การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน จังหวัดศรีสะเกษ ปี 3

“การทำงานเป็นทีม” คือการทำงานร่วมกันของคนมากกว่า 1 คน โดยมีการวางแผนร่วมกัน เห็นเป้าหมายเดียวกัน และมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ที่ประกอบด้วย การตระหนักในความสำคัญของกันและกัน การยอมรับและให้เกียรติกัน ซึ่งเป็นส่วนที่ยากที่สุดที่ทำให้หลายทีม “เกิดปัญหา” เพราะบางครั้งการรับฟังเสียงของคนอื่นก็ไม่ดังเท่ากับเสียงที่อยู่ในหัวของตัวเอง บททดสอบของการทำงานเป็นทีมส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องการยอมรับฟังความคิดเห็นและให้คุณค่ากับเสียงของคนอื่น


ทีมเวิร์ค...บทเรียนจากความไม่เวิร์ค

เม้าทมอยปัญหาโลกแตกของวัยรุ่นที่ทำให้กลุ่มเยาวชนจากโรงเรียนบ้านปราสาท ตำบลปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ประกอบด้วย มิว-สุภาวดี ยาจิตร ยีนส์-กมลทิพย์ ระยับศรี นิ่ม-ณัฐพร แกมแก้ว แป้ง-วรานุช แป้นประโคน และ ฟ้า-ศศินา เนียมงาม ซึ่งเป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่วัยเยาว์ เกือบเสีย “มิตรภาพ” ระหว่างกันไป เมื่อต้องเจอกับ “บททดสอบ” ของการทำงานเป็นทีม

มิวเริ่มต้นเล่าว่า ปีที่แล้วเธอมีโอกาสช่วยรุ่นพี่ทำโครงการปราสาทตาเล็งศูนย์รวมความศรัทธาของชุมชน แล้วรู้สึกสนุก จึงอยากทำต่อ เลยชวนเพื่อนๆ อีก 4 คนเข้าร่วมด้วย โดยตัดสินใจรับช่วงโครงการต่อจากรุ่นพี่ทำโครงการโกนจาเล่าขาน ตำนานปราสาทตาเล็ง ที่มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบปราสาท เผยแพร่ประวัติของปราสาทตาเล็งให้เป็นที่รู้จักของคนในชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ปราสาท และทำหนังสือเล่มเล็กและแผ่นพับเผยแพร่เรื่องราวของปราสาทตาเล็งให้คนอื่นได้รู้จัก

บทเรียนของทีมเวิร์ค

แม้ทุกกิจกรรมที่จัดขึ้น จะได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี แต่ทีมกลับต้องพบกับความยากลำบากที่มาจากภายในทีมซึ่งทำให้พวกเธอเกือบเสียมิตรภาพระหว่างเพื่อน

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากความ “ไม่เข้าใจกัน” เนื่องจากมิวกับนิ่มต้องทำหน้าที่เป็นนางรำประจำโรงเรียน จึงต้องใช้เวลาไปกับการฝึกรำเพื่อแข่งขัน จนไม่มีเวลาช่วยเพื่อนทำงานในโครงการ เมื่อเพื่อนต่างกลุ่มถามถึง 2 สาว ยีนส์ แป้ง และฟ้า บอกไปตามตรงว่า มิวและนิ่มติดภารกิจซ้อมรำและไม่มีเวลามาช่วยทำโครงการ ทว่าเมื่อเรื่องนี้ไปถึงหูของมิวและนิ่ม ที่มีปมในใจอยู่แล้วว่าไม่ค่อยได้มาช่วยเพื่อนทำโครงการ ยิ่งรู้สึกไม่ดี เพราะคิดว่าเพื่อนนินทาพวกเธอให้เพื่อนต่างกลุ่มฟัง

ครูเกด-เทวี จันทร์นัน ที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า เธอสังเกตเห็นว่ามิวตีตัวออกห่างเพื่อน ทั้งที่ปกติจะไปไหนมาไหนด้วยกันทั้งกลุ่ม จึงเรียกเข้ามาคุยทีละคน จนพบว่า ทั้งหมดเกิดจากความเข้าใจผิด ครูเกดพยายามประสานความเข้าใจระหว่างสาวๆ ทั้งปลุกทั้งปลอบหลายขั้นตอน

“เราเรียกคุยทีละฝ่ายแล้วให้เวลาเขาอยู่กับตัวเองสักพัก แต่เขาก็เผลออารมณ์เสียใส่เพื่อนอีก เลยบอกเขาไปตรงๆ ว่า ครูรักและหวังดีกับพวกเธอ แต่พวกเธอกลับมาทะเลาะกันเอง ครูเสียใจนะ วันนั้นขับรถกลับบ้านไปก็ร้องไห้ไป เพราะเราผูกพันกับพวกเขาเหมือนแม่กับลูก”

