การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์และสืบสานภาษากวยบ้านพงพรต จังหวัดศรีสะเกษ ปี 3

ความเครียดในระดับอ่อนๆ จะช่วยเพิ่มความท้าทาย ความคึกคักและทำให้เด็กๆ สามารถทำกิจกรรมที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น ซึ่งหากปัญหาคลี่คลายจะช่วยเพิ่มผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ของเด็กและส่งผลดีต่อการพัฒนาการของสมอง ขณะเดียวกันบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ามาหนุนเสริมการทำงานของเด็ก ถือเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์ใหม่เพราะท้ายที่สุดแล้วเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญที่จะนำไปสู่การเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่จะดูแลและขับเคลื่อนชุมชนต่อไปในอนาคต


ไม่ทำ...ไม่รู้

ใครจะเชื่อว่าระยะเวลาเพียง 5-6 เดือนจะเปลี่ยนเด็กนิ่งๆ ขี้อาย ไม่กล้าพูด ให้กลายเป็นคนกล้าคิด กล้าทำ กระทั่งลุกขึ้นมาเป็น “ผู้นำ” พาทีมงานและน้องๆ ในชุมชนเรียนรู้ภาษากวย ภาษาพื้นถิ่นที่นับวันจะเลือนหายไป

เพราะเห็นตัวอย่างดีๆ จากรุ่นพี่ที่ทำโครงการเพื่อชุมชน ทำให้ ริว-พรชัย โยธา และ ปูเป้ -ธิติมา หมุ่ยโท นักเรียนจากโรงเรียนกำแพง กลุ่มเยาวชนบ้านพงพรต ตำบลหนองห้าง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ อยากเก่งเหมือนพี่ๆ บ้าง ประกอบกับผลการทำโครงการของรุ่นพี่ระบุว่า ชุมชนแห่งนี้พื้นเพเป็นชาติพันธุ์กวย มีภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ปัจจุบันเริ่มหายไป เพราะขาดการสืบทอด เด็กรุ่นใหม่ไม่สามารถพูดหรือฟังภาษากวยกับผู้เฒ่าผู้แก่ได้ ผลที่เกิดขึ้นคือ องค์ความรู้ภูมิปัญญาดีๆ ของชาวกวยเริ่มสูญหาย มีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่ไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้เรื่องราว ริว ปูเป้ และเพื่อนๆ จึงอยากฟื้นฟูภาษากวยขึ้นมา ด้วยการทำโครงการย้อนรอยศึกษาสืบสานภะซากวย โทร๊ะอึมเพิ๊ต

­

พลิกฟื้นคุณค่าที่หายไป

“โทร๊ะอึมเพิ๊ต เป็นภาษากวยหมายถึงหมู่บ้านพงพรต” ริวอธิบาย

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไม่พูดภาษากวยนั้น ริวบอกว่า มาจาก 2 สาเหตุคือ 1.กระแสการพัฒนาสมัยใหม่ ที่พ่อแม่นิยมฝึกให้ลูกพูดภาษาลาวหรือภาษากลางแทน เพราะกลัวลูกอาย 2.การขยายตัวของชุมชน สมาชิกในหมู่บ้าน แต่งเขย แต่งสะใภ้เข้ามาในหมู่บ้าน เช่น ลาว ภาษากวยที่เคยเป็นภาษาหลักจึงถูกลดบทบาทลง

แม้เป้าหมายโครงการคือ การสืบสานภาษากวยให้คงอยู่คู่ชุมชนบ้านพงพรต แต่ริวและปูเป้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาว่า หากคนในชุมชนไม่สามารถสื่อสารภาษากวยได้ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่ดีงามของคนกวยก็จะสูญหายตามไปด้วย

