สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน เยาวชนตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

บทความสื่อสาร โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน  ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล


ชื่อเรื่อง มหัศจรรย์ข้าวอัลฮัม ข้าวพื้นถิ่นที่ ‘กินมัน อิ่มนาน ทำงานทน’



จงตอบคำถามต่อไปนี้ลงในกระดาษ

1. จงระบุชื่อสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของไทย?

2. คุณชอบทานข้าวสายพันธุ์ไหนมากที่สุด?

3. รู้หรือไม่ว่า...ข้าวมีสารอาหารอะไรบ้าง?

4. คุณคิดว่าข้าวแต่ละสายพันธุ์มีรสชาติต่างกันอย่างไร?

จากโจทย์สั้นๆ 4 ข้อด้านบน หากมองลงในกระดาษคำตอบของคุณตอนนี้ ปรากฏตัวอักษรหรือข้อความอะไรบ้าง

“ข้าว” เป็นอาหารหลักของคนไทยก็จริง แต่น้อยคนนักจะให้ความสำคัญกับสายพันธุ์ สารอาหาร และรสชาติของข้าว The Potential จะพาไปทำความรู้จักข้าวพันธุ์พื้นเมืองหายากอีกชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “ข้าวอัลฮัม” กับ โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน โดย กลุ่มเยาวชนตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เหตุผลที่อยากชักชวนมารู้เรื่อง “ข้าวพันธุ์พื้นเมือง” อย่างลึกซึ้ง เพราะอยากให้ทุกคนได้รู้และเข้าใจความมหัศจรรย์ของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของไทย ทั้งเรื่องเล่า ที่มาที่ไป แล้วจะทำให้เรารับประทานข้าวและกับข้าวได้อย่างอร่อยและมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น


ความเป็นมาของข้าวอัลฮัมที่ได้อรรถรส

“กินมัน อิ่มนาน ทำงานทน” กลุ่มเยาวชนตำบลเกตรี เปรียบเปรยถึงคุณสมบัติข้าวอัลฮัม ข้าวพื้นถิ่นตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

จุดเด่นทางโภชนาการของข้าวอัลฮัม เป็นข้าวที่มีแคลเซียม กาบา โอเมก้า 3, 6 และ 9 สูง หากวัดคุณภาพเมล็ดข้าวทางเคมี ข้าวอัลฮัมมี “อะไมโลส” หรือปริมาณแป้งในเนื้อข้าวอยู่ในระดับสูง (25%) ขณะที่ข้าวหอมมะลิมีอะไมโลสอยู่ในระดับต่ำ (12%)

ปริมาณอะไมโลสบ่งบอกอะไร?

อะไมโลสส่งผลโดยตรงต่อเนื้อสัมผัสของข้าวหุงสุก เช่น ความนุ่ม ความร่วน และการพองตัว กลุ่มเยาวชนตำบลเกตรี บอกว่า ข้าวที่มีอะไมโลสสูงเมื่อหุงสุกแล้วจะมีความแข็งร่วนมากกว่าข้าวที่มีอะไมโลสต่ำ จากคำบอกเล่าของกลุ่มเยาวชนที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนท้องถิ่นต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้าวอัลฮัมเป็นข้าวแข็ง หุงขึ้นหม้อ กินอิ่มท้อง ให้พลังงาน เหมาะสำหรับกินกับแกงส้ม แกงคั่ว และแกงใต้รสจัดจ้าน แตกต่างจากข้าวหอมมะลิที่มีความนุ่มมากกว่า

“ใครบ้างไม่กินข้าว เพราะคนทุกคนต้องกินข้าว ดังนั้นเราจะทำให้ข้าวไม่ใช่แค่ข้าว”

การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวอัลฮัมเป็นความตั้งใจแรกของกลุ่มเยาวชน ที่ตัดสินใจเข้ามาเป็นตัวตั้งตัวตีทำโครงการ วันนี้ ซี - ภารดร พงค์สวัสดิ์, มุค - อับดุลมุคนี ขุนรักษ์, บีม - ภาวี อาดำ, ยิบ - มูฮัมหมัด แก้วสลำ และ บัส - สุชาติ เกสมาน เป็นตัวแทนกลุ่มาบอกเล่าเรื่องราวการทดลอง ค้นคว้า สืบเสาะ สัมภาษณ์ ตะลุย และชิมขนมจากข้าว อย่างสนุกสนานครบรส

โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนไม่ใช่โครงการแรกในนามกลุ่มเยาวชนตำบลเกตรี ก่อนหน้านี้รุ่นพี่สภาเยาวชนตำบลเกตรีเคยทำ โครงการศึกษาและรวบรวมตำนานและประวัติศาสตร์ของตำบลเกตรี เพื่อเผยแพร่ให้กับเยาวชนและคนในชุมชนมาก่อน ทำให้พวกเขามีฐานข้อมูลประวัติชุมชนอยู่แล้วในระดับหนึ่ง

“รุ่นพี่ได้ไปหาข้อมูลมาแล้วแบบบาง ๆ แต่ยังไม่ได้ลงลึก พวกผมเลยเลือกมาลงลึกเอาจริงกับเรื่องข้าวอัลฮัม” มุค กล่าว

การทำโครงการเริ่มต้นจากการมองหาประเด็นปัญหาหรือของดีที่มีอยู่ในชุมชน แล้วศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนวางแผนลงมือทำ และบริหารจัดการกิจกรรมให้สำเร็จลุล่วงตามแผน กลุ่มเยาวชน เล่าว่า แนวทางการทำโครงการของพวกเขายึดหลัก RDM

R เป็นขั้นตอนสืบค้นข้อมูล ประกอบไปด้วย 3R ได้แก่ Research Review และ Reconceptual ซึ่งเป็นค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม การทบทวนข้อมูล แล้วตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากแหล่งต่างๆ

“ก่อนทำโครงการ พวกผมได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชนก่อน แล้วกลับมาประชุมเสนอกันว่าจะทำโครงการประเด็นไหน ในช่วงแรกพวกผมลงพื้นที่อย่างเดียวหาข้อมูลให้ได้เยอะที่สุด มีค้นหาในอินเทอร์เน็ต ไปถามปราชญ์ชาวบ้าน ลงพื้นที่สำรวจเอง ผมได้ยินชื่อข้าวอัลฮัมมาตั้งแต่ยังเด็ก และจากการสัมภาษณ์ผู้รู้ บังเฉ็ม (บูกาเส็ม กรมเมือง) อายุประมาณ 60 ปี เป็นผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าว ทำให้รู้ว่าข้าวอัลฮัมเป็นของดีของตำบล และตำบลเกตรีก็ส่งออกข้าวอัลฮัมไปให้โรงพยาบาลสตูล ประจวบเหมาะกับตอนลงพื้นที่พวกผมเจอปัญหาว่าพื้นที่ปลูกข้าวอัลฮัมในชุมชนลดลง เรื่องข้าวอัลฮัมจึงกลายเป็นทั้งประเด็นปัญหาและเป็นของดีของตำบลด้วย ในกลุ่มเลยสนับสนุนและผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่” ซี เล่าเริ่มต้นเล่า

ส่วน D มาจาก Doing และ M มาจาก Management เป็นการนำชุดข้อมูลที่สรุปได้จาก 3R มาวางแผนกิจกรรม เพื่อลงมือดำเนินโครงการให้บรรลุเป้าหมาย

“การวางแผนทำโครงการของพวกเราแบ่งเป็นสองงวด งวดที่หนึ่งตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวอัลฮัม มุ่งเน้นศึกษาว่าข้าวหายไปจากชุมชนเพราะอะไร จนได้รู้ว่าเพราะราคาผลผลิตตกต่ำ ดังนั้นเราคิดว่าถ้าข้าวราคาสูงขึ้นด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าว ชาวนาน่าจะเห็นคุณค่าของข้าวแล้วหันมาปลูกข้าวเยอะขึ้น” ซี เล่าต่อ

“หลังจากมีเป้าหมาย พวกผมค้นคว้าจนได้ข้อมูลเกี่ยวกับข้าวอัลฮัมมาพอสมควร ทำให้พวกผมตระหนักว่าก่อนที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่สิ่งใด เราควรศึกษาเรื่องนั้นให้ลึกซึ้งให้ดีก่อน ทำให้เราเปลี่ยนเป้าหมายในงวดที่สองเป็นเรื่องการศึกษาข้าวอัลฮัม ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ความเป็นมา วงจรชีวิตข้าว คุณค่าสารอาหารของข้าว และจำนวนพื้นที่นาในชุมชนที่ยังคงปลูกข้าวอัลฮัม เพราะอยากได้ข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจน รวมถึงได้ไปศึกษาดูงานที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุงและศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวพัทลุงด้วย”

ข้าวอัลฮัม มีที่มาจากคำว่า “อัลฮัมดุลิลละห์” ภาษาอาหรับ ที่แปลว่า ขอบคุณอัลลอฮฺหรือขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า จึงมีความเชื่อว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้เป็นผลผลิต ตอบแทนความเหน็ดเหนื่อยของชาวนา เป็นข้าวที่นิยมปลูกในตำบลเกตรีในอดีต แต่ปัจจุบันมีข้าวสายพันธุ์อื่น เช่น ข้าวหอมปทุมเข้ามาแทนที่

สำหรับประวัติความเป็นมาของข้าวอัลฮัม มีความเชื่ออยู่ 2 แบบ ประวัติแรก บอกเล่าต่อกันมาว่า คนบ้านเกตรีสมัยก่อนรับจ้างทำนาที่ประเทศมาเลเซีย จึงนำเมล็ดข้าวอัลฮัมกลับมาปลูกในพื้นที่ เพราะเห็นว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกแล้วให้ผลผลิตดี ส่วนประวัติที่สอง กล่าวว่า พันธุ์ข้าวชนิดนี้ปลูกอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว เนื่องจากจังหวัดสตูลแต่เดิม คือ รัฐไทรบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย

“แต่เดิมข้าวยังไม่มีชื่อ ยังไม่มีการระบุสายพันธุ์ มีชาวนาที่เป็นเจ้าของไร่นา เห็นว่าข้าวออกรวงสวย ออกรวงเยอะ มีน้ำหนัก เขาเป็นคนมุสลิม เลยกล่าว อัลฮัมดุลิลละห์ ขอบคุณพระเจ้าที่ข้าวนี้ให้ผลผลิตดี มีคนที่อยู่ข้างหลังเขาได้ยินว่าอัลฮัม เลยบอกว่าข้าวนี้ชื่ออัลฮัมดุลิลละห์ กลายเป็นที่มาของชื่อพันธุ์ข้าว” มุค อธิบาย


“นานอกนา” กับ “แผนที่นา” ที่เกิดจากความขี้สงสัย

เพื่อศึกษา เรียนรู้และเข้าใจเรื่องข้าวอัลฮัมอย่างลึกซึ้ง กลุ่มเยาวชนวางแผนการทำโครงการเป็น 4 กิจกรรม ได้แก่ นานอกนา แผนที่นา (ออนไลน์) การแปรรูปขนมรังต่อจากแป้งข้าวอัลฮัม และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมและความรู้เรื่องข้าวอัลฮัมผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “เด็กขี้สงสัย” ชื่อที่สะท้อนความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขา นอกจากนี้กลุ่มเยาวชนยังผลิตสื่อวิดีโอและโปสเตอร์สำหรับการนำเสนอในที่สาธารณะตามเวทีต่างๆ ด้วย

“จะปลูกข้าว ทำไมต้องปลูกในนา” เป็นคำกล่าวของ พิเชษฐ์ เบญจมาศ ผู้ประสานงานโครงการสตูล active citizen ที่ทำให้กลุ่มเยาวชนฉุกคิด จนได้ริเริ่มทดลองปลูกข้าวนอกฤดูกาล ไม่ใช่ในนาแต่ในถุงดำ จำนวน 100 ถุง โดยมีบังเฉ็มเป็นผู้อนุเคราะห์เมล็ดพันธุ์ข้าวและเป็นที่ปรึกษาเรื่องการปลูก และใช้พื้นที่บ้านพี่เลี้ยง (ราฎา กรมเมือง) เป็นศูนย์รวมทำกิจกรรม

“ตอนแรกเราวางแผนไว้ว่าอยากปลูกข้าว แต่ช่วงทำโครงการไม่ใช่ฤดูทำนา พวกผมเลยตัดสินใจทำนานอกแปลงนา คือปลูกในถุงดำและห่วงล้อยาง จุดประสงค์ของพวกเรา คือ ต้องการศึกษาระยะการเจริญเติบโตของข้าว การออกรวง ข้าวเจริญเติบโตขึ้นมามีลักษณะเป็นอย่างไร เรียนรู้เรื่องการดูแลข้าว ยกตัวอย่างเช่น การเช็คสภาพข้าว เช็คสภาพน้ำ และการให้ปุ๋ย” มุค กล่าว

วิธีคัดเลือกเมล็ดที่มีคุณภาพ เริ่มจากการใส่น้ำลงในกะละมังประมาณครึ่งหนึ่ง แล้วนำไข่ทั้งฟองที่ยังไม่ต้มใส่ลงไปในน้ำ ปกติแล้วไข่จะจมน้ำ หลังจากนั้นจึงใส่เกลือผสมลงไป จนกว่าไข่จะลอยขึ้นเหนือน้ำ สังเกตให้ส่วนที่ลอยเหนือน้ำมีขนาดใหญ่ประมาณเหรียญ 5 บาท จึงเทเมล็ดข้าวลงต่อ

กลุ่มเยาวชน อธิบายว่า เมล็ดข้าวที่ลอยน้ำ คือ เมล็ดข้าวที่ไม่สมบูรณ์ ส่วนเมล็ดข้าวที่จมน้ำเป็นเมล็ดที่นำมาเพาะเป็นต้นกล้าต่อได้ โดยให้แช่น้ำทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงนำขึ้นมาวางในที่ชื้นจนมีรากลักษณะเป็นหัวสีขาวงอกออกมา แล้วนำไปเพาะต่อในแผงเพาะกล้า

“ตอนที่บังเฉ็มบอกให้เอาไข่เป็นตัวชี้วัด ครั้งแรกพวกผมตอกไข่ใส่ลงไป ใส่เกลือตามไป 6 ถุง คนเกลือในน้ำเท่าไหร่ไข่ก็ไม่ลอยขึ้นมาสักที พวกผมก็คิดว่า ทำผิดไหมนะ กลับไปถามบัง แกบอกว่าไม่ต้องตอกไข่ ให้ใส่ไข่ทั้งฟองลงไปเลย” กลุ่มเยาวชน เล่าไปหัวเราะไป

