สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัต ชุมชนบ้านทุ่งในรูปแบบสื่อโซเชียล

โครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง ในรูปแบบสื่อโซเชียล

ชุมชนบ้านทุ่ง และชุมชนบ้านทุ่งพัฒนา หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 13 ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล


ชื่อเรื่อง Pencak Silat ศิลปะและการต่อสู้ ที่ใช้ทั้งกาย จิต และปัญญาประสานเป็นหนึ่งเดียว



กระทืบเท้า ตบมือ ตบขาดังฉาดๆ ข่มขวัญคู่ต่อสู้ สลับกับการขู่สำทับดูชั้นเชิง ขณะที่ดนตรีประโคมเร่งเร้าจังหวะ ผู้ชมใจเต้นรัวไปกับการแสดงต่อสู้ตรงหน้า ผู้ที่อยู่บนเวทีต้องอาศัยสมาธิ ชิงไหวชิงพริบ แก้เกมให้ได้ เพราะเวทีนี้ไม่มีการพักยก ไม่มีการให้น้ำ ไม่มีพี่เลี้ยงคอยกำกับ หากฝ่ายใดสามารถทำให้อีกฝ่ายล้มลงได้โดยที่ตนเองไม่ล้ม ถือว่าฝ่ายนั้นเป็นผู้ชนะ

เรากำลังพูดถึง “ปันจักสีลัต” ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นด้านการป้องกันตัวที่มีมาอย่างยาวนานของคนชาวมลายู ในแถบประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน รวมถึงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา นอกจากนี้ ยังเป็นกีฬาประจำชาติของประเทศบรูไนดารุสซาลาม และถูกบรรจุเป็นกีฬาแข่งขันชิงแชมป์ทั้งในระดับนานาชาติและระดับโลก

แม้ในแวดวงการกีฬาปันจักสีลัต เป็นกีฬาที่ไม่ได้รับการเอ่ยถึงเท่าใดนัก ยังไม่ต้องพูดถึงนอกแวดวงการกีฬาที่หลายคนอาจนึกภาพไม่ออกด้วยซ้ำว่าปันจักสีลัตคืออะไร นี่เป็นสาเหตุให้กลุ่มเยาวชนใน ชุมชนบ้านทุ่ง และชุมชนบ้านทุ่งพัฒนา ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล (เคยเป็นหมู่บ้านเดียวกันมาก่อน แต่ถูกแบ่งออกเนื่องจากประชากรเพิ่มขึ้น)จับมือกันทำ โครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง ในรูปแบบสื่อโซเชียล


พลังกาย พลังจิต และพลังปัญญา ที่อยู่ในการแสดง

จีนา - จุฑาภรณ์ อุดรเสถียน อายุ 17 ปี, วา - วาซิม ติงหวัง อายุ 15 ปี และ มา - ปิยานุช ชายเหตุ อายุ 17 ปี ตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวอย่างหนักแน่นว่า ปันจักสีลัตเป็นศิลปะพื้นบ้านของหมู่บ้าน หนึ่งเดียวในจังหวัดสตูล โครงการของพวกเขาไม่ได้เริ่มจากศูนย์เสียทีเดียว เพราะกลุ่มแกนนำรุ่นพี่เคยศึกษาและเก็บข้อมูลปันจักสีลัตบางส่วนไว้ จากการทำ โครงการแนวทางการสร้างการเรียนรู้ด้านคนตรีปันจักสิลัตของชุมชนบ้านทุ่ง ครั้งก่อน สำหรับโครงการต่อเนื่องในปีที่สองมีเป้าหมาย เพื่อเรียนรู้และสืบสานวัฒนธรรมปันจักสีลัต รวมทั้งเผยแพร่เรื่องราวปันจักสีลัตให้คนรุ่นใหม่ในชุมชน รวมถึงคนภายนอกได้รับรู้ นำช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่ทันสมัยเข้ามาเป็นตัวช่วย

หากยังนึกภาพไม่ออกว่าปันจักสีลัตเป็นอย่างไร มาทำความรู้จักปันจักสีลัตกันสักหน่อย

ปันจักสีลัต เรียกสั้นๆ ว่า “สิละ” หรือ “ซีละ” เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวอย่างหนึ่งของไทยมุสลิม มีลักษณะคล้ายคลึงกับคาราเต้ กังฟู หรือมวยไทย มุสลิมภาคใต้เรียกการต่อสู้แบบสิละอีกอย่างหนึ่งว่า “ดีกา” หรือ “บือดีกา” เป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เน้นให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวอย่างสง่างาม ด้วยเผยแพร่ไปในหลากหลายพื้นที่ ปันจักสีลัตจึงมีชื่อเรียกมากมาย รวมถึง “อังชัน” และ “ฆายง” ส่วนคำว่า “ปันจักสีลัต” (Pencak Silat) ที่เป็นชื่อเรียกสากล มีที่มาจากอินโดนีเซีย คำว่า “ปันจัก” หมายถึงการป้องกันตัว ส่วน “สีลัต” หมายถึงศิลปะ เมื่อนำสองคำมารวมกันจึงได้ความหมายว่า “ศิลปะการป้องกันตัว”

มีระเบียบกฎเกณฑ์ในการประดิษฐ์ท่าต่อสู้ เป็นการจัดระเบียบการเคลื่อนไหวร่างกายให้มีจังหวะท่วงทีในเชิงรุกและเชิงรับอย่างว่องไว เรียงร้อยท่าทางอันเกิดจากกระบวนความคิดฉับพลันในการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยใช้พลังปัญญาที่สุขุมเยือกเย็น ซึ่งมีผลพวงมาจากจิตสมาธิอันแน่วแน่ การต่อสู้สิละจึงเกิดจากการรวมพลัง 3 ฐานเข้าด้วยกันคือ พลังกาย พลังจิต และพลังปัญญา ที่แสดงให้เห็นความอ่อนโยน พลิ้วไหว ขณะเดียวกันก็ทรงพลังและมีอานุภาพในการป้องกันตัวและทำลายคู่ต่อสู้สูง

“คนที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลย พอมาฝึกซ้อมจะรู้สึกยาก เพราะต้องใช้ความอดทนสูงมากๆ ต้องอาศัยการฝึกฝน จดจำ และมีสมาธิ” จีนา กล่าว

โครงการปันจักสีลัตของกลุ่มเยาวชนดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นที่รู้จักของคนในชุมชน ช่วงปีที่ผ่านมากลุ่มปันจักสีลัตเยาวชนก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น พวกเขาได้รับคำเชิญให้ร่วมแสดงตามงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน บางงานได้ค่าจ้าง บางงานก็อาสาไปแสดงเพื่อเป็นโอกาสเผยแพร่ความรู้ และบางงานก็ติดสอยห้อยตามผู้ใหญ่ออกไปทำการแสดง สร้างความภาคภูมิใจให้กับกลุ่มเยาวชนอยู่ไม่น้อย

“ปันจักสีลัตเป็นศิลปะพื้นบ้านในหมู่บ้านของเรา หนึ่งเดียวในจังหวัดสตูล พวกเราควรรักษาเอาไว้ เวลาคนพูดถึงว่าปันจักสีลัตมีที่ไหนบ้าง มันเป็นความภาคภูมิใจที่ได้บอกว่ามีที่บ้านทุ่ง หมู่บ้านของเราที่เดียว” จีนา กล่าว


สืบสาน สืบต่อ ให้เป็นรูปธรรม

งานหลักสำหรับโครงการในครั้งนี้อยู่ที่การประชาสัมพันธ์ข้อมูล ด้วยคลิปวิดีโอเจ๋งๆ ภาพกิจกรรมน่าสนุก ภาพบรรยากาศสวยๆ ที่พ่วงมากับสาระความรู้เกี่ยวกับปันจักสีลัตบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงการหารุ่นน้องมาฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ร่ายรำ การบอกเล่าประวัติความเป็นมาของปันจักสีลัตประกอบการร่ายรำบนเวที และสิ่งที่กลุ่มเยาวชนได้พัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ คือ ลานซ้อมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง

“เราทำเป็นลานสี่เหลี่ยม แล้วมีสี่เหลี่ยมใหญ่อยู่ตรงกลาง ทำจากทราย ก่อปูนขึ้นนิดหน่อย เอาไว้ให้นักดนตรีนั่ง” วาซิม กล่าว “แต่ไหนแต่ไรมาพวกเราซ้อมอยู่ที่ลานจอดรถ เวลาซ้อมอาจมีหกล้มกันบ้าง เลยอยากให้มีสนามฝึกซ้อมเป็นทราย จะได้ไม่ได้รับบาดเจ็บ”

“หนูเคยเรียนปันจักสีลัตมาก่อนตอนช่วงอยู่ชั้น ป. 4 หรือ ป.5 ตอนนั้นหนูกับเพื่อนสนิทอีกคนสนใจ เลยชวนเขามาลองรำ ดูว่าเราจะทำได้ไหม แล้วก็ทำได้เลยทำไปเรื่อยๆ ตั้งแต่มีโครงการของบ้านทุ่ง ในหมู่ 13 หนูเป็นนักรำหญิงรุ่นแรก พอขึ้น ม.1 ต้องไปเรียนต่างจังหวัด ก็เลยห่างหายจากปันจักสีลัต ไปประมาณ 3 ปี ครั้งนี้ได้ก็กลับมารำอีก หนูดีใจมากที่มีโครงการเรียนรู้ปันจักสีลัตขึ้นมาในชุมชน”

จีนา กล่าวต่อว่า “ครูที่สอนพวกเราอายุมากแล้ว พอเราได้เรียนรู้หนูคิดว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะช่วยส่งต่อให้รุ่นน้องได้เรียนรู้ด้วย ส่วนตัวหนูอินกับการซ้อม การแสดงและการทำโครงการนี้มากๆ หนูอยากทำโครงการมาตั้งแต่ปีแรกแล้ว แต่ติดที่เรียนอยู่ต่างจังหวัด พอมีโครงการปีที่ 2 หนูอยู่ชั้น ม.4 แล้วได้กลับมาบ้าน วาซิมกับมา ชวนให้เข้ามาทำโครงการนี้ หนูตอบตกลงทันที”

เสาร์ อาทิตย์ ตอนเย็นๆ เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มเยาวชนมักนัดหมายกันซ้อมรำปันจักสีลัต การแสดงเต็มรูปแบบมีดนตรีประกอบสร้างสีสันและเพิ่มมนต์ขลัง เครื่องดนตรีสีลัต ประกอบด้วยกลองยาว 1 ใบ กลองเล็ก 1 ใบ ฆ้อง 1 คู่ และปี่ยาว 1 เลา เมื่อนักสีลัตขึ้นบนสังเวียนแล้ว ดนตรีจะประโคมเรียกความสนใจคนดู โดยเฉพาะเสียงปี่ที่เร้าอารมณ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามวยไทย

ความอดทน ความขยัน ความมีวินัย และไหวพริบ เป็นคุณสมบัติที่กลุ่มเยาวชนย้ำว่าจำเป็นสำหรับนักสีลัต

