สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการการศึกษาคุณค่าและความสำคัญของลูกปัดโบราณ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฏร์ธานี

โครงการ การศึกษาคุณค่าและความสำคัญของลูกปัดโบราณ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฏร์ธานี


ผู้ให้สัมภาษณ์

  1. นางสาวอริย์สร ภูริอัครวณิชย์ (ครูแอน) อายุ 30 ปี  ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนท่าชนะ ตำแหน่ง: พี่เลี้ยงเยาวชน
  2. นางสาวนภัสวรรณ บัวแก้ว (ฟ้า) อายุ 17  เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนท่าชนะ ตำแหน่ง: หัวหน้าโครงการ
  3. นางสาวอรวรรณ พรมรุ่ง (ขวัญ) อายุ 17  เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนท่าชนะ ตำแหน่ง: รองหัวหน้าโครงการ
  4. นายณัฐวุฒิ สิทธิแหน (บราวนี่) อายุ 16 ปี  เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนท่าชนะ ตำแหน่ง: เหรัญญิก
  5. นายเกียรติศักดิ์ หวังอีน (มินนี่) อายุ 17 ปี  เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนท่าชนะ ตำแหน่ง: เหรัญญิก

­

บทสัมภาษณ์

ถาม ขอให้ช่วยแนะนำตัว

ฟ้า สวัสดีค่ะ ชื่อฟ้า นางสาวนภัสวรรณ บัวแก้ว ปีนี้ขึ้นชั้น ม.6 ค่ะ

ขวัญ สวัสดีค่ะ ขวัญค่ะ นางสาวอรวรรณ พรมรุ่ง ปีนี้ขึ้นชั้น ม.6 ค่ะ

บราวนี่ บราวนี่ครับ นายณัฐวุฒิ สิทธิแหน ปีนี้ชั้น ม.5 ครับ

มินนี่ มินนี่ครับ นายเกียรติศักดิ์ หวังอีน ปีนี้ชั้น ม.4 ครับ

ครูแอน สวัสดีค่ะครูแอน นางสาวอริย์สร ภูริอัครวณิชย์ ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนท่าชนะ และเป็นพี่เลี้ยงเยาวชน

­

ถาม ขอให้เล่าถึงโครงการ

ขวัญ พวกเราทำโครงการการศึกษาคุณค่าและความสำคัญของลูกปัดโบราณ อำเภอท่าชนะ เราศึกษาเกี่ยวกับลูกปัดในพื้นที่วัดอัมพวาสและพื้นที่หมู่ 7 บ้านท่าม่วง ตำบลวัง เริ่มแรกเราหาแกนนำน้อง ๆ เพื่อขยายผลต่อ หลังจากได้แกนนำเราประชุม วางแผนเตรียมลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูล รวบรวมข้อมูลและจัดทำค่ายอบรมให้กับน้อง ๆ ที่สนใจ เพื่อให้น้องรู้จักลูกปัดในพื้นที่และร่วมกันอนุรักษ์

ถาม ทำไมถึงสนใจทำประเด็นเรื่องลูกปัดโบราณ

ขวัญ เป็นเรื่องที่อยู่ในอำเภอของเรา ลูกปัดอยู่ในอำเภอท่าชนะแต่คนไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยให้ความสำคัญสักเท่าไร เราอยากทำเรื่องนี้เพื่อให้คนในชุมชนได้เรียนรู้และร่วมกันอนุรักษ์

ฟ้า อยากนำลูกปัดมาเป็นสื่อการเรียนการสอนเรื่องประวัติศาสตร์

บราวนี่ การทำโครงการเรื่องลูกปัดเป็นส่วนหนึ่งในวิชาเรียนของผม

ฟ้า พวกเราเรียนวิชาค้นคว้าอิสระ (Individual Study: IS) เป็นวิชาที่เรียนรู้ผ่านโครงงาน ครูนุ้ยแนะนำให้เลือกทำเรื่องที่เราสนใจจากข้อมูลของ 6 ตำบลในอำเภอท่าชนะ หนูและเพื่อนในห้องเรียนสนใจเรื่องลูกปัดในพื้นที่ตำบลวัง ซึ่งเป็นเรื่องที่หนูไม่รู้มาก่อน

