สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการรักป่า รักต้นน้ำ ตามรอยพ่อ

โครงการรักป่า รักต้นน้ำ ตามรอยพ่อ

ชื่อเรื่อง ฝายผู้พิทักษ์กับน้ำใจที่ไหลเต็มสายธาร ‘บ้านแม่ป้อกใน’ ลำพูน


เราได้ยินเรื่องไฟไหม้ป่าทางภาคเหนืออยู่บ่อยครั้ง แต่ละปีทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย จนกระทั่งมีการพูดถึงปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่เทียบขนาดได้ประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ มีขนาดเล็กเสียจนขนจมูกของมนุษย์ซึ่งทำหน้าที่กรองฝุ่นไม่สามารถดักกรอง PM 2.5 ได้ การหายใจแต่ละครั้งจึงนำพาสารพิษเข้าสู่ทางเดินหายใจและกระแสเลือด เรียกได้ว่า “เป็นการตายผ่อนส่ง”

จากสถิติการเกิดไฟไหม้ป่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า ระหว่างปีงบประมาณ 2562-2563 จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดราว 54,000 ไร่ รองลงมือ คือ จังหวัดลำปาง ตาก และลำพูน ขณะที่จังหวัดลำพูนมีขนาดเล็กกว่าเชียงใหม่ถึง 5 เท่า แต่ได้รับความเสียหายจากการเกิดไฟป่าเกือบ 11,000 ไร่ หากเทียบสัดส่วนแล้ว ความรุนแรงไม่ต่างจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่

หากเรามองไฟป่าเป็นแค่ปัญหาของไฟ มองฝุ่นควันเป็นแค่เรื่องฝุ่นผง แล้วเชื่อตามการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อมวลชนคลาดเคลื่อนว่า เกษตรกรและชาวเขาเผาป่า ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงแบบเหมารวมและไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมด ประเทศไทยคงไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ในระยะยาว

เพราะอะไร?

เพราะการแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันไม่ใช่แค่การหาทางดับไฟป่ารายปี หรือแค่การซื้อเครื่องกรองอากาศ แต่คือการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงต้นตอของปัญหา การปราบไฟป่าและฝุ่นควันให้สิ้นซาก คือ การลดการบริโภคที่เกิดพอดีของทุกคน รวมถึงการฟื้นฟูป่าให้ป่ามีน้ำและความชุ่มชื้น เพื่อให้ธรรมชาติช่วยป้องกันผลที่เกิดขึ้นจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ” (Climate Change) ซึ่งกระทบและแผ่ขยายไปทั่วโลก


++ฟื้นธรรมชาติด้วยฐานรากชุมชน

บ้านแม่ป้อกใน หมู่ 4 ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นบ้านของพี่น้องชาวเขาปกาเกอะญออีกชุมชนหนึ่งที่มีความเข้มแข็ง มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 500 คน ผู้คนที่นี่อาศัยอยู่กับป่า เป็นด่านหน้าในการทำแนวกันไฟและเข้าสู้กับไฟป่าเสมอมา พวกเขาใช้องค์ความรู้และภูมิปัญญาในการทำแนวกันไฟ รวมถึงการสร้างฝายกักเก็บน้ำเพื่อเก็บรักษาความชุ่มชื้น แน่นอนว่าทุกพื้นที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทำให้ไฟป่าและภัยแล้งรุนแรงขึ้น แต่การฟื้นฟูป่าจากฐานรากด้วยการดูแลรักษาป่า ไปพร้อมๆ กับการวางแผนจัดการแหล่งน้ำ เป็นแนวทางขอลชุมชนที่ช่วยทุเลาปัญหาต่างๆ ให้บางเบาลงได้

ปัจจุบันมีกลุ่ม “ยุวทูตน้อย” จากการรวมตัวกันของเด็กและเยาวชนบ้านแม่ป้อกใน ที่ทำงานอย่างต่อเนื่องและแข็งขันเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง จาก โครงการลดปัญหาขยะในหมู่บ้าน บ้านแม่ป้อกใน ที่เข้าร่วมกับโครงการ Active Citizen จังหวัดลำพูนในครั้งแรก นุ่น - ธวัลพร มุแฮ อายุ 18 ปี, นาร์เนีย - จินต์จุฑา ตาโล๊ะ อายุ 14 ปี, อิงฟ้า - หนึ่งฤทัย หวันฮ้อ อายุ 12 ปี และ ฟาง – สุพรรณษา จันตา อายุ 14 ปี เล่าว่า ผลลัพธ์จากโครงการทำให้บ้านเรือนริมถนน 50 ครัวเรือน มีความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ และคัดแยกขยะก่อนนำไปทิ้ง ภาพรวมของชุมชนสะอาดขึ้น เพราะเด็กลงมือเก็บขยะให้เห็นจนผู้ใหญ่ให้ความร่วมมือ

สำหรับโครงการในปีที่สอง เกิดขึ้นจากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติรอบตัว นุ่น บอกว่า แม้ใช้ชีวิตรายล้อมไปด้วยป่าเขาแต่ลำห้วยในชุมชนโดยเฉพาะหน้าแล้ง น้ำแห้งขอด ปู ปลา กบ เขียดที่เคยเห็นอยู่เป็นจำนวนมาก และเคยจับได้จากแหล่งน้ำกลายเป็นสัตว์หายาก อยากจับทีต้องใช้เวลา ความพยายามและความอดทนสูง กลุ่มเยาวชนจึงคิดทำ โครงการรักป่า รักต้นน้ำ ตามรอยพ่อ ด้วยการสร้างฝายเพื่อฟื้นฟูความชุ่มชื้นให้กลับคืนสู่ป่า ทำให้สัตว์ป่ามีแหล่งน้ำกินตามธรรมชาติ ปู ปลา กบ เขียดมีแหล่งที่อยู่อาศัย ที่สำคัญยังช่วยเบาบางปัญหาไฟป่าลงได้อีกทางหนึ่ง

“ถ้าเราทำฝาย ฝายจะช่วยกักเก็บน้ำ เพราะถ้าไม่มีน้ำต้นไม่คงเติบโตไม่ได้

สมัยยังเล็กจำความได้ว่า ตายายพาเข้าป่าไปหาหอยหาปู ห้วยต่างๆ มีน้ำเยอะมาก และมีสัตว์น้ำให้จับเยอะ แต่สมัยเรียน ม.1 เคยไปจับสัตว์น้ำในห้วย ทั้งห้วยมีปลาแค่ตัวหรือสองตัว ตอนนี้เรียนชั้น ม.6 แล้ว น้ำในห้วยยิ่งแห้งลง เลยคิดว่าถ้าเราสร้างฝายเพิ่มอย่างน้อยๆ จะได้เป็นที่อยู่อาศัยและสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำ ดีหน่อยที่ชุมชนมีข้อตกลงอยู่แล้วว่าไม่ให้ช็อตปลา เพราะปลาที่โดนช็อตจะเป็นหมันและสืบพันธุ์ไม่ได้ ชุมชนเราเลยไม่มีปัญหาเรื่องนั้น แต่ปัญหาของเรา คือ ไม่มีน้ำ” นุ่น กล่าว

เป้าหมายที่ชัดเจนนำมาสู่การวางแผนกระบวนการทำงานอย่างมีทิศทาง กลุ่มยุวทูตน้อยบ้านแม่ป้อกในจัดเวทีนำเสนอโครงการเพื่อชี้แจงให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้านได้รับรู้ถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ แผนการทำงาน รวมถึงขอข้อเสนอแนะ และขอความร่วมมือจากชาวบ้านให้มาช่วยร่วมลงแรงกันสร้างฝาย

“พวกเราเอาโปรเจ็คเตอร์ไปนำเสนอให้ดู ว่าก่อนจะมาเป็นโครงการนี้ได้ไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับฝาย และอยากให้เชื่อว่าพวกเราจะทำโครงการนี้อย่างจริงจัง ได้เชิญทางผู้ใหญ่บ้าน พระอาจารย์ อสม. แม่บ้าน เข้ามาร่วมประชุมด้วย”

“การประชุมใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเสียงตอบรับดีมาก ปกติเวลาประชุมหมู่บ้าน บางครั้งประชุมนานเกิน ชาวบ้านก็กลับบ้านกันไม่รอจนประชุมเสร็จ แต่ตอนพวกเรานำเสนอทุกคนอยู่ฟังกันจนจบ เพราะการนำเสนอของเราไม่น่าเบื่อ เราเปิดคลิปที่ไปสำรวจพื้นที่เบื้องต้นให้คนที่มีร่วมงานได้ชมว่าสภาพป่าและแหล่งน้ำในชุมชนเป็นอย่างไร ทำไมต้องช่วยกันแก้ไขฟื้นฟู พวกเราได้คำแนะนำว่าจากผู้ใหญ่ว่า ถ้าจะทำก็อย่ามัวแต่เล่น เพราะในป่ามีแมลงแปลกๆ ที่ไม่รู้จัก ให้รู้จักมีมารยาทและต้องเกรงใจเจ้าป่าเจ้าเขา” นุ่น กล่าว


Check in ที่แม่ป้อกใน

หากค้นหาชื่อ “บ้านแม่ป้อกใน” ทางอินเทอร์เน็ต ชุมชนแห่งนี้ไม่ได้ no name ไปเสียทีเดียว แต่เป็นหนึ่งในลิสต์ชุมชนท่องเที่ยว (นอกกระแส)มีทั้งเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ มี "น้ำตกผาลาด" ที่มีแก่งหินวางแนวไล่ระดับทอดยาวลงสู่ลำห้วย มี "ผาแดง" ผาประวัติศาสตร์ที่มีภาพเขียนสีอายุกว่า 3 พันปีปรากฎอยู่ ด้านวิถีวัฒนธรรม ชุมชนยังคงรักษาการทอผ้า "กี่เอว" แบบฉบับเฉพาะของขนเผ่าปกาเกอะญอที่จัดเป็นฐานการเรียนรู้ให้นักท่องเที่ยวได้เอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของบ้านแม่ป้อกใน คือ ความเป็นชุมชนกะเหรี่ยงที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา มี "วัดหนองกวาง" เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ทุกปีช่วงเดือน 9 ขึ้น 8 ค่ำ ชุมชนจะจัดงานจุดบั้งไฟสักการะพระธาตุในอารามพระธาตุเจดีย์ดอยม่อนธาตุ เป็นงานประจำปีที่มีทั้งคนในบ้านและต่างบ้านมาร่วมงานอย่างคึกคัก

