สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการ ควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง

โครงการ ควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง


ผู้ให้สัมภาษณ์

  1. นางสาวอรวรรณ นิตมา (ตะวัน) อายุ 33 ปี   ตำแหน่ง: พี่เลี้ยงเยาวชน
  2. เด็กหญิงพรรธิภา เยาว์ดำ (น้ำฝน) อายุ 15 ปี  ตำแหน่ง: รองหัวหน้าโครงการ

­


          ควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ควนประวัติศาสตร์ มากมายด้วยเรื่องเล่า ตำนาน ความเชื่อของชาวบ้าน เป็นแหล่งดินที่มีการนำไปทำจตุคามและเครื่องรางของขลังเพื่อบูชา เด็กและเยาวชนจึงสนใจอยากสืบค้น และหาข้อมูลควนดินดำอย่างรอบด้าน

          โครงการควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก จึงจัดกิจกรรมพาแกนนำเยาวชน เยาวชนกลุ่มเสี่ยงและครอบครัวกว่า 50 คน เดินป่าสำรวจควนดินดำ โดยประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เพื่อนำทาง เด็กและเยาวชนได้พบความสมบูรณ์ของป่า เห็นต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก เป็นแหล่งต้นน้ำและต้นกำเนิดสายน้ำหลักไหลลงไปสู่หมู่บ้านให้ได้อุปโภค บริโภค จากนั้นไหลเลาะลงสู่ทะเล ในแง่ประวัติศาสตร์ควนดินดำเคยเป็นที่ตั้งของค่ายคอมมิวนิสต์ เขตพื้นที่ต่อสู้ของสามจังหวัดได้แก่ พัทลุง ตรัง สตูล ยังมีร่องรอยของประวัติศาสตร์หลงเหลือโดยการเล่าของผู้สูงอายุในชุมชน การเดินป่าสร้างความประทับใจ ทำให้เด็ก ๆ สนใจอยากรู้และอยากร่วมดูแลผืนป่า เห็นคุณค่าของป่าต้นน้ำที่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ จึงวางแผนงานด้านอนุรักษ์ และสืบค้นพันธุ์ต้นไม้ ทำป้ายบอกชื่อต้นไม้ ควบคู่กับสอบถามผู้รู้เกี่ยวกับตำนานความเชื่อ

           โครงการทำงานบูรณาการโดยประสานความร่วมมือหลายฝ่ายเพื่ออำนวยการการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้ค้นหาความหมายของควนดินดำ โดยมีกำนันและผู้นำชุมชน สาธารณสุขอำเภอ นายอำเภอ เตรียมความพร้อมและดูแลเรื่องความปลอดภัย ในช่วงโรคระบาดโควิด 19 และอสม.ประจำหมู่บ้านมาช่วยอำนวยการวัดไข้และแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องก่อนเดินป่า เจ้าหน้าที่ป่าต้นน้ำแม่น้ำตรัง ให้ความรู้เกี่ยวกับป่าต้นน้ำ น้ำ ดิน ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ นัดเด็ก ๆ ให้ไปศึกษาที่สำนักงาน ให้ความรู้เรื่องการอ่านแผนที่ วิธีกำหนดจุด GPS ชื่อของต้นไม้ เส้นทางการเดินป่า เด็ก ๆ สนุก ตื่นเต้นและได้เรียนรู้ของจริง ผู้สูงอายุผู้เคยร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การอยู่ในป่า ทำให้เด็กและเยาวชนเห็นภาพจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และเมื่อเด็ก ๆ ทำแผนที่เดินป่าก็นึกถึงศิลปินช่างสักในชุมชน (ในมุมมองของคนในชุมชนคนมีรอยสักมาก ๆ จะดูเกเรและน่ากลัว) จึงไปชวนพี่ช่างสักมาสอนเด็ก ๆ วาดภาพ ซึ่งสร้างความภูมิใจให้ทั้งสองฝ่าย เด็ก ๆ มีทักษะการวาดภาพและใช้สีเพิ่มมากขึ้น ในด้านของช่างสักก็ไม่ถูกตีตราและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำประโยชน์เพื่อชุมชน แผนที่ถูกนำไปติดตั้งที่ศาลาของหมู่บ้าน

           การทำกิจกรรมร่วมกันทำให้เด็ก ๆ มีพื้นที่สร้างสรรค์ทำงานร่วมกัน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์จากเดิมส่วนใหญ่จะเล่นเกม ใช้โทรศัพท์ เมื่อมีการทำโครงการผู้ปกครองได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเยาวชน พวกเขารับผิดชอบ มีสำนึกรักบ้านเกิด เข้าใจและเห็นคุณค่าของป่าต้นน้ำ มีพื้นที่ในการทำงานร่วมกัน

          เรื่องเล่าของความศักดิ์สิทธิ์ของควนดินดำเป็นกุศโลบายของคนสมัยก่อน พวกเขามีความเชื่อว่าถ้าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จะไม่มีใครเข้าไปตัดต้นไม้ ทำลายป่า ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์ ความเชื่อและความเคารพยังคงดำรงอยู่คู่วิถีบ้านตะเหมก แต่เพิ่มเติมด้วยความเข้าใจที่ตระหนักเห็นคุณค่า ความอุดมสมบูรณ์ ยิ่งใหญ่ของป่าควนดินดำ การสร้างสำนึกใหม่ ให้คนรุ่นใหม่ได้รักอย่างเข้าใจ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาให้ทรัพยากรธรรมชาติคงอยู่กับชุมชนต่อไปยาวนาน


ความโดดเด่น

  • โครงการควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก สร้างความเข้าใจโดยการประสานงานความร่วมมืออย่างรอบด้าน ทำให้เกิดความคิดลึกซึ้งที่สร้างการตระหนักรู้ สร้างความเป็นหนึ่งเดียวในการอนุรักษ์ หวงแหน อยากดูแลด้วยความเข้าใจว่า คน ป่า ผูกพันกัน
  • มีกิจกรรมสร้างสรรค์ ทำให้เด็ก เยาวชนและครอบครัวมีพื้นที่ร่วมกัน
  • ทำให้คนในชุมชนกลับไปทำความเข้าใจภูมิปัญญาที่อยู่เบื้องหลังความเชื่อเรื่องควนดินดำว่าเป็นการจัดการทางสังคมของบรรพบุรุษ