จีนา เล่าว่า การแสดงสีลัตแบบรำเดี่ยวจะเป็นการรำไหว้ครู การรำสีลัตที่พวกเขาฝึกฝนเป็นศิลปะการต่อสู้แบบสวยงามที่ต้องรำเป็นคู่ เมื่อคู่ต่อสู้รุกเข้ามา อีกฝ่ายต้องแก้ไขให้ทันเวลา แม้จะมีแบบแผนท่ารำไว้ให้ฝึกฝน ผลัดกันเป็นฝ่ายรุกและตั้งรับ แต่สิ่งที่ท้าทาย คือ การจดจำท่ารำให้ถูกต้อง แต่ละคู่จึงจำเป็นต้องจับคู่ซ้อมท่าทางการรำให้เข้าจังหวะและพร้อมเพรียงกัน

“แรกๆ ฝึกรำพื้นฐานไปก่อนค่ะ รำไหว้ครู ฝึกซ้อมกับเพื่อนที่คู่กัน ฝึกไปเรื่อยๆ พอเริ่มได้ก็เริ่มฝึกซ้อมท่าต่อสู้ ซ้อมจนไม่เกิดข้อผิดพลาด ถ้าตั้งใจประมาณหนึ่งเดือนก็สามารถออกงานได้ ช่วงทำโครงการมีปัญหาเรื่องเวลาที่ไม่ตรงกัน เพื่อนมาได้บ้างไม่ได้บ้าง บางทีครูไม่ว่าง ถ้าคู่ซ้อมเราไม่มา เราก็ซ้อมกับเพื่อนผู้ชายไปก่อน แต่ถ้าได้ซ้อมกับคู่ของเราก็จะจับจังหวะกันได้ดีกว่า” จีนา กล่าว


เผยแพร่ สื่อสาร สร้างการรับรู้

“เทศกาลยอนหอยหลอด” งานประจำปีขององค์การบริหารส่วนตำบลละงู เป็นอีกหนึ่งเวทีที่กลุ่มเยาวชนได้นำปันจักสีลัตออกไปอวดโฉม จีนา บอกว่า เธอซ้อมหนักทั้งวัน ตั้งแต่เช้า พักเที่ยง แล้วกลับมาซ้อมต่อ เป็นเวลาประมาณ 1 อาทิตย์ก่อนวันงาน เพราะอยากร่ายรำออกมาให้สวยงามที่สุด

ด้านวาซิม เล่าถึงบรรยากาศการออกงานครั้งแรกของตัวเองว่า “การแสดงในวันนั้นมีทั้งคู่ผู้ชายและคู่ผู้หญิง ลำดับแรก คือ การนำเสนอข้อมูล ผมออกไปเล่าประวัติปันจักสีลัต ความเป็นมาของปันจักสีลัต แล้วก็ต่อด้วยการรำไหว้ครู พอรำไหว้ครูเสร็จก็เป็นการต่อสู้ แล้วก็จบด้วยการกล่าวขอบคุณ และฝากผู้ชมให้ติดตามเพจรวมพลเยาวชนคนรักปันจักสีลัต

ในส่วนการรำปันจักสีลัตเป็นไปตามที่คาดหวัง แต่ติดตรงที่เล่าประวัติ ผมลืมเนื้อ ลืมบท เพราะตื่นเต้น พูดไม่ออก แต่ผมคิดว่าเราออกงานแรก เราก็ได้ความกล้าแสดงออกขึ้นมามากขึ้น เพราะได้ลองทำแล้วครั้งต่อไปเราก็พยายามทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม จำสคริปของตัวเองได้ดีกว่าครั้งแรก”

ด้านจีนา กล่าวเสริมขึ้นถึงเรื่องการถอดบทเรียนหลังการแสดงแต่ละครั้งว่า “กับเพื่อนที่รำด้วยกันเรามีการพูดคุยกันว่างานนี้เราผิดช่วงไหนบ้าง เราจะแก้ไขอย่างไรก็มาฝึกซ้อมให้ดีกว่าเดิม”

แฟนเพจ “รวมพลเยาวชนคนรักปันจักสีลัต” และ ช่องยูทูป “รวมพลเยาวชนคนรักษ์ปันจักสีลัต CHANNEL” เป็นช่องทางที่กลุ่มเยาวชนตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวปันจักสีลัตผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ติดตามซึ่งเป็นเพื่อนวัยเดียวกันได้เป็นอย่างดี

“ทุกครั้งที่ไปออกงานเราจะประกาศในเฟสบุ๊ก โพสต์ขอบคุณ อัดคลิปวิดีโอมาตัดต่อลงยูทูป คลิปที่ไปแสดงในงานแต่งงานที่คนมาดูคลิปกว่า 400 ครั้ง ลงทุกงาน อัพเดทกิจกรรมเวลาซ้อมก็ลงเพจด้วย” วาซิม กล่าว

“เหมือนมีคนรู้จักเรามากขึ้น โดยเฉพาะรุ่นเดียวกันและรุ่นน้องที่สนิท ที่ติดตามข้อมูที่พวกเรานำเสนอในเฟสบุ๊ก คนในโรงเรียนจะทักว่าแสดงสีลัตเหรอ ทำโครงการอะไร เกี่ยวกับอะไร อยากทำด้วย มีมาถามเยอะอยู่เหมือนกัน เขาเห็นที่พวกเราโพสต์ เขาก็ติดตาม ช่วยเชียร์ หนูก็บอกว่าเป็นโครงการของมูลนิธิสยามกัมมาจล ทำเกี่ยวกับจุดเด่นของหมู่บ้าน ถ้าสนใจมาซ้อมก็มาได้ เข้ามาเรียนกันได้กับหนูกับเพื่อนๆ ได้” จีนา กล่าว

แม้พวกเขาบอกว่าไม่อยากคาดหวังมากกับอนาคต เนื่องจากแต่ละคนต่างกำลังทะยอยออกไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยนอกชุมชน แต่หลังสถานการณ์โควิด – 19 คลี่คลาย กลุ่มเยาวชนเริ่มหาเวลากลับมารวมตัวฝึกซ้อมกันอีกครั้ง ถือว่าเป็นการจุดไฟไม่ให้มอด สิ่งที่พอเป็นความหวัง คือ รุ่นน้องที่สนใจเข้ามาร่วมกิจกรรมฝึกซ้อม ทำให้กลุ่มเยาวชนมีกำลังใจที่จะเรียนรู้และสืบสานวัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่งต่อไป


ล้อมกรอบ

กีฬาปันจักสีลัตในปัจจุบัน

เดิมจัดให้มีการแข่งขัน 2 ประเภท ทั้งในการแข่งขันชิงแชมป์นานาชาติและการแข่งขันชิงแชมป์โลก คือ ประเภทการต่อสู้จริง และการแสดงศิลปะการต่อสู้ (เป็นการแสดง) แต่การแข่งขันปันจักสีลัตในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 13-18 มีการแข่งขันเพียงประเภทเดียว คือ ประเภทการต่อสู้

ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยแยกการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. การต่อสู้ (Tanding) 2. ประเภทเดี่ยวปันจักลีลา (Tunggal) 3. ประเภทคู่ปันจักลีลา (Ganda) และ 4. ประเภททีมปันจักลีลา (Rega) เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันปันจักสีลัตชิงแชมป์โลก ปี 1997 ณ ประเทศมาเลเซีย และการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ประเทศอินโดนีเซีย จนถึงปัจจุบัน

กติกาในการต่อสู้มีข้อห้ามบางส่วน ดังนี้

1. ห้ามใช้นิ้วแทงตา 2. ห้ามบีบคอ 3. ห้ามชกต่อยแบบมวย 4. ห้ามใช้เข่าแบบมวยไทย 5.

ห้ามเตะหรือตัดล่าง และ 6. ห้ามใช้ศอก ทั้งศอกสั้นและศอกยาว


+++++++



บทสัมภาษณ์โครงการเด่น โครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัต ชุมชนบ้านทุ่งในรูปแบบสื่อโซเชียล  ชุมชนบ้านทุ่ง และชุมชนบ้านทุ่งพัฒนา หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 13 ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล


แกนนำเยาวชน

  1. ปิยานุช ชายเหตุ ชื่อเล่น มา อายุ 17 ปี โรงเรียนกำแพงวิทยา
  2. จุฑาภรณ์ อุดรเสถียน ชื่อเล่น จีนา อายุ 17 ปี โรงเรียนกำแพงวิทยา
  3. วาซิม ติงหวัง ชื่อเล่น วาซิม อายุ 15 ปี โรงเรียนจริยธรรมอิสลามมูลนิธิมูลนิธิ


ถาม : ให้แนะนำตัวชื่อ แต่ละคนให้หน่อยชื่อจริง นามสกุล ชื่อเล่น อายุ และเรียนอยู่ชั้นไหนบ้าง

มา : นางสาว ปิยานุช ชายเหตุ ชื่อเล่น ชื่อมา อายุ 17 ปี อยู่โรงเรียนกำแพงวิทยา

จีนา : นางสาว จุฑาภรณ์ อุดรเสถียน ชื่อเล่น จีนา อายุ 17 ปี อยู่โรงเรียนกำแพงวิทยา

วา : สวัสดีครับ วาซิม ติงหวัง ชื่อเล่น วา อายุ 15 ปี อยู่โรงเรียนจริยธรรมอิสลามมูลนิธิมูลนิธิครับ


ถาม : อยู่หมู่บ้านเดียวกันไหมหรือว่า

มา: อยู่หมู่บ้านเดียวกันค่ะ

จีนา : อยู่หมู่บ้านเดียวกันค่ะ

วา : อยู่หมู่บ้านเดียวกันค่ะ หมู่ 13


ถาม : ก็ไม่ใช่คนในพื้นที่นี้สิคะ

วา : ไม่ครับ อยู่ใกล้ๆ กัน หมู่ 5 กับ หมู่ 13 แต่เดิมเป็นพื้นที่ของหมู่ 5 แต่ประชากรมากขึ้นเลยแยกเป็น 2 หมู่บ้านครับ แต่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน


ถาม : อย่าง มา กับ จีนา เคยทำโครงการเมื่อปีที่ 1 มาก่อนไหมคะ หรือว่าปีนี้เป็นปีแรก

มา : ทำปีที่ 1 มาก่อนค่ะ

จีนา : หนูเป็นปีแรกค่ะ


ถาม : มาเป็นปีที่ 1 มาก่อน จีนาเป็นปี แรก วาซิม ก็ทำมาก่อนใช่เนาะ

วา : ครับ


ถาม : “มา” ทำปีแรกทำโครงการปันจักสีลัตหรือว่าทำกับวาซิมคะ

มา : ทำกับวาซิมค่ะ


ถาม : ทำกับวาซิมปีแรก แล้วไปอย่างไงมาอย่างไงถึงมาทำโครงการนี้ได้สำหรับมา

มา : ค่ะหนูมาทำโครงการกับหมู่ 5 เพราะหมู่ 13 ไม่มีพี่เลี้ยงโครงการค่ะ


ถาม : จริงๆเราก็ไม่จำเป็นต้องทำโครงการต่อก็ได้ แต่ทำไมเราถึงเลือกที่จะทำโครงการนี้ต่อเพราะอะไร

