สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการการใช้กีฬาในการสร้างพลังความร่วมมือกลุ่มเยาวชนทือกเขาบาตู

       กลุ่มเบอะบลาตู มาจากคำว่า เบอะ แปลว่า ลูกเดือย บลา แปลว่าภูเขา ตู แปลว่า แข็งแรงอดทน ชื่อนี้มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เป็นชื่อของเทือกเขา หมู่บ้านของกลุ่มเยาวชน ทั้ง 6 หมู่บ้าน อยู่ในหุบเขาแห่งนี้ พวกเขาจึงใช้ชื่อนี้เป็นตัวแทนของที่จะบ่งบอกว่าพวกเขาจะแข็งแรง อดทน หยัดยืนเพื่อที่จะดูแลปกป้องเทือกเขาที่อยู่อาศัย

       กลุ่มเบอะบลาตู เริ่มต้นจากแกนนำเยาวชน 6 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 คน แต่สมาชิกที่ร่วมทำกิจกรรมมีมากกว่า 30 คน พวกเขารู้จักกันจากปัญหาที่ดินทำกิน ก่อนหน้านี้หน่วยงานราชการจะขอคืนพื้นที่ป่า และประกาศพื้นที่ป่าชุมชนเป็นเขตอุทยาน ซึ่งหมายถึงพื้นที่ทำกินของครอบครัว ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่พูดและอ่านภาษาไทยไม่ได้ พวกเขาเกรงกลัวเจ้าหน้าที่รัฐและไม่มีอำนาจต่อรอง กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่จึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อเป็นตัวกลางในการเจรจากับรัฐ เมื่อมีเครือข่ายในการเจรจา เจ้าหน้าที่รัฐก็เกรงใจและใช้อำนาจน้อยลง ปัญหาที่เกิดชึ้นเป็นแรงขับให้พวกเขาทั้ง 6 ชุมชนมารวมตัวกัน พวกเขาอยากสานพลังและทำงานอย่างต่อเนื่อง จึงทำโครงการการใช้กีฬาในการสร้างพลังความร่วมมือกลุ่มเยาวชนเทือกเขาเบอะบลาตู เพื่อใช้กีฬาเป็นตัวแทนแห่งความร่วมมือ พวกเขามองว่าการเล่นกีฬาไม่ใช่เพื่อกีฬา และกีฬาเป็นตัวแทนของมิตรภาพ แต่พวกเขามองว่าน่าจะลองออกแบบการเล่นกีฬาจากฐานรากเดิมทางวัฒนธรรม จึงสืบค้นหาข้อมูล การเล่น การละเล่นในชุมชน

      ด้วยการเดินทางในเทือกเขาที่ห่างไกลหมู่บ้านของสมาชิกแต่ละคนอยู่ไกลกันและสัญญาณโทรศัพท์มีน้อยมาก พวกเขาจะประชุมกลุ่มกันเดือนละ 1 – 2 ครั้งแบ่งหน้าที่กันไปหาข้อมูลกับปราชญ์ชุมชน นำข้อมูลมาออกแบบกิจกรรมกีฬา ระหว่างการทำการสืบค้น พวกเขาได้ความรู้ใหม่ๆ จากชุมชน เช่น ของเล่นตามฤดูกาล การเล่นที่ผนวกกับความเชื่อและการทำอยู่ทำกิน กุศโลบายในการทำเครื่องมือที่จะนำร่องการปลูกข้าวไร่ เป็นต้น พวกเขารู้สึกตื่นเต้นที่ได้รู้ความหมาย แม้บางหมู่บ้านผู้ใหญ่ในชุมชนจะรู้สึกไม่ไว้วางใจ คิดว่าเยาวชนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่กล้าให้ข้อมูล แต่ทีมเยาวชนเบอะบลาตูไม่ท้อ อดทน เพียรอธิบายจนชาวบ้านเข้าใจ

     ด้วยมิตรภาพและเคารพความเป็นมนุษย์ เคารพสิทธิและความเท่าเทียม พวกเขาออกแบบกิจกรรมกีฬาโดยให้คนที่มาเข้าร่วมทั้งหมดคละกันและแบ่งออกเป็นสี เขามองว่าเวลาจัดกีฬาชุมชนของ อบต. จาก 9 ชุมชน มีการตีกัน ทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำ บางชุมชนยังแตกกันเป็น 2- 3 ทีม การสังเกตและวิเคราะห์เหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบกิจกรรม พวกเขายืนยันว่าไม่ชอบการทะเลาะกัน กิจกรรมจึงมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือ มิตรภาพ โดยให้ผู้หญิงและผู้ชายเล่นร่วมกันได้ กีฬาฟุตซอล 5 คน จะมีผู้หญิง 2 คนผู้ชาย 3 คน และในสนามผู้หญิงสามารถจับบอลและโยนใส่ประตูได้ ทุกคนมาเล่นกีฬา ทุกคนได้ถ้วยรางวัล ทุกคนได้มิตรภาพและผนึกกำลังเป็นเครือข่ายกัน หลังกิจกรรมพวกเขาชวนนักกีฬาทุกคนล้อมวงถอดบทเรียน (Reflection) น้องผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า “ขอบคุณที่ไม่ทิ้งผู้หญิง เรารู้สึกถึงความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน ทุกคนมีคุณค่าเหมือนกัน” และเยาวชนชายต่างหมู่บ้าน “ชอบกิจกรรมมาก และขอเข้าร่วมในครั้งถัดไปด้วย” ทีมงานทุกคนก็รู้สึกดี ภูมิใจในสิ่งที่ช่วยกันคิดและลงแรงทำ

     ปัจจัยหลักที่ทำให้วัยรุ่นชายที่ดูเหมือนอุปนิสัยเลือดร้อน มุทะลุมารวมตัวกันหลายคน ทำงานด้วยความรักใคร่ปรองดอง และใช้พลังงานไปในทิศทางที่ถูกที่ควร เพราะพวกเขามีเป้าหมายและหัวใจเดียวกัน “ไม่มีใครรู้ปัญหาดีเท่ากับคนในชุมชน พวกเราทำโดยไม่หวังอะไร สมัยก่อนไม่มีใครเลยที่กล้าตรวจสอบนโยบายรัฐที่ลงมาในพื้นที่ โครงการอะไรลงมาก็รับหมด โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะมีผลอย่างไรต่อคนรุ่นหลัง พวกเราคนรุ่นใหม่เท่าทันสถานการณ์ ได้รับข่าวสารจากภายนอกจึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อต่อรอง” พวกเขาเล่าด้วยแววตาที่มีความหวังและอยากเห็นความเป็นธรรม “ถึงแม้เราจะมีปัญหา เราจะคุยกันต่อหน้าเลยครับ จะไม่โกรธ เราสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา เปิดใจ ไว้วางใจกัน ไม่เอาไปพูดให้คนอื่นฟัง ต้องสร้างความไว้วางใจกันในทีม”

