การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนด้วยการทำมะพร้าวเผาบ้านทุ่งมน จังหวัดศรีสะเกษ ปี 3

การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันที่ความรู้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ความรู้ที่คนในสังคมต้องการไม่ใช่ความความรู้เชิงทฤษฎีอีกต่อไป แต่เป็นความรู้ที่สามารถใช้งานได้จริง เป็นการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ตั้งโจทย์การเรียนรู้ด้วยตัวเอง ได้ค้นคว้าหาความรู้ และสังเคราะห์เป็นชุดความรู้ของตัวเอง การเรียนรู้เช่นนี้ทำให้เด็กได้พัฒนาตัวเอง ปรับตัว และกล้าเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามา การได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลความรู้ การเอาใจไปสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน และทดลองทำ ยังช่วยขัดเกลานิสัยของเด็กและพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการสื่อสาร จากเด็กที่ไม่เคยสุงสิงกับใคร ก็กลายเป็นเด็กที่เอาตัวและใจไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ของครอบครัว ทำให้กล้าแสดงออก กล้าพูด ไม่กลัวการตอบคำถาม เพราะได้ลงมือทำเองทุกขั้นตอน

เรียนรู้...จากความไม่รู้

เมื่อโลกแห่งการเรียนและการสืบค้นข้อมูลไม่ได้มีแค่เพียงชั้นหนังสือในห้องสมุดอีกต่อไป มะพร้าวเผาลูกกลมๆ ผลไม้เศรษฐกิจของคนในชุมชนบ้านทุ่งมน ตำบลห้วยทับทัน อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ที่ปัจจุบันขาดคนสานต่อ เหลือเพียงผู้สูงอายุไม่กี่คนเท่านั้นที่ทำเป็น นาย-เปรม จิณณวัตร ลาภภูต ตุ้ยนุ้ย-ถิรพร แหวนวงษ์ เจน-เจนจิรา สุดาจันทร์ ฝ้าย-วงเดือน ดองดี และ โอ๊ต-สุทธิพจน์ สินติเวศม์ จึงนำมาเป็นโจทย์โครงการมะพร้าววัยใสสร้างเศรษฐกิจชาวทุ่งมน ใช้ความไม่รู้เป็นเครื่องมือท้าทายให้เข้าไปสืบค้นข้อมูลเพื่อหาคำตอบ ทั้งลงพื้นที่สัมภาษณ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน สืบหาคุณสมบัติข้อมูลของมะพร้าวเผาจากอินเทอร์เน็ต ศึกษาขั้นตอนการทำจากยูทูป และลงมือทำด้วยตนเอง ใช้การ Reflection ทบทวนการทำงาน จนสามารถบอกขั้นตอนการทำมะพร้าวขึ้นชื่อของชุมชนได้เป็นอย่างดี

เข้าใจความสำคัญของ “ข้อมูล”

กระบวนการเรียนรู้เริ่มต้นจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับมะพร้าวเผาในชุมชนจนมั่นใจ คิดว่าตอนนำเสนอโครงการต้องผ่านฉลุยแน่นอน แต่ก็แป้กจนได้ เมื่อกรรมถามว่า “รู้ไหมว่าบ้านทุ่งมนมีมะพร้าวกี่ต้น” ทีมงานถึงกับอึ้งไปทั้งทีม

หลังจากวันนั้นทีมเข้าใจแล้วว่า “ข้อมูล” คือสิ่งสำคัญที่สุดของการทำงาน เพราะได้รับกระตุ้นเตือนเรื่องนี้ถึง 2 ครั้งจากพี่ๆ ทีมโคชและคณะกรรมการ เมื่อกลับมาถึงชุมชนทีมงานจึงแบ่งบทหน้าที่กันลงสำรวจข้อมูลเกี่ยวมะพร้าวในชุมชนอีกครั้ง โดยครั้งแบ่งกันละเอียดเลยว่าใครจะศึกษาเรื่องอะไร เช่น นายสำรวจจำนวนต้นมะพร้าว และสายพันธุ์มะพร้าวที่มีอยู่ในชุมชน ตุ้ยนุ้ยและฝ้ายศึกษาขั้นตอนวิธีการทำมะพร้าวเผา เพราะยายของฝ้ายชำนาญเรื่องนี้ เจนสำรวจตลาดเพื่อตรวจสอบราคาขาย โดยทุกคนเลือกทำในสิ่งที่ถนัดและสามารถทำได้ เพื่อให้การทำงานราบรื่น สนุก และมีความสุขที่สุด

ผลจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้ทีมงานมีข้อมูลเกี่ยวกับมะพร้าวในชุมชนของตัวเองมากขึ้น นายบอกว่า ในชุมชนบ้านทุ่งมนส่วนใหญ่นิยมปลูกมะพร้าวอยู่ 3 สายพันธุ์คือ มะพร้าวทะลาย มะพร้าวน้ำหอม และที่ปลูกมากสุดคือมะพร้าวกะทิ และทั้งชุมชนมีต้นมะพร้าวกว่า 300 ต้น จุดเด่นอีกอย่างของมะพร้าวน้ำหอมที่นี่คือเป็นพันธุ์แท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการผสมข้ามสายพันธุ์ทำให้น้ำมะพร้าวมีรสหวานอร่อย หากเป็นมะพร้าวสดขายอยู่ที่ลูกละ 5-10บาท แต่หากผ่านกรรมวิธีการเผาแล้วจะอยู่ที่ 20-30 บาทต่อลูก ส่วนกรรมวิธีในการเผาก็ต้องอาศัยความอดทนเป็นอย่างมาก เพราะต้องค่อยๆ เกลี่ยลูกมะพร้าวให้สุกทั่วกัน

เห็นได้ชัดว่าแค่คำถามเดียวจากกรรมการที่ถามว่า“รู้ไหมว่าบ้านทุ่งมนมีมะพร้าวกี่ต้น” ได้สร้างการเรียนรู้ให้ทีมงานไม่น้อย โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจำนวนมะพร้าว สายพันธุ์ ขั้นตอนการเผา ไปจนถึงราคาขาย รวมถึงการวางแผนการทำงานที่เป็นระบบ หรือการทำงานความถนัด ที่ส่งผลให้ทีมงานมีข้อมูลใช้ทำงานต่อไป

เรียนรู้...จากการลงมือทำ

เมื่อรู้ข้อมูล ก็เริ่มร้อนวิชา อยากลงมือเผามะพร้าวด้วยตัวเอง แล้วก็แป้กเหมือนเดิม แม้ระหว่างทดลองทำจะมียายของฝ้ายคอยบอกขั้นตอนแล้วก็ตาม

ทีมงานสรุปบทเรียนของตัวเองว่า เป็นเพราะพวกเขามองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ทำให้การเผามะพร้าวไม่สำเร็จตามที่หวังไว้ เริ่มตั้งแต่การสอยมะพร้าว ที่ไม่มีเทคนิคใดๆ เวลาสอยมะพร้าวแต่ละทีก็ร่วงตกแตกเสียหายไปหลายลูก จนต้องกลับมานั่งทบทวนกันใหม่ พี่ไพรวรรณ สันติเวศม์ พี่เลี้ยงชุมชนที่คอยดูทีมงานทำงานอยู่ห่าง ๆ แนะนำว่าให้ใช้เชือกผูกทะลายมะพร้าวกันการแตกของมะพร้าว ส่วนการปลอกมะพร้าวก่อนนำไปเผาก็ต้องมีเทคนิคคือ ไม่ปลอกจนเกลี้ยง แต่ควรเหลือเปลือกไว้บางๆ เพื่อให้ทนไฟ หากปลอกหมดเมื่อผลมะพร้าวได้รับความร้อนมากไปอาจระเบิดได้ และต้องคอยเกลี่ยผลมะพร้าวเพื่อให้สุกทั่วกัน

ทีมงานเล่าว่า วันนั้นเราตั้งใจจะนำผลผลิตที่ได้ไปให้พี่ๆ ในโครงการได้ชิม แต่พอไปถึงมะพร้าวที่เราเตรียมไปเป็นเมือกมีน้ำเหนียวๆ อยู่ตรงก้นลูก ดูไม่น่ากิน กลับมาก็นำปัญหามาคุยกัน ไปสอบถามผู้รู้และสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต จนแก้ปัญหาได้

