Best Practice กลไกชุมชนที่สนับสนุนเยาวชนเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : ชุมชนบ้านมดตะนอย

          บ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน คนส่วนใหญ่เรียนจบชั้นประถมศึกษา มีการแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย คนในชุมชนส่วนใหญ่ขาดการวางแผนการออมเงินเพื่อเป็นเป้าหมายด้านการศึกษาให้กับบุตรหลาน รพ.สต.บ้านมดตะนอย ร่วมกับแกนนำ จิตอาสาบ้านมดตะนอยเริ่มทำงานจัดการขยะ ปี พ.ศ. 2557 เปลี่ยนชุมชนที่เต็มไปด้วยขยะ เป็นหมู่บ้านที่มีการจัดการเรื่องขยะ “หมู่บ้าน Zero Waste” ด้วยการเปิดโอกาส สร้างข้อตกลงกับชุมชน จนผ่านเกณฑ์หมู่บ้านปลอดการใช้โฟมบรรจุอาหาร ที่นี่เด็กเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง และผู้ใหญ่เห็นความสำคัญ สนับสนุนกิจกรรมของเด็ก ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงชุมชนบ้านมดตะนอย คือการทำให้ผู้ใหญ่เห็นผลกระทบถึงลูกหลานอันเป็นที่รักของพวกเขา

          โครงการโกงกางสานรัก และโครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย เกิดขึ้นจากต้นทุนของชุมชนมดตะนอยที่ดี ซึ่งเป็นชุมชนแห่งการอนุรักษ์ มีต้นทุนเรื่องการอนุรักษ์ป่าชายเลนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ด้วยหัวใจของคนในชุมชนที่มีความหวงแหนทรัพยากร มีการนำภูมิปัญญาของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าชายเลนและทะเล ทำให้ชาวบ้านสามารถฟื้นฟูผืนป่าโกงกางให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้งหลังจากถูกทำลายจากการสัมปทานไม้เพื่อนำมาเผาถ่าน ประกอบกับพื้นที่เกาะลิบงเป็นแหล่งกำเนิดของหอยชักตีนและหอยอีกหลายชนิด มีการอนุรักษ์พันธุ์ปูม้าโดยการจัดตั้ง “สถานีเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ” ของชุมชนบ้านมดตะนอยโดยการสนับสนุนจากภาคีต่างๆ ทั้งในและนอกชุมชน เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลปูม้า และสัตว์ทะเล รวมถึงพันธุ์พืชในป่าโกงกาง ร้อยละ 80 ของครัวเรือนทำอาชีพประมงพื้นบ้าน แต่คนรุ่นใหม่ไม่มีทักษะการทำประมง การผูกอวน การต่อเรือ โจทย์ของทั้ง 2โครงการจึงมุ่งให้เด็กกลับมาทบทวนเรื่องทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ความภาคภูมิใจที่พ่อแม่และบรรพบุรุษได้ดูแลและรักษาไว้ให้เป็นแหล่งอาหารของชุมชน

          ชุมชนมดตะนอยเริ่มจัดการตัวเอง โดยมีหลายภาคีที่มานั่งคุยกัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. ทีมผู้สูงอายุ ทีมนักวิจัย สก.สว.รุ่นใหญ่ ที่เคยศึกษาชุมชนบ้านมดตะนอย ซึ่งเป็นภาคีที่ทำทุกเรื่องของชุมชน มาทำงานร่วมกัน ใช้พื้นที่ รพ.สต. เป็นจุดรวมพล จุดเด่นของบ้านมดตะนอยเมื่อประสานงานผ่านหัวหน้าโซนแต่ละกลุ่มตามโซนพื้นที่ในหมู่บ้าน ซึ่งมีการจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มโซน จะมีการส่งตัวแทนที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องมาปรึกษาหารือร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วยกลไกหลักทั้งส่วนท้องที่และส่วนท้องถิ่น รพ.สต. ทำหน้าที่สนับสนุนใช้กระบวนการ “เชียร์ ชม เชื่อม” เป็นพี่เลี้ยงที่เชื่อมร้อยภาคีต่าง ๆ มาช่วยชุมชนให้เข้าใจตัวเอง จนสามารถจัดการปัญหาด้วยตัวเอง และพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด เน้นให้ทีมชุมชนได้ลงมือทำตามแผนที่วางไว้ และถอดบทเรียนการเรียนรู้จากปัญหาเพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการพัฒนาของชุมชน

        “ไม่มุ่งไปสู่ความสำเร็จ แต่ให้มุ่งการเรียนรู้” “ทุกอย่างคือองค์รวมเพื่อไปสู่สุขภาวะที่ดี” เพื่อตอบโจทย์ “พวกเขาจะมีสุขภาพที่แข็งแรง มีอาหารที่สมบูรณ์ได้อย่างไร” คือ ใจความสำคัญที่พี่เก้งและพี่หนึ่ง แห่ง รพ.สต.บ้านมดตะนอยใช้สร้างทีมชุมชนมดตะนอย โดยให้การเรียนรู้ของเด็กเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้จากเด็กทำให้เห็นภูมิหลังของชุมชนฐานคิด วิธีคิด วิธีดำเนินชีวิตของชุมชน ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ทั้ง ทรัพยากร สังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม

          หลังผ่านการทำโครงการ เด็ก ๆ มี ความสามารถในการแสดงออกและการสื่อสารดีขึ้น จากวันแรกแต่ละคนพูดไม่เป็น การได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนเยาวชนต่างถิ่น ทำให้เด็ก ๆ มีความสุขและสนุกมาก ปีที่ผ่านมาเป็นโครงการจุดประกายให้ได้เห็นความฝันของเด็ก เมื่อเด็ก ๆ ศึกษาชุมชนของตนเองเพิ่มมากขึ้น วิชาการได้เปิดมุมมองของคนในชุมชนเรื่องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เด็กได้พัฒนาตามวิถีชีวิตของตัวเอง มีทักษะเพิ่ม มีมุมมอง มีความสนใจ และกลับมาทบทวนตัวเองมากขึ้น การคืนข้อมูลของเด็ก ๆ ต่อชุมชนเรื่องการเจริญเติบโตและประโยชน์ของหอย ทำให้คนในชุมชนและผู้ใหญ่บ้านลุกขึ้นมาจริงจังกับการดูแลทรัพยากรมากขึ้น มีป้อมยามตรวจตราการจับหอยตัวเล็ก โครงการทั้ง 2 ของเด็ก ๆ ทำให้คนในชุมชนใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม หลายคนภูมิใจในชุมชนตัวเองอยากอนุรักษ์ชุมชนของตัวเองมากขึ้น

          พี่เลี้ยงและเด็ก ๆ ต่างกระตุ้นการทำงานซึ่งกันและกัน พี่เลี้ยงเป็นนักจดบันทึกมากขึ้น รู้จักรอคอย รู้จักตั้งคำถามกับเด็ก ๆ ไม่คาดหวังเกินไปว่าถ้าทำแล้วจะต้องเสร็จ แต่ตั้งคำถามใหม่ว่าถ้าทำเสร็จ เสร็จเพราะอะไร ถ้าทำไม่เสร็จเป็นเพราะอะไร และเขาสามารถประชุมหารือกับน้อง ๆ ในชุมชนได้เองโดยไม่ต้องมีพี่เลี้ยงอย่าง รพ.สต.