     การทำโครงการฯ โดยมีวิทยาลัยโพธิวิชชาลัยเป็นพี่เลี้ยงทำให้มุมมองพวกเขากว้างขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น สามารถวิเคราะห์สถานการณ์และมองการณ์ไกลขึ้นกว่าจากเดิม การรวมตัวเป็นเครือข่ายสร้างโมเดลการดำเนินชีวิตให้น้องๆ เด็กๆ ที่เห็นพวกเขาเป็นตัวอย่าง เห็นความกล้าหาญที่พี่ๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อรองอย่างมีเหตุมีผล “ผมคิดว่าจุดเด่นของทีมเราคือมีพี่ๆ เป็นแกนนำที่กล้าหาญและเข้มแข็ง” น้องเยาวชนพูดถึงทีม ในขณะที่รุ่นพี่แกนนำก็ตอบกลับมาทันทีว่า “น้องๆ เป็นหนึ่งแรงและกำลังใจให้กับพวกเรา เหตุผลหลักที่เรายังทำงานอยู่ตรงนี้เพราะน้องๆ เป็นแรงบันดาลใจ พวกเขาก็เป็นกำลังใจให้เราเหมือนกัน ในการทำแต่ละครั้ง ถ้าไม่มีน้องๆ พวกเราก็ทำแบบนี้ไม่ได้” มิตรภาพบนเทือกเขาเบอะบลาตูเบ่งบานด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักและหวงแหนบ้านเกิด ดอกไม้ในหุบเขาจะบานและเติบโตเต็มทุ่งด้วยมือที่เข้มแข็งเฝ้าถนอมพรวนดิน ต้นไม้ที่แข็งแรงเฝ้าฝันว่าสักวันหนึ่ง คนในกลุ่มเยาวชนเบอะบลาตูจะเป็นผู้นำชุมชน พัฒนาและดูแลกันและกัน

ความโดดเด่น :

  • อุดมการณ์และหัวใจเดียวกัน ที่อยากปกป้องหมู่บ้าน ชุมชนและแหล่งทำกินทำให้เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายและออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์
  • กิจกรรมสร้างสรรค์ที่เคารพความเป็นมนุษย์ เคารพสิทธิและความเท่าเทียม ออกแบบโดยคำนึงถึงการไม่สร้างความขัดแย้งใหม่ ให้หญิง ชาย ได้แสดงศักยภาพก่อให้เกิดมิตรภาพร่วมกัน
  • การใช้พลังงานวัยรุ่นไปในทางที่สร้างสรรค์ สังเกต เรียนรู้ หาบทเรียน เชื่อมั่นและวางใจในทีม พร้อมทั้งกล้าเรียนรู้และพัฒนาทีมของตัวเอง
  • ชุมชนได้กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่ถูกฝึกให้มีภาวะผู้นำร่วม ทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นตัวแทนของชุมชนในการเจรจาต่อรองหน่วยงานรัฐ/หน่วยงานภายนอกเมื่อมีปัญหาหรือเกิดผลกระทบกับชุมชน
  • การทำงานเป็นทีม

­

บทสัมภาษณ์ โครงการการใช้กีฬาในการสร้างพลังความร่วมมือกลุ่มเยาวชนทือกเขาบาตู

ผู้ให้สัมภาษณ์

  1. นายจักรพล มรดกบรรพต (จักร์) อายุ 24 ปี ศึกษาระดับปริญญาตรี สังคมศาสตร์ (สาขารัฐศาสตร์) มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เชียงใหม่
  2. นายศุภชัย เสมาคีรีกุล (บี้) อายุ 21 ปี จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนหอปริยัติจังหวัดลำพูน
  3. นายธีระ วงศ์จำเนียง (เล็ก) อายุ 27 ปี จบวิทยาลัยการอาชีพแม่สอด ปัจจุบันเป็นครูสอนเด็กเล็ก ห้องเรียนสาขาโรงเรียนบ้านขุนแม่เหว่ย
  4. นายยงยุทธ วิทูรแดนไพร (รถกะบะ) อายุ 15 ปี จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านท่าสองยาง
  5. นายชูชัย เกษมสุขไพศาล (ชูชัย) อายุ 15 ปี จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านแม่อมกิ
  6. นายชานน อุดมรักพันธ์พง (นน) อายุ 16 ปี จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวิสิฐวิทยาวัดนางแล


สัมภาษณ์วันที่ 19 มกราคม 2563




ถาม ขอให้แนะนำตัวว่า เป็นใครชื่ออะไรกันบ้าง ทีมเราทำบทบาทอะไร?

ตอบ ผมชื่อจักรพลในทีมรับผิดชอบทำบัญชี และเป็นรองประธาน หน้าที่หลายอย่าง บางทีก็สับสนว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ทำงานร่วมกัน

ตอบ ผมชื่อบี้ในโครงการเป็นหัวหน้าโครงการ

ตอบ ผมชื่อเล็กในโครงการเป็นผู้ประสานงานโครงการ ประสานชุมชนทั้ง 6 ชุมชน นัดวันประชุมร่วมกัน

ตอบ ผมชื่อชูชัยมาช่วยงาน ทำกับข้าวเตรียมสถานที่อำนวยความสะดวก

ตอบ สวัสดีครับ ผมชื่อชานนท์ ชื่อเล่นนนท์ ทำหน้าเกี่ยวกับสื่อถ่ายรูป

ตอบ สมาชิกมีเยอะกว่านี้


ถาม กลุ่มของเรามีทั้งหมดมีทีมกี่คน?

