สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการศึกษาขั้นตอนและวิธีการในการทำผ้ากัญชงของชาติพันธุ์ม้ง

          โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 ตั้งอยู่กลางชุมชน ตำบลคีรีราษฏร์ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชงได้จำนวน 300 ไร่ซึ่งพื้นที่อื่นปลูกได้เพียง 10 – 20 ไร่ มีองค์ความรู้เรื่องกัญชง แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่มีใครเรียนรู้และรู้จักทั้งกระบวนการปลูก ปั่น ทอ มีเพียงคนอายุ 40 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่รู้ข้อมูล คุณครูจึงชักชวนเยาวชนร่วมทำโครงการฯ เพื่อจะได้ศึกษาค้นคว้ากระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนกลายเป็นผ้า เยาวชนที่สนใจ 7 คนรวมตัวกันโดยใช้ชื่อกลุ่ม The Hemp Team อยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 6 ทุกคนเป็นชาวม้ง แต่รู้เรื่องราวของกัญชงน้อยมาก

ทีมพี่เลี้ยงประกอบไปด้วยคุณครู 4 ท่าน โดยมีครูกฤษณาหัวหน้าโครงการมีความชำนาญด้านวิชาการ ครูจูน ศราวุธ ฝ่ายปฏิบัติการ กลยุทธ์ และกระบวนการมุ่งเน้นผลลัพธ์ ครูสุพิศมีความคิดเป็น Perfectionist เพราะว่ามีประสบการณ์ในชีวิตมามาก และครูสาธนีเป็นคนประสานงาน และคอยดูแลโครงการ ซึ่งทีมพี่เลี้ยงมีความหลายหลากหลายและโดดเด่นต่างกันจึงเป็นทีมที่ปรึกษาที่ลงตัว

      กระบวนการเริ่มต้นมาจากทีมครูพี่เลี้ยงชวนเยาวชนตั้งคำถามเพื่อสร้างแรงจูงใจให้รู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมกับโครงการ โดยครูใช้ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง ให้เยาวชนได้พูด เล่า จากนั้นใช้คำถามเพื่อยกระดับการเรียนรู้ ชี้แนวทางในกระบวนการทำงาน เพราะเป็นครั้งแรกสำหรับทีม The Hemp ที่ทำโครงการ ช่วงต้นของการทำโครงการครูจูนฝึกให้เยาวชนรับผิดชอบ มีวินัย และตรงต่อเวลา “ผมดุครับ ทำไมถึงมาไม่ตรงเวลา พอเยาวชนมาถึงผมต้องทำหน้าเข้มใส่ ใจก็ไม่อยากจะเข้มเท่าไรครับ ถ้าเราไม่ดุตั้งแต่แรกก็ไม่ได้ หนึ่งเรื่องตรงเวลา สองคือความรับผิดชอบ ผมถือว่านัดงานแล้วไม่มีงานมาเลยบอกว่าลืมผมบอก ผมนั่งรอให้กลับไปเอางานที่บ้านมา ครูจะนั่งรอ เพื่อให้เด็กฝึกพูดปัญหาที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่นเด็กบอกไม่ได้เอางานมา จริงๆ คือไม่ได้ทำงาน ไม่ทำงานคือเหตุผล แต่บอกว่าลืมไม่ใช่เหตุผล ผมทำเพื่อฝึกให้เขาพูดปัญหาจริงๆ ตั้งแต่ตอนแรกครับ เยาวชนติดนิสัยประนีประนอม แต่ทำงานประนีประนอมไม่ได้ ต้องเห็นปัญหาถึงจะแก้ได้ ตอนแรกทุกคนจะมีปัญหาค่อนข้างเยอะ” ครูจูนเล่ากลยุทธ์ที่ต้องใช้ความชัดเจนและความอ่อนโยนผสานกันไป เมื่อทีมโครงการทั้งพี่เลี้ยงและเยาวชนเห็นภาพตรงกันงานจึงค่อยๆ เคลื่อนต่อขยับเพื่อลงชุมชน

      เยาวชนออกแบบแบบสอบถามและแบ่งหน้าที่หลักๆ กันอย่างชัดเจน มีคนบันทึกการประชุมทุกครั้ง ทำงานประสานงาน เก็บเอกสาร บันทึกข้อมูล แต่การลงพื้นที่ 13 หมู่บ้านด้วยทีม The Hemp เพียง 9 คนก็เป็นอุปสรรค ทีมพี่เลี้ยงแนะนำให้ลองหาเพื่อนมาร่วมเป็นเครือข่าย “ทีมนักวิจัยกัญชงรุ่นเยาว์” โดยมีแกนนำอธิบายวิธีการเก็บข้อมูลและบันทึก เพื่อให้เพื่อนที่อาศัยในหมู่บ้านนั้นๆ ได้เก็บข้อมูลกลับมา เมื่อทีมเยาวชนได้รับคำแนะนำ ก็เข้าใจความหมายและปฏิบัติการทันที

