สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการเยาวชนร่วมใจอนุรักษ์ถ้ำพญาบังสา

โครงการเด่น โครงการเยาวชนร่วมใจอนุรักษ์ถ้ำพญาบังสา

ชุมชนบ้านลาน หมู่ที่ 2 ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล


ชื่อเรื่อง เจาะลึกเส้นทางการสำรวจถ้ำพญาบังสา กับ กลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านลาน


ชุมชนบ้านลาน ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยเข้ามาปักหลักในพื้นที่ปัจจุบัน เรื่องเล่า ตำนานและประวัติศาสตร์ของชุมชนถูกบันทึกไว้อยู่บ้างแต่ก็เลือนลาง และไม่เคยถูกบอกเล่าในหมู่คนรุ่นใหม่ กระทั่งถูกรื้อค้นโดยเยาวชนกลุ่มหนึ่งของชุมชนที่ลุกขึ้นมาทำ โครงการเยาวชนร่วมใจอนุรักษ์ถ้ำพญาบังสา ภายใต้โครงการระดับจังหวัดที่ชื่อว่า โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล หรือ Satun Active Citizen

ถ้ำพญาบังสาของชุมชนบ้านลานถูกทิ้งให้รกร้าง ขาดการดูแลรักษา เป็นพื้นที่ที่คนในหมู่บ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์ จนแทบลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่ามีถ้ำเก่าแก่อยู่ในชุมชน นดา - นดา หลงมาด และ มีนา - อามีนา มาดโต๊ะโซ๊ะ วัย 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมุสลิมสตูลวิทยา ตัวแทนเยาวชนแกนนำกลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านลาน เล่าว่า ถ้ำพญาบังสาของชุมชนบ้านลาน มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนในหมู่บ้านสมัยนั้นได้ใช้ถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่หลบภัย พบร่องรอยซากสิ่งของเครื่องใช้ สิ่งมีชีวิต เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ แต่ยังไม่มีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลไว้อย่างเป็นทางการ พวกเขาจึงรับหน้าที่เป็นผู้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านลานและถ้ำพญาบังสา พัฒนาพื้นที่บริเวณถ้ำให้น่าดูน่ามอง และกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นใหม่ รวมถึงชาวบ้านชุมชนบ้านลานได้รับรู้และได้เข้าไปสัมผัสอีกครั้ง กลุ่มเยาวชนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความภาคภูมิใจและความหวงแหนถิ่นฐานบ้านเกิดให้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่และคนในชุมชนเหมือนอย่างที่พวกเขารู้สึก

“การเดินทางเข้าไปที่ถ้ำไม่ยากค่ะ เป็นถนนลาดยางเส้นหลักของหมู่บ้าน เลี้ยวเข้าไปในซอยประมาณ 500 เมตร เจอลำคลอง จากนั้นขับรถเลียบเข้าไปก็จะเจอถ้ำ จริงๆ แล้วถ้ำเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แต่เพราะไม่ได้รับการดูแล ทำให้ไม่มีคนสนใจและถูกมองข้ามไป” อามีนา กล่าว

“อยากให้ถ้ำเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งปลอดภัย ถ้าเป็นไปได้อยากให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ในโครงการพวกหนูได้ทำกิจกรรมงานวันเด็กในหมู่บ้าน จัดงานเปิดถ้ำเพื่อให้คนในชุมชนได้ไปศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติถ้ำ ขึ้นไปชมถ้ำและอธิบายข้อมูลที่พวกหนูหามา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี” นดา กล่าวเสริม


ย้อนรอยถ้ำพญาบังสาให้กลับมามีชีวิต

ย้อนความทรงจำไปในวัยประถม นดา เล่าว่า พวกเขารู้ว่ามีถ้ำอยู่ตรงนั้น สมัยเด็กๆ เคยไปทัศนศึกษากับทางโรงเรียนเพื่อศึกษาเกี่ยวกับถ้ำ ตอนนั้นถ้ำยังเป็นสถานที่ปลอดภัย ได้รับการฟื้นฟูดูแลจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

“พวกหนูรู้สึกเสียดาย เพราะว่าตอนเด็กๆ เคยมาวิ่งเล่น ก็คิดกันว่าอยากทำให้ถ้ำกลับมาเป็นแหล่งเรียนรู้” นดา กล่าว

“หนูอยากให้คนอื่นได้ขึ้นไปบนถ้ำเหมือนที่หนูเคยขึ้นไป ถ้าไม่ใช่พวกหนูทำก็จะไม่มีใครเข้ามาพัฒนาพื้นที่ถ้ำตรงนี้ ตอนเด็กๆ หนูเคยขึ้นไปเที่ยวเล่นบริเวณถ้ำ แต่ตอนนี้พื้นที่ตรงนั้นรกร้างไปหมดและยังเป็นแหล่งมั่วสุมยาเสพติดอีกด้วย” อามีนา เล่าถึงความผูกพันระหว่างเธอกับถ้ำ ที่ถึงแม้จะเลือนราง แต่ก็เป็นแรงผลักดันและเป็นเหตุผลให้ตกลงเลือกทำโครงการนี้

ขั้นตอนการทำโครงการของกลุ่มเยาวชน เริ่มต้นจากการลงพื้นที่สำรวจถ้ำ ศึกษาเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ ความเชื่อ เรื่องเล่าอดีตความเป็นมาของถ้ำ ทั้งจากอินเทอร์เน็ต และเอกสารประวัติศาสตร์บ้านย่านซื่อ ร่วมถึงจากการสัมภาษณ์ผู้รู้ในชุมชน

นดาและอามีนา เล่าว่า ครั้งแรกที่ขึ้นไปสำรวจบริเวณถ้ำ หากไม่ใช่คนในชุมชนหลงเข้ามาคงหวาดกลัว แต่พวกเขาไม่รู้สึกอย่างนั้น คงเพราะมีความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับถ้ำแห่งนี้อยู่

“ช่วงแรกที่พาบังเชษฐ์ (พิเชษฐ์ เบญจมาศ ผู้ประสานงาน Satun Active Citizen) ขึ้นไปดู เส้นทางขึ้นถ้ำอันตรายและรกมาก พวกเราเดินขึ้นไปถางหญ้าไปด้วย ให้เพื่อนผู้ชายมาช่วยทำความสะอาดและถางหญ้า ทำให้ง่ายต่อการขึ้นไปสำรวจ” นดา กล่าว

ช่วงลงเก็บข้อมูลกลุ่มเยาวชนแบ่งกลุ่มทำงานออกเป็นกลุ่มละ 4-5 คน ใช้เวลาหลังเลิกเรียน หรือหากเป็นช่วงเสาร์ อาทิตย์ โดยมากนัดกันตอนช่วงบ่ายๆ ลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้รู้แต่ละบ้านครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้เวลาราว 3 วัน แต่ละกลุ่มแบ่งหน้าที่ว่าใครเป็นคนจดบันทึก ใครเป็นคนตั้งคำถาม นดา เล่าว่า การลงเก็บข้อมูลเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะทีมได้วางแผนการทำงาน และได้ช่วยกันระดมสมองคิดคำถามกันไว้ก่อนแล้ว ผู้สูงอายุบางคนอายุมากแล้ว หลงๆ ลืมๆ บางเรื่องที่ไม่รู้ก็แนะนำให้ไปสอบถามจากคนอื่นที่น่าจะพอรู้ กลุ่มเยาวชนจึงได้ทำความคุ้นเคยกับผู้สูงอายุ และรู้จักผู้สูงอายุในชุมชนมากขึ้น

“พวกเราหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก่อน แล้วก็จากหนังสือรวมประวัติหมู่บ้านที่ได้มาจาก อบต. เพื่อนในกลุ่มเยาวชนมีพ่อเป็นสมาชิก อบต. เลยประสานไปทางพ่อ ค้นหาว่าถ้ำนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง พบว่า ถ้ำเคยเป็นที่หลบภัยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นไปสัมภาษณ์ผู้สูงอายุที่คาดว่าอยู่ทันในช่วงเหตุการณ์ในอดีต 5-6 คน บางคนก็เป็นญาติกับเยาวชนในกลุ่ม เราเข้าไปแจ้งวันและเวลานัดหมายผู้รู้ก่อนล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ไปเสียเที่ยว” นดา กล่าว

“ข้อมูลแต่ละแหล่งไม่เหมือนกัน เรารวบรวมข้อมูลแล้วมาคิดวิเคราะห์ว่าเรื่องไหนมีความเป็นไปได้ที่สุด ยึดข้อมูลในเอกสารที่สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ปราชญ์ชุมชน” อามีนา เล่า

ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มเยาวชนได้เห็นภาพการบริการจัดการทรัพยากรชุมชนได้ชัดเจนขึ้น บังเชษฐ์และทีมงานได้พากลุ่มเยาวชนไปศึกษาดูงานเรื่องการจัดการถ้ำ ที่ถ้ำภูผาเพชร อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล ถ้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของไทยและยังติดอันดับต้นๆ ของโลก บนเนื้อที่ภายในถ้ำกว่า 50 ไร่ ถ้ำภูผาเพชรเป็นพื้นที่ทางธรณีวิทยาที่เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลกจากยูเนสโกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา

