สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการการศึกษาเบื้องต้นการจัดการหอยขาวอย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โครงการการศึกษาเบื้องต้นการจัดการหอยขาวอย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวท่าชนะ  จังหวัดสุราษฎร์ธานี


ผู้ให้สัมภาษณ์

  1. นายจักรกริช วัจนพันธ์ (แบงค์) อายุ 18 ปี  ตำแหน่ง: หัวหน้าโครงการ
  2. นายอนุวัฒน์ แก้วทอง (โอ๊ต) อายุ 18 ปี ตำแหน่ง: ฝ่ายประสานงาน
  3. นางสาวพรพิมล เพ็ชร์รอด (เมย์) อายุ 18 ปี ตำแหน่ง: ฝ่ายสื่อ
  4. นางสาวสุพรรษา เช้าวังเย็น (หยาด) อายุ 18 ปี  ตำแหน่ง: ฝ่ายบัญชี

บทสัมภาษณ์

ถาม ขอให้แนะนำตัวและโครงการที่ทำ

แบงค์ โครงการของเรา คือ โครงการการศึกษาเบื้องต้นการจัดการหอยขาวอย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผมชื่อ จักรกริช วัจนพันธ์ ชื่อเล่นแบงค์ อายุ 18 ปี จบ ม.6 จากโรงเรียนท่าชนะ ทำหน้าที่หัวหน้าโครงการ

เมย์ หนูชื่อนางสาวพรพิมล เพ็ชร์รอด ชื่อเล่นเมย์ อายุ 18 ปี จบ ม.6 จากโรงเรียนท่าชนะ ตอนนี้กำลังเข้าศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุราษฎร์ธานี คณะพยาบาลศาสตร์ ทำหน้าที่ฝ่ายสื่อ

หยาด หนูชื่อนางสาวสุพรรษา เช้าวังเย็น ชื่อเล่นหยาด อายุ 18 ปี จบ ม.6 จากโรงเรียนท่าชนะ ทำหน้าที่ฝ่ายบัญชีโครงการ

โอ๊ต ผมนายอนุวัฒน์ แก้วทอง ชื่อเล่นโอ๊ต อายุ 18 ปี จบ ม.6 จากโรงเรียนท่าชนะ อยู่ฝ่ายประสานงาน

ถาม พวกเรามาเข้าร่วมโครงการได้อย่างไร

แบงค์ ครูที่ปรึกษาโครงการ ครูนุ้ยชักชวนพวกเรา ครูนุ้ยเป็นครูที่สอนวิชาชีววิทยา ครูนุ้ยนำโครงการนี้มาเสนอให้พวกเราคิดและทำ ครูถามพวกเราว่า “อยากทำโครงการอะไรในอำเภอของเราที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน” อำเภอท่าชนะของเรามีหอยขาวซึ่งเป็นที่รู้จัก เราจึงเลือกศึกษาเรื่องเกี่ยวกับหอยขาว

­

ถาม หัวข้อเรื่องหอยขาวเกี่ยวข้องกับวิชาชีววิทยาอย่างไร

แบงค์ โครงการนี้อยู่ในรายวิชาชีววิทยา โครงสร้างของหอยเกี่ยวข้องกับชีววิทยาและเคมี เรื่องกายวิภาค พวกเราเรียนและเป็นเพื่อนห้องเดียวกัน

­

ถาม ใครเป็นคนเสนอประเด็นเรื่องหอยขาว ทำไมถึงสนใจทำเรื่องนี้

แบงค์ พวกเราตกลงกันว่าจะศึกษาเรื่องหอยขาว มีรุ่นพี่เคยศึกษาเรื่องหอยขาว เขาเอาเปลือกหอยขาวมาทำแผ่นรองช่วยนวดเท้า ประกอบกับหอยขาวมีปริมาณลดลงและขนาดของหอยขาวเล็กลง เราจึงสนใจทำเรื่องนี้

โอ๊ต เราสนใจระบบนิเวศทางน้ำ อาหารของหอย เราเก็บน้ำมาตรวจว่ามีอาหารในน้ำมากน้อยเท่าไร เราจะไปเก็บน้ำที่ทะเลทั้งหมด 4 หาด หาดคันธุลี หาดดอนทะเล หาดนางลอย และหาดปากกิว

­

ถาม ช่วงที่ลงพื้นที่เราพบปัญหาตามที่ตั้งสมมติฐานหรือไม่

เมย์ จากปัญหาที่พบ ตั้งประเด็นว่าหอยขาวมีจำนวนลดลง ในปัจจุบันพื้นที่ที่ลงไปศึกษาชาวบ้านยังคงไปคราด (หา) หอยขาว เราลงไปสอบถามชาวบ้านพวกเขาบอกว่า “หอยขาวน้อยลงและบางหาดไม่มีหอยขาวเลย”