วิถีความเป็นอยู่ในชุมชนทำให้เด็กและเยาวชนกับวัดมีความผูกพันใกล้ชิดกัน วัดเป็นทั้งสถานที่สำคัญทางศาสนา เป็นห้องเรียน และพื้นที่ทำกิจกรรมของพวกเขา

“ที่มารู้จักกับพระอาจารย์ เพราะว่าพวกเราเรียนกับพระอาจารย์ ทุกวันศุกร์ตอนบ่ายมีการเรียนธรรมะศึกษา และเรียนเพื่อไปสอบด้วย นอกจากวิชาเรียนแล้ว พระอาจารย์ยังสอนเกี่ยวกับป่า ให้ดูแลป่า พวกเราจึงได้ซึมซับตรงนั้นมา” นาร์เนีย เล่า

“พวกเราเข้าวัดเป็นประจำ มีเวลาว่างก็มากวาดวัด ทำความสะอาดวัด และกลุ่มยุวทูตเป็นกลุ่มที่พระอาจารย์ตั้งขึ้น ก่อนไปลงพื้นที่สำรวจจุดสร้างฝาย พวกเราถามข้อมูลจากพระอาจารย์และผู้ช่วย (นายพิชญ์ หวันฮ้อ) หนึ่งในพี่เลี้ยงโครงการ ว่าต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง เพราะเราต้องใช้แรงคนเยอะไม่ใช่แค่เยาวชน มีทั้งผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่และเชิญคนต่างบ้านมาด้วย เลยต้องถามผู้ใหญ่เพื่อให้รู้แนวทาง การทำจะได้ไม่มีข้อผิดพลาดทีหลัง” นุ่น อธิบาย แม้ยังไม่แน่ใจว่าจะมีคนมาร่วมสร้างฝายจริงๆ มากน้อยแค่ไหน

“พวกเราจดบันทึกข้อมูลด้วยว่าพื้นที่แต่ละจุดเป็นอย่างไร มีก้อนหิน มีวัสดุที่เก็บมาทำฝายได้ไหม ลักษณะพื้นดินรอบๆ ต้นไม้รอบๆ ดูว่ามีจุดไหนอันตรายหรือเปล่า หลังจากนั้นเรากลับมาถามข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชนอีกรอบ ผู้ใหญ่บ้าน คนในหมู่บ้านบางส่วน ที่เคยมีประสบการณ์ทำฝายมาก่อน หรือคนเฒ่าคนแก่ที่คุ้นเคยกับป่า ก่อนมีเทคโนโลยีเข้ามา เช่น วิธีการทำฝาย ทำฝายแล้วได้อะไร ฝายแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร” นาร์เนีย กล่าวเสริม

ฝายมีหลายประเภท แต่ละประเภทเหมาะกับสภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน “ฝายมีชีวิต” จะช่วยยกระดับน้ำในลำห้วยได้ดี แต่ต้องใช้แรงมัดและแรงคนทำงานเยอะ สำหรับลำห้วยบ้านแม่ป้อกในที่มีก้อนหินจำนวนมากนอนก้นอยู่ในลำห้วย การหาพิกัดสร้างฝายมีชีวิตทำได้ไม่ง่ายนัก ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเยาวชนจึงตัดสินใจทำ “ฝายคอก” ที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ของลำห้วยในบริเวณที่เลือก รวมทั้งเหมาะกับแรงและกำลังของเยาวชนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำโครงการครั้งนี้

“เราอยากทำฝายมีชีวิต เพราะฝายมีลักษณะเป็นขั้นบันได วางให้ยกระดับสูงขึ้นได้ ช่วยกักเก็บน้ำได้ดีขึ้น แต่ละแวกที่เราไปสำรวจเพื่อทำฝายแรก เหมาะกับการทำฝายคอกเพราะมีหินเยอะ ไม่สามารถปักไม้ไผ่ลงดินให้แน่นได้ ถ้าทำฝายมีชีวิตโครงสร้างจะไม่แข็งแรง” นุ่น อธิบาย

กลุ่มเยาวชน อธิบายว่า ฝายคอกเป็นฝายที่ใช้ไม้หลักเป็นแกนยึด ตีเป็นกรอบล้อมรอบรูปสีเหลี่ยมขวางตามลำน้ำ แล้วกั้นคอกไม้ขัดขวางเป็นช่องคล้ายตาราง ส่วนฝายมีชีวิต จุดเด่นอยู่ที่การยกระดับน้ำในลำธาร ห้วย หรือ ลำคลอง ด้วยโครงสร้างของฝายที่มีลักษณะเป็นขั้นบันได ส่วนใหญ่แล้วการสร้างฝายจะใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ นําไปปักลงดินในลําน้ำ เหมือนเสาเข็มวางเรียงกัน หลังจากนั้นผูกด้วยเชือกให้แน่นเพื่อยึดโยงแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน

สําหรับตัวฝายกั้นน้ำจะใช้ทรายบรรจุใส่กระสอบ หรือใช้หินวางเรียงกันให้แน่น ประโยชน์ของฝายมีมากกว่าแค่ช่วยกักเก็บน้ำ กลุ่มเยาวชน บอกว่า ฝายช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน ลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย โดยเฉพาะฤดูน้ำหลาก ช่วยกักเก็บตะกอนที่ไหลลงมากับลำห้วย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ แล้วเมื่อมีน้ำอุดมสมบูรณ์เพียงพอ ความชุ่มชื้นจะช่วยลดความรุนแรงของไฟป่า และมีเหลือเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน

“ป่าบางส่วนแถบนี้อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าบ้านโฮ่ง - สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ มีสัตว์ป่าหายาก เช่น เก้ง กวาง และนกยูง ฝายก็จะกลายเป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่า สังเกตได้เลยว่าพื้นที่ที่มีฝายกับพื้นที่ที่ไม่ได้ทำฝาย มีความเขียวชอุ่ม ชุ่มชื้นแตกต่างกัน” นาร์เนีย อธิบาย


ฝายยกระดับน้ำ (ใจ)

“อีก 2 วันมีนัดสร้างฝายด้วยกันนะ”

“วันพรุ่งนี้จะไปแล้วนะ ”

เป็นตัวอย่างคำประกาศบนโซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่ผ่านหน้าเฟสบุ๊คส่วนตัวของนุ่น ก่อนถูกแชร์ต่อโดยสมาชิกในทีม เชิญชวนให้มาช่วยกันสร้างฝายเพื่อชุมชน

นอกจากนี้ กลุ่มเยาวชนยังขอความร่วมมือจากผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยประกาศเสียงตามสาย แจ้งอัพเดทกิจกรรมการสร้างฝาย เพื่อให้คนในชุมชนทราบล่วงหน้าก่อนวันลงแรงจริงอีกครั้ง

“ปกติถ้าพ่อหลวงจะประกาศเรื่องอะไรมักเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นเวลาพ่อหลวงประกาศเสียงตามสายคนในชุมชนจะตั้งใจฟัง” นาร์เนีย กล่าว

วันลงแรงสร้างฝาย ผู้คนจากทั้งในและต่างพื้นที่ (ชนเผ่ากะเหรี่ยงบ้านม่วงคำ และ บ้านแม่จ๋อง) ทยอยเดินทางมาร่วมไม้ร่วมมือกันเกินคาด แม้รู้ว่าต้องใช้แรงงานอยู่ท่ามกลางแดดร้อนหลายชั่วโมง แต่กลับสนุกสนาน บรรยากาศการทำงานทำให้เห็นความสามัคคี ทั้งเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ ยืนเรียงแถวส่งต่อก้อนหินไปยังลำห้วย บ้างช่วยกันตอกไม้และมัดเชือกผูกฝาย การสร้างฝายกินเวลาตั้งแต่ช่วงสายราวเก้าโมงเช้า ล่วงเลยไปถึงประมาณบ่ายสองโมงถึงได้แยกย้ายกันกลับบ้าน การช่วยกันคนละไม้คนละมือในวันนั้น ทำให้ทีมเยาวชนแกนนำรู้สึกปลาบปลื้มใจ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้อิ่มใจมากที่สุด คือ การที่กลุ่มเพื่อนผู้ชายในชุมชนซึ่งถูกมองว่าเป็นเด็กนอกคอก ยกขบวนกันมามีส่วนร่วมด้วยกันยกแก๊ง

“หนึ่งวันก่อนวันนัด พวกเราไปเตรียมของก่อน ไปกัน 5 - 6 คน และมีพระอาจารย์ไปด้วย ผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 2 คน ช่วยกันไปเก็บหินมากองๆ ไว้ก่อน วันรุ่งขึ้นจะได้ลงมือทำได้เลย เพราะไม่รู้ว่าคนจะมาเยอะหรือเปล่า พวกเราดีใจมากที่ทั้งคนในหมู่บ้าน คนต่างบ้านมาช่วยกัน วัยรุ่นที่ไม่เคยมาร่วมงานกับพวกเราเลย พวกเขาก็มาช่วย ส่วนมากกลุ่มวัยรุ่นผู้ชายมักถูกดึงไปทางสารเสพติด พวกเราอยากให้พวกเขามาทำกิจกรรมเลยชวนว่ามาช่วยกัน แล้วเขาก็มีน้ำใจมาทำประโยชน์ให้หมู่บ้าน” นุ่น กล่าว

“พวกเราเป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันพูดกันรู้เรื่องอยู่แล้ว รู้สึกดีมากๆ ที่ชวนเพื่อนๆ กลุ่มนี้มาได้ ปลื้มใจที่เปลี่ยนใจพวกเขาได้ เพราะต่อให้เราเป็นคนเก่งได้รางวัลเยอะแค่ไหน ก็ยังไม่ดีเท่าเรามีส่วนช่วยให้คนอื่นพัฒนาและปรับเปลี่ยนตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น” นาร์เนีย กล่าว