ตอบ กำหนดในโครงการหมู่บ้านละ 2 คน รวมเป็น 12 คน แต่มีมากกว่านั้น ประมาณ 30 ถึง 50 คน ไม่ได้ลงชื่อเป็นทางการ ที่อยู่ด้วยกันเป็นเพื่อนกัน จำนวนไม่แน่นอนว่าเท่าไร เวลาจัดกิจกรรมใหญ่ๆ เพื่อนอยู่ที่อื่นที่เชียงใหม่ก็กลับมาช่วยกัน

ตอบ กลุ่มของเราชื่อว่าเบอะบลาตู เบอะ แปลว่า ลูกเดือย บลา แปลว่าภูเขา ตูแปลว่า อดทน ตูแปลว่าแข็งแรงอดทน ชื่อนี้มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เป็นชื่อของภูเขา เทือกเขาหลายลูก บลาตูคือเทือกเขาหลายลูกซ้อนกัน ชุมชนจะอยู่ติดกันในหุบเขานี้ จึงเอาชื่อเทือกเขามาตั้งเป็นชื่อกลุ่ม


ถาม ใครเป็นคนตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา?

ตอบ พี่คนหนึ่งตอนนี้เรียนที่เชียงใหม่ เป็นคนก่อตั้งร่วมกับผม ตอนแรกไม่คิดว่าจะตั้งเป็นเบอะบลาตู ไม่คิดว่าจะได้ทำโครงการ พวกเรามีความสนใจอยากรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว พอดีปีนั้นทางอาจารย์ชิไปจัดกิจกรรมที่ขุนแม่เหว่ย ผมและเพื่อนไปร่วม จึงได้พบกับอาจารย์ อาจารย์เสนอว่าลองทำโครงการดูไหม ตอนแรกเรามีเป้าหมายแค่ว่า เราอยากสืบสานวัฒนธรรมของเรา ไม่อยากให้หายไป เมื่อก่อนเราเห็นมีงานปีใหม่งานสงกรานต์

ตอบ พอช่วงหลังๆ รู้สึกว่าเริ่มหายไป เราในฐานะเยาวชนรุ่นใหม่ รู้สึกว่าประเพณีแบบนี้น่าจะกลับมา คุยกันกับพี่ หลังจากนั้นยังไม่ได้เริ่มทำกิจกรรม เจอปัญหาก่อน ปัญหาเกี่ยวกับที่ดินทำกินก็เลยพ่วงกันยาวจนถึงทุกวันนี้

ตอบ ปัญหาที่ดินที่เกิดขึ้นจากรัฐ ประกาศคืนพื้นที่ป่า รัฐบาลกรมป่าไม้จะเอาที่ป่าชุมชนเข้าโครงการ ถ้าโครงการนี้ลงไปในหมู่บ้านมีเงื่อนไขอยู่ว่าคนอยู่ในป่าไม่ได้ ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์คนไม่สามารถอยู่ได้ พื้นที่มีความลาดชันเกิน 35% ไม่สามารถอยู่ได้ เงื่อนไขนี้มีอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาเจรจาในเรื่องนี้ เราก็ต้องอพยพ ก็เลยพ่วงกันจนถึงทุกวันนี้

ตอบ ถ้าสิ่งนี้เข้ามาชาวบ้านเองเขาแทบฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง แล้ววันหนึ่งถ้าพวกเราไม่ลุกขึ้นแบบนี้ เพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้าน มันจะเป็นปัญหาที่ว่าเขาเข้ามาได้ง่ายๆ


ถาม เรื่องนี้เราคิดได้เองเลยไหมหรือว่ามีใครมาบอก?

ตอบ เป็นสิ่งที่พวกเราคิดขึ้นมาเอง เพราะว่ามาเจอกับตัวเอง ก็เลยรวมกลุ่มกันเพื่อเป็นตัวกลางในการเจรจากับรัฐ เป็นตัวแทนชาวบ้าน จากหมู่บ้านเดียวก็เลยรวมกับหมู่บ้านอื่น เป็นเครือข่ายกัน เคยมีกรณีเจ้าหน้าที่เข้าไปในชุมชนของบ้านผม พอดีวันนั้นกลุ่มเยาวชนประชุมกัน ก็เลยขอแรงของกลุ่มนี้ขึ้นไปช่วยเจรจาพูดคุย เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าใจชุมชนของผม กลุ่มเบอบาตู ช่วยอธิบายให้ชาวบ้านฟัง ชาวบ้านปกติจะกลัวเจ้าหน้าที่ ผมรู้สึกว่าเขาไม่ค่อยเห็นหัวเราเวลาเข้ามาก็มาเลย พอเราลุกขึ้นมาแบบนี้เขาก็เห็นว่า กลุ่มหมู่บ้านนี้มี กล้าที่จะตอบโต้ สร้างความเกรงให้เขา ปัญหานี้เป็นแรงขับให้พวกเราทั้ง 6 ชุมชน มารวมตัวกัน ตอนนี้เราพยายามจะสร้างกลุ่ม ถ้าเป็นไปได้อยากทำให้เป็นสำนักงานชุมชนไหนมีปัญหาจะได้เข้าไปปรึกษา ถูกจุดถูกคนถูกกลุ่มที่จะช่วยเขา

ตอบ ตอนนี้เรามีกลุ่ม 6 หมู่บ้านคือต่างคนต่างอยู่คนละทิศคนละทาง ทำงานทำไร่หมุนเวียนของตัวเอง ถ้าวันหนึ่งมีปัญหา ไม่รู้ว่าจะไปปรึกษาใคร วันนั้นที่เราได้ขึ้นไปช่วยเจรจา ตรงกับวันประชุมกลุ่มพอดี ถ้าเราไม่มีการประชุม อาจไม่ได้ขึ้นไปช่วย อยากมีกลุ่มที่เข้มแข็ง มีตัวตนจริงๆ


ถาม กลับมาที่โครงการทำไมเราถึงอยากทำโครงการนี้หัวข้อนี้?

ตอบ กีฬาสามารถดึงกลุ่มได้ดีที่สุด กลุ่มเป้าหมายของเรา คือกลุ่มเยาวชน เราจึงใช้กีฬาดึงเยาวชนทั้ง 6 หมู่บ้าน


ถาม เราเลือกใช้กีฬาพื้นบ้าน?

ตอบ ใช่แต่ว่ายังไม่ตอบโจทย์ มีทั้งข้อดีข้อเสียในการใช้กีฬาพื้นบ้าน มองในแง่ดีได้เผยแพร่วิถีชีวิต การละเล่นในสมัยก่อน ข้อเสียเยาวชนไม่สนใจ เพราะว่ามันเป็นสิ่งใหม่ ยังไม่เคยเห็นยังไม่เคยเจอจึงยังไม่สนใจแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้ามีฟุตบอลจะสนใจเยอะกว่านี้ แต่เราก็ประสบความสำเร็จพอสมควร น่าจะผิดพลาดเพียงไม่มีประเภทกีฬามากกว่านี้


ถาม กีฬามีประเภทอะไรบ้าง?