“ตอนเด็กๆ คุณตาเคยสอนผมทำอุปกรณ์จับปลาที่เรียกว่าส่วย ที่นำหญ้าคามาสานกันเพื่อใช้จับปลา เป็นภูมิปัญญาง่ายๆ ที่สามารถหาได้จากตรงนั้น ทำเดี๋ยวนั้น แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีคนทำแล้ว ในส่วนของเป้คุณยายพูดภาษากวยได้ เป้จึงพอสื่อสารภาษากวยได้บ้าง” ริวเล่า

เมื่อได้แนวทางการทำงาน ทีมช่วยกันคิดคำถามสำหรับใช้สัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้านและผู้เฒ่าผู้แก่ดังนี้ 1.ความเป็นมาของภาษากวย 2.ความสำคัญของภาษา 3.ถ้าภาษากวยสูญหายไปจะรู้สึกอย่างไร และ 4.จะช่วยกันสืบสานภาษากวยอย่างไร โดยวางแผนนำข้อมูลที่ได้ไปจัดแสดงและเผยแพร่ในเวทีคืนข้อมูลชุมชน เพื่อหาแนวทางสืบทอดภาษาร่วมกันต่อไป

หลังจากทำกิจกรรมฟื้นฟูด้านภาษาแก่กลุ่มเยาวชนแล้ว ทางทีมงานได้จัดกิจกรรมที่ลานวัฒนธรรมขึ้น ใช้ชื่อว่า “กอนกวยฮวมกันสืบสานวิถีชีวิต” โดยมีผู้ใหญ่บ้านช่วยประชาสัมพันธ์งานให้ผ่านเสียงตามสาย ภายในงานมีการเผยแพร่ผลงานและจัดแสดงของดีของชาวกวยและบอกเล่าประวัติความเป็นมาชาวกวยที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน การนำเสนอศิลปะด้านบทเพลง การแสดง ที่เคยเป็นที่รู้จักในอดีต เช่น บทเพลงภาษากวย รำเซิ้งสะไน เป็นต้น

ริว ยังเล่าให้ฟังอีกว่า การจัดงานในครั้งนี้ทำให้รู้ว่า นายอาทร ทองปัญญา ปลัด อบต.ทุ่งไชย อ.อุทุมพรพิสัย ซึ่งเป็นญาติกับตนมีความสามารถด้านการแต่งเพลงภาษากวยได้ ซึ่งตนมองว่าหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการทำงานของเด็กๆ และเข้ามาร่วมสืบสานในด้านนี้เชื่อว่าความเป็นกวยจะกลายเป็นเครือข่ายชาติพันธุ์ที่มีความเข้มแข็ง

ซึ่งการที่ผู้ใหญ่เข้ามามีบทบาทในการทำงานของเด็ก ถือเป็นการหนุนเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ ขณะเดียวกันบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนรุ่นใหม่ ถือเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์ใหม่เพราะท้ายที่สุดแล้วเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญที่จะนำไปสู่วุฒิภาวะของการเป็นผู้นำที่จะขับเคลื่อนชุมชนในอนาคต

“วันที่จัดงานมีอุปสรรคหลายอย่าง อาทิ ธีมเวทีที่จัดมีกองฟางไม่พอใช้ประดับเวที พวกเราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ใช้ฟางเท่าที่มีโดยจัดเฉพาะบางจุด แถมเงินที่จะใช้จัดงานก็เบิกออกมาไม่ทัน พวกเราเลยสำรองเงินเพื่อใช้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ไปก่อน แล้วค่อยมาเคลียร์ทีหลัง” ริวเล่าบรรยากาศ

แม้มีเหตุขัดข้องเหล่านี้เข้ามา ทีมงานกลับคิดว่านี่คือความท้าทายของการทำงาน ประกอบกับความพร้อมที่เตรียมงานมาตลอดระยะเวลาหลายเดือน “การเดินหน้าต่อ” จึงเป็นเรื่องง่ายกว่าการหยุดกลางคันหรือกลับไปเริ่มใหม่ และอุปสรรคเหล่านี้คือเบ้าหลอมที่ทำให้ริวและปูเป้เรียนรู้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านไปได้ด้วยดี

