สัมภาษณ์ทีมพี่เลี้ยง Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศของกุ้งเคย

กลุ่มพี่เลี้ยงเด่น โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศของกุ้งเคย  ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล


ชื่อเรื่อง แม่บ้านต่างวัยกับเวลาเกินร้อยที่ทุ่มให้ธนาคารธรรมชาติบ้านขอนคลาน


“ทะเลถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นธนาคารของคนขอนคลานเลย และยังเป็นอาชีพหลักของคนที่นี่” เสียงสะท้อนจาก ก๊ะหวอ - ราตรี โสสนุย อายุ 42 ปี อาชีพแม่บ้าน หนึ่งในเจ็ดพี่เลี้ยง โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศของกุ้งเคย ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ที่ลุกขึ้นมาทำงานพัฒนาชุมชนตั้งแต่ยังอายุ 20 ต้นๆ

ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน ก๊ะหวอไม่รู้หรอกว่างานพัฒนาชุมชนคืออะไร รู้แต่เพียงว่างานอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลไม่ใช่เรื่องของพ่อแม่เพียงอย่างเดียวแต่เกี่ยวข้องกับตัวเธอด้วย เพราะเธอก็เป็นคนขอนคลานคนหนึ่งที่เกิดและโตมากับทะเล

การใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ไม่เหมาะสม เช่น อวนลาก อวนรุน โดยเรือประมงพาณิชย์ต่างถิ่น ที่ลากเอาสัตว์น้ำขนาดเล็กวัยอนุบาลซึ่งกำลังเติบโตไปด้วย หนำซ้ำยังทำลายแนวปะการังใต้น้ำ ส่งผลกระทบให้ทรัพยากรทางทะเลลดลงอย่างน่าใจหาย ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ปริมาณสัตว์ทะเลลดน้อยลง ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่สุดแถมยังโดนเหมารวมว่าเป็นผู้ทำลาย คือ ชาวประมงท้องถิ่น ที่ใช้ชีวิตอยู่กับทะเล หรือเรียกได้ว่า “กินอยู่กับทะเล”

ตั้งแต่ราวปี 2543 เป็นต้นมาชาวบ้านในตำบลขอนคลานรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ลานตระเวนและตรวจตราไม่ให้เรือประมงผิดกฎหมายและเรือประมงพาณิชย์เข้ามาทำลายฐานทรัพยากรทางทะเล ก๊ะหวอเดินตามหลังพ่อแม่ทำงานด้านอนุรักษ์มาตั้งแต่ตอนนั้น ขณะที่กำลังเป็นนักศึกษาอยู่ชั้นปีที่สอง เพราะครอบครัวทำอาชีพประมงเธอจึงซึมซับทั้งแนวคิดและความเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมาจากการได้ช่วยงานพ่อแม่ จนกระทั่งได้มาลงมือทำด้วยตัวเองจนติดลม

“ตอนเป็นเด็กเราก็รู้สึกว่ามันยาก ยากตรงการทำงานกับผู้ใหญ่ และเป็นงานอนุรักษ์ซึ่งเสี่ยงต่อความขัดแย้งกับพวกนายทุน บางครั้งพอค่ำๆ ต้องออกเรือออกทะเลไปไล่พวกเขา บางครั้งต้องประสานงานหน่วยงานมาไล่มาจับ ถ้าจับได้เราลากเรือขึ้นหาด เอาอุปกรณ์เรือเอาของขึ้นหาดทั้งหมดไม่คืนให้เจ้าของ ปล่อยตั้งไว้ให้เห็น ให้เปื่อยอยู่ที่ชายหาด”

อย่างไรก็ตาม ก๊ะหวอ บอกว่า หากพ่อแม่ห้ามไม่ให้เข้ามาช่วยหรือยุ่งเกี่ยวกับงานอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เพราะเสี่ยงต่อความขัดแย้งและอันตรายถึงชีวิต ก๊ะซึ่งยังเป็นเยาวชนอยู่ในตอนนั้นคงไม่ยอมอยู่นิ่งเฉย เธอจึงมองว่าเด็กและเยาวชนมีศักยภาพในตัวเองที่จะลุกขึ้นมาทำเรื่องที่ทรงพลังและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้หากผู้ใหญ่ให้โอกาส ขณะที่ตัวเธอเองก็ไม่เคยวางมือจากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและอนุรักษ์ท้องทะเลเลยนับจากนั้น

“ในความรู้สึกของพ่อแม่ ไม่อยากให้ลูกเข้ามายุ่งเกี่ยวเรื่องเสี่ยงๆ อยู่แล้ว แต่มันเป็นนิสัยของเราเองด้วย เพราะเราอยู่กับเขา อยู่บ้านเดียวกัน เรารู้ถึงผลกระทบ เราเห็นการกระทำแต่ละอย่างทุกวันๆ ก็ต้องเข้ามาช่วย ถึงเขาห้ามเราก็พยายามหาทางเข้าไปให้ได้ ช่วยสักเรื่องสักอย่างอะไรก็ได้ มันต้องเป็นของเราด้วย เราคิดว่ามันเป็นงานของเราด้วย” ก๊อหวอ กล่าวอย่างจริงจัง


รวมทีมแม่บ้านขยับงานชุมชน

โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศของกุ้งเคย ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูลเป็นโครงการย่อยภายใต้ โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชน จังหวัดสตูล หรือ Satun Active Citizen ที่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนค้นหาโจทย์หรือปัญหาในชุมชนที่สนใจ แล้วลงมือทำโครงการด้วยตัวเอง เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้เด็กคิดเอง แก้ปัญหาเอง เพื่อพัฒนาทักษะการทำงาน การวางแผน พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับชุมชน รวมถึงการรู้จักตนเอง

“รุ่นพ่อแม่เป็นงานที่เสี่ยงแต่เดี๋ยวนี้เป็นงานที่ต้องคุยแลกเปลี่ยนกัน ต้องทำงานร่วมกัน ไม่ได้ทำงานแบบปะทะเหมือนแต่ก่อน เราปรับทัศนคติเด็กรุ่นใหม่ไปเรื่อยๆ พยายามให้ความรู้กับเยาวชนรุ่นใหม่ก่อนโครงการนี้เข้ามา เรามีการจัดค่ายเยาวชนปีละ 2-3 ครั้ง เช่น ค่ายเยาวชนเด็กคนรักเลที่จัดช่วงปิดเทอม พี่เชษฐ์ (พิเชษฐ์ เบญจมาศ ผู้ประสานงาน Satun Active Citizen) และทีมมาเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กแลกเปลี่ยนกันเรื่องทะเล เรื่องอาชีพ อุปกรณ์การทำประมง เพื่อเสริมทักษะให้เด็กเยาวชนได้เข้าใจวิถีชีวิตของบรรพบุรุษ

ให้เด็กเข้าใจวิถีชีวิตชาวประมงที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตัวเอง เพราะเด็กสมัยนี้ถูกดึงดูดให้ไปสนใจเรื่องอื่นที่ไกลตัวมากขึ้น กระบวนการตรงนี้เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่จะนำเด็กเข้ามาทำงานอนุรักษ์ต่อ ส่วนกับผู้ใหญ่ เรามีสภาองค์กรชุมชนที่ทำงานประสานคุยกัน มีโครงการต่างๆ และการวางหลักเกณฑ์และข้อตกลงที่เป็นเหตุเป็นผลให้อยู่ร่วมกันได้ แล้วมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง”

ก๊ะหวอ เล่าว่า กระบวนการทำงานลักษณะดังกล่าวจากรุ่นสู่รุ่น นับจากรุ่นพ่อแม่มาจนถึงปัจจุบัน ชุมชนมีสมาชิกรุ่นที่สามแล้วที่เข้ามาสานต่องานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ทั้งนี้Active Citizen เป็นโครงการที่แตกต่างจากโครงการอื่นตรงที่ให้เด็กเป็นเจ้าของโครงการ ผู้ใหญ่ต้องไม่บังคับให้เด็กทำ กระบวนการเรียนรู้ในโครงการจะพัฒนาศักยภาพในตัวเด็ก รวมถึงพี่เลี้ยงให้กล้าคิดอย่างมีเหตุผล กล้าทำโดยไม่ต้องกลัวถูกผิด และกล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้อง

จุดเด่นอย่างหนึ่งของโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศของกุ้งเคย คือ กลุ่มพี่เลี้ยงโครงการซึ่งเป็นแม่บ้านทั้งหมด 7 คน หลากหลายช่วงอายุตั้งแต่สามสิบต้นๆ ไปจนถึงสี่สิบปลายๆ ดวงพร ชุมพลวงค์ อายุ 46 ปี, นันทิตา โส๊ะตา อายุ 45 ปี, สุนิสา โสสนุย อายุ 32 ปี, อภัสนันต์ โสสนุย อายุ 30 ปี, ดวงจิต รวนเร อายุ 42 ปี และ สุทิพย์ ผิวดี อายุ 37 ปี ทั้ง 7 คนเป็นกรรมการสภาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นตัวแทนที่ได้รับคัดเลือกมาจากทั้ง 4 หมู่บ้านในตำบลขอนคลาน

