การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาประวัติชุมชนบ้านนาพญาและจัดทำสื่อการเรียนรู้ จังหวัดสตูล ปี 1

ค้นรากชุมชน ค้นหาตนเอง: เยาวชนบ้านนาพญา จังหวัดสตูล

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่อยากเห็นคนภายนอกรู้จักชุมชนของตัวเองมากขึ้น นำมาซึ่งการค้นคว้าประวัติความเป็นมาของพื้นที่ พัฒนาเป็นองค์ความรู้ที่ไม่เพียงสร้างความภูมิใจให้กับเยาวชนกลุ่มนี้ ยังเปลี่ยนมุมมองความคิดของพวกเขาและคนในชุมชนไปไม่น้อย

ไหม-พัชรีภรณ์ ติ้งหวัง, แอม-อันจูรี ชาญน้ำ, นุช-นุรอัยณีย์ ชาญน้ำ, ก๊ะ-สุวัลยา ยาหยาหมัน และย๊ะ-ซอฟีย๊ะ ฉาดสัน คือตัวแทนของกลุ่มเยาวชนบ้านนาพญา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่ร่วมกันทำโครงการแนวทางการสร้างสื่อการเรียนรู้ประวัติบ้านนาพญา พญางอกเขี้ยว นาสี่บิง และแหลมตันหยงกุโบร์ โดยมี ก๊ะหรา-ยูนีรา ชอบงาม รับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและคนในชุมชน


ต่างที่มา...ตามหาอดีต

เค้าลางของเรื่องเริ่มต้นจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ว่า ตรงแหลมตันหยงกุโบร์มีพระยาคนหนึ่งเดินทางมาจากรัฐไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย เข้ามาทำนาในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘สี่บิง’ จากนั้นจึงขยายที่นาออกไปเรื่อยๆ กลายเป็นที่มาของชื่อ ‘บ้านนาพญา’ เยาวชนกลุ่มนี้จึงอยากรู้ข้อเท็จจริงให้มากขึ้น และใช้ข้อสงสัยเป็นโจทย์ในการค้นหาคำตอบ

“เริ่มแรก เราอยากเห็นหมู่บ้านของตัวเองเป็นที่รู้จักของทุกคน แต่ตัวเองก็ยังไม่รู้จักหมู่บ้านดีพอ ก็เลยตัดสินใจทำเรื่องประวัติศาสตร์ เพราะอยากให้เด็กรู้จักว่านี่คือที่มาของบ้านเรานะ ไม่อยากเห็นเด็กๆ ลืมหมู่บ้านของตัวเอง”

ไหมเริ่มต้นเล่า ก่อนจะอธิบายขั้นตอนการทำงานว่า เริ่มต้นจากการนัดประชุมทีมงานเพื่อวางแผนเก็บข้อมูลในพื้นที่

"ขั้นแรกของพวกเราก็คือการรวมตัวกันก่อนแล้วค่อยมาคุยกันว่าจะเริ่มต้นขั้นตอนไหนก่อนดี พอวางแผนเสร็จ ก็ไปสอบถามคนที่อยู่รอบข้าง คือโต๊ะ (ปู่ย่าตายาย) ของพวกเราเอง เขาก็จะบอกต่อว่าให้ไปถามใคร คนนี้ก็รู้ คนนั้นก็รู้นะ แล้วเราก็ไปตามหาข้อมูลกันต่อ”การสืบค้นข้อมูลจากการสอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่นั้นยากอยู่แล้ว อุปสรรคที่มากไปกว่านั้น คือการขาดเอกสารหลักฐาน และติดขัดเรื่องเวลาว่างของเด็กๆ เพราะแต่ละคนต่างมีภารกิจด้านการเรียนและการช่วยเหลืองานที่บ้าน

“เวลาที่เราว่าง โทรไปติดต่อคนอื่นเพื่อขอข้อมูล ก็จะได้คำตอบประมาณว่า ‘วันนี้เขาไม่ว่างนะ’ ส่วนวันที่เขาว่าง พวกหนูก็ต้องไปเรียน เลยกลายเป็นว่ากว่าจะได้ข้อมูลมันยากลำบากมากเพราะว่าเวลาไม่ตรงกันนี่แหละค่ะ”นอกจากปัญหาเรื่องเวลาแล้ว ในการทำงานร่วมกันแม้แต่ละคนจะเป็นเยาวชนในพื้นที่เดียวกัน แต่ต่างคนก็ต่างที่มาต่างและความคิด แน่นอนว่าในกระบวนการทำงานย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้าง ก๊ะหรา เล่าให้ฟังในฐานะพี่เลี้ยงซึ่งเฝ้ามองและให้คำแนะนำในการทำงานของเยาวชนกลุ่มนี้มาตลอดว่า

“ปัญหาของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเป็นเด็กที่มีความเพียบพร้อม มั่นใจในตัวเอง บางคนเคยเป็นเด็กมีปัญหา แม้แต่ลูกของตัวเองก็มีปัญหา เพราะแต่ก่อนเราเลี้ยงแบบที่ไม่ค่อยให้เขาได้เจอโลกภายนอก อยู่แต่ในห้องไม่เคยทำอะไรกับเพื่อน เวลามาทำงานด้วยกัน ก็ต้องให้เด็กแชร์ความคิดในกลุ่มได้ เด็กต้องกล้าเปิดใจกับเรา”

ไม่เพียงเท่านี้ อีกหนึ่งปัญหาที่ทำเอาเด็ก ๆ เกือบถอดใจ คือการถูกตำหนิจากผู้ใหญ่ในชุมชนที่เห็นเด็กออกมารวมตัวกันตอนค่ำ ๆ บางคนถึงกับเอาไปพูดว่าพวกนี้กำลังหนีเที่ยว “คนในชุมชนไม่เข้าใจว่าพวกเรากำลังทำอะไรอยู่ ถึงจุดหนึ่งก็มีท้อค่ะ” นุชบอก ขณะที่ไหมเสริมว่า ช่วงนั้นแก้ปัญหาโดยหมุนเวียนไปทำงานที่บ้านของแต่ละคน แล้วก็ให้พ่อแม่ช่วยอธิบายคนในชุมชนอีกทีหนึ่ง

“ในความคิดของนุช การทำให้เขาเห็นสำคัญกว่าการพูดให้ฟัง ถ้าเราทำแล้วสำเร็จ มีค่ากว่าที่เราจะพูดว่าเราทำอันนี้อยู่นะ ใช้ความสำเร็จเล่าด้วยตัวของมันเองดีกว่า ช่วงนั้นที่คุณว่าเราแบบนี้ คุณอาจกำลังเข้าใจผิดอยู่หรือเปล่า เหมือนกับว่าเราก็ทำให้พ่อแม่เราภูมิใจไปด้วยในตัว”


สานสัมพันธ์ชุมชน ค้นหาตนเอง

หลังจากวางแผนการทำงานเรียบร้อย โดยเริ่มต้นจากการสอบถามคนใกล้ชิด จากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านนาพญาแล้วค่อยๆ ไปเก็บเพิ่มในหมู่บ้านอื่นซึ่งมีประวัติศาสตร์ในพื้นที่ร่วมกันตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ เช่น บ้านหลอมปืน บ้านโกตา บ้านทุ่งช่างเหล็ก และบ้านในเมือง แล้วค่อยนำข้อมูลที่ได้มาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน

“คนในพื้นที่บอกว่าบ้านหลอมปืนเคยเป็นที่ทำอาวุธสงครามของท่านพระยา ความเชื่อมโยงก็คือ ท่านพระยาไปทำอาวุธสงครามที่บ้านหลอมปืน แต่ว่ามาทำเสบียงทำนาข้าวอยู่ที่บ้านนาพระยา”

เยาวชนกลุ่มนี้บอกว่าพวกเขาเก็บข้อมูลทั้งที่เป็นประวัติความเป็นมา ตำนาน และความเชื่อต่างๆ ซึ่งหลังจากใช้เวลารวบรวมข้อมูลอยู่หลายเดือนก็ทำให้รู้สึกมั่นใจขึ้นเวลาที่จะบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนตนเองให้คนอื่นฟัง “พอเพื่อนถาม เราก็สามารถเล่าไปได้อย่างมั่นใจว่านี่แหละคือข้อมูลที่เราไปสืบค้นมาแล้ว เช่น ความเชื่อหนึ่งที่แหลมตันหยงกุโบร์ เขาจะเชื่อว่าใครที่มีบุญมากจะได้เห็นสุสานของพระยา เป็นปราสาทมีทอง มีคนหนึ่งเล่าว่าเขาเห็นทองก็ไปหยิบ แต่ไม่สามารถออกมาได้ จนกว่าเขาจะวางทองแล้วถึงได้กลับมา เขาก็มาเล่าให้ลูกหลานฟังต่อๆ มา นั่นคือความเชื่อ”