มิวบอกว่า ตอนนั้นเธอทั้งเครียดและเหนื่อยล้าสะสมจากการทำกิจกรรมพร้อมกัน 2 ทาง ใครไม่พูดไม่ถูกใจนิดหน่อยก็ใส่อารมณ์ แม้แต่พูดคุยกับเพื่อนก็ยังเผลอใส่อารมณ์ไปด้วย เมื่อทุกอย่างรุมเร้าหนักเข้า จึงรู้สึกท้อ จนตัดสินใจหยุดทำโครงการ แต่เมื่อทิ้งเวลาไประยะหนึ่งและได้กลับไปทบทวนตัวเอง มิวกลับรู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไป จึงตัดสินใจเข้าไปขอโทษครูเกดที่บ้าน และทันทีที่เห็นมิวครูเกดก็เดินเข้ามากอด และพูดให้มิวได้คิดว่า ความเป็นเพื่อนต้องใช้เวลาสร้างมิตรภาพ แล้วจะมาตัดขาดกันด้วยเรื่องเท่านี้หรือ

ในที่สุดทีมก็กลับมาเป็นทีมอีกครั้งด้วยฝีมือของผู้ประสานรอยร้าวคนสำคัญอย่างครูเกด ที่ใช้ทักษะความเป็นโคชช่วยประคับประคองจิตใจของทีมงาน โดยเฉพาะมิวให้ได้เรียนรู้เรื่องการจัดการอารมณ์ ทำให้ความเป็นเพื่อนและความสามัคคีของทีมฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง

ไม่ใช่ครูเกดเท่านั้นที่พาเด็กข้ามผ่านบททดสอบของการทำงานเป็นทีมเช่นนี้ แต่ผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเด็กก็สามารถสร้างการเรียนรู้ให้เด็กฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้เช่นกัน เพียงแค่ “ใช้ใจแลกใจ” เป็นคนที่รักและหวังดีกับเด็กๆ ด้วยหัวใจ แล้วเด็กๆ ก็จะรัก ไว้วางใจ และพร้อมจะรับฟัง ดังเช่นเด็กๆ กลุ่มนี้ที่บอกว่า

“เมื่อก่อนเรากับครูไม่สนิทกัน แต่พอได้มาช่วยงานของโรงเรียนด้วยกัน ได้ทำโครงการร่วมกันก็เกิดความผูกพันกัน พวกเราทำไม่เป็นหรือไม่รู้อะไร ครูเกดจะคอยหนุนอยู่ข้างหลัง เขาเข้าใจความเป็นเด็ก ความเป็นวัยรุ่น แคร์ความรู้สึกพวกเรา และรับฟังทุกอย่าง ทุกเรื่อง จนรู้สึกสนิทใจเหมือนเป็นครอบครัว”

ก้าวข้ามและเปลี่ยนแปลง

หลังจากเหตุการณ์ดราม่าผ่านไป รอยร้าวของมิตรภาพค่อยๆ บรรเทาลง ทีมงานแต่ละคนยังได้เรียนรู้และเกิดเปลี่ยนแปลงในตัวเองหลายอย่าง

มิว ยอมรับว่า เธอยังใจร้อนอยู่ ยังต้องเรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ของตัวเองให้ดีขึ้น ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือ “การพูด” จากที่เคยพูดไม่เพราะ พูดใส่อารมณ์ ขี้บ่น ก็เริ่มพูดเพราะขึ้น และรู้จักคิดก่อนพูด

ด้าน นิ่ม สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของตัวเองว่าเป็นเรื่องความ “กล้าแสดงออก” เพราะแม้จะเป็นนางรำประจำโรงเรียน ทว่าก็ไม่เคยมีโอกาสเป็นคนขึ้นพูดหน้าเวที แต่การทำโครงการนี้เป็นพื้นที่ให้นิ่มมีโอกาสฝึกพูด และแสดงความคิดเห็น

สำหรับ แป้ง จากที่เคยไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออก เพราะกลัวทำแล้วผิด แต่พอได้รับโอกาสจากโครงการและเพื่อนๆ ก็สามารถก้าวข้ามความกลัว จนกล้าขึ้นพูดต่อหน้าคนจำนวนมากในงานฉายหนังสั้น “โมเมอพลังกอนกะแนน เล่าขานสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ยลยินปรางค์กู่ขขุขันธ์”

ยีนส์ บอกว่า เมื่อก่อนเธอเป็นคนไม่ค่อยคุยกับใคร แต่การทำโครงการนี้ทำให้กล้าพูดกล้าคุยมากขึ้น ทำให้ยายภาคภูมิใจที่ได้เห็นหลานมาทำสิ่งดีๆ เพื่อชุมชน