การสร้างฝาย ไม่ได้แค่ช่วยถักทอความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนแต่ละวัยทั้งในและนอกชุมชนเท่านั้น แต่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับกลุ่มแกนนำเยาวชนด้วยเช่นกัน

“หนูคล้ายๆ คนที่เป็นโรคซึมเศร้า เป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูงมาก ไม่ค่อยยุ่งกับใคร ร้องไห้บ่อยมาก โครงการนี้ทำให้มีความกล้า กล้าพูดกล้าแสดงออก มีเพื่อนมีพี่มาคอยดูแล เลยมีกำลังใจให้กับตัวเอง อย่างน้อยก็ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเกิดของเรา และเป็นแรงที่ทำให้อยากทำความดีอื่นๆ ต่อไป” นาร์เนีย กล่าว

เมื่อหน้าฝนมาเยือน ฝายที่ถูกสร้างขึ้นในโครงการช่วยกักเก็บน้ำ เศษไม้และดินตะกอนได้เป็นอย่างดี แม้การสร้างฝายจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของชุมชนบ้านแม่ป้อกใน แต่การสร้างฝายที่ริเริ่มโดยน้องๆ กลุ่มยุวทูตน้อย ถึง 3 ฝายในช่วงระยะเวลาที่ทำโครงการเพียงไม่กี่เดือน ได้ช่วยหลอมรวมใจของคนในพื้นที่ ให้หันมาดูแลทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนอย่างเคร่งครัดมากขึ้น ไม่ใช่เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวหรือเพื่อใคร แต่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ และเพื่อวิถีชีวิตที่อยู่ดีมีสุขของคนในชุมชนเอง

++++++++++++


บทสัมภาษณ์โครงการรักป่า รักต้นน้ำ ตามรอยพ่อ  ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน


เยาวชนผู้ให้สัมภาษณ์

  1. นุ่น - ธวัลพร มุแฮ อายุ 18 ปี เรียน กศน. 
  2. นาร์เนีย - จินต์จุฑา ตาโล๊ะ อายุ 14 ปี โรงเรียนแม่ตืนวิทยา 
  3. อิงฟ้า - หนึ่งฤทัย หวันฮ้อ อายุ 12 ปี โรงเรียนบ้านแม่ป้อกใน
  4. ฟาง – สุพรรณษา จันตา อายุ 14 ปี โรงเรียนแม่ตืนวิทยา



แนะนำตัว

นุ่น - ธวัลพร มุแฮ อายุ 18 ปี เรียน กศน. /นาร์เนีย - จินต์จุฑา ตาโล๊ะ อายุ 14 ปี โรงเรียนแม่ตืนวิทยา / ฟาง – สุพรรณษา จันตา อายุ 14 ปี โรงเรียนแม่ตืนวิทยา/ อิงฟ้า - หนึ่งฤทัย หวันฮ้อ อายุ 12 ปี โรงเรียนบ้านแม่ป้อกใน


ถาม: ที่มาที่ไปของโครงการ

นุ่น: เริ่มจากการทำโครงการลดปัญหาขยะในหมู่บ้านเมื่อปีก่อน ปีนี้ได้ทำโครงการต่อเนื่องเลยตกลงกันทำโครงการรักป่ารักต้นน้ำตามรอยพ่อ เพราะเห็นว่าในป่าไม่ค่อยมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติแล้ว แหล่งน้ำแห้ง ขาดแคลนทำให้สัตว์น้ำไม่มีที่อยู่อาศัย พวกเราเลยอยากทำฝายเพื่อช่วยกักเก็บน้ำ เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ปู ปลา สัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ก็จะมีแหล่งน้ำดื่มในหน้าแล้ง


ถาม: ห้วยของชุมชนมีกี่ห้วย ชื่ออะไรบ้าง

นุ่น: หลักมี 2 ห้วย ชื่อห้วยแม่ป้อก กับ ห้วยย่าหล้า ห้วยย่าหล้าอยู่แถวดอยไม่ค่อยมีน้ำ ส่วนห้วยแม่ป้อกเป็นห้วยใหญ่กว่า


ถาม: บริบทชุมชนเป็นอย่างไร

นาร์เนีย: เป็นหมู่บ้านติดดอย ที่ตั้งชุมชนแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่บนดอยกับที่อยู่บนพื้นราบ ตรงพื้นราบสัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ตเข้าถึง แต่ส่วนบนดอยการติดต่อกับภายนอกยังไม่ค่อยสะดวก หากเข้ามาในชุมชนจะเห็นต้นไม้ เห็นดอยเป็นฉากหลัง มีวัด มีโรงเรียนประจำชุมชน หน้าหนาวอากาศหนาว หน้าร้อนอากาศร้อนจัด

นุ่น: เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ชนเผ่ากะเหรี่ยง ประชากรประมาณ 5 ร้อยกว่าคน เป็นชุมชนที่มีความสงบ อากาศบริสุทธิ์


ถาม: มีปัญหาฝุ่นควันไหม

นุ่น: มีอยู่บ้างในช่วงหน้าร้อน แต่คนในชุมชนแบ่งหน้าที่กันทำงาน มีหน่วยจัดการไฟป่าเคลื่อนที่เร็ว ทำแนวกันไฟ มีกิจกรรมของยุวทูตเยาวชน เข้าไปช่วยทำแนวกันไฟแถวพระธาตุ การสร้างฝายก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเก็บน้ำให้ป่าชุมชื้น


ถาม: คิดว่าชุมชนเรามีความเข้มแข็งไหม

นาร์เนีย: มีความเข้มแข็งแต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะบางคนไม่ให้ความร่วมมือเข้ามาเป็นจิตอาสากับชุมชน บางคนสมทบทุนเข้ามาช่วย แต่เราอยากให้มาร่วมแรงกันทำมากกว่า เพราะถ้าเกิดปัญหาคนในชุมชนทุกคนก็เดือดร้อนร่วมกัน


ถาม: ประเมินเป็นเปอร์เซ็นต์ระหว่างคนที่มาช่วยกับคนที่ไม่มาช่วยงานชุมชน

นุ่น: คนที่มาช่วยประมาณ 80% ไม่มา 20%


ถาม: คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอะไร

นุ่น รับจ้างทั่วไปและทำการเกษตร เช่น ลำไย ข้าวโพด มันสำปะหลัง มะขาม มะม่วง รับจ้างทั่วไปส่วนใหญ่ไปเป็นแรงงานตามฤดูกาลที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น รับจ้างปลูกหอมในฤดูกาลปลูกหอม


ถาม ทำฝายกับป่า เกี่ยวกันอย่างไร

นุ่น ถ้าเราทำฝาย ฝายจะช่วยกักเก็บน้ำ เพราะถ้าไม่มีน้ำต้นไม่คงเติบโตไม่ได้ สมัยยังเล็กจำความได้ว่า ตายายพาเข้าป่าไปหาหอยหาปู ห้วยต่างๆ มีน้ำเยอะมาก และมีสัตว์น้ำให้จับเยอะ ตั้งแต่สมัยเรียน ม.1 เคยไปจับสัตว์น้ำในห้วย ทั้งห้วยมีปลาแค่ตัวหรือสองตัว ตอนนี้เรียนชั้น ม.6 แล้ว น้ำในห้วยยิ่งแห้งลง เลยคิดว่าถ้าเราสร้างฝายเพิ่มอย่างน้อยๆ จะได้เป็นที่อยู่อาศัยและสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ดีหน่อยที่ชุมชนมีข้อตกลงอยู่แวว่าไม่ให้ช็อตปลา เพราะปลาที่โดนช็อตจะเป็นหมันและสืบพันธุ์ไม่ได้ เราเลยไม่มีปัญหาเรื่องนั้น แต่ปัญหาของเรา คือ ไม่มีน้ำ


ถาม เท่าที่ฟังก็คือ แถวบ้านก็มีฝายอยู่แล้ว และมีข้อตกลงในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากร ข้อตกลงที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร การใช้น้ำ ที่มีอยู่เดิมมีอะไรบ้าง?

นาร์เนีย :ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับปลากับน้ำ ช่น ห้ามช๊อตปลา


ถาม : มีการห้ามช๊อตปลา แล้วมีกฏอย่างอื่นอีกไหมห้ามไปตัดต้นไม้ในเขตป่า หรืออะไรแบบนี้?

นุ่น : มีเขตห้ามล่าสัตว์ป่า (ป่าบ้านโฮ่ง) ที่กลุ่มยุวทูตน้อยเข้าไปทำงานร่วมด้วย ออกกฎห้ามชาวบ้านเข้าไปใช้พื้นที่ป่าและห้ามชาวบ้านล่าสัตว์


ถาม ชาวบ้านห้ามเข้าไปเก็บของป่าก็ไม่ได้ด้วยหรือเปล่า

นุ่น : ตอนแรกทำไม่ได้เลยค่ะ แต่ชาวบ้านคัดค้านกัน


ถาม : เอาเท่าที่พวกหนูรู้ เช่น ห้ามช็อตปลา ถ้าเป็นเรื่องในเขตป่าตรงนั้น ก็พอจะรู้ว่า ตอนนี้ก็ห้ามไม่ให้เข้าไป ใช่ไหม

นุ่น : เข้าไปได้ค่ะ

นาร์เนีย : คือช่วงแรกๆ ไม่ให้เข้าไป พอนานๆ เข้ามีคนคัดค้าน เพราะไม่ใช่วิถีชีวิตของชาวบ้านด้วย อนุรักษ์ได้ แต่ถ้าห้ามเข้า ห้ามไม่ให้ทำอะไรเลย ก็จะรู้สึกว่าเกินไป

นุ่น: ในเขตของชุมชน มีกฎชุมชนห้ามตัดไม้ทำลายป่าอยู่แล้ว บางทีก็มีการเข้าไปบวชบ้าง เข้าไปตรวจตราดูแลป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในชุมชนทำอยู่แล้ว


ถาม โอเค แล้วในชุมชน มีเขตแบ่งไหมว่า ตรงไหนเขตป่าชุมชน หรือเขตป่าใช้ได้ มีไหม อันนี้น้องๆ รู้ใช่ไหมว่าตรงไหนห้ามใช้ หรือตรงไหนใช้ได้ พวกเราก็รู้อยู่

นุ่น : มี มันไม่เชิงว่าห้ามไปค่ะ แต่ถ้าไปแล้วเขาเห็นปืนคือโดนจับเลย

นาร์เนีย : เข้าไปได้ แต่จะไปหาผลประโยชน์ ไปทำอะไรที่เกินกว่านั้นไม่ได้ แต่ถ้าแค่ไปหาปู หาปลา ไม่เป็นไร ถ้าไปล่าสัตว์ป่า เช่น เก้ง กวาง แล้วเจ้าหน้าที่ไปเจอ ก็จะโดนจับ แต่บางคนก็แอบไป ก็มีอยู่ตามวิถีชีวิตเขา


ถาม : ก่อนที่เราจะมาทำโครงการนี้ รู้ไหมว่าในชุมชนเรามีฝายนี้อยู่กี่ฝาย?

