Best Practice กลไกชุมชนที่สนับสนุนเยาวชนเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : ตำบลบ้านธิ จังหวัดลำพูน

กลไกชุมชน  โครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นน้ำถุ้งไทลื้อ ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน


ชื่อเรื่อง ขุดรื้อรากภูมิปัญญา “น้ำถุ้ง” ชุมชนไทลื้อ บ้านธิ ลำพูน

ในประเทศที่กำลังพัฒนามักมีอัตราการเพิ่มของประชากรในเขตเมืองสูงมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ในสังคมชนบทมีความจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามาหาโอกาสทางการศึกษา รวมถึงการเข้ามาหางานทำตามแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และรายได้ที่มากขึ้น ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ให้ชุมชนชนบทหลายพื้นที่มีเพียงเด็กเล็กและคนชราอาศัยอยู่ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม ชีวิตในเมืองใหญ่ไม่ได้ให้คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่คิด รายได้ที่สูงกว่าตามมาด้วยค่าภาษีสังคมที่เพิ่มขึ้น ทำงานหนักเท่ากับเท่าทุน ไม่เหลือเก็บ ยิ่งเมื่อเจอวิกฤตหลายคนต้องระหกระเหินกลับคืนภูมิลำเนา โควิด-19 ทำให้เห็นวัฏจักรที่ว่ามาชัดเจนขึ้น เวียนวนฉายภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ชุมชนบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน เป็นหนึ่งในชุมชนที่ประสบปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ โครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ้นน้ำถุ้งไทลื้อ นำโดยกลุ่มแกนนำเยาวชนที่

รวมตัวกันในนาม “เยาวชนไทลื้อบ้านธิ” พวกเขาตั้งใจศึกษารวบรวมข้อมูลน้ำถุ้งไทลื้อ รณรงค์ปลูกจิตสำนึกเยาวชนและชาวบ้านให้ร่วมกันอนุรักษ์น้ำถุ้ง และทำให้เด็กเยาวชนและคนในชุมชน เห็นโอกาสการสร้างรายได้จากภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีอยู่


น้ำถุ้ง คือ อะไร?

น้ำถุ้งเป็นภาชนะที่ใช้ตักน้ำจากบ่อเพื่อนำมาอุปโภคบริโภค สานด้วยไม้ไผ่ทาด้วยขี้ย้า (ชัน) เพื่ออุดรอยรั่ว ปัจจุบัน การสานน้ำถุ้งไม่เป็นที่แพร่หลายเพราะความต้องการใช้มีน้อย แม้แต่คนบ้านธิเองก็ไม่ได้ใช้น้ำถุ้งเป็นภาชนะตักน้ำเหมือนแต่ก่อน น้ำถุ้งจึงกลายเป็นของประดับตกแต่ง และกระเช้าของขวัญของที่ระลึกของชุมชน โครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นน้ำถุ้งไทลื้อนี้จึงเป็นเหมือนโครงการที่เข้ามาช่วยต่อลมหายใจสุดท้ายให้น้ำถุ้งอยู่คู่ประเทศไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้ว่า หมู่ 2 บ้านป่าเปา อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน เป็นเพียงพื้นที่แห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังมีการประดิษฐ์เครื่องจักสานชนิดนี้ นอกจากการรวมกลุ่มน้ำถุ้งเฮือนป่าเปาของกลุ่มแม่บ้าน หมู่ 2 ก็มีผู้รู้ดั้งเดิมในชุมชนเป็นผู้เฒ่าผู้แก่เพียง 2 ครอบครัวเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่

พรหมภัสสร บุตรดาจารุพงศ์ หรือ ศร ในฐานะสารวัตรกำนัน และพี่เลี้ยงโครงการ กล่าวว่า ภูมิปัญญาการสานน้ำถุ้งกำลังเลือนหาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเยาวชนย้ายถิ่นฐานออกนอกชุมชน ขาดคนอนุรักษ์สืบสานต่อ

“เด็กเยาวชนในชุมชนยังไม่ค่อยสนใจกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาวัฒนธรรมดั้งเดิม เพราะเยาวชนส่วนมากต้องออกไปเรียนในเมือง เขาห่างเหินจากชุมชน สนใจข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต พวกเกมมากกว่า นานทีเขาถึงกลับมาร่วมงานประเพณีท้องถิ่น” เธอกล่าวด้วยสีหน้าปนกังวล

ขณะที่ ยุพิน พริ้งเพราะ ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน หนึ่งในพี่เลี้ยงโครงการ เล่าถึงความผูกพันระหว่างชุมชนกับเยาวชนในพื้นที่ว่า

“ถ้าเทียบแล้วเด็กปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนจริง ๆ ประมาณ 20 % เท่านั้นเอง เด็กส่วนมากตอนนี้อีก 80% ใช้ชีวิตในเมืองเป็นหลัก โลกมันเปลี่ยนแปลงไป พ่อแม่ก็อยากให้ลูกได้เรียนที่ดี ๆ ก็หันไปส่งลูกไปเรียนในเมืองกันหมด มีส่วนน้อยที่เรียนแถวๆ บ้าน ไม่เหมือนสมัยรุ่นพี่ที่ไม่ได้ไปเรียนข้างนอก ต้องเรียนโรงเรียนวัด เราเลยได้สัมผัสกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมอยู่เธอกล่าวปนยิ้มใกล้กับแววตาที่แฝงความวิตกกังวลอยู่ไม่น้อย


“น้ำถุ้ง” ทุนวัฒนธรรมชั้นดี

“น้ำถุ้งเป็นจุดเด่นของบ้านป่าเปา เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไทลื้อ ยังดีนะที่มีเด็กกลุ่มหนึ่ง ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตในชุมชน แทนที่จะปล่อยให้มันเลือนหายไปตามกาลเวลา แล้วยังดีที่เขาไม่อายที่เข้ามาทำตรงนี้ ไม่อายที่จะนำเสนอภูมิปัญญา ศิลปะท้องถิ่นของเขาออกไปให้คนอื่นรับรู้ด้วย” ศร กล่าว

หมู่บ้านวัฒนธรรมไทลื้อบ้านธิ มีทั้งหมด 10 หมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกตนเองว่า “ไทลื้อ” หรือ “ไตลื้อ” ถิ่นฐานเดิมอยู่แถบดินแดนสิบสองปันนาของจีน สันนิษฐานว่าชาวไทลื้อหนีภัยสงครามมาจากเมืองเชียงรุ่ง บุคคลที่อพยพมาอาศัยอยู่บ้านธิกลุ่มแรกชื่อว่า พ่อหนานปัญโญกับแม่อุ้ยขา มาตั้งรกรากอยู่ที่หมู่บ้าน “บ้านแพะ” ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบ้านแพะต้นยางงาม ต่อมาคนไทลื้อได้ขยายอาณาเขตที่ตั้งออกไปเพิ่มขึ้นอีก 10 หมู่บ้าน

ชุมชนบ้านธิไทลื้อเป็นหนึ่งในหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี ด้วยมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมเก่าแก่เป็นของตนเองไม่ว่าจะเป็นภาษา การแต่งกาย อาหาร สถาปัตยกรรม ประเพณี ความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัตถกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น น้ำถุ้ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ด้านการท่องเที่ยว บ้านธิมีอุโบสถต้นมื่นที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ตามตำนานเล่าว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมแห่งแรกของชาวไทลื้อในบ้านธิ ก่อนมีการสืบเชื้อสายขยายครอบครัวออกไปหมู่บ้านอื่น ทุกปีมีการจัดงานประจำปีช่วงวันออกพรรษา ต้อนรับพี่น้องไทลื้อจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศที่มารวมตัวกัน มีวัดพระธาตุดอยเวียงเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่มีพระพุทธรูปแท่นแก้วเป็นโบราณสถานสำคัญ และมีอ่างเก็บน้ำแม่ธิ ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 กั้นลำห้วยแม่ธิในเขตพื้นที่บ้านดอยเวียง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีทัศนียภาพสวยงามซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง

“ชุมชนไทลื้ออยู่กันแบบพี่แบบน้อง รักเป็นห่วงลูกหลาน เมื่อเด็กๆ มาทำโครงการเขาสนใจมาก ไม่ได้ปิดกั้นหรือกีดกันเด็กเลย ถ้าเด็กมีความสนใจด้านไหนก็จะส่งเสริม ยิ่งเป็นทางวัฒนธรรม ยิ่งส่งเสริมมาก เพราะเป็นเรื่องดีที่เยาวชนจะได้พัฒนาตัวเองด้วย”ศร กล่าว