ส่วน ฟ้า เล่าว่ากระบวนการที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เธอมากที่สุดมาจากการทำสื่อ ซึ่งเธอทำแล้วชอบมาก จากแค่เคยถ่ายรูปเล่นๆ ให้เพื่อน ก็มีทักษะการถ่ายภาพและวิดีโอมากขึ้น รู้ว่าควรถ่ายมุมไหน แบบใด เพื่อให้ภาพออกมาดี

เห็นได้ว่าการทำโครงการนี้นอกจากจะทำให้ทีมก้าวข้ามปัญหาคาใจระหว่างกันได้แล้ว กระบวนการทำงานยังช่วยพัฒนาทักษะใหม่ให้เป็นคนกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก รู้จักจัดการอารมณ์ของตนเอง รู้จักแบ่งเวลา และวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน จนเกิดความมั่นใจในตนเอง

ความเป็นครู ความเป็นโคช

ทุกย่างก้าวที่มีอุปสรรค ขวากหนาม รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะของทีมงาน ครูเกดในฐานะที่ปรึกษาโครงการเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการผลักพาให้เด็กก้าวไปข้างหน้า ประคับประคองยามล้มให้ลุกขึ้นมาใหม่ และมีรอยยิ้มกับน้ำตาไปพร้อมกับพวกเธอ โดยก่อนหน้านี้ครูเกดกับเด็กๆ ก็ไม่ได้สนิทใจต่อกันเลย

“ตอนแรกที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในโครงการนี้ เราเคยชินกับการใช้คำสั่ง แต่เมื่อได้เข้าร่วมเวทีเวิร์คช็อป เห็นกระบวนการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นคิดของทีมโคช ก็กลับมาคิดว่าจะไม่ใช้วิธีสั่งให้ทำเหมือนที่ผ่านมา แต่ตั้งคำถามให้เวลาคิดเขาค่อยๆ คิดไปทีละขั้น อาจต้องใช้เวลามากหน่อยกว่าจะได้คำตอบ แต่เด็กๆ ก็มีความสุขที่ได้คิดเอง ทำเอง”

การเปิดโอกาสให้เด็กคิดเอง ทำเอง ทำให้ครูเกดเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับลูกศิษย์ นั่นคือ การทำงานอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนเตรียมตัว และประสานงานกับผู้ใหญ่หลายฝ่ายได้ด้วยตัวเอง และได้รู้จักความผิดหวังและความสมหวังนี้ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันให้ทีมงานปรับมุมคิด เรียนรู้ที่จะรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ขณะที่ครูเกดเองก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองเช่นกัน จากกรณีที่เด็กๆ ทะเลาะกัน แล้วต้องช่วยปรับความเข้าใจ ทั้งที่ตัวเองก็รู้สึกเสียใจ เพราะรักและทุ่มเทดูแลมาอย่างดี เป็นบทพิสูจน์ความเป็นครูที่ไม่ทิ้งเด็กคนใดคนหนึ่งไว้ แต่ต้องพาเด็กทุกคนก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคไปให้ได้

เมื่อโครงการดำเนินมาจนถึงขั้นสุดท้าย แม้ผลลัพธ์ตามแผนงานอาจยังไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ แต่ครูเกดก็ภาคภูมิใจที่ได้เป็นที่ปรึกษาในโครงการนี้ เพราะสัมผัสได้ถึงความรักของที่เด็กๆ มีต่อเธอ ภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครอง และเด็กๆ ก็สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งและกลับมาทำงานร่วมกันได้ เพราะความรักที่มีต่อกัน

ครูเกดบอกว่า ตอนที่เด็กๆ ได้ขึ้นแสดงในงานฉายหนังที่วัดระกา เธอและแม่ของมิวต่างก็ร้องไห้ เพราะไม่คิดว่าจะมีวันนี้ วันที่พวกเธอสามารถวางใจและภูมิใจได้ว่า ชุมชนกำลังมีคนรุ่นใหม่เข้ามาดูแลชุมชนต่อไป

ความขัดแย้งจากการทำงานเป็นทีมของเด็กๆ กลุ่มนี้เป็นเพียงบททดสอบที่หนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อพวกเธอเติบโตขึ้น ไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่กว้างขึ้น ย่อมต้องเจอบททดสอบที่มากกว่าและยากกว่า ซึ่งเชื่อว่าบทเรียนครั้งนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้พวกเธอข้ามผ่านบทเรียนอื่นที่ยากไปกว่านี้


โครงการโกนจาเล่าขาน ตำนานปราสาทตาเล็ง

ที่ปรึกษาโครงการ : ครูเทวี จันทร์นัน โรงเรียนบ้านปราสาท

ทีมงาน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปราสาท

  • สุภาวดี ยาจิตร 
  • กมลทิพย์ ระยับศรี
  • ณัฐพร แกมแก้ว 
  • วรานุช แป้นประโคน
  • ศศินา เนียมงาม