึกทึ่งกับทรัพยากรของป่าชายเลนในบ้านเกิด “เราเคยรู้แค่ว่าป่าเลนมีหอย ปู ปลาตัวเล็ก ๆ ในน้ำ ก็ได้เจอกับปลาตีน ที่มีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศป่าเลน ได้เจอโกงกางที่มีอายุกว่า 80 ปีด้วย” กีรีนเล่า ภายหลังการสำรวจ ทีมงานได้นำข้อมูลทั้งหมดมารวบรวม และศึกษาประโยชน์ของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์เพิ่มเติม เพื่อเตรียมนำไปใช้จัดค่ายส่งต่อความรู้แก่เด็กและเยาวชนในกิจกรรมต่อไป


ร่วมเรียน ร่วมรู้ ร่วมรักป่าเลน

“เราไม่เคยจัดค่ายมาก่อนเพราะปกติผู้ใหญ่จะเป็นคนจัดแล้วให้พวกเรากับน้อง ๆ ไปเข้าร่วม ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราคิดเอง ทำด้วยตัวเองทั้งหมด”

ทีมงานเล่าย้อนถึงความกังวลที่พวกเขามีต่อการจัดค่ายในช่วงเริ่มต้น แม้ใจเต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ ในสิ่งที่ไม่เคยทำ แต่ก็เลือกเดินหน้าต่อด้วยการประชาสัมพันธ์ชวนน้องๆ มาเข้าร่วมกิจกรรม ชักชวนรุ่นน้องในโรงเรียน ประกาศเชิญชวนในกิจกรรมของกลุ่มเยาวชน และโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก นอกจากข้อความเชิญชวนแล้ว ทีมงานยังใส่กำหนดการกิจกรรมต่างๆ ที่จะจัดขึ้นในค่ายแนบไปด้วย เผื่อน้องๆ เห็นแล้วสนใจอยากเข้ามาร่วมสนุกด้วยกัน พวกเขาบอกว่านำเทคนิคนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่สนใจเข้าร่วมเวทีเวิร์กชอปของโครงการกลไกชุมชนฯ จากการได้อ่านกำหนดการก่อน

เป้าหมายของการจัดค่ายครั้งนี้ ทีมงานต้องการให้น้องๆ ได้รู้จักป่าชายเลนมากขึ้น เพื่อจะได้ร่วมกันถ่ายทอดและอนุรักษ์ป่าชายเลนต่อไป และแบ่งหน้าที่ก่อนวันจัดกิจกรรมจะมาถึง ทีมงานฝั่งผู้ชายจะเป็นคนจัดเตรียมสถานที่ ส่วนผู้หญิงจะซื้อของ เตรียมอาหาร เตรียมเอกสาร และรับลงทะเบียน โดยมะ (แม่) ของกีรีนกับมะของก๊ะบ๊ะ-ฮาบีบ๊ะ เส็นสมมาตร หนึ่งในทีมพี่เลี้ยง และกลุ่มแม่บ้าน มาช่วยทำอาหาร

แต่แล้ว ก่อนวันงานไม่กี่วันก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อเด็กหลายคนแจ้งว่ามาร่วมค่ายไม่ได้ เพราะต้องไปช่วยงานของชุมชนที่จัดพร้อมกันหลายงานอย่างกะทันหัน ทีมงานกังวลว่าจะมีคนมาเข้าร่วมน้อยเกินไป จนเกือบจะตัดสินใจเลื่อนการจัดงาน แต่เมื่อปรึกษากับทีมโคช จึงตัดสินใจเดินหน้าต่อ เพราะทุกอย่างรวมถึงวัตถุดิบทำอาหารถูกจัดเตรียมไว้หมดแล้ว หากเลื่อนออกไปอาจสร้างความเสียหายได้

พวกเขาเลือกใช้การโทรศัพท์หาน้อง ๆ อีกครั้งว่าจะมาเข้าร่วมกิจกรรมได้มากน้อยแค่ไหน และประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมว่าใครรับผิดชอบหน้าที่ส่วนไหน และงานจะเดินต่อไปอย่างไร