“ที่ถ้ำภูผาเพชรมีไกด์คอยแนะนำข้อมูลให้อยู่แล้ว เราได้รู้เรื่องหินงอกหินย้อย ฟอสซิลในถ้ำ กฎระเบียบการใช้ถ้ำ เช่น ห้ามจับหินงอกหินย้อยในถ้ำเพราะสารเคมีในตัวเราจะไปรบกวนการงอกการย้อยของหิน ห้ามก่อประกายไฟเพราะจะทำให้ค่าออกซิเจนภายในถ้ำน้อยลง เนื่องจากควันเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้เราหายใจไม่ออก ห้ามขีดเขียนภายในถ้ำ หลังจากกลับมาพวกเราได้ทำป้ายไปติดตามที่ต่างๆ ภายในถ้ำพญาบังสา เพื่อช่วยดูแลอนุรักษ์ถ้ำ” นดา กล่า


ไขความลับภายในถ้ำอันรกร้าง

การศึกษาค้นคว้าจากหนังสือและการสัมภาษณ์ผู้รู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของถ้ำเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บข้อมูล แต่กลุ่มเยาวชนทำมากกว่านั้นพวกเขาบุกถ้ำเพื่อทำการสำรวจภายในและพัฒนาถ้ำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งสามารถพัฒนาต่อให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ในอนาคต

“พวกหนูไปศึกษาเพิ่มเติมว่าในถ้ำมีลักษณะเป็นอย่างไร มีผู้รู้พาเข้าไปตามจุดต่างๆ ทำให้รู้ว่าภายในถูกแบ่งออกเป็น 2 ชั้นและยังแบ่งย่อยไปอีก 3 ส่วน ได้แก่ ชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน พวกเราช่วยกันตั้งชื่อห้องแต่ละห้องตามลักษณะทางกายภาพภายในถ้ำ และให้สอดคล้องกับเรื่องเล่าของผู้รู้ ใช้จินตนาการคิดผสมผสานกัน มีชื่อวิมานนางพญา เป็นห้องที่มีลักษณะเป็นเสาหินใหญ่ ช้างพญาสามเศียร สะพานมรกต เป็นช่องที่โดนแดดแล้วมีแสงสะท้อนเป็นสีมรกต สำหรับบุคคลภายนอกเปิดให้ชมแค่ชั้นแรกเพราะชั้นที่สองอันตรายเกินไป แต่พวกหนูได้เข้าไปศึกษากับผู้รู้ภายในถ้ำทั้งหมดแล้ว”

กิจกรรมวัดเด็กปี 2563 ของชุมชนบ้านลาน เป็นวันเปิดตัวถ้ำพญาบังสาให้ประจักษ์แก่สายตาเด็กเยาวชนและคนในชุมชนอีกครั้ง หลังจากถูกปล่อยปละละเลยมานาน กลุ่มเยาวชนใช้ช่องทางในเพจ ไลน์ และศูนย์กระจายข่าวของหมู่บ้านประชาสัมพันธ์งาน มีเด็กเยาวชนในชุมชนเป็นแม่งานจัดกิจกรรมสนุกๆ หลากหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการเยี่ยมชมถ้ำพญาบังสาชุมชนบ้านลาน วันนั้นมีผู้มาร่วมงานทั้งจากภายในและภายนอกชุมชนกว่าร้อยคน เรียกได้ว่าเกินความคาดหมาย

“พวกหนูเคยเข้าร่วมเวทีประชาคม ตั้งแต่ช่วงเริ่มโครงการเพื่อบอกให้คนในชุมชนทราบว่าพวกหนูกำลังทำอะไรอยู่ ก่อนงานวันเด็กได้ประชาสัมพันธ์งาน 3 ครั้ง ทางเพจ เป็นช่วงหลังจากเก็บข้อมูล พัฒนาถ้ำเรียบร้อยแล้ว เราจัดเป็นกิจกรรมที่ให้ครอบครัววิ่งขึ้นถ้ำ มีแผนที่เดินถ้ำไว้ให้ข้อมูล แบ่งงานกันเป็นกลุ่มว่ากลุ่มไหนประจำส่วนไหนในถ้ำ และทำอะไรบ้าง เช่น ทีมพยาบาล เผื่อใครวิ่งมาเหนื่อยต้องการยาดม หรือเผื่อมีอุบัติเหตุ แต่ทุกอย่างก็ราบรื่น เราให้กลุ่มเยาวชนเป็นไกด์พาผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมขึ้นไปชมถ้ำ อธิบายประวัติความเป็นมาและลักษณะภายในถ้ำ รวมถึงอธิบายกฎข้อห้ามต่างๆ ด้วย มีครูบางคนพูดว่าเขาอยู่ในชุมชนมาตั้งนานแล้วไม่เคยรู้ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับถ้ำมาก่อน ทำให้หนูดีใจที่ทำให้เขารู้จักที่แห่งนี้” นดา กล่าว

ข้อมูลจากการศึกษาทั้งหมดถูกนำมาบรรจุไว้ในคู่มือเรียนรู้ประวัติศาสตร์ถ้ำพญาบังสา ถูกนำไปวางไว้ในห้องสมุดประจำหมู่บ้าน การพัฒนาพื้นที่ภายในถ้ำและบริเวณถ้ำให้มีความปลอดภัย ไม่รกร้าง ทำให้ถ้ำพญาบังสากลายเป็นพื้นที่ที่คนในชุมชนมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ผู้ที่มีความสนใจสามารถศึกษาข้อมูลจากแผนที่เดินถ้ำ และคิวอาร์โค้ดประวัติศาสตร์ความเป็นมาของถ้ำที่กลุ่มเยาวชนได้จัดทำเป็นข้อมูลไว้ให้บริเวณหน้าปากถ้ำ

“ตอนนี้คนกล้าไปแถวนั้นมากขึ้น ไปวิ่งตอนเช้าตอนเย็น พื้นที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ บางคนก็เข้าไปเยี่ยมชมบริเวณถ้ำ แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าเข้าไปในถ้ำถ้าไม่มีคนนำเข้าไปให้ความรู้ ตอนนี้พวกเราสามารถให้ความรู้เรื่องถ้ำได้ มีเด็กๆ ในชุมชนที่ทำกิจกรรมร่วมกับเรา เขาสนใจแต่ยังเด็ก ยังช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่ก็มานั่งดูมานั่งให้กำลังใจตลอด น้องๆ กลุ่มนี้ก็มีความรู้เรื่องถ้ำเหมือนกัน” อามีนา กล่าว

“ระหว่างทำโครงการพวกหนูขึ้นไปที่ถ้ำหลายครั้ง ไปปรับปรุงสถานที่ ไปสำรวจ และหลังจากจบโครงการ พวกหนูได้แบ่งเวรกันไปรดน้ำต้นไม้และเก็บขยะ พอได้เข้าไปปรับปรุงถ้ำ อัพรูปลงสตอรี่ก็มีคนจากภายนอกสนใจเข้ามาถ่ายรูป” นดา กล่าว


ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง

แม้การดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนผ่านไปได้อย่างราบรื่นและบรรลุเป้าหมาย แต่กว่าจะมีวันนี้ความเหนียวแน่นและความมุ่งมั่นของทีมเยาวชนแกนนำ ถือเป็นกุญแจของความสำเร็จทั้งหมด เพราะเมื่อเดินมาได้ครึ่งทาง พี่เลี้ยงโครงการของพวกเขาติดภารกิจที่ทำให้ไม่สามารถเข้ามาดูแลกลุ่มเยาวชนได้อย่างเต็มที่

นดา บอกว่า เมื่อไม่มีพี่เลี้ยงก็เหมือนพวกเขาขาดเสาหลักและขาดคนช่วยสนับสนุน บางเรื่องไม่เข้าใจต้องการคำปรึกษา ก็ต้องขอคำปรึกษาจากพี่เลี้ยงชุมชนอื่น หรือจากทีมงานส่วนกลาง ซึ่งหลายๆ ครั้งพวกเขารู้สึกเกรงใจ เพราะพี่ๆ แต่ละคนก็มีภาระงานของตัวเอง จึงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกท้อ แต่เพราะความตั้งใจของสมาชิกในทีม เมื่อปรึกษากันทุกคนลงความเห็นว่าอยากไปต่อ อยากทำโครงการให้สำเร็จ จึงทำให้พวกเขาเดินหน้าทำโครงการต่อจนจบ

“เห็นกลุ่มอื่นมีพี่เลี้ยงคอยช่วยตลอดเวลา เวลาไปประชุมก็มีพี่เลี้ยงไปด้วย เวลามีการประชาสัมพันธ์โครงการผ่านพี่เลี้ยง พวกหนูก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่เราอยู่ในแชทกลุ่ม บังเชษฐ์จะคอยแจ้งข่าวสารมา เช่น วันนี้มีประชุมที่ศูนย์ฯ บางทีก๊ะลัดดา (พี่เลี้ยงโครงการอื่น) ก็มารับบ้าง หรือบังเชษฐ์พาไปบ้าง” นดา กล่าว

“พอมีพี่ๆ คนอื่นมาช่วยสนับสนุน เราก็รู้สึกดีคะ อย่างน้อยก็ยังมีพี่ที่เป็นห่วงและคอยให้คำแนะนำได้” อามีนา กล่าว

เมื่อถามว่าพอใจกับโครงการเยาวชนร่วมใจอนุรักษ์ถ้ำพญาบังสามากแค่ไหน ทั้งนดาและอามีนาตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าพอใจและภูมิใจมาก จากถ้ำที่รกร้างและอันตรายไม่มีใครกล้าเข้าไป ด้วยแรงและความตั้งใจของกลุ่มเยาวชน พวกเขาทำให้ถ้ำพญาบังสาเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่และต่างพื้นที่ขึ้นมาอีกครั้ง ความประทับใจเมื่อได้ไปเห็นกับตา ทำให้คนในหมู่บ้านกลับมามองเห็นและเห็นคุณค่าทรัพยากรในท้องถิ่นของตัวเอง