ทั้งนี้ ศรและยุพิน กล่าวว่า ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกิดจาก ความร่วมมือของคนในชุมชน ที่ต่างก็มีจุดแข็งและจุดเด่นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชน พี่เลี้ยงโครงการ ปราชญ์ชุมชน ผู้ปกครอง และผู้นำชุมชน ยิ่งเมื่อแต่ละส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ ทุกคนล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การอนุรักษ์ สืบสาน เพิ่มมูลค่า และสร้างงานจากรากวัฒนธรรมน้ำถุ้งไทลื้อ

พี่เลี้ยงทั้งสองฉายให้เห็นภาพว่า กลุ่มเยาวชน ตั้งใจศึกษา ลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลและเรียนรู้วิธีการทำน้ำถุ้งจากปราชญ์ชุมชน แล้วเผยแพร่ข้อมูลที่เก็บรวบรมได้กลับคืนสู่ชุมชน เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของน้ำถุ้งที่ถูกมองข้ามไป

“ชุมชนได้รับดอกผลคืนจากเด็ก ๆ ด้วยเช่นกันนะ เพราะว่าในบางครั้งชุมชนแทบไม่รู้เลยว่าสิ่งไหนบ้างในชุมชนที่กำลังหายไป หรือปัจจุบันชุมชนได้รับสิ่งไหนเข้ามาบ้าง อย่างเรื่องน้ำถุ้งถ้าไม่มีเด็ก ๆ มากระตุ้นผลักดันให้ชุมชนเห็นว่ามันจะหายไปจากชุมชนแล้วจริงๆ คนก็คงไม่หวนคิดว่ามันจะหายไป แล้วเราต้องช่วยกันอนุรักษ์ ชี้ให้เห็นว่าเด็ก ๆ เป็นกำลังสำคัญของชุมชนที่จะช่วยให้ชุมชนเดินหน้าต่อไป”ยุพิณสะท้อนอย่างน่าขบคิด

สำหรับบทบาทของ พี่เลี้ยงโครงการ ทั้งสองคนบอกว่า พี่เลี้ยงได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนในชุมชน เข้าถึงทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็น เด็ก เยาวชน ปราชญ์ และผู้นำชุมชน พี่เลี้ยงจึงทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน

“เราทำงานตรงนี้มาเกือบ 15 ปี ลงพื้นที่ตลอด ทำงานร่วมกับสำนักพัฒนาชุมชนด้วย ชุมชนจึงให้ความเชื่อใจและร่วมมืออย่างดี ปัจจุบันภาระงานเราเยอะก็จริง แต่ไม่ได้มองว่าการมาทำตรงนี้เป็นการเพิ่มงานเมื่อเด็กมีความตั้งใจ เพราะภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทลื้อถ้าไม่มีคนสืบต่อต่อไปก็คงเลือนหายไป เด็กมีความสนใจเรายิ่งชอบ ยิ่งอยากช่วยเด็กมากกว่า ไม่ได้คิดว่าเป็นภาระอะไร”

เช่นเดียวกับยุพินที่ลูกสาวของเธอเป็นหนึ่งในแกนนำโครงการ ทำให้เธอได้เข้าใจความคิดความอ่านของคนรุ่นใหม่มากขึ้น

“ทุกวันนี้ถ้ามีกิจกรรมของชุมชนเราก็ไปด้วยกันอยู่แล้ว พอเข้ามาทำงานตรงนี้ยิ่งเข้ากับเด็กได้ง่ายยิ่งขึ้น ประสานงานกันได้ง่ายขึ้น ไม่ได้เป็นภาระเพิ่มขึ้น เรามองว่ามันเป็นการดีที่เด็ก ๆ เล็งเห็นคุณค่าตรงนี้ เพราะไม่รู้ว่าวันหน้าภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนจะเลือนหายไปตอนไหน”

“ตอนแรกเข้าใจว่าการเป็นพี่เลี้ยงคือรับโครงการมา แล้วต้องมาคิดว่าจะให้เด็กทำอะไร เป็นพี่เลี้ยงแล้วต้องจัดการเองทั้งหมด แต่ว่าเมื่อได้มาสัมผัสจริง การเป็นพี่เลี้ยงเราต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังความคิดเห็นเด็ก ให้เด็กจัดการเอง สิ่งไหนที่มันไม่ใช่ เราก็ค่อยๆ บอกให้เขาเข้าในกรอบ”

ยุพิน กล่าวว่า ปราชญ์ชุมชน สองตายาย อายุ 70 กว่าปี ที่อาศัยอยู่ บ้านป่าเปา หมู่ 2 เปิดบ้านต้อนรับกลุ่มเยาวชนเพื่อเข้าไปเรียนรู้เป็นอย่างดี ทั้งสองคนยินดีถ่ายทอดความรู้อย่างเต็มที่ แม้พูดไม่ค่อยเก่ง แต่ถ้าให้ลงมือสานน้ำถุ้งเมื่อไหร่ความคล่องและความว่องไวก็ไม่แพ้คนวัยหนุ่มสาว

ทั้งนี้ ในฐานะผู้ปกครองของแกนนำเยาวชนในโครงการ ยุพิน บอกว่า เธอเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวลูกสาวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องความกล้าแสดงออก

“เมื่อก่อนมินนี่เป็นเด็กขี้อายมาก ไม่พูด เขาก็อยู่คนเดียวของเขา มีโลกส่วนตัวสูง เรามีหน้าที่ไม่บังคับ สนับสนุนสิ่งที่เขาทำ ยอมรับความเป็นเขา พอมินนี่มาทำโครงการนี้ เราเห็นคลิปสัมภาษณ์ที่ทางโครงการเผยแพร่ออกมาในช่วงที่ลูกทำโครงการครั้งแรก เรายังคิดว่านี่ลูกเราตอบเหรอ เขาตอบได้ พูดได้ขนาดนี้เลยเหรอ มันพลิกไปเลยจากที่เราเคยเห็นในอดีต ต้องยอมรับว่าโครงการฯ ทำให้ลูกเรามีศักยภาพมากขึ้น” ยุพินกล่าวด้วยความปลื้มใจ

ศร บอกว่า ผู้นำชุมชน ทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ให้ความร่วมมือช่วยประสานงานกับชุมชนมาตั้งแต่ต้น เปิดโอกาสให้กลุ่มเยาชนเข้าไปนำเสนอและชี้แจงโครงการให้คนในชุมชนรับทราบ เป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้ และเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์โครงการ ทำให้เด็กๆ ดำเนินโครงการได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เราทำงานเป็นสารวัตรกำนันอยู่แล้ว ประสานผู้ใหญ่บ้านได้ง่าย พูดคุยให้เขาฟังว่าตอนนี้เด็กมีโครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาน้ำถุ้ง อยากให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยประสานแล้วก็อำนวยความสะดวกให้เด็กด้วย เขาก็บอกว่าดียินดีที่จะช่วยเต็มที่”

“ส่วนสำคัญของชุมชนนี้คือผู้นำเข้มแข็ง และผู้นำทำเป็นตัวอย่าง ถ้าเด็กจะประชุม ผู้นำมาร่วมเสมอ มารับฟัง บางทีในจุดไหนที่เด็กทำไม่ได้ก็ได้ข้อคิดเห็นจากผู้นำชุมชน ถ้าเด็กติดต่อขอลงพื้นที่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 จะไปติดต่อทางปราชญ์ชุมชนให้ แล้ววันที่เด็กลงไปก็จะคอยดูแลและอำนวยความสะดวกให้ด้วย” ศร กล่าว

“ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เปิดโครงการ เข้ามารับฟังวัตถุประสงค์โครงการที่เด็กอยากทำในพื้นที่ ให้การสนับสนุน ประสานงาน ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ติดต่อปราชญ์ผู้รู้เรื่องการน้ำถุ้ง เขาเข้ามาร่วมกิจกรรมทุกครั้ง อีกอย่างหนึ่งเขาอยากสนับสนุนให้น้ำถุ้งเป็นสินค้า OTOP ประจำหมู่บ้าน” ยุพิน กล่าว เสริม

และ กลไกขับเคลื่อนที่ขาดไม่ได้เลย คือ ชุมชนที่เข้มแข็ง

“คนในชุมชนไม่อิดออด เมื่อเราประสานงานว่าเด็กขอความร่วมมือ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากหมู่ที่ 2 ผู้รู้ให้ความร่วมมือ การอบรมใช้พื้นที่หมู่ 20 พ่อกำนันประกาศเสียงตามสาย แล้วเชิญชวนให้เด็ก เยาวชน และคนในชุมชนมารับฟัง ก็มาครั้งละ 10- 30 คนแล้วแต่จะว่างมาได้ แต่โดยรวมให้ความร่วมมือดีทุกครั้ง” ศร กล่าว

