สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการเรือพลีส เรือเร็วแห่งสายน้ำ

โครงการเด่น : โครงการเรือพลีส เรือเร็วแห่งสายน้ำ

­

เรือพลีส เป็นเรือขนาดเล็ก นั่งได้ 2 คน ลักษณะเพียวลู่เล่นลมทำให้สามารถทำความเร็วได้ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหากติดเครื่องยนต์ มีลวดลายสวยงาม อยู่คู่สายน้ำและวิถีประมงพื้นบ้าน บ้านทุ่งกอ เป็นเครื่องมือทำมาหากินของคนในชุมชนมานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายยาย และเรือพลีสที่บ้านทุ่งกอถือว่ามีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากที่อื่นคือ ที่อื่นหัวเรือจะแหลมและเรียบซึ่งจะจมง่ายกว่า ส่วนของที่นี่หัวเรือจะมีความกว้างและโค้งมากกว่า

เยาวชนบ้านทุ่งกอ สมาชิกโครงการเรือพลีส เรือเร็วแห่งสายน้ำเป็นกลุ่มวัยรุ่นชาย ที่ชื่นชอบในความเร็ว แรง ท้าทาย และเป็นตัวของตัวเอง มักรวมตัวกันแต่งรถมอเตอร์ไซค์ แต่งท่อเสียงดัง ขับขี่มอเตอร์ไซค์ด้วยความเร็วในชุมชน จนทำให้เกิดความรำคาญต่อผู้คน ทำให้ภาพลักษณ์ติดลบเสมอมาทว่าเขาต้องการมีพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับและแสดงศักยภาพในทางที่ถูกที่ควร ด้วยความชอบเรือพลีส ผูกพันกับเรือพลีสมาตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นของเล่นวัยเด็กที่ครอบครัวทำให้เล่น พวกเขาจึงรวมตัวกันทำโครงการ เรียนรู้การต่อเรือจากผู้รู้เพื่อทำเป็นโมเดล โดยคาดหวังที่จะจำหน่ายเพื่อหารายได้ในอนาคต

ในการทำโครงการ มีที่เลี้ยงโครงการที่ทำงานเป็นทีม ประกอบด้วย จ๊ะจิ๋ม จ๊ะปุด พี่บอลและจ๊ะจันทร์ รวมพี่เลี้ยง 4 คน โดยช่วยกันสร้างการเรื่องรู้อย่างอิสระ ชวนคุย วางแผนกรอบการทำงาน โดยให้เยาวชนได้คิด ลงพื้นที่ หาข้อมูล สอบถามผู้รู้ในชุมชน แม้ในช่วงแรกจะได้รับการตั้งคำถามจากคนในชุมชนว่าเยาวชนกลุ่มนี้จะตั้งใจจริงไหม จริงจังหรือเปล่า แต่เยาวชนวัยรุ่นชายที่หลงรักเรือพลีสได้พิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเราสามารถอยู่กับสิ่งที่รักได้อย่างตั้งใจ ผู้ปกครองและคนในชุมชนได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของเยาวชน ด้วยเยาวชนยังไม่มีเรือจึงต้องขอความร่วมมือ คนในชุมชนสนับสนุนให้เรือพลีสสำรวจคลอง 6 – 7 ลำต่อการลงเก็บข้อมูล เยาวชนได้รับการยอมรับและทัศนคติที่คนในชุมชนมีต่อวัยรุ่นเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น

การทำโครงการถือเป็นการเปิดพื้นที่โดยคืนความรับผิดชอบให้กับเยาวชน ผู้ใหญ่วางใจ ไว้ใจ ให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพ เยาวชนได้คิดอิสระ เรียนรู้การทำเรือพลีสและทำเรือพลีสจำลองที่โดดเด่น ประณีต สวยงาม อีกทั้งยังคงเอกลักษณ์เรือพลีสแห่งบ้านทุ่งกอที่หัวเรือจะกว้างและโค้งมากกว่าที่อื่น นอกจากแกนนำแล้ว เมื่อทำโครงการไปได้สักระยะทำให้มีเยาวชนในชุมชนให้ความสนใจและเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากขึ้น แกนนำมีปัญหาเชิงพฤติกรรมน้อยลง แม้จะมีการแต่งรถแต่ก็เพียงเพื่อความสวยงาม มิใช่นำไปขับขี่สร้างความรำคาญใจเหมือนก่อน พวกเขาศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของชุมชน เห็นความสมบูรณ์ของคลองและทรัพยากรธรรมชาติ จึงรู้สึกรัก และหวงแหนธรรมชาติ เข้าใจท้องถิ่น และมีสำนึกของการอยู่ร่วมกัน

การทำเรือพลีสจำลองนั้นดูเหมือนง่าย แต่เมื่อได้ทำจริงสมาชิยอมรับว่าไม่ง่ายนัก ทำให้พวกเขาต้องมีสมาธิ จดจ่อ และเห็นคุณค่าของงานศิลปะหัตถกรรมที่หากมองเฉย ๆ จะคิดว่าไม่ยากนัก แต่เมื่อพวกเขาได้ลงมือทำก็เข้าใจลึกซึ้ง เคารพในภูมิปัญญา ซาบซึ้งถึงอาชีพที่มีคุณค่าของคนสมัยก่อน เข้าใจในความสำคัญทุก ๆ องค์ประกอบของเรือที่ได้ทำด้วยตัวเอง เป็นการทำงานที่ใช้สมาธิกล่อมเกลาพลังงานวัยรุ่นให้สงบ เยือกเย็นลง

สมาชิกโครงการเรือพลีสกว่า 10 คน ทำงานเป็นทีมอย่างกลมเกลียว ได้เข้าค่ายพัฒนาศักยภาพและศึกษาชุมชนอื่น ๆ ทำให้พวกเขากล้าแสดงออกมากขึ้น เห็นความแตกต่าง เห็นโลกภายนอกและกลับมาดูแลการ เติบโตโลกภายในของตัวเอง

วันนี้มุมมองของชุมชนที่เคยมองเยาวชนกลุ่มนี้เปลี่ยนไป เพราะเรือพลีส เรือทูตสันติภาพ (PEACE) ได้สร้างการเรียนรู้ เชื่อมร้อยหัวใจให้พวกเขาได้รัก เคารพ เห็นคุณค่าและศักยภาพของตัวเอง พวกเขาเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ด้วยการประดิษฐ์เรือพลีสจำลองจำหน่าย หาตลาดทางโลกออนไลน์ นำเรือพลีสจำลองติดมอเตอร์ให้สามารถบังคับเป็นของเล่นในอนาคต จิตสำนึกเกิดขึ้นด้วยผู้ใหญ่ที่มีความเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น วัยรุ่นเข้าใจและมีจิตสำนึกต่อชุมชนด้วยความเข้าใจชุมชน ภูมิปัญญาอย่างลึกซึ้งและได้ลงมือปฏิบัติจริง

