การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาน้ำตกสายใจเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนบ้านเขาไคร จังหวัดสตูล ปี 1

“น้ำตกสายใจ” สายใยชุมชนและความมุ่งมั่นของเยาวชนเขาไคร

“คิดแล้วทำเลย” อาจเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับ “มือใหม่” โดยเฉพาะกับเยาวชนบ้านเขาไคร การค่อยๆ คิด วางแผน รวมทั้งผ่านการถูกทดสอบ “ความมุ่งมั่น” ว่าจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องที่ต้องการทำแค่ไหน คือ การเรียนรู้ครั้งสำคัญของการเดินไปบนเส้นทางการทำงานเพื่อชุมชน

‘ชมรมกีฬาและการอนุรักษ์บ้านเขาไคร’ ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เกิดจากการรวมตัวของเยาวชนบ้านเขาไคร ที่ชอบเล่นกีฬาและทำงานอนุรักษ์ ภารกิจหลักคือการแข่งกีฬาของหมู่บ้านและการช่วยดูแลน้ำตกสายใจ กระทั่งเมื่อเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาชักชวนให้ร่วม ‘โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล’ น้อง ๆ เห็นว่า นี่คือโอกาสและความท้าทายใหม่ของชมรม

“เวลาเราเตะบอลเสร็จก็มักจะมาเล่นน้ำกันที่น้ำตกสายใจแห่งนี้ เวลาที่เห็นขยะเกลื่อนอยู่ที่น้ำตกก็จะช่วยกันเก็บ พอพวกบัง (บังหยาด-ประวิทย์ ลัดเลีย , บังเชษฐ์-พิเชษฐ์ เบญจมาศ พี่เลี้ยงศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล) มาบอกว่ามีโครงการนี้เข้ามานะ สนใจมั้ย พวกผมก็ใช้เวลาคิดอยู่สักพักนึงว่าจะเอามั้ย จะทำมั้ย สุดท้ายก็ตกลงที่จะทำ จึงรวมกลุ่มกันเป็นชมรมอนุรักษ์และกีฬา กิจกรรมส่วนมากเป็นการแข่งขันฟุตบอล” ทีมงานเล่าถึงจุดเริ่มต้น“เคยเป็นไหม เวลาไปไหนแล้วมีคนถามว่าที่บ้านมีอะไรน่าเที่ยว มีอะไรน่าสนใจ บ้านเราแท้ ๆ แต่เราไม่รู้ ตอนผมไปเรียนในเมือง 

จนตอนนี้ผมเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนมักจะถามว่าผมมาจากไหน? “เขาไครอยู่ที่ไหน? ถ้ากลับบ้านต้องขี่ช้างเข้าไปมั้ย? การที่เรารู้ว่าบ้านเรามีดีอะไร เราจะพูดได้อย่างภาคภูมิใจกับสิ่งที่เรารู้ สิ่งที่เรามี ผมกล้าพูดกับเพื่อนทุกคนได้อย่างภาคภูมิใจเลยว่า “ลองมาเที่ยวบ้านเราสิ รับรองจะติดใจ” ไม่อยากกลับบ้านเลย” เป็นถ้อยคำที่บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ ฮาริส-นัฐวุฒิ หนูปอง แกนนำรุ่นแรก เล่าที่มาของแรงบันดาลใจที่อยากทำโครงการ


มีของดีต้องรักษา

ฮาริส-นัฐวุฒิ หนูปอง ฟิส- ซุบฮี ด่านเท่ง และทีมเยาวชนเขาใครที่ประกอบด้วย อาสอด-อาสอด ด่านเท่ง, ฟิต-กฤตพล รองสวัสดิ์ บ๊ะ-อิสรา ขุนจันทร์, มุ-มุซีรา อุรามา และ ฮัสฟา บิลหมาน ตัดสินใจทำ “โครงการศึกษาน้ำตกสายใจเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนบ้านเขาไคร” เพราะอยากให้น้ำตกสายใจ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของคนในชุมชนกลับมามีความสวยงามรื่นรมย์อีกครั้ง