แม้ยังไม่สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาสนใจน้ำถุ้งได้มากนัก เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในชุมชน แต่โครงการนี้ได้ทำให้ชุมชนตื่นตัวและมองน้ำถุ้งด้วยมุมมองที่ต่างออกไป โครงการไม่เพียงนำไปสู่ปลายทาง เรื่องการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ้นน้ำถุ้งไทลื้อเท่านั้น แต่ระหว่างทางยังเปี่ยมไปด้วยคุณค่ามากมาย ยกตัวอย่างเช่น

เด็กได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่ถูกกระตุ้นเตือนโดยเด็กให้ไม่ชะล่าใจกับวัฒนธรรมที่กำลังเลือนหาย ลดช่องว่างระหว่างวัย เพราะมีพื้นที่ให้เด็กและผู้ใหญ่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

ถือว่าโครงการนี้มีส่วนช่วยให้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น

“บางทีคนในชุมชนไปทำงานต่างคนต่างทำก็ไม่ได้คุยกัน แต่เมื่อเดินทางมาอบรมกับเรา เขาได้มาพูดคุยกัน ปรึกษาหารือกัน ถือว่าดีมาก ทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น ในส่วนของเด็กก็มีความคุ้นเคยกันมากขึ้น เมื่อสนิทกันก็ทำกิจกรรมด้วยกันง่ายขึ้น เราได้ยินผู้ใหญ่บอกว่าจะไปช่วยเด็กทำโครงการ รอบที่แล้วยังทำน้ำถุ้งไม่เสร็จรอบนี้จะไปทำให้เสร็จ ปกติไทลื้อเป็นชุมชนที่มีความรักต่อกันมากอยู่แล้ว ตอนนี้ยิ่งมีมากเข้าไปอีก ยิ่งชื่นใจ” ศร กล่าว


หยั่ง...รากวัฒนธรรมให้เติบโต

หากเปรียบเทียบภูมิปัญญาที่มีมาแต่ดั้งเดิมเป็น “รากแก้ว” ที่มีคุณค่า คนรุ่นใหม่ก็เป็นเหมือน “รากฝอย” ที่ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกัน หากชุมชนไทลื้อจะปลูกต้นไม้แห่งวัฒนธรรม สืบสานและอนุรักษ์ฟื้นฟูน้ำถุ้ง คงต้องอาศัยทั้งรากแก้วและรากฝอย ทำหน้าที่คู่กัน พึ่งพาอาศัย ประคับประคองกัน หยั่งรากลึกลงไปในดินอย่างแข็งแรง

อย่างไรก็ตาม พี่เลี้ยงอย่างศรเองก็ยังไม่แน่ใจว่า การทำโครงการครั้งต่อไปจะยังมีกลุ่มเยาวชนที่สนใจร่วมทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่อีกหรือไม่ แต่เธอก็ไม่หมดหวัง

“จุดยากคือการหาเยาวชนที่ยังรักและอยากทำเรื่องราวเหล่านี้ ตอนนี้เราต้องมองแล้วว่าจะเป็นเด็กกลุ่มไหน หากน้องๆ กลุ่มนี้ออกไปเรียนต่อ ออกไปใช้ชีวิตนอกชุมชน” ศร กล่าว

“มันเป็นค่านิยมไปแล้วทุกพื้นที่ก็เหมือนกัน พ่อแม่อยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดี ๆ ให้ลูกไปเรียนโรงเรียนในเมือง แล้วพอเด็กไปถึงจุดนั้นเขาจะลืมว่าเมื่อก่อนพ่อแม่เขาดำเนินชีวิตมาอย่างไร เขาเคยใช้ชีวิตในชุมชนอย่างไร เพราะมันต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างเด็กที่ใช้ชีวิตในชนบทกับเด็กที่ใช้ชีวิตในชุมชนเมือง” ยุพิน กล่าวเสริม

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 แสดงให้เห็นว่าวิกฤตเกิดขึ้นได้เสมอ ผู้คนจำนวนหนึ่งตกงานย้ายกลับถิ่นฐาน การสร้างงานสร้างอาชีพจากฐานทุนชุมชนจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกและทางรอด เหมือนอย่างชุมชนบ้านธิที่ยังมีทุนทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ซึ่งสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะมองเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมดั้งเดิมเหล่านี้หรือไม่เท่านั้นเอง

/////////////////////


บทสัมภาษณ์กลไกชุมชน โครงการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ้นน้ำถุ้งไทลื้อ ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน


ผู้ให้สัมภาษณ์

  1. พรหมภัสสร บุตรดาจารุพงศ์ (ศร)  อาชีพ : สารวัตรกำนัน
  2. ยุพิน พริ้งเพราะ (ยุพิน)  อาชีพ : ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน­­­



ถาม : พี่ยุพินกับพี่ศรดูแลน้องตั้งแต่ปีแรกเลยหรือเปล่าคะ

ตอบ : (พี่ศร) ไม่ใช่ค่ะ พึ่งดูแลปีนี้ปีแรก

(พี่ยุพิน) โครงการที่สองที่เราเข้ามาช่วยเด็ก ๆ โครงการแรกเด็ก ๆ เขาทำกันเอง ไม่ได้เข้ามาช่วยตรงนั้น


ถาม : ปีนี้ใช่ไหมคะที่เด็ก ๆ เขาชวนเราเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง

ตอบ : (พี่ศร) พอดีเด็ก ๆ ติดต่อมาว่าสนใจทำโครงการภูมิปัญญาท้องถิ่นน้ำถุ้งไทลื้อ อยากให้มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้หน่อย เพราะว่าเด็กที่ทำรุ่นแรกมีพี่เลี้ยงอีกชุดหนึ่ง เหมือนว่ากับว่าเด็กโดนทิ้งกลางคัน เราเห็นความตั้งใจของเด็กว่าอยากทำโครงการจริงๆ เลยมาเป็นพี่เลี้ยงให้


ถาม : พี่ศรสังเกตจากอะไรว่าน้องเขาอยากทำโครงการนี้จริงๆ

ตอบ : (พี่ศร) เริ่มแรกเด็กกลุ่มนี้ เป็นเด็กด้านวัฒนธรรม เวลามีงานประเพณีวัฒนธรรมในชุมชน น้องๆ กลุ่มนี้จะไปลงพื้นที่ตลอด


ถาม : เด็กเขาทำกิจกรรมในชุมชนอยู่แล้ว

ตอบ : (พี่ยุพิน) เขาสนใจด้านนี้อยู่แล้ว เขาเป็นมัคคุเทศก์ชุมชนด้วย


ถาม : ตอนที่ตัดสินใจรับมาเป็นพี่เลี้ยงโครงการเราไม่รู้สึกว่ามันเป็นการเพิ่มงานเราหรือคะ

ตอบ : (พี่ศร) พี่ไม่ได้มองว่าเป็นการเพิ่มงาน เมื่อเด็กมีความตั้งใจ เพราะว่าปัจจุบันนี้ก็ทำงานเยอะอยู่แล้ว ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทลื้อถ้าไม่มีคนสืบต่อต่อไปก็คงเลือนหายไป เด็กมีความสนใจพี่ยิ่งชอบ ยิ่งอยากช่วยเด็กมากกว่า ไม่ได้คิดว่าเป็นภาระอะไร

(พี่ยุพิน) คล้ายกับพี่ศร น้องมินนี่เป็นลูกสาวเข้ามาร่วมโครงการ ทุกวันนี้ถ้ามีกิจกรรมของชุมชนเราก็ไปด้วยกันอยู่แล้ว พอเราเข้ามาทำงานตรงนี้ก็ยิ่งเข้ากับเด็กได้ง่ายยิ่งขึ้น ประสานงานกันได้ง่ายขึ้น ไม่ได้เป็นภาระเพิ่มขึ้น เรามองว่ามันเป็นการดีที่เด็ก ๆ เขาเล็งเห็นตรงนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าวันหน้าภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนจะเลือนหายไปตอนไหน โครงการนี้ เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทลื้อเอาไว้ด้วย


ถาม : อยากรู้ว่าพี่ศรกับพี่ยุพินในชุมชนมีบทบาทอะไร มีตำแหน่งอะไรในชุมชนหรือว่าเป็นผู้นำด้านไหน

ตอบ : (พี่ศร) พี่เป็นสารวัตรกำนัน

(พี่ยุพิน ) พี่เป็นผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน


ถาม : น้องๆ กลุ่มนี้ตอนที่เขาชวนมา ทั้งสองคนคิดอย่างไร

ตอบ : (พี่ศร) ตอนแรกรู้จักแค่สองคน คือมินนี่กับอิงฟ้า เพราะสองคนนี้เป็นมัคคุเทศก์ เลยโดดเด่นกว่าคนอื่น อีกสามคนไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไหร่ มีหนักใจเหมือนกันเพราะเด็กไม่ค่อยพูด คิดว่าจะทำโครงการสำเร็จหรือเปล่า ตอนแรกการประสานงานรู้สึกว่าติดต่อประสานงานไม่ค่อยได้ แล้วเรายังไม่คุ้นเคยกับเด็กอีกสามคน แต่หลังๆ มาพอเราได้ทำกิจกรรมได้ไปไหนมาไหนร่วมกัน ได้แชร์ความคิดร่วมกัน ทำให้จูนกันได้ดีมากขึ้น