ตอบ มียิงลูกสะบ้า ขาหยั่งโก๋งเก๋ง หนังสติ๊กคันธนูยิงลูกก้อนดิน คันก๋ง ใส่เป้า ยิงปลากระป๋อง กระบอกไม้ไผ่ตักน้ำวิ่งแข่งกัน ในอดีตคนปากะญอไม่มีแกลลอนน้ำ เขาจะใช้กระบอกไม้ไผ่มาตัด


ถาม มีทีมงานกี่คน?

ตอบ มีประมาณ 10 คน


ถาม การทำงานของทีมเรา 10 คนเป็นอย่างไร ทำงานด้วยกันยังไง?

ตอบ คุยกันเจอกันน้อย แต่ละคนมีหน้าที่ของตัวเอง พี่ที่เรียนเชียงใหม่แทบจะไม่ได้เจอกัน นอกจากจะมีกิจกรรมใหญ่ หรือว่าเขาว่าง การทำงานร่วมกันอยู่ที่ทัศนคติของเรา อยู่ที่อุดมการณ์ของเรา เวลาของเรา ถึงแม้ไม่ได้เจอกันเราคุยกันในแชทกลุ่มทุกวัน ทำเรื่องที่ดินปัญหามีไม่จบไม่สิ้นเราก็คุยกันติดต่อกันตลอด


ถาม เมื่อเราได้โครงการมาแล้ว หัวข้อนี้เราได้รับโจทย์มาเราแบ่งหน้าที่ หรือวางแผนงานหรือทำงานกันยังไงเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จ?

ตอบ โครงการมีหลายกิจกรรม กิจกรรมแรกคือการประชุม ทีมงานวางแผนในวันนั้นให้น้องเป็นสื่อ เพื่อนอีกคนทำเกี่ยวกับบัญชี แบ่งฝ่ายกันค่อนข้างเป็นรูปเป็นร่าง เราแบ่งหน้าที่กันจากความถนัดและความสมัครใจ ถ้าเขามั่นใจว่าสิ่งนี้เขาถนัด เขาก็สมัครลงไป มันอาจจะไม่พอดีเป๊ะ บางคนถ้ายังทำไม่เป็น ให้ลองทำฝึกตัวเองไปด้วย พัฒนาตัวเองไปด้วย ลงมือทำกิจกรรม โครงการนี้เราวางแผนไว้ 6 กิจกรรม

ตอบ ประชุมเสร็จอีกกิจกรรมแรก คือออกแบบเครื่องมือในการเก็บข้อมูล เราทำเรื่องกีฬาพื้นบ้าน เราต้องไปถามผู้รู้ปราชญ์ในหมู่บ้าน เราวางแผนหัวข้อที่จะถามคำถาม กิจกรรมที่ 2 เตรียมเครื่องมือในการเก็บข้อมูล กิจกรรมที่ 3 สรุปข้อมูลและออกแบบกิจกรรมกีฬา สรุปก็คือเราทำไปตามขั้นตอนวิจัยที่เขียนไว้ และพยายามที่จะเจอกันให้มากที่สุดเดือนละ 2 ครั้ง เดือนละครั้งถ้าเราปล่อยไว้นานเราจะลืม


ถาม ตอนที่เราลงชุมชนไปเก็บข้อมูล พวกเราได้ข้อมูลแล้วรู้สึกยังไงบ้าง ได้เจอประสบการณ์ใหม่ๆ อะไรบ้างในความคิดของเรา?

ตอบ เยอะครับอย่างที่เราเก็บข้อมูล เราถามหลายหัวข้อหลายประเด็น กีฬาแต่ละชนิดมีความเชื่อด้วย เรารู้สึกว่าว้าวเหมือนกัน บางชนิดไม่สามารถเล่นได้แล้ว บางชนิดเล่นได้เฉพาะฤดูกาล มีความเชื่อเหมือนกับการพุ่งแหลม เขาใช้ไม้ไผ่ที่ใช้ปลูกข้าวนำร่องปลูกข้าวไร่ จะมีเสียงและต้องทำไม้ไผ่ยาว ไม้ไผ่นั้นจำกัดด้วยว่าต้องมีกี่ปล้อง ดูด้วยว่าปลายของไผ่เอียงไปทางทิศไหน เพื่อดูความหมาย ถ้าผิดทิศอาจเกิดอาเพศ สิ่งไม่ดีเข้ามาได้ ความเชื่อเช่น ถ้าตอนที่ไปตัดยอดไผ่หันไปทางทิศตะวันออก ทำนายว่าปีนี้ข้าวดี


ถาม เรามีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง?

ตอบ ปัญหาอุปสรรคเรื่องเวลา เวลาเจอกันมีน้อยเกินไป อยากเจอกันทุกอาทิตย์ เพื่อที่จะไม่ขาดช่วงขาดตอน เรื่องการเดินทางด้วย แต่ละหมู่บ้านก็อยู่ห่างไกล อยู่บนดอยคนละลูก ช่วงฤดูฝนลำบาก สัญญาณโทรศัพท์บางทีติดต่อไม่ได้ ผมจะโทรเพื่อน ผมมีสัญญาณแต่อีกคนไม่มีสัญญาณ มันเป็นปัญหาเรื่องการติดต่อกันของเรา


ถาม เราแก้ปัญหาอย่างไร?

ตอบ เราก็เข้าไปในหมู่บ้านเลยบางครั้ง ผมไม่ค่อยเปิดอินเทอร์เน็ต เพื่อนๆ ก็ฝากข้อความไว้ในแชท ผมจะอ่านข้อความในแชทประมาณ 3-5 วัน/ครั้ง ก่อนที่จัดงานแต่ละครั้งเรารู้ว่า เราจัดงานวันนี้ จัดเสร็จเราจะนัดกันว่าในวันนั้นจะมาเจอกัน แล้วดูว่าจะถึงวันที่ต้องประชุมเมื่อไร


ถาม นอกจากปัญหาในเรื่องทีมแล้วเรามีปัญหาในสิ่งอื่นๆ ไหม จากชุมชนมีบ้างไหม?