“น้ำตกสายใจ เป็นเสมือนแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน นักท่องเที่ยว หรือ คนที่ไม่ใช่คนในชุมชนก็จะรู้จักชุมชนของเราก็เพราะน้ำตกสายใจนี่แหล่ะ ปัจจุบันป่าต้นน้ำและสภาพแวดล้อมของน้ำตกสายใจเกิดปัญหาน้ำน้อยในฤดูแล้ง และมีขยะ ส่งผลให้สตว์น้ำลดน้อยลง น้ำเริ่มไม่สะอาด ส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดจากการที่นักท่องเที่ยวและคนในชุมชนไม่ให้ความสนใจที่จะดูแลรักษาสภาพแวดล้อมของน้ำตกมากนัก หากปล่อยทิ้งโดยไม่แก้ปัญหามันก็จะเกิดผลเสียกับคนที่ใช้ประโยชน์จากน้ำที่แหล่ะครับ เราจะนิ่งดูดายได้อย่างไร” ฮาริส เล่าถึงสถานการณ์ของน้ำตก

“คนที่นี่ผูกพันกับน้ำตกมานาน พอเสร็จจากงานก็จะมาเล่นน้ำ ยิ่งช่วงหน้าร้อน ไม่รู้จะไปไหนก็มาที่นี่ มานั่งคุยกัน มาพักผ่อน เป็นแบบนี้มาตั้งแต่คนรุ่นแรก ๆ ของหมู่บ้านเลย แต่ช่วงหลัง รอบๆ น้ำตกเริ่มมีขยะ ไม่สวยงาม และไม่มีจุดให้คนที่มาเที่ยวได้เล่นน้ำ ” ฟิสอธิบายเพิ่มเติม

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่พวกเขาอยากร่วมกันทำคือ พัฒนาพื้นที่รอบ ๆ น้ำตกสายใจ ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม ทำจุดเล่นน้ำ เพื่อที่ว่าเมื่อนักท่องเที่ยวมาสามารถเล่นน้ำตามจุดที่กำหนดใว้ได้ แต่ก่อนที่พวกเขาจะลงมือปรับภูมิทัศน์และทำจุดเล่นน้ำ จากการเรียนรู้กับโครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล พวกเขาพบว่าก่อนจะลงมือทำใด ๆ สิ่งที่ทีมงานควรจะรู้ก่อนเป็นอย่างดีคือข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เขาจะทำ ได้แก่ น้ำตกสายใจ ดังนั้น พวกเขาจึงตัดสินใจสำรวจคุณภาพน้ำบริเวณน้ำตก ด้วยการวัดค่า PH เนื่องจากคนในชุมชนใช้น้ำจากน้ำตกในการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบสภาพดิน ตั้งแต่ต้นทางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ สำรวจพันธุ์ไม้ต้นไม้เพื่อดูว่ามีต้นไม้ชนิดไหนมากที่สุด มีสัตว์ชนิดไหนบ้างที่อาศัยในน้ำตก และสำรวจอณาเขตของน้ำตกมีขนาดเท่าไหร่

“ตอนแรกเราไม่รู้หรอกว่าต้องมีการเก็บข้อมูลด้วย คิดแค่ว่าจะได้งบประมาณมาเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์” กระนั้น แม้พวกเขาจะไม่มีความถนัดเรื่องการเก็บข้อมูลในพื้นที่ แต่ ‘ชมรมกีฬาและการอนุรักษ์บ้านเขาไคร’ ก็สามารถพาทีมเก็บข้อมูลได้อย่างครบถ้วน อาสอดเล่าความเข้าใจครั้งแรกเมื่อรับรู้ว่าจะได้ทำโครงการ

“ตอนแรกเราก็หาข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรที่จะเข้าถึงข้อมูลนั้นให้เยอะกว่านี้ จนต้องไปถามด้วยตัวเอง ต้องใช้เวลา 2-3 วัน คือไปรอจนกว่าเค้าจะอยู่ให้เราเก็บข้อมูล ซึ่งคนให้ข้อมูลเขาก็อยากเห็นเหมือนกันว่าเด็กในชุมชนจะทำอะไรแบบนี้จริงรึเปล่า ซึ่งยิ่งพอได้ข้อมูลก็ยิ่งทำให้ผมอยากทำความรู้จักชุมชนให้มากกว่านี้” ฮาริส เล่ากระบวนการเก็บข้อมูล

จากการเก็บข้อมูลทำให้รู้ว่า ‘น้ำตกสายใจ’ แห่งนี้ มีชื่อมาจากสายใยของคนในหมู่บ้านเขาไครที่ใช้น้ำตกแห่งนี้เป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจ เป็นสายน้ำที่เสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนในหมู่บ้านทั้งหมด ส่วนความรู้เรื่องต้นไม้และสัตว์ป่านั้น บ๊ะ เล่าว่า