          ทีมทำงานรู้วิธีการออกแบบงานและการแก้ปัญหา โดยนำประสบการณ์ของพื้นที่มาบูรณาการ มีเครือข่ายต่างชุมชนที่เข้าถึงกัน “คนทะเลไปเที่ยวภูเขา คนภูเขามาเที่ยวทะเล” ผู้สูงอายุในชุมชนมีความภาคภูมิใจ เกิดความสุข มีรอยยิ้มเวลาที่เขาถ่ายทอดเรื่องราวให้แก่เด็ก

         กลไกชุมชนมดตะนอยกำลังสร้างกลุ่มแกนนำชุมชนสำหรับอนาคต อีก 10 ปี ข้างหน้า คนหมู่บ้านมดตะนอยจะมีผู้นำที่มีทักษะการปกป้องตัวเองจากภาวะต่าง ๆ ที่จะเข้ามา เชื่อว่าพวกเขาจะดูแลพื้นที่หมู่บ้านชายทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารของชุมชน เมื่อหมู่บ้านกำลังเข้าสู่การท่องเที่ยว การจัดการชุมชนไปสู่การท่องเที่ยวในลักษณะใดเป็นโจทย์ต่อไปที่ชุมชนจะต้องเป็นผู้ออกแบบด้วยตัวเอง รวมถึงการหนุนเสริมเพื่อให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพราะการศึกษาคือต้นทุนที่สำคัญในการพัฒนาตัวเองมากกว่าต้นทุนในเรื่องอื่น


ความโดดเด่น

  • ใช้กระบวนการชุมชนจัดการตนเอง จากฐานทุนทรัยพยากรที่สมบูรณ์ ความรู้ของชุมชนเรื่องการอนุรักษ์ ชุมชนมีจุดรวมใจ ให้ความสำคัญกับเด็กเยาวชน ภูมิปัญญาการอยู่ร่วมกับป่าและทะเล
  • มี รพ.สต. บ้านมดตะนอยสนับสนุนการพัฒนาด้วยกระบวนการ “เชียร์ ชม เชื่อม” ให้ชุมชนเป็นตัวของตัวเองและพึ่งตนเองได้
  • กลไกชุมชนมีแนวคิดเรื่ององค์รวมเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีสำหรับคนในชุมชน

­


ผู้ให้สัมภาษณ์

  1. นายสมโชค สกุลส่องบุญศิริ  นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ  ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านมดตะนอย
  2. นางหนึ่งหทัย สกุลส่องบุญศิริ (พี่หนึ่ง) อายุ 51 ปี  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ  รพ.สต.บ้านมดตะนอย

­

บทสัมภาษณ์

ถาม ขอให้ช่วยแนะนำตัว

พี่เก้ง สมโชค สกุลส่องบุญศิริ ชื่อเล่นเก้ง อายุ 51 ปี รับราชการในตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ เป็นผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านมดตะนอย ทำโครงการโกงกางสานรัก และโครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย ตำแหน่งที่ปรึกษาโครงการ

พี่หนึ่ง หนึ่งหทัย สกุลส่องบุญศิริ ชื่อเล่นหนึ่ง อายุ 51 ปี รับราชการในตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ทำตำแหน่งที่ปรึกษาโครงการ


ถาม แนวคิดในการพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นอย่างไร

พี่เก้ง บ้านมดตะนอยเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเล เป็นพื้นที่ที่เด็กและผู้ใหญ่ขาดโอกาสทางการศึกษา เด็กส่วนใหญ่เรียนจบแค่ชั้นประถมศึกษาและไปเรียนทางศาสนา กลับมาแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย โอกาสที่จะไปเห็นโลกภายนอกแทบจะไม่มี ส่วนใหญ่การดำรงชีวิตของเขาจะทำตามที่ผู้ใหญ่ทำต่อกันมา ไม่มีโอกาสที่จะเรียนรู้อย่างอื่น ปี พ.ศ.2557 ผมกับหนึ่งลงไปทำงานครั้งแรกที่หมู่บ้าน ตอนนั้นพื้นที่ชุมชนเต็มไปด้วยขยะ พอเราไปถามว่า “ทำไมถึงปล่อยให้ขยะเยอะแบบนี้” คนในชุมชนเล่าว่า “เวลาน้ำขึ้นครั้งหนึ่งจะพัดพาขยะมาที่ชุมชนของเขา เวลาที่น้ำลงจะพัดพาขยะลงไปในทะเล” พวกเขาไม่รู้จะเก็บทำไม ถ้าเก็บไปสุดท้ายขยะก็กลับมาอยู่ดี

พอเราให้โอกาสทำข้อตกลงพูดคุยกับคนในชุมชนจริงๆ ชุมชนที่นี่ถ้าเขารู้ว่า เขาทำไปเพื่ออะไร ผลที่ได้รับจะเป็นอย่างไร เขาจะร่วมมือร่วมใจกัน จนทุกวันนี้หมู่บ้านมดตะนอยเป็นหมู่บ้านที่มีการจัดการเรื่องขยะ ได้การรับรองจากกรมอนามัย สำนักงานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับเลือกเป็นหมู่บ้าน Zero Waste (แนวคิดขยะเหลือศูนย์) เราให้โอกาสในการพัฒนากับเขา เขารู้ว่าเมื่อเขาได้รับโอกาสนั้น ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนเป็นอย่างไร สังเกตว่าตอนที่เราทำโครงการจัดการขยะ

งานที่สำคัญมากคือหมู่บ้านปลอดโฟม ซึ่งเราผ่านเกณฑ์หมู่บ้านปลอดโฟมเป็นชุมชนแรก ใช้ระยะเวลา 6 เดือนในการทำ จนหมู่บ้านนี้ประกาศเป็นหมู่บ้านปลอดโฟมได้ ซึ่งเกิดจากเด็ก ๆ ในหมู่บ้านมดตะนอย ครั้งแรกที่เราตกลงว่าเราจะไม่ใช้โฟม เด็กยังไม่เข้าใจ เด็กคิดว่าการใช้โฟมเป็นเรื่องปกติ แม่ค้าในโรงเรียนซื้อถ้วยกระเบื้องมาให้ใช้แทนกล่องโฟม เด็กซื้ออาหารเช้ามาแล้วยังเอาถ้วยกระเบื้องนั้นไปทิ้งในถังขยะ ทำให้เห็นว่าเด็กไม่เข้าใจจริง ๆ พอเราได้อธิบายให้เขาเข้าใจว่า “การใช้โฟมมาใส่อาหารเป็นนั้นทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง มีผลต่อร่างกายของเขา” แม่ค้าในโรงเรียนเป็นห่วงเขา ไม่อยากให้เขาใช้ภาชนะแบบนี้ เราทำความเข้าใจกับเขาจนทำให้เขาเปลี่ยน ไม่ใช่แค่เปลี่ยนในหมู่บ้านมดตะนอย เวลาที่พวกเขาไปงานบุญในหมู่บ้านอื่น ๆ ซึ่งยังใช้กล่องโฟมอยู่ เช่น แม่ค้าขายยำ เด็กที่บ้านมดตะนอยเห็นจะเข้าไปถามแม่ค้าว่า “ร้านนี้มีภาชนะที่ไม่ใช่กล่องโฟมไหม” ถ้าแม่ค้าตอบไม่มี พวกเขาจะไม่กิน เขาจะบอกว่าที่หมู่บ้านของเขาไม่ใช้กล่องโฟมแล้ว กล่องโฟมทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง เขาเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าต่อในหมู่บ้าน จนทำให้คนในหมู่บ้านเกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราวิเคราะห์หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง เด็กเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน

การพัฒนาเด็กที่บ้านมดตะนอยจำเป็นต้องให้โอกาสในการเรียนรู้กับเด็ก ซึ่งพลังของเด็ก ๆ จะเปลี่ยนแปลงชุมชนของเขาในอนาคต ต้องขอบคุณโครงการนี้และสว.สก. ที่เลือกพื้นที่บ้านมดตะนอย

พี่หนึ่งครั้งแรกที่เราทำไม่ได้มุ่งเน้นประเด็นเด็ก เราจะทำเรื่องการดูแลชุมชนในภาพรวม พอเราทำมาได้สักระยะ คนในชุมชนบ้านมดตะนอยมีความรักต่อเด็ก อะไรก็ตามที่มีผลกระทบต่อเด็ก ๆ เขายอมเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นต้องให้เขารู้ว่า สิ่งที่มีผลกระทบต่อชุมชนนั้นจะกระทบถึงลูกหลานของพวกเขาด้วย

หนึ่งเรื่องขยะในชุมชน สองคือเราจะส่งเสริมให้เด็กในชุมชนมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง เราใช้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนโดยผ่านกระบวนการทำงานกับเด็ก เช่น เรื่องรักการอ่าน เรื่องการดูแลสุขภาพ การจัดการขยะ บางครั้งเราไปบอกผู้ใหญ่ให้ทำ เขาจะไม่ยอมเปลี่ยน เช่น ถ้าเราบอกเขาว่า ถ้าเขาทิ้งขยะไม่เป็นที่ เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรม สุดท้ายจะมีผลกระทบต่อลูกหลานของเขา ยุทธศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงชุมชนบ้านมดตะนอย คือ ทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่เห็นว่าปัญหานี้กระทบถึงลูกหลานของพวกเขา เพราะเด็ก ๆ เป็นคนที่เขารัก เมื่อไรก็ตามที่เราสร้างการเรียนรู้กับเด็ก และเด็กไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เราจะเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจนขึ้น