      การทำโครงการฯ นอกจากจะได้ผลลัพธ์แล้ว เยาวชนได้สะท้อนตัวเองและเห็นการเติบโต “หนูสนใจกัญชงมากขึ้น เมื่อก่อนไม่รู้เกี่ยวกับกัญชงเลย ไม่เคยเห็นต้น การลงชุมชนทำให้ได้รู้เรื่องกระบวนการทำและความเชื่อเกี่ยวกับกัญชง ถ้าหมู่บ้านหนูมีศูนย์การเรียนรู้กัญชงก็คงจะดี” หนึ่งในทีม The Hemp สะท้อนความผูกพันที่มีต่อกัญชง “โครงการทำให้เรากล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ต้องฟังความคิดเห็นคนอื่นด้วย กล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าถาม มีความกระตือรือร้นขึ้น ตอนแรกที่ทำ หนูเฉยชาและทำช้า พอเรามาทำโครงการ ครูพี่เลี้ยงจะกระตุ้น ทำให้เราตื่นตัว” พฤติกรรมและคุณลักษณะเชิงบวกของเยาวชนเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

    ในวันนี้ทีม The Hemp ไม่เพียงศึกษาขั้นตอนวิธีการในการทำผ้ากัญชงเท่านั้น แต่พวกเขาต่อยอดพัฒนาและอยากเพิ่มมูลค่าผ้าด้วยการปักลวดลายและทำของใช้ที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทีมโครงการได้ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการในชุมชนเพื่อพัฒนาสินค้าและให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการออกแบบและผลิตต่อไป ทีมพี่เลี้ยงเชื่อว่าหากการศึกษาสามารถต่อยอดจนเกิดรายได้ให้กับเยาวชนและชุมชน การศึกษาครั้งนี้คือความยั่งยืน โครงการการศึกษาขั้นตอนวิธีการในการทำผ้ากัญชงของชาติพันธุ์ม้งอำเภอพบพระ จังหวัดตาก จึงเป็นหนึ่งโครงการที่เกิดผลผลิตที่ชัดเจน สร้างสรรค์ Active Citizen ให้รู้จักรากเหง้า รัก เห็นคุณค่าและอยากพัฒนากัญชงให้เป็นที่ยอมรับและมีมูลค่าเพิ่มยิ่งขึ้นไป

ความโดดเด่น : 

  1. การทำงานที่มีกระบวนการทำงานเป็นทีม ทั้งทีมพี่เลี้ยง ทีมเยาวชน ทีมเครือข่ายที่ประสานและลงชุมชนให้เกิดข้อมูล และที่มากกว่าข้อมูลคือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในเยาวชน
  2. พี่เลี้ยงโครงการมีคุณลักษณะโดดเด่น เห็นภาพรวมและชัดเจน สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เยาวชนรู้สึกเป็นเจ้าของและพาให้คิดไกลกว่าการศึกษาขั้นตอนวิธีการในการทำผ้า แต่ชวนคิด สร้างแรงจูงใจให้เห็นผลผลิตที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน
  3. เยาวชนเห็นคุณค่าต้นกัญชง และกระบวนการทำผ้าจากใยกัญชง ต้องการอนุรักษ์ สร้างพื้นที่เรียนรู้เรื่องกัญชง และต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าใยกัญชง
  4. ทักษะการเก็บข้อมูล พื้นที่เก็บข้อมูลมีถึง 13 หมู่บ้านสมาชิกทุกคนจะถูกแบ่งบทบาทเป็นแม่งานในแต่ละหมูบ้านจึงต้องรู้กระบวนการเก็บข้อมูลทุกขั้นตอน มีการวางแผนเก็บข้อมูลก่อนการสัมภาษณ์ชัดเจนทำให้ตอนรวบรวมข้อมูลได้ข้อมูลตามกรอบที่วางไว้ มีขั้นตอนเตรียมเพื่อนที่มาช่วยเก็บข้อมูล แก้ปัญหาการสื่อสารกับชาวบ้านที่ใช้ภาษาม้งถ้าไม่เข้าใจให้บันทึกเสียงไว้ก่อน
  5. ทักษะทำงานเป็นทีม พื้นที่เก็บข้อมูลมีหลายหมู่บ้านต้องอาศัยความร่วมมือในทีม เยาวชนได้ฝึกวางแผนระบบให้ชัดเจน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในทีม และรับผิดชอบตามพื้นที่ๆเก็บข้อมูล

บทสัมภาษณ์ โครงการศึกษาขั้นตอนและวิธีการในการทำผ้ากัญชงของชาติพันธุ์ม้ง อำเภอพบพระ จังหวัดตาก

ผู้ให้สัมภาษณ์ The HEMP Team นักเรียนโรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 จำนวน 6 คน