ตอบ บางชุมชนผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ทำทำไมทำไปเพื่ออะไร บางครั้งเขาก็มองว่าพวกเราเป็นเจ้าหน้าที่ให้กับรัฐด้วยซ้ำ มาเก็บข้อมูลทำไม ไปส่งข้อมูลให้กับใครหรือเปล่าแบบนี้ก็มีอยู่ เราก็แก้ปัญหาโดยการอธิบายเรื่อยๆ ไม่ทำแค่ครั้งเดียวทำซ้ำๆ เรื่อยๆ พยายามอธิบาย อีกอย่างหนึ่งในชุมชนส่วนใหญ่ทั้ง 6 หมู่บ้าน เยาวชนเป็นแกนนำเยอะกว่าผู้ใหญ่ พอเป็นแบบนี้เราก็มีโอกาสที่ได้คุย มีโอกาสทำความเข้าใจเยอะมากขึ้น


ถาม น้องมีปัญหาบ้างไหมเวลาทำงาน?

ตอบ สื่อก็มีปัญหาเรื่องไม่มีอุปกรณ์ เช่น กล้องก็จะใช้โทรศัพท์แทน


ถาม ในจุดที่น่าพึงพอใจหรือยังถ้าคะแนนเต็ม 10 เราให้คะแนนเท่าไหร่?

ตอบ 7 , 9 ,8, 10, 8


ถาม ทำไมเราถึงให้ประมาณนี้อยากทราบเหตุผล?

ตอบ เรื่องการรวมตัวยังรวมตัวกันไม่ได้เต็มที่ ยังต้องมีแกนหลัก มีพบปะกันได้อยู่บ้าง ยังไม่ครบ รักในการเป็นแกนนำที่ยังพอช่วยขับเคลื่อนไปได้

ตอบ ผมบางครั้งยังไม่ค่อยมั่นใจ

ตอบ ให้สิบสำหรับผมเพราะว่าพวกพี่ทำได้ดี สิ่งที่พี่ทำได้ดี ได้เป็นแกนนำให้กับน้องๆ

ตอบ ส่วนตัวผมให้ 8 ก็คือ ด้วยภาระหน้าที่ของแต่ละคน หมายถึงเยาวชนอยู่ต่างที่กัน

ตอบ สำหรับผมให้ยังไม่เต็ม 10 เพราะว่าการเป็นคนนำ จะต้องเก่งและแกร่งมากกว่านี้ มีการพลิกแพลงถ้าสร้างตัวนี้ได้ก็จะให้เต็มสิบ

ตอบ ที่ให้ 7 เพราะว่าตัวเอง มีปัญหาหลายอย่างในการทำงานรู้สึกว่า อยากให้สิบเหมือนกัน เราทำได้ถึงขนาดนี้ ลองประเมินตัวเองในระยะสั้น ถ้าเป็นรูปเป็นร่างผมจะให้เต็ม 10 แต่ตอนนี้ยังไม่เต็ม 10 เพราะยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ยังขาดคนทำงานคนเก่งแต่ละด้าน ความคิดของผมยังต้องการคนทำบัญชีทำเอกสาร ผมอยากมีโครงการที่มีชั้นเชิงในการปะทะ การสังเกตการณ์ แต่ตอนนี้ทุกคนกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนา การเรียนและประสบการณ์อย่างน้อย เลยให้ 7 คะแนน


ถาม ในฐานะแกนนำ เราคิดว่าการสร้างทีมที่ดีมันต้องมีอะไรบ้าง?

ตอบ ผมคิดว่าควรศึกษาให้เยอะขึ้นและหาประสบการณ์ให้มาก และฝึกทำอย่างจริงจัง พอจริงจังแล้วมันก็จะสำเร็จแล้วก็สวยงาม โดยไม่จำเป็นที่เราจะต้องทำเอง

ตอบ อยู่ที่ตัวบุคคลจะทำตัวเป็นแกนนำที่เขานับถือมากกว่า ต้องเริ่มจากใครคนใดคนหนึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำที่ไม่กระทบกับคนอื่น และเป็นสิ่งที่คิดว่าต้องทำ เป็นตัวอย่างที่ดีเพื่อที่จะได้ให้น้องๆ เห็นปัญหาต้องเกิดจากตัวเองที่อยากทำงาน


ถาม ทุกวันนี้ในทีมเราลองประเมินตัวเองว่าเราเป็นแบบนั้นไหม?

ตอบ คิดว่าเป็นถ้าเรื่องนี้เราอยู่กันเป็นทีมถึงแม้เราจะมีปัญหาคุยกันต่อหน้าเลยครับ จะไม่โกรธเลยโกรธแป๊บเดียวก็ปรับตัว


ถาม เวลาที่มีปัญหาเราแก้ไขปัญหาอย่างไร?

ตอบ เราสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา เปิดใจส่วนมากผมจะ เรื่องของจิตพิสัยของคน เปิดอกเปิดใจไว้วางใจกันเต็มเต็มๆ ไม่เอาไปพูดให้คนอื่นฟัง ต้องสร้างความไว้วางใจกัน

ตอบ ขอตอบคำถามที่ว่าจะสร้างทีมยังไงไม่ให้คนในทีมหลุดออกไป มีหลายปัจจัยเรื่องเงินก็มีส่วน เพราะว่า ณ ปัจจุบันไม่มีเงินมันอยู่ไม่ได้ ถึงแม้ว่าเราจะทำไร่หมุนเวียนก็ตาม การเดินทางมีค่าน้ำมัน เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง อยากไปประชุมแต่ไปไม่ได้ติดที่ต้องช่วยงานพ่อแม่ ถ้าไม่ทำก็เกรงใจพ่อแม่ มีปัญหาในส่วนนี้อยู่ เป็นปัจจัยหนึ่งสาเหตุหนึ่งในการทำงาน จะให้ทีมอยู่ได้แบบยาวคือ การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน วางใจกัน บางทีเครียดหนัก ให้กำลังใจพูดคุยกัน กำลังใจคือสำคัญที่สุด สำคัญที่สุดที่ทำให้ทีมเราอยู่ต่อ บางทีท้อจนไม่รู้กี่รอบ เลิกเลยไม่ต้องทำแล้วไม่ต้องอยู่ในกลุ่ม เปิดประตูทิ้งไว้เลยไม่รู้กี่รอบจะทิ้ง แต่พอได้กลับมาเจอกันได้พูดคุยกัน ได้คุยปัญหาให้กำลังใจซึ่งกันและกัน มีกำลังใจขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าคิดว่าจะสุดอยู่แล้วในโครงการนี้ก็ต้องมา มองที่เป้าหมาย

ตอบ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่อยู่ได้ด้วยอุดมการณ์ของพวกเราครับ อุดมการณ์เดียวกันในระหว่างที่เพื่อนมีปัญหาเราก็ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน


ถาม จุดเด่นของทีมพวกเราที่ทำให้งานประสบความสำเร็จคืออะไรบ้าง?