ในช่วงแรกที่ทำเกิดการต่อต้านจากคนในชุมชนบ้าง เขาเห็นว่าทำไมต้องใช้ลูกของเขาหรือต้องบอกให้ลูกเขาทำ เมื่อเราทำไปเขาจะเห็นผลว่า จากเด็กที่เคยดื้อเด็ก เคยติดมือถือติด ไม่มีสัมมาคารวะ พอเด็กเข้ากระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เด็กเปลี่ยนไป คนในชุมชนเห็นว่าเกิดประโยชน์ ช่วงหลังที่เราสร้างกระบวนการกับเด็ก เราต้องการเรียกพลังของเด็ก ๆ ผู้ใหญ่จะให้การสนับสนุน เมื่อก่อนถ้าเด็กไม่มาเข้าร่วมผู้ใหญ่จะเฉย ๆ ตอนหลังถ้าเด็กไม่มา ผู้ใหญ่จะกระตุ้นคอยบอกว่า “เขาเรียกรวมพลังกันแล้วนะ” ทำให้เด็ก ๆ มาเข้ากลุ่ม พอเรามาทำงานกับเด็กทำให้การขับเคลื่อนของชุมชนง่ายขึ้น เราต้องมองให้ออกว่าอะไรก็ตามที่ทำให้ชุมชนเกิดผลกระทบ กระทบอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร เราต้องหายุทธศาสตร์ให้เจอ


ถาม โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย โครงการโกงกางสานรัก สอดคล้องกับสถานการณ์ชุมชนอย่างไร ทำไมถึงทำ 2 โครงการนี้

พี่เก้ง  ชุมชนมดตะนอยเป็นชุมชนแห่ง การอนุรักษ์ตั้งแต่รุ่นก่อนหน้านี้ พอเราเข้ามาในพื้นที่หมู่บ้านมดตะนอย เห็นบ้านประกาศว่า “ห้ามใช้อุปกรณ์ในการทำประมงผิดประเภท ห้ามจับสัตว์ขนาดเล็ก ” ในชุมชนมดตะนอยมีธนาคารปูม้า ทำเรื่องการอนุรักษ์ป่าโกงกางป่าชายเลนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 แต่ก่อนเป็นหมู่บ้านที่มีเตาเผาถ่าน มีสัมปทานป่าไม้มาทำโรงเผาถ่าน รอบ ๆ หมู่บ้านที่เป็นป่าโกงกางถูกทำลาย หลังจากสัมปทานหยุดลง ชาวบ้านช่วยกันปลูกป่าชายเลน จนตอนนี้ป่าโกงกางของหมู่บ้านมดตะนอยมีความสมบูรณ์ เกิดจากฝีมือของชาวบ้านที่ร่วมกันอนุรักษ์

ที่นี่เป็นหมู่บ้านประมงพื้นบ้าน ร้อยละ 80 ของครัวเรือนทำอาชีพประมง เราสังเกตเห็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีทักษะในเรื่องทำประมง การผูกอวน การต่อเรือ เริ่มหายไป นอกจากปากโกงกางที่สมบูรณ์แล้ว เกาะลิบงเป็นแหล่งกำเนิดของหอยชักตีนและหอยอีกหลายชนิด เราชวนเด็กกลุ่มเล็ก ๆ ขึ้นมาทำอะไรเพื่อหมู่บ้าน เราจึงนำ 2 ประเด็นนี้มาคุยกับเด็ก ๆ เราเห็นว่าเด็กมีความใส่ใจกับสองเรื่องนี้ โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอยและโครงการโกงกางสานรัก

เด็กหลายคนไม่เห็นความสำคัญของป่าและหอยในชุมชน ว่าเป็นแหล่งอาหารและเป็นแหล่งป้องกันภัยของชุมชน เขามองเป็นเรื่องปกติ ผมรู้สึกว่าเขายังขาดความประทับใจ ความภาคภูมิใจที่มีต่อชุมชนของตัวเอง ไม่เห็นว่าชุมชมของตัวเองอุดมสมบูรณ์ขนาดนี้ เพราะฉะนั้นโจทย์คือ ให้เด็กกลับมาทบทวนเรื่องทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ความภาคภูมิใจที่พ่อแม่และบรรพบุรุษของเขาได้ดูแลชุมชนและรักษาไว้ให้เป็นแหล่งอาหารของชุมชน เราได้พูดคุยกับทีมพี่เลี้ยงและเด็กหาข้อตกลงร่วมกัน ว่าประเด็นที่เด็กสนใจมีเรื่องอะไร จนสรุปออกมาเป็น 2 เรื่องนี้

พี่หนึ่ง  เลือกสองประเด็นนี้ เพราะว่าเป็นของดีในชุมชนอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เขาเห็นความสำคัญของดีที่มีอยู่ในชุมชนและอนุรักษ์ไว้ต่อไป เช่น เรื่องป่าโกงกางที่ผู้ใหญ่รุ่นก่อนได้อนุรักษ์ไว้จนเป็นป่าที่สวยงาม ถ้าเด็กไม่เห็นความสำคัญต่อไปในอนาคตจะเกิดการตัดไม้และการทำลาย จนกลับไปสู่รูปแบบเดิมคือ การไม่เห็นคุณค่า เราจะทำอย่างไรให้เด็กได้เรียนรู้ว่าป่ามีประโยชน์กับเขา พอเราพาเขาไปเรียนรู้ เขาเริ่มเห็นว่าป่ามีประโยชน์ต่ออาชีพประมง ป่าโกงกางเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ มีผลต่ออาชีพของพ่อแม่และอาชีพของเขาในอนาคต

ส่วนโครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอยนั้น ที่บ้านมดตะนอยมีหอยหลากหลายชนิด มีผู้สูงอายุในชุมชนที่สามารถหาหอยแต่ละชนิดได้ ถ้าเราไม่มีภูมิปัญญาเรื่องนี้อาจจะหาหอยไม่ได้ เช่น วิธีดูตาหอย วิธีการขุด การสังเกตน้ำขึ้นน้ำลง ถ้าเด็กไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ เขาจะรู้แค่ว่าถึงเวลา เราก็ได้หอยมากิน จะไม่รู้ที่มาที่ไปของหอย วิธีการที่เราจะอนุรักษ์หอยเพื่อให้หอยมีอยู่ต่อไป หลังจากนั้นเด็กเริ่มเห็นความสำคัญและเริ่มศึกษา เราเห็นความรักที่เขามีต่อชุมชนมากขึ้น

ถามใครในชุมชนมีส่วนร่วมกับการตั้งข้อสังเกตประเด็นเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์หอยและอนุรักษ์ป่าโกงกาง

พี่หนึ่ง มีหลายภาคีที่มานั่งคุยกัน ผู้ใหญ่บ้าน พี่ ๆ อสม. ทีมผู้สูงอายุ ทีมนักวิจัย สก.สว.รุ่นใหญ่ ที่เคยทำงานเรื่องการศึกษาชุมชนบ้านมดตะนอย ตอนนั้นที่เราศึกษา เราเห็นว่ามีบางเรื่องที่ชุมชนบ้านมดตะนอยควรศึกษาต่อ บังเอิญมีโครงการนี้เข้ามา ทำให้น้อง ๆ เยาวชนได้สานต่อสิ่งที่กลุ่มผู้ใหญ่ทำ


ถามภาคีทั้งหมดที่ร่วมคุยกันเป็นภาคีที่ทำเกี่ยวกับทุกปัญหาที่เกิดในชุมชนไหม

พี่หนึ่ง เป็นภาคีที่ทำทุกเรื่องของชุมชน มีบางกลุ่มที่ไม่ได้ลงลึก เช่น ผู้สูงอายุซึ่งเป็นครูภูมิปัญญา ท่านไม่ได้มาร่วมคุย เราจึงไปหาท่านที่บ้านเพื่อขอข้อมูลความรู้เพิ่มเติม มีปราชญ์ชาวบ้านที่เคยทำเรื่องป่าโกงกาง เช่น บังเสือ ที่เขาเป็นคนเริ่มบุกเบิกปลูกและอนุรักษ์ป่าโกงกาง เป็นคนที่ให้ความรู้ข้อมูลกับเด็ก เล่าจากสมัยก่อนถึงปัจจุบันว่าป่าโกงกางในหมู่บ้านเป็นอย่างไร มีหลายคนที่ร่วมกันคิดและออกแบบ