“เมื่อได้เมล็ดมาแล้ว เพาะไว้ 30 วัน หลังจากที่ต้นกล้าเจริญเติบโตพอจะลงถุงได้ พวกผมก็นำต้นกล้าลงถุงดำ จากนั้นก็เริ่มดูแลรักษาและสังเกตการณ์การเจริญเติบโต เมล็ดข้าวสามเมล็ด แตกต้นได้ถึง 30-40 ต้น สูงสุดได้ถึง 50 ต้น ในหนึ่งต้นจะมีหนึ่งรวง ในหนึ่งรวงมีแง่งที่เป็นเส้นเล็ก ๆ แตกออกมา15 แง่ง ในหนึ่งแง่งด้านบนสั้นกว่านับเมล็ดข้าวได้ประมาณ 10 – 15 เมล็ดครับ ตรงกลางมี 20 – 25 เมล็ดขึ้นไป แล้วในหนึ่งรวงมีร้อยกว่าเมล็ดขึ้นไป แล้วแต่ความสมบูรณ์” มุค อธิบายข้อมูลจากการบันทึก

ระหว่างรอข้าวจากภารกิจนานอกนาเติบโต กลุ่มแกนนำเยาวชนแบ่งกลุ่มลงสำรวจแปลงนาในชุมชน พบ พื้นที่นาถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนไม่น้อย หนึ่งในนั้น คือ ที่นาของราฎาพี่เลี้ยงโครงการ พวกเขาจึงอยากทำแผนที่นาเป็นสื่อกระตุ้น สร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนฉุกคิดได้ว่านาที่ว่างและถูกทิ้งร้างสามารถนำมาทำประโยชน์ได้

“ตอนเด็กๆ ไปเล่นในพื้นที่นา เลยมีความทรงจำว่าบ้านเรามีพื้นที่นาเยอะ เมื่อก่อนมองไปด้านไหนก็เห็นแต่นา แต่ตอนนี้คือมีสวนปาล์ม สวนยาง มีบ่อ มีบ้านขึ้นมา ตอนแรกพวกผมลงพื้นที่ไปสำรวจก็ได้แผนที่นามาเป็นเรียบร้อยแล้ว เป็นแผนที่แบบวาดด้วยมือ พอมาดูเราก็ไม่รู้ว่านาตรงนั้นเป็นของใคร แต่อยากรู้ พี่เลี้ยงเลยแนะนำว่าให้ไปหาข้อมูลที่เกษตรอำเภอ เผื่อมีขึ้นทะเบียนที่ดินเกษตรกร พวกผมก็ไปหาแล้วก็ได้ข้อมูลเพื่อนำมาเทียบเคียงกับที่ลงไปสำรวจเอง” ซี กล่าว

“พวกเราไปลงพื้นที่หลายครั้ง เพราะต้องไปเดินนับที่นาเองเลยว่านาอยู่ตรงไหน แล้วก็ตรวจเช็ค ในกูเกิลเอิร์ธ (Google Earth) เทียบกันเพื่อวาดแผนที่ตามสัดส่วน เราอยากนำเสนอออกมาในรูปแบบออนไลน์ เพราะในตำบลของเราไม่มีข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับนาเลย พวกผมอยากจัดเก็บไว้เป็นข้อมูลทางสถิติ แล้วอัพเดตไปเรื่อย ๆ ให้ผู้คนสามารถเข้ามาหาข้อมูลได้ตลอด” มุค อธิบาย

ตำบลเกตรี เรียกที่นาหนึ่งผืนว่า “หนึ่งบิ้ง” แต่ละบิ้งอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่แตกต่างกัน จากการสำรวจของกลุ่มเยาวชน พบว่า ในตำบลมีนาทั้งหมด 700 บิ้ง ทำนาอยู่ 400 บิ้ง และเป็นนาร้าง หรือ เปลี่ยนไปทำประโยชน์อย่างอื่นแล้ว 300 บิ้ง

“ปัญหา คือ เราไม่ได้สำรวจทุกวัน ข้อมูลที่มีมาจากการสำรวจในเดือนธันวาคม 2562 - มกราคม 2563 ถัดจากนั้นอีกสองเดือน บางพื้นที่ก็เปลี่ยนไปเลย มีการสร้างบ้านมาถมดินเพิ่มไปอีก ถัดมาอีกหกเดือน ก็มีการขุดลอกขุดคลองประมาณ 100 ไร่ แค่ในช่วงเวลาที่เราทำโครงการตอนขี่รถผ่าน นาบางแห่งก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปแล้ว เลยรู้สึกเศร้า ผมเข้าใจว่าแต่ละคนมีความจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ แต่ในความรู้สึกของผมคือ รู้สึกเสียใจและเสียดาย ในเมื่ออัตราประชากรเพิ่มขึ้น อาหารต้องเพิ่มขึ้น แต่ว่าพื้นที่แหล่งอาหารกลับลดลง พวกผมก็รู้สึกแบบ เอ๊ะ...มันน่าเสียดายนะ” ซี กล่าว


ต่อชีวิตข้าวอัลฮัม

การนำข้าวมาแปรรูปเป็นขนมดอกจอก หรือ ขนมรังต่อจากแป้งข้าวอัลฮัม เป็นกิจกรรมที่สามที่มาจากความตั้งใจเดิมของกลุ่มเยาวชน คือ ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวอัลฮัม แม้พวกเขายังไม่ได้ลงลึกในกระบวนการวิจัยหรือทำการทดลอง แต่ก็ได้ลงมือทำขนม ด้วยการนำข้าวมาป่นละเอียดเป็นแป้งข้าว สอบถามสูตรทำขนมจากผู้รู้ในชุมชน แล้วหยิบกระทะจับอุปกรณ์มาลองเรียนรู้ด้วยตัวเอง คุณสมบัติเด่นเรื่องอะไมโลสในแป้ง ทำให้ขนมดอกจอกมีความกรอบ และขึ้นรูปได้ง่าย

“ตอนแรกคิดทำเป็นสบู่ แต่เราคิดว่ามันข้ามขั้นเกินไป เลยเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อน คือ การทำแป้งข้าว อยากรู้ว่าข้าวจะทำออกมาเป็นแป้งได้ไหม เราไปหาเครื่องโม่แป้งหินโบราณแบบดั้งเดิมในชุมชน ขอยืมมาใช้ก่อน พวกเราลองเอาข้าวที่โม่ได้เป็นน้ำไปตากแดด อยากดูว่าจะได้แป้งแบบที่ซื้อตามร้านไหม พอเอามาตากแดดก็มีบางส่วนที่เสียไปเพราะไม่รู้วิธีการจัดการที่ดีพอ ตอนหลังเลยใช้แป้งที่เป็นน้ำ ลองเอาไปทำขนม” ยิบ อธิบาย

และกิจกรรมที่สี่ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ผู้คนได้รู้จักและรู้ถึงคุณประโยชน์ของข้าวอัลฮัมมากขึ้น ผ่านเพจเด็กขี้สงสัยและเฟสบุ๊กส่วนตัวของราฎา กลุ่มเยาวชน เล่าว่า เมื่อถึงหน้าฤดูกาลทำหน้าช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พวกเขาได้จัดกิจกรรมดำนาแล้วประชาสัมพันธ์ผ่านเพจชักชวนให้คนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี

“ก๊ะราฎาเขาก็รู้สึกไม่ดี เพราะพวกเราทำโครงการเกี่ยวกับข้าวแล้วทำไมนาของเขาถึงยังร้างอยู่ พอได้มาเป็นพี่เลี้ยงโครงการนี้ เขาก็ต้องการเปลี่ยนพื้นที่นาตรงนั้นให้เป็นพื้นที่นาจริง ๆ เลยร่วมมือกันทำ ชวนคนทำนา พี่ ป้า น้า อา เครือข่ายเยาวชนในชุมชน และเยาวชนจากที่อื่นมาร่วมด้วย บางคนรู้ข่าวจากการประชาสัมพันธ์ของเราทางเฟสบุ๊ก เขาก็อยากมาช่วย” ซี กล่าว

ก๊ะราฎาเสนอมา พวกผมก็สนองครับ เหมือนกับว่าเรามีแต่ข้อมูล เรามีแต่ตัวหนังสือ เราไม่ได้ลงไปทำจริง เหมือนนักรบที่ยังไม่ได้รบ” ยิบ ขยายความ

กลุ่มเยาวชน บอกว่าพวกเขาใช้เวลาราวหนึ่งอาทิตย์ลงแรงเตรียมพื้นที่ และใช้เวลาอีก 3 วัน เตรียมต้นกล้า ก่อนลงมือดำนาครั้งแรกในชีวิต

“มีเพื่อนหรือรุ่นน้องที่ติดตามเพจและเฟสบุ๊กของก๊ะราฎาติดต่อมา น่าสนุกจังไปด้วยได้ไหม แต่กิจกรรมของพวกเรา ไม่ได้จำกัดว่าต้องมาทีเดียวสามสิบคนแล้วยืนกันเต็มท้องนา แต่ละคนมาในช่วงเวลาที่ตัวเองว่าง มาช่วยตรงนี้แป๊บหนึ่ง บางคนอยู่ในช่วงถอนกล้า ขนกล้า ล้างกล้า หรืออยู่ในช่วงดำนาเลย แล้วแต่จังหวะที่มาถึง ระหว่างทำกิจกรรมเรามีไลฟ์ผ่านทางเพจด้วย” บีม กล่าว

“ผมชอบการไลฟ์สด มันไม่โดดเดี่ยวเกินไป มีหลายคนมามองเราด้วย ถ้าเราทำกันเองก็รู้กันเอง แต่ พอเราไลฟ์สดคนอื่นก็ได้เห็นด้วย ถึงไม่ได้ช่วยทำก็ได้เห็น อยากนำเสนอเป็นวีดิโอกิจกรรมของเราด้วย แล้วโพสต์ลงไปในกลุ่ม แชร์ ๆ กันให้คนอื่นเห็น บางทีคนที่เห็นอาจจะกดเข้ามาดูหน้าเพจว่าเป็นเพจเกี่ยวกับอะไร” ยิบ กล่าวถึงแผนงานที่วางไว้

นาร้างบนพื้นที่เกือบ 2 ไร่ ที่กลุ่มเยาวชนร่วมกันหักร้างถางพงด้วยตัวเอง จากวันที่มีหญ้าขึ้นรกสูงกว่าเอว บางจุดสูงถึงหัว ตอนนี้ต้นข้าวกำลังค่อยๆ ออกรวงเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองทองพร้อมเก็บเกี่ยว แน่นอนว่าความสำเร็จนี้สร้างความภาคภูมิใจให้พวกเขาเป็นอย่างมาก

“เวลาคนผ่านไปผ่านมาก็สงสัยว่าพวกผมใส่ปุ๋ยอะไร ทำไมข้าวสวยดีจัง ทั้ง ๆ ที่พวกผมยังไม่ได้ทำอะไร ดินตรงนั้นมันสมบูรณ์มาก เพราะไม่ได้ทำอะไรมานาน เลยมีแร่ธาตุสะสม พอไปปลูกต้นข้าวก็เจริญเติบโตได้เร็วและออกรวงดี” ยิบ กล่าว

“ตามตำนานครับ เหมือนประวัติความเป็นมาของข้าวที่เล่าไปผู้คนเห็นว่าข้าวออกรวงดี เลยพูดว่า อัลฮัมดุลิลละห์ ขอบคุณพระเจ้าครับ ข้าวอัลฮัมเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน เป็นข้าวพื้นเมืองของเกตรี พวกผมได้รักษาวัฒนธรรมของผู้คนได้สืบทอดต่อไป ต่อชีวิตของข้าวให้อยู่กับชุมชน” มุค กล่าวเสริม

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับข้าว ทำให้ข้าวพื้นถิ่นกลายเป็นข้าวที่ “เคยนิยม” แล้วค่อยๆ สูญหายไป ความหลากหลายทางชีวภาพของข้าวไทยที่เคยมีมากกว่า 2 หมื่นสายพันธุ์ จึงเหลือเพียงชื่อเรียกตามลิสต์สั้นๆ ในเชิงการตลาด เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวขาวและข้าวเพื่อสุขภาพ

เราในฐานะผู้บริโภคสามารถแยกแยะข้าวที่รับประทาน ได้เพียงความแตกต่างในระดับผิวเผิน เช่น ข้าวเจ้ากับข้าวเหนียว ข้าวกล้อง/ ข้าวแดงกับข้าวขาว ข้าวเหนียวขาวกับข้าวเหนียวดำ หรือ ข้าวต้มกับข้าวสวย ทั้งที่เอกลักษณ์ของข้าวแต่ละสายพันธุ์มีความมหัศจรรย์และมีคุณประโยชน์มากมายซ่อนอยู่

การเข้ามาเรียนรู้และลงมือทำในโครงการเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนแกนนำได้รื้อฟื้นที่นาร้าง ให้กลับมาเป็นแปลงนาทดลองฝีมือเยาวชน นอกจากสวมบทบาทเกษตรกรหรือคนปลูกข้าวแล้ว พวกเขายังได้เป็นทั้งนักวิจัยพันธุ์ข้าวและนักชิม เป็นทั้งคนขายและคนกินข้าว นำเสนอคุณค่าของ “ข้าวอัลฮัม” ให้คนในชุมชนและผู้คนได้รับรู้

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติข้าวอัลฮัม เป็นความฝันที่พวกเขาอยากสรรค์สร้างให้เกิดขึ้นในตำบลเกตรี เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้และเป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงปฏิบัติ ที่จะช่วยเผยแพร่ให้ข้าวอัลฮัมเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

“พิพิธภัณฑ์ข้าวไม่มีหลังคา ถ้าอยากมาเรียนรู้ มาดู คุณต้องลงพื้นที่นา คุณต้องพร้อมสกปรก คุณต้องพร้อมเกลือกโคลนไปกับเรา ตอนนี้ชุมชนอาจจะยังไม่ได้อะไรมากนักจากสิ่งที่เราทำ แต่สิ่งที่ชุมชนได้คือตัวพวกผมเอง อย่างน้อยก็มีพวกผมแล้วสิบคนที่เห็นคุณค่าของข้าวอัลฮัม ศึกษา เก็บรวบรวมความรู้เกี่ยวกับข้าว” กลุ่มเยาวชน กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม


ล้อมกรอบ

ข้าวแต่ละพื้นที่มีฤดูกาลปลูกและฤดูกาลเก็บเกี่ยวแตกต่างกัน ตามสภาพภูมิอากาศ เพราะข้าวมีการตอบสนองต่อช่วงแสงและตามสภาพพื้นที่ หรือที่เรียกว่า “นิเวศการปลูก” ข้าวพื้นถิ่นในแต่ละท้องที่เป็นข้าวที่มีวิวัฒนาการตามธรรมชาติสอดคล้องกับท้องถิ่นนั้นๆ พันธุ์ข้าวท้องถิ่นจึงมีความแข็งแรง ทนต่อโรค และเติบโตได้ดีเพราะสามารถทนฟ้าทนฝนทนอากาศได้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ข้าวกลายเป็นสินค้าการเกษตรส่งออก เกษตรกรจึงพากันเลิกปลูกข้าวพื้นถิ่นแต่หันมาปลูกข้าวสายพันธุ์ยอดนิยม สุดท้ายเกษตรกรก็ต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ติดกับดักกลไกตลาดโลกที่ส่งผลต่อความผันผวนของราคาข้าว

อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://news.thaipbs.or.th/content/287419

http://www.monstermom.net/?p=5268

­

­

บทสัมภาษณ์เยาวชนตำบลเกตรี  โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน จังหวัดสตูล