แบงค์ จากการที่ไม่มีหอยขาวส่งผลกระทบต่อรายได้ชาวบ้านทั้งสี่หาด ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมทะเล เขามีอาชีพขายหอยขาว หอยขาวมีจำนวนลดลงทำให้เขาไม่มีรายได้ เมื่อก่อนหอยขาวมีเยอะมาก คนที่อยู่โซนบนเขาลงมาหาหอยขาวเหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะคนที่อาศัยอยู่ริมทะเลเท่านั้น เมื่อก่อนบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์มาก ตอนนี้มีผู้คนในชุมชนมาคราดหอยขาวกันเยอะ พวกเขาเก็บไปทั้งหอยตัวเล็กและตัวใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ปริมาณหอยขาวลดลง

­

ถาม คนในชุมชนที่ขาดรายได้ส่วนใหญ่เป็นใคร

แบงค์ ทั้งชาวประมงและเกษตรกรที่ไม่ได้ทำอาชีพประมง พวกเขาก็มาคราดหอยกัน

­

ถาม ถ้าในชุมชนไม่มีหอยขาวจะเป็นอย่างไร

แบงค์ ถ้าไม่มีหอยขาวพวกเขาน่าจะหันไปทำอย่างอื่น เช่น หาปลาหรือหาหอยชนิดอื่นแทน

­

ถาม ช่วยเล่าเรื่องราวความเป็นมาระหว่างหอยขาวกับชุมชน

แบงค์ สมาชิกทุกคนลงพื้นที่ด้วยกันทุกครั้ง เราได้สัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านและชาวประมงแถวนั้น หอยขาวนอกจากเป็นหอยที่สามารถสร้างรายได้แล้ว

เมย์ในวันพักผ่อนหรือวันหยุดจะมีครอบครัวมานั่งพักที่บริเวณชายทะเลเพื่อมาขูดหอยขาว เขาจะมาหาหอยกัน พอไม่มีหอยขาวคนมาเที่ยวทะเลน้อยลง ไม่มีอะไรดึงดูดให้มาเที่ยว ถ้าไม่มีหอยขาวอาจจะไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีพื้นที่ให้ครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกัน

แบงค์ ผมรู้จัก 4 หาดนี้ดี เป็นคนที่ชอบเที่ยวทะเลมาก ผมรู้จักหอยขาวมานานแล้วตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า สมัยตอนที่ผมเป็นเด็กที่บ้านพาผมไปคราดหอยขาว หอยขาวมีรสชาติที่ดีมาก หอยขาวจัดเป็นประเภทเดียวกับหอยตลับ มันมีสีขาว แต่ถ้ามีลายเรียกว่าหอยไฟไหม้

­

ถาม ถ้าในชุมชนไม่มีหอยขาวอีกต่อไปพวกเรารู้สึกอย่างไร

แบงค์ หอยขาวเป็นอาหารชนิดหนึ่งของคนในท้องถิ่น ถ้าหอยขาวหายไปอาจจะทำให้รุ่นหลังไม่รู้จักหอยขาวอีกต่อไป ถ้าปล่อยให้หอยขาวหมดไป อาจจะไม่มีใครมาศึกษาหรือสนใจ ผมอยากอนุรักษ์หอยขาวไว้

­

ถาม หอยขาวเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศอย่างไร

โอ๊ต หอยขาวนอกจากเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในพื้นทราย หอยขาวเป็นตัวบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศได้

เมย์ หนูคิดว่าการที่จำนวนหอยขาวลดลง อาจจะเป็นไปได้ว่าน้ำร้อนเกินไป หรือในทะเลมีสภาพน้ำและสารอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปมาก เกิดจากน้ำเสียเพราะว่าหอยขาวต้องการสารอาหารจากในทะเลด้วย การที่ไม่มีหอยขาวอาจจะเป็นตัวบ่งบอกว่าระบบนิเวศแย่ลงก็เป็นได้

­

ถาม บทบาทของพวกเราในการทำโครงการสร้างการเปลี่ยนแปลงกับชุมชนอย่างไร

เมย์ สิ่งที่เราทำเป็นแรงกระตุ้นให้เห็นว่าพวกเรามาทำการศึกษาหอยขาว ทำให้คนในชุมชนรู้สึกและเห็นว่าหอยขาวมีจำนวนลดลงไปจริง ๆ กระตุ้นให้เขาศึกษาหาแนวทาง เพื่อร่วมอนุรักษ์ว่าจะทำอย่างไรให้หอยขาวกลับมาเหมือนเดิม

แบงค์ ผมขอยกตัวอย่างหาดปากกิว เป็นหาดปิดชั่วคราว เขาจะเปิดให้คราดหอยขาวเป็นช่วง ๆ เราได้ปรึกษากับผู้ใหญ่บ้านว่า เราจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนหันมาสนใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์หอยขาว เราจะทำเป็นสมุดเล่มเล็กหรือวิดีโอเพื่อประชาสัมพันธ์ เวลาที่ผู้ใหญ่บ้านมีการประชุมหมู่บ้านอยากให้ผู้ใหญ่พูดเรื่องวิธีการอนุรักษ์หอยขาว เวลาที่มีคนมาคราดหอยอาจจะให้เก็บหอยขาวที่ตัวใหญ่ไปเท่านั้น ส่วนตัวเล็กเราจะไม่เก็บไป เพื่อให้มันได้ผสมพันธุ์กันเพื่อมีหอยขาว เป็นสร้างรายได้ต่อไปและนำมาบริโภคในชุมชน