ถามใครเป็นคนประสานงานรวบรวมภาคี

พี่หนึ่ง เราทำงานร่วมกัน เราใช้พื้นที่ รพ.สต. เป็นจุดรวมพล ในหมู่บ้านมดตะนอยไม่มีอาคารที่ประชุมของชุมชน ส่วนใหญ่เวลาที่ประชุมทำกิจกรรมจะใช้พื้นที่อาคารของ รพ.สต. ประสานผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อสม. เราพูดคุยกันทาง LINE หรือพูดคุยกันส่วนตัว จุดเด่นของบ้านมดตะนอยคือมีพื้นที่ติดกัน เมื่อเราประสานงานไปที่หัวหน้าโซนแต่ละกลุ่มตามโซนพื้นที่ในหมู่บ้าน หลังจากนั้นให้หัวหน้าโซนคัดเลือกคนที่เกี่ยวข้องในแต่ละหัวข้อมานั่งคุย อาจจะไม่ต้องมาทุกคน ให้มาตามหัวข้อที่คน ๆ นั้นเกี่ยวข้อง หลัก ๆ เป็นกลุ่มคนที่เราทำงานร่วมกัน กลุ่มผู้ใหญ่บ้านและกลุ่ม อสม. เป็นแกนนำหลัก มีสมาชิก อบต. ในพื้นที่ร่วมทำงานกับเรา มีรองนายก อบต. ในพื้นที่มาช่วยประสานงานกับอบต. ช่วยสั่งการในน้อง ๆ ที่ทำงานอบต. ลงมาช่วย

บริบทของชุมชนเกาะลิบงมี 8 หมู่บ้าน อยู่บนเกาะ 4 หมู่บ้าน อยู่บนฝั่ง 3 หมู่บ้านและแยกออกไปอีก 1 หมู่ ทำให้การดูแลของ อบต. ไม่ทั่วถึง ส่วนใหญ่เขาดูแลพื้นที่ที่อยู่ใกล้ ชุมชนบ้านมดตะนอยอยู่ไกลออกมา ทำให้เขามายาก เรามีรองนายก อบต. และสมาชิก อบต.ในพื้นที่ เวลาที่เราขาดเหลืออะไรท่านจะมาร่วมประชุม ร่วมออกแบบ และประสานงานเพื่อให้เราทำงานง่ายขึ้น

พี่ 2 คน ในฐานะเป็นที่ปรึกษาในพื้นที่ เราพยายามมองหาวิธีการทำอย่างไรให้ชุมชนเก่งได้ด้วยตัวเอง ตรงไหนที่เก่งแล้วสนับสนุนให้เขาเก่งมากขึ้น ตรงไหนที่เป็นจุดอ่อนเราต้องมาช่วยกันหาและเสริมทักษะตรงนี้ให้ เช่น เรื่องวิชาการ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เราเป็นคนประสานหน่วยงานหรือภาคีที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้กับเขา ส่วนไหนที่ชุมชนทำเองได้ เราเข้าไปเสริม ชื่นชมในสิ่งที่เขาทำสำเร็จ ค่อยเชียร์ในสิ่งที่เขายังทำไม่ได้ พยายามช่วยในสิ่งที่เขารู้สึกว่ายังยากอยู่ ใช้กระบวนการ ”เชียร์ ชม เชื่อม” เชื่อมภาคีมาช่วยให้คนในชุมชนเข้าใจตัวเองและชุมชนมากขึ้น สามารถจัดการปัญหาของชุมชนได้มากขึ้น เราไม่ทำให้ เพราะตัวเราไม่ได้อยู่กับชุมชนตลอด เราอาจจะต้องย้ายไปที่อื่น แต่ในขณะที่เรายังอยู่ที่นี่ เราต้องทำให้ชุมชนช่วยเหลือตัวเองได้พึ่งพาตัวเองได้โดยที่เรามีหน้าที่สนับสนุนให้เขาเก่งมากขึ้น

พี่เก้ง  ตั้งแต่เราทำงานมา หัวใจสำคัญของชุมชนนี้คือ เขาใส่ใจเรื่องเกี่ยวกับเด็ก และเรื่องสุขภาพ ตอนแรกที่เขาขาดโอกาส เราเป็นคนนำกระบวนการและให้เขาทำตามที่เราเสนอแนะ ช่วงหลังเราปล่อยให้เขาคิดเองทำเองมากขึ้น อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ล้มลุกคลุกคลานบ้าง ถือเป็นบทเรียนของทีมพี่เลี้ยงและทีมเด็ก หลังจากนั้นเราเอาปัญหามาคุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อะไรที่เราทำได้ดี อะไรที่ต้องพัฒนาต่อ บางครั้งต้องเข้มบางครั้งต้องปล่อย ในบางบทเรียนของชุมชน

ผมขอชื่นชมทีมประสานงานของ สก.สว. น้องนิด น้องแก้ว เขาติดตามผล ให้โจทย์เป็นการบ้าน ให้ทีมพี่เลี้ยงฝึกตั้งคำถาม พยายามดึงทีมพี่เลี้ยงไม่ให้มุ่งสู่ความสำเร็จ แต่ให้มุ่งไปที่การพัฒนาทักษะของเด็ก ฝึกให้เด็กทบทวนตัวเอง รู้จักค้นคว้าหาความรู้ การทำงานเป็นทีม ปีแรกที่เราทำอาจจะไม่เห็นผลชัด ปลูกฝังไปที่เด็ก ผมเห็นเด็กยิ้มทุกครั้งเวลาที่ทำกระบวนการ เห็นเด็กมีความสุข การนัดหมายอาจมาช้าบ้างแต่ก็มาร่วมกิจกรรมตลอด เวลาที่พวกเขาอดก็อดพร้อมกัน เวลากินก็กินพร้อมกัน ความสัมพันธ์ที่สามารถเดินต่อไปด้วยกันได้ ผมคิดว่าโครงการลักษณะนี้ ควรอยู่ในชุมชนที่ขาดโอกาสพัฒนาทางด้านความรู้ เด็ก ๆ จะได้มีทักษะ


ถาม ขอให้ช่วยขยายความประโยคที่ว่า “ไม่มุ่งไปสู่ความสำเร็จ แต่ให้มุ่งการเรียนรู้”

พี่หนึ่ง  คือไม่คาดหวังกับความสำเร็จมากเกินไป เพราะเมื่อไรก็ตามเราทำงาน ในระหว่างทางเราคาดหวังกับความสำเร็จ เราจะลืมมองว่าระหว่างทางมีความสุขของงานอยู่ มีความสำเร็จเล็ก ๆ อยู่ ไม่ใช่เรามองแต่เป้าหมายที่เป็นความสำเร็จอย่างเดียว บางงานคาดหวังว่าจะต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ จะทำให้ระหว่างทางเราเครียดกับเด็กมากจนเกินไป การทำงานกับเด็กจะต้องเริ่มที่ความสนุก เมื่อไรก็ตามที่เรามีความคาดหวัง ขาดความสนุกสนาน จะทำให้เด็กเบื่อแต่ถ้าเราชี้ให้เขาเห็นว่า ในระหว่างทางมีความสำเร็จเล็ก ๆ อยู่นะ ค่อยเป็นค่อยไป ความสำเร็จเล็ก ๆ ที่เราร่วมกันจะไปสู่ความสำเร็จที่เราตั้งเป้าหมายไว้ ถ้าเรามองเป้าหมายว่าต้องสำเร็จ เราจะคาดหวังให้เด็กต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ต้องทำให้ได้ สุดท้ายจะทำให้เด็กล้าและท้อ แต่ถ้าเราค่อย ๆ เก็บเกี่ยวความสุขระหว่างทาง พูดคุยกับเขา ชี้ให้เห็นว่าตรงไหนสำเร็จ ตรงไหนยังเป็นจุดบอดอยู่ ต้องแก้ไขแบบไหน จะทำให้เด็กเกิดพลัง ทุกคนจะเดินต่อไปได้ด้วยความสุขสู่เป้าหมายใหญ่ที่สำเร็จได้

พี่เก้ง  จังหวัดตรังมี 10 ชุมชนที่ทำโครงการนี้ ถ้าผู้ประสานงาน สก.สว. มุ่งความสำเร็จ 10 ชุมชนนี้จะพยายามทำงานให้สำเร็จ ซึ่งความสำเร็จอาจไม่ได้เกิดจากเด็กก็ได้ เพราะคนที่มุ่งความสำเร็จคือพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงแต่ละพื้นที่จะมุ่งให้งานเดินไปให้ได้ถึงเป้าหมาย เป็นลักษณะของการทำให้เด็กมากกว่าให้เด็กทำ โอกาสในการเรียนรู้ของเด็กจะเสียไป ในขณะเดียวกันถ้าโครงการไม่มุ่งสู่ความสำเร็จ แต่พยายามสร้างกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่ได้เกิดเฉพาะเด็ก แต่จะเกิดกับพี่เลี้ยงแต่ละชุมชนด้วย เพราะว่าพี่เลี้ยงถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในการพัฒนาตัวเองเหมือนกัน เด็กได้พัฒนา พี่เลี้ยงก็ต้องพัฒนาเดินควบคู่ไปกับเด็ก รวมถึงเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ทั้ง 2 คนนี้ ก็ได้รับการพัฒนาไปด้วย