ถาม : อยากให้เล่าบริบทของชุมชนให้ฟังหน่อยค่ะว่ามีจุดเด่นสำคัญอะไรบ้างในชุมชนบ้านธิ

ตอบ : (พี่ศร) ในชุมชนไทลื้อมีอยู่ 10 หมู่บ้านที่เป็นไทลื้อ หมู่บ้านนี้มีเอกลักษณ์ด้านการแต่งกาย ภาษาพูด ที่โดดเด่น รวมถึงอาหารท้องถิ่น เป็นหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี มีจุดเด่นคืออุโบสถต้นมื่น ซึ่งเป็นอุโบสถที่ชาวบ้านตำบลบ้านธิเคารพนับถือ ทุกปีมีการจัดกิจกรรมร่วมกันตอนออกพรรษา มีพี่น้องไทลื้อทั้ง 7 จังหวัดมารวมตัวกัน ด้านการท่องเที่ยวมีอ่างเก็บน้ำแม่ธิ ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และมีวัดพระธาตุดอยเวียงเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่มีพระพุทธรูปแท่นแก้วเป็นโบราณสถานของบ้านธิ


ถาม : สถานการณ์ของเยาวชนในชุมชนด้วยความที่มีสถานที่และกิจกรรมให้ทำเยอะ เยาวชนในชุมชนเขามาให้ความร่วมมือกับเรามากน้อยแค่ไหน

ตอบ : (พี่ศร) ถ้ากิจกรรมที่ทำผ่านโครงการน้ำถุ้งไทลื้อ เยาวชนยังไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่ เพราะว่าตอนนี้น้องเยาวชนส่วนมากออกไปเรียนในเมืองมากกว่า สนใจอินเทอร์เน็ต พวกเกม แต่ถ้าส่วนของประเพณีท้องถิ่นก็สามารถชักจูงให้เข้ามาร่วมได้


ถาม : เมื่อก่อนเด็ก ๆ ในชุมชนเขามาให้ความร่วมมือกับกิจกรรมพวกนี้มากน้อยแค่ไหน

ตอบ : (พี่ศร) เทียบกับเมื่อก่อนเยอะมาก หลังจากที่เขาบอกว่าโลกมันเปลี่ยนแปลงไป แล้วพ่อแม่ก็อยากให้ลูกได้เรียนที่ดีๆ ก็หันไปส่งลูกไปเรียนในเมืองกันหมด จะมีส่วนน้อยที่เรียนแถวบ้าน ไม่เหมือนสมัยรุ่นพี่ที่ไม่ได้ไปเรียนข้างนอกต้องเรียนโรงเรียนวัด เด็กจะให้ความสนใจและให้ความร่วมมือดี


ถาม : ตัวน้ำถุ้งถือเป็นจุดเด่นของชุมชนเราไหมคะ

ตอบ : (พี่ศร) น้ำถุ้งเป็นจุดเด่นของหมู่ที่ 2 บ้านป่าเปา ซึ่งเป็นหมู่บ้านเดียวที่ทำน้ำถุ้งโดยเฉพาะและเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไทลื้อและเป็นของบ้านธิโดยตรง


ถาม : โดยปกติเขาเอาไว้ทำอะไรกันคะ

ตอบ : (พี่ศร) เมื่อก่อนเอาไว้ตักน้ำจากบ่อน้ำ เมื่อวิวัฒนาการเริ่มมา พอมีน้ำปะปาก็เปลี่ยนเอาไปเป็นพวกของชำร่วย ทำเป็นทรงแบบอื่น เช่น กระถาง ของฝาก ทางเทศบาล โรงพยาบาลก็ยังอุดหนุนอยู่แต่ว่าตอนนี้มีแค่สองตายายที่ทำอยู่ค่ะ

(พี่ยุพิน) ถ้าพูดถึงการอนุรักษ์ไว้จริงๆ คนยังสนใจน้อย

พวกเด็ก ๆ หรือนักศึกษาที่อยู่สถาบันอื่น เข้ามาขอให้สองคนนี้เป็นวิทยากรหรือมาหาข้อมูลเก็บไว้เหมือนกัน 


ถาม : ถ้าย้อนกลับไปเรื่องของเยาวชนจริง ๆ แล้วที่บ้านธิ ผู้ใหญ่หรือว่าชุมชนให้ความสำคัญ เกี่ยวกับเยาวชนมากน้อยแค่ไหนคะ

ตอบ : (พี่ศร) ถ้าพูดถึงชุมชนไทลื้อ เขาจะอยู่กันแบบพี่น้อง รักเป็นห่วงลูกหลาน เวลาเด็กทำกิจกรรมเขาสนใจมาก ไม่ได้ปิดกั้นหรือกีดกันเด็กเลย ถ้าเด็กมีความสนใจด้านไหนก็จะส่งเสริม ยิ่งเป็นทางวัฒนธรรมจะยิ่งส่งเสริมมาก


ถาม : โครงการนี้ที่น้องๆ ไปขอความมือผู้ใหญ่หรือว่าคนในชุมชนมาพูดคุยกับเราบ้างไหมคะ

ตอบ : (พี่ศร) มีค่ะ ตอนแรกที่เด็กจะทำพี่ก็ช่วยใประสานทางกำนันผู้ใหญ่บ้าน เข้ามาร่วมรับฟังถึงวัตถุประสงค์ที่เด็กทำ หลังจากนั้นเวลามีการประชุมเขาก็จะมาร่วมด้วยทุกครั้ง และสนับสนุนเด็ก อยากให้เด็กทำน้ำถุ้งได้ อยากให้เผยแพร่ออกไปข้างนอก เพื่อไม่ให้น้ำถุ้งสูญหายไป


ถาม : ที่ว่าอยากให้น้องทำได้ ทำเป็นนี่คือใครคะ

ตอบ : (พี่ศร) ผู้ใหญ่บ้านคนใหม่เป็นผู้หญิงด้วย มีคนภายนอกโทรมาถามพวกออเดอร์น้ำถุ้ง เขาก็เลยอยากให้เด็กสืบสานไป


ถาม : ก่อนหน้านี้ผู้ใหญ่บ้านคนเดิมสนับสนุนแบบนี้ไหม

ตอบ : (พี่ศร) สนับสนุนค่ะ แต่เสียชีวิตไปแล้ว


ถาม : ที่ว่าสนับสนุนเขาสนับสนุนในเรื่องไหนบ้างคะ

ตอบ : (พี่ศร) ถ้าเด็กติดต่อไปขอลงพื้นที่ ผู้ใหญ่ก็จะไปติดต่อทางปราชญ์ชุมชนให้ แล้ววันที่เด็กลงไปก็จะคอยดูแลและอำนวยความสะดวกให้


ถาม : แกนนำชุมชนคนอื่นๆ เขาให้การสนับสนุนอย่างไรบ้างคะพี่

ตอบ : (พี่ศร) ส่วนมากจะมาร่วมรับฟังเด็ก มาให้ข้อเสนอแนะตอนที่เด็กทำกิจกรรม


ถาม : พี่คิดว่าจุดแข็งของหมู่บ้านเราคืออะไร

ตอบ : (พี่ศร) อันดับแรกผู้นำเข้มแข็ง และผู้นำทำเป็นตัวอย่าง ชาวบ้านเองก็จะมาด้วย และจุดแข็งอีกอย่าง คือภาษาและวัฒนธรรม


ถาม : โดยส่วนตัวของพี่ศรพี่มองว่าเรื่องของการพัฒนาเยาวชนสำหรับพี่สำคัญมากน้อยแค่ไหน

ตอบ : (พี่ศร) สำคัญมากเพราะว่าเด็กรุ่นต่อไป เขาจะได้มาแทนเรา ถ้าเด็กรุ่นนี้มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ต่อไปเราจะพัฒนาตั้งแต่ชุมชน หมู่บ้าน ก็จะง่ายขึ้น

(พี่ยุพิน) สำคัญและจำเป็น ถ้าเยาวชนได้รับการพัฒนา เขาก็จะเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพมากขึ้น สามารถเข้ามาบริหารจัดการชุมชนของเขาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนไทลื้อผู้ใหญ่ในชุมชน เขารักเด็ก ๆ อยู่แล้ว ถ้าเยาวชนมีความสนใจหรือว่ามีอะไรที่ดีๆ เขาจะยิ่งสนับสนุน ก็เป็นการดีที่เยาวชนจะได้พัฒนาตัวเอง