1. นายรัฐพล ย่างคุณธรรม (พิท) อายุ 17 ปี ชั้น ม.4/1 โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 

2. นางสาวการะเกด แซ่ม้า (เกด) อายุ 17 ปี ชั้น ม.4/1 โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4

3. นางนิศาชล สมบูรณ์ศรีสกุล (พิ้งค์) อายุ 16 ปี ชั้น ม.4/1 โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4

4. นางสาวดุษฎี กรชูโชค (เซ็ง) อายุ18 ปี ชั้น ม.6/1 โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4

5. นางสาวยุพาวรรณ แซ่ว่าง (เข็ง) อายุ18 ปี ชั้น ม.6/1 โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4

6. นางสาวสุนารี กรชูโชค (ไอซ์) อายุ18 ปี ชั้น ม.6/1 โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 (หัวหน้าทีม)

­

ถาม  ขอให้แนะนำตัว ทีม ที่มาของโครงการ บทบาทหน้าที่ในโครงการ?

ตอบ  พวกเราชื่อทีม The HEMP Team แปลว่ากัญชง ครูจูนตั้งให้

ตอบ  ผมชื่อนายรัฐพล ย่างคุณธรรม ชื่อเล่นพิท ชื่อม้งจ๊ะลี อายุ 17 ปี เรียนชั้น ม.4/1 โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4

ตอบดิฉันนางสาวการะเกด แซ่ม้า ชื่อเล่น เกด ชื่อเล่นม้งเยีย อยู่ โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 เรียนชั้น ม.4/1

ตอบ  ชื่อนางนิสาชล สมบูรณ์ศรีสกุล ชื่อเล่นพิ้งค์ โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 เรียนชั้น ม.4/1

ตอบ  นางสาวดุษฎี กรชูโชค ชื่อเล่นเซ็ง ศึกษาชั้นมัธยม 6/1 โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4

ตอบ  นางสาวยุพาวรรณ แซ่หว่อง ชื่อเล่นขิง ศึกษาชั้นมัธยม 6/1 โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4

ตอบ  นางสาวสุนารี กรชูโชค ชื่อไอซ์ กำลังศึกษาชั้นมัธยม 6/1 โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4


ถาม  ทั้งหมดในทีมมีกี่คน?

ตอบ  7 คนแต่ว่าอีกคนไม่มาไม่สบาย


ถาม  พวกเราเป็นม้งทุกคนไหม?

ตอบ  เป็นม้งทุกคน


ถาม  เราทำหัวข้อวิจัยอะไร?

ตอบ  การปลูกกัญชง ศึกษาขั้นตอนกระบวนการปลูกกัญชง


ถาม  ทำไมถึงทำโครงการนี้ ใครเป็นคนคิดหัวข้อ พวกเราหรือครูให้การบ้านมา?

ตอบ  ครูให้การบ้านมา ดูในชุมชนแล้วพวกหนูก็ทำไม่เป็น ทุกคนทำไม่เป็นเลยที่เป็นเยาวชน


ถาม  อะไรคะที่ทำไม่เป็น?

ตอบ  ตั้งแต่การปลูกกัญชง คือรู้จักแต่ทำไม่เป็น

ตอบ  ส่วนมากเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทำเป็น


ถาม  พอครูเสนอหัวข้อนี้เราก็เลยสนใจ?

ตอบ  ค่ะ


ถาม  พอได้ยินหัวข้อนี้ความสนใจของการศึกษาขั้นตอนวิธีการปลูกกัญชงอะไรที่ทำให้เราสนใจ สมัครทำ?

ตอบ  ตัวเส้นใย มันเหนียวไม่ขาดง่าย

ตอบ  หนูคิดว่าผ้ากัญชงนี้ เป็นผ้าที่ได้มายากมาก และวิธีการทำกระบวนการยากมากเป็นสิ่งที่ท้าทายน่าสนใจมาก

ตอบ  ส่วนหนูผ้ากัญชงนี้ หนูเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องเลย พอเข้ามาก็ค่อยๆ รู้เรื่องขึ้นมาทีละนิดๆ

ตอบ  ผ้ากัญชงเป็นของม้งอยู่แล้ว เราจะไม่รู้ได้อย่างไร เราก็ต้องรู้สิ

ตอบ  หนูมองว่าผ้าใยกัญชงสามารถนำมาต่อยอด เวลาที่เราทำเส้นใยเป็น เราก็สามารถต่อยอดเป็นสินค้าได้

ตอบ  ตัวผ้าหนูทำไม่เป็นจึงสนใจในตัวผ้า กระบวนการหนูทำไม่เป็น สนใจที่จะทำโครงการนี้เพื่อเป็นการต่อยอด


ถาม  ที่มาคือพวกเราสนใจ คุณสมบัติ ผ้าใยกัญชงเป็นของเราทำไมเราไม่รู้ อยากศึกษา พวกเรามาร่วมกลุ่มได้อย่างไร?