“คนในหมู่บ้านบอกว่าแต่ก่อนนั้นต้นไม้ในพื้นที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีคนมาบุกรุกตัดไม้บ้าง แต่คนเฒ่าคนแก่ก็ช่วยกันปกป้องรักษา เพราะรู้ว่าการตัดไม้จะทำลายระบบนิเวศและต้นน้ำได้ ต้นไม้บริเวณน้ำตกส่วนใหญ่มีขนาดใหญ่ ส่วนชื่อต้นไม้บางต้นนั้นไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น ต้นไม้แดง ต้นขานาง ต้นเต้า ด้านล่างลงไปก็จะมีต้นเขารัก ซึ่งเป็นชื่อที่คนแก่เรียกกัน บางต้นก็ชวนเขามาดูเลยว่าเป็นต้นอะไร ส่วนสัตว์เห็นแต่ลิง บางทีลงมาเป็น 100 ตัว แต่นานๆ ทีจะมีลงมา”

นอกจากข้อมูล และความรู้เรื่องป่า น้ำตก และสัตว์ป่า การลงพื้นที่พูดคุยกับคนในชุมชนทำให้ทีมงานเห็นสายสัมพันธ์ระหว่างตนเองและชุมชน ก่อให้เกิดสำนึกรักและผูกพันกับบ้านเกิดของตนเองมากขึ้น

“ทั้งที่นามสกุลของตัวเองมีคนใช้อยู่ทั่วหมู่บ้านเลย แต่ก็ไม่เคยรู้ถึงประวัตินามสกุลตัวเองเลย รู้แต่ว่าเป็นพี่น้องกันกับบางบ้านเท่านั้น แต่พอได้รู้ความเป็นมา ก็ดีใจที่นามสกุลเราเป็นนามสกุลแรกที่คนเฒ่าคนแก่ให้มา ทำให้รักหมู่บ้านนี้ อยากปกป้อง เหมือนกับที่บรรพบุรุษของเราได้มาบุกเบิก รู้สึกผูกพันเป็นครอบครัวกับคนในชุมชนมากขึ้น นั่งเรียนกับเพื่อนห้องเดียวกัน นามสกุลเดียวกัน ก็รู้สึกว่าเป็นพี่น้องจากต้นตระกูลเดียวกันนะ ยายเดียวกัน ทวดเดียวกัน แทนที่จะทะเลาะกัน ก็ลดลงมาไม่ค่อยทะเลาะกันแล้ว” ฟิสบอกถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการสืบค้นข้อมูลชุมชน


รวมพลังพิสูจน์ความมุ่งมั่น

แม้การลงพื้นที่เก็บข้อมูลจะทำให้กลุ่มเยาวชนรู้ที่มาของน้ำตก เข้าใจระบบนิเวศของป่าที่อยู่เหนือน้ำตก ทั้งยังรู้วิธีการที่จะปรับปรุงทัศนียภาพของน้ำตกต้องทำอย่างไร แต่เมื่อถึงเวลา “นำเสนอโครงการ” ต่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อรับฟังความเห็นก่อนดำเนินโครงการ ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านต่างเห็นแย้งกับสิ่งที่พวกเขาทำ ทำให้พวกเขาได้พบกับประสบการณ์อีกรูปแบบหนึ่ง

“ถูกคอมเมนต์เยอะเลยครับ เขาแนะนำให้พวกเราทำเรื่องเกี่ยวกับประปาภูเขา แต่เราไม่อยากทำ เพราะว่ามันใหญ่เกินตัวที่พวกผมจะทำ อีกอย่างคืองานนั้นมีผู้รับผิดชอบหลักอยู่แล้ว” อาสอดกล่าว

ในขณะที่ฟิสบอกว่า “เฟลมาก ไม่กล้าพูด ยืนก้มหน้ารับอย่างเดียว ตอนนั้นเริ่มท้อ บางคนกลับมาร้องไห้เลย แต่ก็ยังไม่อยากเลิก กลับมาเล่ากับคนที่ไม่ได้ไปนำเสนอว่าทีมไปเจออะไรมา ก็ได้แต่นั่งปลอบใจกัน แล้วก็ปล่อยให้เวลาเยียวยาความเสียใจที่เกิดขึ้น”