เมย์ หน้าที่ของหนูในโครงการคือการทำสื่อ หนูคิดว่าสื่อสามารถกระตุ้นชาวบ้านหรือคนที่มาคราดหอยได้ เป็นการช่วยสร้างจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าของหอยขาวที่กำลังจะหมดไป ให้พวกเขาช่วยกันอนุรักษ์หรือคราดหอยขาวตามฤดูกาล ไม่เบียดเบียนวัฏจักรของมัน ไม่จำเป็นต้องเก็บหอยขาวทุกตัวที่หาได้ ตั้งแต่ไปลงพื้นที่หนูได้ถามชาวบ้าน รู้สึกว่าชาวบ้านมีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป พอพวกเขาได้ทราบถึงผลกระทบการที่เขาเก็บหอยตั้งแต่ตัวเล็กไปจนถึงตัวใหญ่ ทำให้หอยขาวจำนวนลดลง หนูเห็นว่าตอนที่เขามาหาหอย เขาจะเลือกเก็บแค่ตัวใหญ่เหมือนว่าพวกเขาเข้าใจ และคิดได้ว่าการที่หอยขาวลดลง เป็นเพราะว่าเขาเก็บหอยขาวตัวเล็กไปด้วย ไม่ได้คำนึงถึงว่ามันจะคงอยู่ต่อไปไหม

หยาด โครงการที่พวกเราทำ เราเข้าไปให้ข้อมูลกับชาวบ้านบางส่วนเกี่ยวกับการอนุรักษ์หอยขาว เรานำหอยขาวมาเทียบขนาดกันทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ เปรียบเทียบเพื่อให้ความรู้กับชาวบ้านให้เขาเห็นว่าหอยขาวต้องมีขนาดเท่าไรถึงจะเก็บได้ ทำให้เขาเห็นว่าแบบไหนควรเก็บแบบไหนไม่ควรเก็บ

­

ถาม ช่วยเล่าถึงกลุ่มตัวอย่างที่ทำงานร่วมกับเรา

แบงค์ ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน ตอนลงไปที่หาดปากกิวซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้าม เราจึงต้องโทรไปขออนุญาตกับผู้ใหญ่บ้านก่อน เพื่อลงพื้นที่ศึกษาและสัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้าน เราเลือกกลุ่มตัวอย่างในหาดปากกิว คือผู้ใหญ่บ้านสอบถามข้อมูลหอยขาวจากอดีตถึงปัจจุบัน ถามเรื่องน้ำขึ้นน้ำลงว่าเป็นช่วงเวลาไหน

เมย์ อีกคนหนึ่งคือป้าอ้อย ป้าเขาเป็นคนในพื้นที่ และชอบออกไปหาหอยขาวเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเดือนไหนป้าอ้อยจะหาหอยตลอด เราสอบถามข้อมูลว่า เวลาที่ป้าอ้อยขูดหอยขาวนั้น ป้าได้ปริมาณหอยขาวเป็นจำนวนเท่าไรเมื่อเทียบกับในระยะเวลาที่ขูด ป้าตอบว่า “เมื่อก่อนได้เยอะแต่เดี๋ยวนี้ได้น้อย” ป้าอ้อยเล่าว่าคนนอกพื้นที่ เช่น คนที่อยู่บนเขาเวลาที่พวกเขาลงมาขูดหอยขาว เขาจะมามากกว่า 10 คน เขามาขุดไปเยอะและเอาไปหมด เขาทำแบบนี้บ่อย ๆ ทำให้จำนวนหอยขาวเติบโตไม่ทัน เพราะว่าเขาเก็บไปทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่

­

ถาม ช่วงที่คืนข้อมูลให้กับชุมชนมีเสียงสะท้อนว่าอย่างไร

เมย์ ตอนคืนข้อมูลจากที่เราทราบว่าหอยขาวปริมาณน้อยลง ขนาดตัวเล็กลง เราทำการศึกษาเพิ่ม นำข้อมูลไปคืนกับกลุ่มตัวอย่าง ว่าช่วงไหนที่หอยไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เราบอกเขาให้หยุดเก็บและดูช่วงที่หอยมีปริมาณมากและขนาดตัวโต เพื่อให้พวกเขาเก็บหอยในช่วงเวลานั้นแทน--

แบงค์ พวกเราได้รับคำชม ผู้ใหญ่บ้านชื่นชมว่าพวกเราเป็นเด็กที่มีความคิดศึกษาเรื่องราวแบบนี้ผู้ใหญ่บ้านยินดีสนับสนุนการอนุรักษ์หอยขาว โดยการปิดหาดชั่วคราวและจะเปิดหาดให้คราดเป็นช่วง ๆ ไป เวลาที่มีการประชุมหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านจะประกาศว่า “ช่วงที่คราดหอยขาวเขาก็จะเปิดหาด แต่ในช่วงที่หาดปิดถ้ามีคนลักลอบมาคราดหอยขาวจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย” เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สำคัญมาก ถ้าเราไม่ทำแบบนั้น ตรงพื้นที่หาดปากกิวจะไม่มีระบบนิเวศเหลืออยู่เลย