น้องๆ : มีเยอะอยู่ ประมาณ ร้อยกว่าฝาย

นุ่น : เพราะว่าหนูทำตั้งแต่ ป.3 ป.4 ห่างไปช่วงหนึ่ง ช่วงตอนที่หนูห่างหายไป ประมาณ ป.6 แล้วก็เริ่มใหม่ ลุยใหม่เป็นรุ่นสู่รุ่นไปเลย


ถาม : ก็คือสมาชิกในทีมเรา ทุกๆ คนก็รู้จักฝาย รู้จักเคยไปทำใช่ไหม ก่อนหน้านี้เราก็เคยไปทำนั่นทำนี่ ใช่ไหม?

นุ่น : ค่ะ


ถาม : เป้าหมายโครงการของเราคืออะไร?

นาร์เนีย : เป้าหมายโครงการที่พวกเราคิดไว้ คือ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และเป็นแหล่งน้ำ สำหรับคนมาเที่ยวดอย มากินมาใช้ มาสำรวจได้ บ้านเรามีสัตว์ประจำหมู่บ้าน คือ นกยูง ช่วงก่อนๆ ที่จะทำฝาย นกยูงมาหากินแถวหมู่บ้าน แล้วเกิดปัญหาขึ้น เวลาไปสร้างฝาย พวกเราเอาข้าวไปให้นกยูงด้วย พอมีฝายนกยูงก็จะมีแหล่งน้ำกิน คนมีน้ำดื่มน้ำใช้ อีกอย่างหนึ่งเป็นการรวมตัวและสามัคคีกันของคนในชุมชน และก็เป็นการเกาะกลุ่มของเยาวชนด้วย

นุ่น : ได้ทำความรู้จักคนต่างที่ด้วย จากโครงการที่เข้ามาหนูก็ได้เชิญทางอำเภอทุ่งหัวช้าง และทางแม่จ๋อง


ถาม : ในเมื่อที่ผ่านมาคนในชุมชนทำฝายกันอยู่แล้ว มีปัญหาอะไรเราอยากทำให้มันดีขึ้น?

นาร์เนีย : ช่วงก่อนทำฝายในโครงการ ฝายชุมชนที่ทำขึ้นมาช่วงหลังเป็นแบบปูนถาวร เป็นการทำฝายที่ไม่ถูกวิธี เพราะฝายปูนไปกักทราย ฝายมีหลายรูปแบบ ที่พวกเราไปทำตรงนี้ เพื่อทำให้น้ำมันไหลผ่านได้ ทำให้กักเก็บน้ำได้ และปิดกั้นดินตะกอนได้ส่วนหนึ่ง แต่บางส่วนเล็ดลอดไปด้าน สัตว์น้ำตัวเล็กๆ ผ่านไปได้ แต่เราทำให้แข็งแรง ไปเสริมด้านความทนทานและประสิทธิภาพของมัน


ถาม: ฝายปูน ใครเป็นคนทำ

นุ่น : มีงบเข้ามา แล้วชาวบ้านไปช่วยกันทำ


ถาม : ชาวบ้านรู้มั้ยว่า ฝายแบบดั้งเดิมมันดีกว่าฝายแบบปูน?

นุ่น : รู้ค่ะ คือฝายที่พวกเราใช้เป็นไม้ไผ่ค่ะ เวลาปักลงดินมันจะสูงขึ้น แต่ว่าบ้านหนูมีหินเยอะ จึงไม่สามารถปลูกขึ้นได้


ถาม : คือยังไงนะ บ้านหนูมีหินเยอะ เวลาทำฝาย มันปลูกไม่ได้?

นุ่น : เวลาตอกไม้ไผ่ ปักลงดินให้เป็นขั้นบันไดยกระดับสูงขึ้น เก็บน้ำได้เยอะขึ้น แต่ที่ห้วยแถบนี้ก้อนหินเยอะจึงไม่สามารถปลูกปักฝายให้ลึกแล้วทำขั้นบันไดได้ ฝายที่ทำมาเลยกักเก็บน้ำได้เพียงเล็กน้อย


ถาม : ถ้ามันปลูกขึ้น และสูงขึ้นเท่ากับว่าจะสามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้นถูกไหม แต่ที่บ้านเรา ปลูกไม่ขึ้น มันทำไม่ได้ใช่ไหม?

นุ่น : ค่ะ ก็เลยทำแบบฝายคอก


ถาม : วิธีทำต่างกันใช่ไหม ?

น้องๆ : ต่างค่ะ

นุ่น : ถ้าเป็นฝายมีชีวิต ...น้องพูดแทรก...


ถาม : ตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่ทำโครงการมา เราทำอะไรกันมาบ้าง ที่มารวมตัวกัน ตอนปี1 ใครมาชวนให้ไปทำ

นุ่น : ทางพระอาจารย์ ค่ะ


ถาม : รู้จักพระอาจารย์ได้อย่างไร

นุ่น : พวกเราเข้าวัดเป็นประจำ มีเวลาว่างก็มากวาดวัด ทำความสะอาดวัด และกลุ่มยุวทูตเป็นกลุ่มที่พระอาจารย์ตั้งขึ้น กลุ่มนี้พบเจอ แลกเปลี่ยนกันบ่อย

นาร์เนีย : ที่มารู้จักกับพระอาจารย์ เพราะว่าพวกเราเรียนกับพระอาจารย์ ทุกวันศุกร์ตอนบ่ายมีการเรียนธรรมะศึกษา และเรียนเพื่อไปสอบด้วย สอนเกี่ยวป่า ให้ดูแลป่า พวกเราจึงได้ซึมซับตรงนั้นมาค่ะ

นุ่น : พระอาจารย์เป็นคนบ้านเดียวกับพวกเราด้วยค่ะ ก็เลยรู้จักและสนิทกัน


ถาม ได้รู้จักพระอาจารย์ จากการที่มาโรงเรียน และโรงเรียนพามาด้วย ตั้งแต่โครงการแรก ทำไมน้องๆ ถึงอยากมาทำโครงการนี้

นุ่น : โดยส่วนตัว หนูเป็นคนชอบทำกิจกรรมค่ะ สนใจด้วยและอยากทำ ก็เลยชวนน้องๆ มาทำโครงการด้วยให้เป็นทีมที่ยั่งยืนมั่นคง ปีแรกที่หนูทำโครงการได้รับประสบการณ์หลายอย่างเลย ทำโครงการไม่ทัน บางครั้งไปทำกิจกรรมเหลือหนูคนเดียว ปีนี้หนูจึงขอคนที่เสียสละจริงๆ สัก 4 คน มาทำโครงการด้วยกันแบบไม่ต้องเดือดร้อนเหมือนรอบก่อนหน้านี้ค่ะ


ถาม : รอบแรกมีปัญหาอะไรกัน

นุ่น : มีปัญหาเยอะ เช่น เวลาพี่ๆ นัดไปทำโครงการที่โรงแรม ทีมงานก็จะไม่ใช่คนเดิมแล้ว มีแค่หนูกับเพื่อนอีกคนที่เป็นคนเดิม ส่วนคนอื่นก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และตอนมาสรุปโครงการหรือว่าทำโครงการมีแค่คนที่อยู่ประจำทำค่ะ หรือมาไม่ครบคน ทำให้รู้สึกเหนื่อย จึงต้องคิดเองทำเอง ทั้งที่พวกเขาไปกับเราตลอด รับรู้ทั้งหมด


ถาม 2 คน ตอนนั้นคือใคร

นุ่น : มีหนู กับลุงข้าว ส่วนน้องๆ ยังไม่ได้มาทำ เพราะยังเด็กอยู่


ถาม : รุ่นนาร์เนีย กับ ฟาง เข้ามาตอนไหน

นุ่น : น้องๆ เป็นผู้ปิดทองหลังพระ มาช่วยตลอดเลยค่ะ แต่ว่าเวลาไปทำกิจกรรม ประมาณ 4-5 คน น้องไม่ได้ไปเพราะยังเด็กอยู่ พ่อแม่ก็ไม่อนุญาตด้วยค่ะ แต่ถ้าเก็บขยะ สร้างฝาย น้องมาช่วยตลอดเลยค่ะ


ถาม: เลือกทีมงานใหม่ นุ่นต้องเลือกคนแบบไหน

นุ่น : อย่างที่พูดไป ทีมยุวทูตมีประธาน เลขา รองเลขา และเวลาที่มาทำกิจกรรม จะเห็นได้ว่าใครโอเค ใช้งานได้ และมีความรับผิดชอบ หนูก็เลยอยากชวนน้องกลุ่มนี้มาทำโครงการด้วย แล้วน้องก็มาทำด้วยกันจนถึงตอนนี้ค่ะ


ถาม : ในทีม มีกันกี่คน

นุ่น : มี 7 คนค่ะ


ถาม : นุ่นดูจากอะไร ว่าคนๆ นี้มีความรับผิดชอบ

นุ่น : เวลาพระอาจารย์สั่งงาน เช่น นาร์เนียไปเอานั่นหยิบนี่นะ น้องทำเรียบร้อย ให้คุมเด็กๆ น้องก็ทำได้แบบนี้ค่ะ


