การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะบ้านเขาน้อย จังหวัดสตูล ปี 1

‘ชุมชนไร้ควัน’ ความฝันเยาวชนเขาน้อย

“...โอ่ โอ เขาน้อยบ้านเรา ไม่กินน้ำท่อม ไม่สูบบุหรี่...”

คือเนื้อเพลงท่อนหนึ่งในการแสดงลิเกฮูลูโดยเหล่าเยาวชนบ้านเขาน้อย ที่ร่วมกันขับกล่อมต้อนรับคณะกรรมการที่เดินทางมาประเมินศาสนสถานส่งเสริมสุขภาพ บอกเล่าตำนานวันวาน ปัจจุบัน และเป้าหมายในอนาคตของชุมชนบ้านเขาน้อย อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ที่ต้องปราศจากยาเสพติดและบุหรี่ การแสดงในครั้งนั้นพวกเขาได้ฉายแววถึงความสามารถจนได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนจังหวัดสตูลเข้าประกวดแข่งขันโครงการทูบีนัมเบอร์วัน (TO BE NUMBER ONE) ระดับภาค 

แม้จะไม่ผ่านเข้ารอบ แต่จากประสบการณ์การทำกิจกรรมทางสังคมของกลุ่มเยาวชนเขาน้อย ทีมโค้ชจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูลจึงไปชักชวนน้อง ๆ เข้าร่วมเป็นหนึ่งในโครงการ โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กๆ ได้รวมตัวกันทำกิจกรรมกันอย่างจริงจังในนาม ‘กลุ่มเยาวชนรักเขาน้อย’

“พื้นทีนี้น่าสนใจเรื่องขั้นตอนกว่าจะเข้าถึงเด็ก ผมมองว่านี่เป็นบทเรียนสำคัญของทีมโคช เรามาคุย สามสี่รอบกว่าจะได้คุยกับเด็กโดยตรง รอบแรกมาคุยกับกลุ่มแม่บ้าน บอกว่ามีโครงการเยาวชน มีงบประมาณให้เด็ก ๆ ทำงาน ระหว่างทำงานจะมีการอบรบเพื่อพัฒนาเด็กด้วย รอบต่อมาถึงจะได้คุยกับครูพี่เลี้ยง (ซอและ หลงสมัน) ก็เปิดหมด เอาความจริงใจมาเปิดใส่กัน พอชุมชนเห็นว่าการมาของมาด้วนเจตนาดี ชุมชนจึงยอมให้พบกับเด็ก ๆ “ พิเชษฐ์ เบญจมาศ อธิบายขั้นตอนการเข้าถึงตัวเด็ก

“ก็ปล่อยให้บังเชษฐ์คุยให้ฟัง” ซาน-อาซาน สันง๊ะ บอกก่อนอธิบายเพิ่มว่า “บังบอกว่า ถ้าจะรับก็รับเนอะ คือไม่บังคับ ตอนแรกนั่งอยู่ปกติ พอบังเชษฐ์ถาม สนใจมั๊ย คนนู้นก็สั่นหัว คนนี้ก็สั่นหัว ถอยกันหมด ไม่มีกล้าตอบ บังเลยบอกให้เราลองหารือกันดู คืนนั้นก็สุมหัวคุยกัน และตอบตกลงเข้าร่วมทำโครงการกับบังเชษฐ์” ติน-เฟื่องลดา โย๊ะฮาหมาด เล่าว่า มีสองสามเหตุผลที่พวกเขาคิดว่า ต้องตัดสินใจเข้าร่วมในโครงการครั้งนี้ ประการแรก คำถามท้าทายจากบังเชษฐ์

“ตอนนี้ เรารู้จักคนในหมู่บ้านครบทุกคนแล้วยัง รู้ว่าหมู่บ้านนี้เป็นมายังไง ซึ่งตอนนั้นพวกหนูจะไม่รู้เลยว่าใครเป็นใครในหมู่บ้านนี้ กับเพื่อนที่มาบางคนก็ยังไม่สนิทกัน แกถามให้เหมือนกับรู้สึกว่า ทำไมเราอยู่หมู่บ้านนี้ทำไมเราไม่รู้จักคนในหมู่บ้าน ไม่รู้จักตำนานของหมู่บ้าน ไม่รู้จักอะไรที่เกี่ยวกับหมู่บ้านตัวเอง ก็เป็นจุดที่ว่าอยากลอง อยากทำ”