ความโดดเด่น

  • เป็นตัวอย่าง PBL ที่ตั้งต้นที่การให้เยาวชนเลือกทำในสิ่งที่ชอบ แล้วนำสิ่งนั้นมาเป็นเครื่องมือให้เขาได้พัฒนาตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง ใช้พลังของวัยรุ่นไปในทางสร้างสรรค์ เปลี่ยนพฤติกรรมจากลบมาเป็นบวก โดยมีผู้ใหญ่ในชุมชนเป็นพี่เลี้ยง
  • เข้าใจความเป็นธรรมชาติของวัยรุ่น ใช้ศักยภาพ ความชื่นชอบที่ตรงกับความสนใจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม
  • พี่เลี้ยงโครงการฯ วางใจ ไม่ตัดสิน เชื่อมั่น ให้เวลาโดยการคืนความรับผิดชอบให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการทำงานทุกขั้นตอน อีกทั้งยังให้คำแนะนำ สนับสนุนแนวทางให้พวกเขาได้มีทิศทางในการทำงานอย่างมีแบบแผนจนเกิดเนื้องานที่ทำให้ภูมิใจ
  • การได้ลงมือทำงานประดิษฐ์เรือพลีสจำลอง ทำให้เกิดความท้าทาย สมาธิ เรียนรู้และแก้ไขปัญหาบนฐานการปฏิบัติงานจริง 

"โครงการเรือพลีส เรือเร็วแห่งสายน้ำ เข้าใจความเป็นธรรมชาติของวัยรุ่น ใช้ศักยภาพ ความชื่นชอบที่ชอบความเร็ว ความท้าทาย ที่ตรงกับความสนใจของช่วงวัย ให้พวกเขาได้เข้าใจชุมชน ทรัพยากร ภูมิปัญญา ติดตั้งมุมมองใหม่ที่เห็นและใส่ใจคนอื่น ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม"


โครงการเรือพลีส เรือเร็วแห่งสายน้ำ

ผู้ให้สัมภาษณ์

1. นางสาวภัสร์สวรรณ ศรีรัตนะ (จ๊ะจิ๋ม) อายุ 36 ปี   ตำแหน่ง: พี่เลี้ยงเยาวชน

2. นายอภิสิทธิ์ ยอมใหญ่ (บอย/แม็กโค) อายุ 22 ปี

3. นายอนิรุจน์ สัญยี (คิว) อายุ 17 ปี

4. นายสุธิพงศ์ ยอมใหญ่ (ปาล์ม) อายุ 17 ปี

5. นายร่อเฉด กาเส็มสะ (เฉด) อายุ 16 ปี

­

ถาม   ขอให้พวกเราแนะนำตัว

บอย   สวัสดีครับผมชื่อนายอภิสิทธิ์ ยอมใหญ่ ชื่อเล่น บอย อายุ 22 ปี ทำงานก่อสร้างอยู่ตอนนี้ ตำแหน่งสมาชิก

คิว   สวัสดีครับผมนายอนิรุจน์ สัญยี ชื่อเล่น คิว อายุ 17 ปี ตอนนี้ทำงานก่อสร้าง ตำแหน่งสมาชิก

ปาล์ม   สวัสดีครับผมนายสุธิพงศ์ ยอมใหญ่ ชื่อเล่น ปาล์ม อายุ 17 ปี กำลังศึกษาวิทยาลัยการอาชีพปะเหลียน ปวช. 2 ช่างยนต์ ตำแหน่งสมาชิก

จ๊ะจิ๋ม สวัสดีค่ะ ชื่อ ภัสร์วรรณ ศรีรัตนะ ชื่อเล่นจิ๋ม อายุ 36 ปี ทำงานอยู่โรงพยาบาลตรัง


ถาม  โครงการของเราชื่อว่าอะไร ศึกษาประเด็นเกี่ยวกับอะไร

บอย   ชื่อโครงการเรือพลีส เรือเร็วแห่งสายน้ำ ประเด็นคือทำเรือพลีสจำลองขึ้นมา


ถาม  ทำไมถึงสนใจทำประเด็นนี้ สำคัญอย่างไรกับตัวเรา

บอย   ที่ผมมาทำเรือพลีสเพราะว่าผมชอบ เรือพลีสมาก ในหมู่บ้านของผม เรือพลีสเป็นเครื่องมือทำมาหากิน

คิว   เมื่อก่อนเคยเป็นของเล่นของพวกเราด้วย และหายไปนาน อยากกลับมารื้อฟื้น เล่นใหม่กันต่อ เป็นเรือพลีสจำลองที่ทันสมัยกว่าเมื่อก่อน

จ๊ะจิ๋ม   ชีวิตประจำวันครอบครัวของเราอยู่กับเรือพลีสมาตลอด เขาเคยเล่นตั้งแต่สมัยเด็ก เขาก็ทำขนาดเล็ก ๆ เล่นกัน พอมีโครงการเขาก็ทำให้เป็นรูปลักษณ์ที่ชัดเจน มากขึ้น พัฒนารูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น


ถาม  เมื่อก่อนเคยเป็นของเล่น แล้วสูญหายไปหรืออย่างไร

บอย  พอโตขึ้นก็หันไปเล่นอย่างอื่น โทรศัพท์ เกม มอเตอร์ไซด์


ถาม  สมัยก่อน ถ้าเปรียบเทียบระหว่างเล่นเรือพลีสกับสมัยนี้ที่เขาเล่นเกมหรือโทรศัพท์ ความแตกต่างเป็นอย่างไร

บอย  ความต่างอยู่ที่ความสนุก คือ ในการเล่นเรือพลีส ออกแบบเองทำเอง เอามาเล่นเอง มีความสุขดี คนละแบบ เกมใช้ความคิดว่องไว ใช้สายตา ต่างกันมาก ผมชอบเรือมากกว่า เพราะว่าโตขึ้นมาก็เห็นเรือพลีสแล้ว เคยขี่อยู่ประจำ


ถาม  ประเด็นที่น้อง ๆ สนใจ เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในชุมชนอย่างไร อ่านจากเอกสารโครงการคือช่างที่รู้เรื่องเรือพลีสเหลืออยู่ 5 คน จะไม่มีคนสืบทอดหรือว่า เด็ก ๆ อยากพัฒนาให้เรือพลีสเป็นเครื่องมือทำมาหากิน สร้างรายได้ ขอให้เล่าประเด็นที่เด็ก ๆ สนใจเรือพลีสสอดคล้องกับสถานการณ์ของชุมชนอย่างไรบ้าง