ถาม : หลังจากรวบรวมทีมแล้ว เราทำอะไรกันต่อ

นุ่น : คิดโครงการใหม่ เราจะทำอะไรกัน ตอนที่ทำโครงการปีแรกรุ่นพี่บางคนไม่พร้อม หรือน้องบางคนก็ไม่ฟัง บางอย่างหนูก็ไม่เคยทำแบบนี้ในหมู่บ้านด้วย ทำให้รู้สึกเหนื่อยและท้อค่ะ บางครั้งเรียกให้มาเก็บขยะสองสามคน มันก็ไม่เสร็จ มันต้องใช้คนเยอะค่ะ ก็เลยคิดว่าโครงการครั้งต่อไปไม่ต้องทำอะไรมาก และนานๆ ทำทีน่าจะเหมาะกับพวกเรามากกว่า ตอนแรกคิดเรื่องให้สวดมนต์เข้าวัดทุกวันพระ แต่เรื่องแบบนี้มันอยู่ที่ใจเรา ถ้าใจเราอยากทำ เราก็ไปทำ แต่เรื่องฝาย เช่น ปลูกฝาย เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเรา เลยถามเสียงส่วนใหญ่ว่า อยากทำฝายไหม ปกติกลุ่มยุวทูตก็ทำกันประจำอยู่แล้ว 1 เดือน ไป 2 ครั้ง และตั้งแต่โครงการจบไปแล้วพวกเราไปทำกันตลอดนะคะ


ถาม : นุ่นบอกว่า ต้องหาคนที่เสียสละจริงๆ ต้องเป็นยังไง

นุ่น : อย่างเช่นกลุ่มหนู จะจัดเลยว่าทำงานเฉพาะวันเสาร์ วันเสาร์ต้องว่างน่ะ

นาร์เนีย : คำว่าเสียสละจริงๆ คือ สามารถอยู่ทำงานด้วยกันได้ เสียสละเวลาครอบครัว เสียสละเวลางานของตัวเอง เสียสละความสนุก มาเพื่อพวกเราได้


ถาม : แล้วเราเสียสละกันแบบนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองที่บ้านเข้าใจไหม เขาอยากให้มาทำโครงการหรือเปล่า รู้ได้ยังไงว่าเขาเข้าใจ

นุ่น : เข้าใจค่ะ พวกเราแบ่งเวลาได้ค่ะ ก็เลยไม่โดนตำหนิ


ถาม แบ่งเวลายังไงบ้าง

นาร์เนีย : ทำงานงานทางบ้านให้เสร็จก่อนแล้วค่อยไปทำโครงการ


ถาม : หาทีมและคิดโครงการแล้ว แบ่งหน้าที่กันยังไงบ้าง

นุ่น : ต้องถามเสียงส่วนใหญ่ค่ะ ว่าใครจะเป็นประธาน เลขา เช่น บางคนจดอะไรก็ไม่ได้ สมาธิสั้นแบบนี้ก็เป็นเลขาไม่ได้ค่ะ หนูอยู่กับน้องๆ เยอะ จะรู้ว่าน้องๆ ถนัดด้านไหน


ถาม : แต่ละคนบอกพี่หน่อย ว่าทำหน้าที่อะไรกันบ้าง

น้องๆ : นุ่นเป็นประธานโครงการ นาร์เนียเป็นเลขา ฟางเป็นรองเลขา และเพื่อนอีกคนเป็นเหรัญญิก และน้องอิงเป็นผู้ช่วยเหรัญญิก


ถาม : หน้าที่ประธานทำอะไรบ้าง

นุ่น : ทำหลายอย่างเลยค่ะ คุมเด็กๆ

นาร์เนีย : พี่นุ่นเป็นทั้งคนสั่งงาน คนออกแบบ คนเก็บเงิน เป็นทุกอย่างเลยค่ะ


ถาม ปีนี้พี่นุ่นมีคนมาช่วยแล้วนะ ยังต้องเหนื่อยอีกหรอ

นุ่น : ก็ไม่เชิงว่าดูแลหมด ช่วยกันทำแต่หนูเป็นคนคุมงานภาพรวมทั้งหมด บางทีช่วยน้องออกความคิดเห็นค่ะ


ถาม : แบ่งหน้าที่เสร็จแล้ว น้องๆทำอะไรกันต่อ

นุ่น : ไปชี้แจงให้ผู้นำหมู่บ้านในชุมชน ว่าพวกเราจะมาทำโครงรักป่ารักต้นน้ำนะ บอกออกไปว่าพวกเราจะมาทำฝายกันวันนี้ ถ้าใครว่างก็มาช่วยกัน และขอข้อเสนอแนะว่าคิดยังไงกับเยาวชนที่มาร่วมกันทำโครงการนี้


ถาม : เราไปแนะนำ ชี้แจง จัดเป็นเวทีหรือไปร่วมกับใคร

นุ่น :พวกเราเอาโปรเจ็คเตอร์ไปนำเสนอให้ดู ว่าก่อนจะมาเป็นโครงการนี้ได้ไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับฝาย และอยากให้เชื่อว่าพวกเราจะทำโครงการนี้อย่างจริงจัง ได้เชิญทางผู้ใหญ่บ้าน พระอาจารย์ อสม. แม่บ้าน เข้ามาร่วมประชุมด้วย และเปิดคลิปที่พวกเราไปสำรวจพื้นที่เบื้องต้นให้คนที่มีร่วมงานได้ชม ว่าสภาพป่าและแหล่งน้ำในชุมชนเป็นอย่างไร ทำไมต้องช่วยกันแก้ไขฟื้นฟู


ถาม : พวกเรามีวิธีการไปชวน อสม. และคนอื่นๆ ยังไง

นุ่น : อสม. จะเข้าร่วมประชุมด้วยกันเลยค่ะ แล้วเช้าอีกวันผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสาย


ถาม : อันนี้เป็นเวทีที่เราจัดขึ้นมาเลย หรือเราไปร่วมกับประชาคมหมู่บ้าน

นุ่น : หนูจัดขึ้นมาเลยค่ะ มีอาหารว่างเรียบร้อย


ถาม : นุ่นได้ไปศึกษาเรื่องอะไร แล้วมานำเสนอในเวที ?

นุ่น : คือที่หนูไปอบรมในโครงการค่ะ


ถาม : หลังจากที่เราไปชี้แจงแล้ว ได้รับผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง

นุ่น : เสียงตอบรับแนะนำว่าดีมากค่ะ คือจะทำอะไรก็ทำ อย่ามัวแต่เล่น เพราะในป่ามีแมลงแปลกๆ ที่เราไม่รู้จัก ให้รู้จักมีมารยาทและต้องเกรงใจเจ้าป่าเจ้าเขาค่ะ


ถาม : ตอนจัดเวทีชี้แจงน้องๆต้องเตรียมตัวอะไรกันบ้าง

นุ่น : นาร์เนียเตรียมเบรก น้องฟางเตรียมเอกสารลงทะเบียน น้องโดนัทเตรียมสถานที่ น้องอิงไปเอาโปรเจ็คเตอร์และถ่ายรูป เตรียมงานให้เรียบร้อย มีเพื่อนมาช่วนเป็นพิธีกรอธิบายโครงการร่วมกับหนูค่ะ


ถาม : แล้ววางแผนกันแบบนี้ ได้ทำตามอย่างที่คิดไว้ไหม

นุ่น รับผิดชอบงานได้ดีมากค่ะ


ถาม : แล้ววันจริงมีปัญหาอะไรที่ไม่เป็นไปตามแผนไหม

นุ่น: ไม่มีค่ะ


ถาม : แล้วหนูรู้ได้อย่างไรว่ามีคนไปร่วมกี่คน

นาร์เนีย: ตอนประกาศขอบ้านละ 1 คน แล้วชวนคนข้างนอกมาร่วมด้วยแต่ ให้แจ้งล่วงหน้าก่อนแล้วว่ามากี่คน พวกเราก็จะเผื่อๆ ไว้ค่ะ

นุ่น: บ้านหนูเป็นร้านขายของค่ะ จะเอาของไปเผื่อก่อน ถ้าไม่เสียก็เอากลับมาขายที่บ้านได้


ถาม : เราสามารถอัrเดทคนที่จะมาเข้าร่วมได้ตลอดใช่ไหมค่ะ หรือวางแผนว่าคนจะมากี่คน

นุ่น: ถ้าสมมุติว่าไม่พอจริงๆ ศาลาทีjประชุมอยู่ข้างๆ ร้านค้า ถ้าไม่พอก็wปเอาที่ร้านค้าก่อน แล้วค่อยไปจ่ายเงินค่ะ มีกลุ่มยุทูตน้อยช่วยอยู่ค่ะ


ถาม แล้วมากันกี่คน จำได้ไหม

นุ่น: เฉพาะทีมงาน 15 คน และคนที่มาเข้าร่วม 50 กว่าคน รวมพวกหนูด้วย


ถาม เสร็จแล้วพอใจไหม วันนั้น

นุ่น: พอใจค่ะ ชาวบ้านได้อยู่จนจบ ประมาณ 2 ชั่วโมง เพราะว่าปกติแล้วเวลาไปร่วมประชุมหมู่บ้าน บางครั้งประชุมนานเกิน ชาวบ้านก็กลับบ้านกันแล้วไม่รอจนประชุมเสร็จ แต่ตอนพวกเรานำเสนอทุกคนอยู่ฟังกันจนจบเลยค่ะ


ถาม แล้วคิดว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้เขาฟังจนจบ

นาร์เนีย การนำเสนอ สไลด์ที่ทำไม่น่าเบื่อ มีภาพและวีดิโอให้ดูค่ะ


ถาม เรานำเสนออะไรบ้าง พอจะจำได้ไหม

นุ่น เรื่องงบประมาณได้มาเท่าไร จะทำฝายวันที่เท่าไหน ขั้นตอนการทำโครงการตั้งแรกจนจบมีอะไรบ้าง และมีใครเป็นตัวหลักของโครงการนี้ และใครเป็นพี่เลี้ยง วัตถุประสงค์การทำโครงการคืออะไร