ความกลุ้มใจก่อนวันจัดค่ายของทีมงานลดระดับลง เมื่อพบว่าวันจริงมีน้องๆ มาเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 30 คน ทีมงานเริ่มดำเนินกิจกรรมช่วงเช้าด้วยสันทนาการเพื่อละลายพฤติกรรมให้น้อง ๆ สนิทสนมและตื่นตัวพร้อมทำกิจกรรม โดยมีเยาวชนจากบ้านโคกทรายมานำกิจกรรม ทีมงานเล่าเหตุผลที่ชวนเพื่อนต่างพื้นที่มาว่า

“เราชวนเพื่อน ๆ จากโคกทรายเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขา ถ้าเขาจัดกิจกรรมเราก็ไปช่วย ถือเป็นการสร้างเครือข่ายในการช่วยเหลือกันจัดกิจกรรม” หลังพักเที่ยง ทีมงานชวนน้องๆ ทำป้ายชื่อต้นไม้ ซึ่งจะให้น้องเขียนเองกับมือ เพื่อให้รู้จักชื่อของต้นไม้ในป่าชายเลน เวลามีคนมาทำกิจกรรมน้องๆ จะได้ช่วยอธิบายถูก จากนั้นจึงแบ่งกลุ่มน้องออกเป็น 3 กลุ่มเวียนกันเข้าฐาน 3 ฐาน ได้แก่ ฐานพันธุ์ไม้ ที่มีผู้รู้มาให้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ก่อนเริ่มกิจกรรม แล้วจึงเล่นเกมนำชื่อต้นไม้ไปวางให้ตรงกับต้นไม้ ซึ่งส่วนมากน้องจะวางไม่ค่อยถูก เพราะยังไม่แม่นเรื่องข้อมูล 

  • ฐานสัตว์ โดยมีพี่ๆ จากกู้ภัยและ อสม. อาสามาให้ความรู้ เกี่ยวกับสัตว์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน
  • ฐานฝึกความสัมพันธ์ ทีมงานดูแลกันเอง โดยให้น้องเดินบนเชือกแล้วบุกตะลุยโคลน เพื่อฝึกความสามัคคีและละลายพฤติกรรม
  • ทีมงานบอกว่า สาเหตุที่ต้องแบ่งกิจกรรมเป็น 3 ฐาน เพราะต้องการให้ความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลนแก่น้อง ๆ ให้ครบทุกด้าน ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และสร้างความสัมพันธ์ในหมู่น้อง ๆ ภายใต้เวลาของกิจกรรมที่จำกัด จึงใช้รูปแบบฐานการเรียนรู้

“น้อง ๆ ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมค่อนข้างดีและสนุกสนานกันมากค่ะ เราเลยคิดจะจัดกิจกรรมภาคกลางคืนนอกเหนือจากแผนที่วางไว้ เพราะอยากให้ความรู้สึกของน้องๆ ต่อเนื่อง โดยให้เขาแสดงละครเป็นกลุ่ม พี่เลี้ยง 1 กลุ่ม กลุ่มกู้ภัย 1 กลุ่ม กลุ่มเยาวชน 3 กลุ่ม” ซารอเล่า

กิจกรรมวันที่ 2 ทีมงานเริ่มต้นด้วยกิจกรรมเช็กอิน ให้น้อง ๆ พูดความรู้สึกจากการทำกิจกรรมวันแรก โดยนำแนวคิดกิจกรรมนี้มาจากการไปเข้าร่วมเวทีเวิร์กชอปจากโครงการกลไกฯ

นัซรออธิบายว่า ก่อนเริ่มกิจกรรมอื่น ๆ จะมีการเช็กอินกันก่อน เพราะจะทำให้เรารู้ว่าน้อง ๆ มีความรู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมที่พวกเราจัด เขาได้เรียนรู้อะไร และฝึกการพูดและกล้าแสดงออกให้น้อง ๆ ด้วย ซึ่งสิ่งที่น้อง ๆ สะท้อนส่วนมากคือ กิจกรรมสนุกและอยากมีกิจกรรมแบบนี้อีก

เช็กอินเสร็จแล้ว ทีมงานแบ่งน้องเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 6 คน ให้แต่ละกลุ่มระดมความคิดและวาดรูปตามโจทย์ว่าอยากพัฒนาอะไรเกี่ยวกับป่าชายเลน แล้วจึงให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอพร้อมอธิบายเหตุผล สิ่งที่พอจะเป็นไปได้คือ การทำหอคอยชมวิว และป้ายเช็กอินไว้ถ่ายรูป ส่วนกิจกรรมสุดท้ายคือ ให้น้องนำป้ายชื่อพันธุ์ไม้ที่ทำไว้ไปติดตามต้นไม้นั้น ๆ 