มา : อยากสานต่อเรื่อง ปันจักสีลัต ของปีที่แล้วที่หนูว่ายังไม่สำเร็จ


ถาม : ตอนปีที่ 1 เราทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องผักใช่ไหมคะแต่ว่าจริงๆแล้วเราก็แอบสนใจโครงการ ปันจักสีลัต มาตั้งแต่ปีที่ 1 แล้ว

มา : ใช่ค่ะ


ถาม : ทำไมมา ถึงสนใจ มาเห็นเสน่ห์อะไร

มา : หนูชอบเสียงดนตรีของปันจักสีลัต เพราะว่ามันเป็นศิลปะชิ้นเดียวในหมู่บ้าน


ถาม : ซึ่งมันก็ใกล้ๆ กับหมู่บ้านของเราอยู่แล้ว

มา : ใช่ค่ะ


ถาม : แล้วถ้าสมมุติว่า โครงการในปีแรกของเรื่องผักพื้นบ้าน ยังทำต่อเราก็คงไม่มีโอกาสได้มาทำต่อโครงการนี้นี้ใช่ไหม

มา : ใช่ค่ะ คงไม่ได้มาทำโครงการปันจักสีลัตต่อเลยค่ะ


ถาม : ถือว่าเป็นเรื่องดีใช่ไหมที่ได้มาทำโครงการนี้

มา : เป็นเรื่องดีค่ะ


ถาม : อย่างจีนาได้เข้ามาทำเป็นปีแรก ลองเล่าให้พี่ฟังใครเป็นคนมาชักชวนหรือว่าเราว่าเราขอเข้ามาร่วมกับโครงการนี้เอง

จีนา : คือหนูอยากทำตั้งแต่ปีแรกแล้วค่ะ แต่ติดที่เรียนอยู่ที่ต่างจังหวัด ไม่ได้มีโอกาสได้มาทำตั้งแต่ปีแรก พอโครงการปีที่ 2 หนูอยู่ชั้น ม.4 แล้วได้กลับมาบ้าน มีเพื่อน (วาซิม, มา) ชวนให้เข้ามาทำโครงการนี้


ถาม : จีนารู้ได้ไงว่าเพื่อนๆ ได้ทำโครงการนี้กันอยู่นะ

จีนา : เห็นเพื่อนๆ ลงรูปบ้าง เห็นลงสตอรี่ ค่ะ


ถาม : แล้วเราก็เลยไปถามเค้า

จีนา : แล้วน้องก็มาเล่าให้ฟังบ้าง


ถาม : ตอนนั้นเราคิดอย่างไรเหรอ มันคงสนุกมากหรือว่าอย่างไรที่เราอยากมาทำโครงการ

จีนา : หนูคิดว่าน่าสนุกค่ะ เพราะหนูดูตั้งแต่ทีแรก เห็นทุกคนถ่ายคลิปอย่างสนุกสนาน ไปเข้าค่าย มีฝ่ายสันทนาการ ครั้งหนึ่งหนูได้กลับมาจากโรงเรียนพอดี เลยขอไปด้วยแล้วสนุกดีค่ะ


ถาม : สนิทกับ วาซิม กับมาอยู่แล้วใช่ไหมคะ

จีนา : ค่ะ


ถาม : วาซิม ทวนหน่อย ทวนอีกรอบ ทำไมถึงทำโครงการต่อนะ

มาซิม: ก็เหมือนที่มาบอกเลยครับ เพราะว่าปีนี้ไม่มีพี่เลี้ยง เราเห็นว่าที่บ้านทุ่งมีพี่เลี้ยงอยู่ แล้วอยากสืบสานเรื่องปันจักสีลัตต่อจากปีที่แล้ว เพราะยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร


ถาม : ที่บอกว่ายังไม่ได้ ยังไม่ค่อยสำเร็จ ตอนนั้นมันติดขัดเรื่องอะไรนะคะ

วาซิม: ช่วงนั้นไม่แน่ใจ ปีที่แล้วยังไม่เข้าร่วม ได้มาร่วมกันในปีนี้เลยไม่รู้ข้อผิดพลาดอะไร


ถาม : แต่ว่าเราก็สนใจ อยากเข้าร่วม

จีนา กับ มา : ค่ะ


ถาม : อย่างจีนา กับมา เราเคยทำงานเกี่ยวกับชุมชนอย่างนี้มาก่อนไหมคะ

จีนา กับ มา : ไม่เคยค่ะ


ถาม : แล้วถ้าถามเกี่ยวกับเรื่องความรู้เรื่องปันจักสีลัต ก่อนหน้านี้เราได้รู้เกี่ยวกับมันมากน้อยแค่ไหน หรือว่าเราเพิ่งรู้หลังจากมาทำโครงการนี้แล้ว

มา : หนูเพิ่งมารู้หลังจากทำโครงการนี้ค่ะ

จีนา : หนูเคยเรียนปันจักสีลัตมาก่อนตอนช่วงอยู่ชั้น ป. 4 หรือ ป.5 ค่ะ ตั้งแต่มีโครงการของบ้านทุ่ง ในหมู่ 13 หนูเป็นนักรำหญิงรุ่นแรก พอขึ้น ม.1 ต้องไปเรียนต่างจังหวัด ก็เลยห่างหายจากปันจักสีลัต ไปประมาณ 3 ปี แล้วหนูได้ก็กลับมาทำอีก


ถาม : อย่างมา ไม่เคยรู้มาก่อนเลยเกี่ยวกับปันจักสีลัต เคยได้ยินชื่อมาก่อนไหม

มา : เคยได้ยินชื่อมาก่อน


ถาม : เคยได้ยินชื่อมาก่อนแต่ว่าถ้าจะถามเกี่ยวกับรายละเอียด เกี่ยวกับประวัตินี้ก็เป็นศูนย์ แต่อย่างของจีนา เคยเป็นนางรำมาก่อนด้วย

จีนา: ค่ะ


ถาม : ตอนนั้นทำไมถึง ได้ไปเป็นนางรำคะ หรือว่าเราสนใจอยู่แล้วหรือว่าตอนนั้นมันเป็นกิจกรรม ของโรงเรียนที่เราต้องเข้าร่วม

จีนา : หนูกับเพื่อนสนิทอีกคนสนใจ หนูชวนเขามาลองรำ ดูว่าเราจะทำได้ไหม แล้วก็ทำได้เลยทำไปเรื่อยๆ


ถาม : ก็คือเราสนใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้วด้วย

จีนา : ใช่ค่ะ


ถาม : พอเห็นเพื่อนมาทำโครงการ เกี่ยวกับปันจักสีลัต ก็ยิ่งอยากทำใช่ไหมคะ

จีนา : ใช่ค่ะ หนูดีใจมาก


ถาม : ถ้าอย่างนี้ ถามความส่วนตัวของจีนาคะ สำหรับเรา มุมองของเรา ปันจักสีลัต มันมีเสน่ห์ หรือว่ามันมีอะไรที่ทำให้เราสนใจ

จีนา : ถ้าในความคิดของหนูนะคะ หนูคิดว่า ปันจักสีลัตเป็นศิลปะพื้นบ้านในหมู่บ้านของเรา หนึ่งเดียวในจังหวัดสตูล พวกเราควรรักษาเอาไว้ เลาคนพูดถึงว่าปันจักสีลัตมีที่ไหนบ้าง มันเป็นความภาคภูมิใจที่ได้บอกว่ามีที่บ้านทุ่ง หมู่บ้านของเราที่เดียว


ถาม : ส่วนเรารู้สึกภูมิใจในที่นี้เพราะมีที่เดียว มาถึงขั้นตอนของการร่วมตัวแล้ว อันนี้ก็พอรู้แล้วล่ะ ที่มาที่ไปของ 3 คน เป็นมาอย่างไร เราอาจจะไม่ได้เป็นคนเริ่มต้น ในการค้นหาข้อมูลตั้งแต่แรก แต่อยากให้เราลองเล่าให้ฟังหน่อยว่า สำหรับโครงการในปีที่ 2 เป้าหมายของเราในการทำโครงการของเราคืออะไร ของปีที่ 2 เพราะในปีที่ 1 อาจจะเป็นการค้นหาข้อมูลถูกต้องใช่ไหมคะ

จีนา กับ มา : ค่ะ


ถาม : แต่ถ้ารายละเอียดของโครงการในปีที่ 2 หลักๆ เราทำเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง

วาซิม: ปีที่ 2 เป้าหมายหลักๆ เลย คือ สืบสานปันจักสีลัต เราเลยอยากทำลานซ้อมปันจักสีลัตอย่างเป็นทางการ

มา: และอยากหารุ่นน้องมาสืบต่อ


ถาม : สืบสานสืบต่อ ใช่ไหมคะ ทำไมเราถึงอยากสืบสานแล้วก็สืบต่อเพราะอะไร

มา : เพราะไม่อยากให้มันหายไปจากหมู่บ้านของเราค่ะ

จีนา : เพราะว่าครูที่สอนเราแก่มากแล้ว เลยทำโครงการนี้โดยการหารุ่นน้องมาสืบต่อจากพวกหนูด้วย เพราะว่าพวกหนูก็โตขึ้นเรื่อยๆ


ถาม : เห็นมีการเผยแพร่ข้อมูลด้วยไหมคะ

จีนา : มีค่ะ


ถาม : มีการเผยแพร่ข้อมูลด้วย ในปีที่ 2 นี้ เราได้เอาข้อมูลของปี 1 มาใช้ในการทำโครงการของเราด้วยไหม ใช้ต่อยอดอย่างไงบ้าง

จีนา กับ มา : มีการใช้

วาซิม : ใช้ในส่วนที่เป็นประวัติแล้วก็มีเขียนไว้ในปีที่แล้วบ้างคร่าวๆ ครับ


ถาม : เอาข้อมูลประวัติมาทำอะไรนะคะ

วาซิม : เอาประวัติปันจักสีลัต มาเล่าประกอบการแสดงเวลาไปออกงาน


ถาม : พอจะจำได้ไหมว่ากิจกรรมที่เราทำในปีที่ 2 เรามีกิจกรรมอะไรบ้าง

มา: มันจะมีการออกงาน หอยหลอด

จีนา : ได้แสดงละครด้วยค่ะ

มา : ได้แสดงละคร ในงานหอยหลอดและสีลัต

มา: ขอคำถามอีกครั้ง


ถาม : เอาใหม่นะ พอเราตัดสินใจ ที่จะมาทำโครงการปันจักสีลัตในปีที่ 2 อยากให้พวกเราเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ ว่า กิจกรรมที่เราวางแผนทำในปีที่ 2 มีกิจกรรมอะไรบ้าง

วาซิม : มีการทำลานซ้อมปันจักสีลัต แล้วก็มีการออกงานตามที่ได้รับเชิญ หรือบางครั้งเสนอตัวขอไปออกงาน เพราะอยากไปนำเสนอข้อมูล แล้วก็เผยแพร่ข้อมูลผ่าน Facebook หาน้องๆ มาต่อยอดครับ แต่ว่าตอนนี้ยังไม่ได้เลย ปีนี้ว่าจะทำค่ายปันจักสีลัตด้วยครับแต่ว่ายังไม่ได้ทำ