ผู้ให้สัมภาษณ์ 

  1. ซี - ภารดร พงค์สวัสดิ์ วิทยาลัยเทคนิคสตูล
  2. มุค - อับดุลมุคนี ขุนรักษ์ โรงเรียนสตูลวิทยา 
  3. บีม - ภาวี อาดำ วิทยาลัยเทคนิคสตูล
  4. ยิบ - มูฮัมหมัด แก้วสลำ โรงเรียนสตูลวิทยา
  5. บัส - สุชาติ เกสมาน โรงเรียนอิสลามวิทยามูลนิธิ



แนะนำชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น อายุ สถานศึกษา

ชื่อนายภารดร พงค์สวัสดิ์ ชื่อเล่นชื่อซี อายุ 18 ปี ปัจจุบันเรียนอยู่วิทยาลัยเทคนิคสตูลครับ

ชื่อนายสุชาติ เกสมาน อายุ 15 ปี เรียนอยู่ที่โรงเรียนอิสลามวิทยามูลนิธิ ชื่อเล่นบัสครับ

ผมเด็กชายอับดุล ชื่อเล่นชื่อมุกครับผม อายุ 15 ปี เรียนอยู่โรงเรียนสตูลวิทยาครับ

ผมชื่อนายภาวี ชื่อเล่นชื่อบีม อายุ 18 ปี เรียนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคสตูลครับ

ชื่อจริงชื่อมูฮัมหมัด ชื่อเล่นชื่อยิบ อายุ 17 ปี เรียนอยู่ที่โรงเรียนสตูลวิทยา


โอเค 5 หนุ่ม วันนี้จะชวนคุยเน้นที่ไปตัวโครงการนะ พวกเราเข้ามาทำโครงการนี้ได้อย่างไร แล้วทำไมถึงเลือกทำโครงการนี้

มุค : เข้าโครงการนี้เพราะพี่สาวผมทำโครงการอยู่รุ่นที่หนึ่ง ตอนที่พี่กำลังทำโครงการ ผมเข้าไปด้วยบางวัน เลยคุ้นชินอยู่มาเรื่อย ๆ จนเริ่มเข้าทำโครงการจริงจังในครั้งนี้ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่รุ่นพี่กำลังเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็เลยโดนหลอกมา โดนพี่ราด้า (พี่เลี้ยงโครงการ) หลอกมา เข้าค่ายอบรมการผลิตสื่อในเวที Active Citizen


แล้วทำไมตอนปีแรกเขาไม่ชวนเรามาทำเลย เรารู้ไหม

มุค : ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมก็เข้ามานิด ๆ เข้ามาแบบไม่รู้เรื่อง ตอนนั้นยังอยู่ ม.1


ตอนปีแรกเข้ามาเอง หรือตอนนั้นเข้ามาอย่างไร

มุค : เหมือนกับพี่ชวนมาเล่น ๆ


คนต่อไป ใครอยากตอบ แต่ก็ต้องตอบทุกคน

บัส : มุคชวนมา


ทำไมมุคถึงชวนบัสมาร่วมโครงการด้วย

มุค : ผมเห็นว่าโครงการนี้น่าสนใจดี เห็นว่าเพื่อนกำลังว่าง ๆ อยู่ด้วย


เราเป็นเพื่อนสนิทกันไหม สองคน

มุค : รู้จักกันครับ เล่นได้เลย สนิทใช้ได้ เล่นบอลอยู่ด้วยกันก็เลยชวนตอนเล่นบอล


แล้วบาสทำไมถึงยอมมา มีความคิดว่าโครงการนี้น่าสนใจอย่างไร

บาส : อยากลองทำกิจกรรมนี้ดู


คนต่อไป ยิบ

ยิบ : ผมเข้ามาทำโครงการปีแรกช่วงปลาย ๆ ช่วงจะถึงค่ายแล้ว เพราะเห็นเพื่อน ๆ ทำผมก็สนใจ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มเข้ามาร่ววมอย่างไร จำไม่ได้แล้วว่าใครเป็นคนมาชวน ราดาน่าจะเป็นคนชวน รู้สึกว่าพอทำแล้วสนุก ท้าทายดี เพราะผมไม่เคยทำอะไรแบบนี้ด้วย เมื่อก่อนผมเคยเข้าร่วมกิจกรรมชุมชน ในลักษณะเป็นผู้เข้าร่วม ยังไม่เคยเป็นคนจัด เลยได้มาลอง


คือในความรู้สึกยิบอยากจะมาเป็นคนจัดใช่ไหม

ยิบ : ตอนแรกก็ไม่ครับ แค่อยากลองว่ามันเป็นอย่างไร เพราะเห็นเพื่อนทำ

บีม : ผมก็ได้เข้ามาด้วย ซีเป็นคนชวนผมมาครับ เข้ามาหลังซี ก่อนหน้านั้นผมก็ไม่ค่อยได้จริงจังสักเท่าไร ก็เลยลองเข้ามาดูครับ พอเข้ามาได้สักพัก ผมก็จริงจัง เห็นซีเขาทำผมก็เลยตั้งใจทำด้วยครับ


ชอบอะไรในโครงการล่ะ เขาชวนมาทำ ถึงได้อยู่ต่อ

บีม : มาประชุมตอนกลางคืนกับพวกเพื่อน ๆ ครับ เลยอยากมา


ออกจากบ้านใช่ไหม แล้วทำไมซีถึงชวนบีมเข้ามา

ซี : เป็นเพื่อนสนิทกันครับผม ถ้าสังเกตก็คือพวกผมเรียนที่เดียวกัน เห็นเพื่อนสนิทก็อยากให้เขาได้ผลประโยชน์เหมือนกับเรา พอมันอยู่ที่โรงเรียนก็อยากมีเรื่องคุยกับเพื่อน มีเรื่องคุยกันได้ เราคุยเรื่องโครงการ เราคุยกับใครไม่ได้เลยที่โรงเรียน เพราะไม่มีใครรู้เหมือนกับเรา จึงชวนเพื่อนมาอยู่ด้วย ได้พูดแลกเปลี่ยนกัน


โอเค ก็ประมาณนี้นะ ให้ได้วอร์มอัปกันก่อน ทุกคนได้ขยายหลอดเสียง อุ่นเครื่อง แล้วพวกเราทำโครงการอะไรกัน

ซี : โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน


ตอนของซี ใครเป็นคนชวนซีมานะ

ซี : ของผมพี่ชายครับผม


พี่เห็นทุกคนจะเอ่ยถึงก๊ะราดา ก่อนหน้ามาทำโครงการเรารู้จักก๊ะราดาไหม ถ้ารู้จักเรารู้จักว่าเขาเป็นใครในชุมชน ทำอะไร

ซี : ครับผม เริ่มที่ผมก่อนก็ได้ครับ ก๊ะราดา ผมไม่ได้รู้จักก่อนเข้าร่วมโครงการ แต่ผมเคยได้ยินชื่อเหมือนเวลาพี่อยู่ที่บ้าน พี่จะคุยเรื่องงานกับแม่ พี่ก็จะพูดว่าไปกับก๊ะราดา พอได้ยินชื่อมาบ้าง ก็สงสัยว่าก๊ะราดาเป็นใคร แล้วพอพี่ชวนมาพบมาเจอตอนนั้นก็ได้รู้จัก

บีม : ก็ไม่ได้รู้จักมาก แต่ผมเคยเห็นหน้าตอนอยู่สภาเด็กและเยาวชน ผมก็เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ผมเห็นเขาเป็นที่ปรึกษาครับ

ยิบ : ผมรู้จักก๊ะราดา เมื่อก่อนช่วงปีใหม่ก็ไปเที่ยวกัน แล้วก๊ะราดาก็ไปเที่ยวด้วย ก็เลยรู้จักกันแค่ตรงนั้น ไม่ได้รู้จักมากกว่านั้น รู้แค่ชื่อกับหน้า


เขาเป็นรุ่นพี่พวกเราใช่ไหม

ทุกคน : ครับผม


โอเค อีกสองคน

มุค : ผมเคยได้ยินชื่อเหมือนกัน แต่ผมก็รู้จักกับพี่ของผม พี่ก็คอยพูด พี่เคยชวนผมไปบ้านก๊ะราดา ผมก็สงสัยว่าบ้านก๊ะราดาบ้านใครวะ พอได้มาก็รู้จักแล้วก็สนิทกันมากขึ้น

บัส : ของผมรู้จักตอนเพื่อนชวนมาประชุมครั้งแรก เลยสนิทมาจนถึงตอนนี้ครับ


แล้วงงไหมว่าพี่คนนี้เป็นใครอะไรแบบนี้ ทำไมต้องมาทำงานกับพี่คนนี้ด้วย อะไรแบบนี้

มุค : แรก ๆ ก็งงนะครับ แต่ว่าพอพี่เขาได้เล่ารายละเอียด จนถึงตอนนี้ก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมพี่เขาถึงอยากมาทำงานอะไรแบบนี้


เข้าใจว่าอะไรบ้าง บอกให้พี่ฟังหน่อย

มุค : ที่พี่เขาเล่าให้ฟังนะครับ ความตั้งใจหลักคืออยากพัฒนาตัวของเยาวชนในพื้นที่ให้เป็นคนที่ดีขึ้น พี่เขาไม่ได้ต้องการแค่พัฒนาระดับตำบล แต่ว่าต้องการพัฒนาที่ตัวคนให้ก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำ ให้เก่งขึ้น

ยิบ : ก๊ะราดาเคยพูดว่า เมื่อก่อนก๊ะราฎาไม่มีโอกาสมาทำโครงการแบบนี้ ก๊ะราดาเลยอยากให้โอกาสเด็กในชุมชน อยากให้เด็กในชุมชนมีโอกาสที่ดี


แล้วพวกเรารู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้รับโอกาสแบบนี้ ในการมาเป็นส่วนร่วมทำโครงการในครั้งนี้

ยิบ : รู้สึกดีครับ เหมือนผมได้ฝึกได้พัฒนาตนเองในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงความสัมพันธ์กับเพื่อน พวกผมก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้คุยกัน แต่ละคนโลกส่วนตัวสูง พอได้มาอยู่ร่วมกันเราได้เห็นมุมมองความคิดการเป็นอยู่ของแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เวลาเราออกไปด้านนอกเราจะได้วางตัวถูก ว่าเราควรอยู่อย่างไรเพราะแต่ละคนแตกต่างกัน


ปกติถ้าเป็นตัวยิบ เป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูงไหม

ยิบ : ผมไม่เท่าไร หมายถึงซีแบบนี้ ผมไม่ค่อยเจอซีเลยก่อนหน้านี้ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน หมู่เดียวกัน


ตัวเองเป็นคนอย่างไร

ยิบ : ผมก็เป็นคนที่ไม่ค่อยอยู่บ้านอยู่แล้ว อยู่กับเพื่อน ๆ แต่หลัง ๆ พอเริ่มขึ้นมัธยม เพื่อนเริ่มน้อยลง ก็เลยอยู่บ้านมากขึ้น ถ้าเราอยู่บ้านมันเบื่อไม่มีอะไรทำ มีแต่เล่นเกม เมื่อก่อนผมเคยติดเกมด้วย พอตอนนี้ได้มาทำกิจกรรมผมก็ไม่ค่อยได้ไปจับเท่าไร


แล้วโครงการที่เราทำมันต่างจากอย่างอื่น ๆ ที่เราเคยทำอย่างไรบ้าง

ยิบ : ได้ฝึกตัวเองด้วยครับ เหมือนกับว่าที่อื่นผมเป็นแต่ผู้เข้าร่วม ผมไม่เคยเป็นผู้จัด ได้เข้าใจความรู้สึกของผู้จัด ถ้าเราซนเราดื้อผู้จัดจะรู้สึกอย่างไร จนเรามาจัดเอง


โอเค เดี๋ยวค่อยย้อนกลับมาถามใหม่ คนอื่นมีใครอยากจะตอบอีกไหม รู้สึกอย่างไรที่ได้รับโอกาส เมื่อกี้เราพูดถึงก๊ะราดาว่าเขาเคยพูดว่าเมื่อก่อนเขาไม่ได้รับโอกาส เขาเลยอยากให้พวกเรา ให้เด็ก ๆ เยาวชนในชุมชนได้รับโอกาส มีใครอยากจะแชร์ในส่วนนี้ไหม ว่ารู้สึกอย่างที่ได้รับโอกาส อีกสักคนก็ได้

มุค : ตอนมาทำโครงการแรกๆ ผมยังไม่รู้สึกว่าเป็นโอกาสนะครับ มาสนุก มาอยู่แบบมีความสุขมากกว่า พอช่วงหลัง ๆ คิดว่าตัวเองพัฒนามากขึ้น เข้าใจความรู้สึกของผู้คนได้ง่ายขึ้น อยู่กับสังคมได้ง่ายขึ้น ทักษะแต่ละอย่างในการเข้าสังคมก็เพิ่มมากขึ้นด้วยครับ


ที่บอกว่าอยู่กับสังคมได้ง่ายขึ้น ทักษะในการเข้าสังคม มีตัวอย่างเหตุการณ์ไหม

มุค : ตัวอย่างเหตุการณ์ แบบว่าเหมือนกับที่ห้องเรียน ผมรู้สึกว่าอยู่ร่วมกับเพื่อนได้ทุกคน ทั้ง ๆ ที่เพื่อนอยู่เป็นกลุ่ม เพื่อนผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง เพื่อนผู้ชายอีกสองกลุ่ม ผมจะสนิทกับเพื่อนทุกกลุ่มเลย เข้าไปอยู่ร่วมกับทุกกลุ่มได้ครับ


แต่เมื่อก่อนเราไม่ขนาดนี้อย่างนี้เหรอ

มุค : เมื่อก่อนผมจะอยู่กับเพื่อนแค่สองสามคนอะไรแบบนี้ครับ


แล้วเราคิดว่าเป็นเพราะอะไร เราถึงสามารถเข้ากับทุกคนได้แล้วเดี๋ยวนี้ มันมีทักษะหรือบุคลิกอะไรของเราที่เปลี่ยนไป

มุค : การพูด การเทคแคร์เพื่อน เพื่อนไม่เข้าใจเรา เราก็เข้าไปคุยว่าเป็นอย่างไร ทำไมถึงโกรธเรา ทำให้เข้าใจเพื่อนว่ารู้สึกอย่างไร


เมื่อก่อนอาจจะต่างคนต่างอยู่แบบนี้หรือเปล่า

มุค : ใช่ครับ เมื่อก่อนถ้าโกรธก็คือเลิกคุยกันเลย


โอเค เดี๋ยวเราจะมาโฟกัสที่โครงการ โครงการข้าวอัลฮัม นำชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน โครงการนี้มีเป้าหมายอย่างไร ทำโครงการไปทำไม

ซี : เป้าหมายของเราเริ่มแรกก็คือการเพิ่มมูลค่าให้ข้าวอัลฮัม แล้วถัดมาเราได้เปลี่ยนเป้าหมายใหม่ การสร้างมูลค่าให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เราต้องศึกษาให้ได้อย่างลึกซึ้งก่อน เลยเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการศึกษาเรียนรู้เรื่องข้าวอัลฮัมครับผม