การเรียนรู้จากเด็กทำให้เราเห็นภูมิหลังของชุมชนจริง ๆ เราจะเห็นฐานคิด วิธีคิด วิธีดำเนินชีวิตของชุมชนเป็นอย่างไร เพื่อไปสู่สุขภาวะที่ดี ไม่ใช่แค่เรื่องของทรัพยากร แต่ในมุมมองของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขบ้านมดตะนอยเรามองว่า ทุกอย่างคือองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สุดท้ายก็ต้องมาตอบโจทย์ที่ว่า พวกเขาจะมีสุขภาพที่แข็งแรง มีอาหารที่สมบูรณ์กินได้อย่างไร


ถาม ขอให้ยกตัวอย่างเหตุการณ์การเรียนรู้ภายใต้ความคิดที่ว่า “ไม่มุ่งไปสู่ความสำเร็จ แต่ให้มุ่งการเรียนรู้”

พี่หนึ่ง  เรื่องการนัดหมายเพื่อพูดคุย บางครั้งน้องเพิ่งกลับจากโรงเรียนตอน 5 โมงเย็น เรานัดหมาย 6โมงเย็น แต่น้อง ๆ เพิ่งกลับบ้าน บางทีเขาต้องแวะระหว่างทางแวะหาอะไรกิน ถ้าเราไม่มีความอดทนเพราะคิดว่าเค้าต้องมาให้ถึง 6 โมงเย็นตามที่นัดหมาย บางครั้งเราจะเกิดความเครียด เราต้องเข้าใจว่าเด็กกลับจากโรงเรียน เขาจะต้องกิน กว่าจะกินเสร็จแล้วเดินทางมาถึง เขาอาจอยากพักผ่อน เราต้องยืดหยุ่น เราต้องสื่อสารให้เขาเข้าใจว่า เวลานัดหมายคือ 6 โมง ชวนเขาคุยเพื่อให้เขาได้ทบทวนตัวเอง เล่าให้เราฟังว่าเขาไปทำอะไรกัน ฟังเหตุผลของเขาว่าทำไมถึงไม่มาตามเวลานัด ไม่ใช่พูดเชิงตำหนิแต่ให้เขาได้ทบทวนตัวเองว่าระหว่างทางเขาทำอะไรกว่าจะมาถึง ให้เขาคิดว่าครั้งต่อไปจะทำอย่างไร ถ้าต้องมาให้ทันเวลานัด 6 โมงเย็น เราจะไม่คาดหวังและตำหนิว่าทำไมถึงมาสาย เราต้องชี้ให้เขาเห็นว่ามาสายเพราะสาเหตุอะไร

บางครั้งตอนที่เราลงพื้นที่ไปหาหอย อากาศจะร้อน เด็กบางคนบ้านติดทะเลแต่ไม่เคยลงหาดหาหอย เขาอยากหยุดทั้งที่งานยังไม่เสร็จ เราต้องชวนเขาคุยว่าจะทำอย่างไร ชี้ให้เขาเห็นเป้าหมายว่าวันนี้เรามาทำอะไร เช่น เรามาเก็บข้อมูลของหอย หอยมีกี่ชนิด วิธีการเก็บหอย ตอนนี้ลูก ๆ ได้กี่ชนิดแล้ว เรามีเวลาเหลือเท่าไรถึงจะทำภารกิจให้สำเร็จ เราจะทำอย่างไร เปลี่ยนวิธีการจากการตำหนิ ว่าทำไมถึงทำไม่สำเร็จ มาเป็นวิธีการชวนเขาออกแบบเพื่อทำภารกิจ ต้องให้เขาคิดด้วยตัวเอง


ถาม หลังจากที่ได้ทำโครงการทั้ง 2 โครงการนี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรกับชุมชนบ้าง

พี่หนึ่งเราเห็นเด็ก ๆ วันที่ลงพื้นที่ป่าโกงกาง จากครั้งแรกที่เราไป เด็กแต่ละคนรู้สึกเฉย ๆ ไม่ค่อยสนใจ พอเขาได้ไปเข้าค่ายซ้ำอีกครั้ง น้อง ๆ ได้รับโจทย์หาข้อมูลเพื่อนำเสนองาน พวกเขาได้กลับเข้าไปในป่าอีกครั้งหนึ่ง เขามีความกระตือรือร้นที่จะเก็บข้อมูล เขาไปแบบมีเป้าหมายเพราะว่าเขาได้รับโจทย์มาจากตอนที่ไปห้วยยอด เขากลับมาวางแผนกัน ต้องทำชิ้นงานส่งต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับป่าโกงกางว่ามีกี่ชนิด เขาเริ่มมารวมกลุ่มค้นคว้าข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต ผู้รู้ในชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักทรัพยากรธรรมชาติ เขาเริ่มดูออกว่าโกงกางแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร เขาสังเกตเห็นหอยในป่าโกงกางจากเดิมที่ไม่เคยสังเกตเห็น เขาเก็บหอยมาเป็นตัวอย่างให้เพื่อน ๆ เพื่อถ่ายภาพเก็บไว้แล้วนำมาปล่อย พวกเขามีความกระตือรือร้นที่จะเก็บรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นเพราะว่าเขามีเป้าหมายที่จะต้องไปแลกเปลี่ยนพูดคุยกับเพื่อนต่างกลุ่ม

ส่วนโครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย เราเห็นว่าเด็กมีความสุขขึ้นจากเดิม ระหว่างที่เดินชายหาดเขาเริ่มสังเกตว่าหอยแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร หอยชนิดไหนมีตา วิธีการขุดหาหอย น้องบางคนที่พ่อแม่เป็นคนหาหอย เป็นคนแนะนำวิธีขุดให้กับเพื่อน เวลาที่เขาขุด เพื่อน ๆ คอยเชียร์ พอเจอหอย พวกเขาจะเฮกัน เขามีความสุขระหว่างทางที่เขาทำงานไม่ใช่แค่ความสำเร็จอย่างเดียว ความสำคัญคือพัฒนาการในการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย เขาต้องไปเรียนรู้ หาข้อมูลเพื่อมาตอบโจทย์กับพี่เลี้ยงเขาต้องหาวิธีการนำเสนอเพื่อเล่าให้พี่เลี้ยงจากส่วนกลางและเพื่อน ๆ ฟัง

พี่เก้ง  อีกอย่างที่ผมเห็น คือ ความสามารถในการแสดงออก การสื่อสารของเขาดีขึ้น จากวันแรกแต่ละคนพูดไม่เป็นเวลาที่แนะนำตัวเองยังไม่รู้ว่าจะเอามือวางตรงไหน พอผ่านกระบวนการให้ทุกคนได้เรียนรู้วิธีการนำเสนอผลงาน ทุกคนต้องนำเสนอ ผมเห็นว่าน้องบางคนที่ไม่ได้พูด มีโอกาสได้พูดมากขึ้น

อีกช่วงคือ ตอนที่แต่ละกลุ่มต้องลงพื้นที่เพื่อโชว์ของดีในแต่ละพื้นที่ มีเพื่อนต่างพื้นที่มาแลกเปลี่ยน เด็ก ๆ มีความสุขและสนุกมาก เด็กที่มาจากเขาไม่เคยลงทะเล เด็กบางคนไม่กล้าลงเรือ กลัวจนขาสั่น เด็ก ๆ ต่างคนต่างให้กำลังใจซึ่งกันและกัน พยายามโน้มน้าวจนเพื่อนกล้าลงเรือ