จ๊ะจิ๋ม  เรือพลีสเป็นเครื่องมือหากิน ครอบครัวของพวกเขา ซึ่งเป็น 70% ของคนในชุมชน เป็นความคิดของเด็กที่เขาสนใจเรื่องนี้มากกว่าเรื่องอื่นเพราะว่า การใช้ชีวิตประจำวันของพวกเรา แต่ละวันก็คลุกคลีอยู่กับเรือ ตั้งแต่ก่อนทำโครงนี้ อาจเป็นความชอบทางศิลปะของพวกเรา เพราะว่าเขาต้องใช้ฝีมือ ความคิดในการพัฒนาตัวเรือ รูปทรง พวกลวดลาย


ถาม  เป็นความชอบ ความผูกพันที่เขาเติบโตมา กับเรือ

จ๊ะจิ๋ม ใช่ค่ะ


ถาม  เรือพลีสในชุมชนมี 40 ลำ เพียงพอไหมหรืออย่างไร

จ๊ะจิ๋ม  มีเยอะอยู่ระดับหนึ่ง แต่เป็นเรือที่ใช้หมุนเวียน เปลี่ยนเพื่อการทำใหม่ มีอายุการใช้งานอยู่ เรือที่ทำใหม่ก็จะมีการพัฒนามาเรื่อยๆ การใช้งานเรือพลีส คนติดต่อช่างที่ทำอยู่ประจำ เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน จากการสร้างเรือให้คนอื่นที่มาจากข้างนอก เป็นอาชีพของพวกเขา


ถาม  เริ่มจากเด็กสนใจ รู้สึกผูกพันเพราะอยู่ในชีวิตประจำวัน พูดได้ไหมว่าเรือพลีสเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้

จ๊ะจิ๋ม  ได้ค่ะ เป็นเครื่องมือได้อย่างดี


ถาม  บทบาทของน้อง ๆ ในโครงการ เด็กๆ ได้ทำเรือพลีสเกิดการเปลี่ยนอย่างไรกับชุมชน สิ่งที่ชุมชนมองพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาทำอยู่

จ๊ะจิ๋ม  มุมมองจากเดิมแตกต่างพอสมควร ก่อนเริ่มโครงการเด็กเขาก็เล่นใช้เวลาไปเรื่อยเปื่อย โดยไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน บางคนแว้นรถก่อกวนชาวบ้านในชุมชน ข้างนอกบ้าง ภาพติดลบ พอเด็กทำโครงการ เขาก็เริ่มรู้เรื่อย ๆ ว่าเด็กพวกนี้ทำงาน อะไรอยู่ในโครงการทำงานวิจัย คนมองภาพบวกเพิ่มขึ้น


ถาม  เสียงสะท้อนในชุมชน ผู้ใหญ่พูดถึงน้อง ๆ กลุ่มผู้ชายอย่างไรบ้าง

บอย  เขาพูดถึงผมที่ไปซิ่งรถ เขาบอกรำคาญ มีอีกหลายอย่างเป็นคำหยาบ ลึก ๆ ผมรู้สึกไม่ค่อยดีเหมือนกันที่มาขับรถ เสียงดัง


ถาม  พอมาทำโครงการนี้เสียงสะท้อนคนในชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง

บอย  ดีขึ้นมาก เมื่อก่อนเขาด่าว่า

คิว  มองเราดีขึ้นในอีกด้านหนึ่ง ที่มีกิจกรรมในชุมชนเยอะขึ้น ดีกว่าเราไปแว้นรถไร้สาระอยู่ ผมได้ยินหลายคนเวลาทำกิจกรรม มีหลายคนพูดติดลบ ผมไม่สะทกสะท้านอะไรเอาที่เขาสบายใจ แต่ผมก็พัฒนาตัวเองในการทำกิจกรรม


ถาม  ขอให้ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมมุมมองที่ชุมชนมีต่อน้อง ๆ

จ๊ะจิ๋ม  กลุ่มนี้เรื่องแว้นรถ ดึกดื่นก็ยังเสียงดัง แว้นกลางค่ำกลางคืน ชาวบ้านต้องทำมาหากินต้องตื่นดึกประมาณสาม-สี่ทุ่ม เสียงก็ดังมากกลายเป็นว่า เกิดความรำคาญมีการด่าตามหลัง ด้วยถ้อยคำสาบแช่งเริ่มมีเยอะขึ้น แต่ช่วงหลัง ๆ ได้หันมาทำโครงการนี้ จิตใต้สำนึกเด็กเริ่มมีมากขึ้น ลดตรงนั้นลง เขาก็มีมุมมองว่าเด็กพวกนี้เริ่มหันมาทำกิจกรรมที่มีประโยชน์เยอะขึ้นแล้ว เขาก็มองว่ากิจกรรมการแว้นรถ ไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อชุมชนหรือใครเลย ด่าลับหลัง บางคนสมัยก่อน มีขว้างไม้ตามหลังก็มี กลายเป็นว่าพอเด็กมีกิจกรรมใหม่ คนเริ่มชื่นชม จากทำตัวไร้สาระขับรถก่อกวนชาวบ้าน เริ่มมีกิจกรรมทำให้พวกเขาถูกมองด้วยภาพบวกเยอะขึ้นแล้วช่วงนี้


ถาม  สถานการณ์หรือกิจกรรมไหนที่โดดเด่นมาก สร้างการเปลี่ยนแปลงมุมมองชาวบ้าน คิดว่าเกิดขึ้นตอนไหน

จ๊ะจิ๋ม  เกิดขึ้นตอนที่เริ่มเดินทางไปทำกิจกรรมไปเข้าค่าย ชาวบ้านและผู้ปกครองถามว่าเด็กพวกนี้ไปไหนกัน ไปกันยกแก๊ง ไปเกือบยี่สิบคน ผู้ปกครองของสามคนนี้เป็นด่านแรกในการตอบคำถามเหล่านี้ ให้กับญาติพี่น้องว่าเด็กเหล่านี้ไปไหน เขาไปทำอะไร เป็นการพูดต่อไปเรื่อยๆ ภาพคือเด็กเหล่านี้ไปทำกิจกรรม เข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า กิจกรรมทำให้เด็กพัฒนาขึ้น คนชื่นชมหลายแง่มุม


ถาม  มีกิจกรรมที่เด็กได้ไปถามผู้รู้ นั่งต่อเรือ ที่ทำให้เขาเห็นว่า เด็กทำอะไรที่สร้างสรรค์

จ๊ะจิ๋ม  มีตอนแรกที่เด็กลงไปสัมภาษณ์ ผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ เขาไปเป็นทีม เขามีเทคนิค มีของฝากไปหาคนแก่ ๆ เขาก็มองว่าเด็กพวกนี้ทำเป็นเล่นเป็นการ์ตูนหรือเปล่า คนจะหัวเราะเขา ก็รู้ว่าเด็กมาในนามกิจกรรมที่เขาทำอยู่ เด็กบอกว่ามาทำกิจกรรมของโครงการนี้ ผู้ใหญ่ชื่นชม เหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อเขาลงพื้นที่ไปพบปะผู้ใหญ่ในชุมชน เขาก็มองดีขึ้น มีกระแสการชื่นชมตามมา เวลาไปไหน เขาก็รู้กันเป็นอัตโนมัติว่าเด็กไปทำกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์