การ ‘รับฟัง’ ผู้อื่นที่มี ‘ความเห็นต่าง’ เพื่อมาสอบทานกับสิ่งที่ตนเองคิด ประกอบกับความกลัว ตื่นเต้น ที่ต้องนำเสนอโครงการต่อหน้าผู้ใหญ่และเพื่อนๆ ดูเหมือนจะเป็นประสบการณ์ที่ผ่านไปได้ไม่ง่าย ชวนทำให้อยาก ‘ล้มเลิก’ เอาดื้อๆ แต่ก็ตั้งหลักได้เพราะทีมโคชจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สตูลสังเกตเห็นถึงอาการซนเซของน้องๆ จึงไปชวนคุยปลุกพลัง ให้ย้อนนึกถึงความตั้งใจเดิม และข้อมูลสถานการณ์และบริบทของน้ำตกที่ทีมงานมีข้อมูล และใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจไปต่อ

เมื่อตั้งหลักได้ ทุกคนก็เอาแผนการดำเนินงานออกมาดู พบว่าถึงช่วงเวลาการจัดกิจกรรมค่ายเพื่อสร้างฝายทำจุดสำหรับเล่นน้ำ

“เราจัดกิจกรรมค่าย 2 วัน วันแรกเป็นกิจกรรมสันทนาการเพื่อละลายพฤติกรรม มีฐาน 5 ฐาน แต่ละฐานสอดแทรกความรู้ต่างกัน คือประวัติน้ำตกสายใจ, คุณค่าของฝาย, พันธุ์พืช, ขยะ และฐานสุดท้ายคือ ความสำคัญของน้ำ

“เพราะเราอยากสอดแทรกสิ่งที่ได้รู้มาลงไปในกิจกรรมด้วย จึงวางผู้ดูแลฐานไว้ฐานละ 2 คน เพื่อคอยเล่าความเป็นมาของน้ำตก เช่น ฐานประวัติน้ำตกสายใจก็จะมีคนคอยเล่าว่าทำไมถึงเรียกด้วยชื่อนี้ เพราะคิดว่าน้องรุ่นหลังๆ อาจะจะไม่รู้ ส่วนฐานขยะ ก็สอนว่ามีวิธีการจัดการกับขยะว่าต้องทำยังไง ฐานน้ำจะเล่าถึงความสำคัญของน้ำ ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำที่เราเก็บตัวอย่างมา คุณภาพน้ำเป็นอย่างไร” บ๊ะอธิบายวิธีจัดการเรียนรู้ในค่าย

กิจกรรมค่ายมีเยาวชนในพื้นที่มาร่วมงานถึง 29 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ 30 คน ซึ่งการจัดกิจกรรมแม้จะมีปัญหาเรื่องการคุมเด็กเล็กและรื่องเวลาบ้าง แต่หลายอย่างก็ประสบความสำเร็จด้วยดี เด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างสนุกสนานและเรียกร้องอยากให้มีกิจกรรมเช่นนี้อีก ผลตอบรับที่ดีเช่นนี้ยิ่งทำให้มีแรงขับเคลื่อนจาก ‘ความเป็นทีม การเปิดใจ และความกลัวผิดพลาด’

“สำหรับการทำงานและการจัดกิจกรรมครั้งแรกของทุกคน คิดว่าได้ผลดีเกินคาด ดีกว่าที่คิดไว้เลย ทุกคนแบ่งหน้าที่กันคนละอย่าง เช่น วางกฎกติกาคือ ห้ามนำรถมอเตอร์ไซค์มา แต่ให้ผู้ปกครองมาส่งแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการออกนอกพื้นที่ในช่วงค่ำ แบ่งทีมสำรวจพื้นที่เพื่อที่ใช้จัดกิจกรรมฐาน ฝ่ายประสาน ฝ่ายประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เยาวชนมาร่วมกิจกรรม เป็นต้น แม้จะวางแผนให้แต่ละคนต่างรับผิดชอบหน้าที่ แต่พอวันทำค่ายจริงๆ ทุกคนคอยช่วยกันหมด พอตรงนี้ติดขัดอีกคนหนึ่งก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วยทันทีโดยที่ไม่ต้องบอก เพราะคอยมองกัน คอยสังเกตกันอยู่ตลอดเวลา อีกส่วนหนึ่งคิดว่าเพราะเรากลัวว่าจะงานออกมาไม่ดีเลย