ซึ่ง ซานเสริมว่า โครงการนี้ จะทำให้เรามีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน แล้วก็จะต่อยอดไปสู่อนาคตที่เราจะอยู่มหาลัยหรือว่าโครงการที่เราทำเรามาร่วมมือมาสามัคคีกันเพื่อจะต่อยอดอนาคตของเราได้” เหตุผลแค่นี้ก็เพียงพอทีสจะสนับสนุนการตัดสินใจเข้าร่วมในโครงการของทีมเยาวชนเขาน้อย กระทั่งนำไปสู่การร่วมตัวอย่างเป็นทางการของ ซาน, ติน, นัท-อารียา บากาโชติ ฟาลัก-บีลาล เส็นจิต และน้องเล็กที่สุดในกลุ่ม ญาเบร-นีสรีย์ สลีหมีน

ล้อมวงตั้งโจทย์ วิเคราะห์เป้าหมาย 

เดิมทีบ้านเขาน้อยมีคนในชุมชนสูบบุหรี่จำนวนมาก จากการคัดกรองพบว่ามีผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ติดบุหรี่สูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ศูนย์เรียนรู้ระบบสุขภาพตามวิถีชุมชน (พัฒนามาจากศาสนสถานส่งเสริมสุขภาพ) จึงได้ริเริ่มทำกิจกรรมการลดละเลิกบุหรี่ ด้วยพลังการมีส่วนรวมของชุมชนและเยาวชนในพื้นที่ ใช้เวลาเพียง 1 ปี ชาวบ้านที่เข้าข่ายติดบุหรี่ลดลงเหลือเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ ด้วยผลลัพธ์ที่น่าพึงใจและเพื่อให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี ‘บุหรี่’ จึงถูกเลือกให้เป็นโจทย์ใหญ่ในการทำโครงการ

“ตอนบังเชษฐ์ ชวนทำโครงการ เราปรึกษากันว่าจะทำเรื่องอะไร ช่วยกันคิดโจทย์ออกมาได้ 2-3 เรื่อง มีเรื่องขนม คือการต่อยอดการทำขนมไข่ให้เป็นสินค้าโอท็อปของหมู่บ้าน ถ้าเป็นทรัพยากร เรามองเรื่องการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อให้ชาวบ้านใช้น้ำไปปลูกผักได้ในหน้าแล้ง และสุดท้ายคือบุหรี่”

“จากการวิเคราะห์เห็นตรงกันว่าจะทำโครงการเกี่ยวกับบุหรี่ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว ไปร้านน้ำชามีแต่คนสูบบุหรี่ เดินไปไหนมีแต่ควันบุหรี่ อยากให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี เด็กๆ ในหมู่บ้านโตขึ้นมาไม่สูบบุหรี่ ที่ไม่เลือกขนมเพราะว่าหมู่บ้านอื่นก็ทำกันอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ แต่ละบ้านมีบ่อน้ำอยู่แล้ว กลัวว่าพัฒนาแหล่งน้ำไปแล้วจะไม่มีคนมาใช้ประโยชน์” ฟาลักเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำโครงการ

หมู่บ้านปลอดบุหรี่ คือเป้าหมายแรกที่พวกเขาตั้งไว้ แต่เมื่อเริ่มดำเนินการไปสักระยะ กลับพบว่าเป้าหมายที่ตั้งนั้นกว้างและยากเกินไป “เราอยากให้ชุมชนไม่มีคนสูบบุหรี่เลย แต่ว่าพอทำไปสักพัก ก็เรียนรู้ว่าตั้งเป้ายากเกินไป เป็นไปไม่ได้ที่จะบังคับให้ใครทำตามเราได้ บังเชษฐ์แนะนำว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเป็นเรื่องยาก อาจจะใช้การเปลี่ยนแนวคิด และเน้นไปที่การลดการสูบในที่สาธารณะแทน” ตินบอกเหตุผลทีต้องเปลี่ยนเป้าหมายการทำงานใหม่


สำรวจข้อมูล กำหนดพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ 

เมื่อได้เป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือกระบวนการทำงาน ซึ่งการจะเลือกพื้นที่สาธารณะเพื่อเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่นั้น ต้องเริ่มต้นจากการศึกษา สำรวจ และเก็บข้อมูลเป็นอันดับแรก

