การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อเรียนรู้และทดลองแปรรูปหัวปลาให้เป็นอาหารไก่ของเยาวชนบ้านตาดทอง จังหวัดศรีสะเกษ ปี 3

การเสพติดการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนคือสิ่งเร้าชั้นดีที่นำพาวัยรุ่นไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ การดึงวัยรุ่นออกจากสิ่งเร้าที่ได้ผลคือ การเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้กลุ่มวัยรุ่นได้ทำงานรับใช้ชุมชน ที่นอกจากจะทำให้วัยรุ่นเกิดความภาคภูมิใจในตนเองแล้ว การที่พวกเขาได้พบกับความสำเร็จเล็กๆ ในการทำงานเพื่อสังคม และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาอยากทำสิ่งดีๆ เพื่อตัวเองและชุมชนมากยิ่งขึ้น


เปลี่ยนพฤติกรรมร้าย...เป็นพฤติกรรมรัก

ปัญหาหนึ่งที่พบประจำในเด็กวัยรุ่น คือการเสพติดการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน (Peer Approval Addiction) หรืออาจเรียกว่าตกอยู่ใต้แรงกดดันจากกลุ่มเพื่อน (Peer Pressure) ให้ต้องมีพฤติกรรมสอดคล้องกับกลุ่ม จนไม่กล้าแหกคอก ซึ่งก็มีวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียอนาคต เพียงเพราะต้องการการยอมรับจากกลุ่ม ทั้งที่ตัวเองอาจไม่อยากทำ

ดังเช่น ฉัตร-ฉัตรถพล แก้วใสย์ ที่เคยเป็นเด็กเกเร วันๆ เอาแต่แว้น ทะเลาะวิวาทกับคนอื่น กระทั่ง “ก้าวพลาด” มาแล้ว แต่เมื่อพบกับจุดเปลี่ยนคือ “น้ำตาของพ่อแม่” เขาจึงกลับตัว และอยากเป็น “ตัวอย่างที่ดี” ให้น้องๆ ในชุมชนบ้านดงตาดทอง ด้วยการลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนน้องๆ ทำสิ่งดีๆ เพื่อชุมชน

บ้านดงตาดทอง อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ มีกลุ่มวิสาหกิจทำปลาร้าที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2545 เมื่อพ้นฤดูไถหว่าน คนในชุมชนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ทำปลาร้าเป็นอาชีพเสริม โดยขั้นตอนการทำจะใช้เฉพาะส่วนตัวปลาประมาณ 700 กิโลกรัม ที่เหลือทิ้ง 300 กิโลกรัมคือส่วนหัวและลำไส้ที่ชาวบ้านมักนำไปทิ้งตามท้องไร่ท้องนาให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย แต่เมื่อมีคนสนใจเข้ามาร่วมกลุ่มทำปลาร้ามากขึ้น เศษปลาเริ่มย่อยสลายไม่ทัน หมักหมมกลายขยะเป็นกองใหญ่ ส่งกลิ่นเน่าเหม็น จนกลายเป็นมลพิษทางอากาศ และแหล่งเพาะเชื้อโรคที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม

“ตอนแรกผมอยากทำโครงการเลี้ยงไก่ เพราะเคยเลี้ยงมาก่อน แต่ด้วยเงื่อนไขโครงการระบุว่า ต้องเป็นการทำงานที่ช่วยแก้ปัญหาของชุมชน พวกเราเลยกลับมามองปัญหารอบตัวในหมู่บ้าน เห็นหัวปลาเหลือทิ้งจากการทำปลาร้า เมื่อไปปรึกษาผู้รู้ท่านก็แนะนำว่าเคยเห็นไก่ เห็นวัวไปกินหัวปลาที่ถูกทิ้งตามทุ่งนา เลยคิดว่าถ้านำมาทำเป็นอาหารไก่น่าจะช่วยลดจำนวนหัวปลาที่เหลือทิ้ง และลดต้นทุนอาหารไก่ได้” ฉัตร เล่าที่มาของโครงการเรียนรู้และทดลองแปรรูปหัวปลาให้เป็นอาหารไก่