เรื่องของกฎที่ตั้งมาสำหรับผู้ที่ลักลอบคราดหอยขาวนอกฤดูกาลถูกตั้งไว้ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว แต่มาเข้มข้นตอนที่พวกเรามาทำโครงการ มีความชัดเจนขึ้น ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า ก่อนหน้านี้มีพี่นักศึกษาจากราชภัฎสุราษฏร์ธานีมาศึกษาเรื่องหอยขาวเหมือนกัน

­

ถาม โครงการของพวกเราส่งผลต่อการสร้างแหล่งเรียนรู้ในชุมชนได้อย่างไร

เมย์ เราได้คุยกับผู้ใหญ่บ้าน เป็นโชคดีของพวกเราด้วยว่าผู้ใหญ่เห็นความสำคัญและหยิบโครงการของเรามาพูดในที่ประชุม ทำให้คนในชุมชนรวมถึงองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มองเห็นและร่วมกันอนุรักษ์หอยขาว นอกจากทำให้หอยขาวกลับคืนสู่สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ยังทำให้ระบบนิเวศชายทะเลในหมู่บ้านนั้นดีขึ้นด้วย ตอนนี้หนึ่งในชายหาดที่เราลงพื้นที่ มีแหล่งเรียนรู้ปูม้า อบต. อาจจะพัฒนาแหล่งเรียนรู้เรื่องหอยขาวเพิ่ม เพื่อทำให้คนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์มากขึ้น

­

ถาม ปัจจัยอะไรที่ทำให้โครงการสำเร็จ

เมย์ ครูนุ้ยเป็นคนริเริ่มคิดทำโครงการ ถ้าขาดครูนุ้ยไปโครงการอาจจะไม่เกิดขึ้น รวมถึงตัวพวกเราเองที่มีกันหลายคน การทำงานเป็นหมู่คณะย่อมมีแตกความสามัคคีบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่พวกเราทำงานกันแบบทีมเวิร์คเลยทำให้โครงการสำเร็จผล ทีมของเราทำงานลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้านและคนในชุมชนทั้งผู้ใหญ่บ้าน ป้าอ้อย กลุ่มตัวอย่าง เราได้รับความร่วมมือจากพวกเขา กลุ่มพวกเราช่วยกันพูดคุยกับคนในหมู่บ้าน ชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียซึ่งเป็นข้อมูลจากการทำโครงการนี้ พูดได้ว่าเราสามารถเปลี่ยนทัศนคติของพวกเขาทำให้เขาเห็นด้วยกับการทำโครงการ ได้ผลดีชาวบ้านเห็นด้วยและเข้าใจการอนุรักษ์ธรรมชาติ ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำโครงการนี้

­

ถาม ครูนุ้ยมีวิธีการช่วยสนับสนุนพวกเราอย่างไร

เมย์ คุณนุ้ยเป็นคนริเริ่มทำโครงการ ตอนที่ทำโครงการพวกเรามีการแตกความสามัคคีกันบ้าง เพราะว่าพวกเรายังเด็กอยู่ คุณนุ้ยเป็นคนให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำตลอด ครูไม่โกรธพวกหนูเลย มีบางเวลาที่พวกหนูไม่ค่อยทำตาม ครูนุ้ยทำให้พวกหนูสามัคคีกันได้

เราได้คืนข้อมูลให้กับชาวบ้าน เขาเห็นว่าหอยขาวโตในช่วงเดือนไหน พวกเราลงพื้นที่ในช่วงที่เขาไม่ได้เก็บหอยขาว ตามชายหาดเราเห็นว่าพวกเขาไม่ไปเก็บหอยขาวจริง ๆ พวกเขาให้ความร่วมมือดี เราบันทึกผล พอใกล้ถึงช่วงเดือนเก็บหอยขาว มีชาวบ้านไปเก็บหอยขาวจริง ๆ เราลงพื้นที่สำรวจเห็นว่าหอยขาวตัวใหญ่พอสมควร ซึ่งขนาดของหอยขาวในช่วงนั้นสามารถเก็บได้

­

ถาม หลังจากที่คนในชุมชนให้ความร่วมมือธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

เมย์ หอยขาวตัวใหญ่ขึ้น

แบงค์ ระบบนิเวศทั้ง 4 หาดดีขึ้น ถ้ามีคนไปคราดหอยจะมีขยะจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ระบบนิเวศของหอยเปลี่ยนแปลง หลังจากที่เราทำการศึกษาเกี่ยวกับหอยขาวในชุมชน เราเห็นว่าขยะในชุมชนลดน้อยลง