“ภายใต้งานที่ทำทุกโครงการเราทำในภาพรวมทั้งตำบลหมด ไม่แยกกัน ไม่แยกว่าหมู่ไหนทำอะไร เพราะตำบลขอนคลานมีแค่ 4 หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านเล็กๆ พี่เลี้ยง 7 คนตรงนี้เลยเป็นทีมงานที่ทำงานด้วยกันอยู่แล้ว ความสัมพันธ์ของเรา 7 คนนี้เป็นทุกอย่าง ความสัมพันธ์เหนียวแน่น ไม่ว่าเรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องเที่ยว พวกเราคุยแชทกันในกลุ่มตลอดเหมือนเป็นครอบครัว ไปไหนไปกันเป็นทีม หิวก็ทำกับข้าวกินด้วยกัน อย่างเช่นวันนี้ก็ทำบัวลอยมากินกัน มานั่งรับลงทะเบียนสมัครกลุ่มอาชีพของสมาคมประมงพื้นบ้าน เป็นร้านค้าของสมาคมเพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้ คิดว่าจะรับซื้อและแปรรูปอาหารทะเลของชาวบ้าน” ก๊ะหวอ กล่าว

“ถึงอายุหลากหลาย แต่เราทำงานเข้ากันได้ ข้อดีคือเราได้รู้ว่าคนอายุช่วงวัยนี้พฤติกรรมเป็นอย่างไร นิสัยความรู้สึกเป็นอย่างไร เราได้รู้ความรู้สึกนึกคิดของคนแต่ละรุ่น เอามาปรับใช้กับเด็กในชุมชนได้” ดวงพร กล่าว


ทรัพยากรอะไรเอ่ยเคยมีอยู่ในชุมชน

แกนนำเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของกลุ่มพี่เลี้ยงโครงการ เรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน เมื่อคนหนึ่งเข้ามาจึงชวนเพื่อนๆ มาร่วมทำกิจกรรมด้วย จนเกิดเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีความสนิทสนมกัน

“กลุ่มเยาวชนที่ทำโครงการหลักๆ ทั้งหมด 10 กว่าคน ประมาณ 12-13 คน ที่เพิ่มมาทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ช่วงหลังเขาเห็นเพื่อนทำ เขาก็ตามมาด้วย”

อาคารอเนกประสงค์ หมู่ 1 บ้านขอนคลานเป็นแหล่งรวมตัวของกลุ่มเยาวชน ก๊ะหวอ สะท้อนจากประสบการณ์ว่า เด็กๆ ในชุมชนชอบทำกิจกรรมที่ได้ออกไปลุย ออกไปใช้พลังงาน ยิ่งได้รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อนยิ่งชอบ คนที่ไม่ได้ร่วมโครงการเมื่อเห็นเพื่อนๆ ทำกิจกรรมดูน่าสนุก ระหว่างโครงการจึงขอเข้ามาร่วมด้วย นอกจากแกนนำหลักแล้วก็ยังได้เห็นภาพเด็กๆ สับเปลี่ยนกันเข้ามาร่วมกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา

“เราให้เด็กคิดว่าทรัพยากรในบ้านเรามีอะไรบ้าง วิเคราะห์กันว่าที่ทรัพยากรลดลงไปเป็นเพราะอะไร เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรนอกชายฝั่ง ผู้ใหญ่ก็ทำกันอยู่แล้ว เลยให้เด็กๆ คิดว่าแล้วถ้าในชุมชนบริเวณใกล้ๆ ป่าชายเลน จะทำอะไรได้บ้าง มีสัตว์น้ำอะไรบ้าง อยากอนุรักษ์สัตว์น้ำวัยอ่อนริมป่าชายเลนกันไหม”

“กระตุ้นให้เด็กๆ คิด ถึงอาชีพของคนในหมู่บ้าน เขาเห็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทำกันเป็นทีม เมื่อก่อนเคยทำกะปิกัน หากุ้งเคยกันตามชายหาด แต่พอไปดูทรัพยากรที่ได้มาตอนนี้ บางอย่างเอามาจากข้างนอก แล้วทรัพยากรทางทะเลในหมู่บ้านมันหายไปไหน แต่ก่อนมันเคยมี” ก๊ะหวอ อธิบายขั้นตอนการตั้งโจทย์โครงการ

เมื่อกลุ่มเยาวชนตกลงใจทำโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศกุ้งเคย ขั้นตอนถัดไปไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกุ้งเคยผ่านอินเทอร์เน็ต การสัมภาษณ์และการเรียนรู้การทำอุปกรณ์การจับและอนุรักษ์กุ้งเคยจากผู้รู้ และการลงสำรวจพื้นที่ป่าชายเลน กลุ่มพี่เลี้ยงทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและเป็นผู้ติดตามให้ความช่วยเหลือกลุ่มเยาวชนอย่างใกล้ชิด

“ ในขั้นตอนการทำงาน เราต้องรู้แล้วว่ากิจกรรมต่อไปน้องๆ จะทำอะไร นัดประชุมน้องๆ มาคุยก่อนว่าจะเตรียมงานกันอย่างไร ก่อนลงทำกิจกรรมจริง พอได้คุยเราก็จะรู้ว่าต้องเตรียมอะไรให้น้องๆ บ้าง พยายามเติมความคิดให้เขา แต่เรายืนอยู่ห่างๆ ให้เขาคิดเองก่อน” ก๊ะหวอ อธิบายถึงบทบาทการเป็นพี่เลี้ยง พร้อมยกตัวอย่างต่อว่า

“ในการประชุมเตรียมงานก่อนลงพื้นที่ ต้องให้เด็กตั้งโจทย์ไปก่อนว่าอยากได้อะไรกลับมา เรื่องอะไรบ้าง ให้เด็กคิดว่าการลงไปสัมภาษณ์หาข้อมูลวันนี้ เขาจะได้คำตอบเรื่องอะไร เช่น การหากุ้งต้องออกไปช่วงเวลาไหน ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ช่วยกันคิดลงแผ่นชาร์ตหรือสมุดจด แต่ละคนต้องถือสมุดของตัวเองไป เราแนะนำน้องๆ ว่าสามารถไปเก็บข้อมูลจากใครได้บ้าง บอกชื่อไปว่าอยู่ที่ไหน อยู่หมู่บ้านไหน ให้เด็กไปสัมภาษณ์ พอไปสัมภาษณ์จริงๆ เขาจะรู้หน้าที่ว่าใครเป็นคนถาม ใครเป็นคนบันทึก หรือ ถ่ายวิดีโอ”

ก๊ะหวอ บอกว่า การทำงานชุมชนต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตของผู้คน พี่เลี้ยงจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มเยาวชน ด้วยการช่วยยืนยันวันเวลานัดหมายที่จะเข้าไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูลกับผู้รู้

“พี่เลี้ยงรู้จักผู้รู้ที่เด็กๆ จะไปสัมภาษณ์ เราไปคุยไว้ก่อนว่าจะมีเด็กมาสัมภาษณ์เรื่องการทำเคย และการหากุ้งเคย เวลาไหนวันไหน โดยที่เราไม่ได้บอกเด็กว่าไปเกริ่นไว้แล้ว ถ้าปล่อยให้เด็กไปเองโดยไม่ประสานก่อน อาจไม่เจอผู้ให้ข้อมูลเพราะวิถีชีวิตของเขา เขาก็ต้องไปทำมาหากิน พอเราไปคุยไว้เขาก็ทำตัวให้ว่าง เพราะรู้อยู่แล้วว่าเด็กจะมาวันนี้ เขาก็จะคอยอยู่บ้านเลย”


เพิ่มความไว้ใจด้วยการลดช่องว่างระหว่างวัย

การทำงานกับเด็กประถมปลายและมัธยมต้นเหมือนจับปูใส่กระด้ง ต้องใช้พลังกายเยอะ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พี่เลี้ยงต้องทำใจและตามเด็กให้ทัน แต่เพราะในทีมพี่เลี้ยงมีกันถึง 7 คน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสบายๆ ที่ไม่ได้ทำให้ทีมพี่เลี้ยงหนักใจ ที่สำคัญทั้ง 7 คน ไม่ได้มองว่าการเข้ามารับผิดชอบโครงการเป็นภาระแต่กลับเป็นการใช้ช่วงเวลาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

“ พวกก๊ะเวลาใครไปประชุมที่ไหน มารับเรื่องประชุม วันนี้มีประชุมที่นี่ใครจะไปประชุมด้วยบ้าง เรามาเช็คเวลาก่อนว่า คนนี้ไปงานนั้นงานนี้นะ เมื่อรู้ตารางงานก็จะทำตัวให้ว่าง บอกทางบ้านให้เรียบร้อยเพื่อที่จะได้ไปกับเพื่อน”

“ถ้าต้องพาเด็กไปประชุมข้างนอก ยกตัวอย่างทางส่วนกลางอนุญาตให้พี่เลี้ยงไป 2-3 คน เราดูว่าคนไหนว่างวันไหน บางครั้งเราก็ไปกันทันทั้ง 7 คน ทั้งๆ ที่เขาบอกให้ไปได้ 3 คน เราไม่ได้สนใจว่าจะได้ค่าเดินทาง ได้ค่าตอบแทนไหม ถือข้าวห่อกันไป ไม่รบกวนงบประมาณจากส่วนกลาง แต่เราอยากไปร่วมด้วยช่วยกัน” ก๊ะหวอ กล่าว