­

ถาม โจทย์ในการทำโครงการสอดคล้องกับสถานการณ์ในชุมชนอย่างไร

ฟ้า ลูกปัดโบราณเป็นของที่มีมูลค่ามีราคาสูง ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนที่มีลูกปัดเก็บไว้ เมื่อชุมชนมีสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาเขาจะนำลูกปัดไปขายเพื่อส่งเงินให้ลูกหลานเรียนต่อ มีบางคนในพื้นที่ตำบลวังและคนนอกตำบลอย่างหนูที่ไม่รู้เรื่องราวของลูกปัด ตรงนี้เป็นข้อเสีย ถ้าคนในชุมชนนำลูกปัดไปขายจนหมด ไม่มีการสืบทอดการอนุรักษ์ลูกปัด ลูกหลานรุ่นต่อไปอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็น ซึ่งลูกปัดที่ถูกขุดเก็บไว้เป็นสมบัติของแต่ละบ้าน ยังมีลูกปัดหลงเหลืออยู่ใต้พื้นดินบ้างแต่อยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล ตอนนี้การขุดหาลูกปัดอาจจะใช้ระยะเวลาที่นานมากกว่าสมัยก่อน

­

ถาม คนในชุมชนขุดหาลูกปัดอยู่อีกไหม

ฟ้า มีค่ะ แต่จำนวนน้อยกว่าเมื่อก่อนมาก เมื่อก่อนคนอาจจะไม่รู้ว่ามีราคาจึงปล่อยทิ้งเอาไว้ พอเริ่มมีคนสนใจราคาของลูกปัดจึงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนมากลูกปัดจะมีอยู่ที่บ้านท่าม่วงในตำบลวัง

ขวัญ  เมื่อก่อนพื้นที่บริเวณนั้นสามารถพบลูกปัดได้ทั่วไป ตอนลงพื้นที่พวกเราได้เรียนรู้วิธีการขุดหาลูกปัดซึ่งเป็นวิถีที่แตกต่างไปจากสมัยก่อน ตอนที่ลูกปัดยังมีจำนวนมาก ถือว่าเป็นสินค้าที่ชาวบ้านค้าขายกันทั่วไป เพราะว่าขายได้ราคาใครเก็บได้มากก็ขายได้มาก การขุดหาลูกปัดไม่มีความซับซ้อนเหมือนในปัจจุบัน


ถาม ช่วยเล่าถึงความแตกต่างของลูกปัดจากข้อมูลที่ได้ศึกษา

ขวัญ ลูกปัดมีสองประเภทคือลูกปัดแก้วและลูกปัดหิน เช่น ลูกปัดข้าวต้มมัดมีราคาเม็ดละ 2,000 บาท แต่ถ้าเป็นลูกปัดที่หายากกว่านี้มีราคาที่สูง 20,000-30,000 บาท เช่น ลูกปัดที่มีลายแกะสลักเป็นรูปเก่า ราคาของลูกปัดขึ้นอยู่กับความยากและความง่ายในการขุดหา และมูลค่าของลูกปัดยังขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดในตอนนั้นด้วย

ฟ้า อีกอย่างเป็นเรื่องของความเชื่อที่ควบคู่กับรูปร่างลักษณะของลูกปัดซึ่งเกิดจากการแกะสลัก ส่วนดินมีหน้าที่กักเก็บความชื้นเป็นตัวรักษาคุณภาพของลูกปัด ส่วนเรื่องข้อมูลในการแกะสลักลูกปัดหรือการเจียให้เป็นลักษณะกลมนั้น เรายังหาข้อมูลได้ไม่ชัดเจนไม่พบการจารึกไว้

­

ถาม ชาวบ้านในชุมชนรู้สึกอย่างไรกับที่พวกเราไปหาข้อมูลและทำเรื่องการอนุรักษ์ลูกปัด

มินนี่ ชาวบ้านส่วนหนึ่งนำลูกปัดไปขายสร้างรายได้ และเก็บลูกปัดบางส่วนเอาไว้เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องลูกปัดในชุมชน ให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ถึงประวัติและชนิดของลูกปัด โดยผู้ใหญ่บ้านและกำนันจะเป็นคนแนะนำให้ความรู้

ขวัญ ตอนที่เราจัดเวทีกิจกรรมมีคุณตาบอกพวกหนูว่า “รู้สึกดีใจที่เห็นลูกหลานให้ความสนใจเกี่ยวกับสิ่งที่มีคุณค่าในชุมชนและช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้”