ถาม  เด็ก ๆ เวลาที่ไปสืบหาข้อมูล ถามผู้รู้ในชุมชน มีคนไหนที่เคยด่าเราแล้ว พอเราเข้าไปแล้วเขาบอกว่าแก๊งนี้ดีทำประโยชน์กับชุมชน

ปาล์ม  เขาไม่ด่า เขาชื่นชมมากกว่า ว่าเป็นไปได้อย่างไร


ถาม  ตอนที่เราไปหาผู้รู้เขาว่าอย่างไรบ้าง เราไปถามอะไรบ้าง

คิว  ถามข้อมูลเกี่ยวกับการทำเรือ เขาก็ดีใจที่เราไม่ไปแว้นรถรบกวนเขาอีกแล้ว ให้ความร่วมมือดี ให้ข้อมูลเยอะ เขาพูดว่าพวกนี้เก่งนี่ กลับตัวได้แล้ว ตอนนั้นผมยิ้มเลยครับ

บอย  มีความตั้งใจสูง

ปาล์มใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์


ถาม  ตอนที่เด็กไปหาข้อมูล ความคิดของชาวบ้านเปลี่ยนไปเรื่อยๆ รู้ว่ากลุ่มนี้มาทำอะไร ค่อย ๆ เปลี่ยนมุมมองชาวบ้านที่มีต่อเด็ก ผู้ปกครองรู้สึกอย่างไร เขาสื่อสารกับพี่เลี้ยงอย่างไรบ้าง

จ๊ะจิ๋ม  ผู้ปกครองเขาไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานองเด็ก ๆ มีแต่สนับสนุน อย่างที่รู้กันว่าจากลบมาเป็นบวกได้เขาดีใจ พอมีกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กเขาจะปล่อย ไม่ติดใจว่าพาไปเถลไถลที่ไหน เพราะรู้ว่าเด็กไปทำกิจกรรมมีสาระ


ถาม  กลุ่มเป้าหมายที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง จากคำถามวิจัย อยากให้เยาวชนบ้านทุ่งกอสามารถผลิตเรือพลีส สร้างเรือพลีสจำลองได้ กลุ่มเป้าหมายที่เรามอง น้อง ๆ ในแกนนำหรือ น้องเยาวชนในหมู่บ้านด้วย

จ๊ะจิ๋ม  ไม่อยู่เฉพาะกลุ่มนี้กลุ่มเดียว เพราะว่าที่ผ่านมามีเด็กที่ได้ข่าว เริ่มถาม สนใจหลายคนสมัครเข้าร่วมโครงการด้วยทั้งผู้หญิงผู้ชาย แต่ตอนนี้กิจกรรมเราเพิ่งเริ่มนับหนึ่งใหม่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ได้ประสานงานต่อสำหรับตรงนี้ มีบางกลุ่มที่ขอเข้าร่วมกิจกรรม เข้ามาล่าสุด 2 คน เด็กผู้หญิงและผู้ชาย ส่วนผู้ใหญ่จะเข้าร่วมกิจกรรมตอนลงพื้นที่ ลงคลองพาไปดูการหากุ้ง การแล่นเรือพลีสจริง มีพี่น้องชาวบ้านลงไปช่วย เพราะการแล่นเรือทำเฉพาะเด็ก ๆ ไม่ได้ ต้องอาศัยผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งแล่นไปค่อนข้างไกล


ถาม  เด็ก ๆ เข้ามาร่วมโครงการได้อย่างไร เอาเด็กแว้นมาร่วมได้อย่างไร

จ๊ะจิ๋ม  พี่เลี้ยงบอลชวนเด็ก ๆ เพราะเด็กหลังจากกรีดยางหรือลงคลองแล้ว เขาจะอยู่บ้านเฉย ๆ เข้ามาตรงนี้ดีกว่า พอว่างเขาทำอย่างอื่น เราชวนเขามาทำกิจกรรม ก็ต่อยอดมาเรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้


ถาม  นอกจากมุมมองที่ชาวบ้านมองเด็ก ๆ ดีขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นกับชุมชนอีกบ้าง

จ๊ะจิ๋ม  เริ่มแรก ผู้ใหญ่บ้านเป็นทีมวัยเดียวกันกับพี่เลี้ยงเราก็จะแจ้งว่าเด็กเขามีกิจกรรมแบบนี้นะ กิจกรรมลงพื้นที่ลงคลองก็จะชวนผู้ใหญ่บ้านลงด้วย เขาก็โอเคกับเด็ก ๆ เพราะโครงการเป็นจุดหนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงกับเด็ก ๆ เมื่อมีกิจกรรมเขาจะดูแลช่วยเหลืออยู่ห่าง ๆ แต่เขาไม่มีเวลามาคลุกคลีกับพวกเราเยอะ เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่


ถาม  แสดงว่าสิ่งที่เด็ก ๆ ทำคือเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชนที่มีต่อเด็ก ๆ คนในชุมชนมีทัศนคติต่อเรือพลีสในมุมอื่น ๆ ไหม คนในชุมชนเห็น ผลว่าเด็กกลุ่มนี้จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ ในการสร้างรายได้ เป็นกลุ่มช่างรุ่นต่อไป

จ๊ะจิ๋ม  เคยมีผู้ปกครองเขาก็ถามว่า ทำอะไรอย่างไร ทำไมทำเรือพลีสจำลอง เกี่ยวกับโครงการนี้อย่างไร ประโยชน์ที่ทำมีอะไรบ้าง ได้อธิบายให้เขาฟัง เขาก็บอกว่าอย่างน้อยถ้าเด็ก ๆ ทำเรือพลีสจำลองได้ ขายได้จริง ทำให้เด็กมีรายได้ ดีกว่าเด็กไปติดยา ดูดบุหรี่ เด็กมีกิจกรรมทำในเวลาว่างระหว่างวัน


ถาม  เรามองว่าเป็นกิจกรรมยามว่าง เป็นห้องเรียนในชุมชนสอนเด็กทำเรือพลีส ยังไม่ได้มองว่าเด็กจะเป็นช่างเรือพลีสในอนาคต

จ๊ะจิ๋ม  ตรงนั้นเป็นเรื่องหลักอยู่แล้ว เด็กจะทำของเขาเอง เขาสามารถสอนเพื่อนในกลุ่ม บางคนไม่ได้สัมผัสการลงคลองหรือทำเรือพลีสจริง คนที่สอนอยู่ เป็นช่าง และเป็นคนนำทำกิจกรรมด้วย เขาเริ่มศึกษาต่อยอดกันไป ทำให้รู้ว่าการทำเรือพลีสทำอย่างไร เริ่มต้นจากประกอบอะไร เขาเริ่มรู้มากขึ้น


