การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาพัฒนาการทอเสื่อกก จังหวัดศรีสะเกษ ปี 3

ต่างวัย...หัวใจเดียวกัน

ความรู้และประสบการณ์เดิมจากการเป็นประธานสภาเด็กเยาวชนตำบลสวาย และการทำโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษปีที่แล้ว รวมถึงโอกาสในทำงานร่วมกับนักวิจัยชาวบ้าน ที่หมิว-กนกวรรณ พันธมาศ นำมาใช้ “บริหารจัดการทีม” ที่มีความต่างทั้งเพศ วัย และเวลาว่างไม่ตรงกัน จนเกิดเป็นความรู้ใหม่ให้หมิวและทีมงาน ทั้งความรู้เกี่ยวกับชุมชน ความรู้เรื่องอาชีพ และทักษะการทำงาน

ต่างวัย...หัวใจเดียวกัน

ด้วยความต่างของเพศ ช่วงวัย และสถานที่เรียน อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พี่ๆ น้องๆ ในชุมชนบ้านสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ทำโครงการเยาวชนขามใหญ่อนุรักษ์ภูมิปัญญาพัฒนาการทอเสื่อกกร่วมกันได้ คำตอบหนึ่งคือการบริหารจัดการทีมที่หมิว-กนกวรรณ พันธมาศ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ใช้ประสบการณ์การทำงานเดิมในฐานะประธานสภาเด็กเยาวชนตำบลสวาย การทำโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษปีที่แล้ว และการติดตามนักวิจัยชาวบ้านลงพื้นที่ทำงานในชุมชนมาใช้ พาน้องๆ เรียนรู้จนน้องๆ มีทักษะความรู้เรื่องของชุมชนและทักษะการทำงานเพิ่มขึ้น

รวมพลังคนต่างวัย

เหตุผลของการรวมพลังคนต่างวัย เกิดขึ้นจากหมิวและกระแต-อชิรญา แสงอุ่น ปวส.1 วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ อยากทำโครงการต่อจากปีที่แล้ว แต่ทั้งสองคนต้องเข้าไปเรียนในตัวเมืองศรีสะเกษ จึงต้องหาน้องๆ ในพื้นที่มาเสริมทีม โดยเลือกคนที่พร้อมทำจริงๆ จนได้ เจน-จุฑารัตน์ สุภานาม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม โอปอ-พิชญวรรณ ผักไหม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนปรางค์กู่ และแชมป์-วันวิเศษ พลงาม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม เยาวชนจากบ้านสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ จ๊ะจา-สุณิษา อสิพงษ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนปรางค์กู่ กับอาย-กฤติติกา ศรีรัง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสวายพิทยาคม หน้าที่ถ่ายภาพ เข้ามาเป็นทีมทำงาน

กระบวนการทำงานเริ่มต้นจากหมิวสร้างการมีส่วนร่วมให้น้องๆ ด้วยการจัดประชุมที่ศาลากลางหมู่บ้าน หาโจทย์ปัญหาชุมชน

“วันนั้นเราคุยกันว่าอยากทำเรื่องอะไรมากที่สุด น้องๆ ช่วยกันเสนอหลายเรื่อง มีตั้งแต่เรื่องถนน เรื่องเสียงดัง เด็กติดเกม จึงชวนน้องคิดว่าเรื่องไหนทำแล้วมีประโยชน์กับชุมชนมากที่สุด สุดท้ายจึงเลือกเรื่องการทอเสื่อกก เพราะเป็นภูมิปัญญาของคนในชุมชนที่น่าสนใจ และสามารถเป็นอาชีพเสริมให้พวกเราได้” กระแต อธิบาย

หมิว เสริมต่อว่า ตอนนั้นใกล้ถึงเวทีพัฒนาโจทย์โครงการ ที่ทีมต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการ จึงใช้ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา แบ่งบทบาทหน้าที่ให้น้องไปช่วยกันหาข้อมูล กระแตรับหน้าที่สัมภาษณ์ จ๊ะจากับอายถ่ายภาพ โอปอทำหน้าที่จดบันทึก เจนเป็นคนบันทึกเสียง ซึ่งก่อนลงพื้นที่เธอจะชวนน้องๆ คิดคำถามเบื้องต้นไว้ก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน โดยข้อมูลที่เก็บคือ ประวัติชุมชน ภูมิปัญญาการทอเสื่อกก และผู้รู้