แน่นอนว่าการทำงานย่อมมีอุปสรรค ก๊ะหวอ บอกว่า อุปสรรคจริงๆ คงเป็นความกังวลใจเกี่ยวกับการเดินทางไปทำกิจกรรมทั้งในและนอกพื้นที่ของกลุ่มเยาวชน เนื่องจากไม่อยากให้เด็กขับขี่รถมาเอง หากเป็นไปได้พี่เลี้ยงจะพยายามจัดหารถไปรับกลุ่มเยาวชนตามจุดต่างๆ

“เวลาลงพื้นที่จะไปกับเด็กด้วยทุกครั้ง ตามไปดู บางครั้งถ้ามีอะไรผิดพลาด เราก็แนะนำน้องๆ พอมีกิจกรรมลงเรือ เราก็ได้ดูความปลอดภัยให้เด็กๆ พี่เลี้ยงกับเด็กสนิทกันมาก คือเด็กกันเล่นได้ อายุเท่ากับเด็กเลยเล่นได้ทุกอย่าง เด็กไม่เคยคิดว่าก๊ะเป็นคนสูงอายุ อย่างเดียวเด็กไม่ตบหัวเท่านั้นแหละ อย่างอื่นได้หมด”

ก๊ะหวอ เล่าถึงวิธีการวางบทบาทพี่เลี้ยงให้สนิทกับเด็ก แต่ยังได้รับความเคารพและความไว้วางใจว่าอยู่ที่ “ความชัดเจน” ในการทำงานแต่ละจังหวะเวลา

“การอบรมพี่เลี้ยงจากทางโครงการเป็นความรู้ที่ดีมาก แนะนำเรื่องการพูด การคุย การสังเกต การช่วยแก้ไขเมื่อเด็กเจอปัญหา บางเรื่องเราก็ได้ปรับทัศนคติตัวเองไปเลย ทั้งกับเด็กแล้วก็นำมาปรับในครอบครัว เช่น พฤติกรรมของเราตอนที่อยู่กับลูก การทำงานกับเด็กต้องยิ้ม ต้องพูดเพราะๆ ไม่ทำหน้ายักษ์ใส่เด็ก ทำตัวเป็นนางฟ้าอย่าทำตัวเป็นนางมาร เราไม่ควรจ้ำจี้จ้ำไชเด็ก ให้เขาพูดออกมาก่อน เราเป็นคนรับฟัง”

“ถ้าเราสั่งเขาเยอะเขาจะนิ่งฟัง แต่หลังจากนั้นเขาจะใช้อารมณ์ด้วยการเดินออกไปเลย เรารู้ว่าเด็กอยากทำอะไร คิดอย่างไรเรารู้สึกได้ เวลาเราเล่นเราก็เล่น เวลาประชุมวิชาการพยายามคุยให้เด็กเข้าใจ พอนอกกิจกรรมเราก็เปลี่ยนเป็นปกติหยอกกันบ้าง เด็กวิ่งไล่จับ เราก็วิ่งไล่จับด้วย”ก๊ ะหวอ สะท้อนประสบการณ์

“การดูแลเด็ก การเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ต้องทำตัวเหมือนเด็ก ต้องเข้าใจความรู้สึกเด็กว่าเขาคิดอะไรอยู่ เด็กพอใจไหม พี่เลี้ยงไม่แสดงกริยาความไม่พอใจให้เด็กเห็น เด็กเล่นก็ต้องเล่นด้วย ต้องรู้ด้วยว่าเด็กต้องการอะไร” ดวงพร กล่าว

“ทำตัวกลมกลืนกับเด็กเลย ไปได้กับเด็กในทุกสถานการณ์ ทำไปตามที่เด็กอยากทำ เพราะอายุเด็กกับลูกตัวเองไล่เลี่ยกัน เรารู้ว่าเราต้องตามเขาให้ทัน” สุทิพย์ กล่าวเสริม

ความเข้มแข็งของกลุ่มแม่บ้านบ้านขอนคลานทั้งในแง่การทำงานชุมชนและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลไม่ได้เกิดขึ้นเพียงช่วงข้ามคืน เป็นที่น่ายินดีที่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคใหม่ในทุกด้าน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผู้คนถูกดึงดูดให้สนใจโลกภายนอกมากกว่าสิ่งใกล้ตัว เด็กและเยาวชนบ้านขอนคลานยังได้มีโอกาสกลับมามองหาและมองเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติรอบตัว สำนึกรักสิ่งแวดล้อมและความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติได้ถูกบ่มเพาะและส่งต่อถึงคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

/////////////////////////////////////



บทสัมภาษณ์กลุ่มพี่เลี้ยงเด่น โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศของกุ้งเคย  ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล


ผู้ให้สัมภาษณ์

  1. ราตรี โสสนุย อายุ 42 ปี 
  2. ดวงพร ชุมพลวงค์ อายุ 46 ปี
  3. นันทิตา โส๊ะตา อายุ 45 ปี
  4. สุนิสา โสสนุย อายุ 32 ปี
  5. อภัสนันต์ โสสนุย อายุ 30 ปี
  6. ดวงจิต รวนเร อายุ 42 ปี
  7. สุทิพย์ ผิวดี อายุ 37 ปี

อาชีพ แม่บ้าน และสมาชิกสภาองค์กรชุมชน



ถาม : อยากรู้ว่าแต่ละคนคะ ก่อนที่จะเข้ามาทำโครงการ เคยทำโครงการเกี่ยวกิจกรรมพัฒนาชุมชนมาก่อนหรือเปล่าคะ

ก๊ะหวอ : เมื่อปี 58 เคยทำเกี่ยวกับการอนุรักษ์ชุมชน ร่วมกับ สกว .ร่วมกับบังเชษฐ์และกลุ่มเยาวชน ตอนนั้นโครงการ Active Citizen พวกก๊ะไม่ได้เข้าเพราะเด็กโรงเรียนเปิดเทอม พอมาช่วงโครงการระยะสองนี้ ก็มีเยาวชนรุ่นที่อยู่แถวบ้านที่ไม่ได้ไปเรียนข้างนอก บังเชษฐ์ก็ติดต่อมาอีกก็ไปชวนเด็กๆ มา


ถาม : แล้วก๊ะรู้จักพวกพี่เชษฐ์ได้อย่างไร

ก๊ะหวอ : เคยทำเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรของชาวประมงพื้นบ้านที่ตำบลขอนคลานมา ตั้งแต่ปี 43 ร่วมกับประมงพื้นบ้านทั้งจังหวัดค่ะ พื้นที่ตรงนี้เป็นเขตอนุรักษ์เครื่องมือทำลายล้างสัตว์ทะเล ชาวบ้านร่วมมือช่วยกันปราบปราม แล้วบังเชษฐ์เริ่มเข้ามาทำงานร่วมกับ สกว. ช่วงราวปี 47-48 ในโครงการสึนามิ เดิมเราทำงานสัมพันธ์กันอยู่แล้วกับทีมของ สกว. เรื่องการปราบปรามประมงพื้นบ้าน


ถาม : อยากให้ก๊ะช่วยเล่าถึงเรื่อง ชุมชนให้ฟังหน่อย เกี่ยวกับประมงพื้นบ้านว่าชุมชนของเรา มีจุดเด่นยังไง

ก๊ะหวอ : มีการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล มีแกนนำที่เป็นชาวบ้านและผู้นำหมู่บ้าน ร่วมมือประสานงานกับหน่วยงานข้างนอก แต่ก่อนทางอำเภอ ทางตำรวจ ก็ยังร่วมมือ ชาวบ้านเป็นผู้นำเป็นแกนหลักมาทำงานร่วม ทำเรื่องการอนุรักษ์มาทุกปี เช่น การเข้าค่ายเยาวชนเรื่องทะเล และก็มีการทำโครงการคุ้มครองแหล่งผลิตอาหารภายใต้งานสภาองค์กรชุมชน หลังจากมีการรวมกลุ่มประมงพื้นบ้านเมื่อปี 51 เราก็ตั้งสภาองค์กรชุมชนขึ้นมา เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ทะเลถือว่าเป็นส่วนหนึ่งชีวิต เป็นธนาคารของคนขอนคลานเลย และยังเป็นอาชีพหลักของคนที่นี่


ถาม : ถ้าเราย้อนไปตั้งแต่ปี 43 ตอนนั้นมันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในชุมชนเหรอคะเราถึงได้มีโครงการต่างๆเข้ามาเกี่ยวกับการอนุรักษ์คะ

ก๊ะหวอ: เมื่อก่อนปีญหามีเยอะ ทรัพยากรลดน้อยลง ชาวบ้านหากินไม่ได้ เพราะว่ามีอวนลาก อวนรุน ซึ่งเป็นเครื่องมือทำลายล้างเข้ามา จึงคิดริเริ่มกับชาวบ้านตอนนั้นต่อต้านเครื่องมือทำลายล้างจนประสบผลสำเร็จใน ปี 45


ถาม : อวนลากอวนรุนเป็นของใครคะ

ก๊ะหวอ: เป็นของเถ้าแก่ประมงพาณิชย์ที่มาจากต่างจังหวัด เข้ามาทำมาหากินจนน่าใจหาย หน้าทะเลในอ่าวบ้านเรา