“เราเริ่มจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในพื้นที่บ้านเขาน้อย ขอข้อมูลจากหน่วยงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลย่านซื่อ, สาธารณสุขอำเภอควนโดน และอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อทราบจำนวนผู้สูบบุหรี่ และผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ในพื้นที่บ้านเขาน้อยก่อน จากนั้นก็ทำแบบสอบถามลงพื้นที่สำรวจแต่ละบ้าน เวลาเก็บข้อมูลจะแบ่งเป็นคู่ 2 คน มีการแบ่งกลุ่มสำรวจตามช่วงอายุ ในแบบสอบถามจะมีคำถาม เช่น บ้านนี้มีผู้สูบบุหรี่กี่คน ใครบ้าง สถานที่ใดบ้างที่คนในชุมชนสูบบุหรี่กัน ปกติสูบคนเดียวหรือกี่คน สูบช่วงไหนบ้าง สูบบุหรี่ยี่ห้ออะไร ซื้อมาจากที่ไหน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแบบสอบถามของคนที่ไม่สูบด้วยว่ารู้สึกกับคนที่สูบบุหรี่ยังไง” ทีมงานอธิบายวิธีการเก็บข้อมูล

ความยากของการสำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถาม นอกจากการเก็บรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นให้ได้ตามเป้าหมายทางสถิติ รวมถึงข้อมูลมหาศาลที่ต้องนำมาวิเคราะห์แล้ว ปัญหาสำคัญที่พวกเขาเผชิญ คือ ความกลัว ไม่กล้าพูดคุยกับคนไม่รู้จึ

“ตอนลงไปเก็บข้อมูล ยากมาก เป็นความไม่กล้าเพราะว่าเราไม่คุ้นชิน ไม่เคยรู้จัก ไม่กล้าพูด ไม่กล้าถาม กลัวว่าเขาจะหาว่าไปยุ่งเรื่องของเขา และเพราะมันเป็นการถามเรื่องส่วนตัว เวลาที่ไปถามก็กลัวว่าเขาจะมองเราไม่ดี” ตินเล่าถึงปัญหาที่พบระหว่างลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชนกลวิธีสำคัญที่ทำให้พวกเขาผ่านพ้นอุปสรรคมาได้ คือ การเริ่มจากคนรู้จักมักคุ้นก่อน อาศัยพี่เลี้ยง เป็นกองหนุน รวมถึงการทลายกำแพงความไม่กล้าของตัวเอง

“ช่วงแรกพยายามเลือกสัมภาษณ์คนที่สนิทๆ ก่อน คนไหนสนิทกับเรามากกว่าก็จะรับหน้าที่ไปสอบถาม เวลาไปหาก็ซื้อขนมไปฝาก เหมือนมาเยี่ยม มาคุย เวลาคุยก็คุยเรื่องอื่นกับเขาก่อนแล้วค่อยเข้าประเด็นที่เราอยากได้ ส่วนคนที่ไม่สนิท ไม่รู้จัก เวลาคุยก็จะไม่ค่อยออกนอกเรื่องเท่าไร ถามไปตามแบบสอบถาม ไม่ค่อยชวนคุย แต่ตอนนี้ก็เริ่มพัฒนาดีขึ้นกว่าเก่าแล้ว พอสนิทกันก็พูดเรื่องอื่นได้บ้าง พูดเรื่องโครงการบ้าง ก็เลยทำให้กล้าพูด พยายามบอกตัวเองว่าเราต้องพูด ถ้าเราไม่พูดเราก็จะทลายกำแพงนั้นออกไปไม่ได้” มินบอกวิธีก้าวข้ามความกลัวของตัวเองไม่เพียงต้องอาศัยความใจกล้าในการพูดคุยกับผู้คนมากหน้าหลายตาเท่านั้น ความไม่ถูกต้องของข้อมูลก็เป็นอีกอุปสรรคสำคัญ แต่นั่นก็ไม่ทำให้พวกเขาท้อถอย หรือถอดใจ 

“ข้อมูลที่ได้มาจากบางคนก็ไม่ตรงกับความจริง เช่น เขากรอกมาว่าไม่สูบบุหรี่ แต่เรารู้ว่าเขาสูบบุหรี่แน่นอน บางทีเขาก็แค่ตอบๆ ให้จบไป แต่เราพยายามตรวจสอบ ตรวจทานข้อมูล ด้วยการติดตามดูพฤติกรรม บางคนติ๊กว่าไม่สูบบุหรี่ ทั้งที่สูบ ก็กลับไปถามอีก ถามหลายครั้ง บางครั้งก็ไปถามบุคคลใกล้ชิด เช่น พ่อเขานั่งกินน้ำชาอยู่ ก็จะไปพูดคุยถามพ่อเขาว่าลูกสูบบุหรี่หรือเปล่า เขาก็บอกว่าสูบ เห็นอยู่ แต่ลูกเขาบอกว่าเลิกสูบแล้วค่ะ” ตินอธิบายความยากในการเก็บข้อมูล