ครูแอน ตอนที่พานักเรียนลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลและจัดกิจกรรม เราติดต่อผ่านกำนันของตำบลวัง ข้อมูลที่ได้คือยังมีชาวบ้านขุดหาลูกปัดในพื้นที่ มีลูกปัดบางชนิดที่ไม่สามารถขุดพบได้แล้วในปัจจุบัน ลูกปัดหายากเหล่านี้ยังมีชาวบ้านบางคนเก็บเอาไว้ เช่น ถ้าเขาขุดได้ 4 เม็ด จะนำไปขาย 3 เม็ด เก็บเอาไว้ที่ตัวเอง 1 เม็ด พอมาถึงยุคที่เศรษฐกิจไม่ดี เขาคิดว่าลูกปัดเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเขาจึงจำเป็นต้องขายลูกปัดที่เก็บรักษาไว้ ลูกปัดบางชนิดที่เคยมีอยู่ในอำเภอท่าชนะปัจจุบันไม่มีแล้ว คนในชุมชนและคนเฒ่าคนแก่เห็นเด็ก ๆ ลงไปในพื้นที่แถวนั้น รู้สึกดีใจที่เด็กให้ความสนใจเกี่ยวกับลูกปัดอีกครั้ง เพราะว่าเด็กในอำเภอท่าชนะทั้ง 6 ตำบล เด็กตำบลอื่นไม่มีใครรู้เรื่องลูกปัดและเด็กบางส่วนในตำบลวังเองก็ไม่รู้จักเรื่องลูกปัดเหมือนกัน ชาวบ้านพอได้เห็นเด็ก ๆ ลงพื้นที่เขารู้สึกภูมิใจที่เด็ก ๆ สนใจของโบราณที่ยังคงมีอยู่ในอำเภอท่าชนะ

­

ถาม บทบาทของเยาวชนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนอย่างไร

ขวัญ หนูคิดว่าเราควรอนุรักษ์เรื่องลูกปัดเพื่อให้ลูกหลานได้เห็นและรักษาไว้ต่อไป ส่วนตัวหนูถ้ามีลูกปัดหนูอยากจะเก็บไว้ หนูอยากให้คนในโรงเรียนหรือเพื่อนพี่น้องได้เรียนรู้เรื่องลูกปัด ตอนที่เราลงพื้นที่ชาวบ้านเห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเราทำ ให้การสนับสนุนโดยที่เขาได้ให้ข้อมูลกับเรา เช่น เรื่องการศึกษาลักษณะของลูกปัด แหล่งที่มาของลูกปัด วิธีการขุดพบ ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับลูกปัด ข้อมูลที่ชาวบ้านให้เป็นการสนับสนุนให้เราอนุรักษ์ลูกปัดไปในตัว

บราวนี่ ตอนที่ไม่ได้เข้าโครงการผมไม่รู้มาก่อนว่าที่อำเภอท่าชนะมีลูกปัดโบราณ หลังจากที่ผมได้ร่วมเข้าโครงการชาวบ้านที่เป็นคนขุดพบลูกปัดรวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้านในตำบลวัง เป็นคนที่คอยให้ความรู้กับพวกเรา ผมรู้สึกว่าผมอยากอนุรักษ์ลูกปัดเอาไว้ เพราะเป็นของโบราณที่ผมอยากให้คนรุ่นหลังได้เห็น ผู้ที่ให้ข้อมูลกับเราส่วนเป็นใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน อายุประมาณ 60-70 ปี

ฟ้า  ตอนแรกเราจะให้เฉพาะแกนนำในโครงการลงพื้นที่เพื่อหาความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องลูกปัดก่อน หลังจากนั้นจึงจัดค่าย เราประสานงานกับกำนันเรืองศักดิ์เพื่อขอคนให้ข้อมูล คนในชุมชนต้อนรับดีตั้งแต่ครั้งแรกที่เราลงพื้นที่ เราเริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูล พบว่าลูกปัดสามารถขุดได้ทุกฤดูกาล ซึ่งแล้วแต่ว่าบุคคลใดจะขุดพบ เราได้พัฒนาความรู้เรื่องพื้นที่เพื่อหาแนวทางในอนุรักษ์ต่อไป

มินนี่  พอเรามาทำโครงการนี้นักเรียนในโรงเรียนท่าชนะให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เรามีการพูดคุยกับน้องในค่ายส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้น ม.1-ม.3 มีพี่เลี้ยงเป็นพี่ ม.4-ม.5 ในการจัดค่ายมีนักเรียนเข้าร่วมครอบคลุมเกือบทุกระดับชั้น งานวันนั้นเป็นการเผยแพร่ให้น้องนักเรียนได้รู้ถึงเรื่องราวของลูกปัดและน้อง ๆ บอกว่าจะนำเรื่องนี้ไปเล่าให้กับผู้ปกครองฟัง