“ในทีมมีผู้หญิง 3 คน นอกนั้นเป็นผู้ชาย พวกเขาให้ความร่วมมือดีค่ะ แต่จะถนัดใช้แรงมากกว่า แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนมีความจริงจัง บางคนก็เล่นเยอะ เราก็ทำเท่าที่มีคนทำ ไม่บังคับ บางคนก็มีส่วนร่วมประชุมแต่ก็เขาไม่ได้ถนัดในด้านนี้ เขาถนัดใช้แรงงาน ต่างคนต่างถนัดกันคนละด้านกัน พวกหนูถนัดด้านหนึ่ง พวกเขาก็ถนัดอีกด้านหนึ่ง อย่างเช่นเราบอกเขาให้ทำอย่างนั้นเขาทำไม่ได้ แต่เราก็ไม่ได้ต่อว่าเขา เราก็สนับสนุนในสิ่งที่เขาทำได้เท่าที่เขาทำได้” นดา เล่า

“การทำงานต้องเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน สิ่งที่เขาทำได้แต่เราทำไม่ได้ เขาไม่ว่าเรา เราก็ไม่ว่าเขา งานที่ทำมาถ้าทำคนเดียวคงไม่สำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนจึงมีวันนี้” อามีนา กล่าว

ส่วนผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงแต่เป็นประโยชน์มาก คือ ความเปลี่ยนแปลงเรื่องการเรียน และความกล้าที่กลายเป็นอาวุธชิ้นใหม่ติดตัว

“หนูได้นำความรู้และทักษะจากการทำโครงการไปปรับใช้กับการเรียนของตัวเองด้วย เวลาพวกหนูไปนำเสนอโครงการ Active Citizen มีคำถามมาทุกครั้ง เจอคำถามยากๆ มามาก เวลาได้ออกไปนำเสนองานต่างๆ ที่โรงเรียน คำถามดูง่ายไปเลย ส่งผลให้เรามีความกล้ามากขึ้น กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก จากที่ไม่เคยกล้าขึ้นมาพูด”

“เราได้ก้าวผ่านสิ่งที่เรากลัว ยกตัวอย่าง เวลาออกไปนำเสนอโครงการต่อหน้าคนอื่น มันมีความกังวล ตอนออกไปพูดประหม่าเลยพูดไม่ได้ ทำให้เสียใจ ทำไมเราถึงทำไม่ได้คนอื่นถึงทำได้ เลยเป็นจุดหนึ่งที่ผลักดันทำให้เรากล้ามากขึ้น แล้วเราผ่านจุดนั้นมาได้ ครั้งต่อๆ ไปเราก็คิดว่าเราทำได้อีก ก๊ะละดาบอกว่าให้เราทิ้งความกังวลไว้ข้างล่าง แล้วเราขึ้นไปด้วยความตั้งใจของเรา ความมั่นใจของเรา หนูก็เอามาปรับใช้กับการนำเสนองานหรือว่าการที่หนูได้เป็นสภานักเรียนเหมือนกัน ทำให้คิดก่อนทำ แล้วคิดถึงผลที่จะตามมาว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร” นดา กล่าว

เช่นเดียวกับอามีนา ที่บอกว่า

“ได้เรียนรู้เรื่องการวางแผนก่อนลงมือทำอะไรสักอย่าง เพราะปกติหนูเป็นคนสะเพร่า ขี้ลืม แล้วต้องไปแก้ไขปัญหาทีหลังตลอด พอผ่านจากโครงการนี้เวลาหนูทำอะไร หนูต้องคิดเป็นขั้น เป็นลำดับ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทีหลัง อย่างที่นดาพูดคือมีความกล้ามากขึ้น กล้าแสดงออก เวลาเจอคำถามก็ง่ายขึ้น คำถามในโรงเรียนดูง่ายไปเลย ในขณะเดียวกันเพื่อนในห้องที่ไม่ได้ทำโครงการ เขาบอกว่ายาก พวกหนูผ่านมาแล้วมันเลยง่ายสำหรับพวกหนู แล้วยังทำให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อก่อนไม่ค่อยรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง เช่น ให้กวาดบ้านก็ไม่อยากทำ ขี้เกียจ”

ก่อนจบโครงการกลุ่มเยาวชนจัดเวทีคืนข้อมูลให้คนในหมู่บ้านมานั่งรวมกันเป็นวงกลมสะท้อนความคิดเห็น จากที่ผู้ใหญ่ในชุมชนไม่มีความเชื่อมั่นใจตัวเด็กและเยาวชน ตอนนี้กลับเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ

“เขาคิดว่าเด็กอย่างเราคงทำไม่ได้ อีกอย่างสมาชิกในทีมบางคนเคยเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ เมื่อมีผลงานออกมาในทางที่ดี จึงทำให้เขาประหลาดใจ” นดา กล่าว

“มีเพื่อนบางคนที่อยู่นอกระบบ ไม่ได้เรียนหนังสือ เขาก็เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง พอได้เข้าโครงการ นิสัยและพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แล้วเขาก็บอกว่าถ้ามีงานอะไรให้ช่วยอีกเขาก็ยินดีมาช่วย” อามีนา กล่าวเสริม

โครงการเยาวชนร่วมใจอนุรักษ์ถ้ำพญาบังสาได้ปิดฉากลงไปแล้ว แต่กลุ่มแกนนำเยาวชนยังคงไม่ปล่อยมือกัน เดินหน้าทำโครงการเพื่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง นดาและอามีนา บอกว่า หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปลายคงต้องแยกย้ายกันออกไปเรียนนอกชุมชน เลยมีความกังวลอยู่บ้างว่าจะส่งต่อความเข้มแข็งของกลุ่มเยาวชนไปให้รุ่นน้องได้หรือไม่ แต่ทั้งสองคนก็มีความหวัง

“ตอนพวกหนูทำกิจกรรมก็มีเด็กๆ มานั่งดูประชุมทุกครั้ง เราให้ถือถุงดำคนละถุงระหว่างเดินทางไปถ้ำให้เก็บขยะไปด้วย มีน้องๆ ประมาณ 10 คน เป็นโอกาสให้น้องๆ ได้เรียนรู้และซึมซับเรื่องการทำงานชุมชน อยากให้น้องๆ มาช่วยสานต่อ” นดา กล่าว

“หนูอยากเรียนเกี่ยวกับสังคมสงเคราะห์ ยังอยากทำงานแบบที่เคยทำในโครงการ อยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเองก่อน” อามีนา กล่าวทิ้งท้าย

///////////////////////


บทสัมภาษณ์โครงการเด่น โครงการเยาวชนร่วมใจอนุรักษ์ถ้ำพญาบังสา

ชุมชนบ้านลาน หมู่ที่ 2 ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล


แกนนำเยาวชน

  1. นดา หลงมาด ชื่อเล่น นดา  อายุ 17 ปี การศึกษา โรงเรียนมุสลิมสตูลวิทยา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
  2. อามีนา มาดโต๊ะโซ๊ะ ชื่อเล่น มีนา  อายุ 17 ปี การศึกษา โรงเรียนมุสลิมสตูลวิทยา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5



ถาม ตอนทำโครงการจริงๆ แล้ว หนูอยู่ ม.4 ใช่ไหม

นดา: ใช่ค่ะ


ถาม : เล่าให้ฟังหน่อยว่า พวกหนูทำโครงการอะไร

นดา :ทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ถ้ำพญาบังสาค่ะ ครั้งแรกที่พวกหนูคิดโครงการนี้ขึ้นมา บังเชษฐ์ก็เข้ามาในหมู่บ้าน และให้หาจุดเด่นในหมู่บ้านมีอะไรบ้าง ในหมู่บ้านมีลำคลองด้วย แต่หนูไม่ได้เลือกเพื่อเอามาทำโครงการ เพราะกลัวซ้ำกับคนอื่นค่ะ


ถาม โครงการครั้งนี้ทำมาเป็นปีแรกใช่ไหม พวกหนูเคยรู้จักโครงการ Active Citizen มาก่อนไหมค่ะ หรือก่อนรู้จักบังเชษฐ์เคยได้ยินบ้างไหม

นดา : ปีแรกค่ะ ไม่เคย


ถาม : พวกเรารู้จักบังเชษฐ์ได้ยังไง ใครชวนหรือแนะนำให้รู้จักกับบังเชษฐ์

นดา : ปกติทีมเรามีพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงเป็นคนชวนเข้ามา แต่ช่วงหลังๆ เขาไม่ได้มาช่วยแล้ว พวกหนูจึงทำกันเองค่ะ มีก๊ะละดาเป็นคนช่วย


ถาม พอจะจำได้ไหม ตอนที่โดนชวนมาทำโครงการ เขามาชวนเรายังไง

นดา : เขาไม่ได้ให้เราตัดสินใจในวันนั้น แต่ให้เรากลับไปคิดดูว่าในหมู่บ้านของพวกเรา มีอะไรที่เป็นจุดเด่นบ้าง


ถาม ตอนนั้นเรารู้หรือเปล่าว่าต้องเข้ามาเพื่อทำโครงการ เหตุผลอะไรที่ได้ตัดสินใจเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำโครงการนี้