ถาม : ถ้าเราย้อนเวลาไปตอนนั้นปี 43 มันก็ 20 กว่าปีที่แล้ว พวกก๊ะก็เป็นเยาวชน คำนวณอายุให้เรียบร้อยแล้ว

ก๊ะหวอ: ใช่ ตอนนั้นอยู่ปี 2


ถาม : ตอนนั้นพวกเราอินกับเรื่องนี้มากขนาดไหนคะ เพราะว่าตอนนั้นก็ยังเป็นเยาวชนอยู่เลย

ก๊ะหวอ : รุ่นแรก คือ ทีมพวกพ่อแม่เริ่มทำงาน เราก็ตามหลังเขาเพื่อช่วยเรื่องข้อมูลต่างๆ มันก็ซึมซับอยู่ในนั้น เป็นคนทำมาหากินเองในทะเลด้วย ก็เลยรู้ว่ามันลำบากเนื่องจากทรัพยากรมันลดน้อยลง


ถาม : ก็คือเราก็เติบโตมาในครอบครัวที่ทำประมงใช่ไหมคะ

ก๊ะหวอ: ใช่


ถาม : เราก็ได้ช่วยพ่อแม่ เราก็ได้เห็นอยู่ว่ามันเกิดผลกระทบอะไรขึ้นซึ่งผู้ใหญ่ในชุมชน ย้อนไปตอนโน้นนะ ตอนที่เรายังอายุ 20 ต้นๆ เค้าก็สนใจเรื่องการอนุรักษ์พวกนี้ด้วยแล้วใช่ไหม

ก๊ะหวอ : ใช่ค่ะ


ถาม : ในมุมมองของตัวเองในตอนนั้นเป็นเยาวชนอยู่ เรามีความคิดเห็นอย่างไรบ้างที่เข้ามาร่วมเดินตามหลังพ่อแม่ ทำเรื่องการอนุรักษ์ คิดว่ามันยากไหมคะ

ก๊ะหวอ: ตอนเป็นเด็กเราก็รู้สึกว่ามันยาก ยากคือกับการทำงานกับผู้ใหญ่ ทำงานอนุรักษ์ซึ่งเสี่ยงต่อความขัดแย้งกับพวกนายทุน บางครั้งพอค่ำๆ ต้องออกเรือออกทะเลไปไล่พวกเขา บางครั้งต้องประสานงานหน่วยงานมาไล่มาจับ ถ้าจับได้ลากขึ้นหาด อุปกรณ์เรือเอาขึ้นหาดทั้งหมดไม่คืนให้เจ้าของ ตั้งให้เปื่อยอยู่ที่ชายหาด


ถาม : ก็คือสถานการณ์ก็ค่อนข้างดุเดือด 20 ปีที่แล้ว

ก๊ะหวอ : ใช่ค่ะ


ถาม : หลังจากนั้นก็คือชุมชนก็ทำมาอย่างต่อเนื่องเหมือนที่ก๊ะบอกว่าทำสำเร็จกันในปี 45

ก๊ะหวอ: ใช่ค่ะ ชาวบ้านและแกนนำทุกหน่วยงาน เริ่มเห็นคุณค่าก็เป็นกำลังเสริมกับพวกชาวบ้านออกไปไล่จับเรือผิดกฎหมาย


ถาม : ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมาเรารู้สึกอย่างไรกับชุมชนกับทรัพยากรในบ้านของเราบ้างคะ

ก๊ะหวอ : รู้สึกหวงแหนทรัพยากรของเรา คนทำงานเหมือนก๊ะนี้เป็นรุ่นที่ 3 แล้ว หลังจากรุ่นแรก ก็มีรุ่นของก๊ะที่ต้องพยายามให้ความรู้กับเยาวชนรุ่นใหม่ เวลาปิดเทอมมีจัดค่ายเยาวชนเด็กคนรักเล เพื่อเสริมทักษะให้รุ่นเด็กเยาวชนได้เข้าใจวิถีชีวิตของบรรพบุรุษตั้งแต่ต้นมา


ถาม : ในความคิดเห็นของก๊ะ การที่เราดึงเด็กและเยาวชน เข้ามามีส่วนร่วมด้วยแม้กระทั่งย้อนเวลาไป 20 ปีที่แล้ว ก๊ะก็ยังเป็นเยาวชนมีส่วนร่วม ก๊ะ ก็มองเห็นว่ามันเป็นงานที่เสี่ยง การที่เราดึงเด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยมันสำคัญ อย่างไรคะ

ก๊ะหวอ : งานอนุรักษ์รุ่นพ่อแม่เป็นงานที่เสี่ยงแต่เดี๋ยวนี้เป็นงานที่ต้องคุยแลกเปลี่ยนกัน ต้องทำงานร่วมกัน ไม่ได้ทำงานแบบปะทะเหมือนแต่ก่อน เราต้องปรับทัศนคติเด็กรุ่นใหม่ไปเรื่อยๆ มีการประเมิน ทำงานประสานคุยกันในหลักเกณฑ์และเหตุผลที่อยู่ร่วมกันได้


ถาม : แต่เราก็มองว่าผู้ใหญ่ไม่กีดกันให้เด็กเข้ามาร่วมเป็นเรื่องที่สำคัญถูกไหม

ก๊ะหวอ: ใช่


ถาม : ถ้านึกถึงสมัยก่อนที่ยังเสี่ยง ถ้าพ่อแม่ก๊ะไม่ให้ก๊ะเข้ามาร่วมด้วย ก๊ะคิดว่าชุมชนเราจะเป็นเหมือนทุกวันนี้ไหมคะ

ก๊ะหวอ :ในความรู้สึกของพ่อแม่ ไม่อยากให้ลูกเข้ามายุ่งเกี่ยวอยู่แล้ว แต่มันเป็นนิสัยของเราเองด้วย เพราะเราอยู่กับเขา อยู่บ้านเดียวกัน เรารู้ถึงผลกระทบก็ต้องเข้ามา ถึงเขาห้าม เราพยายามหาทางเข้าไปให้ได้ ช่วยสักเรื่องสักอย่างอะไรก็ได้ เราเห็นการกระทำแต่ละอย่างทุกวันๆ มันต้องเป็นของเราด้วย มันก็เป็นงานของเราด้วย


ถาม : มันเป็นพื้นฐานอยู่ในตัวเรา เราก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเราด้วยใช่ไหมคะ

ก๊ะหวอ : ใช่


ถาม : เราก็ทำมาจนมีโครงการActive Citizen เข้ามา ตอนนั้นก๊ะตัดสินใจอย่างไรถึงได้เข้ามาร่วมโครงการคะ

ก๊ะหวอ : ก่อนที่ Active Citizen เข้ามา เรามีการจัดค่ายเยาวชน 2-3 ครั้งโดยมีพี่เชษฐ์ มีทีม สกว. มาเป็นพี่เลี้ยงกับเด็กเรื่องทะเล เรื่องอาชีพ อุปกรณ์การทำประมง เพื่อให้เด็กเข้าใจวิถีชีวิตชาวประมงที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตัวเอง เพราะเด็กสมัยนี้ถูกดึงดูดให้ไปสนใจเรื่องอื่นที่ไกลตัวมากขึ้น กระบวนการตรงนี้เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่จะนำเด็กเข้ามาทำงานอนุรักษ์ต่อ


ถาม : เหมือนเรามีฐานมาก่อนแล้ว

ก๊ะหวอ: ใช่ เพราะตอนนี้เราก็พยายามเป็นตัวอย่างให้พ่อแม่ของเด็กเห็นว่า เราทำอะไรอยู่ เวลาเราชวนพ่อแม่เด็กจะได้ตัดสินใจได้ง่ายว่าการที่เอาเด็กเข้ามา ไม่ได้มาทำอะไรผิดๆ


ถาม : ในมุมมองของก๊ะที่ทำโครงการทำกิจกรรมอะไรมาหลายอย่าง ก๊ะมองว่าโครงการ Active Citizen นี้ต่างจากโครงการอื่นๆ อย่างไร บ้างคะ

ก๊ะหวอ: Active Citizen เป็นโครงการที่ให้เด็กพยายามทำเอง กล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ แต่โครงการอื่นมีหน่วยงานเข้ามา แล้วเขาก็กลับไป โดยที่เด็กไม่ได้คิดหรือทำอะไรต่อ จบเลิกงานแค่เสร็จโครงการ


ถาม : แล้วในกลุ่มแม่บ้านของเรา มีตั้ง 7 คนเป็นทีมพี่เลี้ยง เรารวมกลุ่มกันมาได้อย่างไรคะ