เป็นอย่างไรมาอย่างไรถึงได้ตกลงทำโครงการนี้ เพราะเรามีโครงการจากปีแรกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ตอนนั้นในกลุ่มเราคุยกันอย่างไร ว่ามาทำโครงการนี้กันดีกว่า ช่วยเล่าย้อนให้หน่อย

มุค : เราก็เลือกอยู่หลายอย่าง ที่เลือกกัน แต่ละคนเสนอมาตกลงทำเรื่องข้าวอัลฮัมเหตุผลว่านาข้าวเริ่มลดลง ข้าวอัลฮัมเป็นข้าวพื้นเมืองของพวกผมด้วย เริ่มหายไป ก็เลยอยากรักษาไว้ แต่อันที่จริงก็มีข้อมูลอยู่แล้วตั้งแต่รุ่นพี่รุ่นก่อน พอดีเขาได้ทำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เขาได้ไปหาข้อมูลมาแล้วแบบบาง ๆ แต่ยังไม่ได้ลงลึก พวกผมเลยเลือกจะมาลงลึกเอาจริงกับเรื่องข้าวอัลฮัม


คือเรารู้ว่าข้าวอัลฮัมเป็นข้าวพื้นเมืองจากข้อมูลที่รุ่นพี่เขาเก็บมาใช่ไหม แล้วก็สนใจเรื่องนี้ อันนี้ทวนจากที่พวกเราพูดนะ เราเห็นว่านาเริ่มถูกทิ้งร้าง บางพื้นที่เขาก็ไม่ได้ใช้ หรือไม่ก็ขายไปทำอย่างอื่นใช่ไหม โอเค มีใครอยากจะเสริมตรงนี้อีกไหม

ซี : ไม่มี ครอบคลุม


ตอนแรกเรามองเรื่องสร้างมูลค่า แต่ต่อมามันมีจุดไหนเหรอ ที่ทำให้เราคิดว่าเราควรจะศึกษาเก็บข้อมูลเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับข้าว

มุค : ตอนนั้นพวกเราคิดว่ายังมีข้อมูลไม่พอ ตอนแรกจะสร้างผลิตภัณฑ์ แต่ยังไม่มีข้อมูล ยังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับข้าวเลย เรื่องโภชนาการก็ไม่รู้ ลักษณะของข้าวเอาไปผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง เมื่อไม่มีความรู้ เราก็ไม่สามารถนำข้าวไปทำประโยชน์ได้ เลยอยากไปเรียนรู้ตัวของมันก่อน


เล่าไทม์ไลน์ขั้นตอนการทำโครงการ พวกเราทำอะไรบ้าง

ซี : เริ่มในขั้นตอนแรก หลังจากที่เราได้ประเด็นข้าวอัลฮัม ก็ลงพื้นที่ไปหาปราชญ์ครับ เราต้องการข้อมูลเกี่ยวกับข้าวอัลฮัม เพื่อเอามาเขียนโครงการ หลังจากนั้นก็ไปนำเสนอโครงการ รอบแรกแล้วมาเริ่มกระบวนการ RDM ก็คือกระบวนการศึกษาค้นคว้าข้อมูล ใช้กระบวนการ 3R - R แรกก็คือ รีเสิร์ช การค้นคว้าข้อมูลที่มีอยู่แล้วทางอินเทอร์เน็ต R ที่สองคือ รีวิว หาข้อมูลจากตัวบุคคลที่ไม่มีเป็นเอกสาร ที่มาจากการสัมภาษณ์ การลงพื้นที่ การสังเกต แล้วก็ R ที่สาม รีคอบเซปชวล คือการเอาข้อมูลจาก 2R ก่อนหน้านี้มาสรุป


R1 หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต แต่พอเป็น R2 ที่เป็นตัวบุคคล เราไปหาสัมภาษณ์บุคคลกี่คน แต่ละคนเขาเด่นในเรื่องอะไรบ้าง

มุก : คนแรกก็คือ ตำเฉ็ม เป็นผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้ ศูนย์ข้าว เป็นปราชญ์ข้าว พวกผมก็ได้ไปหาข้อมูลจากเขา อีกคนหนึ่งก็คือ มะหะหมุด หลีนิ่ง (โกบ) เป็นผู้ดูแลโรงสีข้าว ทำงานเกี่ยวกับข้าวมาหลายปี เกี่ยวกับการสีข้าว


ตำเฉม เขาเป็นคนดูแลศูนย์ข้าวใช่ไหม เป็นปราชญ์เรื่องข้าวดูแลศูนย์ข้าวใช่ไหม เรารู้จักตำเฉมได้อย่างไร ใครแนะนำ

ซี : ก๊ะราดาครับ


คนต่อไป เราเรียกเขาว่าอะไรนะ งะโกก เขาเป็นอย่างไร เขามีโรงสี

ซี : เขาเป็นผู้ดูแลโรงสี


เป็นผู้ดูแลโรงสี คนนี้เรารู้จักเขามาก่อนไหม

ซี : ผมรู้จักมาก่อน ตอนสมัยเด็ก ๆ ผมไปเล่นแถวบ้านเขาครับ


คือคนนี้เป็นไอเดียของซี พูดแบบนี้ได้ไหม

ซี : ไม่เชิงครับ ผมรู้จักเขา แต่ผมไม่รู้ว่าเขาทำอะไร ผมไม่รู้ว่าเขาเป็นคนดูแลโรงสีมาก่อน จนก๊ะราดาบอกว่าคนนี้ดูแลโรงสี ผมก็อ๋อ รู้จัก


โอเค ต่อมามีใครอีก สองคนก่อนเนอะ ตอนแรก เรื่องข้าว แล้วเราก็เอาข้อมูลมาสรุปรวบยอด มีอีกไหม หลังจากนั้นทำอะไรต่อ

ซี : หลังจากที่เราทำ 3R เสร็จเรียบร้อย เราก็เข้าสู่งวดที่สอง คือช่วง D กับ M พอได้ข้อมูลทั้ง 3R มาแล้ว เราเอาข้อมูลมากำหนดเป็นแผนกิจกรรมว่าจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง


โอเค ออกมาเป็น 4 กิจกรรม ถูกไหม

ซี : ถูกครับผม


ตรงนี้แหละ 4 กิจกรรม พี่อยากจะเน้นโดยเฉพาะเลย เริ่มจาก 4 กิจกรรมมีอะไรบ้าง แล้วเดี๋ยวเรามาช่วยกันลงรายละเอียดทีละอัน โอเคไหม 4 กิจกรรมมีอะไรบ้าง

ซี : นานอกนา แผนที่นา


แผนที่นาที่เป็นออนไลน์ถูกไหม

ซี : ครับผม ตอนนี้ยังไม่ออนไลน์เลย


ตอนนี้ยังอยู่ในรูปแบบฉบับบันทึกข้อมูลถูกไหม

ซี : ครับผม ตอนนี้ยังออฟไลน์อยู่ อันที่สามก็ผลิตภัณฑ์ แล้วก็สี่การแผยแพร่


โอเค เริ่มจากกิจกรรมแรกเลย ช่วยกันเล่าหน่อย กิจกรรม “นานอกนา” กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์อะไร แล้วทำอะไรบ้าง

ซี : กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์คือ ตอนแรกเราวางแผนไว้ว่าอยากปลูกข้าว แต่อย่างที่ผมเคยบอกว่า ช่วงทำโครงการไม่ใช่ฤดูกาลปลูก พวกผมเลยตัดสินใจทำนานอกแปลงนา คือปลูกในถุงดำและห่วงล้อยาง วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปลูกข้าว ตั้งแต่ที่เป็นเมล็ด ว่าข้าวเจริญเติบโตขึ้นมามีลักษณะเป็นอย่างไร แล้วก็ได้ศึกษาว่า การให้น้ำการให้ปุ๋ย ควรให้เท่าไร ขั้นตอนการแตกกอ พวกเราอยากดูว่าต้นข้าวสามารถแตกกอได้กี่กอในหนึ่งเมล็ดครับ


มีใครจะเสริมอีกไหม

มุค : ตอนนี้ก็ออกรวงแล้วนะครับ


แล้วกิจกรรมนานอกนานี่เราทำกับใครบ้าง

มุค : มีตำเฉ็มที่คอยมาช่วยปรึกษาว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ที่เหลือจะเป็นแบบกิจกรรมนี้ส่วนใหญ่พวกเราทำเองครับ


คือนานอกนาเนี่ย เหมือนเป็นกลุ่มพวกเรานี่แหละที่ศึกษาเองเพื่อให้ได้ข้อมูล แล้วก็มีตำเฉ็มเป็นปราชญ์มาให้ความรู้ แล้วนานอกนาเราใช้พื้นที่บ้านใครเป็นหลักในการทำ

ทุกคน : ก๊ะราดา


แล้วจัดแจงพื้นที่อย่างไร

ซี : ปลูกในถุง


ทำกันกี่ถุง

ยิบ : หนึ่งร้อยพอดี


ใช้เมล็ดข้าวกี่เมล็ด

มุค : ซื้อเป็นกิโลกรัม แต่ละถุงก็ใส่ไม่เท่ากันครับ บางถุงใส่หนึ่งเมล็ดบ้าง


เล่าให้ฟังหน่อยว่า อย่างตอนนี้เรากำลังจะเตรียมถุงละ เราทำอย่างไร เริ่มจากซื้อเมล็ด

ซี : ได้เมล็ดพันธุ์มาจากตำเฉ็ม แกปลูกข้าวอัลฮัมอยู่แล้ว ผมก็อยากได้สายพันธุ์ของแก เลยเอาเมล็ดจากแก พอได้เมล็ดแกก็บอกว่ามันมีวิธีคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ตอนแรกแกให้มาก่อน 2 กิโลกรัม หลังจากที่เราเลือกเมล็ดแล้ว พวกผมก็ไปซื้อแผงเพาะเมล็ดพันธุ์เหมือนที่เขาเพาะ


มันเป็นแผงเล็ก ๆ ที่เขาเพาะข้าวที่เขาโยนถูกไหม

ซี : ใช่ครับ ไปซื้อมา 6 แผง ไปเอาดินมา แล้วก็ใส่เมล็ดพันธุ์ข้าว จากที่นั่งนับ พวกผมก็นั่งนับตอนใส่ว่าในแผงหนึ่งแผงมีเท่าไรกัน นับได้พันกว่า ตอนแรกก็ใส่หลุมละเมล็ด พอทนไม่ไหวแล้วก็เลยโยนลงในแผงเลยไม่นับแล้ว

ยิบ : บางอันหยิบติดมาหลายเมล็ด สองสามเมล็ด ไม่หยิบมาทีละเมล็ดแล้วก็ใส่สามเมล็ดไปเลย


แล้วถ้าวิธีการจริง ๆ ที่ตำเฉมบอกเรา เขาแนะนำว่าอย่างไร ให้ใส่ทีละเมล็ดหรือใส่โรย

ซี : ให้ใส่โรย แต่พวกผมอยากดูทีละเมล็ดครับ พวกผมอยากดูการเจริญเติบโตทีละเมล็ดครับ


คือพวกเราตั้งใจว่ากิจกรรมนี้ออกแบบมา อยากจะดูการเจริญเติบโตทีละเมล็ด แต่พอทำไปสักกี่หลุมไม่รู้ก็หมดความอดทน อันนี้เข้าใจถูกไหม

ซี : ครับ แล้วก็เพาะไว้ 30 วัน หลังจากที่ต้นกล้าเจริญเติบโตพอจะลงถุงได้ พวกผมก็นำต้นกล้าไปลงถุง ใส่ในถุงดำ จากนั้นก็เริ่มดูแลรักษาและสังเกตการณ์การเจริญเติบโต


พี่อยากรู้สองเรื่องตรงกิจกรรมนี้ วิธีคัดเลือกเมล็ดที่มีคุณภาพดูอย่างไร แล้วเราได้ผลลัพธ์จากการที่เราศึกษาการเจริญเติบโตของข้าวได้อะไรมาบ้าง เริ่มจากวิธีคัดเลือกเมล็ดที่มีคุณภาพต้องดูอย่างไรบ้าง

ยิบ : เริ่มจากเราใส่น้ำลงไปในกะละมัง ประมาณครึ่งหนึ่ง หลังจากนั้นเราก็ใส่เกลือเข้าไป มันจะมีที่วัดอยู่คือไข่ เราจะต้องใส่เกลือลงไปจนกว่าไข่จะลอยน้ำ ถ้าไม่ใส่เกลือไข่จะจมน้ำ


เดี๋ยว ๆ เราตอกไข่ไปตอนไหน

มุค : เขาจะใช้ไข่ในเปลือกครับ

ยิบ : ไข่ที่ยังไม่ได้ตอก

ซี : ตอนที่ตำเฉ็มบอกให้เอาไข่เป็นตัวชี้วัด ครั้งแรกพวกผมตอกไข่ใส่ลงไปครั้งหนึ่งใส่เกลือลงไป 6 ถุง ผมก็โอเค คนเกลือในน้ำเท่าไหร่ไข่ก็ไม่ลอยขึ้นมาสักที พวกผมก็คิดว่าผิดไหมวะ ก็กลับไปถามตำเฉ็ม ตำเฉ็มบอกไม่ต้องตอกไข่ ให้ใส่ลงไปเลย แล้วพวกผมก็กลับมาทำใหม่


เดี๋ยวนะ ในโคมมันก็มีเมล็ดข้าวเหรอ

ยิบ : ตอนนั้นยังไม่ใส่ ใส่น้ำก่อน

ซี : ต้องให้ไข่ลอยน้ำก่อน


อ๋อ เราเตรียมน้ำ ใส่เกลือ โดยเอาไข่เป็นตัวชี้วัดว่าถ้าไข่ลอยก็ถึงโอเค

ยิบ : ให้โผล่พ้นน้ำเท่ากับเหรียญห้าบาทครับ


อ๋อ มีระดับนั้นอีก มันเอาหัวหรือมันเอาก้นขึ้น เวลาไข่มันลอย

มุก : ผิวด้านไหนขึ้นก็ได้ครับ

ซี : ผิวของเปลือกไข่ครับ


ทีนี้อย่างไรต่อ หลังจากโผล่ขึ้นน้ำมาเท่ากับเหรียญห้าบาทแล้ว

ยิบ : หลังจากนั้นเราก็เทข้าวลงไป มันจะมีข้าวที่ลอยขึ้นกับข้าวที่อยู่ด้านล่าง ข้าวที่ลอยขึ้นเป็นข้าวที่เม็ดมันไม่สมบูรณ์ เราจะใช้ข้าวที่จมอยู่ด้านล่าง


โอเค แล้วที่ซีบอกตอนแรกใช้เมล็ดเปลืองมาก มันเกิดมาจากอะไร

ซี : เกิดมาจากที่ว่า พวกผมได้มา 2 กิโลกรัม อันที่พวกผมใช้ปลูกคือใช้น้อยมาก คือใช้แค่หนึ่งกำมือ ไม่ต้องใส่ในกะละมัง