บทสัมภาษณ์

ถาม  ขอให้ช่วยแนะนำตัวเอง

น้ำฝน สวัสดีค่ะ หนูชื่อเด็กหญิงพรรธิภา เยาว์ดำ ชื่อเล่นน้ำฝน อายุ 15 ปี ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่2 กำลังจะเข้ามัธยมศึกษาปีที่3 ค่ะ โรงเรียนเทศบาล 2 วัดกะพังสุรินทร์ ตำแหน่งรองหัวหน้าโครงการ

พี่วรรณ นางสาวอรวรรณ นิตมา ชื่อเล่นพี่วรรณ อายุ 33 ปี เป็นพี่เลี้ยงโครงการควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก ปัจุบันเป็นเจ้าหน้าที่กู้ชีพประจำศูนย์บริการทางการเเพทย์ฉุกเฉิน อบต.ละมอ กรรมการกองทุนหมู่บ้าน และช่วยงานอื่น ๆ ในหมู่บ้าน


ถาม โครงการนี้ทำประเด็นเกี่ยวกับอะไร ทำไมถึงสนใจทำประเด็นนี้

พี่วรรณ  สำหรับโครงการควนดินดำ ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก เป็นโครงการที่เด็ก ๆ เลือกกันมาในตอนแรกมีเรื่องที่เราสนใจทำอยู่ 5 หัวข้อ เด็ก ๆ ช่วยกันโหวตว่าโครงการไหนน่าสนใจ และน่าศึกษาค้นคว้ามากที่สุด จนเราได้ข้อสรุปว่าเป็นโครงการควรดินดำ เพราะโครงการทำฝายและปลูกป่าเป็นโครงการที่ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านทำกันอยู่แล้ว ทุกครั้งที่จัดขึ้นในหมู่บ้านเด็ก ๆ จะไปร่วมทำกิจกรรมกันอยู่แล้ว แต่เรื่องควรดินดำเป็นสิ่งใหม่ ทำให้พวกเขารู้สึกท้าทาย มีความลึกลับ น่าค้นหา พวกเขาสนใจศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับหัวข้อนี้

น้ำฝน  หนูอยากรู้ว่าควนดินดำมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างไร ถ้าพิสูจน์ทางหลักวิทยาศาสตร์จะเป็นอย่างไรและเป็นการช่วยอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ


ถาม  ประเด็นที่ทำในโครงการสอดคล้องกับสถานการณ์ของชุมชนอย่างไร

พี่วรรณ เนื่องจากควนดินดำเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นความเชื่อของชาวบ้านมานาน พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีคนนำดินจากพื้นที่ควนดินดำมาทำเป็นจตุคามและเครื่องรางของขลังเพื่อเคารพบูชา ด้วยความที่น้องในโครงการเป็นเด็กสมัยใหม่ พวกเขาอยากรู้ว่าความเชื่อเรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้ไหม ว่าดินที่มีสีดำเกิดจากสาเหตุอะไร สีของดินที่ดำเกิดจากความเชื่อหรือลักษณะทางธรณีวิทยา เด็ก ๆ อยากรู้ว่าระหว่างความเชื่อกับความจริง เรื่องไหนเด่นชัดกว่ากัน

พอได้มาศึกษาถึงได้รู้ว่าควนดินดำนอกจากความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์จากคนในหมู่บ้าน พื้นที่นี้ยังเป็นแหล่งป่าต้นน้ำที่สำคัญของหมู่บ้านตะเหมก พื้นที่นี้มีน้ำผุดออกมาจากใต้ดิน เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำสายหลักและสายรองของหมู่บ้าน บ้านตะเหมกเป็นหมู่บ้านต้นน้ำจึงไม่ขาดแคลนน้ำ คนที่อยู่หมู่บ้านข้างล่างต่อจากหมู่บ้านของเรา จะขาดแคลนน้ำในฤดูร้อน น้ำไม่พอใช้น้ำ น้ำประปาไหลไปไม่ถึงหมู่บ้านของเขา พื้นที่ควนดินดำเป็นพื้นที่ ที่ชาวบ้านเคารพ ศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ สำหรับคนในหมู่บ้านอื่น ๆ เขาบอกว่าพื้นที่ตรงนี้มีเจ้าที่แรง

ในสมัยก่อนพื้นที่ตรงนี้เป็นที่ตั้งของค่ายคอมมิวนิสต์ เป็นเขตพื้นที่ต่อสู้ของสามจังหวัดได้แก่ พัทลุง ตรัง สตูล บริเวณพื้นที่ใกล้กับควนดินดำเป็นค่ายที่คอมมิวนิสต์ในอดีตเคยพักอาศัยอยู่ ที่นี่มีร่องรอยของประวัติศาสตร์หลงเหลืออยู่ ด้านของทรัพยากรที่นี่เป็นแหล่งต้นน้ำ มีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำสายหลักของหมู่บ้าน ไหลลงสู่แม่น้ำตรังและออกสู่ทะเล เด็ก ๆ เห็นความสำคัญของป่าต้นน้ำมากขึ้น เพราะพวกเขารู้ว่าต้นน้ำจากหมู่บ้านของเขาไหลลงไปสู่ทะเล ชุมชนจึงไม่มีปัญหาในประเด็นนี้ เป็นเรื่องแหล่งเรียนรู้ทางทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์


ถาม สิ่งที่น้อง ๆ ทำในโครงการสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรกับเยาวชนและชุมชน

น้ำฝน  สิ่งที่พวกเราทำในโครงการ ทำให้เพื่อน ๆ เยาวชนในชุมชนที่อายุรุ่นเดียวกันกับหนู หันมาสนในเรื่องป่าต้นน้ำในชุมชนมากขึ้น เวลาที่พวกเรามาประชุมกัน พวกเขามานั่งฟัง พวกหนูทำป้ายชื่อต้นไม้ พวกเขามาช่วยทำ ตอนเดินขึ้นไปที่ควนดินดำ พวกเขาอาสามาร่วมเดินป่าด้วยกัน ช่วยกันแบกป้ายชื่อต้นไม้ เพื่อนำไปติดที่ต้นไม้ระหว่างทางไปควนดินดำ