ก๊ะหวอ: ภายใต้งานที่ทำทุกโครงการเราทำในภาพรวมทั้งตำบลหมดเลย ไม่แยกกัน ไม่แยกว่าหมู่ไหนทำอะไร เพราะตำบลขอนคลานมีแค่ 4 หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านเล็กๆ พี่เลี้ยง 7 คนตรงนี้เลยเป็นทีมงานที่ทำงานด้วยกันอยู่แล้ว  ความสัมพันธ์ของเรา 7 คนนี้เป็นทุกอย่าง ความสัมพันธ์เหนียวแน่น ไม่ว่าเรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องเที่ยว พวกเราคุยแชทกันในกลุ่มตลอดเหมือนเป็นครอบครัว ไปไหนไปกันเป็นทีม หิวก็ทำกับข้าวกินด้วยกัน อย่างเช่นวันนี้ก็ทำบัวลอยมากินกัน มานั่งรับลงทะเบียนสมัครกลุ่มอาชีพของสมาคมประมงพื้นบ้าน เป็นร้านค้าของสมาคมเพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้ คิดว่าจะรับซื้อและแปรรูปอาหารทะเลของชาวบ้าน แล้วเอามาส่งที่นี่ตอนนี้กำลังนั่งรับสมาชิก อยู่ที่ทำการสภาฯ หมู่ 4


ถาม : ทำในนามสภาองค์กรชุมชนหรือคะ

ก๊ะหวอ: ค่ะ ภายใต้สภาองค์กรชุมชน สภาฯ คัดเลือกทรัพยากร เป็นประเด็นงานภายใต้สภา เช่น ทรัพยากร เยาวชน สวัสดิการ ภัยพิบัติ สุขภาพ เป็นงานที่เคลื่อนอยู่ในตำบลอยู่แล้ว ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ด้วย เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)


ถาม : แล้วพวกเราทุกคนมาเป็นสภาองค์กรชุมชนกันได้อย่างไรคะ เราอาสาสมัครหรือมีวิธีการคัดเลือกอย่างไร

ก๊ะหวอ : ตอนแต่งตั้งสภาองค์กรชุมชน พวกเราเป็นตัวแทนของกลุ่มองค์กร มานั่งเป็นกรรมการสภาองค์กรชุมชน


ถาม : ตัวแทนของแต่ละกลุ่มองค์กรคัดเลือกมาจากอย่างไงคะ สวยเก่ง อะไรแบบนี้

ก๊ะหวอ: กลุ่มองค์กรต่างๆ ประสานนัดแนะกัน แล้วมาประชุมร่วมกัน จากนั้นให้กลุ่มองค์กรคัดเลือกกันเองว่าใครสามารถนั่งในสภาองค์กรชุมชนได้ แต่ละคนก็มาจากคนละหมู่บ้าน


ถาม : ในกลุ่มของเราที่เป็นพี่เลี้ยงของโครงการ ถ้าดูตามอายุแล้ว ก็ไม่เป็นรุ่นเดียวกันสักทีเดียว ตรงนี้เราถูกจริตอะไรกันถึงมาทำงานด้วยกันได้

ก๊ะหวอ : ก๊ะอาวุโสกว่าคนอื่น แต่ถึงรุ่นเด็กกว่า เราคุยและปรึกษากันได้ อายุไม่เป็นอุปสรรค เพราะมีเป้าหมายการทำงานเดียวกัน


ถาม : มีข้อดีอย่างไรบ้างคะที่เรามีความหลากหลายในอายุมาทำงานด้วยกัน

ดวงพร : ถึงอายุหลากหลาย แต่เราทำงานเข้ากันได้ ข้อดีคือเราได้รู้ว่าคนอายุช่วงวัยนี้พฤติกรรมเป็นอย่างไร นิสัยความรู้สึกเป็นอย่างไร เราได้รู้ความรู้สึกนึกคิดของคนแต่ละรุ่น เอามาปรับใช้กับเด็กในชุมชนได้


ถาม : โครงการในปีแรกใน Active Citizen เป็นโครงการเกี่ยวกับอะไรนะคะ ที่เข้ามาทำกันได้ครึ่งทาง

ก๊ะหวอ: โครงการในปีแรกยังไม่ได้เลือกเลยว่าทำโครงการอะไร แต่มันทำมาจนถึงช่วงที่ให้เด็กได้รวบรวมข้อมูล ให้เด็กมาเปิดบัญชีแล้วมีปัญหาช่วงโรงเรียนเปิดเทอมพอดี เพราะเด็กช่วงวัยนั้นเป็นเด็ก ม.ปลาย ส่วนมากพอโรงเรียนเปิดต่างคนต่างย้ายไปเรียนกันคนละโรงเรียน คนละนอกพื้นที่ ดังนั้นการร่วมกลุ่มกันประชุมมันก็เลยลำบาก


ถาม : แล้วมีเหตุผลอะไรที่ทำให้เราถึงมาทำครั้งที่ 2 เมื่อได้โอกาส

ก๊ะหวอ : เราอยากทำและคิดว่าทำได้ จากประสบการณ์ครั้งแรกเรารู้แล้วว่าต้องทำกับเด็กรุ่นอื่น เพราะถ้าเป็นเด็กมัธยมปลาย เขาออกไปนอกพื้นที่อีก โครงการในระยะที่สองเลยเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กประถมปลายและมัธยมต้น


ถาม : แล้วโครงการในปีที่ 2 ฟื้นฟูระบบนิเวศกุ้งเคย ก๊ะชวนน้องๆ คิดโครงการนี้มาได้อย่างไรคะ

ก๊ะหวอ: เราให้เด็กคิดว่าทรัพยากรในบ้านเรามีอะไรบ้าง วิเคราะห์กันว่าที่ทรัพยากรลดลงไปเป็นเพราะอะไร เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรนอกชายฝั่ง ผู้ใหญ่ก็ทำกันอยู่แล้ว เลยให้เด็กๆ คิดว่าแล้วถ้าในชุมชนบริเวณใกล้ๆ ป่าชายเลน จะทำอะไรได้บ้าง มีสัตว์น้ำอะไรบ้าง อยากอนุรักษ์สัตว์น้ำวัยอ่อนริมป่าชายเลนกันไหม


ถาม : เราใช้วิธีการอย่างไร ชวนให้น้องๆ คิดจนได้มาเป็นนิเวศกุ้งคะ

ก๊ะหวอ : กระตุ้นให้เด็กๆ คิด ถึงอาชีพของคนในหมู่บ้าน เขาเห็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทำกันเป็นทีม เมื่อก่อนเคยทำกะปิกัน หากุ้งเคยกันตามชายหาด แต่พอไปดูทรัพยากรที่ได้มาตอนนี้ บางอย่างเอามาจากข้างนอก แล้วทรัพยากรทางทะเลในหมู่บ้านมันหายไปไหน แต่ก่อนมันเคยมี


ถาม : อยากรู้ว่ามีเรื่องอะไรอีกบ้างเท่าที่จำได้คะ แล้วก็จุดไหนที่ทำให้เค้าตัดสินใจทำเรื่องนี้

ตอบ: ระบบนิเวศป่าชายเลน


ถาม : ระบบนิเวศป่าชายเลน

ตอบ : เรื่องระบบนิเวศป่าชายเลน มันกว้างเกิน แล้วเป็นประเด็นที่ซ้ำ


ถาม : น้องกลุ่มนี้ เรารู้จักเขามาได้ไง

ก๊ะหวอ: เป็นลูกเป็นหลาน แกนนำก็เป็นลูกของพี่เลี้ยงแล้วชวนเพื่อนมา ตอนที่เราชวนเด็กๆ ก็อยากมาทำ ยิ่งเป็นเพื่อนกันก็อยากมาทำกิจกรรมด้วยกัน เขาชอบ


ถาม : ในบทบาทของพี่เลี้ยงในการโครงการคิดว่ามันต่างจากการดูแลโครงการอื่นๆอย่างไรบ้างคะ

ก๊ะหวอ : แตกต่างมาก การดูแลเด็ก การเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ต้องทำตัวเหมือนเด็ก ต้องเข้าใจความรู้สึกเด็ก ว่าเด็กคิดอะไรอยู่ เด็กพอใจไหม พี่เลี้ยงไม่แสดงกริยา ความไม่พอใจให้เด็กเห็น เด็กเล่นก็ต้องเล่นด้วย ต้องรู้ด้วยว่าเด็กต้องการอะไร


ถาม : มันขัดกับธรรมชาติของตัวเราไหมคะ

ก๊ะหวอ: ขัดมาก


ถาม : การเป็นพี่เลี้ยง Active จะไม่เหมือนการเป็นพี่เลี้ยงในโครงการอื่นๆ ที่เคยทำเพราะเราต้องทำตัวให้เหมือนเด็กเข้าใจความรู้สึกเด็ก เด็กเล่นก็ต้องเล่นด้วย แล้วก็ต้องไม่แสดงอารมณ์โกรธกับเด็กมันขัดกับธรรมชาติของตัวเราไหม อยากให้ทุกคนสะท้อนตัวเองว่ามันขัดกับธรรมชาติในตัวเราอย่างไรบ้าง แต่ละคนมีบุคลิกนิสัย เดิมอย่างไรบ้าง

สุทิพย์: กลมกลืนกับเด็กเลยค่ะ


ถาม : ยังไงคะ

สุทิพย์ : จะทำตัวกลมกลืนกับเด็กเลย ไปได้กับเด็กทุกสถานการณ์ ทำไปตามที่เด็กอยากทำ เพราะอายุเด็กกับลูกตัวเองไล่เลี่ยวกัน เรารู้ว่าเราต้องตามเขาให้ทัน