ตอบ  ตอนแรกมีพวกหนูสามคน พวกหนูจะจบแล้วแต่โครงการทำต่อ ครูช่วยไปดึงน้องว่าใครสนใจเข้ามา


ถาม  ทุกคนอยู่หมู่บ้านเดียวกันไหมคะ?

ตอบ  ไม่ค่ะ


ถาม  มีใครอยู่หมู่บ้านเดียวกันบ้าง?

ตอบ  มีพวกหนู 5 คน ส่วนอีกคนอยู่อีกหมู่บ้าน อีกคนอยู่บ้านชิปาโก


ถาม  ทั้งสามหมู่บ้านนี้คือมีคนเฒ่าคนแก่ปลูกกัญชงอยู่ที่บ้านเพราะว่าเป็นชาวม้งที่จะผูกพันกับใยกัญชงไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็จะปลูก?

ตอบ  ค่ะ


ถาม  พอพี่มาชวนเราก็ไป?

ตอบ  เพื่อนมาชวนเราก็ไป


ถาม  จากคนที่ไม่รู้มาก่อนเลย ว่าใยกัญชงเราไม่รู้เลยว่ามาอย่างไรปลูกอย่างไร เราเริ่มต้น พอได้ทีมเราทำงานอย่างไรต่อ?

ตอบ  มาประชุมวางแผนกันว่าจะทำอย่างไร เราต้องศึกษาตั้งแต่การหาเมล็ดปลูกอย่างไร ทำแบบสอบถามให้คนอื่นทำ เพื่อช่วยให้เรารู้มากขึ้น ในแบบสอบถามจะมีการปลูกและการส่งต่อเมล็ด วิธีการดูแลรักษาและความเชื่อ การเตรียมดินสำหรับปลูกว่าทำอย่างไรดี


ถาม  แบบสอบถามให้ใครทำ?

ตอบ  ให้ 13 หมู่บ้านในตำบลคิรีราษฏร์ที่ปลูกจริงทำจริง


ถาม  ต้องกรอกข้อมูลนี้?

ตอบ  ไปถามคนที่เขารู้ เราถามอย่างเดียว ถ้าเขาตอบมาเราก็เขียน


ถาม  พอได้ข้อมูลมาจากผู้รู้ประจำหมู่บ้านแล้วเราทำอย่างไรต่อ?

ตอบ  เรามาสรุปตามหัวข้อ ตรงนี้เป็นแบบนี้


ถาม  มีต่างกันไหมข้อมูลจาก 13 หมู่บ้าน? มีอะไรที่ต่างกัน?

ตอบ  มีค่ะ แค่การปลูกก็ต่างกันแล้ว อย่างเช่น ดินบางครอบครัวปลูกดินร่วน บางครอบครัวปลูกดินเหนียวก็ได้นะ ดินปนหินทรายก็ได้ เราก็ไม่มั่นใจแล้วว่าดินอะไรดีที่สุด

ตอบ  ใช่

ตอบ  วิธีการปลูกก็ต่างกัน บางคนหว่าน บางคนใช้ขุดหลุมปลูก


ถาม  ผลลัพธ์ที่ได้ต่างกันไหม ได้เป็นต้นเหมือนกันไหม?

ตอบ  เหมือนกันค่ะ


ถาม  มีเอกลักษณ์ของแต่ละหมู่บ้านไหม ทั้ง 13 หมู่บ้าน?

ตอบ  ไม่มีส่วนมากก็ทำออกมาเป็นผ้าเหมือนกัน แล้วเอามาปัก เย็บกระโปรง เย็บเสื้อม้งเหมือนกัน

ตอบ  แต่จะมีหมู่บ้านหนึ่งเป็นหมู่บ้าน 13 ทำเยอะกว่าเพราะว่าเขาทำขายด้วย


ถาม  ได้ข้อมูลจากการวิจัยแล้วเราทำอย่างไรต่อ?

ตอบ  เอามาสรุปไว้เป็นลายลักษณ์อักษร การปลูก ขั้นตอนต่อไปคือการศึกษาเส้นใย ใน 13 หมู่บ้าน ไปดูของจริง โครงการนี้จบที่ขั้นตอนและการปลูกกัญชง ต่อไปจะพัฒนาไปจนถึงขั้นเป็นสินค้า เป้าหมายของพวกเราคือบันทึกทุกขั้นตอนจนเป็นผ้า พัฒนาต่อไปจนถึงเป็นสินค้า


ถาม  มีสินค้าที่อยู่ในใจของเราไหม?

ตอบ  เป็นผ้าคลุม ลายเขียนเทียน กระเป๋าร องเท้า กำไล สร้อยข้อมือ


ถาม  ระหว่างทำในทีมเราเคยทะเลาะกันไหม?