นดา : ไม่เชิงค่ะ แต่บังเชษฐ์ให้เรากลับไปคิดดูก่อนค่ะ เพราะว่าพวกหนูเคยมีกลุ่มเยาวชนอยู่ในหมู่บ้านอยู่แล้วค่ะ เคยทำงานร่วมกับ สสส. มาก่อน พอจบโครงการแรก ก็อยากสานต่อกิจกรรม เพื่อไม่ให้ทีมเยาวชนที่ก่อตั้งขึ้นมาหายไปค่ะ จึงได้ตัดสินใจทำโครงการนี้


ถาม ตอนทำโครงการ สสส. เยาวชนทีมเดิมไหม

นดา : ทีมเดิมค่ะ แต่สมาชิกไม่เยอะเหมือนครั้งแรก


ถาม ตอนนั้นร่วมงานกับ สสส. ทำโครงการเกี่ยวกับอะไร

นดา : ทำเกี่ยวกับอ่านกินเล่น


ถาม เหตุผลอะไรที่พวกเราได้สละเวลาของตัวเอง เพื่อมาทำโครงการเกี่ยวกับชุมชน

อามีนา : ถ้าไม่ใช่พวกหนูทำ ก็จะไม่มีใครเข้ามาพัฒนาพื้นที่ถ้ำตรงนี้ ตอนเด็กๆ หนูเคยขึ้นไปเที่ยวเล่นบริเวณถ้ำ แต่ตอนนี้พื้นที่ตรงนั้นรกร้างไปหมดและยังเป็นแหล่งมั่วสุมยาเสพติดอีกด้วย หนูอยากให้คนอื่นได้ขึ้นไปบนถ้ำเหมือนที่หนูเคยขึ้นไปค่ะ


ถาม ก่อนหน้านี้ที่ไม่ใช่กลุ่มพวกเรา เราเคยเห็นรุ่นพี่หรือใครที่ทำอะไรทำนองนี้บ้างไหม

นดา : เคยเห็นกลุ่มสภาเด็กและเยาวชน

อามีนา: จัดกิจกรรมให้เด็กๆในหมู่บ้านร่วมกันเก็บขยะ


ถาม ตอนนั้นเราไปเข้าร่วมด้วยไหม หรือว่าทำอะไรกัน

นดา : เคยเข้าร่วมค่ะ


ถาม : ตอนนั้นที่เราเข้าไปร่วมกับสภาเด็ก ไปเพราะจิตอาสาหรือเราไปเพราะว่าถูกบังคับ

อามีนา : ทางโรงเรียนมาแจ้งว่า ต้องไปนะ ด้วยความเป็นเด็ก ครูบอกมาก็ไปค่ะ อีกอย่างเพื่อนหนูไปกันหมด หนูก็ตามเพื่อนไปค่ะ


ถาม : เรารู้สึกยังไงกับการที่ต้องไปร่วมกิจกรรมแบบนั้นบ้าง

นดา : ตอนเด็กๆ ก็ไม่ได้ทำอะไร เขาชวนไปเก็บขยะก็ไป และยังได้เล่นกับเพื่อนๆ ด้วยค่ะ


ถาม : เราไม่ได้รู้สึกว่า มันร้อนและสกปรกใช่ไหม

นดา : ไม่ค่ะ รู้สึกแค่ว่าสนุกดี


ถาม : หลังจากนั้นก็ทำโครงการอ่านกินเล่นของ สสส. คราวนี้กลับมาคุยในส่วนของโครงการ Active Citizen ต่อ คือบังเชษฐ์เข้ามาและให้เราไปคิดว่า เราจะทำอะไรเกี่ยวกับชุมชนใช่ไหม จุดไหนที่เราสนใจหรือมีเหตุผลอะไร ที่ทำให้พวกเราคิดว่าต้องลงมือทำแบบจริงจังในโครงการของ Active Citizen

นดา :พวกเรารู้ว่ามีถ้ำอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว ตั้งแต่เด็กๆ เคยไปทัศนศึกษากับทางโรงเรียน ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับถ้ำ ตอนนั้นมีการฟื้นฟูถ้ำและได้รับการดูแลจาก อบต.แล้ว เป็นสถานที่ปลอดภัย แต่ก็ไม่ได้มีใครเข้ามาสานต่อเรื่องดูแลรักษา ทำให้ถ้ำกลับมาเป็นที่รกร้าง เป็นแหล่งมั่วสุมยาเสพติด เหมือนเดิม พวกหนูรู้สึกเสียดาย เพราะว่าตอนเด็กๆ เคยมาวิ่งเล่น ก็คิดกันว่าอยากทำให้ถ้ำกลับเป็นแหล่งเรียนรู้ค่ะ


ถาม พื้นที่ถ้ำอยู่ใน ชุมชนบ้านลาน หมู่ 2 หรือเปล่า

นดา : อยู่ในหมู่ 1 ค่ะ แต่พื้นที่ติดกัน และอยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้ด้วยค่ะ


ถาม ก่อนหน้าที่พวกเราจะเข้าไปทำ เคยมี อบต.เข้าไปฟื้นฟู แต่ก็ละทิ้งไปใช่ไหม อีกทั้งยังอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ใช่ไหมค่ะ แล้วพื้นที่ตรงนั้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไหม หรือเป็นถ้ำธรรมดาของชุมชน

อามีนา :เคยเป็นค่ะ สมัยหนูยังเด็ก


ถาม เป้าหมายโครงการของเราคืออะไร

นดา : อยากให้ถ้ำเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งปลอดภัย ถ้าเป็นไปได้อยากให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่เรื่องแหล่งท่องเที่ยว คิดว่าอาจจะยากไปสำหรับพวกหนู


ถาม ที่บอกว่ายากเกินไป เพราะอะไร

นดา: พวกหนูไม่สามารถดึงคนให้มาเที่ยวได้ แต่ว่าพวกหนูได้ทำกิจกรรมงานวันเด็กในหมู่บ้าน จัดงานเปิดถ้ำเพื่อให้คนในชุมชนได้ไปศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติถ้ำ ขึ้นไป ชมถ้ำและอธิบายข้อมูลที่พวกหนูหามาค่ะ


ถาม : เล่าบรรยากาศหน่อยว่า ถ้ำอยู่ส่วนไหนในพื้นที่ การเดินทางเข้าไปยากไหม

อามีนา : การเดินทางเข้าไปที่ถ้ำไม่ยากค่ะ เป็นถนนลาดยางเส้นหลักของหมู่บ้าน เลี้ยวเข้าไปในซอยประมาณ 500 เมตร เจอลำคลองดุสน จากนั้นขับรถเลียบเขาเข้าไปก็จะเจอถ้ำ จริงๆ แล้วถ้ำก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แต่เพราะไม่ได้รับการดูแล ทำให้ไม่มีคนสนใจและถูกมองข้ามไป


ถาม เราตกลงทำโครงการนี้แล้ว พวกเราคิดวางแผนทำอะไรกันบ้าง

นดา : พวกหนูลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ หาข้อมูลและประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน


ถาม เราลงพื้นที่ก่อน หรือหาข้อมูลก่อน

นดา :หาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก่อนค่ะว่าถ้ำนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง พบว่าถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่หลบภัยในสงครามโลกครั้งที่ 2หลังจากนั้นเราไปสัมภาษณ์ผู้สูงอายุที่คาดว่าอยู่ทันในช่วงเหตุการณ์ในอดีต


ถาม พวกเราทำงานตามแผน RDM เริ่มหาข้อมูลถ้ำในอินเทอร์เน็ตก่อน มีหาในหนังสือหรืออื่นๆบ้างไหม

นดา :มีค่ะ หนังสือรวมประวัติของ อบต. ประจำหมู่บ้านค่ะ


ถาม หนังสือ เราไปประสานขออย่างไร

นดา :พอดี เพื่อนในกลุ่มเยาวชน มีพ่อเป็นสมาชิกใน อบต. ค่ะ เลยประสานไปทางคุณพ่อ


ถาม ในหนังสือมีข้อมูลละเอียดไหมค่ะ

นดา : ไม่ละเอียดเท่าไหร่ บอกแค่ว่าถ้ำตั้งอยู่ในหมู่ไหนและประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน


ถาม กับในอินเทอร์เน็ต อันไหนมีข้อมูลเยอะกว่ากัน

นดา : ข้อมูลไม่เหมือนกันค่ะ พวกเรารวบรวมข้อมูลและมาคิดวิเคราะห์ว่าเรื่องไหนมีความเป็นไปได้ที่สุด


ถาม: พวกหนูมีวิธีการวิเคราะห์ยังไงว่าจะต้องเชื่อข้อมูลไหน

นดา เทียบจากข้อมูลที่ได้ตอนไปสัมภาษณ์คนในหมู่บ้านค่ะ ถ้าสอดคล้องกันเรายึดตามข้อมูลนั้น


ถาม ตอนไปสัมภาษณ์คนในหมู่หมู่บ้าน มีผู้รู้กี่คน

นดา : 5-6 คน มีปราชญ์ชุมชนและผู้สูงอายุ


ถาม ปราชญ์ผู้รู้และผู้สูงอายุกลุ่มนี้พวกเรารู้จักมาก่อนไหม หรือมีใครแนะนำให้รู้จัก

นดา : รู้จักค่ะ เป็นญาติกันและคนในหมู่บ้านค่ะ


ถาม ตอนไปสัมภาษณ์ มีการประสานกันยังไงบ้าง

นดา : แจ้งเขาก่อนล่วงหน้า รวมถึงเวลาที่จะเข้าไปสัมภาษณ์ด้วยค่ะ


ถาม ในทีมพวกเรามีสมาชิกกี่คน เวลาเราวางแผนทำงาน มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างไรบ้าง