ถาม : ถ้าลองเทียบระหว่างเด็กที่ไปอยู่ในเมืองกับกลุ่มเด็กที่ทำงานในชุมชน เปอร์เซ็นต์มากน้อยแค่ไหน

ตอบ : (พี่ยุพิน) เด็กที่ใช้ชีวิตแบบชนบทวิถีเดิมๆ ประมาณ 20 % แค่นั้นเอง เพราะเด็กส่วนมากตอนนี้ใช้ชีวิตในเมืองเป็นหลัก มีส่วนน้อยที่จะมาใช้ชีวิตแบบชนบทเหมือนเมื่อก่อน พี่ถึงบอกว่ายังดีนะที่มีเด็กสักกลุ่มหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญวิถีหรือการดำเนินชีวิตแบบเก่าๆ แทนที่จะปล่อยให้มันเลือนหายไปตามกาลเวลา แล้วยังดีที่เขาไม่อายที่จะทำตรงนี้ เขาไม่อายที่จะนำเสนอภูมิปัญญา หรือว่าศิลปะท้องถิ่นของเขา


ถาม : เรามีวิธีการดึงเด็กที่ทำโครงการกับผู้ใหญ่ในชุมชนมาทำงานร่วมกันอย่างไร

ตอบ : (พี่ศร) อย่างเวลาอบรมใช้พื้นที่หมู่ 20 พี่ประสานพ่อกำนันเรียบร้อยแล้ว ก็จะประกาศเสียงตามสาย เชิญชวนให้คนในชุมชนมารับฟังเด็ก ๆ คนที่นี่น่ารักและไม่งอแง ถ้าขอความร่วมมือแล้วเขามาให้

(พี่ยุพิน) บางทีก็ 10-30 คนแล้วแต่ว่าเขาจะว่างมา


ถาม : แล้วพี่ยุพินมีเทคนิคอะไรบ้างในการดึงให้คนในชุมชนมาร่วมในโครงการของเรา

ตอบ : (พี่ยุพิน) ใช้วิธีบอกกล่าว บางคนเขาก็ไม่รู้ว่าเด็กพวกนี้ทำอะไรกัน เราก็ใช้วิธีการเป็นสื่อกลางให้เด็กกับผู้ใหญ่ว่าตอนนี้เขาทำโครงการนี้นะ เขาทำน้ำถุ้งกันเพื่อรักษาไม่ให้หายไป ถ้าว่างก็ไปด้วยกัน ไปฟังไปนั่งดูกัน ไปช่วยกันทำ เป็นการเชิญชวนสำหรับคนที่ไม่รู้หรือว่าไม่เข้าใจว่าเด็กทำอะไร

ตอบ : (พี่ศร) คนที่ช่วยตลอด คือ ผู้นำชุมชน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ปราชญ์ชุมชนและประธาน อสม.


ถาม : ผู้ใหญ่บ้าน พี่ศรเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะว่าเขาเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง

ตอบ : (ยุพิน) ผู้ใหญ่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เปิดโครงการ เข้ามารับฟังวัตถุประสงค์โครงการที่เด็กจะทำในพื้นที่ ให้การสนับสนุนในการประสานงาน ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ติดต่อปราชญ์ผู้รู้เรื่องการน้ำถุ้ง เขาจะเข้ามาร่วมทุกครั้งและอีกอย่างหนึ่ง เขาอยากสนับสนุนให้น้ำถุ้งเป็นสินค้า OTOP ประจำหมู่บ้าน


ถาม : ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่อะไรคะ

ตอบ : (ยุพิน) หมู่ที่ 2 บ้านป่าเปา บ้านที่มีน้ำถุ้งเลย


ถาม : ผู้ใหญ่บ้านใครเป็นคนชักชวนให้เขามาร่วม

ตอบ : (พี่ศร) พี่ติดต่อไป เพราะว่าเด็ก ๆ เขาปรึกษาว่าในส่วนของพี่ พี่ทำงานเป็นสารวัตรกำนันอยู่แล้วก็จะประสานผู้ใหญ่บ้านทั้ง 20 หมู่บ้านได้ง่าย เราก็พูดคุยให้เขาฟังว่าตอนนี้เด็กมีโครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาน้ำถุ้งอยากให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยประสานแล้วก็อำนวยความสะดวกให้เด็กด้วย เขาก็บอกว่าดียินดีที่จะช่วยเต็มที่


ถาม : แล้วผู้นำชุมชนกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเขามามีบทบาทอย่างไรในโครงการนี้บ้างคะ

ตอบ : (พี่ศร) ในส่วนของผู้นำชุมชนก็มาร่วมในส่วนของการรับฟังและเสนอข้อคิดเห็น บางทีในจุดไหนที่เด็กทำไม่ได้ก็จะมีข้อคิดเห็นจากผู้นำชุมชนสอดแทรกเข้าไป


ถาม : ผู้นำชุมชนใครเป็นคนชักชวนหรือว่าพี่ศร

ตอบ : (พี่ศร) ตัวหลักเป็นพี่ ถ้าจะไปหมู่บ้านอื่นจะให้ทางยุพินเป็นคนประสาน

(พี่ยุพิน) ผู้นำชุมชนแม่หลวงหมู่ที่ 2 พูดง่าย อยู่ในก๊วนเดียวกัน


ถาม : ปราชญ์ชุมชนนอกจากมาถ่ายทอดความรู้เรื่องน้ำถุ้งแล้วเขายังมีบทบาทอะไรอื่น ๆ อีกไหม

ตอบ : (พี่ศร) ให้ความรู้เกี่ยวกับน้ำถุ้ง มาให้ประวัติ สอนวิธีสาน สองตายายเขาพูดไม่ค่อยเก่ง ต้องถามเขาถึงจะบอก

(พี่ยุพิน) เขาไม่ค่อยพูดแล้วก็เลยต้องมีการตั้งคำถามให้เขาก่อน แล้วเขาถึงพูด


ถาม : เขาอายุเท่าไหร่คะ

ตอบ : 70-80ปี


ถาม : ผู้ช่วย อสม. ใครเป็นคนชักชวนให้เข้าร่วม

ตอบ : (พี่ศร) ส่วนมากช่วยกัน ใครสนิทคนไหนก็ชักชวนมา


ถาม : อสม. มาช่วยอะไรบ้างคะ

ตอบ : (พี่ศร) เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ประธานทีม อสม. ช่วงนั้นโควิด-19 เริ่มระบาด เขามาช่วยคัดกรองแล้วก็มาร่วมรับฟังด้วย


ถาม : เรื่องของการประสานผู้ปกครองใครเป็นหลัก

ตอบ : (พี่ศร) ส่วนมากเราก็ไม่ได้ประสานเพราะว่าพ่อแม่ก็เป็นพี่เลี้ยงอยู่

(พี่ยุพิน) โครงการแรกเด็ก ๆ โดนทิ้งกลางครัน อย่างมินนี่ก็ต้องไปอาศัยพี่เลี้ยงของสันคะยอม ขี่มอเตอร์ไซด์ไปกันเองที่สันคะยอมระยะทางไกลประมาณ 20 กม. บางทีสามทุ่มสี่ทุ่มยังไม่ได้กลับ ตัวเราคนเป็นแม่ก็ถามว่าทำไมต้องใช้เวลานานขนาดนี้เลยหรอ ก็เลยเป็นจุดที่ว่าครั้งต่อไปแม่ไปส่ง พอแม่ไปส่งแม่ก็รอรับกลับ แล้วพอมาถึงโครงการที่สองก็เลยบอกพี่ศร เด็ก ๆ อยากได้พี่เลี้ยงนะเลยให้เด็ก ๆ ไปคุยกับพี่ศร ขอมาเป็นพี่เลี้ยงร่วมด้วยในโครงการ พอโครงการมีการอบรมเวลาต้องออกไปข้างนอก เหมือนอบรมสื่อ พี่กับพี่ศรจะดูว่ามีใครว่างไหม พี่ศรว่างไหม ไปส่งเด็ก ๆ ได้ไหม เราจะคุยกัน ในส่วนของมินนี่ก็บอกว่าวันนี้แม่ศรจะไปส่งนะ มินนี่ประสานกับกลุ่มเพื่อนๆ แล้วขออนุญาตผู้ปกครองว่าจะมีการไปอบรมข้างนอก แม่ศรไปส่ง ประสานอย่างนี้โดยที่มีหนังสือจากสถาบันอีกทีหนึ่ง

(พี่ศร) ถ้ามีกิจกรรมไปนอกพื้นที่พ่อแม่เด็กก็จะมาส่งเด็กที่บ้านพี่เลี้ยงไปพร้อมกันไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเราก็ไปด้วย