ครูแอน การเปลี่ยนแปลงคนของในชุมชนในมุมมองของครู จากวันแรกที่เราลงพื้นที่ชาวบ้านบอกว่าไม่มีลูกปัด เราแทบไม่ได้ข้อมูลอะไร ในครั้งหลังที่เราลงไปในชุมชนบ่อยมากขึ้นจนได้ไปพบกับกำนัน ซึ่งกำนันให้ความสนใจการทำกิจกรรมของเด็ก ๆ และโครงการนี้ พอเด็กลงไปกำนันรู้สึกดีใจและให้ความสำคัญกับเด็ก ๆ กำนันช่วยหาวิทยากรในชุมชนที่ยังเก็บรักษาลูกปัดไว้ ช่วยประสานผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้เรื่องลูกปัดมาให้ความรู้กับเด็กนักเรียน ถ้าเราลงไปในชุมชนเองโดยไม่ผ่านกำนันเขาอาจจะไม่ให้ความร่วมมือ

ชาวบ้านที่นักเรียนไปขอความรู้ เขาภูมิใจหยิบลูกปัดที่เก็บรักษาไว้เอามาเล่าให้เด็กฟัง มีอยู่ครั้งหนึ่งป้าเขาบอกว่า “ให้เด็ก ๆ มาหาอีกได้เลยนะป้าจะเอาลูกปัดมาให้ดูอีก” กำนันรู้สึกภูมิใจมากและรู้สึกดีใจที่เด็กเยาวชนรุ่นนี้มาศึกษาเรื่องลูกปัด เป็นแรงกระตุ้นให้ชาวบ้านรู้สึกอยากรักษาลูกปัดไว้ให้เด็กรุ่นหลังได้ดู กำนันจะคอยพูดให้ชาวบ้านฟังถึงสิ่งที่เด็ก ๆ ทำ

ตอนลงพื้นที่มีบ้านป้าลัดดา ซึ่งป้าอายุมากและไม่ค่อยเชื่อใจใคร พอเด็ก ๆ ลงไปขอความช่วยเหลือ ป้าลัดดายอมเปิดบ้านให้นักเรียนเข้าไปดูวิธีการขุดพบลูกปัดของตัวเอง ซึ่งเป็นขุดลูกปัดในแบบโบราณคือขุดด้วยมือ ตอนหลังป้าลัดดานำลูกปัดที่มีมาให้เด็กดู ส่วนป้าเอียดเป็นป้าที่มีลูกปัดจำนวนเยอะที่สุด คอยช่วยเหลือเด็ก ๆ เอาลูกปัดมาให้ดูอยู่ตลอด ลูกปัดถือว่าเป็นสมบัติส่วนตัวโดยปกติเจ้าของไม่ค่อยนำมาให้ใครดู พอเด็กเข้ามาขอข้อมูลชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือดี ทำให้กำนันมีความคิดอยากจะสร้างศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน

­

ถาม ทำไมความรู้สึกของชาวบ้านถึงเปลี่ยนไปจากครั้งแรก

ครูแอน ตอนครั้งแรกที่เราลงไปชาวบ้านไม่รู้จุดประสงค์ของเรา ว่าเรามาทำอะไร หลังจากนั้นเราพาเด็กลงไปพบปะพวกเขาเรื่อย ๆ ชาวบ้านได้เห็นถึงความสนใจของเด็ก แต่ก่อนที่เขาไม่อยากนำลูกปัดให้เราดูเพราะว่าลูกปัดมีมูลค่า อาจจะกลัวว่าลูกปัดจะเกิดความเสียหาย หรือถ้าเราถ่ายรูปลูกปัดมาอาจจะสร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเขาได้ ตอนหลังเราพยายามพูดจุดประสงค์ของเราเรื่อย ๆ ชาวบ้านเริ่มให้ความร่วมมือ