ผลจากความพยายามในการสำรวจข้อมูล ทำให้เยาวชนรักเขาน้อยเห็นถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนในชุมชน สถานที่ หรืองานสำคัญต่าง ๆ ที่คนในชุมชนจะมีการสูบบุหรี่กันจำนวนมาก จึงร่วมกันกำหนดพื้นที่สาธารณะที่ใช้รณรงค์ลด-ละ-เลิกการสูบบุหรี่ 7 แห่ง ได้แก่ มัสยิด ศูนย์ตาดีกา วิสาหกิจชุมชน ร้านน้ำชา ร้านค้า สนามฟุตบอล และสนามตะกร้อ


ให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึก สร้างกติกา

เพื่อรณรงค์ให้คนในชุมชนไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ กลุ่มเยาวชนบ้านเขาน้อยได้เดินหน้าสร้างการรับรู้ จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ กระตุ้นให้ตระหนักถึงโทษ พิษภัยจากการสูบบุหรี่

“เราจัดอบรมให้กับกลุ่มคนที่สูบบุหรี่จากให้กับคนที่ไปสำรวจมา แล้วเชิญวิทยากรจากโรงพยาบาลสตูลมาให้ความรู้เรื่องภัยจากบุหรี่ พร้อมทั้งบอกว่าพื้นที่สาธารณะตรงไหนบ้างที่ขอความร่วมมืองดสูบบุหรี่ได้ และยังมีการตรวจปัสสาวะเด็กในชุมชนเพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยง พร้อมทั้งแจกน้ำยาอมอดบุหรี่ และให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนในชุมชน” มินอธิบายแผนการทำให้คนในชุมชนเห็นถึงพิษภัยของบุหรี่

อย่างไรก็ดี แผนการรณรงค์ช่วงแรก พวกเขามุ่งไปที่มัสยิดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นเสมือนบ้านของพระเจ้าที่ต้องปลอดจากฮะรอมหรือสิ่งที่ไม่ดี พร้อมทั้งเชื่อว่าศาสนามีส่วนอย่างมากที่จะช่วยบำบัด สร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชน “ก่อนถึงเวลาละหมาด ปกติแล้วเขาจะรวมตัวกันนั่งสูบบุหรี่ ซึ่งทางอิหม่ามหรือว่าผู้นำชุมชนก็จะมาพูดกับคนที่มาละหมาดว่ากฎเกณฑ์เป็นยังไง ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ห้ามสูบบุหรี่ในมัสยิด แน่นอนว่าเราบังคับเขาไม่ได้ แต่บอกได้ว่าตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นของบุคคลทั่วไป ถ้าไม่คิดถึงตัวเองก็ต้องคิดถึงคนอื่นที่อยู่รอบตัวเราบ้าง” ฟาลักบอก

นอกจากนี้ยังร่วมกันขันอาสาจัดกิจกรรม กีฬาต้านยาเสพติด ซึ่งไม่เพียงเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนทุกเพศทุกวัยได้มารวมตัวออกกำลังกาย และใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ แต่ยังเป็นโอกาสให้พวกเขาได้ติดตามพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนในชุมชนด้วย

 “กีฬาที่จัดก็จะมีแข่งฟุตบอลสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก ส่วนคนแก่ก็จะเล่นชักกะเย่อ เป่าลูกโป่ง กีฬาจะเป็นตัววัดชั้นดีว่า คนไหนที่สูบบุหรี่บ้าง ส่วนคนที่บอกว่าไม่สูบๆ เดี๋ยวรู้แน่ เพราะวิ่ง 10 นาที ก็ต้องเหนื่อยแล้ว หรือเวลาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ก็จะเห็นชัด ใครสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะหรือเปล่า จากการจัดกิจกรรมมา 2-3 ครั้ง เห็นเลยว่าจำนวนคนที่สูบลดน้อยลง อีกแง่หนึ่ง การจัดกิจกรรมทำให้ช่วยสานสัมพันธ์ ลดช่องว่างระหว่างวัย ทำให้สนิท ใกล้ชิดกันมากขึ้นค่ะ” ตินเล่าด้วยความสีหน้ายิ้มแย้ม


พัฒนาชุมชน เปลี่ยนแปลงตนเอง 

วันนี้การสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะของชุมชนลดลงไปมาก ข้อมูลจากกลุ่มเยาวชนพบว่า ปัจจุบันการสูบบุหรี่ในมัสยิดลดลงมากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ส่วนร้านน้ำชา สนามฟุตบอล สนามตระกร้อ แม้จะมีสูบอยู่บ้าง แต่เรียกว่าน้อยมากแล้ว