“ทำเสร็จแล้วรู้สึกโล่ง (ลากเสียง) มากค่ะ ไม่คิดมาก่อนว่าทำได้ขนาดนี้ (ยิ้ม) ตอนแรกเครียดมากว่าจะออกมาเป็นยังไง กลัวไม่มีคนมา ถ้าคนมาร่วมน้อยจะไม่สนุกหรือเปล่า แต่พอผ่านกิจกรรมช่วงเช้าที่มีสันทนาการ แล้วน้องมีความสุข น้องให้ความร่วมมือ เห็นความสามัคคีที่มากขึ้น เรารู้สึกดีมาก ๆ ค่ะ” ซารอเล่าความรู้สึกเมื่อค่ายเสร็จสิ้น

แม้จะร่าเริงกับผลสำเร็จของค่าย แต่ทีมงานก็ไม่ลืมประเมินว่าควรทำสิ่งใดให้ดีขึ้นในกิจกรรมนี้ นั่นคือ “การรักษาเวลา” ทั้งเวลาการทำกิจกรรม และการตามน้อง ๆ ให้มาเข้าร่วมกิจกรรมตรงเวลา


 ป่าเลนยั่งยืน คนเปลี่ยนแปลง

จากการเดินหน้าหาความรู้ใส่ตัวเองจนเกิดความรู้สึกดี ๆ ต่อป่าชายเลน กระทั่งกลายเป็นคนส่งต่อการเรียนรู้และความรู้สึกดีๆ แก่คนอื่น เปรียบดั่งเส้นทางการเรียนรู้ที่มีจุดเช็กพอยต์ให้ทีมงานได้พัฒนาตัวเองไปทีละขั้นและค่อยๆ ค้นพบความเปลี่ยนแปลง

“กล้าแสดงออกมากขึ้น” เป็นทักษะแรกที่พวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวว่าได้เรียนรู้เต็ม ๆ จากการที่ต้องไปซักถามความรู้จากผู้รู้ และนำฐานกิจกรรมภายในค่าย เล็กเล่าว่า

“เดิมหนูขี้อายมากและไม่ค่อยมั่นใจ เวลาต้องออกไปนำเสนอทีไร ไปไม่เป็นทุกที แต่พอมาทำโครงการ เราได้ฝึกการนำเสนอหลายครั้ง เริ่มชิน พูดได้ไม่เขินอาย และได้นำทักษะการวางแผนไปใช้กับการเรียนด้วย เช่น วางแผนนำเสนองานกลุ่ม แบ่งบทบาทหน้าที่กัน และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองมากขึ้น” ส่วนซารอเล่าว่า เธอมีจิตอาสามากขึ้น จากเมื่อก่อนเวลาทำงานกลุ่มจะทำแค่ตามหน้าที่ ของตัวเองเสร็จก็จบ แต่ตอนนี้จะเมื่องานตัวเองเสร็จก็จะไปช่วยเพื่อนต่อ เพราะมองว่าเป็นงานของกลุ่ม หากงานเสร็จก็เป็นความสำเร็จร่วมกันสำหรับ นัซรอ ความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายกับเธอมากที่สุดคือ “การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น

“เมื่อก่อนเรายึดความคิดของตัวเองเป็นหลัก ไม่เห็นด้วยก็พูดออกมาเลยว่า ‘ทำไมไม่ทำแบบที่เราคิด’ งานกลุ่มก็คืองานเดี่ยว ถ้าคิดจะทำแบบไหนก็ทำเองคนเดียว แต่พอปรับวิธีคิด รับฟังความคิดเห็นของเพื่อนมากขึ้น หนูพบว่างานดีขึ้น เพราะพอเราฟังก็นำความคิดของเขามาปรับกับของเราได้ ลองนำวิธีการทำงานแบบนี้ไปใช้ในโรงเรียน ด้วยการแบ่งหน้าที่กับเพื่อนเวลาทำงานกลุ่ม ไม่ยึดความคิดของตัวเองค่ะ”