“ทุกครั้งที่ลงมือทดลองเผามะพร้าว พวกเราจะนั่งทบทวนขั้นตอนการว่า มีอะไรบ้างที่ต้องนำมาปรับแก้ไข เพื่อให้ได้มะพร้าวเผาที่สมบูรณ์กว่าครั้งก่อน โดยต้องทดลองถึง 3 ครั้ง กว่าจะได้มะพร้าวเผาส่งขายในตลาด โดยก่อนวางขายจริง ตุ้ยนุ้ยจะนำมะพร้าวเผามาไว้ที่หน้าร้านของตัวเอง เพื่อให้ชาวบ้านที่เข้ามาซื้อของที่บ้านของตัวเองชิม พร้อมสอบถามรสชาติ และข้อเสนอแนะ เพื่อให้การเผาครั้งต่อไปดียิ่งขึ้น” ทีมงาน เล่า

เมื่อทุกอย่างลงตัว ทีมงานทั้งหมดจึงลองนำมะพร้าวเผาที่ตัวเองทำ ตระเวนขายตามหมู่บ้าน ส่วนหนึ่งแบ่งขายที่หน้าบ้านของตุ้ยนุ้ยซึ่งเป็นร้านค้าอยู่แล้ว มีการจดบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อเช็คความคุ้มทุนพบว่าต้นทุนการผลิตต่อครั้งประมาณ 1,000 บาท คิดรวมทั้งมะพร้าว หลอด และถุงพลาสติก กำไรหลังหักทุกอย่างแล้วอยู่ที่ 500 บาท เฉลี่ยได้กำไรลูกละประมาณ 5 บาท

ผลจากความมุมานะไม่ย่อท้อต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ความอดทนในการทดลองทำซ้ำหลายๆ ครั้ง พยายามหาสาเหตุของความผิดพลาด เพื่อนำกลับมาปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อไป ส่งผลให้ทีมงานเผามะพร้าวจนสำเร็จ

เรียนรู้...เพื่อเปลี่ยนแปลง

จากเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่เคยรู้เรื่องมะพร้าวเผาเลย รู้แค่ว่าชุมชนตัวเองเด่นเรื่องมะพร้าวเผา จึงอยากลองทำเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง แต่เมื่อได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ตั้งแต่หาข้อมูล ทดลองทำแบบลองผิดลองถูก สรุปบทเรียน หาวิธีแก้ไขเพื่อปรับปรุงการเผาให้ดีขึ้น รวมทั้งสำรวจตลาด การขาย ไปจนถึงจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย กระบวนการเหล่านี้ทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นทั้งวิธีคิด วิธีทำงาน

ตุ้ยนุ้ย สรุปว่า การถอดบทเรียน คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ทีมเห็นจุดอ่อนของตัวเอง โดยหลังจบกิจกรรมทุกครั้งจะนัดวันที่เพื่อนๆ ว่างพร้อมกัน เพื่อทบทวนสิ่งที่ทำ เขียนใส่ฟลิปชาร์ตว่าเพื่อนๆ ได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมนี้บ้าง ให้เห็นทั้งปัญหา อุปสรรค ความสำเร็จ และความล้มเหลว เพื่อนำมาใช้เป็นบทเรียนในการทำงานครั้งต่อไป นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้การเป็นผู้นำที่ดี รวมถึงทักษะการสื่อสารที่ต้องทำให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ การวางแผนการทำงานอย่างละเอียด และการจดบันทึกเพื่อใช้ทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำ

ส่วนนาย จากที่ไม่เคยสนใจชุมชนหรือคนรอบข้าง แต่เพราะการหาข้อมูลเรื่องมะพร้าว ทำให้นายได้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้ชุมชน จนนายค่อยๆ พาตัวเองออกจากโลกใบเดิม