ตอบ  มีเถียงกันเรื่องการเดินทางขับรถไม่เป็น จะไปอย่างไร 13 หมู่บ้าน


ถาม  เรามีแค่ 3 หมู่บ้านและบ้านที่เหลือเราทำอย่างไร?

ตอบ  ไปหาเพื่อน พากันไป เรามีเพื่อนครบทุกหมู่บ้าน


ถาม  ตอนลงชุมชนแรกมีปัญหาไหม?

ตอบ  มีปัญหาเรื่องภาษา คนม้ง จะมีม้งขาวกับม้งเขียว ถ้าม้งขาวไปถามม้งเขียว เขาตอบมาอาจจะไม่เข้าใจ

ตอบ  จะมีบางคนพูดภาษาไทยไม่เป็นต้องบันทึกเสียงภาษาม้งมาแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งบางคำพวกหนูก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร


ถาม  พวกเราเป็นม้งขาวหรือม้งเขียว?

ตอบ  หนูม้งขาว

ตอบ  หนูม้งเขียว


ถาม  ไปที่ม้งขาวก็ให้ม้งขาวถาม ไปที่ม้งเขียวก็ให้ม้งเขียวถาม?

ตอบ  ใช่


ถาม  ชาวบ้านใหความร่วมมืออย่างไรบ้าง?

ตอบ  จากที่หนูไปถามอะไรที่รู้เขาก็ตอบมา อะไรที่ไม่รู้เขาก็บอกว่าไม่รู้


ถาม  แก้ไขปัญหาอย่างไรที่บ้านไกลและขับรถไม่เป็น?

ตอบ  บ้านหนูอยู่ในหมู่บ้านที่ไกลก็ใช้วิธีเพื่อนมานอนค้าง ไปเก็บข้อมูลด้วยกัน

ตอบ  ครูจะแบ่งเขตให้แต่ละคนไปหาเพื่อนไปจัดการ แบ่งสายไป ต่างคนต่างลงหมู่บ้านตัวเอง


ถาม  เพื่อนเราเข้าใจเหรอว่าทำอะไร?

ตอบ  ไปถึงเราก็อธิบายว่าเราต้องไปถามเกี่ยวกับกัญชงนะ

ตอบ  อธิบายเพิ่มเติมว่าแบบสอบถามถามเกี่ยวกับตรงนี้นะ จดไม่ได้ก็บันทึกเสียงมา ให้ถามเป็นคำถามปลายเปิด


ถาม  เรามีการเตรียมเพื่อนก่อน สอนการตั้งคำถาม เอาแบบสอบถามไปให้ จดไม่ได้ก็ให้บันทึกเสียงมา มีบ้างไหมที่เพื่อนไปเก็บข้อมูลแล้วได้ไม่ครบทำอย่างไร?

ตอบ  ดูจากหลายๆ อันมารวมกัน มีบางคนที่เราไปถาม เขาก็บอกว่าความเชื่อนี้ไม่มีนะ แต่พอไปถามอีกบ้านอันนี้มีนะ เราก็เอามาดูรวมกัน อันไหนที่คล้ายก็เอามารวมกัน อันไหนที่ไม่มีแต่อีกคนมีก็เขียนลงไป


ถาม  ข้อมูลอะไรบ้างที่น่าสนใจ

ตอบ  มีหลายอย่างที่สนใจ

ตอบ  ที่เอากัญชงมาผูกข้อมือเพื่อเป็นสิริมงคล

ตอบ  ที่เขาบอกว่ามีงูอยู่ไร่ในกัญชงจะไม่เอาไร่นั้นเลย อึ้งมากเพราะเขามองว่าเป็นลางไม่ดี หนูก็คิดว่ามีด้วยเหรอรู้สึกตกใจ ถ้าไม่เจอไม่เป็นไรแต่ถ้าเจอเขาจะทิ้งเลยค่ะ


ถาม  ต้นกัญชงเป็นพุ่มไหม?

ตอบ  เป็นต้นสูงแตกกิ่งย่อยๆ


ถาม  เขาปลูกอย่างไร?

ตอบ  บ้างก็หว่าน บ้างก็ขุดหลุมปลูก เป็นแนวก็มี


ถาม  ทุกหมู่บ้านไหม?

ตอบ  ส่วนใหญ่ แต่บ้านหนูไม่มี


ถาม  ปัญหาอุปสรรคมีอะไรไหม คนนี้ถามได้มาก คนนี้ถามได้น้อย?

ตอบ  มีค่ะถ้าแถวๆ นี้ คนจะเยอะพวกหนูถามไปเยอะ ทำไมของเขาได้แค่นี้ ทำเยอะก็ดี ได้หลายๆ คน เรื่องเวลาน้องติดสอบมาไม่ได้ เราติดสอบก็มาไม่ได้ ไม่เป็นไรก็เปลี่ยนวันนัดทำ


ถาม  อะไรที่ยากที่สุดในการทำโครงการนี้สำหรับทีม?