นดา: 10-15 คน จะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือแกนนำหลักและฝ่ายที่ช่วยสนับสนุนค่ะ


ถาม แกนนำหลักมีกี่คน แล้วเลือกกันมายังไง มีตำแหน่งชัดเจนไหม

นดา : 6-7 คน เลือกคนที่มีความกระตือรือร้นและมีความรับผิดชอบมาก ตำแหน่งหน้าที่หลัก จะมีประธาน รองประธาน เลขา


ถาม นดา ตำแหน่งอะไร

นดา : เป็นรองประธานค่ะ


ถาม ; แล้วมีนา มีตำแหน่งอะไร

อามีนา : เป็นผู้ช่วยค่ะ


ถาม ในทางปฏิบัติจริงๆ ตำแหน่งนี้เราถนัดไหม

นดา : ไม่เลยค่ะ ส่วนใหญ่จะช่วยกันทำค่ะ


ถาม : พี่จะให้เราเรียบเรียงขั้นตอนการทำงาน แล้วเจาะไปทีละเรื่อง เราไปหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาก่อน ไปสัมภาษณ์ผู้สูงอายุ แล้วจากนั้นเราทำอะไรต่อ

นดา :นำข้อมูลที่ไปหาในอินเตอร์เน็ตและข้อมูลที่ไปลงสัมภาษณ์มาเปรียบเทียบกัน ว่าข้อมูลไหนน่าจะเป็นจริงมากที่สุด แล้วก็นำข้อมูลนั้นมาใช้อ้างอิง


ถาม ก็คือเลือกและบันทึกรวบรวมมาเป็นข้อมูลของพวกเราใช่ไหม แล้วหลังจากอันนี้ทำอะไรอีก

ตอบ : ใช่ค่ะ ทำออกมาเป็นหนังสือชุดเรียนรู้ และตอนนำเสนอโครงการได้ทำเป็นภาพจำลองว่าก่อนและหลังทำโครงการ สภาพถ้ำเป็นอย่างไรบ้าง


ถาม : ระหว่างนี้เราได้ไปทำอะไรที่ถ้ำบ้างไหม

นดา :พวกหนูไปศึกษาเพิ่มเติมว่าในถ้ำมีลักษณะเป็นอย่างไร มีผู้รู้พาเข้าไปตามจุดต่างๆ ทำให้รู้ว่าภายในถูกแบ่งออกเป็น 2 ชั้นและยังแบ่งย่อยไปอีก 3 ส่วน ได้แก่ ชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน พวกเราช่วยกันตั้งชื่อห้องแต่ละห้องตามลักษณะทางกายภาพภายในถ้ำ และให้สอดคล้องกับเรื่องเล่าของผู้รู้ ใช้จินตนาการคิดผสมผสานกัน มีชื่อวิมานนางพญา เป็นห้องที่มีลักษณะเป็นเสาหินใหญ่ ช้างพญาสามเศียร สะพานมรกต เป็นช่องที่โดนแดดแล้วมีแสงสะท้อนเป็นสีมรกต สำหรับบุคคลภายนอกเราเปิดให้ชมแค่ชั้นแรกเพราะชั้นที่สองอันตรายเกินไป แต่พวกหนูได้เข้าไปศึกษากับผู้รู้ภายในถ้ำทั้งหมดแล้ว


ถาม อยากได้ชื่อที่พวกเราตั้งกัน ชื่อคล้องจองกันใช่ไหม

นดา: วิมานนางพญา ช้างพญาสามเศียร สะพานมรกต ตั้งตามลักษณะทางกายภาพภายในถ้ำ เช่น สะพานมรกตเป็นช่องที่โดนแดดแล้วมีแสงสะท้อนเป็นสีมรกต


ถาม กิจกรรมตรงนี้อยู่ในขั้นตอนไหน หรือว่าอยู่ในขั้นตอนการสัมภาษณ์ผู้รู้รึเปล่า

นดา : ไม่ค่ะ ได้มาหลังจากที่พวกหนูไปลงพื้นที่มาแล้วค่ะ


ถาม พวกเราสัมภาษณ์ วิเคราะห์ บันทึก จนได้มาเป็นหนังสือแล้ว จากนั้นก็ไปทำงานต่อที่ถ้ำ ใช่ไหม

นดา : พวกหนูไปลงพื้นที่ถ้ำก่อน ทีแรกยังไม่มีข้อมูลชัดเจน และป้ายข้อห้ามกันเลย ต่อมาบังเชษฐ์พาพวกหนูไปศึกษาที่ถ้ำภูผาเพชร ได้รู้เกี่ยวกับเรื่องหินงอกหินย้อยในถ้ำ ฟอสซิล หลังจากที่ได้ไปศึกษาที่ถ้ำภูผาเพชรแล้ว พวกหนูก็ทำป้ายข้อห้ามไปติดในถ้ำ เช่น ป้ายห้ามจับ


ถาม : ในส่วนของถ้ำ พวกเราเข้าไปศึกษาและไปดูงานที่ถ้ำภูผาเพชร อยู่ที่อำเภออะไร ตอนไปถ้ำภูผาเพชรมีใครไปกับเราบ้างค่ะ มีผู้รู้ไปด้วยไหม

นดา: อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล มีเยาวชนเกตรี บังเชษฐ์ ที่ภูผาเพชรมีไกด์คอยแนะนำข้อมูลให้อยู่แล้ว


ถาม นอกจากเรื่องห้ามจับแล้ว ยังมีกฎอย่างอื่นอีกไหม ที่เป็นข้อควรปฏิบัติในถ้ำ

อามีนา: ห้ามก่อประกายไฟค่ะ เพราะจะทำให้ค่าออกซิเจนภายในถ้ำน้อยลง เนื่องจากควันเป็นคาร์บอนได้ออกไซด์ ทำให้เราหายใจไม่ออก ห้ามขีดเขียนภายในถ้ำ หลังจากกลับมา เราได้ทำไปป้ายติดตามที่ต่างๆ ภายในถ้ำ แต่ก็ยังมีบางคนที่จับและเหยียบตรงที่ป้ายติดไว้เลยค่ะ


ถาม เวลาที่เราเข้าไปไหนถ้ำกับผู้รู้ และยังมีปราชญ์แนะนำ เราได้บันทึกยังไง

นดา: มีการอัดคลิปเสียง ถ่ายภาพ และวีดิโอด้วยค่ะ


ถาม เราแบ่งหน้าที่ยังไงบ้างในทีม มีใครทำอะไรกี่คน

นดา: คนสัมภาษณ์ อีกคนจดบันทึก และถ่ายวิดีโอ


ถาม นดาทำอะไร

นดา: ส่วนใหญ่สัมภาษณ์ค่ะ


ถาม อมีนาทำอะไร

อามีนา: อัดคลิปเสียงค่ะ


ถาม หน้าที่ที่ได้รับ เราอาสาหรือทำยังไง

อามีนา: ทำตามความถนัดค่ะ


ถาม: แสดงว่านดาถนัดสัมภาษณ์ใช่ไหม

นดา: พูดเก่ง กล้าพูดค่ะ ก็เลยรับหน้าที่ตรงนั้น


ถาม ก่อนไปเราได้เตรียมคำถามไว้ก่อนไหม

นดา เตรียมคำถามให้ชัดเจนว่าจะถามอะไรบ้าง เพราะเราไม่รู้ว่าคนที่เราสัมภาษณ์เล่ายาวแค่ไหน หรือเราควรจะหยุดตรงไหน


ถาม ที่ไปถ้ำ เป้าหมายจริงๆ เราอยากรู้อะไร

นดา อยากรู้ประวัติความเป็นมา


ถาม ไปถ้ำกันกี่ครั้ง

นดา หลายครั้งค่ะ ขึ้นไปปรับปรุงสถานที่ ไปสำรวจ และหลังจากจบโครงการ พวกหนูได้แบ่งเวรกันไปรดน้ำต้นไม้และเก็บขยะค่ะ


ถาม ที่เราบอกว่าไปหลายครั้ง เรานัดสมาชิกมากันยังไง

นดา แจ้งผ่านแชทค่ะ


ถาม สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงใช่ไหม

นดา ผู้หญิง 3 คน ที่เหลือเป็นผู้ชายค่ะ


ถาม เราก็มีกำลังที่เป็นแรงงานได้

นดา ใช่ค่ะ


ถาม นัดเพื่อนผู้ชายมาทำอะไรแบบนี้ พวกเขาชอบไหม

นดา ให้ความร่วมมือดีค่ะ เขาจะถนัดใช้แรงมากกว่า ส่วนพวกหนูถนัดหาข้อมูล


ถาม ที่หนูเล่าว่า เอาป้ายไปติดตามที่ต่างๆ แล้วมีน้องๆ ซนไปเหยียบ ตรงนี้อยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่า นอกจากพวกเราที่เป็นทีมงานหลักแล้ว ยังมีใครอีกที่เราชวนไปทำกิจกรรม น้องๆ ที่ซนอายุเท่าไหร่

นดา เด็กโตแล้ว อายุ14-15 ปี คนที่มาทำกิจกรรม เมื่อก่อนเคยเป็นสมาชิกในกลุ่มแต่ครั้งนี้ไม่ได้เป็นทีมงาน


ถาม ในส่วนของกิจกรรม ที่เราไปทำงานในถ้ำมีความยากและอุปสรรคอย่างไรบ้าง

นดา ช่วงแรกที่พาบังเชษฐ์ขึ้นไปดู เส้นทางขึ้นถ้ำอันตรายและรกมาก พวกเราเดินขึ้นไปถางหญ้าไปด้วย หนูให้เพื่อนผู้ชายมาช่วยทำความสะอาดและถางหญ้า ทำให้ง่ายต่อการขึ้นไปสำรวจ