“เมื่อก่อนผมติดเกมมาก พอเข้ามาทำโครงการนี้ ทำให้มีเวลาเล่นเกมน้อยลง เพราะต้องใช้เวลาไปทำกิจกรรมแทน”

และสิ่งที่เป็นตัวชี้วัดความเปลี่ยนแปลงของนายมากที่สุดคือ มหกรรมหนังกลางแปลง “พลังเยาวชนพลเมืองรุ่นใหม่ทำดีเพื่อแผ่นดินเกิดที่ผ่านมา นายพรั่งพรูเรื่องราวสุดประทับใจของเขาให้ฟังอย่างมีความสุข

“วันนั้นผมไม่คิดเหมือนกันว่าตัวเองจะทำได้ ตอนแรกก็หวั่น ๆ กลัวว่าคนที่เข้ามาในซุ้มถามแล้วตอบไม่ได้ ไหม แต่พอถึงเวลาจริง ไม่รู้ว่าความกล้าของผมมาจากไหน ผมทักทายคนโน้น คนนี้ หยิบใบแนะนำโครงการให้คนที่เข้ามาชม พูดคุยกับเขา ตอบคำถามได้หมดเลย” นายเล่าอย่างภาคภูมิใจ

โอ๊ตพี่ใหญ่ของทีม จากคนที่ไม่ค่อยสุงสิงกับใครมากนัก เพราะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงาน แต่เมื่อมีโอกาสได้ทำกิจกรรมกับน้องๆ ทำให้เขาเริ่มคิดถึงคนอื่นมากขึ้น ฝึกความกล้าแสดงออก และกล้าพูดขึ้น

พี่ไพรวรรณ บอกด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า ในฐานะพี่เลี้ยงชุมชน บทบาทของเธอคือชี้แนะ แต่ไม่นำ คอยหนุนน้องทุกอย่าง ทั้งเอาหน้าเข้าไปยืนยันกับผู้ปกครองเพื่อขอให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรม เป็นธรรมดาที่พ่อแม่ผู้ปกครองเขาจะห่วงลูกหลาย เราก็ต้องดูแลรับผิดชอบให้ดี เวลาพาเด็กไปทำกิจกรรมนอกพื้นที่จะบอกผู้ปกครองทุกครั้งว่า ลูกเขากำลังทำเรื่องราวดีๆ เพื่อชุมชนอยู่ วันนี้ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่เปลี่ยน เราเองก็เปลี่ยนมุมมองต่อเด็กไปด้วย

“เชื่อแล้วเด็กทุกคนมีศักยภาพ เพียงแค่เราเปิดโอกาสให้เขา คอยสนับสนุนเขาให้เขาได้ทำอย่างเต็มที่เท่านั้น”

เพราะมีพื้นที่และมีของให้ได้ทดลองเรียนรู้จากการลงมือทำ สิ่งไหนที่ผิดพลาดก็นำกลับมาทบทวนเพื่อหาทางแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น กระบวนการทำซ้ำเช่นนี้ จึงกลายเป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวพวกเขา หลายคนอาจมองสิ่งที่พวกเขาทำเป็นเพียงมะพร้าวเผาที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่สำหรับเยาวชนกลุ่มนี้ มะพร้าวเหล่านั้นคือ “ครูชั้นดี” ที่ทำให้เขาได้เห็นโลกของการเรียนรู้ในมุมใหม่ที่เกิดจากการตั้งโจทย์ด้วยตัวเอง หาวิธีทำงาน และสรุปรวมความรู้ด้วยตัวเอง จนเกิดเป็นความรู้ที่ใช้งานได้จริง แต่โลกของการเรียนรู้ใบนี้จะสมบูรณ์ไปไม่ได้ ถ้าขาดพื้นที่และโอกาส


โครงการมะพร้าววัยใสสร้างเศรษฐกิจชาวทุ่งมน

พี่เลี้ยงชุมชน : ไพรวรรณ สันติเวศม์

ทีมงาน : 

  • ถิรพร แหวนวงษ์ 
  • เจนจิรา สุดาจันทร์
  • จิณณวัตร ลาภภูต 
  • วงเดือน ดองดี
  • สุทธิพจน์ สิน