โอ๊ต เวลาที่คนมาคราดหอยขาวเขามากันช่วงนี้ เราเห็นว่าชาวบ้านได้ทั้งหอยขาวและหอยเสียบ ในช่วงเย็นที่น้ำลงจะมีครอบครัวมานั่งเล่นและหาหอยเสียบกันที่นี่ ขยะลดน้อยลงจริง ๆ

­

ถาม ช่วยเล่าถึงเรื่องสื่อที่พวกเราทำ

โอ๊ต ช่วงนั้นเป็นช่วง Open House ของโรงเรียน เราจัดทำสมุดเล่มเล็ก ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพน้ำและกายวิภาคของหอยขาวและแพลงตอนของหอยขาว เพื่อให้น้องในโรงเรียนและแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานได้ดู ประธานในพิธีก็ชมว่า “เป็นเรื่องที่ดีที่เราได้ศึกษาเรื่องราวของท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์ต่อคนหลายคนต่อไป”

แบงค์ เพื่อนบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมในโครงการ เขามีความรู้มากขึ้นหลังจากได้อ่านหนังสือเล่มเล็กนี้ เมื่อก่อนเขาไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย เขามาบอกให้ฟังว่าสิ่งที่พวกเราทำเป็นเรื่องที่ดี

­

ถาม พวกเราคาดหวังอย่างไรกับสื่อที่ทำ

เมย์ ความหวังเล็ก ๆ ของหนูเล็กที่อยู่ในใจคือ เมื่อเพื่อน น้อง หรือคนที่มาเยี่ยมชมโรงเรียนได้อ่าน ได้เห็นสื่อ เขานำไปพูดกับคนในครอบครัวว่า เวลาไปหาหอยขาวอย่าเก็บหอยที่ตัวเล็กเกินไป ให้ไปเก็บตามช่วงฤดูเท่านั้น เราอยากจะขยายกลุ่มคนอนุรักษ์หอยขาวให้มากขึ้น

อยากให้ทุกคนมีจิตสำนึกและทัศนคติที่ดีต่อชุมชนมากขึ้น เช่น การเข้าไปทำอะไรในพื้นที่ระบบนิเวศของหอยขาว ควรอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรบริเวณนั้นด้วย

โอ๊ต ผมเป็นคนในพื้นที่หาดคันธุลี อยากเห็นระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีสมบูรณ์ขึ้น จำนวนของประชากรหอยขาวเพิ่มขึ้น ตอนนี้ตัวที่บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์น่าจะเป็นหอยเสียบ เพราะว่าช่วงนี้ชาวบ้านหาหอยเสียบได้เยอะมาก แสดงว่าสภาพแวดล้อมดีขึ้น สารเคมีที่มาจากปากแม่น้ำมีจำนวนที่น้อยลง บวกกับสถานการณ์ในช่วงนี้คนไม่ออกมาเคลื่อนไหว

­

ถาม ความรู้ในวิชาชีววิทยาของพวกเราบวกกับการทำโครงการนี้จะช่วยเหลือชุมชนได้อย่างไร

แบงค์ ผมคิดว่าในโครงการหอยขาวของเรา เกี่ยวข้องกับวิชาชีววิทยาเป็นส่วนใหญ่ และเกี่ยวข้องกับวิชาเคมีด้วย เราได้เรียนรู้สภาพน้ำจากระบบนิเวศต่าง ๆ ในเชิงชีววิทยา เรื่องอาณาจักรของสัตว์ในระบบนิเวศวิทยา เราสามารถมาบูรณาการกับชุมชนได้ เช่น ตอนที่เราเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อดูแพลงตอนว่ามีชนิดไหนบ้าง เราได้รู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีแพลงตอนต่างชนิดกัน แพลงตอนบางชนิดจะอยู่ในน้ำตื้น หรือบางชนิดอยู่ในน้ำลึก สมมุติว่าในบริเวณชุมชนนั้นไม่มีแพลงตอน คือไม่มีแหล่งอาหารหลักให้กับปลาและหอย

เมย์ ความรู้ที่เรามีภายในห้องเรียน เราสามารถนำมาใช้กับโครงการนี้ เมื่อเราได้ศึกษาเพิ่มเติม เราจึงมีความรู้ที่สามารถบอกกับคนในชุมชน เกี่ยวกับโครงสร้างของหอย ช่วงเวลาในการเจริญเติบโตของหอย

­

ถาม ความรู้เดิมที่พวกเรามีบวกกับความรู้จากประสบการณ์ของผู้รู้ในชุมชนพวกเราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มบ้าง

แบงค์ ตอนนั้นที่เราไปคราดหอยเพื่อนำมาดูโครงสร้างภายในของหอย เป็นความรู้ใหม่ของผมและเป็นความรู้ใหม่ของชุมชนว่า หอยขาวไม่สามารถแยกเพศได้จากภายนอก ต้องผ่าดูกายวิภาคข้างในถึงจะรู้เพศ