ถาม  พอน้อง ๆ มาทำกิจกรรมยามว่างที่เป็นประโยชน์ ยังมีเด็กที่ขับขี่รถเสียงดังรบกวนชาวบ้านอีกไหม

จ๊ะจิ๋ม  มีการขับขี่รถธรรมดา ไม่ไปเน้นหนักแบบการแว้นอีกแล้ว ใจของพวกเขาชอบแต่รถ อัพเกรดให้มีความเท่ห์ความแรง เขาจะประกวดในกลุ่มของเขาเอง มีการถ่ายรูปลง Facebook ของเขาเอง สวย ๆ งาม ๆ เกี่ยวกับรถแต่ง และเรือของพวกเขา จะเห็นอยู่เท่านี้ ไม่รถก็เรืออย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นบนหน้า Facebook


ถาม  เป็นการตบแต่งสวยงาม แต่ไม่ใช่ขี่รถเพื่อสร้างความรำคาญ รบกวนคนอื่นในชุมชน ปัญหานี้หายไปใช่ไหม

จ๊ะจิ๋ม  ปัญหานี้หายไป แต่อาจจะไม่ 100% เพราะรถเขาแต่งมาแล้ว เวลาที่เขาขับขี่ก็จะเสียงดังกว่าของชาวบ้านนิดนึง แต่เขาไม่มีเจตนาก่อกวนดังระดับที่เขาตกแต่งมาซึ่งก็จะดังกว่าของชาวบ้าน


ถาม  สิ่งที่เด็ก ๆ ทำโมเดล เรียนรู้เรื่องเรือพลีส และจะขยายต่อเป็นการส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมการท่องเที่ยว อาชีพประมง การทำโมเดลส่งออกขาย ผู้ใหญ่เห็นสิ่งนี้ ช่วยผลักดันหรือจุดประกายความคิดของคนในชุมชน อย่างไรบ้าง

จ๊ะจิ๋ม  ผู้ใหญ่บางคนเห็นก็เข้ามาแนะนำ วิธีการทำเรือให้เด็ก อะไรที่เขาสนับสนุนได้เขาก็ให้ มีญาติ คืออาที่เป็นช่างที่ชำนาญกว่า เวลาที่เด็กทำก็ให้เขาเข้ามาดู แนะนำว่าทำอย่างไรต่อ คนให้ความสนใจเพราะเคยเห็นเด็กลงใน Facebook


ถาม  เรื่องการแข่งขันเรือเป็นอย่างไรบ้าง

บอย  ผมไปเชียร์พี่ ๆ เพราะพี่ของผมแข่งเรืออยู่ ส่วนพวกผมยังไม่เคยแข่ง เพราะจะแข่งได้ต้องขี่เรือเป็นก่อน ต้องมีฝีมือด้วย


ถาม  พวกเรามองการทำเรือพลีสของเราว่าอย่างไร ตั้งใจอยากไปถึงไหน มองอนาคตไว้อย่างไร

คิว  ที่ผมมาทำเรือพลีสจำลอง อยากทำให้เรือพลีสจำลองเข้าไปอยู่ในกิจกรรมโอทอปนวัตวิถี ก็จะได้พวกผมด้วย ส่งออกไปขายหมู่บ้านอื่น

ปาล์ม  อยากให้เรือพลีสจำลองมีการแข่งขันภายในกลุ่ม ติดมอเตอร์ในเรือและจัดแข่งขันกันเอง แข่งขันเพื่อความสนุกสนาน ความมัน โชว์ฝีมือในการทำเรือ

คิว  ได้ชวนเพื่อนต่างชุมชนมาแข่งกันด้วย


ถาม  เป็นการสร้างสัมพันธ์กับเพื่อน คนต่างพื้นที่เป็นการโชว์ศักยภาพในการออกแบบการประดิษฐ์ ที่เข้ามาทำโครงการนี้ ทำเรือพลีสสร้างรายได้หรือแค่การประดิษฐ์

บอย  ผมมองว่าเรือพลีสจะสร้างรายได้ให้กับครอบครัวพวกเราได้ จะนำเรือพลีสลำเล็ก ๆ ไปขายในเพจของเราเอง สร้างเสริมรายได้ในชุมชนด้วย


ถาม  ชุมชนของเรามีอะไรที่เป็นสัญลักษณ์ว่า เรือพลีสแบบนี้เป็นเรือของหมู่บ้านเรา

บอย  มีครับ ทรงเรือแบบนี้จะเป็นของบ้านทุ่งกอ (มีตัวอย่างเรือพลีสจำลอง) ไม่เหมือนที่อื่น ที่อื่นหัวเรือจะ แหลมและเรียบ ส่วนของพวกเราหัวเรือจะมีความกว้างและโค้งมากกว่า ต่างที่รูปทรงแบบของที่อื่นจะจมง่ายกว่า เพราะเรือแบบนี้เล็กและต่ำกว่าเพราะทะเลบ้านเรามีคลื่นแรง


ถาม  รุ่นนี้ที่แตกต่างใครเป็นออกแบบ มีมาแต่ดั้งเดิมหรือคิดขึ้นมาใหม่

บอย  มีมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นตา เมื่อก่อนรูปทรงยังไม่เป็นแบบนี้เพราะเครื่องมือยังไม่ทันสมัย เมื่อก่อนทรงเรือจะคล้ายสี่เหลี่ยม มีคนดัดแปลงมาจนเป็นรูปทรงนี้ในปัจจุบัน ที่ไม่เหมือนคนอื่น วิ่งได้เร็วกว่าและไม่จมง่าย ความเร็ววิ่งได้ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


ถาม  ให้จ๊ะวิเคราะห์ว่าเรือพลีสสร้างการเรียนรู้ให้เยาวชนได้จริงไหม

จ๊ะจิ๋ม  เป็นไปได้จริง มุมมองของผู้ใหญ่อย่างที่บอก ความแตกต่างจากที่เป็นสมัยก่อนชัดเจน ถ้าเห็นการรวมตัว สมัยก่อนจะไปทางที่ลบ พอเริ่มมีกิจกรรมของพวกเขา ไม่ว่าเขาจะมาทำกิจกรรมที่นี่หรือบ้านของเขา ในเวลาว่างไม่ได้ทำเรือ พวกเขามีการไปสังสรรค์ นั่งกินปิ้งย่างหน้าบ้าน ภาพลักษณ์ที่ชุมชนมองก็เปลี่ยน ว่าเขาไม่ได้มั่วสุมไปในทางที่ไม่ดี อาจเป็นการนั่งคุยกิจกรรมของพวกเขา มุมมองต่างไปจากเดิม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีก่อน ประโยชน์กิจกรรมหลักตรงนี้สร้างประโยชน์ต่อเขาอยู่แล้ว ส่วนประโยชน์อื่น ๆ สำหรับในชุมชนที่นอกเหนือจากนี้ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร แต่การปรับเปลี่ยนของเด็ก ๆ ชาวบ้านมองไปอีกทางแล้ว จากลบเป็นบวก ถือว่าพัฒนามาพอสมควร