ตอบ  การสัมภาษณ์คนอื่นเพราะหนูไม่ค่อยพูดกับคนอื่น หนูทำไม่ค่อยถูก เราก็กลัวถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ เราก็ทำ ใช้ความกล้า อย่างไรก็ต้องทำ

ตอบ  ของหนูการสรุปของแต่ละหมู่บ้านเยอะมากจนทำให้เราปวดหัว ต้องนับจำนวนหมู่บ้านและครอบครัวที่ทำ เป็นข้อมูลที่เยอะ หนูค่อยๆ ทำ ถ้าทำไม่ไหวก็ดูซีรี่ยแล้วก็กลับมาทำต่อ

ตอบ  การพิมพ์สรุปข้อมูล เช่นพวกหนูมีโน๊ตบุ๊คไม่กี่คน ต้องเอากลับไปทำที่บ้าน เป็นงานที่ใช้เวลาทำสองคน ไม่เข้าใจก็ต้องทักเฟสไป

ตอบ  การสอบถามไม่กล้า พี่เขาบอกว่าสอบถามไปไม่เป็นไร สอบถามไปหนึ่งคนก็ชิน คนต่อไปก็ค่อยๆ ทำไป

ตอบ  เรื่องสัมภาษณ์ คนแรกหนูสั่นมาก รู้สึกเกร็งไม่กล้าถาม ถามไปถามมา คนที่สองที่สามราบรื่นขึ้น รู้จักตั้งคำถาม ชวนคุยมากขึ้น เราก็ต้องเจาะจงเรื่องนั้นแต่ไม่ต้องถามในแบบสอบถามอย่างเดียวให้เขาเล่าว่ามีการทำอย่างไร อธิบายมาเราก็จับใจความตรงกับคำถามเราบ้างก็จดไว้

ตอบ  การไปสัมภาษณ์ หนูเป็นม้งขาวแต่คนที่ต้องไปสัมภาษณ์เป็นม้งเขียว ส่วนมาก จะถามตรงๆ ไม่ได้ให้เพื่อนไปคุยก่อน ค่อยถามทีละคำบางคำก็ไม่รู้เพื่อนช่วยแปลให้


ถาม  หน้าที่ของเราที่ชัดเจนทำอะไรบ้างคนไหนมีสองหน้าที่ก็บอกได้เลย?

ตอบ  หนูเป็นคนประสานงานจดเบอร์ทุกคนที่ไปสัมภาษณ์ไว้ ลงไปสัมภาษณ์ ที่ไม่ได้ลงก็จะให้เพื่อนถามเบอร์มาให้หนูรวบรวม

ตอบ  ของหนูเป็นปฏิบัติการเกี่ยวข้องกับการลงพื้นที่ด้วย

ตอบ  การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม ส่วนแบบสอบถามช่วยกันทำ หนูลงพื้นที่หมู่บ้านตัวเอง

ตอบ  หนูเป็นธุรการเก็บเอกสารทุกอย่าง ทุกหมู่บ้าน จะแยกประเภทข้อมูลไว้ เวลาที่ครูถามหนูตอบ  ได้หมด หนูแยกตามหัวข้อ เอา 13 หมู่บ้านมารวมกัน เขียนกำกับไว้ว่าหมู่ไหน

ตอบ  หนูจดการประชุมทุกครั้ง เป็นเลขาการประชุม ต้องตั้งใจฟังครู เพื่อน จดทุกต้องฟังได้ สรุปประเด็นได้ จดลงไปทุกครั้ง จดให้ทัน จดไม่ทันก็ลืม

ตอบ  ทำหน้าที่ด้วยกันลงพื้นที่

ตอบ  ติดตามงาน พวกหนูใช้โซเซียลในการติดตามงานกัน


ถาม  เป็นหัวหน้าทีมรู้สึกอย่างไรบ้าง?

ตอบ  หนูว่ายากคือเราต้องดูแลทุกอย่างที่อยู่ในทีม ติดตามน้องตลอด ถามงาน รวบรวม เพื่อนในทีมน่ารักมีปัญหาแก้ไปด้วยกัน ผ่านไปด้วยกันให้ได้


ถาม  หัวหน้าทีมในความคิดของพวกเราเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบ  พี่เขากระตือรือล้น ตามว่าเสร็จไหม ถ้าไม่เสร็จก็จะช่วยแก้ไข พี่เขาจะตามแบบพอดี พี่เขาไม่ใช่คนพูดมากจุกจิกจะค่อยๆ บอก

ตอบ  พี่เขาสามารถปรึกษาได้ ถ้าเราไม่เข้าใจถามพี่เขาได้

ตอบ  ดีค่ะ บางครั้งเขาลืมหนูก็ว่าเขาบ้าง


ถาม  คะแนนเต็มสิบให้กี่คะแนนในการทำงานนี้?