ตอบ เรามีมิตรภาพเป็นพื้นฐานมีการให้กำลังใจกัน แล้วเรามารวมตัวกันเพราะว่ามีปัญหาเกิดขึ้นกับชุมชน เราต้องลุกขึ้นมา


ถาม เบอะบาตู ข้อดีที่เป็นจุดเด่นจุดแข็งของเรา ที่มาอยู่จนถึงทุกวันนี้ ที่ทำโครงการแรกร่วมกัน?

ตอบ ข้อดีคือ เราทำแบบไม่หวังอะไร บางทีเราถูกด่าถูกมองในทางลบด้วยซ้ำ แต่ว่าเราก็รู้สึกว่า ปัญหาต้องแก้ ถ้าไม่แก้คนในชุมชนทั้งหมดไม่สามารถอยู่ได้

ตอบ ถ้าเป็นสิ่งที่กลุ่มเราทำ ไม่มีใครทำเราเป็นกลุ่มแรกที่ทำ ที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาเองแบบนี้ เราลุกขึ้นมารวมตัวกันเองจากสถานการณ์ปัญหาที่เราเจอ เริ่มที่บ้านของบี้ มีข้อดีคือ พอรวมตัวกันสองสามคน ก็ไปคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ ในบ้าน มีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำการรวมตัวกันเป็นกลุ่มแรก ถ้าสมัยก่อนไม่มี คนในชุมชนคนไหนเลยที่กล้าตอบโต้กับรัฐ โครงการอะไรลงมาก็รับรับหมดแบบนี้ ซึ่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะมีผลอย่างไรต่อคนรุ่นหลัง โซนบ้านผมโดนป่าสงวนทั้งหมดเลยตั้งแต่ผมยังไม่เกิด คนลุกขึ้นแบบนี้ไม่มีพอมาปัจจุบันนี้ เราทำทันข่าวทันเหตุการณ์ จึงเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ลุกขึ้นมายันกับรัฐ ในหมู่บ้านเห็นว่าเราก็เป็นคนๆ นึงที่มีผลงาน ทุกคนมองแล้วว่าคนนี้เรื่องนี้

ตอบ ถ้าเราทิ้งไปไม่ทำจะมีใครมาทำต่อเราก็เป็นความหวังเป็นตัวแทนของหมู่บ้านก็ว่าได้

ตอบ ชุมชนเรารู้ปัญหาในชุมชน ถ้าคนในชุมชนไม่ลุกขึ้นมา ชุมชนของเราก็ได้ผลกระทบ งานตรงนี้ถ้าเราไม่ทำน้องๆ ก็จะไม่มีใครทำ

ตอบ ไม่มีใครรู้ปัญหา ดีเท่ากับคนในชุมชน

ตอบ ข้อดีพี่ทำงานเป็นทีม ทีม 6 ชุมชนต้องรวมกันให้ได้ถึงจะเป็นทีมได้ แต่บางครั้งไม่ครบก็มีตัวแทน 2-3 คนจากบางหมู่บ้านมาร่วม ก็ยังไม่เต็มรูปแบบ

ตอบ ถึงคนไม่ครบทุกหมู่บ้าน ก็เห็นการร่วมใจของพี่ๆ

ตอบ คิดว่า พี่ๆ ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ เห็นความกล้าหาญของพวกพี่

ตอบ จุดเด่นที่สุดคือการที่พี่เป็นแกนนำ เป็นแกนนำให้รุ่นน้องที่จะเดินตามหลัง

ตอบ น้องๆ ชื่นชม เป็นหนึ่งแรงกำลังใจให้กับพวกเรา เป็นหนึ่งเหตุผลที่เรายังไม่ทิ้งน้องๆ น้องบอกว่าเราเป็นกำลังใจเป็นแรงบันดาลใจให้เขา เขาก็เป็นกำลังใจให้เราเหมือนกัน ในการทำงานแต่ละครั้งถ้าไม่มีน้องๆ เราก็ไม่มีกำลังใจที่จะทำแบบนี้

ตอบ เป็นแรงบันดาลใจให้น้อง น้องก็เป็นกำลังใจให้กับเรา


ถาม ตัวโครงการนี้ทำให้เราตั้งคำถามกับการเข้ามาของรัฐและกล้าหาญลุกขึ้นมาต่อรอง เจรจากับรัฐ ถ้าพี่กลับแบบนี้เกินไปไหม โครงการนี้เป็นโครงการแรกของพี่ที่ได้เริ่มมาทำเครือข่ายลงชุมชนพอเราทำโครงการนี้เราได้รวมตัวกัน เราก็เลยได้กล้าที่จะตั้งคำถามกับรัฐ รัฐที่เข้ามาทำอะไรกับชุมชนหรือชาวบ้าน มันทำให้เรากล้าที่จะต่อรองกล้าหาญที่จะเจรจากับเขา?

ตอบ สำหรับผมก็ไม่เชิงค่ายนี้ ในการทำโครงการนี้อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้ผมกล้า แต่โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้ผลมีเหตุผลมากขึ้น คือก่อนหน้านั้นถึงแม้ผมจะไม่ทำโครงการแบบรับโครงการเอง แต่ก็ช่วยพี่เขาทำมันก็มีประสบการณ์ในส่วนนี้นิดๆ หน่อยๆ กล้าพูดตั้งแต่ก่อนหน้านั้นสัก 2-3 ปีแล้ว โครงการนี้ทำให้กล้ามากขึ้นมีเหตุมีผล และทำงานวางแผนมากขึ้น เรียบเรียงคำจะได้เยอะขึ้นจากอันนี้การใช้เหตุผลจากโครงการนี้ครับ


ถาม  สงสัยกลุ่มของเราเป็นกลุ่มวัยรุ่นมาก จะมีความใจร้อนห้าวหาญท้าทายกันและกัน และยังเป็นแก๊งเด็กผู้ชายอีกแล้วเวลามาเจอกันคุยกันตีกันบ้างไหมยอมรับกันได้ยังไง?