แม้จะเป็นประธานกลุ่มเยาวชนของชุมชน และรับหน้าที่ประธานโครงการนี้ด้วย แต่กีรีนกลับบอกว่าที่ผ่านมาเขายังไม่สามารถเป็นผู้นำของคนอื่นได้ดีพอ เพราะไม่กล้าพูด แต่พอมาทำโครงการเหมือนกับสถานการณ์ทั้งหมดบังคับให้เขาต้องพูด จนก้าวข้ามความกลัวไปได้

“เคยเป็นคนไม่กล้าพูดเลย ไม่กล้าถือไมค์ ถ้ามีคาบที่ครูให้นำเสนอก็จะโดดเรียนหรือไม่ก็ให้เพื่อนนำเสนอแทน แต่ตอนไปเสนอโครงการครั้งแรก โดนน้องๆ และพี่เลี้ยงให้ออกไปนำเสนอ เลยรวบรวมความกล้าบอกตัวเองว่า เราเป็นประธาน ต้องพูด อย่ายอม ต้องทำให้ได้ เพราะถ้าเราทำไม่ได้ น้องๆ คนอื่นก็คงไม่มั่นใจเหมือนกัน ตอนแรกยาก เสียงสั่น พูดติดขัดเพราะเราท่องจำมา พี่โจ้ (กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร เจ้าหน้าที่โครงการ มูลนิธิสยามกัมมาจล) แนะนำว่าเวลาพูดต้องสบตาคนฟังและคณะกรรมการ หลังจากนำเสนอ การพูดของผมดีขึ้น กล้าพูดมากขึ้น เพราะเมื่อผ่านครั้งแรกไปได้ ทำให้ครั้งต่อไปมั่นใจขึ้นครับ” กีรีนเล่า 

อีก 2 ทักษะที่กีรีนได้เรียนรู้ คือ “การจัดการ” ที่เขาสามารถหาและจัดสรรกำลังคนในการทำงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอพี่เลี้ยงบอก และ “ความรับผิดชอบ” 

“ความรับผิดชอบเรื่องเวลาสำคัญมากครับ เราเป็นผู้นำต้องไม่ให้คนอื่นรอ เมื่อก่อนถ้าเขานัดเรา 9 โมง เราตื่น 9 โมงเลย ไปสายอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เดี๋ยวนี้ต้องไปก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมครับ”

กว่าจะทำมาจนเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ทีมงานสารภาพว่าพวกเขาต่างคนก็ต่างท้อ จนอยากเลิกหลายครั้ง แต่สิ่งที่รั้งพวกเขาไว้คือ “เพื่อนร่วมทีม” และ “พี่เลี้ยง” กีรีนเป็นตัวแทนกลุ่มเล่าเรื่องราวว่า “ช่วงที่เฟลมากคือ ตอนแรกที่ชวนเพื่อนมาทำโครงการ หลายคนรับปากแล้วแต่สุดท้ายไม่มา เราเสียใจ แต่เพื่อนในทีมก็ช่วยให้กำลังใจกัน บอกกันว่าพวกเราโตแล้ว รับงานมาก็ต้องทำให้ดีที่สุด สู้ให้ถึงที่สุด พอผ่านมาได้ก็มานั่งคิดว่าถ้าตอนนั้นเราเลิกไปก่อนอาจเสียใจไปตลอดว่าทำไมไม่ทำต่อ เพราะสุดท้ายเราทำได้ แม้จะไม่ได้เหมือนกลุ่มอื่น แต่ก็ดีที่สุดเท่าที่กำลังของพวกเรามีครับ” 

“อีกอย่างคือมีผู้ใหญ่คอยสนับสนุนด้วย พี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาตลอด ผู้ใหญ่ในชุมชนหลายคนก็มาช่วยงาน เราคงทำได้ไม่ถึงขนาดนี้ ถ้าไม่มีพวกเขาคอยให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา และให้กำลังใจ” นัซรอเสริม ก๊ะบ๊ะ เล่าเทคนิคการดูแลทีมงานเยาวชนของทีมพี่เลี้ยงว่า ช่วงแรกจะทำให้กลุ่มเยาวชนดู เพราะพวกเขายังไม่รู้งาน ยังไม่มั่นใจ เมื่อรู้งานแล้ว พี่เลี้ยงจะปล่อยให้เยาวชนลองทำ เวลาติดขัดอะไรค่อยมาปรึกษา เพื่อฝึกการคิด การทำ และความรับผิดชอบ