นอกจากเตรียมความพร้อมให้ทีมด้วยการช่วยกันตั้งคำถามก่อนลงพื้นที่ หมิวยังเน้นย้ำให้น้องทุกคนเห็นความสำคัญกับแผนการทำงาน เพื่อให้ทำโครงการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

“ตอนแรกที่ลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ใหญ่ แรกๆ ไม่ค่อยมั่นใจ กลัวเขาไม่ตอบ ดีที่เราเตรียมคำถามไว้แล้ว จึงไม่ค่อยเกร็ง และพอไปคุยกับผู้ใหญ่จริงๆ เขาให้ความร่วมมือดีมาก ถามคำถามเดียว เขาตอบมาเกือบหมด เราแทบไม่ต้องใช้คำถามที่เตรียมไว้เลย” กระแต เล่าการเตรียมพร้อมของทีม

การลงพื้นที่เก็บข้อมูลในครั้งนั้น ทำให้ทีมรู้ว่าในชุมชนมีภูมิปัญญาที่ทอเสื่อกกได้เหลืออยู่เพียง 5 คน หนึ่งในนั้นคือ คุณยายของหมิวที่ทีมงานเชิญมาเป็นผู้รู้ถ่ายทอดการทอเสื่อกกก เพราะบ้านคุณยายอยู่กลางชุมชนเดินทางไปมาสะดวก ยังมีลูกสาวคุณยายมาช่วยสอนด้วย

แม้เวลาสืบค้นข้อมูลชุมชนจะมีน้อย แต่เมื่อหมิวในฐานะหัวหน้าทีมนำประสบการณ์การทำงานเดิมมาใช้ทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของน้องๆ ในทีม การมอบหมายหน้าที่ในการทำงาน และเตรียมความพร้อมให้น้องก่อนลงมือทำงานจริง ทำให้ทีมงานมีข้อมูลนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการได้ทันเวลา

เรียนรู้และแก้ไขปัญหา

เมื่อกระบวนการเรียนรู้การทอเสื่อกกเริ่มขึ้น ปัญหาก็เริ่มก่อตัว...

แรกๆ ทีมงานต่างมุ่งมั่นเรียนรู้การทอเสื่อกกที่เริ่มตั้งแต่การตัด การตาก การทำลายสี การกางฟืม ใส่ฟืม การทอหรือสอด ไปจนถึงการกด โดยทุกคนต้องเรียนรู้ทุกขั้นตอน

“คุณยายจะสอนทอทีละคนๆ 1 คืบ พอหนูทอได้คืบหนึ่ง ก็เปลี่ยนให้อายซึ่งทำหน้าที่สอดกกมาทอต่อ พออายทอได้อีกคืบ ก็เปลี่ยนให้จ๊ะที่สอดกกให้ทอต่อ หมุนเวียนกันทำ เพื่อให้ทำเป็นทุกขั้นตอน พอทอเสร็จจะรู้เลยว่าใครมีฝีมือแค่ไหน ต้องปรับปรุงจุดใด อย่างหนูตัวใหญ่ แต่แรงกดน้อย จึงทอได้ไม่แน่น” หมิว เล่าความยากของการทอเสื่อ

เพราะเรียนต่างชั้น ต่างโรงเรียน วันเสาร์อาทิตย์จึงเป็นวันนัดหมายทำโครงการ ผู้ปกครองบางคนจึงไม่ค่อยพอใจ หมิวจึงตั้งกฎว่า ก่อนมาทำโครงการ ทุกคนต้องทำงานบ้านให้เสร็จก่อน โดยนัดเวลาทำงานตั้งแต่ 10.00-16.00น. เพื่อให้ทุกคนกลับไปทำภารกิจของตัวเอง ความไม่สบายใจของผู้ปกครองก็เริ่มคลี่คลายลง

แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อกกที่ทีมงานและเพื่อนๆ ในเครือข่ายเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษร่วมกันปลูกไว้บริเวณสระของชุมชน ถูกวัวของชาวบ้านพังรั้วเข้ามาดึงทึ้งกกที่ทีมงานปลูกไว้จนเสียหาย หมิวเข้าไปคุยกับเจ้าของวัวขอให้ช่วยย้ายจุดเลี้ยงวัว แต่เจ้าของวัวไม่ยอมย้าย บอกว่าเลี้ยงตรงนี้มานานแล้ว หมิวจึงเข้าไปขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้านให้มาช่วยพูดให้ จนเขายอมย้ายที่เลี้ยงวัว ซึ่งทีมงานและชาวบ้านก็มาช่วยกันซ่อมรั้วจนใช้งานได้เหมือนเดิม

หลังปัญหาหนักใจผ่านไป ทีมงานต่างมุ่งมั่นฝึกทอเสื่อกกอย่างขะมักเขม้น จนวันนี้เสื่อกกฝีมือของทีมงานวางขายที่ร้านค้าชุมชน และในงานต่างๆ ในราคา 100-300 บาท โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่สีธรรมชาติ

“จริงๆ เราก็อยากทำเป็นลวดลายเหมือนกันค่ะ แต่เนื่องจากยังทำออกมาไม่ค่อยสวย ประกอบมีผู้ใหญ่มาแนะนำให้ทำสีธรรมชาติ เพื่อชูจุดเด่นเรื่องผลิตภัณฑ์สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” หมิว เล่า

การทำงานจะประสบผลสำเร็จได้ ผู้นำทีมต้องรับรู้ปัญหาของทีมงานและหาทางแก้ไขโดยเร็ว ดังเช่นหมิวที่เมื่อเห็นว่าผู้ปกครองของทีมกังวลใจ หมิวก็หาวิธีทำงานใหม่จัดสรรเวลาของทีมให้ลงตัวทั้งงานบ้าน งานเรียน และงานโครงการ ส่วนปัญหาที่คิดว่าเกินกำลังจะแก้ไขได้ ก็เข้าไปขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้านที่คนในชุมชนนับถือให้เข้ามาช่วยแก้ไขจนงานเดินหน้าไปได้ด้วยดี

ก้าวข้ามความต่าง

ด้วยเงื่อนของโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษที่ต้องการฝึกทักษะการสื่อสารให้เด็กเยาวชนในโครงการผ่านการทำคลิปวิดีโอที่ทีมงานบอกว่า ยากมาก เพราะเรียนต่างที่ ทำให้มีเวลาว่างไม่เหมือนกัน พอทำใกล้เสร็จเครื่องคอมพิวเตอร์ค้างบ้าง ไฟล์มีปัญหา โปรแกรมมีปัญหา

หมิวเล่า บรรยากาศในช่วงนั้นว่า จริงๆ เรามีการแบ่งงานกันตามความถนัดของแต่ละคนคือ อายถ่ายภาพ เจนลงเสียง ชมพู่กับโอปอเขียนบท ต้นกับแชมป์คอยอำนวยความสะดวก ส่วนเธอรับหน้าที่ตัดต่อ แต่ด้วยเวลาที่จำกัด และปัญหาด้านเทคนิคต่างๆ ทำให้งานไปได้ช้า

“สุดท้ายก็ยกทีมงานไปไปทำกันบ้านหมิว ล็อกห้องทำงานกันในห้องเล็กๆ ช่วยกันทำจนเสร็จ ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า ถ้างานนี้เรายังทำไม่เสร็จ แล้วงานอื่นๆ ที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบ ทั้งเรื่องเรียน และงานบ้าน จะทำได้หรือ” กระแต เสริม

หมิว เสริมต่อว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เราได้ฝึกความอดทน ความพยายาม เพราะกว่าจะตัดเสร็จก็สว่างพอดี

ผลจากความทุ่มเททำงาน เมื่อคลิปวิดีโอถูกฉายในเทศกาลหนังกลางแปลงก็สร้างความภาคภูมิใจให้ทีมงานเป็นอย่างมาก