ตอบ จะย้อนไปที่ว่าอุดมการณ์ เรามีอุดมการณ์ เมื่อก่อนในตำบลมีกีฬาอบต. มีการทะเลาะวิวาทกัน ผมกับพี่อีกคนนึงซึ่งไม่ชอบการมีเรื่อง คุยกันว่าเราจะทำอย่างไรไม่ให้ เหตุการณ์ทะเลาะเกิดขึ้นอีก กีฬาที่เราทำ เราพูดว่าเราจะไม่เล่นกีฬาเพื่อกีฬา เราจะเล่นกีฬาเพื่อมิตรภาพ

ตอบ ถ้าเป็นกีฬาจะมีการแพ้การชนะในกีฬาแต่ของเรา สุดท้ายในการแข่งทุกคนในสนามได้ถ้วยเหมือนกันหมด

ตอบ เราใส่ความเท่าเทียมลงไปในกีฬา ถ้าไปเห็นการจัดกีฬาของวันนั้นนะครับ ในสนามฟุตซอล 5 คนมีผู้หญิง 2 คนผู้ชาย 3 คนในสนามผู้หญิงสามารถจับมือและโยนใส่ก็ได้ อาจารย์ชิชมอันนี้ความเท่าเทียม เหตุผลทำไมที่กลุ่มนี้ยังไม่มีผู้หญิงคือ ผู้หญิงมีอุดมการณ์เดียวกับเรา น้องๆ ที่เรียนต่อมีอุดมการณ์เดียวกับเราเยอะ ยังไม่ว่างที่จะมาช่วยเรา ยังทำหน้าที่ในการเรียนหนังสืออยู่

ตอบ มีอุดมการณ์เหมือนกันแต่เนื่องด้วยการเดินทางพวกเราเดินทางบางที ครั้งหนึ่ง 3-4 วัน เราก็เป็นห่วงเขาด้วยด้วยวัฒนธรรมของกะเหรี่ยง ถ้าผู้หญิงออกไปทำอะไรแบบนี้ไม่เหมาะสม

ตอบ ถ้าในโครงการนี้ไม่ค่อยเยอะ เพราะว่าบางทีเราประชุมตรงกับวันปกติ วันเรียนน้องมาไม่ได้ แต่เมื่อไหร่ที่จัดค่ายผู้หญิงจะเยอะกว่าผู้ชาย จัดค่ายขึ้นอยู่กับงบด้วย เราไม่เราไม่มีงบใจจริงอยากทำประจำอยู่แล้ว

ตอบ อยากทำทุกอาทิตย์ด้วยซ้ำที่เคยวางแผนไว้อย่าเข้าไปในโรงเรียน ในวิชาชุมนุมเราอยากจะทำด้วยแต่ยังไม่มีโอกาสได้ประสบการณ์ของเราด้วย

ตอบ เราพยายามที่จะให้เขานำด้วย


ถาม จากการที่เราได้ลงไปทำผลลัพธ์ของการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้าง 6 ชุมชนผู้ใหญ่ในชุมชนเห็นการจัดกิจกรรมของเรา หรือคนที่เข้าร่วมกิจกรรมของเรามีผลตอบรับอย่างไรบ้าง?

ตอบ กลุ่มผู้นำนายกกำนันรองประธานสภา อบต. มาเปิดงานก็ชื่นชมการทำงานของพวกผม ต้องเป็นตัวอย่างให้กับเยาวชนและทำต่อไปมาสนับสนุน งบไม่เยอะใส่ซองให้กำนัน 500 นายก 500 สมทบเป็นกิจกรรมของกลุ่ม

ตอบ ถ้าเป็นงบของอบต. ได้ยาก ผมเคยมีประสบการณ์ครั้งหนึ่ง เขาเรียกผมเข้าไป เพราะว่ามีโครงการลงมา พอผมรับปากจะทำให้ในงบประมาณของเขา ผมไม่ชอบเลย คือผมไปหาครั้งแรก บอกยังไม่ว่างมีประเมิน ผมไปหาอีกที 4 โมง เลิกงานแล้ว แค่ 2 ครั้งผมก็เลยยกเลิกไม่สนใจ เขาให้วางแผนทำผมไปนัดกับน้องๆ เรียบร้อยแล้ว ถ้าผมไม่ทำไม่ได้ ผมไม่อยากผิดสัญญากับน้อง ก็เลยหางบเอง งบมาจากพี่ที่เรียนเชียงใหม่และนักกิจกรรมคนหนึ่ง อบต. ช่วยสนับสนุนงบยากช่วงนี้ยาก มีการหักเปอร์เซ็นต์ด้วยคือ งบในกิจกรรมครั้งนั้นที่ผมไปคุยงบมี 50,000 บาทแต่ว่าน้องจะได้แค่ 25% นะแค่หมื่นเดียว ผมเลยงง

ตอบ พี่ที่ช่วยคือพี่ชาติชายตอนนี้เรียน มจร. ที่เชียงใหม่ พี่คนนี้อยู่ในกลุ่มของเรา ที่ปรึกษาอีกคนคือพี่เดียร์ที่มาช่วย


ถาม เราได้เห็นโครงสร้างของอบต. เราเก่งตรงที่ว่าเราช่วยเหลือตัวเองได้?

ตอบ ผมใจร้อนที่จะไม่เอากับเขา ที่จริงถ้าผมใจเย็นมีวิธีคิดก็ใช้ประโยชน์กับเขาได้ อบต. ก็มีงบสภาแต่พวกผมก็ไม่ชอบไปร่วมกับพวกเขา ปลัดไม่ใช่คนในพื้นที่ก็มักจะกั๊กไว้ให้พวก ผมมีความคิดที่จะสร้างถนนในหมู่บ้านเอง เพราะว่าเราเขียนทุกปีแต่ไม่เข้าสักทีไม่รู้มากี่ปีแล้ว ที่ผ่านมาชาวบ้านก็ทำกันเองทุกปี แต่ว่าไม่มีคุณภาพ ถ้าชาวบ้านทำกันเองพอให้รถผ่านได้แต่ละปี พอครบปีก็เสียอีก


ถาม ผลลัพธ์ต่อคนร่วมกิจกรรมเทียบภาพก่อนหลัง?

ตอบ ตอนหลังจัดกิจกรรมเราทำเป็นผ้าให้น้องเห็นความรู้สึกลงไป อ่านดูแล้วบอกว่าพี่ทำไปเถอะเดี๋ยวผมตามเดี๋ยวพวกผมจะตามพี่ไป ให้พี่ทำต่อไปนะ พวกผมจะทำตามต่อไป ต้องสู้นะให้กำลังใจให้เราทำต่อ


ถาม ที่บอกว่าเมื่อก่อนตอนจัดงานกีฬาเหมือนกัน 6 ชุมชนแล้วก็มีการตีทะเลาะวิวาทถ้าพวกเราจัดกันเองคนนี้ไม่มีทะเลาะวิวาทและมีมิตรภาพอันนี้เป็นผลลัพธ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการจัดงานไหม เห็นชัดๆ?