ถาม : ถ้าอย่างนั้นเวลามีกิจกรรมอะไรจะเป็นพี่ศรใช่ไหมคะที่คอยติดต่อประสาน รวบรวมคนในชุมชนให้มารวมกลุ่มกัน

ตอบ : (พี่ศร) ตัวหลักจะเป็นพี่


ถาม : แสดงว่าเราก็ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจกับคนในชุมชน

ตอบ : (พี่ศร) ค่ะ ทำงานตรงนี้มาเกือบจะ 15 ปี แรก ๆ เป็น สธ. ลงพื้นที่ตลอด เพราะว่าทำงานร่วมกับพัฒนาชุมชนด้วย พี่เป็นประธานองค์กรชุมชน ทำในส่วนของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง สัมมาชีพชุมชน ก็เลยไม่มีปัญหาเรื่องของการติดต่อประสานงาน


ถาม : มีการวางแผนไหมว่าเราอยากเชื่อมทุนหรือว่าหน่วยงานจากภายนอกให้เข้ามาสนับสนุนโครงการของเรา

ตอบ : (พี่ศร) เคยมี ตอนนี้เด็กยังทำกิจกรรมไม่ถึงขั้นว่าดี เพราะว่านานๆ ทีมาทำกันที ถ้าเราของบประมาณจากเทศบาล แล้วเด็กไม่รักไม่ทำจริงๆ ไปจนตลอดรอดฝั่ง เราก็เกรงว่ามันจะเสียหาย โครงการใหญ่ๆ เราเลยยังไม่ได้ของบมาสนับสนุน แต่ขอเป็นครั้งคราว เช่น ไปออกงานออกบูธ ทางเทศบาลก็ให้การสนับสนุนอยู่


ถาม : ถ้าอย่างนั้นพี่ประเมินว่าฝีมือของน้องอยู่ในระดับไหนคะ

ตอบ : (พี่ศร) ถ้า 10 คะแนนจะให้สัก 7 มีน้องที่ทำงานจริงจังอยู่ 2 คน อิงฟ้ากับมินนี่ ส่วนคนอื่นๆ เวลาทำกิจกรรมจริงๆ ชอบเล่นมากกว่า

(พี่ยุพิน) เป็นธรรมดาของเด็กวัยนี้

ตอบ : (พี่ศร) เล่นมือถือ เลยบอกว่าถ้าทำกิจกรรมนี้ก็ให้วางมือถือไว้ก่อนทำเสร็จแล้วค่อยมาเล่น


ถาม : อย่างที่เห็นเวลามีกิจกรรมในแต่ละครั้งมีทั้งผู้ใหญ่บ้าน แกนนำชุมชน หรือปราชญ์ผู้รู้มาทำกิจกรรมร่วมกันพี่คิดว่าโครงการนี้มีส่วนช่วยให้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันขึ้นไหมคะ

ตอบ : (พี่ศร) มาก บางทีคนในชุมชนไปทำงานก็ไม่ได้คุยกันมาพบปะ มาอบรม มาพูดคุยกัน โครงการเป็นสื่อให้คนในชุมชนมาปรึกษากันเกี่ยวกับปัญหาในชุมชน หรือเรื่องทั่วไป ถือว่าดีมาก


ถาม : ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ในชุมชนเป็นอย่างไรบ้างคะ

ตอบ : (พี่ศร) ก่อนหน้านี้แต่ละคนก็รับผิดชอบงานของใครของมัน นาน ๆ ทีจะมีประชุมมีอบรมกันทีนึง แต่พอมีกิจกรรมนี้ก็ทำให้เจอกันบ่อยขึ้น


ถาม : เขามีแลกเปลี่ยนกันไหมเวลาเจอกัน

ตอบ : (พี่ศร) เกี่ยวกับโครงการของเด็ก ๆ เขาแลกเปลี่ยน ถามตอบดับเด็ก ส่วนไหนที่เด็กนำเสนอไปแล้วก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ผู้ใหญ่ก็เสนอความคิดเห็นไป


ถาม : มันเกิดกลไกในการทำงานอะไรเกิดขึ้นบ้างไหมในชุมชนหลังจากที่มาทำโครงการนี้แล้ว

ตอบ : ทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น มีความคุ้นเคยกันมากขึ้น ทำกิจกรรมร่วมกันได้ง่ายและราบรื่นมากขึ้น


ถาม : มีคนในชุมชนหน้าใหม่ที่เขาสนใจแล้วมาเข้าร่วมกิจกรรมกับเราไหม

ตอบ : (พี่ศร) มีบางคนมาแค่รอบเดียว เพราะติดภารกิจ แต่ส่วนมากจะเป็นกลุ่มเดิม ๆ ที่สนใจมากกว่า เพราะถ้าเราประกาศเสียงตามสาย เขาก็จะบอกว่าเด็กกลุ่มนี้มาทำกิจกรรมมาฟังเขาดีกว่า

(พี่ยุพิน) บางทีก็ช่วยกันสาน ช่วยกันทำ ก็สร้างความสัมพันธ์กันในชุมชน เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับวัยกลางคน ทำแบบนี้ได้ไหม ทำอย่างนี้ได้ไหม เป็นการแลกเปลี่ยนกัน ลดช่องว่างระหว่างวัยได้ ผู้ใหญ่บอกว่าเราไปช่วยเด็กทำกัน รอบที่แล้วยังทำไม่เสร็จรอบนี้ไปทำให้เสร็จ ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันมากขึ้น มีความรักกันมากขึ้นระหว่างเด็กกับผู้สูงวัย ลดช่องว่างระหว่างวัยกันมากขึ้น


ถาม : ส่วนใหญ่ชื่อมั่นเด็กอยู่แล้ว พอยิ่งมาทำโครงการนี้ก็ยิ่งเชื่อมั่นมากขึ้น

ตอบ : (พี่ยุพิน) พอยิ่งมีโครงการที่หนึ่ง และมาทำโครงการที่สองยิ่งมั่นใจในตัวเด็กมากขึ้น ตอนแรกที่ทำโครงการรากเหง้าไทลื้อ ผู้ใหญ่บางคนบอกว่าเด็ก 4-5 คน จะทำได้สักแค่ไหน แต่ผลลัพธ์ที่ได้มาคือเด็ก ๆ ทำได้เป็น roadmap ของเขาเลย ยิ่งมาทำโครงการที่สองเด็กกลุ่มนี้ทำได้จริง ยิ่งเพิ่มความมั่นใจในตัวเด็กมากยิ่งขึ้น มันเป็นแรงกระตุ้นสร้างความมั่นใจให้เด็กอีกทางด้วย


ถาม : การที่เด็กมาทำโครงการแบบนี้สองปีแล้วมีสิ่งดีๆ อะไรบ้างเกิดขึ้นบ้างกับชุมชน

ตอบ : (พี่ยุพิน) ชุมชนได้รับดอกผลคืนจากเด็ก ๆ เพราะว่าในบางครั้งชุมชนแทบไม่รู้เลยว่าสิ่งไหนบ้างของชุมชนที่กำลังหายไปหรือชุมชนจะได้รับสิ่งไหนเข้ามา อย่างน้ำถุ้งถ้าไม่มีเด็ก ๆ มากระตุ้นผลักดันให้ชุมชนเห็นว่ามันจะหายไปแล้วนะ หลายคนก็คงไม่หวนคิดว่ามันจะหายไปจริง เราต้องช่วยกันแล้วนะ ชี้ให้เห็นว่าเด็ก ๆ ก็เป็นกำลังสำคัญของชุมชนที่จะช่วยให้ชุมชนเดินหน้าต่อไป ช่วยให้หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างที่เป็นของไทลื้อได้คงอยู่


ถาม : ชุมชนเขาเริ่มเห็นแล้วว่าน้ำถุ้งเริ่มหมดไปจริงๆ เหมือนเด็กเป็นกระบอกเสียงให้คนในชุมชนได้มานั่งทบทวนอีกทีหนึ่งใช่ไหมคะ

ตอบ : (พี่ยุพิน) ใช่ค่ะ แทนที่ว่าเหลือสองตายายไม่มีใครมาสืบทอด พอเขาเห็นเด็ก ๆ กลุ่มนี้ทำกัน แล้วเราเป็นผู้ใหญ่เราไม่ทำบ้างเหรอ ก็เกิดความคิดไปกระตุ้นผู้ใหญ่บางกลุ่ม บางคนให้มาสนใจในสิ่งที่เป็นไทลื้อ สิ่งที่มีไม่เหมือนใคร บอกได้เลยว่าน้ำถุ้งเป็นเอกลักษณ์ มีแต่ไทลื้อที่มีและทำอยู่ พี่มองว่า ภูมิปัญญาหรือว่าอะไรที่มันเก่าๆ มันไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าอาย แต่เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ เพราะที่อื่นไม่มีเหมือนเรา แล้วเราจะไม่รักษาไว้หรือ