ถาม หลังจากนั้นทำอะไรต่อ

นุ่น: พากันไปสำรวจฝายที่จะทำ ว่าจะทำจุดไหนดี คิดกันว่าถ้าไม่สำรวจแล้วไปทำเลยบางทีคงไม่เหมาะสม มันต้องใช้ของเยอะ ไปดูว่าพื้นที่ต้องนี้ต้องใช้อะไรบ้าง ต้องใช้เชือกไหม ใช้ไม้ไผ่ประมาณเท่าไร และต้องพาผู้นำชาวบ้านไปด้วยค่ะ ให้เขาช่วยเลือกว่าบริเวณไหนเหมาะสำหรับทำฝาย แล้วเลือกมาได้ 2 ฝายค่ะ แล้วตกลงกันว่าจะทำฝายคอกบริเวณนั้น

นาร์เนีย: ตรงนั้นไม่มีชื่อฝายค่ะ เป็นลำห้วยหมดเลย


ถาม เราไปสำรวจฝาย ต้องไปสำรวจข้อมูลอะไรก่อนไหม

นุ่น: ไปค่ะ แล้วก็ถามข้อมูลจากพระอาจารย์และผู้ช่วย ว่าต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง เพราะเราต้องใช้แรงคนเยอะไม่ใช่แค่เยาวชน ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่ก็จะไปกันเป็นกลุ่มๆ ด้วย เราเชิญต่างบ้านมาด้วย เลยต้องถามผู้ใหญ่เพื่อให้รู้แนวทางการทำจะได้ไม่มีข้อผิดพลาดทีหลัง


ถาม ที่พาผู้ใหญ่ไปด้วย เป็นใคร แล้วมีผู้ใหญ่ในชุมชนคนอื่นไปด้วยไหม

นุ่น: เป็นพี่เลี้ยง

นาร์เนีย: พี่เลี้ยงเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อยู่ในกลุ่มผู้นำชุมชนอยู่แล้ว และเป็นคนที่ทำเรื่องฝายจึงมีความรู้พอสมควรค่ะ


ถาม พวกเราไปกันครบทุกคนไหม และแบ่งหน้าทีอะไรกันบ้างตอนไปทำฝาย

นุ่น: ไปกันครบค่ะ ไม่ได้มีอะไรเยอะ ไปดูฝายกันว่าตรงไหนทำฝายได้ ตรงไหนมีฝายอยู่แล้ว ช่วยกันทำคนไม้คนละมือค่ะ

นาร์เนีย: จดบันทึกว่าข้อมูลด้วยว่าพื้นที่แต่ละจุดเป็นอย่างไร มีก้อนหิน มีวัสดุที่เก็บมาทำฝายได้ไหม ลักษณะพื้นดินรอบๆ ต้นไม้รอบๆ ดูว่ามีจุดไหนอันตรายหรือเปล่า


ถาม วางแผนทำกิจกรรมวันนั้นอย่างไรบ้าง

นุ่น: เราวางแผนว่ากิจกรรมต้องไม่วิชาการเกินไป ไม่อย่างนั้นจะน่าเบื่อแล้วไม่มีใครอยากทำกิจกรรมกับเรา ถ้าเรามีร้องเพลง สันทนาการ คนที่ไปกับเราก็จะได้รับความสนุกสนานไปด้วย


ถาม นอกจากพวกเราแล้ว ได้ชวนเด็กๆ มาร่วมสร้างฝายด้วยไหม

นุ่น: ถ้าเด็กเกิน หนูไม่ได้ชวนไปค่ะ เพราะอาจจะซนเกิน เราห้ามไม่ได้ เดี๋ยวได้รับอันตราย

นาร์เนีย: วันสำรวจไปกัน 7-8 คน ถ้าไปมากกว่านี้ดูแลไม่ทั่วถึงค่ะ


ถาม ไปตั้งแต่กี่โมงกลับกี่โมง

นุ่น: วันที่ไปสำรวจไป 9 โมง กลับประมาณ 11 โมง ส่วนวันที่ทำฝายจริงๆ กลับประมาณ 3-4 โมงเย็น วันที่ทำฝายจริงๆ มีคนมาช่วยเยอะ พวกเราดีใจมากที่ทั้งคนในหมู่บ้าน คนต่างบ้านก็มาช่วยกัน วัยรุ่นที่ไม่เคยมาร่วมงานกับพวกเราเลย วันนั้นเขาก็มาช่วยกัน ส่วนมากกลุ่มวัยรุ่นผู้ชายมักถูกดึงไปทางสารเสพติด พวกเราอยากดึงพวกเขามาช่วยทางนี้ เลยชวนเขาว่ามาช่วยกัน แล้วเขาก็มีน้ำใจมาทำประโยชน์ให้หมู่บ้าน

นาร์เนีย: พวกเราเป็นรุ่นราวคราวเดียวกันพูดกันรู้เรื่องอยู่แล้ว พวกเรารู้สึกดีที่ชวนเพื่อนๆ กลุ่มนี้มาได้ เปลี่ยนใจพวกเขาได้ ต่อให้เราเป็นคนเก่งได้รางวัลเยอะแค่ไหน ยังไม่ดีใจเท่าเรามีส่วนช่วยให้คนอื่นพัฒนา และปรับเปลี่ยนตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น


ถาม เราไปสำรวจฝายมาแล้ว เราก็มาปรึกษาหาข้อมูล นอกจากพระอาจารย์ ผู้ช่วยและมีใครอีกบ้าง

นาร์เนีย: ผู้ใหญ่บ้าน คนในหมู่บ้านบางส่วนที่มีประสบการณ์ทำฝายมาก่อนแล้ว หรือคนเฒ่าคนแก่ที่คุ้นเคยกับป่า ก่อนมีเทคโนโลยีเข้ามา


ถาม เล่าให้พี่ฟังหน่อย แยกเป็นหัวข้อได้ไหม

นาร์เนีย: 1. ใครเป็นคนริเริ่มนำฝายเข้ามาในหมู่บ้าน 2. วิธีการทำฝาย 3. ทำฝายแล้วได้อะไร และ 4. มีความรู้สึกยังไงที่พวกเราจะเข้าไปทำโครงการนี้


ถาม นอกจากถามว่า ที่มา มายังไง ทำแล้วได้อะไร ได้ถามอย่างอื่นอีกไหม

นาร์เนีย: มีการเปลี่ยนแปลง และประโยชน์ของมันด้วยค่ะ


ถาม มีประโยชน์ยังไง บอกพี่อีกรอบสิ

นาร์เนีย: ประโยชน์ของฝาย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ เป็นแหล่งน้ำให้เก้ง กวาง และนกยูงมากิน ลักษณะของฝายช่วยดักตะกอน เพื่อไม่ให้ตะกอนหลุดไปในอ่าง และสามารถกักเก็บน้ำได้ สังเกตได้เลยว่าพื้นที่ที่มีฝายกับพื้นที่ที่ไม่ได้ทำฝาย มีความเขียวชอุ่ม ชุ่มชื้นแตกต่างกัน


ถาม : พวกหนูรู้ได้ยังไง ว่าควรถามคำถามอะไร

นาร์เนีย พวกเราได้วางกรอบไว้แล้ว ได้มาปรึกษากันว่า เราขาดความรู้ตรงไหนบ้าง แล้วจึงไปถามผู้รู้


ถาม หมายถึง พวกเราเองก็อยากรู้ใช่ไหม

นาร์เนีย ค่ะ มันมาจากที่พวกเราอยากรู้ด้วย แล้วก็ถามถึงสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ต่อการทำโครงการครั้งนี้ด้วยค่ะ


ถาม เป็นประโยชน์ยังไง

นาร์เนีย บางคำถาม เช่น ฝายทำแบบไหน แล้วผลเป็นอย่างไร เพราะฝายมีหลายแบบ ทั้งฝายถาวร ฝายกึ่งถาวร และฝายไม้ไผ่ก็มีอยู่หลายแบบ เช่น แบบขวาง ,แบบฝายคอก ฝายแบบไหนดีที่สุด แล้วพวกเราก็นำมาประยุกต์ใช้ค่ะ

นุ่น ดีที่สุด และพวกเราสามารถทำได้ด้วยค่ะ


ถาม แล้วได้เลือกมา คือฝายคอกใช่ไหม

น้องๆ ค่ะ

นุ่น จริงๆ แล้วฝายแบบมีชีวิต ต้องใช้แรงผู้ชาย ต้องตอกและมัดเชือกแน่นๆ ถ้าทำแบบนั้น พวกเราคงไม่ไหวแน่นอนเลยค่ะ

นาร์เนีย เราดูจากกำลังของพวกเราค่ะ


ถาม เพราะเราได้ไปศึกษาหาข้อมูล และตัดสินใจจะทำฝายคอก และไม่คิดว่าจะมีผู้ใหญ่มาช่วยเยอะขนาดนี้ แล้วเราเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง

นุ่น ก่อนที่หนูจะไปทำ ไปกัน 5 - 6 คน และมีพระอาจารย์ไปด้วย ผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 2 คนค่ะ ไปเก็บหินมากองๆ ไว้ก่อน ไม้ที่พอหาได้ละแวกนั้น วันรุ่งขึ้นเตรียมอุปกรณ์อื่นๆ ขึ้ยไปแล้วจะได้อธิบายขั้นตอนการทำให้กับน้องๆ ที่มาช่วย แล้วลงมือทำได้เลย เพราะทีแรกเราไม่รู้ว่าคนจะมาเยอะหรือเปล่า


ถาม ถ้าไม่รวมผู้ใหญ่ เรารู้ได้ยังไงว่าจะมีคนมาร่วมกี่คน และจัดเตรียมอุปกรณ์ให้พอสำหรับคนที่มาช่วยให้ได้ครบทุกคน

นาร์เนีย พวกเราพอมีประสบการณ์การทำฝายอยู่แล้วบ้าง รู้ว่าต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ใช้แค่ไหนถึงจะพอก็เลยประมาณการณ์ได้ แต่วันจริงคนมาช่วยเยอะมาก


ถาม เรามีประกาศชวนตั้งแต่ตอนแรก แล้วเราได้ประกาศชวนอีกรอบไหม ทำไมคนถึงมาเยอะ

นุ่น: มีประกาศอีกรอบหนึ่งค่ะ อีกทั้งยังประกาศลงในโซเชียลด้วยค่ะ


ถาม ประกาศเสียงตามสาย?