โอ๊ต ผมประทับใจตอนที่ส่องแพลงตอนและตอนที่ส่องดูกายวิภาคของหอย จากที่แบงค์พูดว่าหอยไม่สามารถแยกเพศจากภายนอกได้ว่าเป็นเพศไหน ผมได้รู้ว่าหอยขาวมีการปฏิสนธิภายในน้ำ ตอนที่ชาวบ้านให้ข้อมูลเขาไม่ได้พูดถึงเรื่องการปฏิสนธิของหอยเกิดขึ้นในลักษณะแบบไหน ตอนที่เราศึกษาในห้องเรียนเรานำหอยตัวนั้นมา โดยที่ตั้งสมมติฐานก่อนว่า “เราจะแยกเพศหอยขาวได้อย่างไร” เราได้สังเกตดูรูปลักษณ์ภายนอก ดูที่ตลับของหอยว่าอันไหนคือด้านบน ด้านล่าง ด้านหน้า ด้านหลัง จากนั้นเราจดบันทึกไว้และนำหอยที่จดบันทึกไว้มาส่องดูกายวิภาคของมัน เราได้ความรู้ใหม่จากการตั้งสมมติฐานว่า เราไม่สามารถดูเพศจากภายนอกได้เพราะเราเห็นว่าลักษณะของหอยขาวทุกอย่างเหมือนกัน แตกต่างกันที่เซลล์ไข่และเซลล์อสุจิ ถ้าเป็นเซลล์ไข่ของหอยเพศเมียจะมีลักษณะกลมรีและคล้ายกับมีฟองอากาศอยู่ตรงกลาง ส่วนเพศผู้จะมีลักษณะเหมือนดินที่แตกระแหง ชาวบ้านที่ไปเก็บหอยจะไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวไหนเป็นเพศอะไร เพราะเขาไม่มีกล้องจุลทรรศน์ พอชาวบ้านเขารู้เรื่องนี้มันมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์หอยขาว

เมย์  หนูคิดว่าเรื่องนี้ไปเพิ่มเรื่องการมีจิตสำนึกให้กับชาวบ้าน ถ้าเขาเก็บแต่หอยขาวตัวใหญ่ อย่างน้อยเป็นการลดเปอร์เซ็นต์ที่จะสูญพันธุ์ลง มีโอกาสที่หอยขาวตัวเล็กจะได้ผสมพันธุ์และทำให้เกิดปริมาณหอยขาวที่มากขึ้น

­

ถาม ปัญหาอุปสรรคในการทำโครงการมีอะไรบ้าง

แบงค์ อุปสรรคหลักคือ เรื่องของสภาพอากาศ ถ้าเราจะลงไปเก็บหอยเพื่อนำมาดูกายวิภาคต้องเลื่อนออกไปก่อน เราเลือกหัวข้อที่ 2 เรื่องการเก็บสภาพน้ำขึ้นมาทำก่อน ในสภาพอากาศที่ขึ้นลมแรง เราไม่สามารถเก็บน้ำบริเวณที่ลึกได้ แต่เราสามารถเก็บน้ำบริเวณที่ตื้นได้เพื่อที่นำมาศึกษาก่อนปัญหาเรื่องฤดูกาลช่วงเดือนตุลาคมมีฝนตกหนักมาก ช่วงนั้นเราไม่ได้ลงพื้นที่ พอพายุผ่านไปเรามีการประชุมเพื่อวางแผนใหม่ว่าเราจะลงพื้นที่ไหนก่อน เราเลือกไปเก็บหอยหรือไปเก็บตัวอย่างน้ำก่อน

เมย์ เมย์คิดว่าเรื่องระยะทางเป็นอุปสรรค เพราะว่าบ้านของพวกเราแต่ละคนอยู่ไกลจากโรงเรียนพอสมควร บางคนอยู่บนเขา เราแก้ปัญหาโดย ดูจากงานถ้างานไหนไม่ต้องใช้คนทั้งหมด ให้เลือกคนที่สะดวกเดินทางมาทำงานได้ ส่วนเพื่อนที่มาไม่ได้จะมอบหมายงานอีกส่วนให้ทำ

โอ๊ต เรื่องเวลาของสมาชิกในกลุ่มกับช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง บางช่วงเวลาของสมาชิกไม่ตรงกันบ้าง เช่น เราวางแผนแล้วว่าเราจะไปลงพื้นที่ในช่วงนี้ แต่ติดตรงที่วันนั้นมีน้ำขึ้นน้ำลงหรือวันน้ำตาย แก้ปัญหาโดยเราเอาปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ มานั่งคุยกัน เราดูน้ำขึ้นน้ำลงจากแผนที่ของกรมอุทก-ศาสตร์ ช่วงเวลาไหนที่มีน้ำลงมากที่สุด คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเห็นหาดของหอยขาว

­

ถาม การแลกเปลี่ยนของสมาชิกในกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ภูเขากับสมาชิกที่อยู่ในพื้นที่ติดทะเลหลังจากการทำโครงการเป็นอย่างไร