อย่างที่เด็กบอกอยากให้กลุ่มชุมชนบ้านอื่นมาร่วมกิจกรรมเรือพลีส ติดมอเตอร์แข่งขันกัน คือความตั้งใจของเด็กที่อยากให้เกิดขึ้นจริง เป็นงานที่น่าสนใจ ความสนุกในการแข่งขัน คุยเมื่อไรเขาอยากให้มีเมื่อนั้น เขาอยากให้เป็นไปได้


ถาม  นอกจากการประดิษฐ์ ที่เราได้เห็นภูมิปัญญาคนดั้งเดิมจนมีเรือเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรา คุณค่าของของเรือพลีสต่อชุมชนในมุมของเราเป็นอย่างไร หรือเรียนรู้อะไรจากเรือพลีสบ้าง

ปาล์ม  เป็นงานเสริมและสร้างรายได้ให้กับครอบครัว


ถาม  พวกเรามองเรือพลีสต่างจากเดิมจากตอนแรกที่มาทำโครงการนี้

บอย  ต่างจากเดิม แต่ก่อนมันเป็นความสามารถส่วนตัว

จ๊ะจิ๋ม  ตามความรู้สึกของเดิมที่เด็กเคยนั่ง เคยใช้ เขาก็เพียงได้นั่งไปกับพ่อแม่ พอได้มาทำเองสัมผัสทุกขั้นตอนที่ได้ทำเรือ คุณค่าอย่างหนึ่งต่อคุณค่าต่อจิตใจของพวกเขา เกิดความหวงในอาชีพ มีความรักในอาชีพและการพัฒนา เดิมไม่รู้ที่มาที่ไปของเรือ และเรือสำคัญอย่างไรบ้าง แค่นั่งไปเรื่อย ๆ พอเข้ากรอบโครงการเขาได้เห็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจของพวกเขา แรงบันดาลใจที่อยากทำตรงนี้ขึ้นมาอีก

บอย  ตอนที่ผมไปสอบถามชาวบ้านว่า เรือพลีสทำอย่างไร วิธีการทำ เขาบอกมาผมก็กลับมาทำ เดิมผมทำเป็นมาก่อน พอได้ฟังผู้รู้ รู้สึกมีคุณค่า ดูไม่ยากพอมาทำเองยากกว่า ตอนที่พวกผมดูแบบ ดูเขาทาสี ง่าย พอมาทำเองได้รู้ว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อก่อนตอนอยู่ประถมผมทำเรือพลีสแข่งระดับจังหวัดได้ที่สอง พอมาศึกษาข้อมูลเพิ่มมากขึ้น มันไม่ง่าย เมื่อก่อนทำแบบง่าย ๆ ทรงธรรมดา ตอนนี้ดัดแปลงเป็นรูปทรงใหม่ยากกว่า ในตอนที่เราดัดไม้ยากกว่า การสร้างมีความละเอียด กว่าจะได้เรือจำลองหนึ่งลำใช้เวลา 3 วัน เรือใหญ่ใช้เวลา 4 – 5 วัน ช่างเขามีฝีมือและทำอยู่ประจำ


ถาม  คุณค่าที่เจอคือขั้นตอนการทำ ว่ายากเพราะทุกขั้นตอนมีความละเอียดในการทำ

บอย  ครับ


ถาม  มีเรื่องราวที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าแล้วรู้สึกประทับใจไหม

บอย  เป็นคุณตาของผมเอง เขาเล่าความเป็นมาของเรือพลีสในยุคก่อน เมื่อก่อนมีคนสองคนที่นำเรือพลีสเข้ามาในหมู่บ้านของผม เขาได้ดัดแปลงเรือพลีสตามยุคมา เมื่อก่อนเรือพลีสทำยากเพราะเขายังไม่มีเครื่องมือมาก เขาใช้ขวาน มีด สมัยนี้มีเครื่องมือ เขามีความพยายามสูงที่ทำเรือพลีสขึ้นมา มีความอดทนมาก ผมรู้สึกว่าอยากทำเรือพลีสต่อเพราะไม่ง่ายอย่างที่คิด


ถาม  จากการเป็นพี่เลี้ยงมีปัจจัยเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้โครงการสำเร็จ ตอบตัวชี้วัดที่ประเมินไป

จ๊ะจิ๋ม  เริ่มแรกคือผู้ปกครองของบอยและปาล์ม เขาพาทั้งสองคนนี้ลงไปช่วยงานในคลอง เด็กก็ว่ายน้ำเป็น จากเด็กที่ทำงานไม่ได้ ขับเรือไม่เป็น เขาฝึกเด็กตั้งแต่อายุยังน้อย ความเคยชิน เขาก็มีความชำนาญในการว่ายน้ำในคลอง สามารถสู้วัดกับผู้ใหญ่ได้เลย เด็กมีความพิเศษสนุกสนานในการทดสอบเครื่องที่ใช้วิ่งในน้ำ ที่ใช้กับเรือจริง เขาก็คิดว่าเรือลำนั้นเสียงเป็นอย่างนี้อาจวิ่งเร็ว ลำนี้วิ่งช้าเขาต้องใช้เครื่องมอเตอร์ อย่างไร ได้ยินเขาคุยบ่อยมาก เขาเกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงดัดแปลงพวกนี้หลายอย่าง


ถาม  จ๊ะมองว่าผู้ปกครองเป็นปัจจัยความสำเร็จเพราะฝึกเด็กมาตั้งแต่เล็ก ๆ มีองค์ประกอบเป็นใครอีกบ้าง

จ๊ะจิ๋ม  ใช่ค่ะ มีตาอุเสน ยอมใหญ่ เป็นตาในสายสกุลของบอยและปาล์ม เขามีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้อยู่แล้ว ป้า น้า ที่เป็นผู้หญิงเขาทำงานในคลองได้หมดทั้งการขับเรือ แม้ไม่ผู้ชายเขาก็ทำได้ เด็ก ๆ คิดว่าขนาดผู้หญิงยังทำได้ ทั้งตาและป้า ๆ ช่วยเรื่องข้อมูล วิธีการ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับ การทำเรือของพวกเขา

กลุ่มเพื่อนรอบนอกของพวกเขาเอง สนับสนุนในทางอ้อม พอเขาแล้วเพื่อนเห็นด้วย เขาก็มีความมุ่งมั่น อดทนในการทำโครงการนี้ต่อ เพราะมีเรื่องจะไปคุย โม้กับเพื่อน ๆ ที่อยู่รอบนอก จนตอนนี้พวกเขาก็ทำไปเรื่อย ๆ จากที่เบื่อง่าย เขาก็มีพลังงานบางอย่างให้ทำต่อไปได้จนโครงการสำเร็จ