ถาม เวลานัดไปทำงานช่วงเวลากี่โมง

อามีนา ถ้าไม่เกี่ยวกับถ้ำจะเป็นช่วงค่ำๆ แต่ถ้าเรื่องถ้ำจะเป็นช่วงเช้า 9 โมงถึงเที่ยง หาข้าวกินแล้วก็แยกย้าย


ถาม ถ้าไม่เกี่ยวกับถ้ำจะเป็นช่วงค่ำๆ นัดกันที่ไหน

นดา ห้องสมุดชุมชน


ถาม เวลาที่นัดกันไปถ้ำผู้ปกครองว่าอย่างไรบ้าง

นดา กิจกรรมที่ทำจะเล่าให้ที่บ้านฟังค่ะ


ถาม มีใครมีปัญหากับที่บ้านบ้างไหม

นดา ไม่มี เวลาพวกหนูไปนั่งทำกัน อยู่ในสายตาผู้ใหญ่


ถาม ตอนที่เราไปถ้ำกัน มีผู้ใหญ่หลักๆไปกับพวกเราไหม

นดา จะเป็นผู้ใหญ่ในระแวกนั้น ที่ทำสวนกันอยู่ค่ะ


ถาม ขั้นตอนก่อนหน้านี้ที่เราสัมภาษณ์ผู้รู้ เราวางแผนการทำงานอย่างไรบ้าง

นดา แบ่งออกเป็นกลุ่มประมาณ 4-5 คน ลงพื้นที่สัมภาษณ์แต่ละบ้านที่เป็นเป้าหมาย หลังจากนั้นเอาข้อมูลที่ได้มารวบรวม


ถาม วันนึงไปสัมภาษณ์ผู้รู้กี่คน

นดา 2 คน


ถาม ไปสัมภาษณ์ผู้รู้ใช้เวลากี่วัน

นดา 2-3 วัน เนื่องจากบางคนให้ข้อมูลไม่ได้ เราก็ไปถามคนอื่นแทน ตามที่ผู้รู้แนะนำ


ถาม ขั้นตอนตรงนี้ที่เราแบ่งกลุ่มไปสัมภาษณ์ มันมีปัญหาอะไรบ้างไหม

นดา ไม่ค่อยมีคะ เพราะได้ไปแจ้งไว้ล่วงหน้าแล้ว


ถาม เราได้ข้อมูลตามที่ต้องการไหม

นดา ได้บ้างไม่ได้บ้าง บางคนให้ข้อมูลไม่ตรงกันก็มีค่ะ

อามีนา ส่วนบางคนอายุเยอะก็จำอะไรไม่ค่อยได้แล้วก็มี


ถาม ตอนไปสัมภาษณ์ เราแบ่งหน้าที่กันไปใช่ไหม แล้วนดากับอามีนาทำหน้าที่อะไร

นดา เป็นคนถาม

อามีนา เป็นคนบันทึกเสียง


ถาม หนูเคยมีบันทึกเสียงพลาดบ้างไหม เช่น ลืมกด

อามีนา เคยค่ะ แต่ส่วนใหญ่หนูกดบันทึกยาวไปเลย แล้วค่อยมาแกะเนื้อหาทีหลัง


ถาม สำหรับนดา ความยากของการสัมภาษณ์คืออะไร

นดา เวลาที่เราถามในคำถามที่เตรียมมา แต่คนถูกสัมภาษณ์มักเล่าเกิน เราไม่กล้าบอกหรือขัดจังหวะ


ถาม เรากำหนดเวลาที่จะสัมภาษณ์กี่โมงถึงกี่โมง เพราะเราต้องเก็บรวบรวมข้อมูลอีก

นดา ไม่เกิน 1 ชั่วโมงค่ะ และรวบรวมข้อมูลกันตอนกลางคืน


ถาม สัมภาษณ์ผู้รู้กันตอนกี่โมง

นดา หลังเลิกเรียน และเสาร์อาทิตย์ของช่วงบ่ายๆ


ถาม ตอนวันเด็ก มีกิจกรรมที่ให้ความรู้ อยากให้เราจำลองเหตุการณ์วันนั้น ให้พี่ฟังหน่อย

นดา พวกเราเคยเข้าร่วมเวทีประชาคม ตั้งแต่ช่วยเริ่มโครงการเพื่อบอกให้คนในชุมชนทราบว่าพวกหนูกำลังทำอะไรอยู่ ก่อนงานวันเด็กได้ประชาสัมพันธ์งาน 3 ครั้ง เป็นช่วงหลังจากเก็บข้อมูล พัฒนาถ้ำเรียบร้อยแล้ว เราจัดเป็นกิจกรรมที่ให้ครอบครัววิ่งขึ้นถ้ำ มีแผนที่เดินถ้ำไว้ให้ข้อมูล แบ่งงานกันเป็นกลุ่มว่ากลุ่มไหนประจำส่วนไหนในถ้ำ และทำอะไรบ้าง เช่น เทีมพยาบาล เผื่อใครวิ่งมาเหนื่อยต้องการยาดม หรือเผื่อมีอุบัติเหตุ แต่ทุกอย่างก็ราบรื่น เราให้กลุ่มเยาวชนเป็นไกด์พาผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมขึ้นไปชมถ้ำ อธิบายประวัติความเป็นมาและลักษณะภายในถ้ำ รวมถึงอธิบายกฎข้อห้ามต่างๆ ด้วย มีครูบางคนพูดว่าเขาอยู่ในชุมชนมาตั้งนานแล้วไม่เคยรู้ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับถ้ำมาก่อน ทำให้หนูดีใจที่ทำให้เขารู้จักที่แห่งนี้


ถาม มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกี่คน

นดา ร้อยกว่าคน ทั้งในและนอกชุมชน


ถาม เราไปประชาสัมพันธ์ทางไหนบ้าง

นดา ทางเพจ ทางไลน์ และศูนย์กระจายข่าวหมู่บ้าน


ถาม ใครเป็นคนประสัมพันธ์ให้เรา

นดา พี่เลี้ยงเป็นคนจัดกิจกรรมงานวันเด็กค่ะ


ถาม พี่เลี้ยงห่างหายไปตอนไหน หรือเข้ามาช่วยเป็นครั้งคราว

นดา ช่วงกลางๆ ค่ะเพราะเขาติดงานประจำ เขาเคยถามพวกหนูว่า จะไปต่อไหม หรือจะหยุดแค่นี้ พวกเราเลือกที่จะไปต่อ


ถาม ไปต่อเพราะอะไร ในเมื่อไม่มีพี่เลี้ยงแล้ว

นดา พวกหนูลงมือทำไปเกือบครึ่งทางแล้ว ถ้าหยุดก็น่าเสียดาย


ถาม รู้สึกถอดใจบ้างไหม เวลาเห็นกลุ่มอื่นมีพี่เลี้ยง

นดา หลายครั้งค่ะ เพราะเคยเห็นกลุ่มอื่นมีพี่เลี้ยงคอยช่วยตลอดเวลา เวลาไปประชุมก็มีพี่เลี้ยงไปด้วย เวลามีการประชาสัมพันธ์โครงการผ่านพี่เลี้ยง พวกหนูก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง


ถาม ไม่มีพี่เลี้ยงแล้ว เรารู้เรื่องโครงการผ่านใคร

นดา ในแชทกลุ่มค่ะ บังเชษฐ์จะแจ้งข่าวสารมา เช่น วันนี้มีประชุมที่ศูนย์ บางทีก๊ะลัดดาก็มารับบ้าง หรือบังเชษฐ์พาไป


ถาม เรารู้สึกอย่างไรที่มีพี่คนอื่นมาช่วยสนับสนุน ในวันที่เราไม่มีพี่เลี้ยง

อามีนา รู้สึกดีคะ อย่างน้อยก็ยังมีพี่ที่เป็นห่วงและคอยให้คำแนะนำได้


ถาม เล่ากิจกรรมวันเด็กภายในถ้ำให้หน่อยว่า ตั้งแต่เริ่มจนมีผลงานออกมา เรารู้สึกอย่างไรบ้าง

นดา จากถ้ำที่รกร้างและอันตรายไม่มีใครกล้าเข้ามา เราสามารถทำให้ที่นี่เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่และต่างพื้นที่มากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งไม่เป็นแหล่งมั่วสุมอีกต่อไป เพราะมีคนเข้าไปถ้ำบ่อยขึ้น บางคนอยู่ในหมู่บ้านแต่ไม่เคยขึ้นไปถ้ำ เขาก็มีโอกาสได้ขึ้นไป เขาก็ประทับใจ

อามีนา รู้สึกภูมิใจ เราอยากปรับปรุงให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ที่ปลอดภัย แล้วก็ทำได้สำเร็จ ทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้


ถาม ถ้ำก็ไม่ได้เล็กๆ พวกเราเคยคิดว่าจะทำได้ขนาดนี้

อามีนา งานที่ทำมาถ้าทำคนเดียวคงไม่สำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนจึงมีวันนี้ค่ะ


ถาม เมื่อไม่มีพี่เลี้ยงแล้ว อะไรเป็นแรงผลักดันให้เราทำโครงการต่อ

อามีนา คิดว่าถ้าพวกหนูไม่ทำแล้วใครจะทำ อีกอย่างพื้นที่ตรงนั้นก็รกร้างและอันตราย จึงอยากปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ที่ใครก็สามารถเข้ามาได้จะดีกว่า