คือเราไม่ทันได้นึกเพราะไม่รู้ว่าต้องใช้เยอะแค่ไหน เราก็เลยทำไปทั้งหมด

ซี : ใช่ครับผม เหลือแล้วก็ทิ้ง เสียดายอยู่เหมือนกัน


เข้าใจแล้ว ตอนที่เราทำเราก็เอาทั้ง 2 กิโลกรัมมาแช่เลยเหรอ

ซี : ครับผม


ซึ่งใช้จริง ๆ แค่หนึ่งกำมือ

ซี : ครับ


อันนั้นคือวิธีคัดเลือกเมล็ดข้าวที่มีคุณภาพ แล้วพอเราได้ เราต้องเอาข้าวกลับไปตากอะไรอีกไหม หรือเอาไปปลูกได้เลย

ซี : ต้องแช่น้ำไว้หนึ่งคืนครับ 24 ชั่วโมง

มุค : แล้วก็ยกทิ้งตั้งไว้ในที่ที่มีความชื้นเพื่อให้รากมันงอกออกมา พอรากมันงอกเราก็ปลูกได้เลย พอรากมันงอกก็นำไปใส่ในที่เพาะได้เลยครับผม


ตรงนี้พี่ก็เลยงงนิดหนึ่งว่า ตอนที่เราบอกว่าเอาไปใส่ในที่เพาะ ตอนแรกเราบอกว่าหยอดทีละเมล็ด หรือจริง ๆ คือทีละต้น

มุก : ทีละเมล็ด


แล้วเมล็ดมันรากงอกแล้วไม่ใช่เหรอ

ยิบ : งอกนิดเดียว มันเป็นหัวขาว ๆ


เข้าใจแล้ว ที่แช่นี่แหละใช่ไหม ที่เอาไปโรย อ๋อ โอเค เสร็จแล้วทำอย่างไรต่อ

ยิบ : การคัดเลือกเมล็ดมีแค่นั้นครับ


ผลลัพธ์ เราได้เรียนรู้ ได้บันทึกอะไรมาบ้าง จากกิจกรรมนานอกนา

มุค : จากการสังเกต เมล็ดข้าวสามเมล็ด แตกต้นได้ถึงสามสิบถึงสี่สิบต้น สูงสุดได้ถึงห้าสิบต้น ในหนึ่งต้นจะมีหนึ่งรวง ในหนึ่งรวงมีแง่งที่เป็นเส้นเล็ก ๆ แตกออกมา15 แง่ง ในหนึ่งแง่งด้านบนจะสั้นใ นับเมล็ดข้าวได้ประมาณ 10 – 15 เมล็ดครับ ตรงกลางจะมี 20 – 25 เมล็ดขึ้นไป แล้วในหนึ่งรวงมีร้อยกว่าเมล็ดขึ้นไป แล้วแต่ความสมบูรณ์ครับ


แล้วเรามีศึกษาต่อไหมว่า ต้องอยู่ประมาณกี่เมล็ดในหนึ่งรวง ถึงจะถือว่าให้ผลผลิตดี

มุค : มาตรฐานที่เขาปลูกในการทำนาทั่วไป เขาจะใช้สี่เมล็ดในแต่ละกอหนึ่ง


ที่ตอบมาตอนแรกก็โอเคแล้ว คืออันนั้นก็อยากรู้เหมือนกัน ในหนึ่งรวงมันควรจะได้สักกี่เมล็ด เขามีสถิติกันไหมในกลุ่มเกษตรกร

ซี : ไม่มีใครนับ


ที่ใส่หนึ่งเมล็ด เราได้ผลลัพธ์อะไรมาบ้าง

มุค : หนึ่งเมล็ดมันก็ได้สักประมาณ 12 ต้น 1 รวง ก็ได้ 15 เท่าเดิมครับ


มีอะไรอีก

มุค : มีเรื่องการดูแลรักษา ใส่ปุ๋ย แต่ว่านานอกนาพวกผมมีข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งก็คือข้อมูลเขาบอกมาว่าหากในกระถางไม่มีน้ำ ข้าวที่ออกรวงมาจะเป็นข้าวขาว เป็นน้ำ มันไม่เป็นเมล็ด กระถางถุงดำของพวกผมมีรู ทำให้น้ำไม่สามารถขังอยู่ในนั้นได้ เลยออกรวงมา แต่ก็ไม่เป็นเมล็ดครับผม กินไม่ได้


แล้วจริง ๆ มันควรไม่ต้องมีรูเหรอ

มุค : ใช่ครับ มันต้องให้น้ำขังไว้อยู่ในนั้นเลย แต่ว่ากระถางถุงดำน้ำไหลออกหมด มันก็แห้ง เมื่อใส่ปุ๋ยก็ลืมสังเกตว่าไม่มีน้ำ เลยถือว่าเป็นข้อผิดพลาด


ตรงนี้เราต้องแก้ปัญหาอย่างไรไหม หรือว่าเราทำอย่างไรกัน

มุค : มันไม่มีวิธีแก้ครับ มันพลาดแล้ว

ยิบ : ต้องเริ่มใหม่เลยครับ


สรุปว่าอันนี้เราก็ได้เรียนรู้ว่ามันผิดพลาดแล้ว แก้ไขไม่ได้แล้ว เมล็ดไม่งอกรากออกมาให้

มุค : เราก็ต้องทำใหม่


ทำใหม่แล้วได้ผลออกมาเป็นอย่างไร

ยิบ : กว่าเราจะรู้ว่าน้ำหมดก็หลัง ๆ แล้ว


แล้วทั้งหมดทั้งมวลกิจกรรมนี้ใช้เวลาเท่าไร

มุก : 6 เดือน ข้าวออกรวง 6 เดือน เริ่มเดือนมีนาคม ประมาณ 6 เดือน


อันนี้ยังไม่รวมที่ไปทำนาใช่ไหม

มุก : ยังเป็นนาในกระถางครับผม


ก็คือเราต้องใช้เวลาในการศึกษาเก็บข้อมูลข้าวอัลฮัม เพื่อเรียนรู้วิธีการเพาะคัดเมล็ดต่าง ๆ ใช้เวลา 6 เดือน แล้วก็รู้ข้อผิดพลาดว่ามันไม่ควรมีรูที่ให้น้ำออก ครบหรือยังกิจกรรมนี้ ต่อไปแผนที่นาใช่ไหม อันนี้คือเรียงตามลำดับที่พวกเราทำใช่ไหม

ซี : แผนที่นา พวกเราลงพื้นที่ไปสำรวจแล้วก็วาดออกมาว่านาตรงนี้เป็นนาที่เขาทำอยู่หรือว่าเป็นนาร้าง ไปดูด้วยตาตัวเอง

มุค : เราแบ่งกลุ่มแต่ละหมู่บ้าน


แบ่งเป็นกี่กลุ่ม แล้วไปกี่หมู่บ้าน

มุค: 2 กลุ่ม

ยิบ : 2 ฝั่งไง ฝั่งนู้นก็ไปฝั่งนู้น ฝั่งนี้ก็ไปฝั่งนี้

มุก : หมู่ 3 มีข้าวเยอะที่สุด หมู่ 5 ไม่มีนา พวกเราสำรวจพบข้าวที่ หมู่ 3 หมู่ 6 แล้วก็หมู่ 1 นิดหน่อย


บวกหมู่ 1 นิดหนึ่ง หมู่ 5 ไม่มีนา แล้วเป็นอะไรเสียส่วนใหญ่

มุค : หมู่ 5 เป็นยางพารา ส่วนใหญ่ปลูกยางกัน


ถ้าพวกเราไม่ต้องไปเก็บข้อมูลแบบนี้ เราก็จะไม่ได้รู้ชัดเจนขนาดนี้ใช่ไหม ว่าหมู่ไหนทำอะไร ๆ ถูกไหม

ยิบ : คือแบบบางทีสถิติที่มีอยู่มันไม่เป็นจริง มันไม่เรียลไทม์ เหมือนว่าเราไปเอาข้อมูล 5 ปีที่แล้ว พอเราไปดูเราก็ได้แบบเรียล ๆ เลยว่าของจริงปัจจุบันมีที่นาอยู่เท่าไร


แล้วก่อนที่เราจะไปลงพื้นที่เองด้วยการแบ่งกลุ่ม เราได้ไปหาข้อมูลที่เป็นเอกสารมาก่อนไหม

ยิบ : เอกสารเราได้ไปเอาที่เกษตรอำเภอครับ


อันนี้ใครประสานเข้าไป ซี คือไปเอาเอกสารมาจากเกษตรอำเภอ

มุค : เอกสารแสดงรายละเอียดว่าผู้คนในตำบลมีนาอยู่เท่าไร แล้วใครเป็นผู้ถือครอง เราจะได้ลงไปหาคนนั้นถูกว่านาเขาอยู่ตรงไหน


ตรงนี้เราคิดอย่างไร ถึงคิดว่าควรจะต้องไปเอาเอกสารมาก่อน ตรงนี้ก๊ะราดาเขาแนะนำ หรือเราคิดกันเองว่าทำแบบนี้ก่อนดีกว่า แล้วก็ค่อยไปลงจริง ๆ

ซี : พวกผมลงพื้นที่ไปก่อน แล้วค่อยไปเอาข้อมูลที่เกษตรอำเภอครับ ตอนแรกที่พวกผมลงพื้นที่ไปสำรวจก็ได้แผนที่นามาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พอมาดูแล้วเราก็ไม่รู้ว่านาตรงนั้นเป็นของใคร เราก็เลยอยากรู้ เราจะหาข้อมูลได้จากที่ไหน ก๊ะราดาก็แนะนำว่าให้ไปหาที่เกษตรอำเภอ เผื่อเขามี ขึ้นทะเบียนที่ดิน พวกผมก็ไปหาแล้วก็ได้ข้อมูลมา


เราก็ได้เอาข้อมูลนั้นมาเช็คกับข้อมูลที่ไปหา ถูกไหม คือเราไปลงพื้นที่มาแล้ว แล้วเราก็ไปเอาข้อมูลเอกสาร ทีนี้เราเอาสองข้อมูลมาเปรียบเทียบกันไหม หรือว่าอย่างไร

ซี : อันที่จริง มันจะต้องเอามาเทียบกัน แต่พวกผมยังไม่ได้ทำ พวกผมมีข้อมูลแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงไปเช็คข้อมูลอัพเดทว่าตรงกันไหม ที่นาของเขาเป็นอย่างไร


งั้นตอนนี้ตรงแผนที่นา ถ้าอัพเดตล่าสุดคือเรามีอะไรกันแล้วบ้าง

มุค : นามีเท่าไร นาร้างเท่าไร เป็นแค่จำนวนครับ แล้วก็ตัวรูปแบบว่าอยู่ตรงไหนบ้าง


เราใช้เวลากับตรงนี้ไปลงพื้นที่กี่ครั้ง

มุก : พวกเราไปลงพื้นที่หลายครั้ง เพราะต้องไปเดินนับที่นาเองเลยว่านาอยู่ตรงไหน แล้วก็ตรวจเช็ค ในกูเกิลเอิร์ธเทียบกัน เพื่อวาดแผนที่นา ไปนับว่าตรงไหนร้าง ตรงไหนใช้ได้ ตรงไหนเปลี่ยนเป็นที่ดินไปแล้ว


เออ เล่าประสบการณ์การใช้กูเกิลเอิร์ธ แล้วมาเทียบกับของจริงให้ฟังหน่อยสิ พี่ไม่เคยทำอะไรแบบนี้

ยิบ : มันจะหลงทิศครับ พอเรามาดูกับของจริง เราลงไปในนา เราไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน ดูในกูเกิลเอิร์ธมันเป็นสีขาว เพราะกูเกิลเอิร์ธบันทึกไว้ช่วงคนไม่ทำนา แต่เราไปตอนที่มีนาแล้ว

มุค : เราเอาข้อมูลว่านาที่เราไปดูอยู่ตรงไหนในกูเกิ้ลเอิร์ธ ระยะของนา แล้วก็วาดลงไปในแผนที่


งั้นถ้าแผนในอนาคต แผนที่นาเราอยากจะให้มันออกมาในรูปแบบไหน

มุก : ถ้าตั้งใจจริงก็ในรูปแบบเว็บไซต์


เว็บไซต์ ให้มันออกมาเป็นเว็บไซต์ที่คนเข้าไปเช็คได้ใช่ไหม ทำไมต้องทำละเอียดถึงขนาดนี้ด้วย จุดประสงค์ของเราคือ ต้องการทำอะไร

มุก : เพราะไม่มีข้อมูลอะไรเลยเกี่ยวกับนาในตำบลของเรา พวกผมอยากจัดเก็บไว้เป็นข้อมูลทางสถิติ ว่าเป็นอย่างไร แล้วอัพเดตไปเรื่อย ๆ ขนาดว่าพวกผมไปหาข้อมูลยังไม่มีเลยสักนิด ก็ต้องไปหาที่ผู้คน ผมจึงอยากทำออนไลน์ไว้ ผู้คนสามารถเข้ามาหาได้ตลอดครับ


พอจะจำได้ไหมว่าถ้าให้ประเมินว่าในหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ พื้นที่นาที่ปลูกเป็นข้าวอัลฮัมมีเยอะไหม

มุค : แค่เช็คว่าตรงไหนร้างไม่ร้างครับ แต่ว่ามีข้าวสายพันธุ์อื่นอีกที่เรายังไม่เช็คว่าอยู่ตรงไหน

ซี : เรายังไม่ได้ลงไปหาข้อมูลในส่วนตรงนั้น เพราะว่าข้อมูลตรงนั้นต้องลงไปเจอกับเจ้าของที่ก่อน ส่วนไปเจอเจ้าของที่เรายังไม่ได้ไปเจอครับผม

มุค : ข้อมูลตรงนั้นจะเป็นข้อมูลที่ไม่แน่ชัดด้วยครับ เหมือนกับว่าคนบางคนปีนี้เขาปลูกข้าวอัลฮัม ปีหน้าเขาอาจจะปลูกข้าวอื่นก็ได้ มันก็เลยต้องอัพเดตตลอด


งั้นแผนที่ตอนนี้ เราก็ได้รู้ว่าตรงไหนร้างหรือไม่ร้าง ซึ่งเปอร์เซ็นต์แล้วเป็นอย่างไรนะ 50/50

มุค : มันมีข้อมูลอยู่แต่ผมลืมแล้ว

ยิบ : มันอยู่ในสมุด

มุก : ไม่ เก็บไว้ในคอมแล้ว


ใครเป็นคนพิมพ์ เดี๋ยวพี่จะขออันนั้นหน่อยนะ

มุก : ได้ครับ


ต่อไปมีอะไรอีกไหม แผนที่นาตรงนี้ที่เราทำ มีปัญหาอุปสรรคอะไรไหม หรือมีเหตุการณ์ประทับใจอะไรหรือเปล่า เรื่องค้นพบที่เรารู้สึกเป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยแบบนี้

ยิบ : อุปสรรคก็คือร้อนมากกว่าครับ

บีม : ตอนที่ลงพื้นที่ เวลาต้องสำรวจละเอียด ต้องเดินเอง เข้าป่าเอง บางทีก็หญ้าถึงระดับเอวครับ