พี่หนึ่ง  ชื่นชมโครงการนี้ทั้งน้องนิดและน้องแก้วที่ออกแบบกระบวนการได้ดีมาก ส่วนกลางวางระบบไว้ดี การที่นำทีมพี่เลี้ยงและเด็กไปเข้าอบรมร่วมกัน ทำให้เราได้เรียนรู้และเกิดการพัฒนา เราจะรู้เท่ากันหมดทุกพื้นที่ ทั้ง 10 โครงการ เราเรียนรู้เหมือนกัน ถ้าเราต้องไปพื้นที่นี้ เราต้องเรียนรู้เรื่องอะไรร่วมกันบ้าง เวลาที่บ้านมดตะนอยทำโครงการ มีน้องจากต่างพื้นที่มาเรียนรู้ร่วมกันกับเรา วันนั้นมีน้องจากอำเภอห้วยยอดมา เขากลัวน้ำมาก ไม่เคยลงน้ำ ไม่กล้าลงเรือ จะขออยู่บนฝั่ง เพื่อนทุกคนให้กำลังใจกัน ตอนแรกน้องเป็นลมหน้ามืด พี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ บอกให้เขาหายใจลึก ๆ และมีพี่ ๆ พี่นิด พี่แก้ว พร้อมช่วยเขา เรารอน้อง ให้กำลังใจให้เขาได้ลองผิดลองถูกเรา เราไม่เร่งรัดให้เรือออกหรือคิดว่าเสียเวลา เราคิดแค่ว่าจะทำอย่างไรที่จะพาน้องคนนี้ไปกับเราให้ได้ เราพาเขาลงเรือและนั่งเรือต่อไปได้ ระกว่างนั่งเรือคอยจับมือเขา เพื่อนทุกคนให้กำลังใจเขาบอกว่า ไม่เป็นไร ให้มองไปข้างหน้า ชวนเขาดูป่าโกงกาง จนสุดท้าย เขาสามารถนั่งเรือไปดูป่าโกงกาง ไปหาหอย ไปเหยียบน้ำทะเลได้ เรามองเห็นความเข้มแข็งของน้อง ๆ ทีมเยาวชน เขาช่วยกันดูแลเพื่อน ๆ ของเขา วันนั้นพี่เลี้ยงมาจากหลายชุมชนก็ได้ช่วยเหลือกัน พอเรามาทำโครงการนี้ เรามีเครือข่ายที่เข้มแข็งขึ้น คนทะเลไปเที่ยวภูเขา คนภูเขามาเที่ยวทะเล

เราไม่ได้ศึกษาแค่เรื่องโกงกางกับเรื่องหอย แต่เราได้ศึกษาโครงการของเพื่อนด้วยเราได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เป็นประโยชน์กับทุกโครงการ เวลาประชุมพี่เลี้ยงในแต่ละพื้นที่มีความสนิทสนมกันและรักกัน ไม่ใช่แค่ทำโครงการ ตอนนี้ทั้งเด็กและพี่เลี้ยงต่างเป็นพี่เป็นน้องกัน พี่ขอชื่นชมพี่เลี้ยงส่วนกลาง ขอบคุณโครงการนี้และทีมส่วนกลาง พี่ว่าเขาวางระบบไว้ได้ดี ตั้งแต่ให้พี่เลี้ยงในโครงการไปเข้าร่วมอบรม ทำให้เราจะรู้ว่าเราต้องออกแบบงานอย่างไร วิธีการแก้ปัญหา ใช้ประสบการณ์ในพื้นที่มาบูรณาการ การติดตามของพี่เลี้ยงส่วนกลาง พี่นิดกับพี่แก้วติดตามต่อยอดงานตลอด ทำให้งานต่อเนื่อง ช่วงนี้มีโควิด-19 แต่เขายังคอยตามงานตลอด


ถาม การเปลี่ยนแปลงของเด็กส่งผลอย่างไรต่อชุมชนและคนทำงาน

พี่หนึ่ง  ชุมชนมดตะนอย บางครั้งพี่เลี้ยงเป็นคนกระตุ้นเด็ก และบางครั้งเด็กก็เป็นคนกระตุ้นพี่เลี้ยงด้วย เด็กไม่เข้าใจตรงไหนจะถามพี่เลี้ยง ถ้าพี่เลี้ยงไม่รู้พี่เลี้ยงจะต้องไปหาข้อมูลมาให้เด็กจากอินเตอร์เน็ต ประสานไปที่ผู้รู้ หรือ ถามจากพี่เลี้ยงส่วนกลาง เป็นการกระตุ้นให้พี่เลี้ยงมีพัฒนาการในตัวเอง เมื่อพี่เลี้ยงได้ข้อมูลมาจะถูกส่งต่อไปให้เด็ก เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็ก พี่เลี้ยง ทีมงาน

พี่ขอพูดถึง ความภาคภูมิใจเวลาเด็กไปหาข้อมูลกับผู้สูงอายุ เป็นการสร้างพื้นที่ให้ผู้สูงอายุที่มีภูมิปัญญาความรู้อยู่ในตัว เกิดความสุข มีรอยยิ้มเวลาที่เขาถ่ายทอดเรื่องราวให้แก่เด็ก เมื่อก่อนเขาอาจอยากถ่ายทอดเรื่องราว แต่คิดว่าไม่มีใครอยากฟัง

อีกสิ่งหนึ่งที่พี่เห็นการเปลี่ยนแปลง คือ เราเคยตั้งป้อมยามเพื่อตรวจสอบบุคคลภายนอกที่เข้ามาใช้ทรัพยากรในหมู่บ้าน แต่ก่อนชุมชนรู้สึกเฉย ๆไม่ค่อยใส่ใจกับเรื่องนี้ พอเด็ก ๆ มาทำโครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย เขาประชุมกับชุมชนถึงข้อมูลที่พวกเขาหามา เขาเห็นบุคคลภายนอกมาเก็บหอยตัวเล็ก ๆ ของเขา ไปหมด และ คนภายนอกไม่ได้ช่วยดูแลทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน เขาคืนข้อมูลเรื่องการเจริญเติบโตของหอย ประโยชน์ของหอยให้กับชุมชน ทำให้คนในชุมชน ผู้ใหญ่บ้านลุกขึ้นมาจริงจังกับเรื่องนี้มากขึ้น โครงการทั้ง 2 โครงการของเด็ก ๆ ทำให้คนในชุมชนดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตอนนี้เรามีป้อมยามที่ดักจับคนภายนอกที่จับหอยตัวเล็ก

คนในชุมชนและผู้นำชุมชนให้ความร่วมมือ ช่วยกันตักเตือนบุคคลภายนอกที่เข้ามาเอาทรัพยากรของชุมชนไป ที่สำคัญมีการตรวจจับทรัพยากรเหล่านี้ก่อนออกจากหมู่บ้าน นำหอยตัวเล็กมาอนุบาลไว้ที่ธนาคารปู แล้วนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ช่วยกันปลูกป่าชายเลน อนุรักษ์พันธ์ไม้มากขึ้น เด็ก ๆ เอาฝักต้นโกงกางมาเพาะพันธุ์


ถาม ขอให้เล่าถึงการรวมตัวของน้อง ๆ ในโครงการ

พี่หนึ่งเริ่มจากการเลือกพี่เลี้ยงโครงการก่อน หลังจากนั้นพี่เลี้ยงไปมองหาเด็กในชุมชนว่าคนไหนมีความพร้อมพอจะทำได้หรือบางคนไม่มีความพร้อมแต่สนใจเข้าร่วม เราให้โอกาสเด็กที่สนใจ มาร่วมสร้างการเรียนรู้และพัฒนาด้วยกัน พี่เลี้ยงเป็นคนในชุมชนอยู่แล้วจะเล็งเห็นว่าใครทำได้ใครทำไม่ได้ พี่เลี้ยงจะรู้จักเด็กในชุมชนเขาดี ไม่ใช่ว่าจะดึงใครมาก็ได้ แต่เราจะต้องมองก่อนว่าใครสามารถทำโครงการนี้ไปสู่ความสำเร็จได้ พี่เลี้ยงในชุมชนจะเป็นคนคัดเลือกเด็กมา


ถาม ปัจจัยที่เป็นต้นทุนในการสนับสนุนโครงการคืออะไร

พี่หนึ่งอันดับแรกคือทุนเรื่องทรัพยากร บ้านมดตะนอยมีต้นทุนทรัพยากรที่สมบูรณ์ ชายหาดที่สวยงาม ในชายหาดมีหอย ในทะเลมีปู ปลา กุ้ง มีป่าโกงกาง อันดับที่สอง ต้นทุนเรื่องการอนุรักษ์ เพราะว่าเมื่อก่อนชุมชนนี้ได้รับผลกระทบจากสึนามิ มีหน่วยงานภาคเอกชน เอ็นจีโอ เคยสร้างกระบวนการเรียนรู้กับพวกเขา ทำให้พวกเขามีใจอนุรักษ์ทรัพยากรในหมู่บ้าน อันดับที่สาม คือ ใจของคนในชุมชน พวกเขาอยู่กับทะเลมาตลอดและใช้ทรัพยากรเหล่านี้ เขารู้สึกหวงแหนทรัพยากรของพวกเขา อันดับที่สี่ คือภูมิปัญญาของคนที่นี่ ประสบการณ์เดิมที่เขาอยู่กับป่าโกงกางและทะเล เป็นทุนที่จะส่งต่อให้กับเด็ก ๆ ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ชัดเจนมากขึ้น