หลังจากที่เราได้นำภาพกิจกรรมเผยแพร่ใน Facebook ทำให้คนที่อยู่นอกชุมชนให้ความสนใจ เขาอยากเห็นควนดินดำพื้นที่ป่าต้นน้ำด้วยตาของตัวเอง ชาวบ้านในหมู่บ้านให้ความสนใจมากขึ้น

การเดินป่าถือว่าเป็นกิจกรรมของครอบครัวที่ทำร่วมกัน เช่น พ่อแม่ของพวกหนู เมื่อก่อนเขารู้แค่ว่าควนดินดำอยู่ตรงไหน แต่ไม่เคยเดินขึ้นไป เขาได้เดินขึ้นไปกับพวกเรา ครอบครัวของหนูไปกันทั้งครอบครัว และมีครอบครัวของพี่และเพื่อนในทีมร่วมกันเดินป่าไปด้วยกัน มีเพื่อน ๆ ในชุมชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไปกับพวกเรา โดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้นำทาง จำนวนคนที่เดินป่าขึ้นไปมีทั้งหมด 50 กว่าคน

หลังจากที่ลงมาจากควนดินดำ มีเด็ก ๆ พูดกันถึงต้นไม้ที่อยู่ข้างบนเขาว่ามีขนาดที่ใหญ่มาก ที่จริงในหมู่บ้านของเรามีต้นไม้ใหญ่มาก แต่ต้นไม้ที่อยู่บนภูเขามีใหญ่ขนาดเป็นสองเท่า เด็ก ๆ ในชุมชนบอกว่าถ้ามีโอกาสอยากจะขึ้นไปอีก เขาได้รู้จักชื่อของต้นไม้มากมายและได้เห็นทรัพยากรธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์อยู่

ส่วนผู้ปกครองที่ได้ขึ้นไป พวกเขารู้สึกมีความสุข ดีใจที่ได้เห็นลูก ๆ ทำกิจกรรมแบบนี้และตัวพวกเขาได้มีส่วนร่วม พ่อกับแม่ได้เห็นว่าลูก ๆ ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าเอาเวลาว่างไปนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือและ Facebook

ส่วนเพื่อน ๆ ที่เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงในชุมชน หลังจากลงมาจากป่า พวกเขารู้สึกสนุกและอยากไปอีก พวกเขาอยากจะมาเข้าร่วมกิจกรรมกับพวกเรา

พี่วรรณ หลังจากที่ขึ้นไปทำกิจกรรมที่ควนดินดำ เด็ก ๆ เขารู้ว่าในชุมชนของเขามีดีอะไรบ้าง เช่น พื้นที่ควนดินดำเป็นแหล่งความเชื่อ ได้เห็นป่าต้นน้ำที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญของหมู่บ้าน พอเขารู้ว่าในชุมชนของเขามีอะไรดี เขารู้สึกหวงแหนและภูมิใจ อยากจะร่วมกันรักษาเอาไว้ ความรู้สึกของเด็กที่มีต่อชุมชนดีขึ้น เช่น จากที่พวกเขาไม่เคยสนใจมาก่อน ไม่รู้ว่าบ้านของเราเป็นแหล่งต้นน้ำ ตอนนี้เขาได้รับรู้ เขารู้สึกภูมิใจและรู้สึกอยากร่วมดูแลรักษา

ส่วนของชาวบ้านและผู้ปกครองที่ไม่เคยขึ้นไป พอเขาได้ขึ้นไปทำกิจกรรมกับเรา เขารู้สึกดีที่ได้เห็นและรับรู้ว่าบ้านของเรามีแหล่งต้นน้ำทรัพยากรที่สำคัญ เขาได้รับรู้เรื่องราวของควนดินดำที่เป็นทั้งความเชื่อ ตำนาน แหล่งประวัติศาสตร์ในสมัยก่อน เขารู้สึกภูมิใจที่บ้านของเรามีของดีและอยากจะให้คนอื่นได้รับรู้ว่าบ้านตะเหมกมีของดีอะไรบ้าง เขาอยากมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับเด็กและลูกหลานของเขา

ก่อนหน้านี้เรามีกิจกรรมเวทีสัญจรไปเยี่ยมเยียนเพื่อน ๆ ทีมอื่น ผู้ปกครองของเด็กได้ติดตามไปดูเด็ก ๆ ทำกิจกรรมอะไรบ้าง ส่วนเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ให้ความรู้กับเด็ก ๆ เกี่ยวกับเรื่องพันธุ์ไม้ ชื่อต้นไม้ต่าง ๆ ตอนที่สำรวจป่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้เคยจับพิกัดเอาไว้ พื้นที่ตรงไหนบ้างที่เคยพบสัตว์ป่าและนำมาเล่าให้เด็ก ๆ ฟัง ถ้ามีคนมาเดินป่าจำนวนน้อย เราสามารถพบสัตว์ป่าอะไรได้บ้าง เช่น หมูป่า ไก่ป่า ลิงนางอาย กระจง เม่น ตัวนิ่ม ถ้าเราไปหลายคนอาจจะไม่เห็นเพราะเสียงของเราอาจจะไปรบกวนสัตว์ป่าซึ่งอยู่กันเงียบ ๆ ตอนที่ไปเราจะพบนกจำนวนเยอะมาก