ตอบ ของเรานี่คือเป็นกีฬาเล็กๆ เฉพาะกลุ่ม เราทำปีแรกการทะเลาะกันไม่มีอยู่แล้ว คนมาร่วมเป็นเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ แค่ 6 หมู่บ้านแต่ของ อบต. เป็น 9 หมู่บ้าน แต่ว่าเราสองตำบล บางหมู่บ้านยังตั้งสองสามทีมมันก็สื่อว่า ขนาดในหมู่บ้านก็ยังขัดแย้งกันอยู่


ถาม เราได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ไหม เรื่องความสัมพันธ์ เครือข่าย?

ตอบ ถ้าในโครงการตามเป้าสุดยอดครับ จากเหตุการณ์ ผมมีพี่คนหนึ่งไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านไม่ได้อยู่ในโครงการเข้ามาร่วม เห็นแล้วยังชื่นชมว่ารวมคนได้ขนาดนี้ มีกิจกรรมแบบนี้สำหรับเยาวชน

ตอบ แล้วก็ไม่เคยเจอมาก่อนกีฬาที่เล่นมีผู้หญิงด้วย

ตอบ ก็ทิ้งท้ายว่าปีหน้ามีโอกาสจะเข้าร่วมด้วย ขออยู่ในโครงการด้วย


ถาม น่าสนใจที่ไม่เคยมีแบบนี้มาก่อนเลยที่ผู้หญิงผู้ชายเล่นด้วยกันเลย

ตอบ ไม่มีครับจะมีก็แค่เล่นๆ กัน


ถาม แล้วคนเฒ่าคนแก่เขาว่าอย่างไร ที่ผู้หญิงเล่นกับผู้ชายในแง่ของวัฒนธรรม?

ตอบ ก็ไม่ได้ว่าอะไรมาครับ เราก็เล่น เขาน่าจะเข้าใจแล้วครับ


ถาม ผู้หญิงรู้สึกอย่างไร?

ตอบ ก่อนปิดงานเราจะให้เขาสะท้อนในวงใหญ่แต่ส่วนมากเขาจะไม่กล้า ก็บอกว่าดี ไม่ทิ้งผู้หญิง คนเท่าเทียมกันก็ให้คุณค่าเท่าเทียมกัน


ถาม ผู้ชายที่เข้าร่วมเล่นกีฬากับผู้หญิงรู้สึกอย่างไร?

ตอบ สุดท้ายยังไม่ได้ความคิดเห็นของน้องทุกคนด้วยเวลา จะมีแค่แกนนำที่ได้แสดงความคิดเห็นรุ่นน้องมีคนสองคนก็บอกว่าดีๆ


ถาม หลังจากที่เราได้ร่วมกิจกรรมเสร็จแล้วเราได้สื่อสาร ข้อมูลต่อเนื่องกับกลุ่มน้องใหม่บ้างไหม?

ตอบ มีเรื่อยๆ สำหรับบ้านผมในสิ้นเดือนนี้ก็มีโครงการ มีค่ายต่ออีกคุยเรื่อยๆ กลุ่มที่คุยมีแต่น้องๆ ที่เรียนโรงเรียนเดียว ถ้าน้องที่เรียนโรงเรียนอื่นอยู่ไกลมาเข้าร่วมยาก แต่ก็คุยกันครับ


ถาม ตำบลเราเป็นตำบลใหญ่ เราคือคนกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเราก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยชุมชนได้ เราก็เสนอวิธีการใหม่ที่จะทำให้ทุกคนมีความสัมพันธ์ต่อกัน อย่างตัวอย่างกีฬาที่เอาผู้หญิงผู้ชายมาเล่นด้วยกัน แปลกแต่ก็ทำให้คนรู้จักันมากขึ้น การที่เราหากิจกรรมมาทำเรื่อยๆ มันทำให้คนได้เห็นกัน น้องเห็นพี่ก็ศรัทธาว่า มีพี่นำก็อยากขยับต่อ มีกำลังใจ พาน้องไปต่อ ตอนนี้เราอาจเป็นทางเลือก หนึ่งของการไม่ชอบคนตีกัน เราก็อยากจะแก้ปัญหาอย่างเท่าทันรับรู้โลกภายนอก คนเท่าเทียมกันเราอาจจะเป็นทางเลือกอยู่แต่เมื่อเรามีคนเข้าใจมากขึ้นมันก็อาจเป็นทางหลักก็ได้เมื่อถึงจุดนั้น เพราะตอนนี้แม้ อบต.จะไม่ให้เงินเรา เราก็สามารถหาทางอื่นมาทำในสิ่งที่เราคิดว่าสร้างสรรค์ได้ โดยส่วนตัวผู้นำเขาก็ควักเงินส่วนตัวให้ถึงแม้ว่าจะหาเสียงด้วย แต่ก็เห็นว่าควรสนับสนุนแม้ว่าปลัดระบบจะยังไม่สนับสนุนเรา ถ้าวันหนึ่งเราเข้มแข็งขึ้นมได้อย่างที่เราบอกว่ายังต้องพัฒนา พี่คิดว่าตรงนั้นล่ะที่เราจะสามารถทำให้คนอื่นวิ่งมาหาเราโดยที่เรามีจุดยืนแบบนี้ พี่คิดว่าความคิดของเรา ที่มีมาแต่เดิมอยู่แล้วเราลุกขึ้นมาจัดการปัญหาตัวเองเพราะว่าไม่มีใครรู้ปัญหาได้ดีเท่ากับเรา ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาตัวเองบ้านของเราเอง ใครมาทำก็ไม่จบ เพราะเขาไม่เข้าใจ คิดว่านี่เป็นหัวใจสำคัญที่กลุ่มนี้มีค่ะ ความเด่นที่ยืนยันว่าใช่ และเป็นต้นทุนที่ดี ที่จะขยับต่อเพียงแต่ต้องสะสมประสบการณ์ อยากให้ทำไปเรื่อยๆ มีงบหรือไม่มีงบทำเหมือนน้ำซึมบ่อทราย พวกเราอาจจะเป็น ส.อบต. มีเครือข่ายมากขึ้น?

ตอบ อันนี้เป็นความหวังของพวกเรา เบอบาตู จะต้องเป็นผู้นำชุมชนในอนาคตครับ