สิ่งสำคัญคือเป็นโอกาสของเด็ก ๆ ผู้ปกครองที่นี่เขารักเด็ก ๆ เด็กอยากได้อะไร เรียนรู้อะไร คนที่นี่จะดูแลให้โอกาส อยากไปหาข้อมูลในทะเล เขาจะพาเด็กไป เด็กอยากแสดงออก เขาจัดเวทีให้ ผู้ปกครองในชุมชนมีความรักให้กับเด็ก แกนนำ อสม. โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ช่วยสนับสนุนเวลาที่เด็กหรือคนในชุมชนอยากทำอะไร มีรองนายก อบต. คอยหนุนเสริมชุมชน รพ.สต.เป็นทุนอย่างหนึ่งที่ทำให้ชุมชนมีการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น เรามีเครือข่ายเป็นภาคีภาคเอกชน SCG ที่คอยสนับสนุนการอนุรักษ์ปลูกป่าโกงกาง อนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง หน่วยงานภาครัฐ ภาคีที่มาหนุนเสริมค่อนข้างเยอะ ต้นทุนที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้เก่งขึ้น คือ สิ่งแวดล้อมดี คนในชุมชนดี ภาคีในชุมชนที่สนับสนุนดี


ถาม  โครงการนี้ไปช่วยพัฒนาคนทำงานอย่างไร

พี่หนึ่ง  พัฒนาเรื่องวิชาการเพราะเมื่อก่อนนี้น้อง ๆ ไม่เคยหาข้อมูล ไม่เคยเรียนรู้ แต่พอเขาได้เรียนรู้กระบวนการนี้ ทางพี่เลี้ยงส่วนกลางได้สอนวิธีการค้นคว้าหาความรู้ ทำให้เขาต้องค้นคว้าเรื่องวิชาการมากขึ้น เขามีความรู้เพิ่มมากขึ้น เช่น ถ้าเขาทำเรื่องหอย เขาต้องไปหาความรู้จากใคร หอยชนิดนี้เกิดอย่างไร ก่อนหน้านี้ในชุมชนรู้แค่ว่ามีหอยตรงไหนบ้าง แต่ไม่รู้วิธีการดูแลรักษาให้หอยอยู่ต่อไปกับชุมชน หรือวิธีการอนุรักษ์ป่าโกงกาง เขารู้ว่าพื้นที่ป่าชายเลนเป็นพื้นที่อนุบาลลูกปู แต่ไม่รู้ถึงประโยชน์นอกเหนือกว่านั้น เมื่อเด็ก ๆ ไปศึกษาเพิ่มมากขึ้น วิชาการไปเปิดมุมมองของคนในชุมชนเรื่องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของเขา

พี่เก้ง ปีที่ผ่านมาเป็นโครงการจุดประกายให้ได้เห็นความฝันของเด็ก จากเดิมที่เห็นว่าทรัพยากรในชุมชนเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าเขาเห็นอยู่ทุกวัน ตอนนี้กลับมามองเห็นความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เด็กไม่คิดแค่ว่าหาหอยมาเป็นอาหารอย่างเดียว ตอนนี้มองว่าหอยมาทำเมนูอะไรได้บ้าง ผมเห็นว่าเด็กเริ่มคิดเรื่องเมนูหอย จากโจทย์ที่เขาได้รับมา การพัฒนาเด็กเป็นกุญแจสำคัญ เขาได้พัฒนาส่วนที่เป็นวิถีชีวิตของเขาและมีทักษะเพิ่มมากขึ้น มีมุมมองความสนใจมากขึ้น ทำให้เขากลับมาทบทวนตัวเองมากขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งคือ ทีมพี่เลี้ยง ทีมนี้เป็นทีมที่ทำตามคนรุ่นเก่ามา พวกเขาไม่มีทักษะการสอน แต่เขามีทักษะการทำ คือ ทำให้เด็ก วันนี้พอมาทำโครงการนี้ พวกเขาได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ของ สก.สว. เขาเกิดการเปลี่ยนแปลง เขาเป็นนักจดบันทึกมากขึ้น เขารู้จักคอยมากขึ้น รู้จักตั้งคำถามให้เด็ก ๆ มากขึ้นโดยที่เขาไม่ได้คาดหวังว่า ถ้าทำแล้วจะต้องเสร็จ เขาตั้งคำถามว่าถ้าเสร็จ เสร็จเพราะอะไร ถ้าไม่เสร็จ ไม่เสร็จเพราะอะไร ทักษะแบบนี้พี่เลี้ยงมีเพิ่มมากขึ้น ปีนี้จะออกมาสวยหรือไม่สวยไม่เป็นไร สิ่งที่ผมเห็นคือโครงการนี้เป็นตัวจุดประกายให้กับเด็กและพี่เลี้ยง ถ้าโครงการนี้มีครั้งต่อไป คนกลุ่มนี้มีทุนที่จะเดินต่อไปข้างหน้าได้ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญมากกว่า

ส่วนเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีผลกระทบต่อชุมชน หลายคนภูมิใจในชุมชนตัวเองมากขึ้นโดยเฉพาะผู้สูงอายุ หลายคนอยากอนุรักษ์ชุมชนของตัวเองมากขึ้น ส่งผลไปถึงการจัดการขยะของชุมชนด้วย ความสุขของคนบ้านมดตะนอยที่เราคุยกับเด็กก่อนหน้าที่จะมีโครงการนี้ เราถามเด็กว่า“มีความสุขกับเรื่องอะไร” ทุกคนตอบว่า “ได้กระโดดน้ำ ได้ตกปลา ได้ไปวิ่งเล่นชายหาด ได้ไปปลูกป่า ได้ไปเก็บขยะ” ผมว่าตรงนี้หนุนเสริมกันไปในเรื่องของการจัดการทรัพยากรชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของบ้านมดตะนอย ถูกปลูกฝังเข้าไปลึกในใจของพวกเขา ทำให้เขารักถิ่นฐาน เป็นจุดเริ่มในการจัดการชุมชนของเขาเองในอนาคตข้างหน้า

พี่หนึ่ง  เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของพี่เลี้ยง หลังจากที่เขาได้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้จาก สก.สว. พี่เลี้ยงเปลี่ยนวิธีการคิด จากเดิมที่ให้พี่หนึ่งกับพี่สมโชคบอกว่าเขาต้องทำอะไร เขาเปลี่ยนเป็นคนคิดเองว่าเขาอยากทำอะไรกับเด็ก เมื่อก่อนตอนที่ประชุมเขาให้เราบอก ตอนนี้เวลาประชุมไม่ต้องมีเราแล้ว เขาสามารถคุยกับน้อง ๆ ในชุมชนได้เอง เวลาที่พี่กลับมา พี่เห็นเขานั่งล้อมวงคุยกัน ที่สำคัญเขามีการวางแผน ทีมพี่เลี้ยง 4 คน มานั่งวางแผนว่าจะทำงานกับเด็ก ๆ อย่างไร เราเห็นความเปลี่ยนแปลงว่าเขาเก่งขึ้นอย่างชัดเจน


ถาม อยากพัฒนาศักยภาพของกลไกชุมชนอย่างไร

พี่หนึ่ง พี่ประทับใจกระบวนการที่ สก.สว. จัดขึ้น ทำให้เราเห็นการออกแบบอย่างเป็นระบบ วันที่น้องเชษฐ์และอาจารย์โจ้มาที่ห้วยยอดและบ้านมดตะนอย เราเห็นกระบวนการที่ไม่ใช่การสอน แต่เป็นกระบวนการที่ทำให้เราได้ออกแบบด้วยตัวเราเอง พี่อยากให้กระบวนการเหล่านี้ลงมาถึงชุมชน ให้ชุมชนได้เรียนรู้ พี่คิดว่าจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้ดีขึ้น ส่วนตัวที่เราทำอยู่เราทำไม่ได้ขนาดนี้ การได้งานออกมาจึงไม่เป็นกระบวนการ มีความสำเร็จแต่ไม่สามารถเขียนออกมาเป็นกระบวนการได้ ตัวเราชวนเขาคิดบนพื้นฐานของสิ่งที่เรารู้ แต่ไม่ใช่กระบวนการคิดอย่างที่น้องเชษฐ์และอาจารย์โจ้พาทำ เราเห็นว่ามันมีขั้นตอนในการทำ จะดึงคนในชุมชนที่สนใจบางส่วนไปเรียนรู้กระบวนการแบบนี้เพื่อไปทำต่อในชุมชน ทำให้การขับเคลื่อนกลไกในชุมชนชัดเจนมากยิ่งขึ้น เป็นรูปธรรมมากขึ้น