ครั้งล่าสุดที่เราได้ไปเดินสำรวจป่า มีคุณตาคนหนึ่งร่วมเดินไปกับเราด้วย คุณตาท่านเคยเป็นคอมมิวนิสต์เก่ามาก่อน คุณตารู้สึกดีใจที่เด็กให้ความสนใจ คุณตาเล่าเรื่องราวสมัยก่อนที่เคยอาศัยอยู่ในป่าให้กับเด็ก ๆ ฟัง คุณตามีความสุขที่ได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับเด็ก เป็นการลดช่องว่างระหว่างวัย คุณตาแบ่งปันประสบการณ์และความทรงจำที่เขาได้พบเจอมาจริง ๆ การใช้ชีวิตอยู่ในป่าเป็นอย่างไร ต้องกินข้าวกับหน่อไม้ลำบากมาก ไม่มีหมูไก่ให้กิน เด็กพอได้ฟังเขารู้สึกว่าสนใจ เห็นความยากลำบากของคุณตา ชื่นชมที่คุณตาสามารถใช้ชีวิตในป่าได้ เด็ก ๆ ได้เห็นร่องรอยของหลุมระเบิดขนาดใหญ่ในสมัยก่อน เด็กๆ รู้สึกแปลกใจและตื่นเต้นได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์

ก่อนหน้านี้กำนันและผู้นำชุมชนทำงานเรื่องการอนุรักษ์ป่าในชุมชน ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของหมู่บ้าน หมู่บ้านตะเหมกเป็นหมู่บ้านราษฎรอาสามาสมัครพิทักษ์ป่า แต่ก่อนเป็นงานเฉพาะผู้ใหญ่ เด็กไม่มีส่วนร่วม พอเด็ก ๆ ทำโครงการนี้ด้วยตัวเอง ผู้นำชุมชนรู้สึกดีใจที่เด็กให้ความสนใจและชักชวนผู้ปกครองให้หันมาสนใจเรื่องนี้ด้วย เป็นการส่งต่อความรู้ภายในครอบครัว บางบ้านที่เด็กทำโครงการ แต่พ่อแม่ไม่เคยสนใจมาก่อน ตอนนี้เริ่มอยากรู้ว่าลูกเขาทำอะไรบ้าง เด็ก ๆ อธิบายและชวนผู้ปกครอง จนน้องและผู้ปกครองในบ้าน เข้ามาร่วมกิจกรรมกับเรา เป็นการขยายวงกว้างมากขึ้น

มีเพื่อน ๆ จากทีมเครือข่ายสนใจมาร่วมกิจกรรมกับพวกเรา เพราะหลายทีมที่ยังไม่มีโอกาสได้มา พวกเขาอยากเข้าร่วมกิจกรรมเดินป่า เป็นกิจกรรมที่สนุก ท้าทายและน่าสนใจมาก ผู้นำชุมชนรู้สึกภูมิใจที่เด็กในชุมชนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอนุรักษ์แบบนี้ ทำให้เด็กเห็นความสำคัญของทรัพยากรในชุมชน ตระหนักถึงคุณค่าและช่วยกันดูแลรักษา


ถาม  โครงการที่เด็ก ๆ ทำมีส่วนช่วยสนับสนุนกิจกรรมเดิมของชุมชนอย่างไร

พี่วรรณ มีส่วนช่วยให้กิจกรรมเดิมของชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น เช่น ก่อนหน้านี้ชุมชนทำโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า หมู่บ้านตะเหมกเป็นหมู่บ้านที่ได้รับธงพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เดิมเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของผู้ใหญ่ในชุมชนและทหาร เด็ก ๆ ในชุมชนไม่ให้ความสนใจมากนัก พอเด็ก ๆ มาทำโครงการนี้ ทางหน่วยงานทหารที่ดูแลโครงการเดิมอยู่ เขาให้ความสำคัญและสนับสนุนให้เด็ก ๆ ตั้งกลุ่มเยาวชนเพื่อดูแลรักษาป่า พวกเรารู้สึกดีใจที่เห็นเด็ก ๆ มาทำโครงการลักษณะนี้


ถาม โจทย์ในการวิจัยที่ว่า “เรื่องการถ่ายทอดความศักดิ์สิทธิ์ของควนดินดำที่เหมาะสมต่อชุมชน “ โครงการตอบโจทย์เรื่องนี้อย่างไร

พี่วรรณ จากที่เราได้สัมภาษณ์ผู้อาวุโสในชุมชนมีคุณยายท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าควนดินดำเป็นแหล่งต้นน้ำที่บรรพบุรุษมาเคยมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ เป็นจุดกำเนิดแม่น้ำสายหลักของหมู่บ้าน ความศักดิ์สิทธิ์ของควนดินดำเป็นกุศโลบายของคนสมัยก่อน พวกเขามีความเชื่อว่าถ้าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จะไม่มีใครเข้าไปตัดต้นไม้ ทำลายป่า ความเชื่อของคนในหมู่บ้านอีกเรื่องหนึ่งคือ การนำดินมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง จตุคาม พระพุทธรูปเพื่อเคารพบูชา ใครที่ไม่สบาย เจ็บป่วย ปวดเมื่อย เขาจะนำดินมาทาที่บริเวณนั้นและเชื่อว่าจะหายจากอาการเจ็บป่วย เขาจะอธิฐานจิตและขอพรให้หายจากอาการเจ็บป่วย

เด็ก ๆ อยากรู้ว่าเรื่องราวของควนดินดำศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ ทำไมคนในหมู่บ้านถึงเชื่อ คนเฒ่าคนแก่เล่าว่าในสมัยก่อนเป็นเรื่องจริง เป็นความเชื่อส่วนบุคคล มีเรื่องล่าสุดที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน มีคนหลงป่า หายตัวไปในบริเวณควนดินดำ ไม่มีใครหาเจอ ชาวบ้านได้ไปบนบานกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้หาคน ๆ นั้น เจอ หลังจากนั้นพวกเขาพบคน ๆ นั้น ชาวบ้านพากันนำของไปแก้บน จากเหตุการณ์นี้ เด็ก ๆ ได้รับรู้เรื่องราวของคนหายที่บริเวณควนดินดำและได้รับรู้ความเชื่อที่เกิดขึ้นในชุมชน พอมีเหตุการณ์คนหลงป่าหายบริเวณควนดินดำ ทำให้มีคนกลัวมากขึ้น หากไปล่าสัตว์บริเวณนั้น อาจจะหลงป่าหรือโดนทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ ถ้าไปตัดไม้บริเวณนั้นอาจจะเจ็บป่วยไม่สบายได้ ความเชื่อและความกลัว ทำให้ไม่มีใครขึ้นไปทำลายบริเวณควนดินดำที่เป็นป่าต้นน้ำ