นดา ในวันที่ไม่มีพี่เลี้ยงเราปรึกษากันในกลุ่มว่าอยากทำโครงการต่อไหม ได้ข้อสรุปว่าอยากทำต่อ ความเหนียวแน่นกันในกลุ่มทำให้เราสามารถทำงานจนสำเร็จ


ถาม ในทีมมีผู้หญิงหรือผู้ชายนำ

อามีนา ช่วยๆ กัน ผู้หญิงหาข้อมูล ส่วนผู้ชายเน้นไปทางใช้กำลังค่ะ


ถาม เสียงตอบรับของชุมชน มีอย่างอื่นอีกไหม

นดา ช่วงเดือนกุมภาพันธ์พวกหนูจัดเวทีคืนข้อมูลปิดโครงการ ให้คนในหมู่บ้านมานั่งรวมกันเป็นวงกลม สะท้อนความคิดเห็น เขาบอกว่าเขาภูมิใจในตัวพวกเรา เขาคิดว่าเด็กอย่างเราคงทำไม่ได้ อีกอย่างสมาชิกในทีมบางคนเคยเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ เมื่อมีผลงานออกมาในทางที่ดี จึงทำให้ประหลาดใจ

อามีนา มีเพื่อนบางคนที่อยู่นอกระบบ ไม่ได้เรียนหนังสือ เขาก็เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง พอเขาได้เข้าโครงการ นิสัยและพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น


ถาม ก็ยังได้เห็นพวกเขามาร่วมงานอยู่บ้าง

นดา โครงการก่อนหน้านี้เขามาช่วย ส่วนโครงการนี้เขามาช่วยถางป่า เขาไม่ชอบคิด แต่เราขอให้เขาช่วยออกแรงได้


ถาม งั้นเราคิดว่าถ้าเรามีกิจกรรมอะไรแบบนี้เรื่อยๆ เราจะดึงเพื่อนๆ กลุ่มนั้นให้มาทำประโยชน์ได้อีกไหม

นดา ได้ค่ะ พวกเขาบอกว่าพวกเขาจะมาช่วยซัพพอร์ต แต่พวกเขาแบบยังไม่ได้คิดหัวข้อแบบว่ายังคิดไม่ได้ให้ใช้แรงงาน


ถาม ตอนงานวันเด็กใครเป็นแม่งาน พวกเราหรือชุมชน

นดา เป็นงานที่มีกลุ่มเยาวชนเป็นหลัก พี่เลี้ยงอยากให้เยาวชนมีบทบาทเต็มที่


ถาม ในงานวันเด็กเรามีการแบ่งฝ่ายเยอะเลย ทำไมเราต้องมีฝ่ายพยาบาล ทำไมเราต้องมีฝ่ายนั้นด้วย

นดา ขึ้นถ้ำมันเหนื่อย สูงประมาณ 10 เมตรค่ะ เราควรต้องมียาดม มีฝ่ายปฐมพยาบาลเผื่อไว้


ถาม อบต. เคยมาพัฒนาถ้ำอยู่ แล้วก็อยู่ในส่วนของกรมป่าไม้ งั้นระหว่างที่พวกเราทำโครงการมีผู้ใหญ่หรือว่าหน่วยงานเข้ามาให้การสนับสนุนบ้างไหมคะ

นดา มีค่ะ มีผู้ใหญ่จากข้างนอกให้ความสนใจ ช่วยสนับสนุนซื้อน้ำมาให้

อามีนา เขาเห็นพวกหนูทำความสะอาดอยู่ เขาถามว่ามาทำอะไรกัน ก็เลยซื้อน้ำมาให้

นดา ก่อนพวกหนูเข้าไปทำกิจกรรมที่ถ้ำ พวกหนูขออนุญาตผู้ใหญ่บ้านก่อน


ถาม งั้นผู้ใหญ่หลังจากเราไปพัฒนา เขามีความเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง

นดา ทางผู้ใหญ่ไม่ค่อยมาสนใจดูแล ทั้งผู้นำชุมชน และหน่วยงาน


ถาม เท่าที่ฟังมามันจะมีผลงานที่เราทำออกมาคือชุดเรียนรู้ เป็นหนังสือหรือคะ หรือว่าเป็นอะไร

นดา เป็นหนังสือค่ะ และเป็นคิวอาร์โค้ด ไว้ให้สแกนแล้วก็เขียนประวัติใส่รายละเอียดต่างๆ ลงไป


ถาม ตอนนี้เราเอาไปไว้ที่ไหนหรอ

นดา คิวอาร์โค้ดแปะไว้ตามจุดก่อนเข้าถ้ำค่ะ


ถาม แล้วก็มีแผนที่เดินถ้ำ เราได้ไอเดียมาจากไหน

นดา พี่เลี้ยงทำงานเกี่ยวกับสังคมเหมือนกัน เเขาแนะนำเรื่องแผนที่เดินดินในชุมชน แล้วเราเอาไปทำเป็นแผนที่เดินถ้ำ


ถาม เราคิดว่าแผนที่เดินถ้ำ มันมีประโยชน์ยังไงบ้าง

นดา มันทำให้เราได้รู้ว่าในถ้ำมีอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง เข้าไปแล้วต้องออกทางไหน


ถาม ก่อนที่เราจะมาทำเรื่องถ้ำ ตอนปีก่อนมีเรื่องถ้ำหลวงจำได้ไหมที่มีเด็กติดอยู่ในถ้ำเรากลัวไหม

นดา กลัวค่ะ แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าเราจะไปหลง เพราะถ้ำเราไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้นตอนเด็กๆ พวกหนูก็เคยขึ้นไปแล้ว เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าถ้ำไกลตัวเรา เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีใครสนใจ


ถาม ช่วยสรุปให้พี่ฟังหน่อยว่า แต่ละคนว่าส่วนตัว แต่ละได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำโครงการนี้

นดา หนูได้นำความรู้และทักษะจากการทำโครงการไปปรับใช้กับการเรียนของตัวเองด้วย เวลาพวกหนูไปนำเสนอโครงการ Active Citizen มีคำถามมาทุกครั้ง เจอคำถามยากๆ มามาก เวลาได้ออกไปนำเสนองานต่างๆ ที่โรงเรียน คำถามดูง่ายไปเลย ส่งผลให้เรามีความกล้ามากขึ้น กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก จากที่ไม่เคยกล้าขึ้นมาพูด ตั้งแต่ผ่านการทำกิจกรรมในโครงการก็มีความกล้าขึ้นมาก เราได้ก้าวผ่านสิ่งที่เรากลัว ยกตัวอย่าง เวลาออกไปนำเสนอโครงการต่อหน้าคนอื่น มันมีความกังวล ก๊ะละดาบอกว่าให้เราทิ้งความกังวลไว้ข้างล่าง แล้วเราขึ้นไปด้วยความตั้งใจของเรา ความมั่นใจของเรา หนูก็เอามาปรับใช้กับการนำเสนองานหรือว่าการที่หนูได้เป็นสภานักเรียนเหมือนกัน


ถาม อามีนา เราได้เรียนรู้อะไรจากการทำโครงการบ้าง

อามีนา ได้เรียนรู้เรื่องการวางแผนก่อนลงมือทำอะไรสักอย่าง เพราะปกติหนูเป็นคนสะเพร่า ขี้ลืม แล้วต้องไปแก้ไขปัญหาทีหลังตลอด พอผ่านจากโครงการนี้เวลาหนูทำอะไร หนูต้องคิดเป็นขั้น เป็นลำดับ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทีหลัง อย่างที่นดาพูดคือมีความกล้ามากขึ้น กล้าแสดงออก เวลาเจอคำถามก็ง่ายขึ้น คำถามในโรงเรียนดูง่ายไปเลย ในขณะเดียวกันเพื่อนในห้องที่ไม่ได้ทำโครงการ เขาบอกว่ายาก พวกหนูผ่านมาแล้วมันเลยง่ายสำหรับพวกหนู


ถาม แล้วเราได้ค้นพบความสามารถอะไรใหม่ๆ ในตัวเองบ้างไหมจากการทำโครงการ

นดา สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการที่กล้าแสดงออก


ถาม มีเหตุการณ์อะไรยกตัวอย่างไหมเรื่องการกล้าแสดงออก อาจจะเป็นแบบเมื่อก่อนนี้เราพูดต่อหน้าคนอื่นแบบไม่รู้เรื่องเลยและตอนนี้เราเป็นแบบไหน

นดา ตอนนั้นไม่กล้าเลย ครั้งหนึ่งที่ได้ไปพรีเซ้นต์ ตอนออกไปพูดประหม่า เลยพูดไม่ได้ ทำให้เกิดความกังวลและเสียใจ ทำไมเราถึงทำไม่ได้คนอื่นถึงทำได้ ก็เลยเป็นจุดหนึ่งที่ผลักดันทำให้เรากล้ามากขึ้น แล้วเราผ่านจุดนั้นมาได้ ครั้งต่อๆ ไปเราก็คิดว่าเราทำได้อีก


ถาม ถ้าต้องไปอบรมแล้วอามีนาทำหน้าที่อะไร

อามีนา บางทีก็ทำหน้าที่นำเสนอบ้างจดบันทึกบ้าง


ถาม นิสัยส่วนตัวของเรา คิดว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

นดา ทำให้คิดก่อนทำ แล้วคิดถึงผลที่จะตามมาว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร

อามีนา มีความรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อก่อนไม่ค่อยรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง เช่น ให้กวาดบ้านก็ไม่อยากทำ ขี้เกียจ


ถาม แล้วรู้สึกดีต่อชุมชนในภาพรวมไหม รู้สึกรักชุมชนบ้านเกิดมากขึ้นบ้างไหม

นดา เห็นความสำคัญของชุมชนมากขึ้นค่ะ อย่างถ้ำที่เราไปหาข้อมูล เมื่อก่อนเรารู้จักถ้ำแต่ไม่รู้ที่มาที่ไปว่าเป็นอย่างไร ตอนนี้เราก็ได้รู้ ทำให้เราเห็นความสำคัญ แล้วอยากดูแลรักษา หวงแหนไว้


ถาม ถ้ามีโครงการในปีถัดไปหรือได้โอกาสในการทำโครงการอีก เรายังอยากทำโครงการอะไรแบบนี้ต่อไหม

นดา ทำค่ะ เพราะไม่ค่อยมีใครทำโครงการดูแลชุมชน อยากทำต่อแต่ไม่มีพี่เลี้ยง


ถาม ปีที่ผ่านมาก็ทำได้โดยไม่มีพี่เลี้ยงนี่นา

นดา โครงการต้องการพี่เลี้ยงโครงการจำเป็นจะต้องมีพี่เลี้ยงด้วย


ถาม แต่ถ้าไม่มีพี่เลี้ยงจริงๆ เราว่าเราทำกันได้ไหม

นดา ทำได้ เพราะเคยทำมาแล้วค่ะ


ถาม ในความคิดเราพี่เลี้ยงมีความสำคัญยังไง

นดา พี่เลี้ยงเป็นคนช่วยให้คำปรึกษา ในส่วนที่ไม่รู้ก็ให้คำปรึกษาได้ ที่ผ่านมาพวกหนูก็ปรึกษาก๊ะละดากับบังเชษฐ์ค่ะ แต่หลายครั้งเรารู้สึกเกรงใจ ไม่กล้าไปปรึกษาเพราะเขาก็มีลูกทีมของเขา


ถาม พ่อแม่ผู้ปกครองสะท้อนอะไรบ้างไหมเขามีคำติชมเราบ้างไหม

นดา เขาก็คอยซัพพอร์ต เวลาขอไปทำกิจกรรมก็อนุญาตให้ไป


ถาม เหมือนพวกเราเป็นผู้หญิง 3 คนและต้องไปทำงานกับพวกผู้ชายเยอะ พวกเรามีเทคนิคแนะนำไหมว่าเราจะทำงานกับกลุ่มเด็กผู้ชายยังไงให้ราบรื่น

นดา แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนมีความจริงจัง บางคนก็เล่นเยอะ เราก็ทำเท่าที่มีคนทำ ไม่บังคับ บางคนก็มีส่วนร่วมประชุมแต่ก็เขาไม่ได้ถนัดในด้านนี้ เขาถนัดใช้แรงงาน ต่างคนต่างถนัดกันคนละด้านกัน แต่ละคนแตกต่างกันพวกหนูถนัดด้านหนึ่ง พวกเขาก็ถนัดอีกด้านหนึ่ง อย่างเช่นเราบอกเขาให้ทำอย่างนั้นเ ขาทำไม่ได้แต่เราก็ไม่ได้ต่อว่าเขา เราก็สนับสนุนในสิ่งที่เขาทำได้เท่าที่เขาจะทำได้


ถาม อามีนามีอะไรเสริมไหม

อามีนา การทำงานต้องเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน สิ่งที่เขาทำได้แต่เราทำไม่ได้ เขาไม่ว่าเราเราก็ไม่ว่าเขา


ถาม นอกจากเรื่องพี่เลี้ยง มีเรื่องอื่นที่หนักใจอีกไหมคะ ปัญหาในการทำโครงการ

นดา มีในเรื่องการเดินทางไปเพราะไม่มีพี่เลี้ยงพาไปก็เลยต้องให้พี่เชษฐ์กับก๊ะละดาพาไป


ถาม มีตรงไหนอีกไหมที่เราอยากจะพัฒนาตัวเราเองเพิ่มขึ้นอีก

นดา เรื่องความกล้าแสดงออก กล้าคิดอยากพัฒนาให้ดีขึ้น

อามีนา อยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ หนูเชื่อว่าตัวเองไม่ได้ทำได้แค่นี้ ทำได้เยอะกว่านี้


ถาม ก็คือเปิดรับการเรียนรู้ใช่ไหมคะ เราต้องการความช่วยเหลืออะไรจากผู้ใหญ่มีอะไรตรงไหนบ้างไหม

นดา ต้องการให้ประสานงานให้คนภายนอกรู้ ผู้ใหญ่เขามีเสียงของผู้ใหญ่จะมีน้ำหนักมากกว่าอยู่แล้ว


ถาม ถ้าผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชนหรือว่าใครได้เข้ามาตรงนี้ เราคิดว่ามันจะทำให้โครงการของเราเป็นที่รับรู้มากขึ้นใช่ไหม ทีนี้พวกหนูมีเพจเพจชื่อว่าอะไร

นดา เยาวชนรักษ์บ้านลาน


ถาม แล้วเพจยังเคลื่อนไหวอยู่ไหม

นดา ช่วงนี้ไม่ได้เคลื่อนไหวค่ะ


ถาม เพจนี้เราต้องการใช้เพจเพื่ออะไร

นดา เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมว่าเราทำอะไรไปบ้าง ผู้ติดตามส่วนใหญ่เป็นเด็กและคนในหมู่บ้าน


ถาม พวกเรามีแน่ใจไหมว่า จบโครงการนี้แล้วอยากทำโครงการเรื่องอะไรอีก ตอนนี้ทำโครงการอะไรอยู่

นดา ทำโครงการอ่านกินเล่น โครงการ สสส. ไม่ยากมากค่ะ แต่โครงการ Active Citizen เข้มข้นกว่า ช่วยพัฒนาศักยภาพตัวเรา ยิ่งดียิ่งดี

อามีนา มันท้าทายค่ะ

นดา โครงการอ่านกินเล่นที่ทำตอนนี้ ปัญหาคือกลุ่มเยาวชนเริ่มออกไปเรียนนอกชุมชนกันแล้ว การรวมกลุ่มก็ยากขึ้น


ถาม ถ้าพวกหนูต้องออกไปเรียนนอกชุมชน มีรุ่นน้องๆ มาต่อหรือยัง

นดา ตอนพวกหนูทำกิจกรรมก็มีเด็กๆ มานั่งดูหนูประชุมทุกครั้ง คิดว่าอยากให้น้องๆ มาช่วยสานต่อ


ถาม แล้วเราความฝันของแต่ละคนเรียนจบอยากทำอะไรกัน

นดา หนูอยากเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ

อามีนา หนูอยากเรียนเกี่ยวกับสังคมสงเคราะห์ ยังอยากทำงานแบบที่เคยทำในโครงการ อยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเองก่อน


ถาม ช่วงที่หนูเริ่มทำโครงการกับระหว่างที่ทำโครงการ คนในชุมชนเขาได้พูดถึงถ้ำไหม หรือว่าพูดถึงถ้ำยังไงบ้าง มันต่างกันไหม

นดา: ช่วงแรกพวกหนูหาข้อมูลครบทุกคนแล้ว ก็เน้นไปปรับปรุงถ้ำก่อน เพื่อให้คนในชุมชนเห็นความเปลี่ยนแปลง หลังจากนั้นผู้ใหญ่บางคนถามว่าไปทำอะไรในถ้ำ หนูก็บอกเล่าให้ฟัง บางคนเขาก็ช่วยสนับสนุนเรื่องของกินให้พวกเรา เมื่อก่อนคนในชุมชนไม่ได้สนใจ ปล่อยให้รกร้างเป็นแหล่งมั่วสุม ไม่มีใครกล้าไปยุ่ง เป็นที่เปลี่ยวด้วยไม่มีบ้านคนเป็นสวนหมดเลย เป็นหมู่บ้านคั่นด้วยคลอง เป็นสวนไร่ ถ้ำอยู่ฝั่งสวนที่ไม่ค่อยมีบ้านคน พอพวกหนูได้เข้าไปปรับปรุงถ้ำ อัพรูปลงสตอรี่ก็มีคนจากภายนอกสนใจเข้ามาถ่ายรูป

อามีนา: ตอนนี้คนกล้าไปแถวนั้นมากขึ้น ไปวิ่งตอนเช้าตอนเย็น พื้นที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ บางคนก็เข้าไปเยี่ยมชมถ้ำ แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าเข้าไปในถ้ำ ถ้าไม่มีคนนำเข้าไปให้ความรู้ ตอนนี้พวกเราก็สามารถให้ความรู้เรื่องถ้ำได้ มีเด็กๆ ในชุมชนที่ทำกิจกรรมร่วมกับเราก็จะมีความรู้เรื่องถ้ำ เขาสนใจแต่เขายังเด็ก ยังช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่มานั่งดูมานั่งให้กำลังใจ


ถาม เยอะไหมน้องๆที่ไปกลับเราด้วยนะ

นดา ก็เยอะอยู่ค่ะ เราให้ถือถุงดำคนละถุงระหว่างเดินทางให้เก็บขยะไปด้วย ประมาณ 10 คน เพราะในหมู่บ้านเด็กเยอะมาก เป็นโอกาสให้น้องๆ ได้รู้จักถ้ำมากขึ้นและได้ซึมซับเรื่องการทำงานชุมชน