อย่างเราไปเหมือนเราดุ่ม ๆ ไป คนที่อยู่แถวนั้นเขาไม่สงสัยเหรอว่า เราไปทำอะไร เขาระแวงอะไรแบบนี้ไหม

บีม : สงสัย เขาก็ถามครับ ผมก็บอกว่ามาสำรวจพื้นที่นาครับ เขาก็เข้าใจครับ คนที่ถามก็เป็นคนเลี้ยงวัวครับ


มีปัญหาอย่างอื่นอีกไหม

ซี : มีปัญหาก็คือ เราไม่ได้สำรวจทุกวัน เราสำรวจตอนเดือนมกราคม ถัดจากนั้นอีกสองเดือนพื้นที่เปลี่ยนไปเลย เขามาสร้างบ้านมาถมดินเพิ่มไปอีก ซึ่งมันต้องอัพเดต ตอนนั้นที่พวกผมสำรวจ สำรวจตอนธันวาคม ถัดมาอีกหกเดือนก็ขุดลอกขุดคลองประมาณ 100 ไร่

ยิบ : เคยมีโครงการหนึ่งไร่หนึ่งแสน แล้วก็โครงการอื่น คนก็เข้าร่วมกันเยอะ พอเราเก็บข้อมูลไปแล้ว มีหลายไร่ที่เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น

ซี : ในระหว่างที่เรากำลังประเมินผลงาน คือเขาเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแล้ว ถ้าจะทำก็คือต้องลงไปใหม่อีกครั้ง


แล้วอย่างนี้พวกเราไม่รู้สึกว่าเหนื่อยฟรีเหรอ

ซี : ไม่ ตอนลงก็สนุกดี


ถ้าพวกเราไม่มองว่าเหนื่อยฟรี พวกเราคิดว่าการที่เรารู้ เราลงไปสำรวจครั้งหนึ่งแล้ว ต่อมามันเปลี่ยนแปลง เราก็เห็น คือเรามองเห็นมุมที่เป็นประโยชน์ หรือข้อดีของการที่เราได้ลงสำรวจไหม ถึงแม้ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เข้าใจที่พี่ถามไหม คือเหมือนเมื่อก่อน พวกเราไม่รู้เลย ไม่รู้เรื่องอะไรสักอย่าง แค่ขี่รถผ่าน แต่ตอนนี้เรามีประสบการณ์แล้ว ว่าครั้งหนึ่ง หลาย ๆ ครั้งเลย เราได้ลงสำรวจ เราได้รู้ว่าตรงนี้เป็นแบบนี้ แต่มันก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ตรงนี้เราได้บทเรียน หรือได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการที่เราไปสำรวจพื้นที่ชุมชนด้วยตัวเอง ยกตัวอย่าง เราอาจจะรู้ว่า อ๋อ พื้นที่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานะ อันนี้เราก็ไม่เคยรู้ ข้อมูลอะไรพวกนี้ แต่อันนี้พี่ตอบเอง พี่อยากให้พวกเราตอบ

ซี : แค่ในช่วงเวลาที่เราทำโครงการตอนขี่รถผ่าน นาบางแห่งก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปแล้ว เลยรู้สึกเศร้า ผมเข้าใจว่าแต่ละคนมีความจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ แต่ในความรู้สึกของผมคือ รู้สึกเสียใจและเสียดาย ในเมื่ออัตราของคนเพิ่มขึ้น อาหารต้องเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่แหล่งอาหารกลับลดลง พวกผมก็รู้สึกแบบ เอ๊ะ...มันน่าเสียดายนะ


ไม่ต้องร้องไห้นะซี อันนี้แหละที่พี่อยากได้ แต่พี่ถามไม่ถูก คือพี่อยากรู้ว่าจากการสำรวจของเรา เราเห็นแนวโน้มว่าพื้นที่ในชุมชนของเรา มันจะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้น หรือจริง ๆ แล้วมันกำลังจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น ซึ่งซีก็บอกว่าส่วนหนึ่งมันมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นใช่ไหม ที่ไม่ใช่การเพาะปลูก คนอื่นมีอะไรจะเสริมไหมสิ่งที่เราได้เห็นจากการไปเก็บข้อมูล หรือสิ่งที่เราก็รู้สึกเหมือนกัน

ยิบ : ก๊ะราดาเคยให้เราดูภาพเมื่อกี่ปีที่แล้วไม่รู้ พอเรามองไปมีแต่พื้นทุ่งนาเป็นสีเขียวสวยมาก ถ้าได้ถ่ายรูปตรงนั้นมันจะสุดยอดมาก แต่พอมาดูตอนนี้มีบ้านมีสวนปาล์ม มีอะไรที่ดูแล้วไม่เหมือนเมื่อก่อน ภาพเมื่อก่อนสวยมาก พอเขาเปลี่ยนไปก็เลยรู้สึกว่ามันน่าเสียดายครับ


ใน 5 คนนี้มีครอบครัวใครไหม ที่ทำเกษตรทำนาเหมือนกัน

มุค : ครอบครัวผมครับ แต่ว่าเลิกทำไปแล้วครับ ทำเป็นสวนปลูกแตงโมครับ


เคยทำนา แต่ตอนนี้ทำอย่างอื่น ปลูกแตงโมอย่างเดียวเลย หรือปลูกผสม ๆ

มุก : แตงโมบ้าง แต่ปีนี้ปลูกแตงกวา


อันนี้สำหรับปลูกในครัวเรือนหรือปลูกขาย

มุก : อันนี้ปลูกในครัวเรือนครับ ปลูกตามฤดูกาล แล้วก็ขึ้นอยู่กับคนปลูกว่าอยากปลูกอะไร เป็นที่ดินของปู่ครับ


บัสทำนาเหรอ ทำเกษตร หรือทำอะไร

ซี : ครอบครัวของเขาปลูกข้าว เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ไปปลูกอย่างอื่น ปลูกผักกาด ปลูกผักคะน้า


แต่ไม่ถึงกับขายหรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เกษตรใช่ไหม

บัส : ใช่ครับ


เหลืออีกสองกิจกรรม อันต่อไป มีผลิตภัณฑ์กับการเผยแพร่ ผลิตภัณฑ์มีอะไรบ้างตอนนี้

ยิบ : ตอนแรกคิดทำเป็นสบู่ แต่เราคิดว่ามันข้ามขั้นเกินไป เลยเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อน คือ การทำแป้งข้าว อยากรู้ว่าข้าวจะทำออกมาเป็นแป้งได้ไหม เราไปหาเครื่องโม่แป้งหินโบราณแบบดั้งเดิมในชุมชน ขอยืมมาใช้ก่อน พวกเราลองเอาข้าวที่โม่ได้เป็นน้ำไปตากแดด อยากดูว่าจะได้แป้งแบบที่ซื้อตามร้านไหม พอเอามาตากแดดก็มีบางส่วนที่เสีย เพราะเราไม่รู้วิธีการจัดการที่ดีพอ ตอนหลังเลยใช้แป้งที่เป็นน้ำ ลองเอาไปทำขนม


ขนมอะไรบ้างจ๊ะ

ยิบ : ขนมดอกจอก เป็นเหมือนดอกไม้

มุก : อีกอันหนึ่งก็คือ ขนมโกสุ้ย (ขนมถ้วยน้ำตาลแดง กินกับมะพร้าวขูด)

บีม : คล้าย ๆ กับเป็นถ้วยเล็ก ๆ กินกับมะพร้าว คลุกเกลือนิดหน่อย มันจะมัน ๆ อร่อยครับ


มีอีกไหม แต่ตอนนี้ทำไปสองอย่าง แล้วไอเดียที่จะต้องทำผลิตภัณฑ์พวกนี้มันมาได้อย่างไร เราชวนกันคิดอย่างไร

ยิบ : ตอนแรกอยากเพิ่มมูลค่าข้าว เราจะหาวิธีการอย่างไร เลยคิดว่าถ้าสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาหนึ่งชิ้น จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้

มุก : แต่ว่าเราอยากลองง่าย ๆ ก่อน การทำของกิน/อาหาร ง่ายสุดแล้ว เลยเลือกที่จะทำขนมก่อน


แล้วที่ต้องไปหาเครื่องโม่อะไรมา เราต้องไปสอบถามความรู้จากใครไหม หรือว่ามีผู้ใหญ่หรือมีใครช่วยในกระบวนการนี้ไหม

มุก : เครื่องโม่นี่เราไปยืมของผู้ใหญ่ในบ้านมาคนหนึ่ง เขาแค่บอกวิธีการใช้ว่าต้องหมุนอย่างไร ง่าย ๆ ครับ ให้หมุนไปทางเดียวกันห้ามหมุนกลับนะ

ยิบ : หมุนไปทางเดียว ห้ามหมุนกลับ ถ้าเกิดหมุนกลับ แป้งมันจะไม่ละเอียด จะเป็นเม็ด


แล้วเราได้ลองไหม เขาบอกมาแบบนี้ แต่เราได้ลองไหม

ซี : ได้ลองอยู่แล้วครับผม

ยิบ : หมุนแล้วจะแข็งมาก ไปไม่รอดครับ เหมือนที่เขาบอกมาครับ พอมาดูตอนหลังมันจะเป็นเม็ดเล็ก ๆ


แล้วมันใช้ได้ไหม สรุปครั้งนั้นที่หมุน

มุค : ใช้ได้ครับ แต่มันไม่ละเอียด

ยิบ : พอเราไปทอดขนม ขนมจะเป็นเม็ด ๆ พอกินก็ได้เทกซ์เจอร์ดี กรอบ ๆ


แล้วกิจกรรมนี้พอนัดมาทำกันก็ต้องมาทำที่บ้านก๊ะราดาเหรอ ทุกอย่าง คือพวกเราทำหลายอย่างเนอะ ทั้งกิจกรรมนานอกนา แผนที่นา แล้วผลิตภัณฑ์ เราแบ่งเวลาทำแต่ละอันอย่างไร คือเราทำให้เสร็จทีละอัน หรือว่ามันควบกันไป

มุค : นานอกนาต้องทำเป็นอย่างแรกครับ ทำตั้งไว้ มันก็จะอยู่ในขั้นดูแลรักษา เราก็ทำแผนที่นา มันจะอยู่ในลำดับที่สอง ระหว่างรอการเจริญเติบโตของนานอกนา อย่างที่สามก็ผลิตภัณฑ์ หลังจากที่เสร็จแผนที่ก็มาเริ่มผลิตภัณฑ์ ส่วนการอัพเดตข้อมูลก็อัพเดตเรื่อย ๆ ครับผม

ซี : ตอนนี้อัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับ

มุค : ตอนนี้เปลี่ยนเป็นเรื่องอ่าน พอดีว่าพวกผมทำโครงการอ่านกินเล่นเรียนรู้ครับผม


โครงการอะไรนะ

มุก : เรียนรู้อ่านกินเล่นครับผม พวกผมทำเกี่ยวกับการอ่านครับ

­

ตรงที่เราทำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ คำถามเดิมเลย มีปัญหาอะไรน่าหนักใจไหม

ซี : มันมีคือข้อเสียของแป้งครับ พอเราโม่ออกมามันจะเป็นน้ำใช่ไหมครับ แล้วมันจะจำกัดขนมที่เราทำได้ บางขนมใช้ได้กับแป้งผง แต่แป้งของพวกผมเป็นน้ำ เราเลยทำขนมที่ใชแป้งผงไม่ได้

­

ขนมที่อยากทำตอนแรกคืออะไรนะ

ยิบ : ขนมรู ป็นเหมือนโดนัทครับ

­

ขนมรูวันสารทเดือนสิบ

ยิบ : ครับ ๆ ขนมนั้นแหละ แต่ว่าพอทำออกมามันทำไม่ได้ครับ เพราะมันต้องใช้แป้งผง แต่แป้งที่เราได้มาเป็นแป้งที่เหลว ถ้าเอาอันนั้นไปทอดมันจะแยกตัว เพราะมันมีน้ำ

­

แต่เหตุผลแรกที่เราอยากทำขนมรูเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะเราคิดว่ามันจะขายได้

ยิบ : มันอร่อยด้วย

บีม : ความชอบส่วนตัว

ยิบ : มันอร่อย แล้วก็ในชุมชนมีเห็นอยู่ประจำ พวกเราอยากลองทำดู

­

พวกอุปกรณ์ในการทำพวกนี้ เราต้องไปควานหามาจากไหนบ้าง เมื่อกี้เครื่องโม่แล้ว ดอกจอกก็ต้องมีกระทะ แม่พิมพ์

มุก : แม่พิมพ์ก็ไปยืมของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เขาไม่ใช้แล้วก็ไปขอยืมมา

­

เรารู้ได้อย่างไรว่าใครมีใครไม่มี

มุก : ผมไปเอาของย่าผมมาใช้อันหนึ่ง

ยิบ : ของก๊ะราดาก็มีอันหนึ่ง

­

คือเราคิดเองก่อน เราถึงไปหาอุปกรณ์ถูกไหม ว่าเราอยากทำอันนี้ ไม่ใช่ว่าเราเห็นอุปกรณ์นี้มี แล้วเกิดไอเดียว่าเราทำอันนี้ก็ได้ อะไรมาก่อนมาหลัง

บีม : คิดขนมก่อนครับ

­

คิดขนมก่อน มีอีกไหม เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ กิจกรรมสุดท้ายจะเป็นเรื่องการเผยแพร่ ที่ผ่านมาเราเผยแพร่ผ่านช่องทางไหนบ้าง แล้วเผยแพร่เรื่องอะไรบ้าง

ซี : เผยแพร่ทางเพจและเฟซบุ๊กส่วนตัวของก๊ะราดา

­

ข้อมูลที่เราเผยแพร่มีอะไรบ้าง แล้วทำไมต้องเผยแพร่เรื่องพวกนั้นด้วย

ซี : เผยแพร่กระบวนการทำงานของพวกเรา คลิปสั้นตอนทำนา คลิปโปรโมตตัวกิจกรรมโครงการของพวกเรา

­

กลุ่มเป้าหมายของเพจเราคือใคร อยากให้ใครเห็นเนื้อหาที่เรานำเสนอ

ซี : กลุ่มเป้าหมายใช่ไหมครับ

มุก : ผู้ใช้โซเชียลที่เป็นวัยรุ่น มันจะตอบสนองกับวัยรุ่นมากที่สุด

­

จุดประสงค์ของเราคือให้เขาเห็น แล้วเขาได้รู้ หรืออย่างไร

ยิบ : ให้เขาได้รู้ว่าพวกเราทำอะไรอยู่ ถ้าเขาต้องการข้อมูล สามารถสอบถามเราได้ เห็นว่าเราทำอยู่ ก็สามารถติดต่อช่องทางนั้นได้

­

แล้วเท่าที่ทำมามีทักเข้ามาสอบถามหรือมีฟีดแบ็กอะไรบ้างไหม มีแฟนคลับไหมเพจนี้

ซี : มีครับ

­

ไหนเล่าให้ฟังหน่อยสิ สาว ๆ มากดไลก์

ยิบ : ที่เขาเข้ามาดูเพราะว่าผมไลฟ์สดบ่อยด้วย ตอนไปหว่านกล้า ก๊ะราดาจะเป็นคนเปิดกล้องให้พวกผมไลฟ์สด