ถาม : อะไรที่เป็นความยากและท้าทายในอนาคต ถ้าจะให้โครงการของเราไปต่อได้ หรืออาจเป็นส่วนของการทำงานระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กที่ต้องมาสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน

ตอบ : (พี่ศร) อย่างที่พี่บอกว่าส่วนมากเด็กเป็นชุมชนเมืองไปหมดแล้ว มีส่วนน้อยที่สนใจมาทำในจุดนี้ จุดยากคือการหาเยาวชนที่ยังรักและอยากรักษารากเหง้าหรือภูมิปัญญาที่มีอยู่ ตอนนี้เรามองว่าหาน้องๆ กลุ่มใหม่ที่จะมาช่วยสานต่อ สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน

(พี่ยุพิน) อย่างที่พี่บอกว่าในสายตาพี่ 20 % เด็กยังใช้ชีวิตในชนบท อีก 80 % ไปใช้ชีวิตในชุมชนเมือง เราดึงเขามาได้ไหม จะมีวิธีการไหนที่จะดึงเขามาได้ ถึงแม้ว่าเขาอยู่บ้านก็จริงแต่การไปเรียนหรือการใช้ชีวิตในโรงเรียนที่อยู่ออกนอกพื้นที่ ทำให้เขาห่างออกไปจากชุมชน เขากลับมาถึงบ้านก็ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเขาไม่ได้เรียนรู้และไม่ได้รู้ว่าชุมชนเป็นอย่างไร ต่างจากเด็กที่สัมผัสกับชีวิตชุมชนที่เป็นชุมชนราเหง้าอยู่ก่อนแล้ว นี่แหละคือปัญหาและอุปสรรค เราจะดึงเยาวชนกลุ่มนั้นมาได้อย่างไร มันเป็นค่านิยมไปแล้วทุกพื้นที่ก็เหมือนกัน พ่อแม่อยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดีๆ ให้ลูกไปเรียนโรงเรียนในเมือง พอเด็กไปถึงจุดนั้นเขาลืมแล้วว่าเมื่อก่อนพ่อแม่เขาดำเนินชีวิตมาอย่างไร แล้วเด็กที่อยู่ในพื้นที่เขาใช้ชีวิตอย่างไร เพราะมันต่างกันไปอย่างสิ้นเชิงระหว่างเด็กที่ใช้ชีวิตในระบบของชนบทกับเด็กที่ใช้ชีวิตในชุมชนเมือง


ถาม : ส่วนมากจะยากที่เด็กใช่ไหมคะ แล้วผู้ใหญ่ยากไหม

ตอบ : (พี่ศร) ไม่ยากสำหรับพี่ เพราะว่าผู้ใหญ่ส่วนมากพี่ใช้ความสามารถส่วนตัวประสาน

(พี่ยุพิน) แล้วผู้ใหญ่ไม่ได้ทิ้งนะ เพราะว่าผู้ใหญ่อยู่กับชุมชนทุกวัน แต่เด็กหรือเยาวชนพอย่างสู่ชุมชนเมือง เขาต้องเดินไปข้างหน้าไปสู่ชุมชนใหม่ๆ เรื่อยๆ เขาไม่ได้หันกลับมามองหรือถอยกลับมาชุมชนเดิมไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่เขาอยู่ที่เดิม


ถาม : ชุมชนเราที่ผ่านมา มีงานไหนบ้างไหมที่เด็กได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานของชุมชนนอกจากโครงการนี้

ตอบ : (พี่ศร) โครงการสืบสานตำนานไทลื้อที่เด็กเข้ามามีส่วนร่วมจัดบูธ แสดงการฟ้อนรำ การแสดงกิจกรรมต่างๆ


ถาม :เปิดโอกาสให้เขาได้มาทำงาน ออกแบบกันเองเลยใช่ไหมคะ

ตอบ : (พี่ศร) ค่ะ ให้เขาคิดเอง


ถาม : ใครเป็นเจ้าภาพคะ อย่างงานสืบสานตำนานไทลื้อ

ตอบ : (พี่ศร) สมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย สาขาจังหวัดลำพูนของบ้านธิ


ถาม : อันนี้มีมานานหรือยังคะที่ให้น้องๆ ได้เข้ามาจัดบูธจัดแสดง

ตอบ : (พี่ศร) ช่วงน้องๆ เข้ามาได้สักสามสี่ปีแล้วค่ะ


ถาม : มีงานอื่นไหมคะนอกจากงานนี้

ตอบ : (พี่ศร) ประเพณีสงกรานต์ เด็ก ๆ มาร่วมในขบวนแห่และการแสดงบนเวที ให้เขาได้มีส่วนร่วม ได้เห็นประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนเรา


ถาม : โครงการนี้ที่พี่ศรกับพี่ยุพินทำงานกับน้องๆ เมื่อเทียบกับการเปิดพื้นที่ให้น้องในเวทีที่ผ่านมามันมีวิธีการทำงานอะไรที่ต่างกันไหมคะ

ตอบ : (พี่ศร) ไม่ค่อยต่างเท่าไหร่ เพราะว่าการที่ทำโครงการพี่ไม่ได้ไปคิดให้น้องๆ ถ้ามีปัญหาต้องติดต่อคนไหนเขาจะมาประสานเรา แต่ว่าในส่วนของแนวความคิด การจะไปลงพื้นที่ ให้เขาจัดการกันเอง


ถาม : มีอะไรที่เหมือนกันไหมในการดูแลน้อง ๆ ที่ผ่านมา

ตอบ : (พี่ศร) ก็ให้แค่แนวคิดเฉยๆ เป็นที่ปรึกษาแล้วให้เขาไปออกแบบเอง


ถาม : อย่างโครงการนี้ทางสถานบันฯได้เข้ามามีบทบาทช่วยอะไรกับทางชุมชนบ้างไหม เช่น การดูแลน้องๆ หรือชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนได้ดูแลเด็ก ๆ

ตอบ : (พี่ศร) เขาไม่ได้สนับสนุน แต่ว่าเยาวชนมีพี่เลี้ยง ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำกิจกรรม การทำเอกสารอะไรต่างๆ


ถาม : พี่พอได้ทำงานกับเด็กแล้ว อยากรู้ว่ามุมมองของพี่ ที่มองบทบาทของชุมชนในการดูแลพัฒนาเยาวชนมันควรเป็นอย่างไร ตามความเข้าใจของพี่หรือความคาดหวังของพี่

ตอบ : (พี่ศร) อยากให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น คิดเอง ทำเองได้ และหวังให้เด็ก ๆ มาช่วยเป็นแรงสำคัญในการพัฒนาชุมชนต่อไป


ถาม : แล้วจะเกิดเรื่องแบบนี้ได้ชุมชนต้องทำอย่างไรบ้างคะ

ตอบ : ก็ต้องคอยสนับสนุนเด็ก ๆ แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเยาวชนอีกทีหนึ่งว่ามีใจรักที่จะมาช่วยขับเคลื่อนชุมชนมากน้อยแค่ไหน ชุมชนยังคงต้องคอยสนับสนุน เอื้อในส่วนที่เด็กทำกิจกรรมให้ความร่วมมือกับเขา


ถาม : หนึ่งปีที่ผ่านมาพี่ๆ ได้เรียนรู้อะไรกันบ้างในบทบาทพี่เลี้ยง

ตอบ : (พี่ศร) ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการเป็นพี่เลี้ยง คือ พี่เลี้ยงไม่ใช่การไปสั่งน้องๆ อย่างเดียว ตอนแรกเข้าใจว่าถ้าไปเป็นพี่เลี้ยงคือต้องไปรับในส่วนของตัวโครงการมา แล้วต้องมาคิดว่าจะให้เด็กทำอะไร เราเป็นพี่เลี้ยงแล้วเราต้องจัดการเองทั้งหมด แต่ว่าเมื่อได้มาสัมผัสจริง การเป็นพี่เลี้ยงเราต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังความคิดเห็นเด็ก ให้เด็กจัดการเอง สิ่งไหนที่มันไม่ใช่ เราก็ค่อยๆ บอกให้เขาเข้าในกรอบ


ถาม : แล้วเราต้องปรับตัวเยอะไหมคะ พอได้ข้อมูลใหม่มาแบบนี้ว่าเราไม่ต้องไปจัดการให้เด็กนะ

ตอบ : (พี่ศร) ไม่ค่อยปรับเท่าไหร่ ปกติแล้วพี่เป็นคนพูดเยอะอยู่แล้ว แล้วชอบลงมือทำให้เด็กดูก่อน เพราะกลัวเด็กทำไม่ได้ เมื่อเข้าอบรมการเป็นพี่เลี้ยง กลับมาก็มาจูนกับเด็กก็ไม่ต้องปรับอะไรมาก เรา ลด ปรับเปลี่ยนความคิดของเราเฉยๆ แต่เด็กก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไร ไม่คิดให้ ให้เขาคิดเอง แล้วคอยดูว่าเขาคิดมาแบบนี้โอเคไหม