­

วิทยาศาสตร์สร้างอาชีพ

เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตนเอง ฉัตรและเพื่อนซึ่งประกอบด้วย เก๋-วัชรินทร์ ประโลม ดาว-ศิริพร กสิภูมิ ต้า-ศิริชัย ผาธรรม กุ้ง-อนุชิต บุญมา แบงค์-อดิศักดิ์ เตารัตน์ ยุทธ-กศิวัฒน์ ไกรวิเศษ และ โบ๊ท-บุณยกร คงราช เริ่มลงพื้นที่สำรวจส่วนผสมของอาหารไก่ เพื่อนำมาเป็นแนวทางทดลองทำสูตรอาหารไก่ พร้อมกับสอบถามชาวบ้าน และผู้รู้ถึงวิธีสังเกตอาการเจ็บป่วยและเป็นโรคของไก่ และค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม สำหรับสังเกตอาการของไก่ที่ใช้ในการทดลอง

กระบวนการเรียนรู้เรื่องการทำอาหารไก่เริ่มต้นจากทีมงานนำหัวปลาทั้งหมดไปตากให้แห้ง เพื่อเก็บหัวปลาไว้ได้นาน โดยคิดจากหลักการถนอมอาหารที่มักนำอาหารสดไปทำให้แห้งเพื่อยืดอายุ ระหว่างตากจะฉีดพ่น EM หรือน้ำหมักชีวภาพและกากน้ำตาลลงไป เพื่อลดกลิ่นเหม็นคาวและเพิ่มกลิ่นหอมให้คล้ายหัวอาหาร เมื่อหัวปลาแห้งได้ที่จึงนำมาบดเป็นผงแล้วนำไปผสมกับรำและปลายข้าว

สูตรที่ 1 ทีมงานใส่หัวปลาบดในปริมาณมาก และใส่รำกับปลายข้าวเพียงนิดหน่อย เพื่อดูว่าไก่กินอาหารปริมาณมากขนาดไหน ในเวลา 1 สัปดาห์ เพราะถ้าไก่กินแค่วันเดียวจะไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลง ระหว่างการทดลองทีมงานสังเกตเห็นว่าไก่ที่กินน้ำค่อนข้างบ่อย อาจเพราะหัวปลาร้าถูกหมักด้วยเกลือมาก่อน จึงเค็มเกินไป

ทีมงานจึงเปลี่ยนมาใช้สูตรที่ 2 คือใส่รำและปลายข้าวมากกว่าหัวปลา ซึ่งผลที่ออกมาค่อนข้างดี ไก่กินได้หมด แต่เมื่อประเมินต้นทุนแล้ว สูตรนี้จะเสียเงินค่ารำและปลายข้าวมากเกินไป ไม่ตอบโจทย์เรื่องอาหารไก่ราคาประหยัด จึงทดลองสูตรที่ 3 โดยใส่รำ ปลายข้าว และหัวปลาอย่างละเท่าๆ กัน ปรากฏว่า ไก่กินได้ และต้นทุนก็ต่ำกว่าอาหารไก่ปกติ

ทีมงานบอกว่า หัวปลามีแคลเซียมที่ช่วยให้ไก่ร่างกายแข็งแรง สังเกตได้จากหน้าไก่มีสีแดง ไม่ซีดเซียว ซึ่งแสดงว่า อาหารที่ให้ได้ผล แต่ก็ยอมรับว่าอาหารของพวกเขายังมีจุดอ่อนตรงที่ไก่ตัวเล็กจะกินไม่ค่อยได้ เพราะย่อยยาก ต้องปรับสูตรอาหารที่เหมาะสมกับไก่ตัวเล็กเพิ่มเติม รวมทั้งอยากลองหาส่วนผสมของอาหารไก่อื่นๆ ที่ไม่ใช่รำกับปลายข้าวมาทดลองเพิ่ม

การเข้ามาทำงานของฉัตรและกลุ่มแกงค์เพื่อนๆ ที่ต้องทุ่มเทเรียนรู้วิธีทำอาหารไก่ให้ใช้ได้จริง นอกจากจะช่วยให้พวกเขาถอยห่างจากสิ่งเร้ารอบตัวแล้ว ความสำเร็จเล็กๆ ที่ได้รับยังทำให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง จนคิดอยากทำสิ่งดีๆ ให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ต่อไป