นุ่น: มีการประกาศในตอนเย็นวันนี้และประกาศอีกเช้าของวันพรุ่งนี้ค่ะ

นาร์เนีย: และในโพสจะประกาศว่า “วันพรุ่งนี้ หรือ อีก 2 วันจะไปแล้วนะ ”

นุ่น: ให้เขาแจ้งมาก่อนค่ะ และเขาจะได้เคลียงานให้เรียบร้อยก่อนค่ะ


ถาม ประกาศทางโซเชียล ใครประกาศ

นุ่น: หนูจะใช้เฟสหนูค่ะ และน้องๆแชร์ก่อนต่อๆไป


ถาม แล้ว เสียงตามสาย ใครประกาศ

นุ่น: ผู้ใหญ่บ้านค่ะ เขาออกกฎใหม่ว่าไมค์ผู้ใหญ่บ้านจะให้คนทั่วไปพูดซุ่มสี่ซุ่มห้าไม่ได้ ถ้าจะพูด ต้องเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ค่ะ

นาร์เนีย: จากที่ปกติถ้าพ่อหลวงจะประกาศเรื่องอะไรมักเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นเวลาพ่อหลวงประกาศเสียงตามสายคนในชุมชนจะตั้งใจฟัง


ถาม วันที่ไปทำฝาย มีปัญหาอะไรกันบ้างไหม

นุ่น: มีนิดหน่อยค่ะ เพราะเด็กพาเพื่อนใหม่มา ไม่กล้าทำนั่นไม่กล้าทำนี่ สั่งให้เก็บขยะก็ไม่เก็บ หนูต้องใช้เสียงเข้มและต่อว่าถึงจะทำตาม เป็นส่วนเล็กน้อยค่ะ แต่ส่วนใหญ่ให้ทำอะไรก็ทำหน้าที่ตัวเองได้ดีค่ะ ถ่ายรูป แจกข้าว แจกขนม ครบถ้วนดีค่ะ


ถาม เช่นปัญหาอะไรบ้าง

นุ่น: หนูจำได้ มีแค่เก็บขยะอย่างเดียวค่ะ เพราะว่าอย่างอื่น หนูเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว


ถาม พวกเราไม่เคยเป็นแม่งานมาก่อนเลย เพราะอะไรถึงราบรื่นไปได้

นาร์เนีย: มันไม่ได้ราบรื่นแบบถนนคอนกรีต มีที่เป็นถนนลูกรังบ้าง บางครั้งพูดอะไรไปน้องๆ ไม่ค่อยฟัง แต่พวกเราก็สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเรามีประสบการณ์ทำงานกับพระอาจารย์กับผู้ใหญ่บ้าน ตอนที่วัดจัดงานใหญ่ๆ พวกเราไปเป็นส่วนหนึ่งของงาน เช่น ไปเดินแจกน้ำ หรือแสดงความคิดเห็น เป็นต้น


ถาม ในวันนั้นที่เราไปทำฝาย เราคิดว่า “เด็ก หรือ ผู้ใหญ่ เป็นผู้นำ กันแน่ ?

นุ่น: กลุ่มที่ไปทำกัน พวกเราเป็นตัวหลักเลยค่ะ

นาร์เนีย: เพราะคิดว่า เด็ก เป็นผู้นำค่ะ และผู้ใหญ่จะฟัง เพราะว่าเขายกเวทีให้พวกเราได้แสดงประสิทธิภาพ


ถาม เราไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อนใช่มั้ย

นุ่น: ควบคุมงานแบบนี้หนูก็ไม่เคยค่ะ


ถาม เรารู้สึกยังไงที่ผู้ใหญ่เค้าให้โอกาสเป็นแม่งานในครั้งนี้

นุ่น: รู้สึกดีและอยากขอบคุณที่ไว้ใจ เชื่อใจพวกเราค่ะ อยากให้เขารู้ว่าเยาวชนบ้านเราไม่ได้มีแค่ด้านลบ ด้านดีก็มีค่ะ

นาร์เนีย: รู้สึกว่าเขาก็เห็นความสำคัญของเราเหมือนกันค่ะ


ถาม นุ่น ทำอะไร นาร์เนียทำอะไร

นุ่น: ช่วยเก็บก้อนหิน ยืนเรียงแถวแล้วส่งก้อนหินต่อๆ กันไปค่ะ ผู้หญิงจะทำกันประมาณนี้ค่ะ ส่วนผู้ชายก็จะตอกไม้ มัดเชือกค่ะ

นาร์เนีย: หนูจะทำต่อจากพี่นุ่น บางครั้งก็คุมเด็กๆ ด้วย และไปติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ค่ะ


ถาม ใครเป็นคนถ่ายรูป

นุ่น: ชมพู่กับฟางค่ะ มีหลายแผนกค่ะ เพราะทุกคนอย่างมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ด้วยค่ะ


ถาม น้องอิม มีเทคนิควิธีถ่ายรูปยังไงบ้าง

อิง: หามุมดีๆ หาแสง ที่ไม่ย้อนแสง เคยเห็นจากตัวอย่างที่รุ่นพี่ทำก็จำๆ มาค่ะ


ถาม: หลังจากวันนั้นแล้ว ทำฝายเสร็จแล้วทำอะไรต่อ

นาร์เนีย: หนูจะเก็บงาน และมาดูรูปค่ะ

นุ่น: มีค่ะ ได้ถามน้องๆ แต่ละคนเลยค่ะ ว่าได้อะไรบ้างจากกิจกรรมนี้ มีปัญหาอะไรบ้างและแก้ไขอย่างไรกันบ้าง มีผู้ใหญ่มาเล่านิทานด้วย ทำให้ไม่น่าเบื่อค่ะ


ถาม เราทำตอนไหน หลังจากทำฝายเสร็จ หรือนัดกันวันถัดไป

นุ่น: ทำฝายเสร็จแล้วถอดบทเรียนที่นั่นเลยค่ะ


ถาม ทำไมต้องถอดบทเรียนด้วย ทำฝายมาก็เหนื่อยแล้วนะ

นุ่น: เพราะว่ามีคนจากข้างนอกมาด้วย หนูอยากรู้ความในใจของเขาด้วยค่ะ

นาร์เนีย: การถอดบทเรียน ทำให้ได้รู้ว่าวันข้างหน้าต่อไปเราจะต้องทำอะไร จะได้รู้มุมมองของแต่ละคนว่า คนที่มามีความรู้สึกอย่างไร หรือมีข้อข้องใจตรงไหน เราจะได้เก็บความคิดเห็นตรงนั้นไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น


ถาม ถอดบทเรียนออกมายังไงบ้าง

นาร์เนีย: จะเป็นการพูดความในใจ เช่น เขาพูดว่า “ไม่ค่อยเห็นมาทำอะไรแบบนี้ ดีมากเลยที่ทำแบบนี้ ” ส่วนมากจะเป็นคำชมมากกว่าค่ะ


ถาม : หนูชวนคุยถอดบทเรียนกันเองเลยไหม หรือมีใครพาชวนถอดบทเรียน

นุ่น: พี่เลี้ยงกับผู้ใหญ่บ้านช่วยค่ะ

นาร์เนีย: เป็นการความเชื่อมความสัมพันธ์ของแต่ละบ้านที่เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงเหมือนกันเลยค่ะ เรียกได้ความผูกความสามัคคีค่ะ


ถาม เมื่อก่อนหมู่บ้านอื่นได้มาช่วยเราทำฝายบ้างไหม

นาร์เนีย: มีอยู่ค่ะ แต่ก็ส่วนน้อย อย่างหนูเป็นรุ่นแรกของยุวทูต ช่วงก่อนๆ มีแต่ละโรงเรียนมา พอหลังๆ มานี้ก็จะเป็นของทางอำเภออื่นมาร่วมค่ะ


ถาม คือในชุมชนเรา ได้ประกาศเสียงตามสายและประกาศทางเฟส แล้วชุมชนอื่นๆ ประสานอย่างไร

นาร์เนีย: ส่วนมากเห็นกันตามเฟสมากกว่าค่ะ พี่นุ่นเป็นคนประสานไป และมีพระอาจารย์มาอาศัยอยู่ที่วัด ท่านช่วยชวนคนต่างหมู่บ้านมาค่ะ


ถาม หนูจำชื่อหมู่บ้านได้ไหม หมู่บ้านหรือชุมชนอะไรบ้างที่มาช่วยเรา

นาร์เนีย: บ้านม่วงคำ กับบ้านแม่จ๋อง


ถาม ถอดบทเรียนเสร็จ หลังจากนี้ทำอะไรกันอีกไหม

นาร์เนีย: พวกเราส่งแขกกลับบ้าน และก็เก็บงานค่ะ เช่น เก็บขยะ เก็บอุปกรณ์


ถาม เก็บงานเวทีเล็กแล้ว เราคุยเรื่องอะไรกันอีก

นาร์เนีย: เราปรึกษาเรื่องที่เขาแสดงความคิดเห็นมา แล้วมาจับประเด็นกันว่าตรงไหนมีเยอะ แบ่งเป็นข้อๆ ไป เพื่อนำกลับมาแก้ไขกันเองค่ะ ส่วนเวทีใหญ่ หนูบันทึกไปว่าคนไหนพูดเรื่องอะไรบ้าง แต่ไม่ได้เอามารวมกันค่ะ


ถาม คิดว่าเรื่องอะไรที่ทำได้ดีแล้ว

นาร์เนีย: เรื่องเตรียมงาน เช่น ตัดไม้ เตรียมหิน การวางงาน และการปลูกจิตสำนึกของเด็กขึ้นมาค่ะ