ตอบ : บางทีคิดเสร็จแล้วเขาก็จะมาปรึกษาว่าแบบนี้ดีไหม เราก็เสนอไปนิดหน่อยแล้วให้เขาไปคิดต่อ


ถาม : แล้วพี่ยุพินละคะ

ตอบ : อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ มากกว่า คอยดูเขาแค่นั้นเอง โดยมากเป็นคนที่คอยรับใช้มากกว่า คอยช่วยเหลือเขา เขาจะให้เราไปส่ง เราก็คอยไปให้


ถาม : มีอะไรที่เป็นความเข้าใจใหม่ของเราบ้างไหม หรือว่าอะไรที่เราทำได้ดีแล้ว

ตอบ : (พี่ยุพิน) เด็ก ๆ เขาทำมาดีแล้ว ตั้งแต่โครงการแรก ๆ จากที่ได้ไปสัมผัสกับเด็ก ๆ กลุ่มนี้ในโครงการแรกไม่กี่เดือน เขาก็ยังรักษาความเสมอต้นเสมอปลายไว้ มีอะไรเขาก็เอามาวิเคราะห์กัน เอามาแตกยอดความคิดกันว่านี่ดีไหม นั่นดีไหม ทำให้เราเห็นว่าเด็ก ๆ เขาทำได้เราก็น่าจะทำได้ น่าจะเลียนแบบเด็ก ๆ บ้าง เพราะว่าบางทีความคิดเด็ก ๆ เขาก็ยังดีกว่าผู้ใหญ่อีกนะ ยังดีกว่าเราอีกนะ


ถาม : เหมือนพี่ยุพินเชื่อมั่นในตัวน้อง ๆ มากเลย

ตอบ : (พี่ยุพิน) เราก็ต้องเชื่อมั่นในตัวเด็กก่อน ว่าเขาทำได้ ถ้าเราไม่ให้ความเชื่อมั่นในตัวเขา เดี๋ยวเขาก็ไม่มีกำลังใจว่าเขาจะทำได้หรือเปล่า เชื่อใั่นดีกว่าทำให้ใจเขาฝ่อ ถ้าเขาไม่มีกำลังใจไม่ว่างานอะไรเขาก็จะทำไม่ได้ เขาจะทำไม่สำเร็จอยู่ดี


ถาม : ทิศทางบทบาทของชุมชนบ้านธิในการที่พาน้องเรียนรู้ชุมชน ควรเป็นแบบไหน

ตอบ : (พี่ศร) ทำในส่วนของมัคคุเทศก์น้อย เพราะว่าบ้านธิมีของดีเยอะ เรามีสถานที่ท่องเที่ยว เรามีเอกลักษณ์ด้านการแต่งกาย ด้านภาษา มีประเพณีท้องถิ่นเยอะ ตอนทำโครงการเขาอยากให้เจาะจง แต่ใจจริงพี่อยากสนับสนุนให้เด็ก ๆ โครงการท่องเที่ยวในชุมชน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับเด็กอีกที แต่ว่าเด็กทำมาถึงจุดนี้ถือว่าทำได้ดีแล้ว เด็กจากที่ไม่เคยพูดไม่ค่อยแสดงออก ในที่ชุมชน วันปิดโครงการที่ได้ไปแลกเปลี่ยนนำเสนอโครงการ พี่เห็นวิวัฒนาการของเด็กเ ทำได้ดีแค่นี้ก็ถือว่าสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว


ถาม : น้องเริ่มออกจากชุมชนประมาณอายุเท่าไหร่คะ หรือว่าชั้นไหนที่เขาเริ่มออกไปเรียนข้างนอกแล้ว

ตอบ : (พี่ยุพิน) อนุบาลเขาก็ไปแล้ว เมื่อก่อน ม.3 เขาถึงจะไป


ถาม : เดี๋ยวนี้เราก็ไม่มีเด็กติดชุมชนเท่าไหร่เลย

ตอบ : (พี่ศร) ไม่มี ที่นี่มีโรงเรียนเทศบาลอยู่ เพราะทศบาลสนับสนุนด้านการศึกษาครอบครัว คัดครูเกียรตินิยมเข้ามาสอน เพื่อเป็นชื่อเสียงให้กับเทศบาลด้วย แต่เด็กที่เรียนอยู่ก็ไม่มาก


ถาม : เทศบาลกับชุมชนของที่บ้านธิ ได้มีการทำงานอะไรร่วมกันไหมคะ

ตอบ : ส่วนมากเขาเน้นในด้านความอยู่ดีกินดีของคนในชุมชนมากกว่า แต่ถ้าเป็นศูนย์เรียนรู้ มีพัฒนาชุมชนเข้ามาสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง กองทุนแม่ของแผ่นดิน


ถาม : โรงเรียนก็ไม่ได้มาเกี่ยวข้องอะไร

ตอบ : ไม่ค่อยมีค่ะ


ถาม : ก่อนที่น้องๆ จะมาทำโครงการแบบนี้ในชุมชน ก่อนหน้านี้เป็นคนรุ่นไหนที่ทำกิจกรรมในชุมชน

ตอบ : (พี่ศร) ก็จะเป็นช่วงอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ถือว่าน้องๆ กลุ่มนี้เป็นรุ่นบุกเบิกเลยก็ว่าได้ที่ทำกิจกรรมกับชุมชน


ถาม : แล้วอย่างสภาเด็กฯ ของบ้านธิ เขาทำเรื่องอะไร

ตอบ : ส่วนมากเขาไปทำเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด การท้องก่อนวัยเรียนมากกว่า


ถาม : กิจกรรมเขาทำอย่างไง

ตอบ : (พี่ศร) ไปอบรมให้ความรู้เท่าที่ทางเทศบาลสนับสนุนงบประมาณมา


ถาม : แล้วมีผู้ใหญ่ดูแลน้องๆ กลุ่มนี้ไหมคะหรือว่าเขาทำของเขากันเองเลย

ตอบ : (พี่ศร) สภาเด็กฯ มีคุณครูดูแล คอยกำกับเป็นพี่เลี้ยงให้ อย่างอิงฟ้ากับมินนี่อยู่ในสภาเด็ก อิงฟ้าเป็นประธาน


ถาม : อยากรู้ว่าสภาเด็กกับชุมชนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

ตอบ : (พี่ศร) ส่วนมากสภาเด็กเท่าที่พี่รู้มา เขาจะไปทำในส่วนเยาวชนโดยตรงไม่ค่อยเข้ามาในชุมชน สมมุติว่าสภาเด็กทำกิจกรรม เขาอยากได้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด แก้ไขปัญหายาเสพติดเขาจะไปทำกัน


ถาม : เหมือนเอาเด็กไปทำตามโจทย์มากกว่า ยังไม่ได้ไปเป็นเรื่องเดียวกัน

ตอบ : (พี่ศร) ใช่ค่ะ


ถาม : ช่วยเล่าเรื่องมินนี่ให้ฟังหน่อยเป็นอย่างไรบ้าง

ตอบ : (พี่ยุพิน) เมื่อก่อนมินนี่เป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง ไม่ยอมพูด เงียบ หลังจากได้เห็นคลิปที่สถาบันทำออกมาจากการทำโครงการแรก เราคิดว่านี่ลูกเราเหรอ ลูกเราตอบได้ขนาดนี้เลยเหรอ พูดได้ขนาดนี้เลยเหรอ พลิกไปเลยจากที่เราเคยเห็นอยู่ เราไปเห็นเขาในอีกลุคหนึ่งมันทำให้ลูกเรามีศักยภาพขึ้นมานะ


ถาม : เขามีพฤติกรรมอื่นไหมคะที่เราสังเกตได้เวลาเขาอยู่ในบ้านแล้วเขาเปลี่ยนไป

ตอบ : (พี่ยุพิน) ปีที่แล้วน้ำตาไหล เวลาอยู่ในบ้านเขาไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย เขาดูมือถือ ดูยูทูป แต่ไม่ได้ติดเกม แต่จะดู black pink ของเขาไป ถ้าเขาไปอยู่อีกกลุ่มเขาก็จะไปอีกแบบหนึ่งในแบบที่เราไม่เคยเห็น


ถาม : อย่างน้องมินนี่เขาเรียนเก่งไหมคะหรือว่าอยู่ในระดับไหน

ตอบ : ก็ใช้ได้ ไม่ได้บังคับว่าจะต้องได้เกรด 3 เกรด 4 ได้เท่าไรก็เท่านั้น