ด้าน บังดีน-ตายุดดีน สืบเหม พี่เลี้ยงอีกคน เล่าว่า “เวลาจะช่วยน้อง ๆ หาทางออก พวกเราจะเน้นตั้งคำถามเป็นหลักเพื่อให้เขามองเห็นทางออกด้วยตัวเอง ถ้าจำเป็นต้องช่วยจริง ๆ มักต้องเป็นเรื่องยาก เช่น การประสานงานกับวิทยากรที่เป็นผู้อาวุโส” ทีมพี่เลี้ยงกล่าวถึงความตั้งใจที่พวกเขาทุ่มเทให้ทำงานกับเด็กๆ เพราะอยากเห็นคนรุ่นต่อไปขึ้นมาช่วยรับผิดชอบชุมชนเรื่องทรัพยากร และถ่ายทอดสู่รุ่นต่อไปเหมือนดั่งที่คนรุ่นพวกเขา และคนรุ่นก่อนพยายามทำเรื่อยมา 

ก๊ะบ๊ะบอกว่า อยากให้เยาวชนพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ และกลับมาพัฒนาชุมชน เสียสละความสุขส่วนตัวคนละนิดหน่อย เพื่อความสุขของชุมชน เหมือนคนรุ่นก่อนที่ช่วยกันทำให้ป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ดังเช่นวันนี้ ดูเหมือนกิจกรรมสุดท้ายของทีมงานก็กำลังค่อย ๆ เริ่มสืบทอดเจตนารมณ์ของผู้ใหญ่ เพราะพวกเขาจะถอดบทเรียนความรู้ตลอดการทำโครงการออกมาเป็นหนังสือนิทานเกี่ยวกับป่าชายเลน ซึ่งตอนนี้ทำเสร็จไปแล้วเรื่องหนึ่ง เนื้อเรื่องเกี่ยวกับปู่ที่ชวนหลานลงสำรวจป่าชายเลน โดยมีหลานเป็นคนซักถาม และมีคุณปู่เป็นคนอธิบาย 

“แนวคิดการทำนิทานมาจากตัวพวกเราที่อยากรู้ว่าในป่าเลนมีอะไรบ้าง จึงไปถามจากผู้ใหญ่ โดยจะนำไปเผยแพร่ให้น้องๆ ในโรงเรียนประถมได้เรียนรู้เรื่องป่าเลนมากขึ้นครับ” กีรีนเล่านอกจากนั้นทีมงานยังอยากทำแผ่นพับเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่คนทั่วไปด้วย ความรู้ทั้งหมดที่ได้จากการทำโครงการนี้จึงกำลังกลายเป็น “ความรู้ที่ถูกส่งต่ออย่างไม่มีวันสิ้นสุด”

“เราอยากถ่ายทอดให้น้องๆ รู้ว่า เมื่อก่อนป่าเลนบ้านเราที่ไม่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างไร แล้วพี่ๆ ผู้ใหญ่ในชุมชนช่วยกันดูแลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์จนมีชื่อเสียงได้อย่างไร ไม่อยากให้สิ่งที่พี่ๆ ทำมาดีกว่า 10 ปีมาล่มที่เรา อยากให้คนมาสานต่อจากพวกเราไปอีกเรื่อย ๆ จากรุ่นสู่รุ่น” 


โครงการ : ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลนหลังการประกาศเขตอภัยทาน สู่การสร้างสำนึกรักษ์ป่าเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้

ที่ปรึกษาโครงการ

  • ฮาบีบ๊ะ เส็นสมมาตร 
  • อนันต์ มารมาศ 
  • ตายุดดีน สืบเหม 
  • ฝาตอน๊ะ ลิงาลาห์ 

ทีมงาน

  • สากีรีน เส็นสมมาตร 
  • นัซรอ เหมซ๊ะ 
  • ซารอ ทิ้งน้ำรอบ 
  • ซอฮาบีย๊ะ เย็นจิต 
  • อับดุลฮาดี มานีอาเหล็ม 

­