“หลังฉายหนังเสร็จ ผู้ใหญ่บ้านเดินเข้ามาชม บอกว่าดีใจเห็นเยาวชนรุ่นนี้ทำสิ่งดีๆ เป็นตัวอย่างให้รุ่นน้อง นอกจากนี้เด็กๆ ในชุมชนหลายคนก็สนใจเข้ามาสอบถามเรื่องการทำโครงการมากขึ้น” เจน เล่าด้วยสีหน้าภูมิใจ

นอกจากความภาคภูมิใจที่ได้รับแล้ว การทำโครงการยังเพิ่มทักษะการทำงานและความรู้ให้ทีมงานด้วยเช่นกัน

หมิว บอกว่า โครงการนี้เป็นเวทีให้เธอได้พัฒนาตนเอง ทั้งทักษะการคิดวิเคราะห์ การกล้าพูดกล้าแสดงออก รู้จักจัดลำดับความสำคัญของงาน เช่น เมื่อก่อนมีงาน 5 อย่างก็จะทำพร้อมกัน จึงไม่เสร็จสักอย่าง เมื่อต้องรับหน้าที่หัวหน้าทีมจึงต้องรู้จักวางแผนและจัดลำดับความสำคัญจนงานสำเร็จ ทั้งยังรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำโครงการเพื่อชุมชนแล้วเห็นเห็นน้องๆ สานต่อ

เจน บอกว่า เมื่อก่อนเธอทำตัวไร้สาระมาก ไม่เคยช่วยงานใดของชุมชนเลย เมื่อเข้ามาทำโครงการนี้พี่ๆ มอบหมายหน้าที่ให้ ทำให้เธอได้ฝึกความรับผิดชอบงาน จนเดี๋ยวนี้เวลาได้ยินผู้ใหญ่ประกาศว่าจะมีการพัฒนาหมู่บ้าน ก็จะชวนพี่ๆ น้องๆไปช่วยเสมอ

ส่วนโอปอ บอกว่า การได้ลงมือคิด ลงมือทำ ทำให้เธอกลายเป็นคนกล้าพูด กล้าแสดงออก และเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เช่น เวลามีงานบุญในหมู่บ้านเธอและเพื่อนๆ จะรวมกลุ่มกันไปช่วยเสิร์ฟน้ำบ้าง ทำความสะอาดชุมชนบ้าง

ขณะที่กระแต บอกว่า ความพยายามและอดทน และการแบ่งเวลา คือสิ่งที่เธอได้จากโครงการนี้ ที่เธอนำไปปรับใช้กับการเรียนระดับปริญญาตรีที่แม้ภาระการเรียน และงานโครงการจะเยอะ แต่การเรียนก็ไม่เสีย

สำหรับแชมป์ บอกว่า เมื่อก่อนเป็นคนขี้เกียจ ไม่ตรงต่อเวลา แต่เพราะเห็นพี่ๆ มุ่งมั่นช่วยกันทำงาน ทำให้แชมป์ต้องเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นคนที่ตรงต่อเวลา และหันมาช่วยงานพี่ๆ งานในชุมชนมากขึ้น

ความรู้และประสบการณ์เดิมมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน หากเด็กได้รับการกระตุ้นความรู้เดิมอย่างเหมาะสม ความรู้เดิมนี้จะนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ในตัวเด็ก ดังเช่นหมิวที่นำประสบการณ์การทำงานเดิมมาปรับใช้ในการทำโครงการ จนทำให้หมิวและทีมงานมีความรู้และทักษะการทำงานเพิ่มขึ้น


โครงการเยาวชนขามใหญ่อนุรักษ์ภูมิปัญญาพัฒนาการทอเสื่อกก :

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • วัลลพ บุญเสริม 
  • ธวัลย์รัตน์ งามนัก

ทีมงาน :

  • กนกวรรณ พันธมาศ 
  • อชิรญา แสงอุ่น
  • จุฑารัตน์ สุภานาม 
  • พิชญวรรณ ผักไหม
  • วันวิเศษ พลงาม 
  • สุณิษา อสิพงษ์
  • กฤติติกา ศรีรัง