ถาม  เด็ก ๆ รู้สึกอย่างไรกับความเชื่อหรือกุศโลบายนี้

น้ำฝน รู้สึกตื่นเต้นที่รับรู้เรื่องราวในอดีตว่าที่บริเวณนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งรู้สึกกลัวที่จะขึ้นไป บางครั้งอยากจะขึ้นไปเพื่อตามหาความจริง หนูได้ลองขึ้นไปบริเวณนั้นจริง ๆ ไม่น่ากลัวอย่างที่หนูคิด หนูเห็นหินก้อนโต ต้นไม้ใหญ่และบ่อดินดำ ส่วนหนึ่งที่ป่ายังสมบูรณ์อาจจะเกิดจากความเชื่อ เพราะชาวบ้านเชื่อว่าถ้าตัดไม้ทำลายป่าบริเวณนั้น ทวดของควนดินดำจะมาลงโทษพวกเขา หนูคิดว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น พวกหนูอาจจะกลัวกันไปเอง ข้อดีมีมากกว่าข้อเสีย ส่วนข้อดีคือ หนูได้เห็นป่าที่อุดมสมบูรณ์


ถาม  สิ่งที่เด็ก ๆ ทำในโครงการช่วยสร้างจิตสำนึกเรื่องการรักษาป่าต้นน้ำ สอดคล้องกับความกุศโลบายดั้งเดิมของชุมชนอย่างไร

พี่วรรณ พี่ว่าเรื่องจิตสำนึกเกิดขึ้นกับน้องทุกคน ตอนแรกไม่เคยมีใครขึ้นไปที่ควนดินดำมาก่อน พี่วรรณขึ้นไปครั้งแรกเหมือนกัน แต่ก่อนเราเคยได้ยินแค่เรื่องเล่าตำนาน พอเราได้มาเห็นของจริง มันทำให้เราเปิดมุมมองใหม่ ๆ ได้รับรู้ว่าป่าต้นน้ำเป็นแบบไหน มีความอุดมสมบูรณ์มากแค่ไหน มีต้นไม้ใหญ่มากกว่าในสวนพฤกษศาสตร์ที่เราเคยไปดู เกิดความภาคภูมิใจที่หมู่บ้านของเรามีต้นไม้ขนาดใหญ่เท่ากับ 10 คนโอบ เด็ก ๆ เกิดความรู้สึกหวงแหน อยากอนุรักษ์และอยากให้อยู่ไปนาน ๆ เขาสามารถไปเล่าต่อให้เพื่อน ๆ ฟังได้ว่าที่บ้านของเรามีต้นไม้ขนาดใหญ่มาก มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าเยอะ ซึ่งอาจจะหาไม่ได้จากที่อื่น เขาได้เห็นความสำคัญของทรัพยากรและความเชื่อในชุมชน ทำให้เขาอยากร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชนไปในตัว


ถาม  หลังจากเห็นคุณค่าของป่าต้นน้ำในชุมชน มีความคิดว่าอยากทำอะไรเพื่อชุมชนต่อไป

พี่วรรรณ ตอนนี้เป็นแนวทางเพื่อการศึกษาเรียนรู้มากกว่า หลังจากที่เราไปศึกษาเรื่องควนดินดำมาสองครั้ง ครั้งแรกคือ ตอนลงพื้นที่เพื่อสำรวจ ครั้งที่สองคือ ตอนที่เด็ก ๆ เตรียมทำป้ายชื่อต้นไม้เพื่อนำไปติดที่ต้นไม้ หลังจากเด็ก ๆ ไปมาสองรอบ เราชวนผู้นำชุมชน ผู้ปกครองเด็ก ๆ ผู้ใหญ่ในชุมชน มาสรุปการหาวิธีการที่จะรักษาพื้นที่ควนดินดำเอาไว้ เพื่อเป็นสถานที่สำคัญของชุมชน เราได้ข้อสรุปคือ สร้างเส้นทางการเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติบริเวณควนดินดำ

บริเวณตรงนี้มีการเรียนรู้หลายอย่าง มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ ถูกรวมไว้อยู่ในที่เดียวกัน เด็ก ๆ ร่วมกันทำแผนที่เดินทางขึ้นมา ระยะทางไปกลับประมาณ 10 กิโลเมตร ทำจุดสำคัญ ๆ ไว้ในแผนที่ ถ้ามีเพื่อน ๆ ต่างถิ่นหรือคนที่สนใจเข้ามา เขาสามารถพาไปดูได้ ในอนาคตข้างหน้าอาจจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เด็ก ๆ และผู้ปกครองให้ความสนใจ ทำให้ผู้นำชุมชนเกิดความคิดที่ว่า ถ้าเด็กสนใจอยากเรียนรู้ ผู้ใหญ่ในชุมชนจะสนับสนุนให้เป็นเส้นทางเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติและปรับปรุงเส้นทางให้มีระยะทางที่ใกล้ขึ้น ปลอดภัยกับเด็กมากขึ้นสามารถขึ้นไปได้ครั้งละหลายคน ส่วนเจ้าหน้าที่ป่าไม้แนะนำว่า ทำชื่อต้นไม้ให้ละเอียดขึ้น ควรมีชื่อทางวิทยาศาสตร์เพิ่มด้วย เพื่อเป็นการศึกษาเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้นไปอีก ควรปักป้ายบอกพื้นที่เขตหวงห้าม ตรงไหนที่เป็นจุดอันตรายห้ามเดินออกนอกเส้นทาง เพราะเส้นทางที่เราไปเป็นป่าที่ไม่ค่อยมีคนไป เราต้องช่วยกันดูแลเด็ก ๆ ถ้าเกิดหลงป่าแล้ว เส้นทางจะไกลและมีความอันตรายมาก