แบงค์ เพื่อนที่อยู่บนภูเขา เขามีมุมมองการเปลี่ยนแปลง เขารู้ข้อมูลเกี่ยวกับหอยขาวเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าสมาชิกของเราบางคนเคยมาทะเลแต่ไม่เคยได้คราดหอยขาว

โอ๊ต ได้รู้จักวิธีการคราดหอย คราดมีลักษณะเป็นแผ่นเหล็กรูปทรงสี่เหลี่ยมพื้นผ้า ข้างบนตอกด้วยด้ามไม้ มีเชือกผูกที่ด้ามไม้และนำมาผูกกับเอว เวลาคราดจะเดินถอยหลัง ถ้ามีเสียงสั่นสะเทือนจะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่าบริเวณนั้นมีหอย เขาก็จะขุดหอยขึ้นมา

แบงค์ รู้สึกว่าเพื่อนต่างพื้นที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อนที่อยู่บนภูเขา เขาอาจจะเอาเรื่องที่ศึกษานี้ไปบอกต่อกับพ่อแม่ที่อยู่ในโซนภูเขาได้

­

ถาม การเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้ของตัวเราหลังจากที่ทำโครงการเป็นอย่างไร

แบงค์ แบงค์ทำหน้าที่หัวหน้าโครงการ ก่อนทำโครงการไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องหอยขาวมากสัก ทั้งที่เป็นคนในพื้นที่ทะเล แบงค์ได้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับเรื่องหอยขาว สิ่งสำคัญที่สุดคือการเป็นผู้นำ ได้ฝึกทักษะการวางแผน เช่น วางแผนไว้เป็นลำดับขั้น 1 2 3 เลือกหัวข้อสำคัญขึ้นมาก่อนและแบ่งงานให้เพื่อน เวลาที่เราลงพื้นที่เราไม่ได้ลงไปด้วยกันหมด เนื่องจากเพื่อน ๆ อยู่ไกลกัน เราเลือกจัดสรรสมาชิกที่อยู่บริเวณทะเลลงพื้นที่ ส่วนสมาชิกที่เหลือจะคอยรวบรวมข้อมูลจากเรา ส่วนฝ่ายสื่อจะเป็นคนเผยแพร่ข้อมูล

เมย์ หนูทำหน้าที่สื่อ สิ่งที่หนูได้เรียนรู้คือ รู้เรื่องหอยขาวเพิ่มมากขึ้น หนูได้ทราบถึงทัศนคติของคนในชุมชนเขามีความคิดเกี่ยวกับหอยขาว หนูเป็นคนที่ชอบพูดและชอบนำเสนออยู่แล้ว พอหนูได้มาทำหน้าที่สื่อ ทำให้หนูได้ฝึกทักษะที่หนูมี รับรู้ทัศนคติของคนเป็น เช่น คนเป็นแบบนี้ใช้คำพูดแบบไหน ได้รู้วิธีการเข้าหาคนอื่น รู้ว่าจะทำอย่างไรให้เขาพึงพอใจ เช่น ตอนที่หนูเข้าไปเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง หนูจะใช้ความเป็นกันเองพูดกับเขา เราพูดถึงปัญหาที่พบและชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสีย ทำให้เขาได้รับความรู้ มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงทัศนคติไปในทิศทางเดียวกับเรา เราไม่เข้าไปแบบเป็นทางการ เราใช้ความเป็นกันเองเพื่อที่ทำให้เขารู้ว่า เราตั้งใจทำโครงการนี้จริง ๆ และอยากให้เขาช่วย คนในชุมชนเขาเห็นด้วยกับเรื่องที่เราบอก เขาบอกว่า “ถ้าเขาทำแบบนี้มานานหอยขาวอาจจะยังมีอยู่เยอะ อาจไม่ต้องเกิดโครงการแบบนี้ก็ได้”

โอ๊ต ทักษะที่ผมได้เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวิทยาศาสตร์ เรื่องการสังเกต การใช้กล้องจุลทรรศน์ ส่วนตัวผมชอบศึกษาสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เช่น ในโครงการผมได้ส่องกายวิภาคของหอย และตั้งสมมุติฐานเรื่องการแยกเพศของหอย ครูนุ้ยคอยช่วยตั้งคำถามให้เราหาวิธีแก้ไข ให้ผมได้ศึกษาโดยการผ่าเพื่อดูกายวิภาคของหอย ช่วงที่ผ่าดูเรายังแยกไม่ได้ว่าอันไหนคือกายวิภาคของตัวเมียหรือตัวผู้ เราต้องตัดชิ้นเนื้อของมันไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถึงจะรู้ว่าเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย ตอนแรกที่ผมส่องดูไม่ได้สงสัยอะไร สิ่งที่เห็นเป็นเม็ดกลม ๆ คิดว่าเป็นฟองอากาศ ผมหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่าย ผมสังเกตเห็นว่าถ้าเป็นเพศผู้มีลักษณะเหมือนแผ่นดินที่แตก ผมนำรูปถ่ายไปให้ครูนุ้ยดูและถามครูว่า “ลักษณะแบบนี้คืออะไร” ผมได้คำตอบว่า “นี่คือไข่ของตัวเมียและอสุจิของตัวผู้”