ตอนนี้มีรุ่นพี่ของพวกเขาหนึ่ง เขาอายุมากว่าเด็กกลุ่มนี้ 4 – 5 ปี ให้ความสนใจ เขากลับมาจากกรุงเทพฯ ย้ายมาอยู่ในหมู่บ้าน ก็ทักมาส่วนตัวว่า ตอนนี้จ๊ะจิ๋มทำกิจกรรมอะไร ทำไมถึงทำกิจกรรมอยู่ตลอด เราคุยกับเขาคุยว่าถ้าสนใจจะชวนมาเป็นพี่เลี้ยงของเด็กอีกคนหนึ่ง จะได้มาช่วยเหลือจ๊ะจิ๋มกับจ๊ะปุดด้วย เพราะบางครั้งไม่มีเวลา ส่วนเขาไปมาหาสู่เด็กกลุ่มนี้อยู่แล้ว ถ้าวันไหนเราไม่ว่าง จะให้เขาช่วยดูแลแทนเรา

เราทำกิจกรรมแต่ละรอบจะมีการโพสต์ลง Facebook จะมีผู้ใหญ่ต่างอำเภอสนใจ ก็จะทักมาว่าทำกิจกรรมอะไรกัน เขาอยากมีส่วนร่วมลงมาพื้นที่ด้วย ถ้ามีโอกาสเขาอยากมาร่วมด้วย มีกลุ่มผู้ใหญ่ต่างอำเภอในแวดวงที่รู้จัก วัย 40 -50 ปี ที่ให้ความสนใจ แต่เราหยุดช่วงโควิด-19 ยังไม่ได้พาใครมาลงชุมชน ที่หมู่บ้านเราก็มีที่จัดสนใจ เช่น หินรูปช้าง

ผู้ใหญ่บ้านภารกิจมาก เรามีอะไรก็จะแจ้ง เขาก็อำนวยความสะดวก เรื่องสถานที่ และเรื่องต่าง ๆ เวลาที่มีคนนอกเข้ามา หรือเด็ก ๆ ทำกิจกรรม เราให้เขารับรู้และเขาให้การดูแลเต็ม 100% แต่อาจไม่มีเวลาเต็มที่ลงกับเด็กทุกครั้ง โดยส่วนมากเขาช่วยเรื่องสถานที่เป็นหลัก เราเพราะเราทำกิจกรรมทุกอย่างอยู่ในศูนย์ประชุมของหมู่บ้าน


ถาม  ตอนที่ลงคลอง มีคนในหมู่บ้านเอาเรือไปช่วย เป็นอย่างไรบ้าง

จ๊ะจิ๋ม  ชาวบ้านช่วยทุกอย่าง เรือจริงลำใหญ่มาก เด็กไม่มีเรือเป็นของตัวเอง จึงต้องใช้เรือของพี่ ป้า น้า อา เขาสนับสนุนให้เรือ เพื่อลงพื้นที่ได้สะดวก 6 – 7 ลำ ต่อครั้ง เพราะ เรือ 1 ลำนั่งได้เพียง 2 คน ทุกกิจกรรมเขาสนับสนุนเป็นอย่างดี อำนวยความสะดวก เขาให้ใช้ทั้งเรือและออกแรงช่วย ให้คำแนะนำดูแลคนที่ลงเรือว่าต้องปฏิบัติอย่างไร


ถาม  ปัญหาอุปสรรคของการทำโครงการนี้

จ๊ะจิ๋ม  โครงการเราทำไประยะหนึ่ง หยุดไปช่วงหนึ่ง เด็กในกลุ่มทำงานส่วนตัวทุกคน บางครั้งนัดหมายเด็กอาจไม่ได้มาพบกัน กลายเป็นว่าต้องยกเลิกนัดหมายไปกลางคัน หากมีเวลาที่ตรงกันงานก็จะบรรลุเป้าหมาย และอาจได้ทำหัวข้อ 5.2 เรื่องการไปดูงาน การพัฒนางานฝีมือช่างต่อ

คิว  เรื่องการรวมตัว บางคนไม่ได้มา ติดธุระส่วนตัวทำงาน ผมกับพี่บอยถ้าจะมาทำได้ก็ต้องลางานก่อน ส่วนปาล์มก็มีเรียนบางวันช่วงนี้ หาเวลาว่างวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันศุกร์


ถาม  การเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของน้อง ๆ ในโครงการ เกิดการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้อะไรบ้าง

จ๊ะจิ๋ม  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เด็กมีวิธีการของเขาเอง การทำสื่อ ถ้าไม่ติดโควิด-19 เขาอยากทำเรือตรงนี้ให้เป็นรูปร่าง ได้โชว์ผลงาน เพื่อขาย สร้างแรงดึงดูดให้ คนที่สนใจซื้อเป็นของที่ระลึกหรือเป็นของที่ซื้อไปวางโชว์ที่บ้าน หรือเป็นของฝาก คือสิ่งที่คิดไว้ก่อนหยุดโควิด-19 แต่ละศึกษาเรื่องเพจไว้ ติดตรงที่การติดตั้งอุปกรณ์อัตโนมัติที่ใช้บังคับเรือ เขาอยากทดลองขาย ถ้ามีคนสนใจเขาก็จะทำขายสร้างรายได้

เฉด  สวัสดีครับ ผมชื่อร่อเฉด กาเส็มสะ ชื่อเล่นเฉด อายุ 16 ปี เรียนวิทยาลัยการอาชีพปะเหลียน แผนกช่างยนต์ ตำแหน่งในโครงการเป็นสมาชิก

จ๊ะจิ๋ม  สิ่งที่ชัดเจน น้องคนใหม่ที่เข้ามาเมื่อกี้ที่มีการเปลี่ยนแปลง เขาเข้ามาทีหลัง มีการเปลี่ยนแปลง ทดสอบให้เขาทำกิจกรรมด้วยการนำเสนอ คนนี้โดดเด่น เกินคาดเขาพัฒนาในตัวเอง ภาษาวิธีการ สุขุม บรรยายได้ดีมาก เขาเป็นแกนนำแว้นเก่งที่สุด โดนด่าโดนแช่งก็คือคนนี้ พอเข้ามาอยู่ตรงนี้เด็กมาร่วมโครงการนี้แล้ว กระแสตอบรับเขาจากชุมชนก็ไปในทางบวกขึ้น

ทั้งสามคนนี้มีความโดดเด่นในตัว เช่น บอยเขาเพิ่งเข้ามา เขาเป็นคนไม่ค่อยพูด พอเริ่มทำกิจกรรมรู้จักพี่เลี้ยงและคนอื่น ๆ เราต้องเบรกเขาไม่ให้พูด เขาเล่น สนุกเป็นคนอารมณ์ดี พูดได้เรื่อย ๆ คนนี้ปฏิภานไหวพริบสูง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี

คิว เขิน เริ่มเข้ากิจกรรมครั้งแรก ข้อมูลทุกอย่างดี เขาเป็นคนกล้าแสดงออก แต่ติดความขี้อาย น้องปาล์ม คนนี้มีความโดดเด่นคือ ความสุขุมรอบคอบ ไม่พูดก่อนแต่เก็บข้อมูลก่อน เมื่อก่อนไม่คุยเลย ถามคำตอบคำ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากไม่คุยไม่กล้าพูด แอบอยู่ข้างหลัง ตอนนี้กล้าแสดงออกมากขึ้น จากการสังเกต ช่วงหลังเขากล้านำเสนอ รับผิดชอบ

เฉด  การแสดงออก การพูดจา มั่นใจมากกว่าเดิม เมื่อก่อนไม่ค่อยพูดเงียบ ๆ มีคนถามก็หลบ เข้ามาสักพักพวกผมก็มีความมั่นใจตอบคำถามได้


ถาม  จุดเด่นของโครงการของเราคืออะไร

คิว  ทีมอื่นไม่มีเรื่องเรือพลีส ไม่เหมือนคนอื่น มีเสน่ห์ไปอีกแบบกับวัยรุ่น

บอย  ลวดลายของเรือพลีสเหมาะกับวัยพวกผม มีความเร็วและท้าทาย เป็นการประกอบอาชีพ

เฉด  สร้างรายได้ให้พวกผมได้ตลอด การชมปู พาเรือพวกเราออกไปทำมาหากิน สร้างรายได้ ออกประมง ใช้เรือของเราประกอบอาชีพ


ถาม  ถ้าเราประกอบเรือพลีสได้ ก็จะสร้างรายได้จากการทำประมง ประกอบเรือจำลองก็เอาไปขายได้ด้วย

จ๊ะจิ๋ม  เรือเป็นสิ่งที่คนในชุมชนใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นงานเสริมสร้างรายได้อาจเท่ารายได้หลักแต่ละวัน การหากินในคลอง เป็นงานที่ทิ้งไม่ได้เพราะทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไรก็ยังมีอยู่อย่างนั้น เราออกไปข้างนอกหารายได้อย่างไรก็สู้การทำงานอยู่ในชุมชนของตัวเองที่มีความสมบูรณ์ตรงนี้ไม่ได้ แต่ต้องใช้เรือเป็นและรู้จักน้ำ


ถาม  เราทำขนาดนี้ ความรู้สึกที่มีต่อชุมชนเปลี่ยนแปลงจากชุมชนไปจากเดิมไหม

บอย  เจอผู้ใหญ่ในชุมชนก็ไม่หนีแล้ว ทักทายพูดจาดี ความสัมพันธ์กับคนในชุมชนดีขึ้น


ถาม  รู้สึกว่าบ้านเราน่าอยู่ขึ้นไหม

บอย  น่าอยู่ อยากให้พี่ ๆ เข้ามาสัมผัสในหมู่บ้านของพวกผม ถ้ามีโอกาส จะพาไปขี่เรือไปหาสาหร่ายขนนก พาไปดูกุ้งเคย กุ้งกะปิ มีอีกหลายอย่างในคลองธรรมชาติ มีหินรูปช้างที่ท่องเที่ยวในหมู่บ้านของพวกผม


ถาม  โครงการเรือพลีสทำให้เราเห็นความเจ๋ง ที่เราเล่ามามากขึ้นไหม หรือไม่เกี่ยวกับโครงการเรือพลีส

บอย  เจ๋งขึ้น ตอนทำโครงการได้ชมธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบ ที่มากขึ้น


ถาม  มองเรื่องสำนึกพลเมืองเด็กมีมุมมองต่อบ้านของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

จ๊ะจิ๋ม  เปลี่ยนชัดเจน ก่อนทำโครงการเขาไม่ให้ความสำคัญหรือสนใจต่อสิ่งที่มีอยู่ในหมู่บ้านของเขาเอง พอหลังจากที่ได้ทำโครงการ เขาเริ่มทำโครงการความคิดของเขาก็เปลี่ยนไป ความคิดของเด็กเปลี่ยนเพราะว่า เด็กได้ไปสัมผัสจริงได้ไป เรียนรู้จริง เราเองได้ไปสัมผัสในจุดที่ไม่เคยลงไป เช่น ในคลองมีอะไรบ้าง เราไม่เคยรู้ อย่างบอยและปาล์มเขาไปประจำก็จะรู้ จิตใต้สำนึกหลังจากเราได้เรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างนี้ สิ่งที่มีอยู่กลายเป็นว่าจากเดิมกับตอนนี้คุณค่าต่างกันแล้ว เรากับเด็กอยากรักษาธรรมชาติของเราให้สมบูรณ์ที่สุด บางอย่างที่หายไปจะไม่กลับมาที่เดิมยากมาก เราต้องรักษาทรัพยากรที่เรามี สิ่งดี ๆ ที่เรามีอยู่ในชุมชนให้มีคงอยู่นานไปดีกว่า

บอย  เห็นด้วยอย่างยิ่ง


ถาม  หมดโครงการนี้ เราจะทำอะไรต่อไป

บอย  อยากสานต่อให้กับน้อง ๆ ให้เขาได้รู้ เพราะสำคัญในการประกอบอาชีพ

คิว  ปลูกฝังจิตสำนึกให้น้อง อยากพัฒนาฝีมือต่อเรือพลีสจำลองต่อไป เผื่อมีน้องมาถาม จะได้สานต่อ เพื่อให้คนอื่นมีโอกาส เหมือนพวกผม


ถาม  การมาทำโครงการนี้ ทำให้เราเกเรน้อยลงไหมอย่างไร

บอย  เกเรน้อยลง

เฉด  ตอนแรกอยู่แบบเกเรไม่สนใจพ่อแม่ เวลาที่สอน เข้ากิจกรรมไม่ค่อยเชื่อฟัง แต่เมื่อเข้ามาแล้วผมดีขึ้นมากกว่าเดิม เพราะได้คบเพื่อนที่ดี ลืมสิ่งเคยทำไม่ดีที่ผ่านมาด้วย

คิว  ผมแต่เดิม ใครพูดอะไรผมไม่สนใจเลย พอได้มาเจอเพื่อนต่างชุมชน ก็รู้สึกสนโลกหน่อยถ้าไม่สนจะไม่มีใครคบเลย ดีที่ได้รู้จักเพื่อน ๆ บ้าง เมื่อก่อนอยู่ไม่สนโลก ตอนนี้ดีขึ้นมีเพื่อนเยอะขึ้น

ปาล์ม  ตัวเองมีความเปลี่ยนแปลงทางการพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนผมไม่ชอบถือไมค์ ปัจจุบันก็ไม่ชอบแต่เพื่อนดันให้ผมถือคนเดียว ผมจำเป็นต้องถือ ปัจจุบันก็ทำได้แล้ว มีความกล้าเพิ่มขึ้น