ถาม : ปีนี้เราไม่เน้นการลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูล เพราะว่าปีที่แล้ว เราได้ข้อมูลมาค่อนข้างครบแล้วล่ะ แต่ว่าปีนี้ มาเน้นการสืบสาน สืบต่อ เผยแพร่ ก็นำมาสู่การทำลานซ้อม ออกงานนี้ร่วมอยู่ในแผนที่เราวางไว้ตั้งแต่แรกเลยรึเปล่า

วาซิม : น่าจะอยู่ในแผนถ้าจำไม่ผิด


ถาม : อย่างลานซ้อมนี้คะ ที่เราวางแผนกันว่าจะทำลานซ้อม วัตถุประสงค์เพื่ออะไร

จีนา : พวกเราซ้อมอยู่กับพื้นที่เป็นทราย เวลาซ้อมอาจมีหกล้มกันบ้าง เลยอยากให้มีสนามฝึกซ้อม ทำให้ร่างกายไม่ได้รับบาดเจ็บ


ถาม : สนามซ้อมที่ดีต้องเป็นลักษณะแบบไหนเหรอคะเป็นพื้นปูน หรือทรายอย่างไรคะ

จีนา : ที่กำลังทำอยู่นี้จะเป็นพื้นสี่เหลี่ยมค่ะ

วาซิม : เป็นลานสี่เหลี่ยมแล้วก็สี่เหลี่ยมใหญ่ตรงกลาง ครับพี่ เป็นทรายไว้สำหรับซ้อมแล้วก็จะมีปูนหน่อยๆ เอาไว้ ให้นักดนตรีนั่ง


ถาม : ก็คือเน้นเป็นพื้นทราย ทำไมต้องเป็นพื้นทราย

จีนา : เพราะว่าเวลาล้ม เราก็จะได้ไม่เจ็บ


ถาม : อันนี้ไม่รู้จริงๆ ว่าจะต้องเป็นทราย ก็คืออยากทำลานซ้อมขึ้นมาใหม่ อันเดิมมันเป็นทรายอยู่แล้วไหมคะ

จีนา กับ มา : อันเดิมเป็นดินค่ะ

มา : มันเป็นลานจอดรถค่ะ


ถาม : แต่เดิมเราก็ใช้พื้นที่ของลานจอดรถ เป็นสถานที่ของการฝึกซ้อม

จีนา กับ มา : ใช่ค่ะ

วาซิม : ใช่ครับ


ถาม : แล้วมันก็เป็นดินด้วย

จีนา กับ มา : ใช่ค่ะ


ถาม : เวลาล้มเราก็จะเจ็บตัวเราก็เลยอยากจะทำเป็นลานซ้อม

จีนา กับ มา : ค่ะ


ถาม : ทำหรือยังค่ะ

จีนา กับ มา : ทำแล้วค่ะ


ถาม : อย่างที่เราทำลานซ้อมนี้คะ ใครเข้ามามีส่วนร่วม กับเราบ้างหรือว่าเราทำกันเองในทีม

จีนา : ก็มีเยาวชนและก็ทำกันเอง


ถาม : เยาวชนที่ว่าก็เป็นเราเองนี้แหละหรือว่า เยาวชนในหมู่บ้านที่เข้ามาช่วย

มาซิม : เยาวชนในหมู่บ้าน และพวกเราด้วยครับ ก็คือเยาวชนของพวกเราก็ไปชวนเพื่อนมาช่วยทำ


ถาม : ทำไมต้องไปชวนเขาด้วยทำเองก็ได้

มา : เพราะผู้หญิงจะเยอะกว่าผู้ชาย


ถาม : เพราะว่าผู้หญิงเยอะกว่าผู้ชายเราก็เลยขอความร่วมมือกับเพื่อนๆ ในชุมชนที่เป็นผู้ชายเข้ามาช่วย แล้วเขาถามไหมว่าทำไมต้องไปช่วยด้วย

มา : ไม่ค่ะ


ถาม : ตอนทำมีบทบาทหน้าที่อะไรบ้างคะ วาซิม ในวันที่ทำลานซ้อมนี้เราทำอะไรไหม

วาซิม : ไม่อยู่ครับ

มา : ไม่อยู่ค่ะ


ถาม : จีนา อยู่ไหม

จีนา : กินน้ำอย่างเดียว


ถาม : อยู่ไหม อยู่

จีนา : อยู่บางวันค่ะ


ถาม : ไม่ได้ช่วยอะไร

จีนา : คอยเป็นกำลังใจให้ค่ะ


ถาม : ลานซ้อมนี้ทำตอนไหน ทำก่อน ทำหลัง หรือทำตอนแรกเลย

จีนา กับ มา : ทำช่วงกลางค่ะ


ถาม : แล้วกิจกรรมเราทำอะไรช่วงแรกๆ เลย

วาซิม : แรกๆ ก็คือเปิดเพจครับ Facebook และซ้อมปันจักสีลัต แล้วก็ลงเพจเผยแพร่ข้อมูลในเพจ


ถาม : เปิดเพจนี้ยากไหม

วาซิม : ไม่ยากครับ สมัครแล้วก็เปิดเลย


ถาม : ต้องคุยต้องอะไรกันไหม หรือว่าทำก็ทำเลย

วาซิม : คุยกันแล้วครับก่อนที่จะเปิดเพจ


ถาม : ดูแลคนเดียวหรือว่าดึงเพื่อนๆ เข้าไปเป็นผู้ดูแลด้วย

วาซิม : ดึงเพื่อนๆ เข้ามาดูด้วยครับ นี่ไง 2 คนนี้ก็ดึงเข้ามาด้วย แต่ดึงเข้ามาแล้วไม่ทำอะไรเลยครับ


ถาม : ส่วนใหญ่ก็เป็นวาซิมนะที่ทำ

มาซิม : ใช่ครับ


ถาม : เวลาซ้อมปันจักสีลัต วาซิมไม่ได้ซ้อมอยู่แล้ว แล้วมากับจีนา ได้ซ้อมไหมคะ

มา : ก็ไม่ได้ซ้อมค่ะ แต่จีนาได้ซ้อม


ถาม : พี่ลืมถามมารับบทบาทอะไรในโครงการคะ ประธาน รองประธาน เหรัญญิก

มา : รองประธานค่ะ


ถาม : จีนา เป็นอะไรคะ

จีนา : เป็นประธานค่ะ


ถาม : ได้เป็นประธานนี้เพราะอะไร เพราะมีประสบการณ์ หรือว่าเพราะอะไร

จีนา : ชอบพูด

มา : เพราะมีความรู้เรื่องปันจักสีลัตมาก่อนก็เลยให้เขาเป็นประธาน


ถาม : อย่างตอนซ้อมปันจักสีลัต เราซ้อมบ่อยมากน้อยแค่ไหน

มาซิม : อาทิตย์ละ 2 ถึง 3 ครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นเสาร์ อาทิตย์ ตอนเย็นๆครับ


ถาม : ซ้อมก็คือ ซ้อมที่บ้าน จีนาลองเล่าบรรยากาศในการซ้อมให้พี่ฟังหน่อยสิคะว่ามันมีขั้นตอนวิธีการอย่างไรบ้าง

จีนา : แรกๆ รำพื้นฐานไปก่อนค่ะ รำไหว้ครู ฝึกซ้อมกับเพื่อนที่คู่กัน แล้วก็ฝึกซ้อมไปเรื่อยๆ พอเริ่มได้ก็เริ่มฝึกซ้อมท่าต่อสู้ ซ้อมจนไม่เกิดข้อผิดพลาด ถ้าตั้งใจประมาณหนึ่งเดือนก็สามารถออกงานได้ ช่วงทำโครงการมีปัญหาเวลาไม่ตรงกัน เพื่อนมาได้บ้างไม่ได้บ้าง บางทีครูไม่ว่าง ถ้าคู่ซ้อมเราไม่มา เราก็ซ้อมกับเพื่อนผู้ชายไปก่อน แต่ถ้าได้ซ้อมกับคู่ของเราก็จะจับจังหวะกันได้ดีกว่า


ถาม : จริงๆ มันจำเป็นไหมซ้อมต้องมีคู่ หรือว่าซ้อมคนเดียวได้

จีนา : จำเป็นมากคะ ที่ต้องมีคู่


ถาม : ทำไมเพราะอะไร

จีนา : เพราะว่าถ้าไม่มีคู่ เพราะว่าปันจักสีลัตเราต้องรำเป็นคู่


ถาม : ต้องรำเป็นคู่เป็นเดี่ยวไม่ได้

จีนา กับ มา : เป็นเดี่ยวก็ได้ค่ะ

วาซิม : เป็นเดี่ยวมันจะรำเกี่ยวกับไหว้ครู ปันจักสีลัตของเราจะเป็นการต่อสู้ แบบสวยงาม


ถาม : เพราะเป็นประเภทสวยงาม ต่อสู้แบบสวยงามจำเป็นต้องรำเป็นคู่ คนที่จะมารำปันจักสีลัตได้นี้ จะต้องมีคุณสมบัติอะไรไหม อย่างพี่ต้องอดทนอะไรแบบนี้ไหม

จีนา : คนรำปันจักสีลัตตเองมีความอดทน ขยันซ้อม และมีวินัยในตัวเอง


ถาม : ยากไหม

มา : ถ้าคนไม่เคยซ้อมก็จะยากนิดหนึ่ง

จีนา : คนที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลย พอมาฝึกซ้อมจะรู้สึกยาก เพราะต้องใช้ความอดทนสูงมากๆ


ถาม : อย่างเช่นอะไรบ้างที่ต้องใช้ความอดทนสูง

จีนา : ต้องทำให้สวยงามและก็พร้อมเพรียงกัน แล้วก็ต้องมีไหวพริบด้วยค่ะในการรำ


ถาม : ไหวพริบเช่น

จีนา : เช่น คู่ต่อสู้จะมารุก เราต้องมีการแก้ไขทันทีเวลารำ


ถาม : เวลาที่เราซ้อมก็ซ้อมกับแค่คู่ต่อสู้ หรือว่าเราซ้อมไปพร้อมๆ กับดนตรีด้วย ตอนซ้อมคะ

จีนา : ได้ทั้ง 2 ค่ะ


ถาม : เราซ้อมกันอย่างไร

จีนา : ซ้อมแบบไม่มีดนตรีก่อนแล้วค่อยซ้อมแบบมีดนตรีที่หลังค่ะ


ถาม : อันนี้มีเหตุผลไหมหรือว่าเปล่า อะไรที่ซ้อมแบบไม่มีดนตรีก่อนแล้วค่อยไปซ้อมแบบมีดนตรี ที่หลัง มีเหตุผลไหม

จีนา : ไม่มี เราจะซ้อมแบบมีดนตรีก็ได้ แต่เราจะให้นักดนตรีพักก่อน

มา : บางทีนักดนตรีไม่ครบ เราก็รำแบบไม่มีดนตรีคะ


ถาม : อย่างตอนซ้อมปันจักสีลัตในแต่ละครั้งนี้คะ มันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้างไหมในการซ้อมในแต่ละครั้งหรือว่า ไม่มี