ตอบ  เต็มสิบเพราะทุกคนทำเต็มที่ มีอะไรช่วยกันตลอด


ถาม  ข้อดี จุดเด่น จุดแข็งของทีมเราที่ทำให้โครงการสำเร็จคืออะไร?

ตอบ  ความพยายาม ทุกคนมีความพยายามกับการวิจัยนี้ ทำเต็มที่ บ่นบ้างแต่ทำจนสำเร็จ


ถาม  ตอนที่ทำงานพวกเราท้อมีบ้างไหม?

ตอบ  มีค่ะ


ถาม  ตอนที่พวกเราท้อทำอย่างไร? อะไรในตัวเราหรือเพื่อน หรือในทีมที่ทำให้เราสู้ต่อ?

ตอบ  มันคือหน้าที่ค่ะ เราจะท้อไม่ได้ เพราะงานนี้เป็นเรื่องวัฒนธรรมของเราด้วยค่ะ ถ้าเราท้อคนสมัยนี้เทคโนโลยีเข้ามาเขาก็จะลืม ถ้าเราไม่ช่วยกันโครงการนี้ก็ไปต่อไม่ได้ค่ะ


ถาม  ทุกคนรู้จักหน้าที่ รับผิดชอบเห็นเป้าหมายร่วมกัน ปกติพี่กับน้องรู้จักสนิทกันมาก่อนไหมคะ?

ตอบ  ไม่ค่ะ


ถาม  พอเราทำโครงการนี้ความสัมพันธ์ของเราเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบ  สนิทกันเหมือนพี่น้อง ตอนแรกไม่กล้าคุยกับพี่ๆ ตอนนี้คุยกันได้

ตอบ  เราจะเจาะจงเรื่องกัญชงอย่างเดียว


ถาม  จุดเด่นอื่นมีอีกไหม?

ตอบ  พวกหนูมีความสามัคคีมาก การแยกแบบสอบถามเยอะมาก ทุกคนมาช่วยกันแยกไปแยกมาก็ปนกัน ถึงแม้ว่ามันปนกันอย่างไร เราก็สามารถแยกใหม่ด้วยกันได้ ไม่มีใครเกี่ยง มีบ่นๆ บางแต่เราก็ทำใหม่ได้ เริ่มใหม่ได้


ถาม  สามัคคีคือเรื่องเข้าใจกัน เข้าใจงานร่วมกัน

ตอบ  ยอมรับกัน ว่าคนนี้ก็เป็นอย่างนี้ล่ะ เอาใหม่ๆ


ถาม  เราทำงานด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อกัน มีทั้งความพยายามและความสามัคคีกัน คำถามอีกข้อจุดเด่นของทีมเราที่เป็นทีมที่ดีคืออะไร?

ตอบ  พวกหนูมีเป้าหมายคือกัญชง มุ่งจะทำให้กัญชงเป็นสินค้าทำให้มีรายได้ให้ได้ สร้างลายใหม่ให้กับตัวเองได้ไม่ใช่เย็บเป็นเสื้อใส่เท่านั้น

ตอบ  เรามีแรงจูงใจถ้าเราทำได้จริงๆ เราจะมีตังค์เป็นของตัวเอง คือแรงจูงใจ


ถาม  เรามีความฝันของตัวเองว่าอย่างไร?

ตอบ  มีชาวต่างชาติมาซื้อผ้ากัญชงไปใส่ ไปโชว์ให้คนอื่นดู

ตอบ  หนูอยากเป็นนักเทคนิคการแพทย์ อยากรู้ว่าการทำงานห้องแลบเป็นอย่างไร หนูเห็นเขาทำงานตอนเจาะเลือด อยากรู้ว่าทำอย่างไร?

ตอบ  หนูอยากเป็นผู้กำกับหนูชอบดูภาพยนตร์ อยากลองไปทำว่าเป็นอย่างไร เช่นพวก 4G

ตอบ  หนูอยากเป็นนางแบบ หนูจะได้โชว์สินค้าของหนู คนทั่วโลกจะได้รู้จัก

ตอบ  หนูคุยเล่นกับเพื่อนว่าถ้าไม่รู้จะเรียนอะไรจะไปเรียนตัดเย็บ แล้วก็ตัดชุดให้เพื่อนใส่เป็นนางแบบ

ตอบ  ของหนูคือจะกลับไป อยากให้หมู่บ้านของหนูมีศูนย์ ร้านที่ขายผ้ากัญชง ทำเรื่องกัญชง ใครมาเยี่ยมชมได้ ที่หมู่บ้านมีสถานที่ท่องเที่ยว

ตอบ  พี่หนูขายของอยู่แล้ว หนูอยากทำเป็นผลิตภัณฑ์ เอาผักผลไม้มาทำให้เป็นสินค้า ส่งออกไปต่างประเทศ อยากที่สุดคืออยากทำงานต่างประเทศ


ถาม  ถ้าโครงการเสร็จสิ้นไป เราเติบโตเปลี่ยนแปลงอย่างไรจากโครงการนี้ หลังจากหกเดือน?