ทว่ามากไปกว่าข้อมูล สิ่งที่เด็กๆ กลุ่มนี้ได้รับจากกระบวนการทำงานร่วมกันก็คือ การได้ทำความรู้จักกับคนในชุมชน เกิดความรู้สึกผูกพัน และภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์เรื่องราวดีๆ ให้กับบ้านเกิดของตนเอง

“พอไปสอบถามว่าใครพอจะมีข้อมูลให้พวกเราไหม บ้านนี้บอกว่ามีแต่ว่าไม่มาก เขาก็จะบอกว่าลองไปถามคนโน้นดู เราก็ได้รู้จัก เหมือนกับว่าได้ผูกพันกับคนในชุมชนมากขึ้นด้วย เพราะเมื่อก่อนยังรู้จักไม่หมดเลยว่าคนนี้คือใคร ทั้งๆ ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน แต่พอเราไปสอบถามข้อมูลเราก็ได้รู้เยอะว่าคนนี้คือใคร บ้านอยู่ตรงนี้นะ”

จากเด็กธรรมดาๆ ที่อาจจะเคยผ่านการทำกิจกรรมมาบ้าง การร่วมแรงร่วมใจแก้ไขปัญหาฝ่าฟันอุปสรรค ได้เพาะบ่มให้พวกเขาเติบโตขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงความคิดและการแสดงออก รวมไปถึงการปรับตัวเพื่อให้การทำงานเป็นกลุ่มสามารถบรรลุผลที่ต้องการ

“นุชเคยเป็นคนที่ไม่พูดเลย เคยกลัวว่าถ้าพูดแล้วพลาดเพื่อนจะขำเราแน่นอน แต่พอได้ไปค่าย เราพยายามพูด สื่อสารความคิดในหัวออกมา เริ่มรู้ว่าเราจะวางตัวกับคนในกลุ่มยังไง วางตัวในสังคมยังไง การทำโครงการจึงได้ประสบการณ์ ได้มิตรภาพที่แน่นขึ้น มันเป็นความสุขจากการเข้าสังคม สอนให้นุชโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน”

สิ่งที่หลายคนเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนก็คือ การจัดระเบียบความคิด วางแผนและลำดับความสำคัญของการทำงาน ซึ่งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนี้ยังรวมไปถึงตัวพี่เลี้ยงอย่างก๊ะหราที่ก็ต้องปรับตัวไม่น้อยเช่นกัน

“ปกติเป็นคนที่ต้องเป๊ะกับทุกเรื่อง มักเข้าไปสอนเด็กๆ ว่าแบบนี้ไม่ได้นะ มีการโต้เถียงกันในบางเรื่อง แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าการที่เราเป๊ะเกินเด็กก็ทำไม่ได้สิ ต้องหย่อนให้บ้าง หลังๆ มาก็ปล่อยให้เด็กทำ แล้วค่อยมาสังเกตว่าเรื่องไหนที่เด็กแก้ปัญหาเองไม่ได้เราค่อยเข้าไปช่วย แต่ก็คิดก่อนนะ ไม่ใช่ไปถึงก็แก้ให้เลย มันไม่ได้” เมื่อทุกคนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน การทำงานก็เริ่มราบรื่น การเก็บข้อมูลได้ผลเป็นรูปธรรม ขณะที่ชาวบ้านเองก็มองเห็นความตั้งใจจริงของเยาวชนกลุ่มนี้ และกลายมาเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญ

“ตอนนี้ชุมชนเริ่มรู้จักเด็ก รู้จักชุมชนของตัวเองว่ามีอะไรดี ทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างทำงานเหมือนต่างคนต่างอยู่ เดี๋ยวนี้ถ้าเด็กทำอะไร ประชาสัมพันธ์ออกไปเขาก็จะมาร่วม เป็นเรื่องที่ดี” ก๊ะหรากล่าว