จีนา : มีปัญหาเรื่องเวลาอย่างเดียวค่ะบางทีจำท่าไม่ได้ลืมบ้างอะไรแบบนี้


ถาม : แล้วเราจัดการอย่างไรในกรณีจำท่าไม่ได้

จีนา : เราก็ซ้อมอยู่นั้น


ถาม : คุณครูดุไหม

จีนา : ไม่ดุ


ถาม : ใจดีไหม

มา : ใจดี


ถาม : เวลาสื่อสารเราสื่อสารกันยากไหมคะ เพราะเค้าเป็นผู้สูงอายุใช่ไหมแล้วเราเป็นเด็ก

จีนา : ใช่ค่ะ


ถาม : เวลาพูดคุยกันมันยากมันง่ายไหมคะ

จีนา : ไม่อยากมันก็ปกติ


ถาม : แรกๆ เราก็ไม่ได้รู้จักกับเค้ามาก่อน

จีนา : รู้จักค่ะ


ถาม : รู้จักอยู่แล้ว มันก็ไม่ยากในการที่จะซ้อมปันจักสีลัด ก็คือตอนออกงาน ก็ซ้อมๆไปด้วย ซ้อมเป็นประจำอยู่แล้ว อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง มันถึงขั้นไหน คือมันจะต้องซ้อมไปถึง level ไหน ระดับไหนเราถึงจะรู้สึกว่า เราถึงมั่นใจพร้อมที่จะออกงานแล้ว

จีนา : วิธีการเช็คก็ดูจาก ที่เราซ้อมดูว่าเราผิดพลาดไหม ดูจังหวะในการเดินการมีไหวพริบและการจดจำท่า ที่จะไปแสดงให้เขาดู


ถาม : ก็คือเช็คดูว่าเราจำท่าได้มากแค่ไหน

จีนา : ใช่ค่ะ


ถาม : แล้วก็อะไรอีกนะคะ

จีนา : แล้วก็ดูว่าเรามีไหวพริบหรือยัง


ถาม : คำว่ามีไหวพริบหมายความว่าอย่างไร มันต้องมีการแก้ไขเฉพาะหน้าหรือว่าอย่างไร

จีนา : ใช่ค่ะ เวลาคู่ต่อสู้จะมาทำร้ายเราในท่าไหน เราต้องแก้อย่างไรค่ะ


ถาม : ซึ่งอันนี้เราก็ซ้อมอยู่แล้ว

จีนา : ใช่ค่ะ


ถาม : นานไหมคะ ที่เราจะรู้สึกว่าเรา พร้อมจะออกงานได้ เป็นเดือนอะไรแบบนี้ไหม

จีนา : ไม่ถึงเดือนค่ะ เพราะว่าพวกเราตั้งใจซ้อมกันจริงๆ


ถาม : คือไม่ถึงเดือนก็พร้อมที่ออกงานได้ แล้วอย่างขั้นตอนที่จะออกงาน เราไปหางานหรือว่าไปเรานำเสนอตัวเองอย่างไร เพื่อให้คนภายนอกเห็น เพื่อที่จะพาเราไปออกงาน

วาซิม : ส่วนมากเป็นงานประกวดครับเขาเชิญไป ยกตัวอย่างบังเชษฐ์จัดงาน แล้วก็บังเชษฐ์เชิญให้ไปรำสีลัต ให้เขาดู อย่างเช่นงานหอยหลอด ก็จะเป็นงานประกวดครับ


ถาม : งานแรกที่เราไปโชว์ฝีไม้ลายมือให้เค้าคนภายนอกดู คืองานหอยหลอด ที่วาซิมเล่าให้ฟังใช่ไหม อยากให้เราลองเล่าให้ฟังหน่อยว่า ที่มาที่ไปถึงได้เข้าไปร่วมกิจกรรมกับงาน อบต.

จีนา : มีงานจัดการแข่งขันวัฒนธรรมในหมู่บ้าน พวกเราคิดว่าถ้าวัฒนธรรมในหมู่บ้านของเราก็ต้องเป็นปันจักสีลัต ก็เลยลองสมัครไปดูค่ะ


ถาม : ก็คือเราเห็นประกาศจาก ทาง อบต.

จีนา : ใช่ค่ะ

วาซิม : ไม่ครับคือตอนที่ไปงานหอยหลอด จ๊ะนุชกับมะเดียร์ (พี่เลี้ยงโครงการ) เขารู้อยู่แล้วครับ เพราเขาอยู่ในวงการ อบต. ด้วย แกก็เลยชวนไปครับ แล้วก็สมัครให้ครบ


ถาม : จ๊ะนุชกับมะเดียร์ เอาอันนี้แหละมาถามเราก่อนว่าเราสนใจรึเปล่าอยากจะทำไม อยากประกวดรึเปล่า ซึ่งเราก็มองว่าปันจักสีลัต ก็เป็นวัฒนธรรมประเพณีในชุมชนของเราอย่างหนึ่ง ก็น่าสนใจก็เลยสมัครไป

จีนา กับ มา : ใช่ค่ะ

วาซิม : ใช่ครับ


ถาม : ก็น่าสนใจก็เลยตัดสินใจ ตอนที่สมัครเราคาดหวังไหมว่าเราจะต้องได้

จีนา : ไม่ได้คาดหวังค่ะ เพราะว่าพวกหนูอยากไปหาประสบการณ์มากกว่า แล้วก็เป็นงานแรกด้วย


ถาม : อยากลองดูว่างั้นเถอะ

จีนา : ใช่ค่ะ


ถาม : อยากลองดูว่าเราจะสามารถทำได้ไหม หลังจากที่รับปากแล้วว่าหนูสนใจแล้วก็ให้ จ๊ะ ลงใบสมัครให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในส่วนตัวของเรา เรามีการเตรียมการพูดคุยเตรียมการวางแผนกันอย่างไรบ้างสำหรับการลง

จีนา : เริ่ม ซ้อมใหญ่ ซ้อมหนักขึ้นทุกวัน

ถาม : ซ้อมใหญ่ ซ้อมหนักเป็นอย่างไรบ้าง

จีนา : ซ้อมทั้งวันเลยก็มี หลังพักเที่ยง เราก็ซ้อมต่อ


ถาม : มีการประชุมวางแผนกันไหมว่าเราจะนำเสนอท่าไหนลำดับการนำเสนอเป็นอย่างไรคะ

วาซิม : การแสดงในวันนั้นมีทั้งคู่ชายและหญิง ลำดับแรก คือ การนำเสนอข้อมูล ผมออกไปเล่าประวัติปันจักสีลัต ความเป็นมาของปันจักสีลัต แล้วก็ต่อด้วยการรำไหว้ครู พอรำไหว้ครูเสร็จก็เป็นการต่อสู้ แล้วก็จบด้วยการกล่าวขอบคุณ และฝากผู้ชมให้ติดตามเพจรวมพลเยาวชนคนรักปันจักสีลัต


ถาม : ประชุมกันก่อนใช่ไหมคะว่าจะทำอะไรบ้าง ตอนประชุมมีปัญหาอะไรกันไหม ถกเถียง กันหรือเปล่าว่าเอาแบบนี้สิ เอาแบบนั้นสิ

จีนา : มีค่ะ มีบ้าง


ถาม : เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมเป็นอย่างไรบ้าง

วาซิม : ส่วนใหญ่เลยเป็นเรื่องการมาไม่ตรงเวลา แบบนั้นครับ ซ้อมไม่พร้อมกัน


ถาม : แล้วเรื่องของความคิดเห็นตรงกันไหม

วาซิม : ความคิดเห็นมีบ้างครับที่ไม่ตรงกัน แต่จำไม่ได้ว่าอะไรแต่ก็มีครับ


ถาม : ตอนซ้อมมีปัญหาอะไรไหม ติดขัดอะไรไหม

จีนา : ไม่มีค่ะ เพราะว่าคนที่รำคู่หนูอยู่บ้านใกล้หนู ก็เลยมาพร้อมกัน


ถาม : ตอนที่เราซ้อมแล้วเราก็จะไปประกวดแล้วใช้เวลาซักซ้อมนานแค่ไหน อาทิตย์ 2 อาทิตย์

จีนา : ก่อนไปประกวดนั้นประมาณ 1 อาทิตย์ ตอนนั้นซ้อมหนักจริงๆค่ะ ซ้อมจริงจัง


ถาม : แล้วพอถึงวันงานเป็นอย่างไรบ้าง เป็นไปอย่างที่เราวาดฝันหรือว่าตามที่เราวางไว้ไหม หรือติดขัดอะไรไหม

วาซิม : ในส่วนของปันจักสีลัต ก็เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่ติดตรงที่เล่าประวัติ ผมลืมเนื้อ ลืมบท เพราะตื่นเต้น เป็นงานแรกของผมด้วย พูดไม่ออก


ถาม : คือบรรยากาศที่พูดๆ อยู่ก็นิ่งไปเลย

จีนา กับ มา : ใช่ค่ะ เพราะเขาลืมเนื้อ

วาซิม : ก็คือแก้ไขสถานการณ์ได้ดีนะครับ ก็เลยไปต่อท้ายเลย


ถาม : แต่ว่าตอนการแสดง สำหรับจีนานี้ติดปัญหาอะไรไหมในส่วนของจีนา

จีนา : ไม่มีค่ะ


ถาม : แป๊ะทุกท่า แล้วอย่างของมาในตอนนั้น รับหน้าที่บทบาทเป็นอะไร

มา : วันนั้นหนูไม่ได้ไปตอนแรกๆ ค่ะ แล้วได้ไปดูตอนท้ายๆ แล้วค่ะ


ถาม : ได้ช่วยอะไรไหม ในเวทีครั้งนั้น

มา : ไม่ได้ช่วยค่ะ


ถาม : คนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็จะเป็น วาซิมกับจีนา เราคิดว่าในการออกงานครั้งแรกของเราเลย สำหรับจีนาก่อนเลยก็ได้ คิดว่าได้ประสบการณ์อะไรจากตรงนี้บ้าง

จีนา : สำหรับหนูมันไม่ใช่ครั้งแรกค่ะเพราะว่าหนูออกมาหลายเวทีแล้ว พอมาเวทีนี้หนูคิดว่า มันไม่ได้ออกเวทีนานหนูรู้สึกว่าตื่นเต้น แต่ว่าก็สามารถทำมันออกมาได้ดีเหมือนกัน


ถาม : ที่เราเห็นคน เป็นเหมือนที่เราคิดไว้ไหมว่าคนจะเยอะขนาดนี้

จีนา : ไม่ค่ะ คิดว่าคนน้อยๆ ไม่เยอะขนาดนี้


ถาม : ตอนเจอคนเยอะๆ ขนาดนั้นตอนแรกตื่นเต้นไหมคะ สำหรับจีนา

จีนา : ตื่นเต้นค่ะ ตื่นเต้นเหมือนกัน

วาซิม : ตื่นเต้นจนลืมเนื้อเลยครับ


ถาม : สำหรับวาซิม ถ้าสมมุติว่า ได้มีโอกาสกลับไปแก้ไข เราจะปรับปรุงตรงไหนให้มันดีขึ้นไหม

วาซิม : เราออกงานแรก เราก็ได้ความกล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะได้ลองทำแล้ว ครั้งต่อไปเราก็พยายามทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม จำสคริปของตัวเองได้ดีกว่าครั้งแรก