ถาม : งั้นก๊ะ พอจะบอกได้ไหมคะว่า แล้วถ้าเราเป็นแบบไหน เด็กจะไม่ชอบ

ก๊ะหวอ : เราไม่ควรจ้ำจี้จ้ำไชเด็ก ให้เขาพูดออกมาก่อน เราเป็นคนรับฟัง


ถาม : อันนี้เรารู้ได้อย่างไรคะ หรือว่ามันมีประสบการณ์ อะไรมาก่อนหรือว่าอย่างไรคะ

ก๊ะหวอ : พบกับลูกตัวเองค่ะ


ถาม : มีเหตุการณ์เล่าให้ฟังไหมคะ ให้ภาพเล่าให้ฟังหน่อยว่าอย่างไรบ้าง

ก๊ะหวอ: ถ้าเราสั่งเขาเยอะ เด็กเขาจะนิ่งฟัง แต่หลังจากนั้นเขาจะใช้อารมณ์ด้วยการเดินออกไปเลย


ถาม : แล้วเราล่ะคะ พอเค้าเป็นอย่างนั้นแล้วเราเป็นอย่างไรต่อ

ก๊ะหวอ : เราก็นิ่ง ถามตัวเด็กกลับไปว่าทำไม


ถาม : น้องๆ เยาวชนมีกันประมาณกี่คน

ก๊ะหวอ: ทั้งหมด 10 กว่าคน ประมาณ 12-13 คน ที่เพิ่มมา ช่วงหลังเขาเห็นเพื่อนทำ เขาก็ตามมาด้วย หลายคนในช่วงกิจกรรมพอเห็นเพื่อนทำก็มีเข้ามาใหม่ ช่วงสิ้นสุดโครงการช่วงแรกๆ ทำ 12- 13 คน เขาไปไหน เขาก็ไปกันหมด


ถาม : มีทั้งผู้หญิงและผู้ชายใช่ไหมคะ

ก๊ะหวอ : มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน


ถาม : ส่วนใหญ่เขารวมตัวกันที่ไหนคะ

ก๊ะหวอ : ส่วนใหญ่เขารวมตัวกันที่บ้าน อาคารเอนกประสงค์ หมู่ 1 ของเรานี้แหละ


ถาม : พี่เลี้ยง 7 คนแบ่งงานกันอย่างไรคะ ว่าแต่ละครั้งดูแลส่วนไหน

ก๊ะหวอ : ช่วยๆ กัน ตัวก๊ะมีหน้าที่ตามเด็ก แนะนำเด็กว่าในการทำงานร่วมกันแต่ละครั้งจะแบ่งงานกันอย่างไร ถ้าต้องพาเด็กไปประชุมข้างนอก ทางส่วนกลางอนุญาตให้พี่เลี้ยงไป 2-3 คน ดูว่าคนไหนว่างวันไหน บางครั้งเราก็ไปกันทันทีทั้ง 7 คน ทั้งๆ ที่เขาบอกให้ไปได้ 3 คน เราไม่ได้สนใจว่าจะได้ค่าเดินทาง ได้ค่าตอบแทนไหม ถือข้าวห่อกันไป ไม่รบกวนงบประมาณจากส่วนกลาง แต่เราอยากไปร่วมด้วยช่วยกันค่ะ เพราะบังเชษฐ์รู้อยู่แล้วว่าทีมนี้เป็นอย่างไร


ถาม : ในเมื่อไปกัน 3 คนก็ได้ทำไมกะต้องไปกันหมด มันยุ่งยากกว่าไหมคะ

ก๊ะหวอ : ไม่ยุ่งยากหรอกคะ เพราะว่ามันว่าง การที่ไปกัน 3 คน โอเครับรู้แล้ว 3 คน แต่ปกติเราไม่ค่อยได้เจอกัน ไปประชุมอะไรมาบ้าง ต้องมาสื่อสารกันอีก ทางที่ดีไป 7 คนก็ได้รับรู้เท่ากันจะได้ไม่ต้องพูดอะไรมากมาย ส่วนใหญ่ว่างด้วยแหละ


ถาม : สรุปคือหนึ่งก็ว่างด้วย สองก็คืออยากเที่ยวด้วย แล้วก็สามให้เกี่ยวกับงานนิดหนึ่งคือ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาบอกเล่ากันอีกเพราะไม่ค่อยเจอกันใช่ไหม

ก๊ะหวอ : ใช่ ไม่งั้นต้องมานั่งเล่ากันจนดึกดื่น


ถาม : แต่ถ้าไปไม่ครบกันจริงๆ จะกลับมาสื่อสารงานกันอย่างไร

ก๊ะหวอ : ไปนั่งร่วมกลุ่มกัน คุยกัน นัดพบกันที่บ้านใครสักคนแล้วก็นั่งพูดคุยกัน


ถาม : ถ้าเค้าให้ไปแค่ 3 คน แล้วคนที่เหลือไม่ไป แล้วไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าเหรอคะ

ก๊ะหวอ : มันก็ดีคะ แต่ไม่อยากทำ พวกก๊ะเวลาใครไปประชุมที่ไหน มารับเรื่องประชุม วันนี้มีประชุมที่นี่ใครจะไปประชุมด้วยบ้าง เรามาเช็คเวลาก่อนว่า คนนี้ไปงานนั้นนะ ใครจะไปด้วยบ้างเริ่มทำตัวให้ว่าง พอคนนั้นจะไปประชุมเราต้องทำตัวให้ว่าง บอกตัวเองกับที่บ้านให้เรียบร้อย เพื่อที่จะได้ไปกับเพื่อน


ถาม : เราก็รู้สึกว่าเราอยากมีส่วนร่วมกับตรงนี้ใช่ไหมคะ

ก๊ะหวอ: ค่ะ


ถาม : แล้วในส่วนที่ต้องทำงานกับน้องๆ คะ พวกก๊ะต้องทำอะไรกันอีกบ้างคะ นอกจากที่เล่ามาแล้ว มีชวนคุยกันในตอนแรกว่าอยากทำอะไรแล้วหลังจากนั้นขั้นตอนการทำงานของโครงการอื่นๆ เราได้ทำอะไรบ้าง

ก๊ะหวอ :ในการประชุมเตรียมงานก่อนลงพื้นที่ ต้องให้เด็กตั้งโจทย์ไปก่อนว่าอยากได้อะไรกลับมา เรื่องอะไรบ้าง ให้เด็กคิดว่าการลงไปสัมภาษณ์หาข้อมูลวันนี้ เขาจะได้คำตอบเรื่องอะไร เช่น การหากุ้งต้องออกไปช่วงเวลาไหน ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ช่วยกันคิดลงแผ่นชาร์ตหรือสมุดจด แต่ละคนต้องถือสมุดของตัวเองไป เราแนะนำน้องๆ ว่าสามารถไปเก็บข้อมูลจากใครได้บ้าง บอกชื่อไปว่าอยู่ที่ไหน อยู่หมู่บ้านไหน ให้เด็กไปสัมภาษณ์ พอไปสัมภาษณ์จริงๆ เขาจะรู้หน้าที่ว่าใครเป็นคนถาม ใครเป็นคนบันทึก หรือ ถ่ายวิดีโอ


ถาม : มันต้องหักห้ามใจเพื่อไม่ให้ออกความคิดเห็นไหมคะ เพราะเราก็เรียนรู้มาว่าให้น้องคิดเองพี่เลี้ยงอย่าไปช่วยเยอะ

ก๊ะหวอ: กว่าพี่เลี้ยงจะมาทำงานกับน้องๆ ทีมพี่เลี้ยงและทีมบังเชษฐ์ก็ต้องเอาเราไปอบรมก่อน อบรมการอยู่กับเด็ก


ถาม : การอยู่กับเด็กเขาบอกว่าอย่างไรบ้างคะ

ก๊ะหวอ : การทำงานกับเด็กต้องยิ้ม ต้องพูดเพราะๆ ไม่ทำหน้ายักษ์ใส่เด็ก ทำตัวเป็นนางฟ้าอย่าทำตัวเป็นนางมาร


ถาม : แล้วเมื่อก่อนเราเป็นอะไรเราเป็นนางฟ้าหรือว่านางมาร

ก๊ะหวอ: เป็นครบเลย แล้วแต่สถานการณ์ มันต้องดูสถานการณ์ว่าต้องปรับตัวอย่างไง


ถาม : แล้วคำแนะนำที่เราได้ไปเรียนรู้มาจริงๆ แล้วเราใช้ได้ผลไหมคะ

ก๊ะหวอ : ใช้ได้ผลค่ะ บางเรื่องเราก็ได้ปรับทัศนคติตัวเองไปเลย ทั้งกับเด็กแล้วก็นำมาปรับในครอบครัว พฤติกรรมที่เห็นตอนที่อยู่กับลูก การอบรมพี่เลี้ยงเป็นความรู้ที่ดีมาก แนะนำเรื่องการพูด การคุย การสังเกต การช่วยแก้ไขเมื่อเด็กเจอปัญหา


ถาม : ในกิจกรรมน้องๆ ต้องไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูลด้วยใช่ไหมคะ ตรงนี้ก๊ะช่วยอะไรกันบ้าง