ฟ้า ครั้งแรกที่ลงไปพื้นที่เราไม่ได้โทรติดต่อประสานงานหรือขอคำแนะนำจากใคร เราไปกับคนที่อยู่ในพื้นที่ หนูตั้งใจไปถามวิธีการขุดหาลูกปัด หนูได้ไปเจอป้าโสภาแต่ไม่ได้ข้อมูลอะไร เพราะป้าไม่ใช่คนที่ขุดลูกปัดเป็นอาชีพ หลังจากนั้นเราประสานงานไปที่กำนัน กำนันเลือกผู้รู้ในเรื่องนี้จริง ๆ ให้ มีพี่ศิลาดิษฐ์เป็นคนให้ข้อมูลเรื่องวิธีการขุดลูกปัดเพราะเขาทำเป็นอาชีพ เราจึงได้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นข้อมูลจากประสบการณ์จริง

­

ถาม ขอให้เล่าถึงปัจจัยในการทำให้โครงการสำเร็จ

ครูแอน ส่วนที่ทำให้โครงการสำเร็จคือ ชุมชน โรงเรียน พี่ ๆ มูลนิธิสยามกัมมาจล ทีมงาน สก.สว. ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนช่วยโดยการให้ข้อมูล ไม่ว่าเราไปวันไหนเวลาไหนพวกเขาแบ่งเวลาให้เราตลอด ชาวบ้านให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โรงเรียนของเรามีงานอะไรชาวบ้านยินดีช่วยเหลือและให้ข้อมูลเสมอ ในส่วนของโรงเรียนโครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ในรายวิชา IS ซึ่งเป็นวิชาค้นคว้าอิสระ วิชาที่ให้นักเรียนลงพื้นที่และหาข้อมูล ผลิตรูปเล่มรายงานและเผยแพร่ให้กับเพื่อนในโรงเรียน ท่านผู้อำนวยการของโรงเรียนให้การสนับสนุน ท่านคอยถามคอยช่วยเหลือและเป็นคนช่วยประสานงานผู้ใหญ่ในอำเภอเรื่องการขอข้อมูล คุณครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์คอยช่วยเหลือโครงการนี้ โดยการพานักเรียนไปลงชุมชนเวลาที่ครูแอนไม่ว่าง มีครูอีกท่านที่พาเด็ก ๆ ลงพื้นที่แทน

บราวนี่ ผมคิดว่าเพื่อน ๆ ในโครงการ ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงรุ่นน้องในโรงเรียนด้วย คอยช่วยเหลือให้โครงการสำเร็จ

ฟ้า โครงการนี้ทำให้ฟ้ามีส่วนร่วมในการเป็นหัวหน้าโครงการ เวลาที่ฟ้ามีเรื่องของการทำงาน การพัฒนางาน จะปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากคุณครู โครงการนี้ทำให้เรากล้าถามคุณครูมากกว่ารอให้คุณครูบอกหรือชี้แนะเรา

­

ถาม ช่วยเล่าแนวคิดเรื่องการนำโครงการมาอยู่ในรายวิชา IS

ครูแอน ในวิชา IS เริ่มจากการที่ให้นักเรียนซึ่งเป็นคนในพื้นที่ หาจุดเด่นของอำเภอท่าชนะ ครูชวนเด็ก ๆ ดูว่าในพื้นที่ของพวกเรามีอะไรน่าใจน่าศึกษา ให้เอาของดีของอำเภอตัวเองขึ้นมาเขียนบนกระดาน ซึ่งเด็กแต่ละคนเขาเขียน เราให้แต่ละคนเลือกว่าเขาสนใจจะทำเรื่องไหน เพราะอะไร มีนักเรียนที่สนใจทำเรื่องลูกปัด ทำเรื่องหอยขาว เราให้เด็กใช้เครื่องมือ Timeline ในการสืบค้น ชวนเด็กวางแผนว่าช่วงไหน ทำอะไรในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง ถ้าพวกเขาได้ข้อมูลอะไรให้เอามาเขียนลง Timelineว่า วันนี้ลงไปที่ไหน ไปบ้านใคร และได้ข้อมูลอะไรมาบ้าง หลังจากนั้นนำข้อมูลที่อยู่ใน Timeline มาทำเป็นรายงาน