ถาม  ปัจจัยที่ทำให้โครงการสำเร็จคืออะไร

พี่วรรณ อันดับแรกคือ ตั้งแต่น้องเริ่มศึกษาหาข้อมูล เขาปรึกษากับกำนันว่าจะเริ่มต้นหาข้อมูลจากตรงไหนดี กำนันแนะนำว่าต้องเริ่มจากการศึกษาประวัติศาตร์ของหมู่บ้านก่อน เพราะหมู่บ้านตะเหมกมีประวัติมายาวนาน มีพี่คนหนึ่งในหมู่บ้านไปเรียนต่อ เขาได้ทำวิทยานิพนธ์ไว้ ในวิทยานิพนธ์นั้นเล่าถึงที่มาของหมู่บ้าน ทำไมถึงชื่อว่าตะเหมก จนกลายเป็นหลักฐานอ้างอิงให้เห็นว่าหมู่บ้านของเรามีความเป็นมาอย่างยาวนานถึง 200 กว่าปี เรื่องควนดินดำเป็นความเชื่อบรรพบุรุษ สมัยก่อนคนในหมู่บ้านเป็นเครือญาติกันหมด ความเชื่อถูกสืบทอดต่อกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ในยุคสมัยใหม่เด็กอาจไม่เห็นความสำคัญของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อความศรัทธาของคนในชุมชนว่าคืออะไร

หลังจากนั้นเด็ก ๆ ไปสัมภาษณ์ผู้อาวุโสหรือชุมชน คุณตาคุณยายเล่าถึงตำนานเรื่องเล่าในอดีตให้กับเด็ก ๆ ฟัง ทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่ได้มีกิจกรรมทำ เขารู้สึกดีใจที่สามารถให้ความรู้กับเด็ก ๆ ได้ คุณยายรู้สึกภูมิใจมากที่ได้สอนและได้เล่าเรื่องราวในอดีตให้เด็กฟัง คุณตาที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งอาศัยอยู่ในป่ามาก่อน ได้เล่าเรื่องราวของตัวเองตอนที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่า บางตอนที่คุณตาเล่า ทำให้คุณตานึกถึงเรื่องราวในอดีตจนน้ำตาไหลออกมา เด็ก ๆ ได้รู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องเล่าของคุณตา

ส่วนผู้นำชุมชนได้ให้ความรู้กับเด็กเวลาที่เด็กทำกิจกรรม ตอนลงพื้นที่ผู้นำชุมชนหลายฝ่ายได้เตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่ ช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยของเด็กอย่างเต็มที่ ก่อนหน้าที่พวกเราจะเดินป่าเรามีการประสานงานกับทางสาธารณสุขอำเภอ ประสานงานกับนายอำเภอว่า เราจะมีกิจกรรมเดินป่าในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เราควรปฏิบัติตัวอย่างไร เจ้าหน้าที่ อสม.หมู่บ้านให้คำแนะนำกับเด็ก ๆ ช่วยวัดไข้ ลงทะเบียน จัดการเรื่องทางเข้าทางออก มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ เขาแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง

ตอนแรกพี่วรรณไม่รู้จะหาข้อมูลจากไหน เพราะไม่มีความรู้เรื่องนี้ จึงแนะนำน้อง ๆ ให้ไปถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพราะพวกเขามีความชำนาญ เนื่องจากลาดตระเวนสำรวจป่าแถวนี้เป็นประจำ โดยพี่วรรณประสานงานเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าเด็ก ๆ อยากรู้เรื่องการอ่านแผนที่ วิธีกำหนดจุด GPS ชื่อของต้นไม้ เส้นทางการเดินป่า และให้เด็ก ๆ ไปศึกษาที่สำนักงานของเขา เด็ก ๆ เดินทางไป ได้เห็นของจริง ได้เรียนรู้เรื่องละติจูด ลองจิจูด วิธีการจับพิกัด วิธีการอ่านแผนที่ เด็ก ๆ ได้ความรู้เยอะมาก

คนที่ช่วยให้คำแนะนำอีกหน่วยงานหนึ่ง คือ เจ้าหน้าที่ป่าต้นน้ำแม่น้ำตรัง หน่วยนี้มีโครงการที่เขาทำอยู่แล้ว เป็นโครงการส่งเสริมพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น การปลูกป่าชุมชน แต่โครงการที่เขาทำยังขึ้นไปไม่ถึงบริเวณควนดินดำ พี่ ๆ เจ้าหน้าที่ให้ความรู้น้อง ๆเกี่ยวกับป่าต้นน้ำ ทั้งเรื่องน้ำ เรื่องดิน ทำให้น้องมีความรู้ความเข้าใจในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น


ถาม  หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวจากผู้อาวุโสให้ชุมชน น้องน้ำฝนเกิดความรู้สึกอย่างไร

น้ำฝน  ตอนที่ฟังเรื่องราวจากคุณตา หนูรู้สึกตื่นเต้นและสงสาร เพราะว่าสมัยก่อนมีโจรป่ามาขึ้นบ้าน มีค่ายคอมมิวนิสต์และมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ควนดินดำ มีสัตว์ป่าที่ดุร้าย เช่น เสือ หมี คุณตาต้องใช้ชีวิตอยู่ในป่า หลังจากที่หนูได้ฟังหนูรู้สึกภูมิใจ ที่ป่าในชุมชนของเรายังสมบูรณ์อยู่ในขณะที่ป่าหมู่บ้านของเพื่อน ๆ ไม่สมบูรณ์แล้ว หนูรู้สึกหวงแหนชุมชนมากขึ้น เพราะสมัยก่อนคุณตาเล่าให้ฟังว่าเวลาที่จะเดินทางไปไหนจะต้องใช้เท้าเดิน หมู่บ้านของเราห่างไกลจากในเมืองมาก คนในชุมชนต้องรักกันให้มาก ๆ


ถาม  ทำไมคนในชุมชนถึงต้องรักกัน

น้ำฝน  ถ้าคนในชุมชนไม่มีความสามัคคีกัน ไม่รักใคร่กัน เราจะอยู่ร่วมกันยากในสังคม คนในหมู่บ้านต้องรักกัน