­

สร้างบ้านเกิด...ด้วยสองมือ

ในฐานะที่เป็นรุ่นพี่ และเป็นตัวตั้งตัวตีชวนน้องๆ ในหมู่บ้านเข้ามาทำโครงการ ทำให้ฉัตรต้องรับบทบาทผู้นำกลุ่ม ด้วยลักษณะของทีมงานที่มีความหลากหลาย ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต เด็กในระบบและนอกระบบ จึงต้องมีการ “จัดระเบียบ” การทำงานของทีม ภายใต้ข้อจำกัดคือ “ไม่บังคับ” แต่ให้ “อิสระ” ทุกคนเต็มที่ มีข้อแม้คือต้องรับผิดชอบงานเต็มที่

“ผมใช้วิธีแบ่งเวรให้น้องๆ มาช่วยกันดูแลไก่ ใครสะดวกตอนไหนก็เลือกลงเวลานั้น วันไหนไม่มีใครว่างก็ใช้วิธีขอร้องบอกว่าใครขี่รถผ่านทางนั้นให้แวะไปดู โดยมีสมุดบันทึกการให้อาหารไก่ผูกไว้ที่เล้าไก่ เพื่อให้น้องที่แวะเข้ามารู้ว่ามีคนให้อาหารไก่หรือยัง ถ้ายังไม่ให้ก็ให้ ใครให้แล้วก็ขีดลงบันทึกจะได้ไม่ให้ซ้ำกัน น้องคนไหนไม่มา ผมก็ไม่ตำหนิ ใช้วิธีพูดเตือนสติว่า ขนาดเรายังหิวข้าวเลย ไก่ก็หิวเหมือนคนนั่นแหละ พอน้องฟังก็ยิ้มๆ แสดงเขาเข้าใจแล้ว”

เมื่อย้อนถามเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการนี้ ฉัตรบอกว่า เขาเคยเข้าไปทำงานในเมืองอยู่ระยะหนึ่ง พบว่าวิถีชีวิตที่ต้องตื่นเช้า ทำตามเจ้านายสั่ง ไม่เหมาะกับตัวเขา จึงตัดสินใจกลับมาเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด และอยากเป็น “ตัวอย่างที่ดี” ที่สามารถชักจูงน้องๆ ในชุมชนไปในทางที่ดี ไม่ “ก้าวพลาด” เหมือนเขา

“เมื่อก่อนเคยตามรุ่นพี่ไปแว้น ไปก่อเรื่องทะเลาะวิวาท น้องก็ทำไม่ดีตาม จนคนในหมู่บ้านเดือดร้อน พ่อแม่ก็เสียใจ เลยกลับมาคิดว่า ถ้าเราเปลี่ยน น้องอาจจะเปลี่ยนตาม เราไม่อยากเห็นเด็กในชุมชนเป็นเหมือนเรา ที่กว่าจะเรียนจบได้ก็ 7-8 ปี เราผ่านมาก่อนจึงรู้ว่าช่วงไหนที่สอนเขาได้ เลยอยากลองสอนสิ่งดีๆ ให้เขา”

ก้าวที่เคยพลาดอย่างไม่ได้ตั้งใจของฉัตรเกิดขึ้นจากแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อน (Peer Pressure) ที่ไม่เหมาะสม จนผลักดันให้เขามีพฤติกรรมไม่ดี แต่ในวันที่วัยวุฒิมากขึ้น และวุฒิภาวะเติบโตจากการออกไปเห็นโลกกว้างขึ้น จึงทำให้ฉัตรอยากเปลี่ยนแรงกดดันแย่ๆ เป็นแรงกดดันดีๆ แก่น้องรุ่นใหม่ในชุมชนด้วยกิจกรรมที่ดี ซึ่งนอกจากจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางบวกแล้ว การทำงานร่วมกับเพื่อนผ่านการปฏิบัติบนฐานชีวิตจริงยังช่วยสร้างทักษะชีวิต และภูมิคุ้มกันทางอารมณ์แก่น้องๆ ด้วย

ฉัตรคาดหวังว่า การชวนรุ่นน้องในชุมชนลุกขึ้นมาทำโครงการดีๆ ในวันนี้ ปีต่อไปก็จะมีรุ่นน้องลุกขึ้นมาทำเป็นรุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 ต่อไปเรื่อยๆ จนเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับตัวเอง และยังเปลี่ยนมุมมองของพ่อแม่และผู้ใหญ่ในชุมชนให้เห็นว่า นอกจากพวกเขาจะไม่ก่อความเดือนร้อนให้กับคนในชุมชนแล้ว ยังสร้างประโยชน์และสร้างรายได้ให้ตนเองอีกด้วย