­

เราชอบไหมที่ได้ไลฟ์สด

ยิบ : ชอบครับ มันไม่โดดเดี่ยวเกินไป มีหลายคนมามองเราด้วย ถ้าเราทำกันเองก็รู้กันแต่เรา พอเราไลฟ์สดคนอื่นก็ได้เห็นด้วย ถึงไม่ได้ช่วยทำก็ได้เห็น

­

เวลาเราไลฟ์อยู่เนี่ย เราเห็นไหมว่ามีคนเข้ามาดูอะไรอย่างไรบ้าง เล่าให้ฟังหน่อยสิ ในฐานะคนไลฟ์บ่อย พี่จะได้เอาไปทำบ้าง

ยิบ : จะมีคนเข้ามาคอมเมนต์ว่าไปถึงไหนแล้ว

บีม : เขาก็บอกว่าสนใจอยากจะทำด้วย

­

แล้วเรารู้จักไหม คนที่เข้ามาทัก ๆ

ยิบ : ส่วนใหญ่น่าจะรู้จักครับผม

­

เป็นใคร เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับเรา หรือเป็นผู้ใหญ่ในชุมชน

ซี : เป็นเพื่อน เป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่บางคนเขาอยากฝากลูกฝากหลานมากับพวกเราด้วย

­

อันนี้คือจากคอมเมนต์ที่เห็นเหรอ

ซี : ใช่ครับ เวลาโพสต์ด้วย

­

เราคิดว่าการที่เราเผยแพร่ผ่านเพจเด็กขี้สงสัย มันได้ผลตอบรับอย่างที่เราต้องการไหม เรามีเพจเพราะอยากนำเสนอให้คนเห็นว่าเราทำอะไร เราพอใจไหมกับผลตอบรับจากที่เกิดขึ้น

ทุกคน : พอใจครับ

มุค : แต่ว่ายังไม่ดัง

ยิบ : ยังไม่อินเตอร์เนชันแนลเท่าไร แต่พยายามทำให้กว้างอยู่ช่วงนี้ แชร์กันอยู่ ช่วยกันแชร์ช่วยให้คนอื่นเห็นให้เขามาช่วยกดไลก์

­

เรามีคิดจะทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อดึงให้คนเข้ามาดูเยอะ ๆ มีแฟนคลับเยอะขึ้น มีวางแผนไว้ไหม

มุค : พรุ่งนี้พวกผมได้ออกช่องโทรทัศน์ด้วยครับ ช่องไทยพีบีเอสเขามาสัมภาษณ์เกี่ยวกับนาของพวกผมที่ทำ พรุ่งนี้รอดูน่าจะมีแฟนคลับเยอะขึ้น

­

งั้นเล่าเรื่องที่เขามาทำรายการให้ฟังหน่อยสิ ว่าเขามาพูดคุยกับเราเรื่องอะไร

มุค : มาเรื่องของนาข้าวครับ เขาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับนาข้าว ทำไมพวกผมถึงมาทำ มันเป็นเหมือนรายการสารคดี

­

ตื่นเต้นไหม ไปกันทุกคนหรือเปล่า

ยิบ : มันจะมี 4 คนหลักที่ไปวันนั้น เพราะคนอื่นติดเรียนด้วยก็เลยไม่ได้ไป

­

น่าเสียดาย ตรงนี้ 5 คน ใครไปบ้าง

มีสามคนที่ยกมือ มุก ยิบ ซี

­

เสียดายไหม อีก 2 คน

บีม : ไม่ว่างจริง ๆ ครับ

­

เนี่ย จริง ๆ จะได้มีแฟนคลับ

ยิบ : พวกผมใส่ชุดนักเรียนไปหมดเลยวันนั้น เหลือคนหนึ่งไม่ได้ใส่ (ซี) คือแบบเลิกเรียนก็ไปเลย

มุค : เลิกเรียนก็มาเลย

­

เรารู้สึกอย่างไรบ้าง เมื่อเห็นช่องโทรทัศน์มาสนใจสิ่งที่เราทำ

ยิบ : มีกำลังใจ

มุค : มีแรงมากขึ้น

­

นอกจากมีโทรทัศน์มาแล้ว ที่พี่ถามทวนนิดหนึ่ง คิดว่าเราอยากจะทำอะไรเพิ่ม เพื่อทำให้เพจของเรามีคนติดตามมากขึ้น

ยิบ : อยากนำเสนอเป็นวีดิโอ กิจกรรมของเรา เราทำกิจกรรมแล้วจะโพสต์ลงไปในกลุ่ม ให้แชร์ ๆ กันให้คนอื่นเห็น บางทีคนที่เห็นอาจจะกดเข้ามาดูหน้าเพจว่าเป็นเพจเกี่ยวกับอะไร

มุก : หาวิธีที่จะทำให้น่าสนใจ แต่ยังไม่เจอวิธีเลย

­

นี่ไง ลองเต้นติ๊กตอกตรงท้องนา พี่ว่าน่าจะได้อยู่นะ ค่อย ๆ ทำไป มันสั้น ๆ เองติ๊กตอก ลองดู มันต้องมีสาระบ้าง ตลกบ้าง ลืมแล้วว่าจะถามอะไร อันนี้จบ 4 กิจกรรมหลักแล้วถูกไหม แต่เรามีทำนาอีก ตรงที่เราทำนามันอยู่ช่วงไหนของโครงการ

ยิบ : มันจบโครงการไปแล้ว

มุก : จบโครงการแล้วครับ เป็นความตั้งใจที่ตั้งไว้หลังเสร็จโครงการ

­

เราไปทำนาเราใช้พื้นที่ของใคร

ทุกคน : ก๊ะราดา

­

แล้วจริง ๆ ทำนามันอยู่ในแผนที่วางไว้ไหม

มุก : ไม่มีเลย

ยิบ : ระยะเวลาที่กำหนดของโครงการทำนานไม่ได้ มันยังไม่ถึงฤดูกาลปลูกข้าว เลยทำไม่ได้


อยากให้เล่าให้ฟังว่าจุดไหนเหรอ เราต้องหาพื้นที่ที่เราจะไปทำนา เราไปขอก๊ะราดาอย่างไร มันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตรงนี้

ยิบ : ก๊ะราดาเสนอมา พวกผมก็สนองครับ เหมือนกับว่าเรามีแต่ข้อมูล เรามีแต่ตัวหนังสือ เราไม่ได้ลงไปทำจริง เหมือนนักรบที่ยังไม่ได้รบ


พอถึงหน้าที่ทำนาได้ ก็ได้ลองทำเอง ตรงนี้เราต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะไปลองทำนาด้วยตัวเอง ครั้งแรกใช่ไหม เล่าให้ฟังหน่อยว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง

ยิบ : เตรียมใจก่อนครับครั้งแรก เพราะแต่ละคนไม่เคยทำนา บางคนก็ไม่เคยลงไปในนาเลย ในนารกมากตอนแรก ๆ ต้นกกสูงมาก วัชพืชสูงถึงหัวเลยบางที โคลนมันลึก รถไถใหญ่ไถไม่ได้ ถ้าไถไปรถไถจะจม เราก็เลยต้องลงไปตัดกกเองด้วยมือ ซึ่งมันใช้เวลาและใช้แรงมากกว่าจะเสร็จ หนึ่งอาทิตย์เต็ม ๆ


เราต้องเคลียร์พื้นที่กันเองก่อนถูกไหม

ทุกคน : ใช่ครับ


แล้วก็มีชวนคนอื่นมาทำด้วยถูกไหม

มุค : เครือข่ายของจังหวัดสตูลครับ เครือข่ายแอคทีฟมาช่วยด้วยครับ คนที่รู้จักก็มาช่วย


แล้วระหว่างที่เราต้องเตรียมพื้นที่นาเพื่อที่จะปลูกข้าว เรารู้สึกอย่างไรกันบ้าง สะท้อนให้ฟังหน่อย พี่ก็ไม่รู้นะ จะมีโมเมนต์ที่แบบ โอ้โห กว่าจะได้ข้าวกิน คือถ้ามีอยากให้เล่า แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร

ยิบ : มันมีครับ ตอนที่ตัดกกแดดร้อน แดดตอนสิบโมงสิบเอ็ดโมงมันร้อนมาก ตอนกำลังตัดก็นึกอยู่ว่ามาทำอะไรที่นี่ ตอนนั้นคือแบบรู้สึกว่ามันเหนื่อย ช่วงนั้นมีเรียนด้วย มุคจะเป็นคนที่เรียนวันเสาร์ มุคต้องไปโรงเรียนด้วย แต่ก่อนที่เขาจะไปโรงเรียน เขาจะมาตัดก่อนเพื่อนเลย แบบไม่มีใครมา เขาก็ลงไปตัดก่อน พอพวกผมมาเขาก็ขึ้นไปเรียน พวกผมก็ลงไปตัดต่อ


จริง ๆ มุคจะเป็นคนที่ร้อนน้อยที่สุด เพราะมาตั้งแต่เช้า

ยิบ : แต่ก็นอนน้อยที่สุดด้วย


แล้วมุคลงไปทำแล้วก็ไปเรียนต่อเลย ได้อาบน้ำไหม

มุก : อาบครับ ถ้าไม่อาบไม่ได้ครับ


ทำไมเราต้องไปทำด้วยล่ะ มันดูทุ่มเทเกินไปหรือเปล่า

มุก : ก็รู้สึกว่าเห็นคนอื่นทำผมก็ทำด้วย ผมรู้สึกว่าเราต้องทำให้เสร็จครับ พอดีอาทิตย์นั้นต้องรีบแล้ว มันจะผ่านพ้นฤดูกาลไปแล้ว ถ้าเราทำไม่ทันเลยฤดูกาลจะทำให้ข้าวไม่สมบูรณ์


เราก็ต้องไปคนเดียวก่อนใช่ไหม พื้นที่ตรงนั้นเขาคิดเป็นอย่างไร เป็นไร่ใหญ่ไหม

มุก : 1 ไร่ พอดีครับ

ยิบ : 2 ไร่ ครับ


ผลลัพธ์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

มุก : ออกรวงแล้วครับผม

ยิบ : ช่วงปลายธันวาคมต้นมกราคม


เราปักกล้ากันเดือนอะไรนะ

ซี : เดือนสิงหาคมครับผม


รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่ได้ทำเอง จนมันออกรวงเปลี่ยนจากเขียวเป็นสีทอง

ยิบ : ยังเขียวอยู่เวลาคนผ่านไปผ่านมาก็สงสัยว่าพวกผมใส่ปุ๋ยอะไร ทำไมข้าวสวยดีจัง ทั้ง ๆ ที่พวกผมยังไม่ได้ทำอะไร เหมือนกับว่าดินตรงนั้นมันสมบูรณ์มาก เพราะไม่ได้ทำอะไรมานาน เลยมีแร่ธาตุสะสม พอไปปลูกต้นข้าวก็เจริญเติบโตได้เร็วได้ดี

มุค: ตามตำนานครับ เหมือนประวัติความเป็นมาของข้าวที่เล่าไป คราวนี้ผู้คนเห็นว่าข้าวออกรวงดี เลยเชื่อว่า อัลฮัมดูเรลา ขอบคุณพระเจ้าครับ เหมือนกับที่ทำมา

ยิบ : ออกรวงดีมาก ขนาดยังไม่ใส่ปุ๋ย


สรุปให้พี่หน่อยว่า ข้าวอัลฮัมสำหรับพวกเรามันมีคุณค่าต่อเราอย่างไรบ้าง หลังจากทำโครงการมาแล้วแต่ละคน ไหนๆ เมื่อกี้ก็พูดถึงข้าวขึ้นมาแล้ว

มุค : ผมรู้สึกว่าข้าวอัลฮัมเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน เป็นข้าวพื้นเมืองของเกตรี พวกผมได้รักษาวัฒนธรรมของผู้คนได้สืบทอดต่อไป ต่อชีวิตของข้าวให้อยู่กับชุมชน


คนอื่นด้วย

ยิบ : มันทำให้เรารู้สึกว่า พูดไม่ถูกเหมือนกัน เรามีของดีอยู่แล้ว เราไม่อยากให้มันหายไป ตอนแรกเราไม่ได้สนใจ ก็ไม่ได้มอง ไม่ได้เล็งเห็นอะไรเลย แต่พอเราได้ศึกษากับมันจริง ๆ ได้รู้ว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง คุณค่ามีอะไรบ้าง ทำให้รู้สึกหวงแหน ไม่อยากให้มันหายไป


คุณค่าและประโยชน์ของข้าวอัลฮัมมีอะไรบ้าง สรุปให้พี่หน่อยสิ อันนี้พูดในมุมคุณค่าทางสารอาหารแล้วนะ มันมีประโยชน์ด้วยใช่ไหม ซีเคยส่งข้อมูลมาให้พี่ แต่พี่อยากให้พวกเราสรุปเป็นคำพูดของพวกเราเอง

มุก : มันมีคุณค่าทางโภชนาการของมัน มันมีอะไมโลสสูง มีพลังงานสูง ปริมาณแป้งในเนื้อข้าวจะมีปริมาณสูงถึง 25% ซึ่งเทียบกับข้าวหอมมะลิที่มีแค่ 12% มันรู้สึกว่าข้าวพันธุ์นี้ แม้จะเป็นข้าวพื้นเมือง แต่รู้สึกว่ามันสูงกว่าข้าวสายพันธุ์หอมมะลิกว่าสองเท่า


คือถ้ากินข้าวอัลฮัมเยอะก็อ้วนกว่ากินข้าวหอมมะลิอะสิ

มุก : ประมาณนั้นครับ

ยิบ : สมมติว่าเราหุงนิดเดียว แต่อิ่มนาน เพราะมันขึ้นหม้อด้วย เหมือนกับว่าได้เยอะ มันเหมือนกับว่าเป็นเอกลักษณ์ของมันคือ กินมัน อิ่มนาน ทำงานทนครับผม


เออ ดี ไม่ต้องกินเยอะด้วยใช่ไหม

ยิบ : ครับ

บีม : ถ้าใครหิวก็กินเยอะได้


คนอื่นมีอีกไหม ข้าวอัลฮัมมีคุณค่าต่อเราอย่างไร หลังจากได้ทำโครงการมา เรามีความรู้สึกต่อข้าวอย่างไรบ้าง

มุค : รู้สึกว่าข้าวอัลฮัมมันเป็นเหมือนลักษณะชีวิตของผู้คนด้วย เมื่อก่อนทำนาแบบลงแขก เป็นความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้าน มันสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมากขึ้น แต่ตอนนี้มันเริ่มลดลง ผู้คนส่วนใหญ่ใช้รถเกี่ยวข้าว ไม่ค่อยร่วมกันทำแล้ว ผมรู้สึกว่าเมื่อก่อนที่ช่วยกันทำน่าจะมีความสุขครับผม สนุก เหนื่อย ๆ ก็นั่งกินข้าวพร้อมหน้ากันหลาย ๆ บ้าน แต่พอมันเริ่มหายไปก็รู้สึกว่าน่าเสียดาย