ผลิตสื่อสร้างสรรค์ สื่อสารสู่สังคม

ถึงวันนี้ข้อมูลทั้งจากคำบอกเล่าและการค้นคว้าเพื่อหาตอบถึงที่มาที่ไปของชุมชน ภายใต้โครงการศึกษาประวัติพญางอกเขี้ยวและพื้นที่แหลมตันหยงกุโบร์ ได้ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ เหลือเพียงจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อเผยแพร่ต่อไป ทว่าในความคิดของเยาวชนผู้ดำเนินโครงการ นอกจากจะทำเป็นหนังสือสำหรับผู้ใหญ่แล้ว พวกเขาตั้งใจจะถ่ายทอดออกมาเป็นการ์ตูนเพื่อใช้สื่อสารกับเด็กๆ ด้วย

“แรกเริ่มเลยเราคิดว่าจะทำเป็นหนังสือ แต่วัตถุประสงค์หลักของเราคือให้เยาวชนและคนในหมู่บ้านได้รู้ ข้อมูลนี้ด้วย ซึ่งเยาวชนอาจจะไม่ค่อยสนใจถ้าอยู่ในรูปแบบหนังสือ เลยคิดกันว่าเรามาทำเป็นหนังสือการ์ตูนดีกว่าไหม ทำเสร็จก็เอาไปให้น้องๆ ดู อาจจับกลุ่มแล้วเล่าให้ฟัง”

เพื่อทำให้โครงการเป็นจริง สิ่งที่พวกเขาต้องดำเนินการต่อคือหาคนวาดการ์ตูน และจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน “เราก็จะใช้สิ่งที่เราพอทำได้แล้วลงมือทำไปเลย แผนการต่อมาก็คือถ้าออกมาเป็นเล่มแล้ว บางครั้งเด็ก ๆ ดูตัวการ์ตูนเขาอาจจะยังไม่รู้เนื้อหา พวกเราก็จะจัดกิจกรรมไปอธิบายให้น้อง ๆ ที่โรงเรียนบ้านนาพญาฟัง เหมือนกับเปิดตัวการ์ตูนให้เด็กๆ ดูก่อน แล้วก็บอกว่านี่เป็นประวัติบ้านเรานะ แล้วก็เล่าให้เขาฟัง เสร็จแล้วจะวางหนังสือไว้ที่นั่น ให้เด็กเขาไปค้นหาต่อ”

กิจกรรมเล่านิทานนี้ นอกจากจะสร้างการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม พวกเขายังตั้งใจว่าจะชวนน้องๆ พัฒนาโรงเรียนของตัวเองด้วย ขณะที่อีกด้านหนึ่งสิ่งที่จะทำควบคู่กันไป เยาวชนกลุ่มนี้เรียกว่า ‘การคืนข้อมูลให้ชุมชน’

“พอเราได้ประวัติมาแบบนี้ เราจะเล่าให้คนในชุมชนฟังว่าทั้งหมดที่เราได้คืออะไร แล้วใครต้องการเสนออะไร ตรงไหนที่ผิดก็ให้เสนอแนะ” ถือเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการตรวจทานข้อมูลอีกครั้งหนึ่งและยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม นั่นหมายถึงการตระหนักในความเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ร่วมกัน

การได้มีโอกาสทำกิจกรรมของเยาวชนทุกคน แม้ไม่ราบรื่น ต้องเผชิญอุปสรรคอยู่บ้าง แต่นั่นคือสถานการณ์จริงที่สอนเขาได้ดีกว่าหนังสือเล่มไหนๆ และไม่มีใครที่จะบอกให้พวกเขารักชุมชนได้ดีเท่ากับพวกเขาได้มาศึกษา ทำให้รู้ และรัก ด้วยตัวเขาเอง


โครงการ : แนวทางการสร้างสื่อการเรียนรู้ประวัติบ้านนาพญา พญางอกเขี้ยว นาสี่บิงและแหลมตันหยงกุโบว์ ให้กับเยาวชน

พี่เลี้ยงโครงการ

  • ยูนีรา ชอบงาม 
  • ปาวีณา สานุรักษ์ 

ทีมงาน

  • อันซูรี ชาญน้ำ 
  • นุรอัยณีย์ ชาญน้ำ 
  • พัชรีภรณ์ ติ้งหวัง 
  • สุวัลยา ยาหยาหมัน 
  • ซอฟีย๊ะ ฉาดสัน
  • ชนนิกานต์ ชอบงาม