ถาม  น้อง ๆ ในโครงการเกิดการเปลี่ยนอย่างไร

พี่วรรณ ความเปลี่ยนแปลงของน้อง ๆ ในแง่ของชุมชน น้อง ๆ ได้เห็นเห็นความสำคัญของทรัพยากร รู้สึกภูมิใจและหวงแหนชุมชนมากขึ้น เขารู้ว่าควรอนุรักษ์สิ่งที่ชุมชนมีไว้อย่างไร ในแง่ของบุคคล น้อง ๆ ได้ทำกิจกรรมหลายครั้ง หลายคนมีพัฒนาการที่ดี เช่น เมื่อก่อนเวลาเจอเพื่อน ๆ ต่างถิ่นหรือคนนอกชุมชน เขาจะเขินอาย ไม่กล้าพูด แต่หลังจากที่ทำกิจกรรมเยอะขึ้น น้องกล้าพูด กล้าคุย กล้าตัดสินใจ เช่น น้อง ๆ สามารถไปติดต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้เพื่อสอบถามข้อมูล ในครั้งแรกพี่วรรณติดต่อเจ้าหน้าที่ให้ แต่หลังจากนั้นน้อง ๆ เป็นคนติดต่อประสานงานเองทั้งหมด เขาลดความเขินอายในตัวเอง มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น การพูดต่อหน้าชุมชนมากขึ้น ไม่เขินอายเหมือนแต่ก่อน น้อง ๆ ทำได้ดีจนเป็นที่น่าพอใจ คนในหมู่บ้านเห็นพัฒนาการในตัวเด็ก จนเด็ก ๆ ที่ทำโครงการได้รับเสียงชื่นชมจากคนในหมู่บ้าน

น้ำฝน ตอนแรก ๆ ที่ทำโครงการ มีคนไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูด เขินอาย พอเราได้ทำโครงการมาสักระยะ เพื่อน ๆ กล้าแสดงออกมากขึ้น การพูด การติดต่อประสานงานทำได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องให้พี่วรรณติดต่อให้แล้ว ในส่วนงานยากพวกเราพยายามทำให้สำเร็จ เช่น เรื่องของการทำแผนที่เดินป่า พวกเราต้องวาดแผนที่ลงบนผืนผ้า ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อนเราเคยแต่วาดในกระดาษ เราก็ทำสำเร็จ ตอนนี้เราได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการวาดภาพลงบนผ้า เราชวนพี่ ๆ มาช่วยกัน เราได้ฝึกลงสีน้ำบนผ้า

พี่วรรณ  เด็ก ๆ ต้องวาดแผนที่ลงบนแผ่นผ้าซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ประมาณ 3 - 4 เมตร มีน้องคนหนึ่งในทีมเสนอความคิดว่า “มีพี่คนหนึ่งในชุมชน เขาเป็นช่างสัก เขาวาดรูปสวย เราไปชวนพี่เขามาทำแผนที่กันไหม?” แต่น้องคนนั้นค่อนข้างเกเรนิดหน่อย หลังจากนั้นเด็ก ๆ ตกลงไปชวนพี่คนนั้นมาช่วยงาน น้องคนนั้นเขารับปากจะมาช่วยเด็ก ๆ วาดรูป ช่วยแนะนำเทคนิคในการระบายสีให้กับเด็ก ๆ เด็กได้ความรู้เรื่องศิลปะเพิ่มมากขึ้น น้องคนนั้นบอกว่า “เขาไม่คิดว่าคนเกเรอย่างเขา จะได้ทำตัวมีประโยชน์” เขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามาก เขาเล่าให้ฟังว่าเขามีรอยสักเต็มตัวเวลาที่เขาไปไหนจะมีคนมองเขาในแง่ลบ แต่เพราะเขาได้มาช่วยน้อง ๆ ทำงานแบบนี้ เขารู้สึกภูมิใจมากและดีใจที่ได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม

เด็ก ๆ ในโครงการรู้สึกสนุกมากที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ นอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียน หลังจากเด็ก ๆ ทำแผนที่สำเร็จ เด็ก ๆ ทุกคนภูมิใจมากที่พวกเขาทำสำเร็จ แผนที่อันนี้ถูกติดตั้งไว้ที่ศาลาของหมู่บ้าน


ถาม  แผนที่ที่เด็ก ๆ ช่วยกันทำนี้มีไว้ใช้ทำอะไร

น้ำฝน แผนที่ที่บอกเส้นทางการศึกษาธรรมชาติบริเวณควนดินดำ ถ้าเราไปควนดินดำ เราต้องเดินทางไปเส้นทางไหนและผ่านจุดไหนบ้าง คนที่จะมาดูและใช้แผนที่นี้คือ พวกเรา คนในหมู่บ้านและคนที่สนใจเดินป่า


ถาม  สื่อที่เด็ก ๆ ทำในโครงการนี้มีอะไรบ้าง

น้ำฝนทำแผนที่ศึกษาเส้นทางควนดินดำ

พี่วรรณ  ตอนที่น้อง ๆ ไปเดินป่าครั้งแรก เขาพบเห็ดจำนวนเยอะมาก เขาถ่ายรูปเก็บไว้ หลังจากนั้นเขาไปศึกษาข้อมูลที่ส่วนพฤกษศาสตร์ เขาเอารูปถ่ายให้เจ้าหน้าที่ดู เจ้าหน้าที่แนะนำให้รู้จักชื่อของเห็ดแต่ละชนิด น้อง ๆ ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก เพราะมีเห็ดหลายชนิดที่มีชื่อแปลก ๆ น้องไม่เคยรู้จักมาก่อน เช่น เห็ดแชมเปญ น้อง ๆ ได้เห็นเฟิร์นและพืชกินแมลงหลายชนิด รวมทั้งปลวก เพราะระหว่างทางเดินป่า น้อง ๆ พบปลวกเยอะมาก เขาได้เรียนรู้วงจรชีวิตของปลวก ปลวกเป็นระบบนิเวศเล็ก ๆ ที่มีความสำคัญกับพื้นที่ควนดินดำ สาเหตุที่มีปลวกเยอะเกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของป่า ถ้าปลวกเจอไม้ที่ตายแล้ว ปลวกมีหน้าที่ย่อยสลายเพื่อระบบนิเวศของป่าต่อไป