ถาม : แล้วหลังจากเสร็จกิจกรรมนี้ได้รางวัลใช่ไหม

วาซิม : ได้รางวัลชมเชยครับ


ถาม : ความรู้สึกที่ได้รางวัล ชมเชยกลับมา ดีใจ หรือว่า อะไรอย่างไรบ้าง

จีนา : ก็ดีใจค่ะ

วาซิม : ก็ดีใจครับ ได้รางวัลชมเชย งานแรกได้รางวัลชมเชยก็ดีแล้วครับ


ถาม : หลังจากเสร็จกิจกรรม กลับมาคุยกันไหมคะ ว่าอะไรที่เราทำได้ดี แล้วอะไรที่เราทำได้ไม่ดี

จีนา : มีการพูดคุยเล็กน้อยค่ะแล้วก็ไปปลดปล่อย

มา : แล้วก็ไปดูคอนเสิร์ตต่อค่ะ


ถาม : หลังจากงานนั้นงานแรกกลับมา แล้วกลับมาทำกิจกรรมอะไรกันต่อคะ

จีนา : ก็กลับมาประชุมกันเรื่องการไปงาน

วาซิม : งานของบังศักรินทร์ เป็นงานกุมภาจันครับ


ถาม : หลังจากเสร็จกิจกรรมวันนี้ที่ทำกับ อบต. ก็มีงานต่อเลยใช่ไหมคะ

มา : ใช่ค่ะ

วาซิม :บังเชษฐ์ ชวนไปครับ เป็นงานในส่วนของบังเชษฐ์ เป็นเพื่อนบังเชษฐ์ครับ


ถาม : อย่างงานอันนี้เรามีการพูดคุยเรามีการวางแผนกันไหมว่าใครจะทำอะไร บ้างรูปแบบของการแสดงจะเป็นอย่างไร

วาซิม : งานนี้ไม่ได้พูดคุยอะไรกันมากครับ คู่ผู้หญิงไม่ว่างเพราะว่ากะทันหันครับ ที่ได้รำก็คือคู่ผู้ชายอย่างเดียวครับ กับผู้ใหญ่กับคนแก่ครับ


ถาม : พอเรารู้สึกว่ามันเป็นงานกะทันหันเรารู้สึกเกร็งกดดันไหม หรือว่าเราเอาอยู่ เราทำได้

วาซิม : ไม่ได้เกร็งครับเพราะพวกเราไม่ได้ทำ


ถาม : แล้วใครเป็นคนแสดง

จีนา : หนูไม่ได้แสดงค่ะวันนั้นเพื่อนไม่ว่าง อันนี้แหละค่ะที่เป็นปัญหาถ้าอีกคนไม่ว่างอีกคนก็ไม่ได้แสดง


ถาม : นี้คือปัญหาของปันจักสีลัตที่แสดงเป็นคู่ใช่ไหม

จีนา : ใช่ค่ะ


ถาม : แล้วเราสามารถสลับคู่ได้ไหมถ้าคู่เราไม่ว่างเราไปสลับ

วาซิม : ได้ครับ แต่ว่าไม่มีคนให้สลับ ก็คือตอนนี้มีหนึ่งคนที่มาสลับได้แต่เค้าไม่ชำนาญครับก็เลยยังสลับกันไม่ได้ครับ


ถาม : ตอนที่ไปของบังศักรินทร์ มีใครไปบ้างหรือมีวาซิมไปคนเดียวใช่ไหม

วาซิม : มีผมไปครับ แล้วก็มีน้องมาด้วยครับ ไปไลฟ์สดในงาน ครั้งนั้นกลุ่มเยาวชนไม่ได้มีบทบาทเรื่องการรำ เป็นคู่ผู้ใหญ่ที่ไปรำ


ถาม : เราสังเกตเห็นผลตอบรับ ว่าได้สังเกตผู้ชมไหมคะ ที่เค้าดูการแสดงของเราเค้าเป็นอย่างไรกันบ้างวันนั้น

วาซิม : ปกติครับ คนไม่เยอะ มันเป็นเหมือนงานปิดอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากชุมชนจากหมู่บ้าน


ถาม : เป็นเหมือนงานเฉพาะส่วนตัวของเค้า

วาซิม : ใช่ครับประมาณนั้น


ถาม : แล้วงานต่อไปงานอะไรคะ สมมุติอันนี้เสร็จล่ะ อะไรเป็นงานต่อ

วาซิม : แล้วก็มีงานของโกตาครับ ก็คือตอนนั้นก็เป็นงานก่อนช่วงเปิดเรียนครับ ช่วงนำเสนอข้อมูล จัดเวทีผ่านออนไลน์ บ้านโกตาเชิญพวกเราไปรำด้วย


ถาม : ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้างตอนนั้น รูปแบบนำเสนอ

จีนา : ดีมากค่ะ คนเยอะมาก


ถาม : วิธีการนำเสนอของเราก็คือเหมือนเดิมไหม แนะนำประวัติแล้วก็สาธิต

วาซิม : เหมือนเดิมครับ


ถาม : มีการซักซ้อมกันก่อนไหมคะ

จีนา : มีค่ะ


ถาม : รอบนี้วาซิม ก็แนะนำประวัติเหมือนเดิมใช่ไหม

วาซิม : ใช่ครับ


ถาม : ติดขัดอะไรไหมรอบนี้

วาซิม : รอบนี้ไม่ติดขัดอะไรครับ เพราะคนกันเอง


ถาม : ทำไมถึงไม่ติดขัดเพราะเราซักซ้อม มาอย่างดีหรือว่าเราไม่เขินไม่อายแล้ว

วาซิม : เพราะว่าเราซักซ้อมมาอย่างดีด้วย แล้วก็เรามีความเข้าใจเนื้อหาแล้วครับพี่มันก็เลยไปได้ดีกว่าเดิม พูดได้ดีกว่าเดิมครับ


ถาม : ก็คือระหว่างนั้นกลับมาพยายามทำความเข้าใจ

วาซิม : ใช่ครับพยายามทำความเข้าใจ ตอนงานหอยหลอดเราไม่รู้อะไรมาก ได้สคริปมาผมก็อ่านๆ ตอนนั้นยังไม่ได้ทำความเข้าใจเท่าที่ควรก็เลยลืมบ้างในบางส่วนครับ


ถาม : แล้วอย่างของจีนาละคะเป็นเพราะได้ออกงานบ่อยๆ พัฒนาตัวเองขึ้นไหม

จีนา : มีการพัฒนาเพิ่มขึ้น


ถาม : ทุกครั้งที่ไปแสดงกลับมานี้เรากลับมาพูดคุยกันไม่ว่าในงานนี้มันติดขัดอะไร ปรับแก้ตรงไหน

จีนา : มีการพูดคุยเวลาเราไปนั่งด้วยกัน งานนี้เราผิดช่วงไหนบ้าง เราจะแก้ไขอย่างไรก็มาฝึกซ้อมให้ดีกว่าเดิม


ถาม : อย่างงานโกตานี้มีผิดพลาดตรงไหนไหม หรือว่าสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

วาซิม : อย่างงานโกตาไม่ได้ผิดอะไร ก็สามารถผ่านลุล่วงไปได้ด้วยดี มันมีติดขัด เพราะทางที่โน้นไม่ได้ขอเจ้าที่ให้ครับ เลยมีการปะทะกัน เกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ ความเชื่อส่วนบุคคลครับพี่

จีนา : ใช่ค่ะ มันน่ากลัวมากพี่

วาซิม : มีปัญหาครับเพราะเขาอยู่คนละโลกกับเราครับพี่


ถาม : แต่มันก็ผ่านไปได้ด้วยดีใช่ไหม

จีนา : ใช่ค่ะ


ถาม : ผลตอบรับคนในชุมชนเค้าเป็นอย่างไรบ้าง

จีนา : โอเคดี


ถาม : มีคนชมไหม เก่งจัง

วาซิม : ก็โอเคครับ เค้าชื่นชม ในส่วนของปันจักสีลัต


ถาม : ในวันนั้น มา ไปด้วยไหม

มา : วันนั้นหนูไปแต่ไม่มีบทบาทในการแสดงของปันจักสีลัตค่ะ หนูทำในส่วนของสันทนาการของช่วงบ่ายค่ะ

วาซิม : สันทนาการให้ทางโกตาครับ


ถาม : หลังจากงานโกตาแล้วสำเร็จเสร็จเรียบร้อยแล้วมีกิจกรรมอะไรอีกไหมที่เราได้ออกงาน

วาซิม : ไม่มีแล้วครับ เพราะว่าช่วงนั้นช่วงโควิดด้วยครับ


ถาม : แล้วอย่างงานแต่งล่ะ

วาซิม : งานแต่งก่อนงานโกตาครับ ลืมไปว่าเคยเล่าแล้ว งานแต่งจะเป็นคู่ผู้ใหญ่กับคู่ผู้ชาย ที่รำครับ


ถาม : แล้วจีนา กับ มา ได้ไป

จีนา กับ มา : ไม่ได้มาค่ะ


ถาม : หลังจากกิจกรรม หลังจากออกงาน กิจกรรมต่อไปคืออะไร

วาซิม : เผยแพร่ข้อมูลครับ ทุกครั้งที่ไปออกงานเราจะโพสต์ขอบคุณ อัดคลิปวิดีโอมาตัดต่อลงยูทูป มีคลิปนึงที่คนมาดูคลิปกว่า 400 ครั้ง แล้วก็ได้ลงเพจด้วยครับ ก็คือลงทุกงาน เวลาซ้อมก็ลงเพจด้วย


ถาม : แล้วที่จะบอกว่าจะพาน้องมาเรียนรู้มาต่อยอด ได้พามาหรือยังนะ

วาซิม : ยังครับ ยังไม่ได้ทำยังไม่ได้ชวนใครมาครับ


ถาม : คิดว่าจะทำไหม ยังจะทำต่อใช่ไหมคะ

วาซิม : คิดว่าให้เป็นเรื่องของอนาคตครับ เพราะว่าคนที่มารำ ก็ทะยอยออกไปเรียนนอกชุมชนทีละคนๆ

จีนา : ไปเรียนต่อปีหนึ่ง


ถาม : แล้วอยากให้จีนา แบบ เป็นคนสอนน้องๆอะไรแบบนี้ตัวเองคิดว่าตัวเองทำได้ไหม

จีนา : ได้ค่ะ


ถาม : พร้อมเสมอ

จีนา : ใช่ค่ะ


ถาม : ถ้ามีน้องมา

จีนา : ที่จริงก็มีเด็กๆ เข้ามาสนใจแล้วค่ะแต่ ว่าช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่โควิด แล้วปิดโครงการนี้ก็จบพอดีค่ะ ก็ยังไม่ได้พูดคุยกัน


ถาม : คือกิจกรรมในปีที่ 2 ของเราหลักๆ เราจะเน้นถึงเรื่องของการสื่อสารเรื่องของการไปออกงาน มากกว่าใช่ไหมคะ