ผมได้ทักษะเรื่องการวางแผน เราต้องประชุมกันก่อนและดูเรื่องสภาพอากาศ ช่วงน้ำขึ้นน้ำลงสอดคล้องกับเวลาที่เราไป ผมเห็นความสามัคคีตอนที่พวกเราไปลงพื้นที่ชายหาดพร้อมกัน เพื่อเรียนรู้ไปด้วยกัน ไปเก็บตัวอย่างน้ำและวัดขนาดหอยขาวด้วยกัน พวกเราได้สังเกตหาดทรายว่ามีลักษณะแบบไหน เป็นดินโคลนหรือดินทราย อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้หอยอยู่บริเวณนี้

เมย์ ทักษะที่ได้รับคือ ทักษะการทำงานร่วมกัน งานหนึ่งงานเราไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียวเราต้องร่วมมือกัน โดยที่เราเรียนรู้ไปพร้อมกันเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราสามัคคีกันและตรงต่อเวลาซื่อสัตย์และมีวินัยในการทำงาน ทุกอย่างจะประสบผลสำเร็จ

­

ถาม มีความรู้สึกอย่างไรหลังจากที่ได้ทำโครงการนี้

แบงค์ รู้สึกตื้นตัน พวกเราเป็นเด็กนักเรียน ม.6 ที่เรียนแต่ในห้องเรียน เราไม่เคยไปทำกิจกรรมนอกสถานที่แบบนี้ พอเราได้ไปทำกิจกรรมได้รู้จักการพูดคุยสัมภาษณ์คนในชุมชนแบบนี้ เรามีพัฒนาการที่ดีขึ้น นอกเหนือความรู้ที่อยู่ในห้องเรียน เวลาที่เราอยู่ในห้องเรียนเราจะฟังอาจารย์สอน เราอาจจะตอบถูกบ้างไม่ถูกบ้าง เราจะเครียด แต่เวลาที่เราได้ไปทำงานข้างนอกพื้นที่ เราได้รับรู้ถึงบรรยากาศเราได้ทำงานร่วมกับคนหมู่มาก รู้สึกว่ามันสนุกมากกว่าในห้องเรียน

ตอนแรกผมเป็นคนที่กลัวการถามมาก กลัวว่าตัวเองจะตอบไม่ถูก หลังจากที่ทำโครงการนี้ครูนุ้ยสอนว่าทำโครงการนี้ไม่มีผิดไม่มีถูกไม่ต้องเครียด ให้สนุกไปกับมันเพราะเป็นโครงการที่พวกเราทำเอง

เมย์ หนูรู้สึกดีใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างจิตสำนึก ทำให้เขารู้ว่าถ้าเขายังทำแบบนี้อยู่หอยอาจจะสูญพันธุ์ได้ อาจจะทำให้เขาขาดรายได้ ไม่คิดว่าการทำงานของเราจะไปช่วยเปลี่ยนทัศนคติของเขาขนาดนั้น พอเราเห็นว่าเค้าทำแบบที่เราบอกจริง ๆ หนูรู้สึกดีใจและอีกอย่างคือหนูได้เห็นว่าธรรมชาติของเรากำลังจะกลับคืนสู่สภาพที่ดีขึ้น

โอ๊ต ตัวผมเป็นคนในพื้นที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล ผมรู้สึกดีใจที่มีโครงการนี้เกิดขึ้น เพราะว่าได้ให้ความรู้กับสมาชิกแกนนำและคนในชุมชน รู้สึกดีใจที่ได้ศึกษาเรื่องราวของหอยขาว รู้ว่าหอยขาวเหล่านี้ดำรงชีวิตอย่างไร กินอะไรเป็นอาหาร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เขาอยู่ในพื้นที่นี้ หอยขาวเป็นตัวบ่งชี้ถึงระบบนิเวศในชุมชนนี้

­

ถาม ในอนาคตอยากเห็นชุมชนเป็นอย่างไร

โอ๊ต ผมอยากให้รักษาระบบนิเวศไว้ จะได้มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นการสร้างจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ ที่นี่มีหอยขาว หอยเสียบ ปู ต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนได้ แต่ต้องอยู่บนรากฐานเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติจนเกินไป

แบงค์ อยากให้ชุมชนทำเรื่องอนุบาลหอยขาว แต่เรื่องนี้จะทำยากมากเพราะว่าเราไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง หอยขาวต้องขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ อยากให้ชุมชนของเรามีจำนวนหอยขาวมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเยอะขึ้น มีระบบนิเวศที่ดีขึ้น ไม่มีขยะ ไม่มีสารเคมีในทะเล

เมย์ อยากให้คนที่เข้ามาที่พื้นที่อำเภอท่าชนะ ได้เห็นว่าที่นี่มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีกุ้ง หอย ปูปลา มีของอาหารที่ดี ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ อยากพัฒนาให้เป็นชนบทที่น่าอยู่