ถาม เราวัดจากอะไรว่า เราได้ปลูกจิตสำนึกแล้ว

นาร์เนีย: อย่างพวกหนูอยู่ด้วยกันมาตลอด ก็จะรู้ว่าใครเป็นยังไง ทุกคนได้ปรับปรุงตัวเอง มองคนจากแววตาและการกระทำค่ะ หรือบางครั้งไปป่า บางคนทิ้งขยะไม่เป็นที่ พอเขามาทำโครงการนี้ เวลาเขาจะทิ้ง เขาจะได้คิดและเก็บไปทิ้งให้ถูกที่


ถาม: หลังจากทำฝายเสร็จแล้ว เรายังมีกิจกรรมอื่นอีกไหม

นาร์เนีย: ทำอีก 2 ฝาย ลึกเข้าไปข้างใน เป็นการทำฝายแบบเดียวกันและมีการไปอบรมตามที่ต่างๆ กลับมา ทั้งฝายที่สองก็จะมีคนต่างถิ่นเข้ามาช่วยเหมือนเดิม ทุกอย่างทำเหมือนกับฝายแรกเลยค่ะ แต่ฝายที่สองมีทางสยามกัมมาจลมาช่วยด้วยค่ะ


ถาม ฝายครั้งที่สอง ผลลัพธ์ออกมาดีไหม

นาร์เนีย: ฝายที่สอง คือการเอาความคิดเห็นจากฝายครั้งแรกมาปรับใช้ค่ะ ส่วนฝายครั้งที่สองมีอยู่ปัญหาเดียว คือ พื้นที่เป็นทรายและไม่ค่อยมีหิน


ถาม ใช้หิน กับใช้ทราย ดีกว่าหรือต่างกันยังไง

นาร์เนีย: ใช้หินดีกว่า เพราะว่าหินมีน้ำหนักไม่ลอยไปตามกระแสน้ำ และสามารถกักเก็บตะกอนที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ได้ ทรายบางครั้งอาจโดนไฟไหม้ บางครั้งอาจพัง เพราะเป็นกระสอบ เวลาน้ำไหลมาแรงทรายกจะไหลไปเลย ประสิทธิภาพกับอายุการใช้งานไม่เท่ากันค่ะ


ถาม รอบสอง เราถอดบทเรียนอีกไหม

นาร์เนีย: ถอดบทเรียนอีกค่ะ พวกเรามีความคิดว่าการที่เราถอดบทเรียน คือการเก็บเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ แล้วเอามาปรับใช้ในชีวิตประจำวันค่ะ


ถาม แล้วต่างชุมชนที่มาช่วย ยังเป็นบ้านคำม่วงและบ้านแม่จ๋อง?

นาร์เนีย: ค่ะ


ถาม ฝายสองทำเสร็จ ถอดบทเรียนเสร็จ กิจกรรมต่อไปทำอะไรกันต่อ

นุ่น: ผ่านไปประมาณ 2-3 อาทิตย์ พวกเราเข้าไปดูว่าฝายมีอะไรต้องซ่อมแซมไหม ไปสำรวจดูแล้วไม่มี เพราะทำช่วงหน้าแล้ง ตอนนี้ฝนตก ฝายกักเก็บน้ำและเศษไม้ได้ดีค่ะ หลังจากนั้นเราคืนข้อมูลให้ชุมชน โดยการให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศให้ค่ะ


ถาม คืนข้อมูลให้ชุมชน แล้วเราชวนเขามายังไง

นุ่น ให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศค่ะ ว่าจบโครงการแล้ว พวกเราจะมีการคืนข้อมูล ขอกลุ่ม อสม. แม่บ้านมาประชุม ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ขอครัวเรือนละ 1 คน


ถาม วันที่เราไปทำฝาย เราเลือกจากอะไรหรือเลือกจากความสะดวกของใคร

นาร์เนีย: เลือกจากความสะดวกของทีมงานค่ะ ถามทีมงานว่าสะดวกวันไหน และดูสภาพอากาศด้วยค่ะ


ถาม เป้าหมายตามโครงการ นอกจากทำฝายแล้วเราต้องการสร้างความร่วมมือในชุมชน เราเห็นว่ามันเกิดขึ้นไหม

นาร์เนีย เกิดขึ้นค่ะ เกิดขึ้นตอนเวลาเราทำงานค่ะ


ถาม แล้วตอนไม่ทำงาน เป็นยังไงคนในชุมชนความสัมพันธ์เปลี่ยนไปไหม

นาร์เนีย: ไม่เปลี่ยนค่ะ เพราะว่าความไว้เนื้อเชื่อใจของคนเรา ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงนอกจากคนใดคนหนึ่งไปทำให้มันเปลี่ยน ถึงเวลาจะนานแค่ไหนก็ตาม ถ้าหากไม่มีใครไปทำอะไรให้ต้องเปลี่ยนแปลง มันก็จะไม่เปลี่ยนแปลง หนูคิดแบบนี้ค่ะ เช่น ฝายแรกและฝายที่สองความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นก็ดีเหมือนเดิม


ถาม พอผู้ใหญ่เห็นพวกเรามาเป็นแกนนำทำงาน ทำให้พวกเขาแข่งขันดูแลทรัพยากรในชุมชน ดูแลฝายอื่นๆ มากขึ้นด้วยไหม เพราะมีเราเป็นตัวอย่าง มีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นไหม

นุ่น: มีผู้ใหญ่บางคนได้อายต่อตัวเอง เพราะว่าตัวเองอายุเท่านี้แล้ว แต่ไม่เคยทำความดีแบบนี้ และก็มีผู้ใหญ่บางคนเปลี่ยนแปลงตัวเอง หันมาใส่ใจวัด …


ถาม แสดงว่า 20% ของคนที่ไม่มาช่วยตอนแรก ผู้ใหญ่เปลี่ยนไปทางที่ดีขึ้นถูกไหม

นาร์เนีย: ดีขึ้นค่ะ


ถาม พวกเราอยากให้ผู้ใหญ่หรือหน่วยงานอะไร มาสนับสนุนอะไรเพิ่มเติมอีกไหม ในสิ่งที่พวกเราทำอยู่

นาร์เนีย: อยากให้มาสนับเรื่องค่าอาหารกลางวันบ้าง เช่น ขนม อาหารว่าง เวลาทำกิจกรรม


ถาม จากประสบการณ์ททำโครงการมา ตั้งแต่ปี 1 จนถึงปีนี้ โครงการมีส่วนช่วยสร้างแรงบันดาลใจหรือเป็นพลังใจให้พวกเราบ้างไหม

นาร์เนีย หนูคล้ายๆ คนที่เป็นโรคซึมเศร้า เป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูงมาก ไม่ค่อยยุ่งกับใคร ร้องไห้บ่อยมาก โครงการนี้ ทำให้มีความกล้า กล้าพูดกล้าแสดงออก มีเพื่อนมีพี่มาคอยดูแล เลยมีกำลังใจให้กับตัวเอง อย่างน้อยก็ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเกิดของเรา และเป็นแรงที่ทำให้เราอยากทำความดีอื่นๆ ต่อไป


ถาม นาร์เนียชอบร้องไห้ เรารู้ไหมเพราะสาเหตุอะไร

นาร์เนีย ช่วงก่อนๆ เจองานอะไรนิดหน่อยรู้สึกเศร้า คิดว่าทำไมเราต้องมาเจออะไรแบบนี้ด้วย.. แต่ตอนนี้ไม่มีแล้วค่ะ


ถาม นาร์เนียได้เรียนรู้อะไรจากการทำโครงการนี้บ้าง

นาร์เนีย ได้เรียนรู้ว่าคนเราไม่ได้มีแค่ด้านลบแต่มีด้านบวกด้วย เป็นคนดี เป็นคนที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข มีคนที่เป็นคนทำประโยชน์ เป็นคนที่สร้างรอยยิ้มให้เราได้ ไม่ใช่คนที่ทำให้เราเห็นในด้านลบอย่างเดียว หนูได้เรียนรู้ว่า การวางแผนงานที่ผ่านการปรึกษากันมาก่อน ถือเป็นการปูพื้นฐานที่ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น


ถาม พอเราได้มาทำโครงการนี้ ได้พบศักยภาพอะไรในตัวเองที่เราไม่เคยรู้บ้างไหม

นาร์เนีย: หนูได้ค้นพบว่า ตัวเองเป็นคนพูดเก่งค่ะ

นุ่น: ได้รู้จักการทำงานเป็นทีม ความสามัคคีในการทำฝาย ได้รู้ขั้นตอนการทำฝาย และได้รู้ว่าการทำงานแบบนี้ ได้ผลประโยชน์อะไรบ้าง ได้เปลี่ยนนิสัยของตัวเอง จากที่มาไม่ค่อยตรงเวลา ก็มาตรงเวลา มีความรับผิดชอบมากขึ้น และได้มีวิธีการควบคุมทีมที่ดีขึ้น เป็นผู้นำที่ดีขึ้นค่ะ


ถาม ผุ้นำที่ดีต้องเป็นยังไง

นุ่น: ผู้นำที่ดีคือคนพูดแล้วก็ต้องทำด้วย ไม่ใช่เอาแต่พูด คุมงานให้ได้และต้องมีความซื่อสัตย์ด้วยค่ะ


ถาม โครงการนี้มีประโยชน์กับตัวนุ่นยังไง

นุ่น: ประโยชน์ที่ได้ คือ เรื่องฝายได้ความรู้และขั้นตอนในการทำฝาย ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ได้ประสบการณ์มากขึ้น และยังได้เพื่อนต่างหมู่บ้านอีกค่ะ


ถาม พอเราได้มาทำโครงการนี้ ได้พบศักยภาพอะไรในตัวเองที่เราไม่เคยรู้บ้างไหม

นุ่น ได้รู้จักว่าตัวเองถนัดด้านไหน ทำด้านที่เขามอบหมายได้ดีแล้วยัง


ถาม นุ่นถนัดด้านไหน

นุ่น หนูถนัดในด้านควบคุมงาน หนูอยากเป็นผู้นำอยู่แล้ว

­