ถาม รู้สึกอย่างไรกับการเรียนรู้ในรูปแบบนี้

ฟ้า ได้ประสบการณ์จากการลงพื้นที่จริง เป็นวิชาที่ต้องปฏิบัติและมีประสบการณ์ในการลงพื้นที่ การใช้คำพูดในการสัมภาษณ์ รู้จักเรื่องกาลเทศะ ใช้ทักษะหลายด้านเพื่อเก็บข้อมูล รู้สึกดี ที่สิ่งที่เราทำสร้างความประทับใจต่อชาวบ้านและคุณครู หนูได้ประสบการณ์จากการสัมภาษณ์ ในครั้งแรกยังใช้คำไม่เหมาะสมชาวบ้านไม่เข้าใจ และหนูสามารถมานำมาพัฒนาแก้ไขในครั้งต่อไป ทักษะที่ได้เพิ่มจากในห้องเรียน คือ ประสบการณ์ในการพูด การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ขวัญ การเรียนที่มากกว่าการเรียนผ่านตัวหนังสือ เราไม่ได้เรียนแค่ในห้องเรียนแต่เราลงมือทำในพื้นที่จริง ปฏิบัติงานด้วยตัวของเราเอง หนูคิดว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว หนูกล้าคิด กล้าลงมือทำจริง การเรียนในห้องเรียนเราเรียนแค่ทฤษฎี บางอย่างเราไม่ได้ลงมือทำจริง ๆ หนูชอบการเรียนแบบนี้มากกว่า

บราวนี่ ผมคิดว่าแตกต่างกว่าการเรียนในห้องเรียน อยู่ในห้องต้องนั่งบนเก้าอี้และเขียนตามที่อาจารย์สอน เวลาที่ลงพื้นที่เราได้ประสบการณ์ได้ทำงานจริงแบบ 100% ได้พบปะกับคนอื่นซึ่งเป็นคนที่เราไม่รู้จัก ถ้าเปรียบเป็นอาชีพอาจเหมือนเซลล์ขายของ ที่ต้องไปพบปะผู้คนและแลกความรู้กัน

มินนี่ ผมชอบการเรียนแบบนี้ ทุกวันผมต้องเรียนในห้องเรียน การเรียนแบบนี้ในวิชา IS เราได้รวมกลุ่มกันและลงมือทำเอง การรวมกลุ่มกันทำให้ผมเห็นถึงความสามัคคีและการทำงานร่วมกัน ได้ประสบการณ์ต่างจากการเรียนในห้องเรียน

­

ถาม จุดเด่นของโครงการนี้คืออะไร

ฟ้า โครงการเราสามารถเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ลูกปัดได้จริง โดยผลิตสื่อเป็นภาพถ่ายและวิดีโอเพื่อให้ข้อมูลและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับลูกปัด เราจะเป็นสื่อกลางการให้ข้อมูลผ่านโซเชียล

­

ถาม ขอให้เล่าถึงการเลือกเครื่องมือผลิตสื่อที่พวกเรานำมาใช้ในโครงการ

ฟ้า เราเลือกผลิตสื่อเพราะในโลกยุคใหม่การสื่อสารผ่านช่องทางนี้คนให้ความสนใจมากกว่า เราเลือกสื่อวิดีโอเพื่อแนะนำและให้ข้อมูลผ่าน FaceBook Page Active ลูกปัดอำเภอท่าชนะ เราอยากนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้เพื่อนในโรงเรียนโดยเฉพาะนักเรียนบางส่วนที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมในครั้งนั้น และคนภายนอกที่สนใจรับรู้ว่าโครงการของเราทำอะไร คนที่สนใจสามารถเรียนรู้ผ่านสื่อนี้ได้ เราจัดทำหนังสือลูกปัดเพื่อให้คนนำไปศึกษาต่อ หนังสือเล่มนี้จะอยู่ที่โรงเรียนและตำบลวัง ถ้าใครสนใจศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับลูกปัด เราสามารถนำหนังสือเล่มนี้เป็นสื่อในการให้ข้อมูลได้ และหนังสือเล่มนี้จะนำไปให้สภาวัฒนธรรมอำเภอท่าชนะ ซึ่งเขายินดีที่นำเรื่องราวที่นักเรียนทำไปเผยแพร่ต่อ

บราวนี่ ผมคิดว่าสื่อที่เราทำทั้งสื่อทั้งโซเชียลและหนังสือเป็นเรื่องที่ดี เพราะคนสมัยนี้ศึกษาผ่านโซเชียลกันมาก ส่วนหนังสือเหมาะสำหรับให้คนที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตได้ศึกษาหาความรู้

­

ถาม ขอให้เล่าถึงการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงของตัวเองหลังจากที่ทำโครงการ