พยายามทำกับมันเต็มที่ สำคัญที่สุดคือการเปิดใจคุยกันทุกอย่าง คุยกันแบบพี่น้อง คุยกันแม้กระทั่งเรื่องส่วนตัวเพื่อให้สนิทกันมากที่สุด ซึ่งเรามองว่ามันสำคัญสำหรับการทำงานเป็นทีมมาก ทำให้ทีมรักกัน” บ๊ะเล่าด้วยสีหน้าภูมิใจหลังจากกิจกรรมค่ายเยาวชน ความผูกพันระหว่างพี่น้อง ทำให้พวกเขาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อมา เช่น ปลูกต้นไม้ ติดป้ายชื่อ รวมถึงการจัดการขยะ เป็นต้น

“วันจัดค่ายเวลาไม่พอ เลยนัดกับน้อง ๆ มาช่วยกันปลูกต้นไม้ที่ยังปลูกไม่หมด ติดป้ายชื่อต้นไม้ที่น้องเขาทำเอง แล้วก็มีเก็บขยะ หาจุดวางถังขยะ อีกเรื่องที่ตั้งใจคุยกันแล้วอยากทำคือ การแยกขยะ ถ้ามีกระป๋องก็รวมกระป๋องไปขาย จะได้เงินเข้ามาเป็นกองกลางด้วย ส่วนฝายให้คนมาเล่นน้ำ ตอนนี้ทำเสร็จแล้วจุดหนึ่ง เหลืออีกจุดหนึ่งจะรอนัดกันมาช่วยทำต่อ” ฟิสเล่าการทำงาน

อาการ “เฟล” จากการถูกคอมเมนต์ทำให้ทีมยอมรับว่า งานที่วางแผนไว้สะดุดเล็กน้อย แต่พวกเขามั่นใจว่าโครงการที่ทำเป็นการสร้างโอกาสให้พวกเขาและน้องคนอื่นๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานนอกห้องเรียน และยังมีส่วนในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่เยาวชน ได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรในท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการบ่มเพาะให้เด็ก ๆ กล้าลุกขึ้นมาเรียนรู้ ลงมือทำ และมีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงชุมชนของตนเองให้ดีขึ้น

บ๊ะบอกว่า การเข้าร่วมโครงการทำให้เธอรู้สึกหวงแหนน้ำตกสายใจมากขึ้น จากเดิมที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องน้ำตกซึ่งแม้เธอจะใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคอยู่ตลอด และที่สำคัญคือได้พัฒนาตนเองทั้งในเรื่องของการทำงาน การใช้ความคิด ตั้งแต่เรียนมาไม่เคยเรียนรู้การเขียนโครงการ ถึงจะอยู่ ม.6 แล้วก็ยังเขียนโครงการไม่เป็น แต่พอได้มาทำ ได้มาอยู่ในกลุ่ม เมื่อได้ฝึก ก็ทำได้

อาสอดเล่าว่า ทุกวันนี้กล้าแสดงออก กล้าพูดมากขึ้น จากเมื่อก่อนเป็นคนไม่ค่อยกล้าพูด ตอนไปเสนอโครงการ กังวลว่าออกไปถือไมค์จะพูดได้มั้ย เพราะไม่มั่นใจ พอผ่านมาแล้วก็ถือว่าโอเคขึ้น เราคิดไปเองว่าเราทำไม่ได้ อีกส่วนหนึ่งได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมด้วย ปลูกฝังให้มีความกระตือรือร้นสูงขึ้น และมีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วย

การสำรวจ ศึกษา เพื่อฟื้นนิเวศ ‘น้ำตกสายใจ’ แห่งนี้ ถือเป็นเพียงก้าวแรกของเยาวชนบ้านเขาไคร ซึ่งก้าวต่อไปพวกเขาฝันว่า ‘น้ำตกสายใจ’ จะกลายเป็น ‘แหล่งท่องเที่ยวที่ถูกใจ’ ของใครหลายคนสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น สะท้อนถึงความเข้มแข็งของชุมชนได้ และนั่นก็ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมถึง ‘พลังของเยาวชน’ ในพื้นที่ด้วย 


โครงการ : ศึกษาน้ำตกสายใจเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนบ้านเขาไคร

พี่เลี้ยงโครงการ

  • ลัดดา เต๊ะโกบ 
  • สุริยัน ด่านเท่ง 

ทีมงาน

  • ซุบฮี ด่านเท่ง 
  • อาสอด ด่านเท่ง
  • กฤตพล รองสวัสดิ์ 
  • อิสรา ขุนจันทร์ 
  • มุซีรา อุรามา 
  • ฮัสฟา บิลหมาน 
  • กวี ด่านเท่ง