ตอบ  หนูสนใจกัญชงมากขึ้น เมื่อก่อนไม่รู้เกี่ยวกับกัญชงเลยเพราะที่บ้านไม่ได้ปลูกกัญชง

ตอบ  ได้รู้ถึงกัญชงที่บ้านไม่ปลูกไม่เคยเห็นต้นกัญชงเลยเป็นอย่างไร อยากรู้ว่ากัญชงมีประโยชน์อย่างไร

ตอบ  ส่วนมากม้งขาวไม่ปลูก ส่วนมากคือม้งเขียวที่ปลูก

ตอบ  หนูไม่เคยเห็นเลยว่ากัญชงเป็นอย่างไร หนูสนใจมากขึ้นที่จะต่อยอด ถ้าหมู่บ้านหนูมีศูนย์การเรียนรู้กัญชงก็จะดี

ตอบ  ทำให้เรากล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ต้องฟังความคิดเห็นคนอื่นอย่างนี้ กล้าแสดงออกความคิดเห็นมากขึ้น ทำให้หนูกล้าพูดมากขึ้น เราจะไปถามใครทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น

ตอบ  ความกระตือรือล้น ตอนแรกที่ทำหนูเฉยชาและทำช้า ตอนที่เรามาทำโครงการครูก็จะกระตุ้น นัดส่งวันนี้นะให้ทำวันนี้ต้องส่งแล้วนะ ทำให้เราตื่นตัวในตัวเอง

ตอบ  ทั้ง 9 โครงการเวลาไปเจอกัน ได้ประสบการณ์และการเข้าสังคม เติบโตอีกก้าว กล้าแสดงออก กล้าถามทุกอย่างจากที่ไม่รู้จักโครงการ


ถาม  พวกเรารู้สึกว่าเรียนรู้เรื่องกัญชงตลอดหกเดือน เรามองหมู่บ้านเราต่างจากเดิมไหม หรือรู้สึกอย่างไรกับบ้านเรา มีคุณค่ากับเราอย่างไร?

ตอบ  ตอนที่ไปสัมภาษณ์ แม่คนหนึ่งบอกว่าเขาจำกัดพื้นที่การปลูกกัญชง บางคนลดการปลูก อยากให้ทำลูกหลานรู้การปลูกกัญชง ถ้าเราทำขึ้นมาคนก็จะรู้ประโยชน์ของกัญชง

ตอบ  ตอนแรกเราไม่รู้เราไม่สนใจใส่ว่ามันจะหายไป แต่พอเรารู้ว่าต้องเก็บไว้เป็นอะไรที่ดี เราต้องเก็บไว้ต้องไม่หายไป ทำให้เรามองว่า ถ้าเราไม่สนใจ คนรุ่นพ่อแม่เสียไป เราจะใช้อะไรมาเย็บเสื้อผ้าม้ง จะใช้ผ้าใยสังเคราะห์อย่างเดียวเหรอ คงไม่ดี ตั้งแต่ก่อนมาเราควรอนุรักษ์ให้ถึงที่สุด


ถาม  ตอนที่เราลงชุมชนเรามีแบบสอบถาม ตัวเราเองได้เห็นหมู่บ้านนั้น มีอะไรที่เราเอ๊ะ คนม้งหมู่บ้านนี้เราเห็นมาตลอด เรารู้จักมากขึ้นเจอเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่กัญชง แต่เป็นความรู้ใหม่ของเรา ในวิถีวัฒนธรรม ภาษา

ตอบ  ความเชื่อการปลูกกัญชง พิธีกรรมงานศพแม่บอกว่าจะมีผ้ากัญชงสองข้างเปิดลงมา ทำเพื่อให้เป็นทางเดินไปสู่สวรค์ค่ะ


ถาม  ข้อมูลเยอะมากเราเก็บไปจำนวนเท่าไร?

ตอบ  อย่างน้อยหมู่บ้านละหกชุด รวมแปดสิบกว่าชุด


ถาม  การสร้างทีมที่ดีในความคิดเราต้องทำอย่างไรบ้าง?

ตอบ  ต้องสนใจเรื่องเดียวกัน สามัคคีกัน

ตอบ  รอยยิ้มความเฮฮา บรรยากาศที่ดี

ตอบ  ตรงต่อเวลา มีความพยายามอดทนไม่ท้อถอย


สัมภาษณ์วันที่ 18 มกราคม 2563

­