“เห็นคนในชุมชนสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะน้อยลง รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก สิ่งที่พวกเราทำก็อยากให้เป็นฐานเริ่มต้นในการเลิกสูบบุหรี่โดยเริ่มจากพื้นที่สาธารณะ เหมือนกับหินที่โดนน้ำมันก็จะกร่อน ไม่ต่างกับใจคนที่เขาได้รับฟังไปเรื่อย ๆ หวังว่าวันหนึ่งเขาอาจคิดได้ สำหรับการดำเนินงานต่อจากนี้เราพยายามสร้างกติกาชุมชน หวังว่าจะลดจำนวนผู้สูบได้เพิ่มขึ้นอีก โดยให้คนที่สูบกับคนที่ไม่สูบสร้างกติการ่วมกัน ไม่ได้เป็นกฎหมายอะไร แต่เป็นสัญญาใจ” ทีมงานเล่าความสำเร็จด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

ผลตอบแทนจากความสำเร็จไม่เพียงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านสุขภาวะที่ดีขึ้นของชุมชน แต่เหนือไปกว่านั้น คือ โอกาสในการเรียนรู้ พัฒนาตนเองตลอดการทำงานในโครงการ

“การทำโครงการ ช่วยให้เรากล้าแสดงออก กล้าพูด รู้จักคิดวิเคราะห์ สิ่งสำคัญคือการวางแผน รู้จักบริหารเวลา มีความเป็นผู้นำมากขึ้น จากที่ตอนแรกๆ เราจะเป็นผู้ฟังและผู้ทำตามเขาทุกอย่าง แต่หลังๆ มานี้เราเป็นคนที่ไปบอกเขาว่าทำอย่างนี้อย่างนั้นมากขึ้น” ทีมงานบอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สำหรับ บังเชษฐ์ ผู้ที่เฝ้ามองดูการเติบโตของเยาวชนกลุ่มนี้ในฐาะพี่เลี้ยงมาตลอด ยืนยันหนักแน่นว่า “7 เดือนที่ผ่านมา เด็กๆ เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย เห็นชัดเรื่องของความกล้า ตอนผมมาทำงานแรกๆ บอกเลยว่าถ้าใครมีที่หลบได้เขาก็จะหลบ เหมือนนั่งอยู่หน้ามัสยิด มีเสา เสาก็จะเป็นที่กำบังของพวกเขา อย่าให้ผม หยาด (ประวิทย์ ลัดเลีย โคชศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล) และ ปิง (อับดุลอาสีด หยีเหม โคชศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล) ถามเลย เด็กๆ จะพยายามหลบเลี่ยง ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่ชอบพูด ไม่ชอบคิด แต่ถ้าเพื่อนคิดให้ก็ทำได้ แต่ตอนนี้เขาคิดเอง ทำเอง แล้วเขามีความสุข”

นอกจากการพัฒนาตนเองแล้ว การทำโครงการนี้ยังช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในชุมชนให้แน่นแฟ้นมากขึ้น “สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากคือผู้ใหญ่เขาเห็นความสำคัญของเด็กมากขึ้น ตอนนี้ ทุกกิจกรรมในชุมชนจะให้เด็กเป็นผู้นำจัดกิจกรรม แล้วเราอยู่เบื้องหลังทั้งหมด เป็นฝ่ายสนับสนุนการทำงาน อย่างจัดกิจกรรมกีฬาต้านยาเสพติดครั้งล่าสุด เราไปภูเก็ต พี่เลี้ยงแทบไม่ได้ยุ่งเลย พวกเขาสามารถจัดการทุกอย่างจบได้สวยหมด ไม่มีติดขัดอะไรเลย” ครูซอและ พี่เลี้ยงโครงการเยาวชนชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทีเกิดขึ้น 

พลังเล็กๆ ในการทำโครงการอันยิ่งใหญ่ของเยาวชนรักเขาน้อย ไม่เพียงเสริมสร้างหัวใจที่แข็งแรง สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่สิงห์อมควันในชุมชนแล้ว กระบวนการทำงานที่เป็นขั้นตอน การเผชิญอุปสรรค การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ล้วนเป็นทักษะที่แปรเปลี่ยนพวกเขาให้พร้อมก้าวสู่การเป็นเยาวชนที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต


โครงการ : ศึกษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ

ที่ปรึกษาโครงการ

  • สอและ หลงสมัน

ทีมงาน

  • เฟื่องลดา โย๊ะฮาหมาด 
  • อารียา บากาโชติ 
  • บีลาล เส็นจิต 
  • อาซาน สันง๊ะ 
  • ญาเบร-นีสรีย์ สลีหมีน

­