ฟ้า เรื่องความรับผิดชอบ หนูเป็นคนที่คอยให้คำแนะนำน้อง ๆ แลกเปลี่ยนความคิดกับน้อง พอหนูมาทำบทบาทหัวหน้าโครงการ หนูต้องเป็นแกนนำในการขับเคลื่อน ทำให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น หนูได้ทักษะการพูดคุย เพราะว่าน้องอยู่ ม.4 เราไม่สนิทกันมาก ต้องมีการปรับตัวเข้าหาน้องเพื่อให้ลดความเกร็งกันทั้งคู่ รู้วิธีการสร้างสัมพันธ์ไมตรีที่ดีกับน้องและคนที่เราไปติดต่อประสานงาน

ขวัญ การทำงานเป็นทีม ต้องรู้จักความอดทนในการทำงานร่วมกัน เปลี่ยนทัศนคติของหนูในเรื่องของการกล้าพูด กล้าทำ บางครั้งอาจจะถูกหรือผิด ก็เป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง เป็นบทเรียนให้เราในอนาคต หนูได้เรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมในท้องถิ่นของเราผ่านลูกปัดโบราณ

บราวนี่ ผมได้พัฒนาศักยภาพ มีความรับผิดชอบมากขึ้น จากการรับหน้าที่เป็นเหรัญญิกต้องบริหารจัดการเงินจำนวนมาก โดยมีครูแอนคอยสนุบสนุนเรื่องความคิด วิธีการจัดการเงิน ผมยังเรียนอยู่ ม.4 ไม่ค่อยรู้วิธีการจัดการเงินมากนัก การทำโครงการเราต้องมีน้ำใจ ต้องฟังเสียงข้างมาก รับฟังความคิดของผู้อื่น ผมมีทัศนคติที่เปลี่ยนไป ผมไม่คิดว่าอำเภอท่าชนะจะมีลูกปัดโบราณ จนผมได้เข้าร่วมโครงการผมมีความรู้สึกที่อยากอนุรักษ์ อยากรักษาให้ลูกปัดอยู่กับท้องถิ่นของเราต่อไปไม่อยากให้สูญไป

มินนี่ ผมทำหน้าที่เป็นเหรัญญิก การเปลี่ยนแปลงของผม คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา พวกเราทำงานกันเป็นทีมต้องรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันเพื่อให้งานสำเร็จ ผมมีความรับผิดชอบมากขึ้นเพราะต้องจัดการเงินเป็นจำนวนมาก เงินในโครงการเข้าออกตลอดเวลา เราต้องมีความรับผิดชอบในเรื่องของการเงิน เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าถ้าไม่มีเงินเราจะไม่มีงบประมาณในการทำโครงการ

ครูแอน นักเรียนทุกคนที่เข้าร่วมโครงการมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไป ตอนแรกพวกเขาไม่กล้าทำงานอะไร กลัวทำผิดมีคนว่า เขาไม่กล้าคิดไม่กล้าพูดรอคำสั่งอย่างเดียว ตอนหลังเราพยายามให้เขาลองทำโดยให้เขาเลือกผู้นำมาหนึ่งคนคือน้องฟ้า ให้เขาวางแผนและชวนน้อง ๆ เข้ามาทำงาน เขาเริ่มกล้าทำมากขึ้น เริ่มวางแผนงานด้วยตัวเองว่าต้องทำอะไร ครูไม่ต้องคอยชี้คอยบอกอีกต่อไป พวกเขาเริ่มพูดคุยเรื่องงานกันได้โดยไม่ต้องมีคุณครู นักเรียนกล้าพูดและนำเสนองานมากขึ้น

­

ถาม ความรู้สึกและจิตสำนึกที่มีต่อชุมชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

มินนี่ ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับลูกปัด จากคนที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับลูกปัดในอำเภอท่าชนะเปลี่ยนเป็นอยากรักษาและสืบสานเรื่องนี้ให้คงอยู่ต่อไป ผมไม่อยากให้พวกเขาขายลูกปัด อยากให้เขาเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์เพื่อส่งต่อให้กับลูกหลานสืบไป

ฟ้าจากที่คิดแค่ว่าลูกปัดหนึ่งลูกคือเครื่องประดับเท่านั้น แต่พอเราได้ศึกษา ลูกปัดไม่ใช่แค่เครื่องประดับแต่เป็นสิ่งที่แสดงถึงเส้นทางการค้าขาย วิถีการดำรงชีวิตในสมัยก่อน มีเรื่องราวรายละเอียดของชุมชนอยู่ในลูกปัด