ก๊ะหวอ : เราแนะนำน้องๆ ว่าสามารถไปเก็บข้อมูลจากใครได้บ้าง บอกชื่อไปว่าอยู่ที่ไหน อยู่หมู่บ้านไหน ให้เด็กไปสัมภาษณ์ พอไปสัมภาษณ์จริงๆ เขาจะรู้หน้าที่ว่าใครเป็นคนถาม ใครเป็นคนบันทึก หรือ ถ่ายวิดีโอ


ถาม : บรรยากาศในการประชุม สมมุติว่าเราจะเตรียมตัวเรื่องไปสัมภาษณ์ผู้รู้ ก๊ะทำอย่างไรบ้าง ในการประชุมเตรียมงาน

ก๊ะหวอ : ในการประชุมเตรียมงานก่อนลงพื้นที่ ต้องให้เด็กตั้งโจทย์ไปก่อนว่าอยากได้อะไรกลับมา เรื่องอะไรบ้าง ให้เด็กคิดว่าการลงไปสัมภาษณ์หาข้อมูลวันนี้ เขาจะได้คำตอบเรื่องอะไร เช่น การหากุ้งต้องออกไปช่วงเวลาไหน ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ช่วยกันคิดลงแผ่นชาร์ตหรือสมุดจด แต่ละคนต้องถือสมุดของตัวเองไป


ถาม : มีการแบ่งหน้าที่กันไหมคะในแต่ละครั้ง

ก๊ะหวอ : มีคะ ถ้าใครมาเขาก็แบ่งว่าใครจะทำอะไร ใครบันทึก เก็บภาพ ใครเป็นคนสัมภาษณ์


ถาม : แล้วเท่าที่เราดูผลของการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ก๊ะได้ไปด้วยไหมคะเวลาไปสัมภาษณ์

ก๊ะหวอ :ไปด้วยค่ะในฐานะพี่เลี้ยง แล้วก็แอบถ่ายอยู่ข้างนอก เด็กก็ถ่ายไปตามประสาเด็ก เราก็ถ่ายเด็กอีกชั้นหนึ่ง


ถาม : แล้ววันแบบนี้พวกก๊ะแบ่งกันอย่างไรเพราะว่า มีกันตั้ง 7 คน

ก๊ะหวอ: อันนี้ใครว่างตอนไหนก็นัดเด็ก แล้วก็นัดคนให้ข้อมูล ใครว่างก็ไป ว่างก่อนก็ไปก่อน แต่ส่วนมากก็ไปกันทั้งทีม


ถาม : เราประสานงานผู้รู้ให้หรือว่าน้องๆ เค้าประสานเองคะ

ก๊ะหวอ : ขั้นตอนแรกคนในหมู่บ้านเราก็รู้จักหมด เราก็ไปคุยไว้ก่อนว่าจะมีเด็กมาสัมภาษณ์เรื่องการทำเคย การหากุ้งเคยนะ เวลาไหน วันไหน โดยที่เราไม่ได้บอกเด็กว่าไปเกริ่นไว้แล้ว


ถาม : ทำไมเราถึงเตรียมไว้ก่อนเปิดทางนิดหนึ่ง

ก๊ะหวอ: ถ้าไม่เช่นนั้นเราจะไม่เจอผู้ให้ข้อมูล เพราะวิถีชีวิตของเขา เขาก็ต้องไปทำมาหากิน พอเราไปคุยไว้เขาก็ทำตัวให้ว่าง เพราะรู้อยู่แล้วว่าเด็กจะมาวันนี้เขาก็จะคอยอยู่บ้านเลย


ถาม : ก๊ะพอจะชื่อผู้รู้ได้ไหมคะ ว่ามีกันกี่คน ที่น้องๆได้ไปคุยด้วย

ก๊ะหวอ: มี 2 คน ชื่อมณี มอฮิยะ เป็นคนหาทรัพยากรกุ้ง ส่วนอีกคนชื่อ สมชัย โสสนุย เป็นคนทำอุปกรณ์หากุ้ง สอนเด็กทำ คำรณ คุ้นเคย คนหนึ่งอยู่หมู่ 2 อีกคนอยู่หมู่ 1


ถาม : ทำไมถึงต้องเป็น 2 คนนี้คะ เขามีจุดเด่นอะไรบ้าง

ก๊ะหวอ : คือเขาเป็นคนประกอบอาชีพนี้มาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นคนเก่าคนแก่ เขารู้ดีว่า ช่วงไหนไปหากุ้งได้หรือไม่ได้ แและถนัดเรื่องการทำอุปกรณ์


ถาม : แล้วน้องๆ เขาก็ต้องไปเรียนทำอุปกรณ์ด้วยใช่ไหมคะ

ก๊ะหวอ: ค่ะ


ถาม : คือในทุกๆกิจกรรมที่เขาไปทำในฐานะพี่เลี้ยงต้องไปด้วยทุกครั้งเลยเหรอคะ

ก๊ะหวอ : ไปด้วยทุกครั้ง ตามไปดู บางครั้งถ้ามีอะไรผิดพลาด เราก็แนะนำน้องๆ พอมีกิจกรรมลงเรือ เราก็ได้ดูความปลอดภัยให้เด็กๆ


ถาม : เหมือนจำได้ว่าน้องเล่าให้ฟังว่าตอนไปลงเรือ แต่ละครั้งก็ใช้เรือก็คนละลำกันใช่ไหมคะ ถ้าหนูจำไม่ผิด

ก๊ะหวอ : ขับเรือ 2 ลำแบ่งกันไป


ถาม : อย่างนี้ความสัมพันธ์พี่เลี้ยงกับน้องๆ ถ้าให้ก๊ะสะท้อนสนิทกันขนาดไหนคะ เพราะว่าเด็กๆ บางทีเขาก็เกร็งที่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย

ก๊ะหวอ: สนิทกันมาก คือเด็กเล่นได้ บอกแล้วว่าอายุเท่ากับเด็กเลยเล่นได้ทุกอย่าง เด็กไม่เคยคิดว่า ก๊ะเป็นคนสูงอายุ อย่างเดียวเด็กไม่ตบหัวเท่านั้นแหละ อย่างอื่นได้หมด


ถาม : อยากให้ช่วยแนะนำว่าเรามีวิธีการอย่างไร วางบทบาทให้สนิทกับเด็กแต่ว่าเด็กก็ยังให้ความเคารพ

ก๊ะหวอ : เรารู้ว่าเด็กอยากทำอะไร คิดอย่างไรเรารู้สึกได้ เวลาเราเล่นเราก็เล่น เวลาประชุมวิชาการพยายามคุยให้เด็กเข้าใจ พอนอกกิจกรรมเราก็เปลี่ยนเป็นปกติ หยอกกันบ้าง เด็กวิ่งไล่จับ เราก็วิ่งไล่จับด้วย


ถาม : เมื่อก่อนเราเป็นแบบนี้ไหมคะ ก่อนมาทำโครงการนี้

ก๊ะหวอ: เมื่อก่อนเราไม่ได้อยู่กับเด็กสักเท่าไหร่ แต่พอทำโครงการนี้ผ่านการอบรมมา เราก็ไม่ได้มาจ้ำจี้จ้ำไชกับเด็ก


ถาม : การที่เราได้ทำโครงการที่ได้อยู่กับเด็ก แต่ละคนเรารู้สึกเป็นอย่างไรบ้างคะ

ก๊ะหวอ : เราสนุกไปกับเด็ก มีความรู้สึกดีเวลาขับรถผ่าน เด็กก็ทักทายตลอด เขากล้าพูดกล้าคุยด้วย ก็มีหลายเรื่องๆ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนี้ เด็กกลุ่มอื่นเราก็ปฏิบัติเหมือนกับเด็กพวกนี้ ไม่ให้เขาน้อยใจเสียใจ


ถาม : ปีนี้มันมีปัญหาอะไรไหมคะหรือมีความยากอะไรไหมในการทำโครงการ

ก๊ะหวอ : ปัญหาของเด็กประถมกับเด็กมัธยม เวลาทำงานต้องทำใจให้ได้ เพราะเด็กอยู่ไม่นิ่ง มันเหมือนจับปูใส่กระด้ง


ถาม : ต้องทำใจเรื่องความเหนื่อยกาย ใช่ไหม

ก๊ะหวอ :ใช่ ต้องรับให้ได้ การทำงานเป็นกลุ่ม กระจัดกระจายเราต้องตาม ไปคุยกับกลุ่มนี้ ไปคุยกับกลุ่มโน้น บางครั้งถ้าต้องถามแบบนี้ ต้องตอบอย่างไร คนนั้นอยากตอบ เขียนๆ


ถาม : แต่ในกลุ่มเขาก็มีหัวหน้ากลุ่มอะไรอย่างนี้ไหมคะ

ก๊ะหวอ : มีคะ หัวหน้ากลุ่ม เพราะเขาจัดตั้งประธาน รองประธาน เลขา ของเขาเอง


ถาม : แต่เขาก็ยังอยู่กันกระจัดกระจายแบบนี้เหรอ ก๊ะหมายความว่าเขาก็นัดกันไม่ค่อยลงตัวกัน เหรอคะ

ก๊ะหวอ : บางครั้งเวลามาประชุม พอเขาเข้ามาก็มากันทั้งหมด


ถาม : มีเรื่องอื่นอีกไหมคะนอกจากเรื่องเหนื่อยกาย เหมือนจับปูใส่กระด้ง มีอะไรเหนื่อยใจไหมคะ