5-6 เดือนที่ทีมงานมุ่งมั่นทำโครงการ นอกจากจะทำให้รู้ภาษากวยเพิ่มขึ้นแล้ว ทีมงานยังได้ทักษะชีวิตเพิ่มขึ้นไม่น้อย ทั้งเทคนิคการตั้งคำถามสัมภาษณ์ การสืบค้นข้อมูล การวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ การทำงานกับชุมชน การประสานงานทั้งขอใช้พื้นที่ อุปกรณ์ และการเชิญชวนคนเข้าร่วมงาน เป็นต้น

­

เรียนรู้-เข้าใจ-เห็นเป้าหมายชีวิต

นอกจากทักษะต่างๆ ที่เพิ่มพูนขึ้นแล้ว ผลจากการทำงานยังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ทีมงานไม่น้อย

“ในช่วงแรกก่อนตัดสินใจเข้ามาทำโครงการ ไม่ได้สนใจทำกิจกรรมลักษณะนี้ เพราะเรียนอยู่ ม.5 แล้ว คิดว่าจะมุ่งเป้าไปที่การเรียนมหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่พอได้เข้ามาทำก็รู้สึกสนุก ได้เพื่อนเยอะ ได้ประสบการณ์ที่ดี รู้สึกตัวเองโตเป็นผู้ใหญ่ มีความคิดมากขึ้น เมื่อก่อนหนูดูแต่หนัง เล่นโทรศัพท์ ฟังเพลง อยู่แต่บ้านไม่ได้ไปไหนเลย แต่พอทำโครงการนี้เราได้ช่วยเพื่อน ทำให้เข้าใจเพื่อนมากขึ้น ตอนนี้แทบไม่ได้ดูหนังเลย เพราะสนุกกับการทำกิจกรรม” ปูเป้สะท้อน

ขณะที่ริวบอกว่า เมื่อก่อนเป็นคนนิ่งๆ ขี้อาย ไม่ค่อยพูด แต่ตอนหลังก็กล้าคิดกล้าทำมากขึ้น กล้านำเสนองาน สามารถผสมผสานกับความรู้จากห้องเรียนเรื่องการจัดการคน การจัดงานให้บรรลุเป้าหมายมาใช้ในโครงการได้แล้ว ยังนำประสบการณ์การทำโครงการมาใช้ในห้องเรียน เช่น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ที่ดีที่สุดคือ โครงการนี้ทำให้เขาเห็นเป้าหมายในชีวิตคือ การเป็นนักวิจัย

ในอนาคตอันใกล้ ทีมงานวางแผนว่าจะให้ผู้เฒ่าผู้แก่พูดภาษากวย หรือสอนภูมิปัญญาต่างๆ เป็นภาษากวย และอัดคลิปวิดีโอสอนพูดคำและประโยคภาษากวยลงยูทูป เพื่ออนุรักษ์ภาษากวยให้คงอยู่ต่อไป

จากเด็กนิ่งๆ ขี้อายที่ได้รับโอกาสเรียนรู้ชุมชน ได้ฝึกฝนการทำงาน และได้รับการหนุนเสริมการเรียนรู้จากโคช ขัดเกลาให้ทีมงานกลายเป็นคนกล้าคิด กล้าทำ รู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ยังทำให้ภาษากวยของบ้านพงพรตกลับมามีชีวิตอีกครั้ง


โครงการย้อนรอยศึกษาสืบสานภะซากวย โทร๊ะอึมเพิ๊ต

พี่เลี้ยงชุมชน : ประจักษ์ สุทโธ วีรพล หมุ่ยโท

ทีมงาน :

  • พรชัย โยธา
  • ธิติมา หมุ่ยโท
  • ศรีสุรัตน์ สุทโธ 
  • ศศิธร หาโล๊ะ
  • สุธิมา ขันทอง 
  • ธีราพร ถะนัด
  • ไอรดา วงค์โสภา