­

ผลลัพธ์ที่ไม่สิ้นสุด

จากเป้าหมายแรกที่อยากเป็นแบบอย่างที่ดีให้เยาวชนในบ้านเกิด ได้ปรากฏผลขึ้นแล้ว

ฉัตร บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนที่สุดของเขาคือ “ความกล้าแสดงออก”

“ตอนออกไปนำเสนอโครงการครั้งแรก เรารู้ว่าต้องพูดอะไร คิดไว้ในหัวหมดแล้วแต่พูดไม่ออก เพราะไม่เคยทำอะไรอย่างนี้ พอหลังๆ มาก็เริ่มดีขึ้น พยายามคิดบวกไว้ว่าถ้าเราผ่านครั้งแรกไปได้ ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว”

การต้องลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลทำโครงการ และทำสื่อวิดีโอที่ถ่ายทอดเรื่องราวของโครงการ ทำให้ฉัตรได้พูดคุยกับคนในชุมชน และรู้จักชุมชนของตัวเอง ขณะที่ทีมงานก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากที่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าคิด ก็เริ่มกล้าแสดงออก จากคนที่มีโลกส่วนตัวสูงก็หันมาพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น

ต้า ยอมรับว่า เมื่อก่อนชอบอยู่คนเดียว เล่นเกม เล่นโทรศัพท์มากกว่า โครงการนี้ทำให้เขาได้พบปะแลกเปลี่ยนกับเพื่อนใหม่ๆ จนมีความรู้ใหม่ ความคิดดีๆ เกิดขึ้นกับตัวเอง เขาจึงค่อยๆ เปิดตัวเอง เพราะเห็นแล้วว่าการทำงานร่วมกับเพื่อน การเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นช่วยพัฒนาตัวเขาได้

ขณะที่ผู้ใหญ่มุณี ไกรวิเศษ ผู้ใหญ่บ้านบ้านดงตาดทอง ในฐานะพี่เลี้ยงชุมชนที่คอยสนับสนุนการทำงานของทีมงานมาตลอดก็สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เห็นว่า ที่เห็นเด่นชัดคือ เด็กที่มาทำโครงการมีความสามัคคี มีความกล้ามากขึ้น สามารถนำเสนอในวงประชุม รู้จักวางแผนการทำงานว่าตอนไหนต้องทำอะไร ที่สำคัญที่สุดคือ เขาสามารถตักเตือนกันได้ แนะนำเพื่อนในสิ่งที่ดีได้ เห็นแบบนี้ก็ภูมิใจที่ลูกหลานในชุมชนของเราลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน

นอกจากแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อนแล้ว สังคมปัจจุบันยังมี “แรงกดดันทางสังคม (Social Pressure)” ที่ไม่เหมาะสมต่อวัยรุ่นมากมาย เช่น วัตถุนิยม ทุนนิยม ซึ่งอาจทำให้วัยรุ่นเลือกเดินผิดทาง นี่จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่รอบตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ครู ชุมชน ที่ต้องช่วยฝึกฝนให้วัยรุ่นมี “ความกล้าหาญทางสังคม (Social Courage)” ให้กล้าลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ถูกต้องตามสำนึกผิดชอบดีชั่ว โดยอาจทำผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ที่วัยรุ่นได้ลงมือทำจริงเพื่อการเรียนรู้ของตัวเอง อย่างเช่นโครงการทดลองแปรรูปหัวปลาร้าให้เป็นอาหารไก่ ที่เป็นโจทย์การเรียนรู้ที่จะพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้กลายเป็นพลังของบ้านดงตาดทองต่อไป


โครงการเรียนรู้และทดลองแปรรูปหัวปลาให้เป็นอาหารไก่

ที่ปรึกษาโครงการ : มุณี ไกรวิเศษ ผู้ใหญ่บ้านดงตาดทอง

ทีมงาน :

  • ฉัตรถพล แก้วใสย์ 
  • วัชรินทร์ ประโลม
  • ศิริพร กสิภูมิ
  • ศิริชัย ผาธรรม
  • อนุชิต บุญมา 
  • อดิศักดิ์ เตารัตน์
  • กศิวัฒน์ ไกรวิเศษ 
  • บุณยกร คงราช