จีนา : ใช่ค่ะ


ถาม : แล้วมันเป็นไปในตามที่เราตั้งใจไว้ไหม มันทำให้คนอื่นเค้ารู้จักเรามากขึ้นไหม

จีนา : สำหรับหนูคนรู้จักมากขึ้น


ถาม : เราวัดจากอะไรที่คิดว่าคนรู้จักเรามากขึ้น เช่น

จีนา :เหมือนมีคนรู้จักเรามากขึ้น โดยเฉพาะรุ่นเดียวกันและรุ่นน้องที่สนิท ที่ติดตามข้อมูที่พวกเรานำเสนอในเฟสบุ๊ก คนในโรงเรียนจะทักว่าแสดงสีลัตเหรอ ทำโครงการอะไร เกี่ยวกับอะไร อยากทำด้วย มีมาถามเยอะอยู่เหมือนกัน เขาเห็นที่พวกเราโพสต์ เขาก็ติดตาม ช่วยเชียร์


ถาม : เวลามีคนถามเขาแนะนำว่าอย่างไรบ้าง

จีนา: เป็นโครงการของมูลนิธิสยามกัมมาจล ทำเกี่ยวกับจุดเด่นของหมู่บ้าน ถ้าสนใจมาซ้อมก็มาได้ เข้ามาเรียนกันได้กับหนูกับเพื่อนๆ


ถาม : มีการเชิญชวนให้เข้าร่วม สำหรับเรา 3 คน ทำโครงการมาสำหรับปีนี้ให้เราลองคิดให้เราลองคิดซิว่า ปัญหาที่เราหนักใจ

จีนา : ก็กังวลเรื่องเวลาค่ะ มาไม่ตรงกันเหมือนมาเลท

วาซิม : อย่างเช่นนัดบ่ายโมง มาบ้านสาม บางทีก็ไม่มาเลยครับโดยไม่บอกว่าเพราะอะไรก็คือส่วนใหญ่ก็คือเรื่องเวลา


ถาม : ส่วนใหญ่ที่หนักใจเป็นเรื่องของเวลา แล้วเรามีวิธีแก้ไขหรือรับมือกับมันอย่างไร

วาซิม : นัดล่วงหน้าก็เหมือนวันนี้ครับที่พี่เมย์ นัดประชุม 11โมง พวกเราก็จะนัดกันมา 8-9 โมง ต้องเตรียมตัวก่อนเพราะเรารู้ว่าเขาต้องเลทแน่


ถาม : เขาไม่รู้ทันเหรอ

วาซิม: ไม่ครับ


ถาม : เป็นวิธีการรับมือโดยการบอกล่วงหน้า 2 ชั่วโมง ได้ผลไหม

วาซิม : ก็ได้ผลนะครับ


ถาม : อย่างอันนี้ก็เป็นปัญหาที่เราเจอ ในการทำโครงการ แล้วถ้าสมมุติ ว่าเป็นเรื่องของความประทับใจในการทำโครงการของเรา 3 คน ล่ะ เรารู้สึกว่าเราประทับใจอะไ

จีนา : สิ่งที่หนูประทับใจคือ สุดท้ายแล้วเราก็ทำโครงการนี้ออกมาได้ดี ผ่านมาได้ถึงจะมีอุปสรรคบ้างแต่ วันสุดท้ายที่นำเสนอพวกหนูรู้สึกภูมิใจในตัวเอง


ถาม : ที่เราบอกว่าที่มีอุปสรรค บ้างนี้คืออุปสรรคคืออะไรคะ

จีนา : ก็เรื่องเวลานี่แหละค่ะ


ถาม : แล้วอย่างมาล่ะ รู้สึกประทับใจอะไร หรือยกตัวอย่างเหตุการณ์ก็ได้ที่เรารู้สึกประทับใจ

มา : หนูประทับใจในงานมหกรรมที่นำเสนอเป็นละครค่ะ เพราะว่าทุกคนมีบทบาททั้งหมด ช่วยกันแสดงละครคนละไม้คนละมือ ช่วยกันจัดแต่งสถานที่ค่ะ


ถาม : อย่างของน้องมาในการแสดงละครรับบทบาทหน้าที่เราทำอะไรค่ะ

มา : เป็นคุณครูค่ะ


ถาม : อย่างนี้ก็ต้องมีการซักซ้อมกันภายในทีม

มา : ใช่ค่ะ ซักซ้อมกันค่ะ


ถาม : ลองเล่ารูปแบบของละครให้ฟังให้หน่อยสิเรานำเสนอประมาณไหนบ้าง

มา : เป็นเหมือนโรงเรียนพามาทัศนศึกษา

จีนา : ในหมู่บ้าน หมู่ 13 ค่ะ

วาซิม : พานักเรียนมาเรียนรู้เกี่ยวกับปันจักสีลัต

จีนา : พวกหนูเป็นคนมาต้อนรับแล้วก็บอกว่าต่อไปจะมีการนำเสนอการรำสีลัตให้ดูนะ แล้วก็ให้เพื่อนๆ ที่รับบทเป็นเด็กๆ นั่งข้างๆ พวกหนูก็รำให้ดู


ถาม : ที่มาบอกว่าประทับใจ นี้ประทับใจตรงไหนค่ะ ตรงความร่วมมือของเราเองหรือผลตอบรับจากคนในชุมชน

มา : ทั้งหมดเลยค่ะ เพราะว่าผลตอบรับก็ดีค่ะ มีชาวบ้านในหมู่บ้านก็เข้ามาดูด้วยค่ะ คนเยอะมากค่ะ


ถาม : ก่อนวันงานเรามีไปประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้คนในชุมชนเข้ามาร่วมไหม

จีนา กับ มา : มีค่ะ


ถาม : ไปชวนอย่างไรบ้างตอนแรก

วาซิม : ก็มีการลงทางเพจ ลงโปสเตอร์ ว่าวันนี้มีการถอดบทเรียนแล้วก็มีการแสดงละครนะ แล้วก็มี เวลาไปเจอด้านนอกครับ บอกต่อๆกัน


ถาม : ผลตอบรับก็คือคนในชุมชน เข้ามาสนใจได้เป็นอย่างดี อย่างวาซิมล่ะ

วาซิม : ผมประทับใจทุกๆ อย่างของโครงการเลยครับ ตั้งแต่ แรกจนจบ ประทับใจการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า


ถาม : ชุมชนให้ความสนใจให้ความร่วมมือกับเราอย่างไรบ้างที่เราเห็นแล้วเราสังเกตได้

วาซิม : ให้ความสนใจส่วนหนึ่งครับ ประมาณหนึ่งส่วนน้อย เพราะว่าคนในชุมชนไม่ค่อยเข้ามามีบทบาทในสิ่งที่พวกเราทำครับ แล้วก็พวกเราไม่ได้เชิญชวนอะไรมากด้วยครับ


ถาม : แต่ส่วนใหญ่ให้มารับชมการแสดงของเราซะมากกว่า

วาซิม : ใช่ครับ


ถาม : เวลามีงานเขาจ้างเราไปรำไหม มีไหม

จีนา : มีค่ะ


ถาม : มีมาใช้บริการบ่อยไหม

จีนา กับ มา : ไม่บ่อยค่ะ

วาซิม : ไม่บ่อยครับ


าม : กี่ครั้งที่ทำมามีคนจ้าง

วาซิม : ส่วนใหญ่ที่จ้างจะเป็นคู่ผู้ใหญ่ครับ พวกเราเขายังไม่รู้จักมากว่ามีคู่เด็กมารำเหมือนกันนะ


ถาม : แต่ก็จะเริ่มเปิดตัวแล้วถูกใช่ไหม

วาซิม : ครับ


ถาม : ชุมชนเขาอาจจะไม่ได้มาร่วมอะไรกับเรามากเพราะว่าเราก็ไม่ได้ไปขอความร่วมมือกับ แต่เราคิดว่าการทำโครงการ ชุมชนได้ประโยชน์อะไรไหม

วาซิม : คิดว่าได้นะครับ คิดว่าได้รู้แต่ส่วนใหญ่ก็รู้อยู่แล้วว่าในชุมชนของเรามีปันจักสีลัต แต่ได้รู้มากกว่าเดิมครับ


ถาม : ผู้ใหญ่รู้อยู่แล้ว แต่ในส่วนของเด็กรู้จักมากขึ้นไหม

วาซิม : ก็ไม่ได้อะไรนะครับ


ถาม : มีกิจกรรมอะไรไหมที่จุดประกาย ให้เรารู้สึกภูมิใจ รู้สึกรัก และทำให้เรารู้จักปันจักสีลัตมากขึ้น

จีนา : อินมาก อินกับการทำโครงการและการซ้อม ได้เห็นเพื่อนๆ มาร่วมตัวกัน แล้วก็สนุกค่ะ


ถาม : อย่างจีนา เป็นไปในที่เราคิดไหม ก่อนที่เราจะมาเข้าร่วมโครงการ มันก็คงเป็นโครงการที่สนุกแน่ๆ เลย แล้วพอทำไปสนุกไหม

จีนา : มันก็สนุกค่ะ


ถาม : แล้วจีนา คิดว่าเราได้อะไรนอกเหนือจากนี้ไหมได้พัฒนาตัวเองไปในทางไหนบ้าง

จีนา : ก็ได้พัฒนาเรื่องของการพูดแล้วก็การกล้าแสดงออก


ถาม : ถ้าก่อนหน้านี้ถ้าพูดถึงเรื่องการพูดการกล้าแสดงออกก่อนกับหลังเราให้คะแนนความกล้าแสดงออกกี่คะแนน

จีนา : ถ้าเต็ม 10 ก็ให้คะแนน 5 ก็ได้ค่ะ


ถาม : แล้วตอนนี้จาก 5 ให้กี่คะแนน

จีนา : 9 ก็ได้ค่ะ


ถาม : อะไรที่เรามั่นใจถึงให้ตัวเองถึง 9 คะแนน

จีนา : เพราะว่าตอนนำเสนอเราก็พูดตลอดค่ะ ถ้าสมมุติว่าไม่มีใครพูดหนูก็ต้องพูด


ถาม : เวลาพูดเราเขินไหมนะตอนนี้

จีนา : ไม่เท่าไหร่ก็เขินบ้างนิดหน่อย


ถาม : ก็คือถ้าให้พูดก็พูดได้

จีนา : ค่ะ แบบถ้าตื่นเต้นมากเราสามารถควบคุมความตื่นเต้นของเราได้


ถาม : มารู้สึก อินหรือว่าเข้าใจโครงการปันจักสีลัตมากขึ้นมากน้อยแค่ไหน

มา : ก็อินค่ะ แล้วก็ได้ความรู้เยอะกว่าตอนมาใหม่ๆ อย่างเช่น ถ้าได้รำ ก็จะต้องเตรียมเสื้อผ้า มีอะไรบ้าง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้ แต่ได้มารู้

วาซิม : วันนี้เรามีคนรำมาแล้ว


ถาม : มาได้รำด้วยไหม

มา : ได้รำค่ะ

จีนา : รำไหว้ครูค่ะ รำพร้อมๆ กัน


ถาม : ยากไหมคะ สำหรับ มาในการรำไหว้ครู

มา : ก็แรกๆ จะยากนิดหนึ่งค่ะ


ถาม : เป็นอะไรที่เราไม่เคยทำมาก่อนเลยใช่ไหม

มา : ใช่ค่ะ


ถาม : ส่วนที่ยากที่สุดของการรำไหว้ครูสำหรับมาคิดว่าตรงไหนที่คิดว่ายากสำหรับเรามากๆ