น้อง ๆ ได้นำความรู้ที่เขาสนใจกลับมาบันทึกและจัดทำสมุดบันทึกเล่มใหญ่ สิ่งที่น้อง ๆ สนใจอีกเรื่องคือ เฟิร์น แต่น้อง ๆ ยังศึกษาไม่ครบ เนื่องจากข้อมูลเยอะมาก ต้องใช้เวลานานในการศึกษาเฟิร์นอย่างลึกซึ้ง เพราะว่าเฟิร์นมีสายพันธุ์และจำนวนมาก


ถาม  หลังจากที่เด็ก ได้ไปศึกษาธรรมชาติ ได้สังเกตเห็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ค้นพบวงจรของระบบนิเวศ พี่เลี้ยงเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเด็ก ๆ จากการเดินป่าครั้งนี้

พี่วรรณ เด็ก ๆ รู้จักสังเกตมากขึ้น เขาได้มองเห็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ไม่คิดว่ามีความสำคัญ เขาได้เห็นความสำคัญของปลวก เมื่อก่อนเขาคิดแค่ว่าปลวกคือ เป็นสัตว์ที่กินไม้ ตอนนี้เขาเรียนรู้ว่าปลวกเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบนิเวศในป่า ถ้าไม่มีปลวกใครจะย่อยสลายไม้ที่ล้มตายในป่า จนซากของต้นไม้กลายเป็นปุ๋ยในดิน ทำให้ต้นไม้ดูดซึมและอาหารเจริญงอกงาม เขาได้เรียนรู้วงจรของระบบนิเวศในป่า ตอนหลังถ้าน้อง ๆ ได้เจออะไรแปลก ๆ น้องจะถ่ายรูปเก็บไว้ เพื่อมาหาข้อมูลทีหลังว่ารูปภาพที่เขาถ่ายไว้คืออะไร นอกจากการสังเกตแล้ว น้อง ๆ ยังรู้จักสืบค้นข้อมูลจากความสนใจของตัวเองอีกด้วย พี่วรรณรู้สึกภาคภูมิใจที่น้อง ๆ มีพัฒนาการในตัวเองมากขึ้น


ถาม  ในอนาคตน้ำฝนและสมาชิกในทีม อยากพัฒนาโครงการอะไรต่อไป

น้ำฝน  หนูอยากทำป้ายชื่อต้นไม้เพิ่มเติมเพื่อจะไปติดที่ต้นไม้ อยากทำแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวกับควนดินดำ ป่า แม่น้ำ สร้างฝายมีชีวิต ถ้าเราทำฝายจะเป็นการช่วยชะลอน้ำ คนที่อยู่หมู่บ้านข้างล่างถัดจากหมู่บ้านของเรา เขาจะได้มีน้ำกินน้ำใช้มากขึ้น การที่พวกหนูทำป้ายต้นไม้เพิ่มเพราะพวกหนูจะได้รู้จักต้นไม้ที่หลากหลายมากขึ้น หนูอยากช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำ เพื่อให้คนในหมู่บ้านของหนูมีน้ำกินน้ำใช้ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้ง น้ำในหมู่บ้านจะแห้ง คนในหมู่บ้านของหนูไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่คนที่อยู่หมู่บ้านข้างล่าง เขาขาดแคลนน้ำ การรักษาป่าต้นน้ำเป็นการดูแลรักษาหมู่บ้านของเราและหมู่บ้านอื่น ๆ ด้วย


ถาม  นอกจากเด็กแกนนำในทีม โครงการนี้ได้ชักชวนน้อง ๆ กลุ่มเสี่ยงมาร่วมกิจกรรม ขอให้ช่วยเล่าการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ กลุ่มนี้

พี่วรรณ  ปกติเราจะนัดทำกิจกรรมที่ศาลาหมู่บ้าน ซึ่งมี Wi-Fi ของหมู่บ้านอยู่ เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะมาใช้ Internet ที่ศาลานี้ ที่นี่จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเรียน เด็กเกเร พอน้อง ๆ ในทีมมาทำกิจกรรมที่ศาลา น้อง ๆ คนอื่นที่ไม่ได้ร่วมโครงการเขาให้ความสนใจและมาเฝ้าดูว่าเด็กกลุ่มนี้ทำอะไรกัน จากแต่ก่อนที่ไม่เคยสนใจ ตอนนี้น้อง ๆ เริ่มสนใจ อยากขอเข้าร่วมโครงการด้วย เขาเสนอตัวเองเพื่อช่วยทำงาน น้องในโครงการส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง แต่ตอนนี้น้องผู้ชายที่เขามาเล่นเกมที่ศาลา เขาอาสามาช่วยทำงาน เช่น งานตัดไม้ที่เขาถนัด เราเห็นว่าพวกเขาให้ความสนใจกับกิจกรรมและเขาขอร่วมทำกิจกรรมกับเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่าหรือกิจกรรมอื่น ๆ พอเขาเห็นว่าสนุก เขาอยากเข้าร่วมด้วย แต่ในเรื่องของโครงการ เขายังไม่มีความเข้าใจมากเท่าไร เขาชอบกิจกรรมที่ใช้การลงมือทำ ข้อดีคือ การได้ชักชวนเขาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มากกว่าการเล่นเกมและใช้โซเชียล เขาได้ร่วมทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง เป็นการลดเวลาเล่นเกมลง เพราะบางคนเป็นเด็กติดเกม


ถาม  เป้าหมายในอนาคตของพี่เลี้ยงคือเรื่องอะไร

พี่วรรณ  หลังจากที่เราได้ทำกิจกรรมกับน้องกลุ่มนี้แล้ว มีผู้ปกครองบางคนสนใจ อยากให้ลูกเข้าร่วมโครงการด้วย เนื่องจากลูก ๆ ติดเกม ผู้ปกครองอยากหากิจกรรมเพื่อพัฒนาลูกของตัวเองโดยส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย บางครั้งเด็กผู้ชายอาจจะเกเรไปบ้าง เราต้องให้เวลากับน้อง ๆ ในการปรับตัวและเราต้องหาวิธีปรับตัวให้เข้ากับน้อง ๆ