ก๊ะหวอ: อุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องการเดินทาง เพราะการมาทำกิจกรรมนอกพื้นที่ ไม่อยากให้เด็กขับขี่รถมาเอง พี่เลี้ยงจะพยายามจัดหารถเพื่อให้รับได้ครั้งเดียวครบทุกคน ตรงนี้ก็จะลำบากหน่อย


ถาม : แล้วในมุมพวกก๊ะ ก็เป็นสภาองค์กรชุมชนด้วยคะ อย่างนี้งานไม่หนักไปเหรอคะ เพราะว่าเรา ต้องทำงานในสภาด้วย

ก๊ะหวอ :มันมีการแบ่งงานและต้องมีคนรับผิดชอบ ก๊ะอาจจะเป็นภาพรวมต้องรู้ทุกประเด็น ในแต่ละประเด็นก็จะมีคนทำงาน


ถาม : เอาแรงจากไหนมาทำคะ ดูน่าจะเหนื่อย

ก๊ะหวอ : พอพักก็หายเหนื่อยแล้ว มันอยู่ในสายเลือด


ถาม : อยากให้แต่ละคนบอกเรื่องที่ตัวเองประทับใจหน่อยค่ะในการเข้ามาทำงานเป็นพี่เลี้ยงในโครงการ เอาภาพรวมก็ได้

ก๊ะหวอ: ประทับใจทีมสยามกัมมาจล ที่ลงมาทำงานกับเราและเด็กๆ มีความเป็นกันเองเวลาทำงานและเวลาไปประชุม คอยให้คำปรึกษาที่ดี เด็กไม่เครียด

เด็กพยายามทำตามที่พี่เลี้ยงบอก เด็กก็ได้สนุกไปด้วย คนระดับพระ ทีมวิทยากร พวกน้องๆ บางครั้งระดับด็อกเตอร์ลงมาเล่นอยู่กับเด็ก น่าประทับใจเป็นความรู้สึกดีๆ เรารู้สึกดีใจ ภูมิใจ บางครั้งประทับใจ ที่ได้มาร่วมตรงจุดนี้


ถาม : เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของน้องๆ อย่างไรบ้างคะตั้งแต่ทำโครงการมา พัฒนาการในตัวน้องๆ

ก๊ะหวอ : เด็กๆ มีพัฒนาการและมีความรับผิดชอบต่องานต่อสิ่งที่เขาทำ กล้าพูดมากขึ้น ความสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชนดีขึ้นเพราะมีความสามัคคี เราได้เห็นชุมชนชักชวนให้เด็กๆ ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วย บางครั้งเป็นการแสดงการร้องเพลง เขาก็มาปรึกษาเรา เราก็สนับสนุนช่วยคิดวางแผนกัน


ถาม : ชุมชนเราจริงๆ ก็ดูเหมือนจะ Active กันอยู่แล้ว เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ชุมชนมีส่วนร่วมสนับสนุนเหมือนโครงการน้องๆ อย่างไรบ้างคะ

ก๊ะหวอ: ชุมชนก็มีการมาช่วยดูแลเด็ก ผู้ใหญ่หลายๆ คนเขาก็มาช่วยเหมือนกัน


ถาม : ในส่วนไหนบ้างคะ พอจะยกตัวอย่างได้ไหมคะ

ก๊ะหวอ: ชุมชนสนับสนุนกลุ่มเยาวชน เช่น การประสานของทีมพี่เลี้ยง เวลาเด็กทำกิจกรรมเราก็ชวนผู้ใหญ่บ้าน ชวนทีมพี่เลี้ยงของเราที่เป็นแพทย์ตำบลอยู่แล้ว 1 คน (แม่ราตรี) มาด้วย แล้วก็ในกิจกรรมสภาในแต่ละครั้งเรื่องการอนุรักษ์ เรื่องสัตว์น้ำ เราก็นำเยาวชนเข้ามาร่วมกิจกรรม ไม่ใช่เฉพาะเยาวชนในกลุ่มนี้ แต่ได้ประสานโรงเรียนประสาน ครู ให้พานักเรียนชั้น ป. 5 - ป. 6 มาร่วมกิจกรรมกับเราด้วย


ถาม : ก๊ะได้ชวนน้องๆถอดบทเรียนเวลาทำกิจกรรมบ้างไหมคะ เหมือนมีทำกิจกรรมมาแล้วมาสรุปกันแบบนี้มีทำกันบ้างไหมคะ

ก๊ะหวอ : สรุปก็มีตอนทำโครงการ หลังจากนั้นก็ยังไม่มีสรุปอะไรกับน้องๆ นอกจากทวนกันเกี่ยวกับกิจกรรม


ถาม : พี่เลี้ยง พัฒนาตัวเองไปอย่างไรกันบ้างคะ

ก๊ะหวอ : พัฒนาขึ้นเยอะ จากที่ก๊ะไม่กล้าแสดงออกไม่ค่อยกล้าถือไมค์ แต่ตอนนี้โอเคแล้ว


ถาม : โอเคแล้ว นี้คือได้ทุกเวลาใช่ไหม

ก๊ะหวอ : ก็พอได้ ถ้าเขาไม่ชวนไปด้วยโกรธ


ถาม : ตัวเองมีการพัฒนาตัวเองอะไรบ้าง

นันทิตา : ทำกับ สกว.มาหลายเรื่องแล้ว ได้พัฒนาตัวเองเยอะ จากเมื่อก่อนไม่กล้าแสดงออกไม่กล้าพูด ตั้งแต่มาเป็นพี่เลี้ยงโครงการนี้ก็ได้พัฒนาตัวเอง เรียนรู้การทำงานเป็นทีม

อภัสนันต์: บางครั้งเด็กๆ มีความสามารถอาจเก่งกว่าพี่เลี้ยงซะด้วยซ้ำ เด็กมันกล้า กล้ากว่าพี่เลี้ยงเยอะ


ถาม : มีเหตุการณ์อะไรยกตัวอย่างได้ไหมคะ ความกล้าของพวกเขานี้แหละคะ

อภัสนันต์ : ความกล้าเหมือนกับการนำเสนอในเวทีใหญ่ๆ

อภัสนันต์: เราภูมิใจในตัวเด็กที่มีความกล้า พี่เลี้ยงยังไม่คิดเลยว่าน้องๆ จะกล้าพูดและพูดนำเสนอได้ดี แต่เขาทำได้ บางทีความคิดเขายังดีกว่าพี่เลี้ยงอีก อึ้งไปพร้อมๆ กัน ตอนนั้นเขาทำเสนอเรื่องการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์กุ้งเคยนี่แหละ


ถาม : อยากจะทำโครงการต่อกันไหมคะ หรือแพลนจะสานต่อกับกลุ่มเยาวชนอย่างไรบ้างไหมคะ

อภัสนันต์ : อยากทำต่อ สานต่อโครงการเยาวชนปลูกจิตสำนึกในการรักชุมชนรักบ้านเกิดค่ะ


ถาม : ในสภาองค์กรเองมีโครงการอะไรต่อยอดไปจากตรงนี้ไหมคะ ที่จะทำต่อไปคะ

อภัสนันต์ : สภาองค์กรนี้ก็จะทำทุกเรื่องของชุมชนคะ ตอนนี้ก็ยังทำอยู่ กุ้งเคยช่วงนี้ก็ทำกะปิอยู่ ปริมาณกุ้งเคยมีพอใช้ได้อยู่ค่ะ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ว่าไม่มากค่ะ


ถาม : คืออยากให้ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยคะน้องที่พวกก๊ะเป็นพี่เลี้ยงให้คอยดูแลให้ในปีนี้ ตอนเข้ามาแรกๆ เป็นเด็กอย่างไร

อภัสนันต์ : เป็นเด็กธรรมทั่วไป เด็กเรียนนี้แหละ ตอนเขานั่งเล่นโทรศัพท์รวมกันเป็นกลุ่มนะ ตอนเย็นๆ เขาจะเล่นฟุตบอล ช่วงนี้ก็ยังเล่นอยู่ แต่ก็ไม่ได้ไปยุ่งกับยาเสพติด เขาเล่นแต่โทรศัพท์เล่นเกม เราดึงลูกๆ ของพี่เลี้ยงมาทำโครงการก่อน


ถาม : เขาก็ยังเรียนอยู่ใกล้ๆ ชุมชนใช่ไหมคะ ยังไม่ใช่เด็กที่จะไปเรียนข้างนอก

อภัสนันต์: ใช่ค่ะ เราไม่ค่อยเอาเด็กโตแล้ว ปีก่อนโน้นเอาเด็กโตมาเล่นด้วย มีพอเขาไปเรียนมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้สานต่อ


ถาม : อย่างที่เขาอยู่ในชุมชนอย่างนี้คะ เด็กกลุ่มนี้เขาพอจะรู้เรื่องราวของชุมชนไหมว่าเมื่อ 10 ,20 ปี ก่อนพวกก๊ะเคย ทำงานอนุรักษ์

อภัสนันต์ : เขาไม่ค่อยรู้ พอเขาเข้ามาโครงการนี้ เขารู้สึกชอบและสนุกกับกิจกรรมที่พวกเขาทำ