ขวัญ ปกติหนูใช้ชีวิตแค่ไปโรงเรียนไม่เคยสนใจว่าในท้องถิ่นของเรามีอะไรดี สิ่งรอบตัวทุกอย่างดูเฉย ๆ ไปหมด พอได้เข้าร่วมโครงการนี้ได้คุณค่าลูกปัดโบราณมากขึ้น ทำให้หนูอยากเรียนรู้ภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชนที่เราละเลยไม่ใส่ใจ ตอนนี้รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ลูกปัดโบราณในชุมชนในอำเภอของหนู

บราวนี่ รู้สึกภูมิใจในท้องถิ่นของเราที่มีวัตถุโบราณมานานหลายปี เมื่อก่อนผมไม่เคยรู้ว่าในอำเภอท่าชนะมีลูกปัดโบราณ พอได้เข้ามาเข้าร่วมในโครงการผมอยากอนุรักษ์ไว้ ผมเริ่มอยากค้นหาภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือวัตถุโบราณที่อยู่ในชุมชนของเรา และอยากอนุรักษ์ไม่ให้สูญหายไป

­

ถาม ภูมิปัญญาท้องถิ่นสำคัญกับเราอย่างไร

ฟ้า เราควรศึกษาเรื่องราวของพื้นที่บ้านเกิดของเราให้ดีเพราะที่นี่คือรากฐานความเป็นเรา ก่อนใส่ใจศึกษาในพื้นที่อื่น

ขวัญ คือรากเหง้าและรากฐานของคนไทย เมื่อก่อนหนูชอบชื่นชมของที่อยู่ในจังหวัดอื่นโดยที่ไม่รู้ว่าจังหวัดของเรามีอะไรดี ทั้งที่มีของดีอยู่เราไม่เคยเห็นคุณค่า ละเลยสิ่งสำคัญที่สุด เรารู้สิ่งอื่นมากมายแต่เราไม่รู้จักรากเหง้าของตัวเราเอง

มินนี่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นรากฐาน เราต้องรู้จักวัฒนธรรมไทย ยุคของโลกออนไลน์มีวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามามากขึ้น ทำให้เราละเลยวัฒนธรรมไทยและสนใจวัฒนธรรมของต่างชาติมากกว่า ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาและอนุรักษ์คุณค่าของวัฒนธรรมไทยไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน

บราวนี่ ยุคนี้มีวัฒนธรรมของต่างชาติเข้ามา อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์ไม่อยากให้เสพติดวัฒนธรรมของต่างชาติมากเกินไป อยากให้หันมาดูแลวัฒนธรรมไทยของเรามากขึ้น อยากให้คนรุ่นหลังจากผมได้รับรู้ว่าภูมิปัญญาของเราในสมัยก่อนเป็นอย่างไร

­

าม  คุณครูคิดว่าโครงการนี้สร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กอย่างไรบ้าง ครูจะมีส่วนช่วยขยายการสอนแบบนี้ยังผู้บริหารหรือเพื่อนครูอย่างไรบ้าง

ครูแอน  สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กเปรียบเทียบการเรียนอย่างเดียวในห้องที่เรียนแต่ทฤษฏี กับการเรียนรู้แบบปฏิบัติจริงทำงานเอง เป็นขั้นตอนที่ต้องคิดเอง ช่วยกันวางแผน ลงมือปฏิบัติเอง พัฒนาการของเด็กเป็นพัฒนาการที่เร็วขึ้นสร้างความสนใจกับตัวของเขาเอง โดยที่เราไม่ต้องไปพูด เขาจะสนใจของเขาเอง และเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เขาจำได้ว่าต้องหาข้อมูลจากที่ไหนบ้าง หาข้อมูลอะไรบ้าง มีการจดบันทึกมากขึ้น ในส่วนวิชาเรียนของโรงเรียน ตามโครงสร้างคือเปิดวิชา IS วิชาค้นคว้าอิสระ เมื่อเปิดวิชานี้มีคุณครูหลายคนในโรงเรียนที่ยังไม่รู้ว่าเราทำอะไรอยู่ เมื่อเขาเห็นเด็ก ๆ พูดกับอาจารย์หลาย ๆ ท่าน เขาก็รู้สึกว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดี อยากได้รับการสนับสนุนให้เปิดวิชานี้เพิ่มขึ้นอีก เรื่อย ๆ ตอนนี้เป็นปีที่ 2 ของการเปิดวิชานี้