มา : ยากค่ะ เหมือนมือไปไม่พร้อมคนอื่นหรือว่ามือแข็ง

จีนา : เวลาการย่างค่ะ เวลาการก้าวเท้าอะไรแบบนี้ค่ะ คือเราไม่พร้อมกัน

มา : ไปคนละทิศคนละทางค่ะ


ถาม : ซึ่งจริงๆ มันต้องพร้อมกันใช่ไหมคะถึงจะสวย

มา : ใช่ค่ะ


ถาม : แล้ว ณ ตอนนี้ ถ้าให้มารำพร้อมกันไหมคะ

จีนา กับ มา : พร้อมค่ะ


ถาม : ถ้าเรื่องของความสามารถหรือทักษะที่เราได้พัฒนาการทำโครงการนี้มีอะไรบ้างไหมพัฒนาขึ้น

มา : คือก็มีการพูดการกล้าแสดงออกค่ะ เพราะว่าแต่ก่อนหนูไม่กล้าจับไมค์ไม่กล้าพูด ไม่กล้า Present แต่เดียวนี้กล้าพูดมากขึ้น พูดมากกว่าเดิม


ถาม : มีเหตุการณ์ไหนไหมที่เรารู้สึกว่าเราประทับใจ ในความสามารถของเราในเรื่องของการกล้าแสดงออกเรารู้สึกว่าเราทำได้นะ

จีนา : อย่างของหนูก็ตอนรำค่ะ

มา : ของหนูน่าจะเป็นตอน Present โครงการค่ะ เพราะว่าหนูเป็นคนพูดนำเสนอ


ถาม : แล้วอย่าง วาซิมล่ะ รู้สึก ยังไงบ้างอินไหมมันเข้าไปในตัวเราไหมเรื่องปันจักสีลัด

วาซิม : เรื่องปันจักสีลัต มันจะอินส่วนหนึ่งเพราะว่าเราไม่เคยรู้เกี่ยวกับ ประวัติปันจักสีลัตเลย แล้วก็ไม่รู้เลยว่ารำอย่างไงแบบไหน แต่ตอนนี้พอรู้บ้างแล้วครับ ตอนนี้ก็ถ้ากลับมาพูดใหม่ต้องดูสคริป รื้อฟื้น


ถาม : อาจจะต้องรื้อฟื้นบ้างแล้วอย่างวาซิมเอาความรู้ทักษะไปปรับใช้ในชั้นเรียนไหม

วาซิม : ไปปรับใช้ครับ ทักษะที่ได้คือได้ปรับใช้ในชั้นเรียนกับความกล้าแสดงออก โรงเรียนผมมีโครงงานฐานวิจัยอยู่ด้วยครับ ผมมักรับหน้าที่เป็นคนนำเสนอ


ถาม : ของจีนา เอากลับไปปรับใช้ในการเรียนไหมคะ หรือว่าในชีวิตประจำวันเราเอาไปปรับใช่ไหม

จีนา : นำไปปรับกับโครงการที่โรงเรียนเกี่ยวกับโครงการยูอาร์ แห่งชีวิต เราเอาไปแบ่งปันให้น้องๆ คนที่ยากจน นำสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วแต่ยังใช้ได้เอาไปให้ซาไกร์


ถาม : ก็คือใช้เทคนิควิธีการพูดการนำเสนอของเราไปชักชวน

จีนา : ใช่ค่ะ


ถาม : มาล่ะ เอาไปปรับใช้ในชั้นเรียนหรือใช้ในชีวิตประจำวันที่เราพัฒนา

มา: ที่โรงเรียนของหนูก็ได้เป็นวิทยากรของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติในโรงเรียนกำแพงพิทยาค่ะ


ถาม : อันนี้ได้เป็นเพราะว่าเราไปลงชื่อหรือคุณครูเห็นความสามารถของเรา

มา : ครูชักชวนค่ะ


ถาม : ซึ่งเราก็ยินดี

มา : ชอบในพิพิธภัณฑ์ด้วยชอบพูดอยู่แล้วด้วยค่ะ


ถาม : ก็เลยเอาไปปรับใช้ได้

มา : ใช่ค่ะ


ถาม : ตอนนี้โครงการจบแล้วยังอยากทำต่อไหมในความรู้สึก

วาซิม : อยากทำต่อมันก็อยากทำต่อ แต่คนไม่มีครับ ถ้าเราทำกับคนไม่รู้จักมันก็ไม่แน่ใจจะเป็นไปได้แค่ไหน ก็ขอให้มันเป็นเรื่องของอนาคต


ถาม : ถ้าสมมุติไม่ได้มีปัญหาติดขัดเรื่องคนในทีมจะทำต่อไหม

จีนา : ก็น่าจะทำต่อค่ะ

มา : อาจจะต้องต่อค่ะ


ถาม : เอาในความคิดของเราสิ ว่าอยากทำต่อไหม

มา : หนูน่าจะไม่ทำต่อค่ะ เพราะว่ามันมีหลายงาน เฉพาะที่โรงเรียนหนูก็งานเยอะค่ะ เสาร์ อาทิตย์หนูก็ต้องไปทำงาน


ถาม : อย่างจีนาล่ะถ้าทุกอย่างมันครบเราอยากทำต่อไหม

จีนา : อยากทำต่อค่ะ อยากให้เด็กในชุมชนนี้ได้ได้มีความกล้าแสดงออกเหมือนที่หนูเป็นนี้แหละค่ะ


ถาม : วาซิมล่ะถ้าทุกอย่างยังครบจะอยากทำต่อไหม

วาซิม : น่าจะทำต่อครับ เพราะเราอยากเพิ่มประสบการณ์ความสามารถของเราไปเรื่อยๆ ถ้ามีโอกาสก็จะน่าทำต่อครับ


ถาม : ตอนนี้ถ้าถามถึงปันจักสีลัตกับชุมชนนี้มันไปในทิศทางที่ดีขึ้นใช่ไหม

วาซิม : ตอนนี้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นครับ ตอนนี้ก็ไปได้โอเคกว่าเดิมแล้วครับ


ถาม : อยากรู้นิดหนึ่งที่วาซิมบอกว่า เอาไปใช้ที่โรงเรียน ที่มีโครงงานฐานวิจัยด้วยมันเหมือนหรือต่างกันที่ทำ เอ็กทีฟไหม

วาซิม : มันคล้ายๆ กันเลยครับ


ถาม : ตรงไหนบ้างคะที่คล้ายกัน

วาซิม : มีการลงพื้นที่ ปีนี้ในห้องทำผ้ามัดย้อม มีการลงพื้นที่ไปศึกษาหาข้อมูลแล้วก็ไปดูวิธีการทำ เหมือนกับของเราเลยครับ มีการถอดบทเรียนมีการนำเสนอครับ


ถาม : ทำโครงการมาปีหนึ่ง ปีกว่าๆ สำหรับแต่ละคนผ่านมาปีหนึ่งมันมีความหมายกับเราอย่างไร

วาซิม : สำหรับผม มันมีความหมายมากๆ เลยครับ ได้รู้ลึกเรื่องปันจักสีลัตมากขึ้น ได้รู้ทั้งประวัติ และท่าร่ายรำ

จีนา : หนูว่าสิ่งที่เราทำมีคุณค่ามาก เราสามารถสืบต่อจากปีแรก แล้วมาปรับปรุงใหม่ในปีที่ 2 และทำได้ดีมากๆ

มา : สำหรับหนูเห็นว่าสีลัตมีคุณค่าเพราะว่าปันจักสีลัตก็เหมือนเป็นวัฒนธรรมสำคัญของบ้านเรา พวกหนูตั้งใจว่าจะทำให้มันสำเร็จแล้วก็จะทำให้มันสำเร็จยิ่งขึ้นค่ะ


ถาม : ลึกๆ แล้วเราคาดหวังไหมอยากให้ผู้ใหญ่สนใจมากขึ้นหรืออยากให้เพื่อนรุ่นเดียวสนใจ มากกว่านี้

จีนา : ก็คาดหวังค่ะ แต่คาดหวังไม่มาก


ถาม : เพราะอะไรทำไมคาดหวังไม่มากหรือว่าเพราะว่ามันคาดหวังไม่ได้หรือว่าอะไร

มา : ถ้าคาดหวังมากเกิดไปถ้าเกิดความผิดพลาดก็จะเสียใจเปล่าๆค่ะ


ถาม : แต่ก็พอใจใช่ไหมกับผลลัพธ์ถ้าเหมือน เอาแบ่งเป็น 2 ส่วนนะ ในกลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกันเราพอใจกับผลลัพธ์ไหมในสิ่งที่สนใจกับกิจกรรมที่เราทำ

จีนา กับ มา : พอใจค่ะ


ถาม : พอใจช่วยให้คะแนนนิดหนึ่ง เต็มสิบ

จีนา : 9

มา : 9

วาซิม : ผมให้ 8


ถาม : ก็ความคาดหวังก็คือบอกว่าก็พอใจที่เพื่อนรุ่นเดียวกันก็เหมือนให้ความสนใจ แต่เราก็ให้คะแนนมาเป็น 8 กับ 9 ใช่ไหมคะแนนที่หักไปเราคิดว่ามันพ่องอะไรไปเหรอ มันขาดอะไรไปที่เรายังไม่ให้เต็ม ถ้ามีอันนี้จะให้เต็มล่ะ

วาซิม : สำหรับผมนะครับคือความเข้าใจกันครับคือเพื่อนในกลุ่มครับ มันก็มีทั้งอายุมากกว่าอายุน้อยกว่าบางทีเหมือนกับว่าเราเกรงใจกัน เหมือนเราคุยกันไม่เข้าใจกันมากว่าครับ

มา : ของหนูที่หายไปคือขาดความกระตือรือร้นค่ะ เพราะว่า บางคนก็ไม่มีความกระตือรือร้น ต้องไปตามที่บ้านกว่าจะมาก็ยากเย็น


ถาม : แล้วที่นี่ที่เป็นผู้ใหญ่ล่ะ ที่เค้าตอบสนอง ต่อเรา เราให้เค้ากี่คะแนนความสนใจที่เค้าให้ความสนใจกับพวกเรา

วาซิม : หมายถึงคนในชุมชนหรือคนในกลุ่มครับ


ถาม : คนในชุมชน

จีนา : 5 คะแนน


ถาม : ก็น้อยนะ

วาซิม : ส่วนที่ 5 คะแนนเพราะว่าคนในชุมชนไม่ค่อยเข้ามามีบทบาทในสิ่งที่พวกเราทำครับ อาจจะเป็นเพราะพวกเราไม่ได้เชิญชวนด้วย พวกเขาอาจจะไม่รู้ด้วย แต่เวลามานั่งดูเขาก็ชอบ แล้วก็ชม

จีนา : อยากให้ผู้ใหญ่ให้ความสนใจ สมมุติว่าพวกหนูซ้อมใช่ไหมค่ะ อยากให้แวะมาดู ให้กำลังใจหรือเข้ามาถามบ้างแบบว่าเป็นไงบ้างซ้อมเหนื่อยไหม ถึงไหนแล้ว อะไรแบบนี้

วาซิม : แบบว่ามาสร้างพลังครับ ให้กำลังใจ


­