พี่เก้ง กระบวนการที่ทำเป็นตัวจุดประกาย จริงๆ แล้วเราไม่ควรรีบเปลี่ยนกระบวนการเยอะ แต่เราต้องสร้างความต่อเนื่อง ดูบันไดขั้นที่สอง ขั้นที่สามก่อนว่า กระบวนการที่เราวางไว้ ในระยะกลางหรือระยะยาวทำให้เด็กเปลี่ยนไปขนาดไหน วันนี้เราทำฐานจากศูนย์ขึ้นมาเป็นหนึ่ง ทำให้เด็กทบทวนตัวเอง ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง แต่นั่นคือเด็กกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในระบบการศึกษาและกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา แต่มีเด็กคนอื่นที่เขาสนใจอีก ถ้าเราดึงกระบวนการนี้มาสร้างฐานเด็กเพิ่มขึ้น แล้วค่อยกลับมาดูการเปลี่ยนแปลงของชุมชนตอนนั้น ถึงจะตอบได้ว่าเราควรจะเติมอะไรขึ้นมาอีก

ผมมองว่ามันเร็วไปถ้าจะตอบในปีที่หนึ่ง กระบวนการหนุนเสริม เพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนในกลุ่มได้โอกาสตรงนี้ผมว่าน่าจะทำต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 ปี และมีทีมคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของเด็กเรื่องการศึกษาของเขา เขาเรียนต่ออะไร วิธีคิดของเขาเป็นอย่างไร การจัดการแบบมีส่วนร่วม การพัฒนาชุมชน ตัวเขามีบทบาทอย่างไร

ผมคุยกับน้องนิดว่า เด็กบ้านมดตะนอยจะไปศึกษาต่อในระดับสูงน้อยมาก เด็กส่วนใหญ่ที่นี่ น่าจะจบแค่ ป.6 อย่างดีก็ไปเรียนศาสนาและกลับมาอยู่บ้าน การสร้างเด็กกลุ่มนี้ เหมือนเรากำลังสร้างกลุ่มแกนนำชุมชนในอนาคตอีก 10 ปี ข้างหน้า ผมมองว่าแกนนำที่ได้รับการพัฒนาในวันนี้ จะดูแลพื้นที่หมู่บ้านชุมชนชายทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชน เป็นแหล่งทรัพยากรของหมู่บ้าน น่าจะมีความเข้มแข็งในการปกป้องตัวเอง จากภาวะต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวที่มุ่งสู่การทำลายทรัพยากร ถ้าเขามีองค์ความรู้ มีทักษะในการสื่อสาร ทักษะในการค้นคว้าหาความรู้ ทักษะในการสร้างเครือข่าย พวกเขานั่นล่ะที่จะป้องกันชุมชนของเขาได้ในอนาคต ผมอยากเห็นความต่อเนื่อง


ถาม  มองทิศทางการพัฒนาชุมชนในอนาคตไว้อย่างไร

พี่เก้ง  ตอนนี้เราคุยทิศทางในอนาคตกับผู้ใหญ่ว่า อนาคตของชุมชนเราน่าจะไปสู่การท่องเที่ยว แต่เราจะจัดการชุมชนให้ไปสู่การท่องเที่ยวในลักษณะใด ชุมชนจะต้องเป็นคนออกแบบชุมชนเอง โดยที่เรามีจุดเด่น สภาพที่ดินทั้งหมดของหมู่บ้านมดตะนอยติดป่าชายเลน ไม่ใช่ที่ดินเอกสารสิทธิ นส.3 หรือโฉนดที่ดิน การเข้ามาของบุคคลภายนอกที่เข้ามาท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ยังไม่สามารถมีอภิสิทธิ์ 100% เพราะฉะนั้นการออกแบบชุมชนจะเป็นชุมชนอนุรักษ์เพื่อไปสู่การท่องเที่ยว โครงการหลัก ๆ ที่ทำในหมู่บ้านมดตะนอย คือเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โครงการจัดการขยะ โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โครงการส่งเสริมรักการอ่านในเด็กวัยแรกเกิด – 6 ปี ที่ได้รับการสนับสนุนจากSCG มธร. สสส.

พอเราได้โครงการของ สก.สว. เข้ามาในกลุ่มของเด็กเยาวชน เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางรากฐานอีก 10 ปีข้างหน้า คนหมู่บ้านมดตะนอยจะมีผู้นำ ที่มีทักษะในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน


ถาม  ปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่เจอมีอะไรบ้าง

พี่หนึ่ง  ข้อจำกัดของกลุ่มน้อง ๆ คือ เรื่องของเวลา ส่วนใหญ่น้องที่เราเลือกเป็นนักเรียนที่อยู่ในระบบ ต้องใช้เวลาหลังเลิกเรียน แต่ไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรคอะไร เมื่อก่อนนัดน้อง ๆ หลังเลิกเรียนประมาณ 6 โมงเย็น ตอนหลังนัดวันศุกร์ เวลา 2 ทุ่มหลังจากที่น้องทานข้าวเย็นเพื่อคุยกัน หรือนัดกันวันหยุดเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้

พี่เก้ง  ปัญหาหลักตอนนี้ คือ คนในชุมชนขาดโอกาสในการเรียนรู้ สิ่งที่ชุมชนเห็นในสื่อสาธารณะต่างๆเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เราเห็นว่าพ่อแม่ไม่รู้เท่าทันเรื่องของเทคโนโลยี จากการที่พ่อแม่ชื่นชมว่าเด็ก ๆ เล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเด็กฉลาด พ่อแม่ไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองหยุดเล่นมือถือต่อหน้าเด็ก ๆ ได้ เราปฏิเสธเทคโนโลยีพวกนี้ที่เข้ามาใกล้ตัวเด็กไม่ได้ และไม่มีการควบคุมเรื่องของเวลาในการใช้มือถือ ถ้าพ่อแม่ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม จะทำให้เด็กค่อย ๆ ลดการใช้มือถือได้มากขึ้น

เรื่องที่สองคือ ครอบครัวที่นี่ไม่ได้วางแผนเรื่องการศึกษาในอนาคตให้กับเด็ก ต่อให้เด็กมีความพร้อมในเรื่องของการศึกษามากเท่าไร แต่พ่อแม่ไม่พร้อมในการส่งให้เรียน การออมเงินเพื่อเป้าหมายทางด้านการศึกษาของลูกที่นี่ยังขาดอยู่ สิ่งที่เราทำได้วันนี้คือการเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน เปลี่ยนมุมมองของคนในชุมชนมาสู่การจัดการตัวเอง เรื่องของการออมเพื่อการศึกษามันต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนในปัจจุบัน เปลี่ยนวิธีคิดในการครอบครัว เขายังมีความสุข ความพึงพอใจที่หมู่บ้านมดตะนอยมีความอุดมสมบูรณ์ คนที่อยู่ในหมู่บ้านไม่จำเป็นต้องเรียนสูงก็ได้ จึงทำให้เปลี่ยนวิธีการออมเงินเพื่อไปสู่การศึกษาไม่ได้

เด็กในรุ่นปัจจุบันจำเป็นจะต้องเรียนรู้ทักษะชีวิตมากกว่าการมุ่งสู่การศึกษาที่สูงขึ้น ผมคิดว่าเด็กรุ่นต่อไปที่ผ่านกระบวนการรักการอ่าน พ่อแม่มีความสัมพันธ์กับเด็กมากขึ้น พ่อแม่จะเห็นโอกาสในการพัฒนาด้านการศึกษามากขึ้น เรายังมองว่า ที่รพ.สต.เชียร์ให้พ่อแม่อ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง จะการเปลี่ยนแปลงให้กับเด็กในอนาคต ผมอยากเห็นหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ มาหนุนเสริมเพื่อให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพราะเรื่องนี้คือต้นทุนที่สำคัญในการพัฒนาตัวเองมากกว่าต้นทุนในเรื่องอื่น


ถาม รพ.สต.บ้านมดตะนอยมีเจ้าหน้าที่กี่คน

พี่หนึ่ง  พี่สมโชคเป็นนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ เป็นผู้อำนวยการ รพ.สต. พี่หนึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ รพ.สต. มีน้องที่ทำงานด้านสาธารณสุขอีกหนึ่งขึ้นซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของน้อง ๆ ด้วย น้องอีกคนเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการเป็นพี่เลี้ยงของชุมชน เขาเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่นี่ และมีน้องผู้ช่วยอีกหนึ่งคน รวมทั้งหมดมี 5 คน พวกเราทำงานร่วมกันเวลาที่พี่ออกพื้นที่ดูแลคนไข้ จะมีน้องที่ช่วยดูแลแทน