ในส่วนของผู้นำชุมชนที่เป็นทางการเลย เขาได้เข้ามามีส่วนร่วมกับเราไหม

ยิบ : มีผู้ใหญ่บ้านคอยสนับสนุนเรื่องสถานที่เรา เวลาเราจะประชุมเขาจะเปิดหอประชุมให้เราเข้าไปประชุม หรือเชิญให้มาเปิดพิธีก็มาเปิดให้เราตลอด


แล้วพวกเรามีแผยแพร่ความรู้ให้คนในชุมชน ประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนรู้ไหมว่าพวกเราทำอะไรกันอยู่บ้าง นอกจากทางเพจแล้ว

มุค : มีบางคนที่เห็นว่าพวกเรากำลังทำอะไรอยู่


คือยังไม่ได้จัดเวทีอะไรพวกนี้อย่างเป็นทางการเนอะ

มุค : ไม่มีครับ แต่คิดว่าจะมีเวทีเสวนา


มีแผนว่าจะมีเวทีเสวนา เพื่ออะไร จุดประสงค์คือให้ข้อมูลเรื่องอะไร

มุค : ให้ผู้คนหันมาสนใจสิ่งที่เราทำมากขึ้น

ซี : ให้ทุกคนตระหนักถึงเรื่องข้าว แล้วก็กำหนดทิศทางแนวร่วมเรื่องข้าวอะไรแบบนี้ อยากฟังความคิดเห็นของผู้นำ


ให้ทุกคนนึกถึงตัวเอง ตั้งแต่ทำโครงการมาได้พัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง หรือว่าได้ค้นพบศักยภาพอะไรในตัวเองที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตัวเองทำแบบนี้ก็ได้ด้วย หรือเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างไรบ้าง สะท้อนได้หมดทุกมุมเลย ทีละคน อาจจะเป็นนิสัย บุคลิกที่เราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

มุค : ของผมเป็นนิสัยส่วนตัว เวลาผมอยู่ที่บ้านผมรู้สึกว่าขี้เกียจ พ่อแม่จะชอบพูดว่าถ้าเป็นงานที่ก๊ะราดาใช้ให้ทำจะไปตลอด แต่พองานที่บ้านขี้เกียจ เลยรู้สึกว่าเดี๋ยวเราต้องขยันที่บ้านบ้างแล้ว เวลาพ่อแม่ใช้อะไรก็ทำ เป็นความรู้สึกที่ว่าต้องทำครับผม


มีอย่างอื่นอีกไหม ความสามารถอะไรที่เราค้นพบในตัวเอง

บีม : ในการทำนา ผมไม่เคยรู้ ได้ความสามารถในการดำนา แล้วก็มนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย แบบผมไม่ค่อยได้ออกด้านนอก แต่พอมาแบบนี้ก็รู้สึกคุ้นเคย มีเพื่อนมากขึ้น

ยิบ : สำหรับผมได้ฝึกเรื่องของการวางแผนด้วย เมื่อก่อนผมทำอะไรไม่ค่อยวางแผน ไม่ค่อยจัดเวลา เป็นคนไม่ตรงต่อเวลา พอได้ทำโครงการนี้เราต้องวางแผน วางระเบียบชีวิตของตัวเองมากขึ้น การแบ่งเวลาในแต่ละวัน ต้องทำอะไรก่อน ต้องทำอะไรหลัง เมื่อก่อนมีอะไรผุดมาก็ไปทำ บางทีลืมอะไรไปหลาย ๆ อย่างที่จำเป็นต้องทำ ตอนนี้ผมบริหารเวลาได้ดีขึ้น


ทำไมพอพูดว่าไม่ตรงต่อเวลาทุกคนยิ้ม

ยิบ : ไม่รู้ครับ เดี๋ยวนี้ผมมาตรงต่อเวลามากขึ้นแล้ว


ทำไมถึงคิดว่าเราต้องปรับตัว เรื่องเวลา

ยิบ : เพราะเมื่อก่อนผมเป็นรองประธาน หน้าที่ไม่ค่อยมีเลยมาช้า พอหลัง ๆ ซีจะเป็นประธาน ผมจะไปเป็นเพื่อนเขาตลอด แรก ๆ ยังไม่อิน พอหลัง ๆ ก็เริ่มไปก่อน ไม่อยากให้คนอื่นรอนาน เวลาไปประชุมไปทีหลังก็ต้องให้เลขาสรุปให้ผมฟังอีกครั้งหนึ่งตลอด เขาต้องมาบอกเราก่อนจะทำให้การประชุมช้าไป


แล้วความอินมันเกิดขึ้นตอนไหน

ยิบ : เกิดตอนทำแล้วครับ ตอนแรก ๆ เหมือนกับว่ามันยังไม่ซึมซับ พอทำไปเรื่อย ๆ รู้สึกสนุก ได้ร่วมงานกับเพื่อน เลยอยากมาทำมากขึ้น หลังมันอยากมาด้วยใจแรก ๆ มาด้วยภาระหน้าที่มากกว่า


บาส ๆ

บาส : ฟังเหตุผลมากขึ้นครับ ฟังเหตุผลคนอื่นมากขึ้น


ถ้าเป็นเมื่อก่อนบาสจะเป็นอย่างไร ไม่ฟังเหรอ

บาส : ไม่ค่อยฟังครับ


ไม่ฟังเป็นเพราะอะไร เราคิดอะไรในใจ

บาส : แบบเราทำอะไรก็ถูกหมด จริง ๆ มันมีผิดบ้างถูกบ้าง เราต้องฟังเหตุผลของผู้อื่นบ้าง


นอกจากในกลุ่มเพื่อนกันเองแล้ว เราฟังคนอื่นด้วยไหม มันทำให้พฤติกรรมของเราเปลี่ยนไปด้วยไหม พ่อแม่เราพูดหรือว่าคนรอบข้างคนใกล้ตัว

บาส : เปลี่ยนครับ


เราก็จะฟังเขามากขึ้นด้วยเหรอ

บาส : ใช่ครับ


มันดีไหม การที่เราฟังคนอื่น

บาส : ดีครับ ดีมาก


คือเมื่อก่อนที่เราไม่ฟัง มันมีปัญหาอะไรไหม

บาส : ถ้าทำผิดก็โดนด่าตลอดนะ บอกว่าไม่เชื่อฟังแบบนี้ ตอนนี้ก็ไม่ค่อยโดนด่าแล้ว


ก็อยู่ได้สบายใจขึ้น พอเราฟังคนอื่นมากขึ้น ซีมีอะไรเพิ่มเติมในตัวเองไหม

ซี : ผมรู้จักคิดและวางแผนให้เป็นระบบ เรารู้ว่าเราควรวางแผน ทำอะไรตอนไหนเพื่อให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี ได้นำทักษะไปใช้ในการเรียน การทำงานกลุ่ม ใช้กับตัวเอง เหมือนกับยิบ เรื่องเวลา ผมรู้จักจัดการเวลา มันมาคู่กันกับความเป็นระบบมีแบบแผน จัดการงานต่างๆ ให้เรียบร้อย

­

แล้วพวกเราเป็นผู้ชายกันทั้งทีม เรามีปัญหาอะไรทะเลาะกันบ้างไหม

ทุกคน : ไม่มีครับ

ยิบ : ถ้ามีปัญหาจะคุยกันเลย ถ้าใครผิดพลาดเราจะไม่โบ้ยใส่กัน เราจะไม่โทษกัน เราจะใช้เหตุผลมากกว่า

ซี : ไม่มีทะเลาะกัน แต่มีงอนกัน

ยิบ : คุยกัน ๆ แล้วก็หายครับ มันต้องคุยกันไง ใครผิดก็ต้องขอโทษ

­

ถ้าเป็นเมื่อก่อนชุมชนเรา กลุ่มเด็กเยาวชนในชุมชน กลุ่มวัยรุ่นในชุมชนมีปัญหาไหม มีเรื่องยาเสพติด ยกพวกตีกัน มีไหม

ซี : ยกพวกตีกันไม่มี แต่ยาเสพติดมีครับ

­

แต่พวกเราไม่ได้ไปแนวนั้น

ทุกคน : ไม่ครับ

­

หรือเคยแอบ

ทุกคน : ไม่ครับ

­

แล้วเรามีคิดไหมว่า ถ้าเป็นกลุ่มเด็ก ๆ พวกนั้น ซึ่งอาจจะเป็นรุ่นเดียวกับเรา เรารู้จักเขาไหม

ยิบ, บีม : รู้จักครับ

­

แล้วเราเห็นแนวโน้มไหมว่าเขาอยากมาทำกิจกรรมกับเราบ้าง

ยิบ : เขาค่อนข้างให้เวลากับตัวเองมาก เขาอยากไปเที่ยวมากกว่า

­

ยังไม่ได้ส่งผลกระทบไปถึงเพื่อน ๆ กลุ่มโน้นเนอะ ถ้าถามใจเราเราอยากจะให้เขามาร่วมกับเราไหม

ยิบ : อยากครับ ถ้าเราดึงเพื่อน ๆ พวกนั้นได้ เราจะมีหลายคน มันง่ายกว่าอยู่แล้ว

­

เออ ต้องเอาหัวโจกมาให้ได้ สุดท้ายแล้วอยากให้สรุปให้ฟังอีกนิดหนึ่งว่า ตอนนี้คิดวางแผนจะทำอะไรกันบ้างในอนาคต

มุค : รอดูว่าถ้าเราได้ผลผลิตจากนา พวกผมวาดฝันไว้หลายอย่าง มีทั้งพิพิธภัณฑ์ วิถีชีวิต ผลิตภัณฑ์อื่นด้วย เช่น สบู่ แผนที่ออนไลน์

­

อันนี้คือสิ่งที่คิดอยากจะทำในอนาคต แล้วที่อยากทำแล้วคืบหน้ามากที่สุด ที่กำลังทำกันอยู่

ยิบ : พิพิธภัณฑ์น่าจะมากที่สุด

­

พิพิธภัณฑ์นี่นำเสนอเกี่ยวกับอะไร

มุก : นำเสนอเกี่ยวกับวิธีการทำนา พาไปดูพื้นที่ดำนาปลูกข้าว เป็นพิพิธภัณฑ์นอกสถานที่ ใครอยากเรียนดำนาก็มา

บีม : ใครอยากทำอะไรก็มา

­

เรามีคิดตั้งชื่อกันไว้หรือยัง

ยิบ : มันอยู่ในอนาคต อยู่ในความฝันอยู่เลย

­

ความพิเศษของข้าวเจ้าพันธุ์อัลฮัม

มุก : เป็นข้าวที่ให้พลังงานสูง

­

มีแค่ที่เกตรีที่เดียวไหม

มุค : ที่อื่นก็มี แต่จะอยู่ในแถบ ๆ นี้

­

ถ้าแถวสตูลจะมีข้าวอัลฮัมอยู่บ้างใช่ไหม แล้วจังหวัดอื่นมีไหม

ซี : ตอนนี้สตูลพยายามทำเป็นผลิตภัณฑ์ของจังหวัด เป็นเหมือนข้าวสังข์หยดของพัทลุง มันเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่จะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ของมัน พื้นที่ของข้าวอัลฮัมในตอนนี้เป็นของจังหวัดสตูล

­

แปลว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกได้ดีที่สุดที่สตูลนี่แหละ ถ้าที่เกตรีไม่มีข้าวอัลฮัมจะเกิดอะไรขึ้น

มุค : ต้องไปซื้อข้าวมากินครับผม ต้องไปซื้อข้าวชนิดอื่นที่ไม่รู้ว่ามีสารพิษไหม ปลอดภัยไหม

­

ข้าวอัลฮัมต้นกำเนิดมาจากเกตรีไหม หรืออยู่ในจังหวัดสตูลนี่แหละ

ซี : ในส่วนนี้ในจังหวัดยังหาไม่เจอ พยายามค้นคว้าอยู่ ตอนที่ผมได้ไปศึกษาดูงานที่จังหวัดพัทลุง เขาพูดว่าตอนนี้จังหวัดสตูลได้ศึกษาร่วมกับมาเลเซีย เหมือนว่าข้าวจะมีแนวโน้มมาจากมาเลเซียด้วย

มุค : เหมือนจะค้นพบว่ามีแหล่งที่มา 2 รูปแบบ ไม่รู้ว่ารูปแบบไหนถูกต้อง

­

บังเชษฐ์จะสอนเรื่อง RDM พวกเราพอจะเข้าใจมันไหมว่า RDM คืออะไร

ซี : R คือการเก็บรวบรวมข้อมูลครับ D เป็นการลงมือทำ ส่วน M เป็นการจัดการและการเผยแพร่ R ก็คือ 3R รีเสิร์ช รีวิว รีคอนเซปชวล D คือ Do การทำ ส่วน M คือ Manage การจัดการและการเผยแพร่

­

ถ้าเอามาเทียบกับขั้นตอนการทำโครงการของเรา มันอยู่ในช่วงไหนบ้าง แต่ละขั้น

ซี : R จะอยู่ในช่วงช่วงที่หนึ่ง เรายังไม่มีข้อมูล เราจำเป็นต้องใช้กระบวนการนี้ในการหาข้อมูล Do จะอยู่ในช่วงที่สอง เราได้กำหนดกิจกรรมเป็น 4 กิจกรรม ส่วน M จะเป็นช่วงท้ายของโครงการที่เราได้นำเสนอ

­

เรื่องแบบนี้มันเข้าใจยากไหม สำหรับพวกเราที่ยังเป็นเด็กมัธยมปลาย

มุค : ตอนแรกก็ไม่ค่อยเข้าใจ พอได้ทำมันจริง ๆ ก็รู้สึกว่าเข้าใจได้

­

เรื่องที่บาสบอกว่าเห็นว่าตัวเองฟังเหตุผลจากคนอื่นมากขึ้น บาสรู้ตัวตอนไหนเหรอ ต้องเข้ามาฟังคนอื่น ฟังเหตุผลจากคนอื่นบ้าง

ซี : เขามารู้ตัวว่าช่วงแรกเขาจะมาประชุมบ้างไม่มาประชุมบ้าง ไม่รู้ว่าผมเข้าใจถูกไหม แต่ผมเข้าใจแบบนี้ เดี๋ยวให้เขาบอกเองว่าใช่หรือไม่ใช่ พอไม่มาร่วมประชุมก็ไม่รู้ข้อมูลเหมือนเพื่อน พอถึงช่วงที่ดำเนินกิจกรรมโครงการไป เขาก็เริ่มรู้ตัวเองว่าถ้าเราไม่ฟังเราจะไม่รู้อะไรเลย ทุกครั้งที่ประชุมก็จะแจ้งว่าประชุมเรื่องอะไร มีอะไรคืบหน้าอะไรไปบ้าง ถ้ารู้แบบนั้นมันเหมือนไม่ได้รู้ด้วยตัวเอง มันต้องเข้ามาร่วมประชุมอะไรแบบนี้ มาฟังคนอื่นด้วยตัวเอง

บาส : ใช่ครับ

­